Saturday, May 06, 2023

BAD BOYZ BAND (2023, Chantana Tiprachart, A+30)

 

BAD BOYZ BAND (2023, Chantana Tiprachart, A+30)

เด็กกว่าแล้วไง ก็หัวใจมัน “I ROCK YOU

 

SERIOUS SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

--

--

--

--

--

1.สิ่งหนึ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ ก็คือเรามองว่า มันเหมือนเป็น “ส่วนหนึ่งของหนังไตรภาคโดยไม่ได้ตั้งใจ” 2 ชุด 555 นั่นก็คือ

 

1.1 ไตรภาคเด็กผู้ชายที่ต้อง deal กับปัญหาใหญ่ในชีวิต และปัญหานั้นมีสาเหตุมาจาก “ตัวเด็กเอง” โดยหนังอีก 2 เรื่องในไตรภาคนี้ ก็คือ

 

1.1.1 CLOSE (2022, Lukas Dhont, Belgium) เด็กผู้ชายที่รู้สึกผิดกับการผลักไสเพื่อนสนิทในชีวิตของเขาออกไป

 

1.1.2 SOFTIE (2021, Samuel Theis, France) เด็กผู้ชายที่ตกหลุมรักคุณครูหนุ่มอย่างรุนแรง

 

1.2 ไตรภาค ACCOUNTABILITY ที่นำเสนอตัวละครที่มองว่า ตัวเอง “ทำผิดแค่เพียงเล็กน้อย” และไม่มี accountability ต่อการกระทำของตัวเอง แต่หารู้ไม่ว่า การทำผิดแค่เพียงเล็กน้อยในสายตาของมึงนี่แหละ ที่มันจุดชนวนให้เกิดอะไรร้ายแรงตามมาได้ โดยหนังอีก 2 เรื่องในไตรภาคนี้ก็คือ

 

1.2.1 L’ARGENT (1983, Robert Bresson, France) ที่เด็กหนุ่มนำเงินปลอมไปใช้ โดยมองว่ามันคงไม่ใช่ความผิดอะไรร้ายแรง แต่สิ่งที่เขาทำกลับส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จนส่งผลให้คนดี ๆ กลายไปเป็นฆาตกรโรคจิตที่ลุกขึ้นมาฆ่าคนบริสุทธิ์ตายไปเป็นจำนวนมาก

 

1.2.2 THE TERRORIZERS (1986, Edward Yang, Taiwan) หญิงสาวคนหนึ่งมีแฟนหนุ่มที่ถูกตำรวจจับขณะกวาดล้างบ่อนพนัน หญิงสาวก็เลยโกรธแค้นเจ้าของอาคารแห่งนั้น เพราะเจ้าของอาคารเป็นคนโทรไปบอกตำรวจให้มาจับบ่อนในอาคาร หญิงสาวก็เลยสุ่มโทรศัพท์ไปหาคนแปลกหน้า เธอโทรไปหลอกหญิงสาวแปลกหน้าว่า “ผัวมึงมีชู้” และเธอคงบอกว่าชู้อยู่ในอาคารแห่งนั้น เพื่อหวังให้หญิงสาวแปลกหน้าไปก่อเรื่องวุ่นวายที่อาคารแห่งนั้น (ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด)

 

ตัวละครใน TERRORIZERS ก็คงมองว่า การโทรศัพท์ไปหลอกคนแปลกหน้า “ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง” เช่นกัน แต่เธอหารู้ไม่ว่า สิ่งที่เธอทำมันอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จนส่งผลให้ผู้ชายคนนึงกลายไปเป็นฆาตกรโรคจิตได้

 

พอเราดู BAD BOYZ BAND เราก็เลยรู้สึกว่า มันเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของ TRILOGY ในหนังสองกลุ่มนี้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือว่า เราคิดว่า BAD BOYZ BAND มันอาจจะเป็นหนังที่ทำขึ้นโดยมีผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลักเป็น “เด็กวัยประถม” น่ะ เพราะเด็กวัยประถมเป็นทั้งตัวละครหลักของเรื่อง และเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเพลง “ทรงอย่างแบด” ที่เป็นเพลงหลักของหนังเรื่องนี้ด้วย คือมันเป็นหนังแบบ “เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี” เพราะฉะนั้น BAD BOYZ BAND ก็เลยมีความแตกต่างอย่างรุนแรงจาก CLOSE, SOFTIE, L’ARGENT, TERRORIZERS เพราะหนัง 4 เรื่องนี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ “เด็กประถม” ดู

 

เพราะฉะนั้นถึงแม้ BAD BOYZ BAND จะไม่ได้เป็นหนังที่ “เข้าทางเราอย่างรุนแรง” เหมือนหนังอย่าง L’ARGENT เราก็ไม่ได้ติดอะไรตรงจุดนี้ เพราะเราเดาว่า มันเป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อผู้ชมวัยเด็กประถมด้วยน่ะ มันก็เลยกลายเป็นว่า เรารู้สึกทึ่งอย่างรุนแรงกับ BAD BOYZ BAND แทน ที่มันสามารถนำเสนออะไรที่มีส่วนคล้ายคลึงอยู่บ้างกับ CLOSE, SOFTIE, L’ARGENT, TERRORIZERS ได้ แต่ทำออกมาเพื่อให้ผู้ชมวัยเด็กประถมสามารถดูแล้วเข้าใจหนังและรับสารจากหนังได้ด้วย และทำออกมาแล้วก็ไม่ใช่หนังที่น่าเบื่อเกินไปสำหรับผู้ชมวัยชราอย่างเราด้วย

 

2.ชอบบทภาพยนตร์ของหนังเรื่องนี้มาก ๆ ในบางจุด จุดแรกก็คือ การที่ “ฉากช่วงต้นเรื่อง” มันสื่อถึงจุดใหญ่ใจความของหนังทั้งหมดได้น่ะ

 

คือฉากช่วงต้นเรื่องมันเป็นความฝันที่สะท้อนว่า “สอง” พระเอกของเรื่อง ต้องการจะเติบโตเป็นหนุ่ม แต่พอเขาตื่นนอนขึ้นมา เขาพบว่าตัวเองฉี่รดที่นอน แต่แทนที่เขาจะ accountable ต่อการกระทำของตนเอง เขากลับไม่มี accountability แทนที่เขาจะยอมรับผิด แทนที่เขาจะยอมรับความจริง เขากลับแก้ปัญหาด้วยการ blackmail ผู้ใหญ่

 

ซึ่งฉากการฉี่รดที่นอนนี้ สองอาจจะไม่ได้มองว่า ตัวเองทำอะไรผิด หรือถึงตัวเองทำผิด ก็ไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง และแม้แต่ผู้ชมอย่างเราเอง ก็ไม่ได้เฉลียวใจว่า สิ่งที่สองทำในฉากนั้น เป็นอะไรที่ร้ายแรง

 

แต่ในเวลาต่อมา เราก็ได้เรียนรู้ว่า ฉากเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนไม่สำคัญในช่วงต้นเรื่องนี่แหละ มันสะท้อนถึง flaw หลักในตัวพระเอก และเหมือนพอพระเอกทำผิด แล้วไม่ได้รับผิด จากการฉี่รดที่นอนหรืออะไรแบบนี้ เขาก็อาจจะ “ย่ามใจ” และทำผิดอะไรแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ และทวีระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสร้างความชิบหายต่อทุกภาคส่วนในเวลาต่อมา

 

และเราว่าฉากช่วงต้นเรื่องมันสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้ดีด้วย เพราะสองก็คงไม่ได้มองว่าตัวเองเป็น “คนเลว” และผู้ชมอย่างเราก็ไม่ทันได้มองว่าสองเป็น “คนเลว” ในช่วงต้นเรื่อง และจริง ๆ แล้วสิ่งที่สองเป็นก็คือเป็น “มนุษย์เทา ๆ” นี่แหละ และการที่เขาไม่ยอมรับความผิดในช่วงต้นเรื่อง ก็ไม่ได้เป็นเพราะเขามีความเลวร้ายในกมลสันดาน แต่มีสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า “แม่ของเขามักจะลงโทษลูกอย่างรุนแรงจนเกินไป” การลงโทษเด็กที่ “รุนแรงเกินไป” ก็เลยมีส่วนในการทำให้เด็กไม่กล้าสารภาพผิดตามไปด้วย

 

เราก็เลยชอบฉากช่วงต้นเรื่องนี้มาก ๆ ที่มันสามารถสะท้อน flaw หลักในตัวพระเอกได้ และสะท้อนความเป็นมนุษย์เทา ๆ ของตัวละครได้ด้วย

 

3.อีกจุดที่ชอบมากในบทภาพยนตร์ ก็คือการที่ตอนแรกมันทำให้เรานึกว่า มันใส่ฉากตลกขี้ ๆ เยี่ยว ๆ เข้ามา เหมือนเป็น “ภาคบังคับ” ของหนังตลกไทย ที่ต้องมีฉากขี้  ๆ เยี่ยว ๆ ตด ๆ อยู่ในหนังด้วย ซึ่งตอนแรกเราก็เบ้ปากมาก

 

แต่ปรากฏว่า ฉากขี้ ๆ ที่เรานึกว่า มันใส่เข้ามาโดยไม่จำเป็น แต่ใส่เข้ามาเพราะมันเป็น “ข้อบังคับ” ของหนังตลกไทยนั้น จริง ๆ แล้ว มันเป็นฉากที่จำเป็นและสำคัญต่อหนังเรื่องนี้มาก 555

 

ฉากนั้นคือฉากที่แจ็ค แฟนฉัน ขี้แตกน่ะ คือตอนแรกเราเบ้ปากมากว่า ใส่ฉากแบบนี้เข้ามาทำไม ฉันไม่ได้ชอบมุกตลกขี้ ๆ แบบนี้

 

แต่ปรากฏว่า ฉากนั้นไม่ได้มี function เป็น “มุกตลก ขี้เสร็จแล้วก็จบไป” แบบในหนังตลกไทยอีกหลาย ๆ เรื่องน่ะ แต่เป็นฉากที่ปูทางไปสู่ climax และวิกฤติร้ายแรงของตัวละครในเวลาต่อมาในที่สุด

 

เพราะฉากแจ็ค แฟนฉัน ขี้แตกนั้น นำไปสู่

 

3.1 สองขโมยยาถ่าย

 

3.2 สองกับเพื่อน ๆ เอายาถ่ายไปใช้ในงานประกวดนางงาม

 

3.3 ศัตรูของสอง blackmail สองในเรื่องยาถ่ายนี้

 

3.4 สองกับเพื่อน ๆ ไปขุดฮวงซุ้ยเพื่อขโมยแหวน เพื่อเอาเงินมาจ่ายค่า blackmail

 

3.5 สองไม่ต้องจ่ายค่า blackmail แต่ยังคงเก็บแหวนเอาไว้ และเอามันมาใช้เป็นเครื่องมือในการ blackmail เอม ภูมิภัทรแทน

 

3.6 สิ่งที่สองทำสร้างความเดือดร้อนชิบหายอย่างรุนแรง มันสร้างความเดือดร้อนต่อทั้งตัวเอม ภูมิภัทร, ต่อตัวนางเอก ที่ถูกปลดออกจากค่ายเพลง และต่อตัวพ่อแม่ของคิมกับแพนด้าด้วย

 

เราก็เลยรู้สึกชอบจุดนี้ในบทภาพยนตร์มาก ๆ เพราะตอนแรกเรานึกว่ามันนำเสนอฉาก “ขี้ ๆ เยี่ยว ๆ ขี้เสร็จแล้วก็จบกัน” แบบในหนังตลกไทยเรื่องอื่นๆ แต่ปรากฏว่าฉากนี้จริง ๆ แล้วสำคัญมาก เหมือนมันเป็นหนึ่งใน domino สำคัญที่ล้มทับต่อกันไปเรื่อย ๆ จนไปจุดชนวนระเบิดได้ในที่สุด

 

4.อีกจุดที่ชอบมากใน “บท” คือการคลี่คลายปัญหาในฉากนึงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก ๆ นั่นก็คือ “การบริจาคไต” ไม่รู้คิดขึ้นมาได้อย่างไร คือเราชอบมากที่แม่ของตัวร้ายมาบอกแม่ของสองเรื่องที่สองไปทำให้งานประกวดนางงามล่ม แต่แม่ของตัวร้ายบอกว่า ครั้งนี้จะยังไม่เอาผิด เพราะเธอเคยบริจาคไตให้ฉันมาก่อน 5555 คือเราว่าจุดนี้มันทำให้ปัญหาคลี่คลายได้ทันที และ “จริง” ด้วย เพราะถ้าหากเราเป็นตัวละครเจ้าของงานประกวดนางงาม เราก็คงจะตัดสินใจอะไรแบบนี้เหมือนกัน แบบหักบัญชีบุญคุณความแค้นเสร็จสรรพ ปัญหาจบ

 

5.ชอบ “พัฒนาการ” ในทางลบของตัวละครด้วย คือในตอนแรกนั้น เรานึกว่า สอง จะเป็น “คนดี” เป็นคนที่น่าเอาใจช่วย เป็นเด็กที่เบื่อพวกหนุ่ม ๆ อันธพาล, เป็นเด็กที่ขบถต่อผู้ใหญ่ที่เป็นเผด็จการ หรือเป็นเด็กชายผู้มีความรักอันบริสุทธิ์ อะไรทำนองนี้ แต่ปรากฏว่า ไม่ใช่ เพราะสิ่งที่สองทำ ไม่ได้เป็นเรื่องของ “เด็กชายจิตใจดี ที่ต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ จนนำไปสู่ชัยชนะ ทั้งในด้านการทำเพลงและความรัก” อย่างที่เราคาดไว้ในตอนแรก แต่เป็นตัวละครเด็กชายที่ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนเลว เด็กชายผู้มองว่าตัวเองมีความรัก และสู้เพื่อความรัก แต่สิ่งที่เขาทำกลับทำให้เขาถลำลึกเข้าสู่ด้านมืดเรื่อย ๆ โดยที่เขาเองก็อาจจะไม่รู้ตัว

 

เราก็เลยชอบ “พัฒนาการในทางลบ” ของตัวพระเอกมาก ๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดไว้ในตอนแรก ดูแล้วนึกถึง ONE OF MY MOST FAVORITE TV SERIES OF ALL TIME เรื่อง CONSCIENCE (1994, Hong Kong) ที่นำแสดงโดย “เส้าเหม่ยฉี” ด้วย ที่เป็นเรื่องของนางเอกผู้น่าสงสาร ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากคนหลาย ๆ คน ซึ่งเราดูตอนแรกก็นึกว่า มันจะเป็นเรื่องของนางเอกผู้น่าสงสารที่พยายามต่อสู้กับผู้คนชั่วร้ายรอบ ๆ ตัว แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะนางเอกของ CONSCIENCE ค่อย ๆ ถลำลึกเข้าสู่ด้านมืดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหญิงสาวผู้มีจิตใจโหดเหี้ยมอำมหิตผิดมนุษย์อย่างรุนแรงในเวลาต่อมา

 

6.อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้ เป็นเพราะมันนำเสนอ “ความรัก” หรือ “ความรัก แบบต้องการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ” ในทางลบน่ะ คือสองรักจินนี่ แต่แทนที่หนังเรื่องนี้จะ “เล่นท่าง่าย เบ ๆ พื้น ๆ ฟลอร์ ๆ” แบบ “สองรักจินนี่ สองก็เลยพยายามพัฒนาฝีมือทางการดนตรีจนนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด นี่แหละ พลังแห่งความรักและความมุมานะพยายาม” หนังเรื่องนี้กลับนำเสนอว่า “ความรักของสอง นำไปสู่ความเห็นแก่ตัว ความต้องการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ การสนใจแต่ความสุขของตัวเอง แทนที่จะสนใจความสุขของคนรัก” อะไรทำนองนี้ ซึ่งเราว่ามันเป็น flaw ในตัวมนุษย์หลาย ๆ คนจริง ๆ เราก็เลยชอบที่หนังมันนำเสนอด้านมืดของความรักออกมา

 

7.อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้ เป็นเพราะเหตุผลที่ส่วนตัวมาก ๆ ด้วย นั่นก็คือมันทำให้เรานึกถึง guilts ในวัยเด็กของเรา

 

คือเราได้ดูหนังเรื่องนี้กับ THE POPE’S EXORCIST ในวันเดียวกัน และ THE POPE’S EXORCIST มันก็พูดถึง “ความผิดที่จะคอยตามหลอกหลอนเราไปตลอด” การได้ดูหนังสองเรื่องนี้ในวันเดียวกันก็เลยพลอยทำให้เรานึกถึงสิ่งไม่ดีหลาย ๆ อย่างที่เราเคยทำในวัยเด็ก 555

 

คือเราไม่เคยทำอะไรแบบสองนะ แต่เราก็เคยทำไม่ดีหลายอย่างในวัยเด็กน่ะ โดยเฉพาะในช่วงที่เราเรียนชั้นป.5 จนถึงม.3 ไม่รู้ทำไมในช่วงนั้นเราถึง “คึกคะนอง” หรือ “ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีมากเท่าที่ควร” ก็ไม่รู้ โดยความผิดของเราในช่วงนั้น ก็รวมถึงการกลั่นแกล้งสัตว์ ทั้งแมว, หอยทาก, จิ้งจก (บางทีนี่อาจจะเป็นกฎแห่งกรรมที่ทำให้เราเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหลายอย่างในเวลาต่อมา), การโทรศัพท์ไปหลอกแม่ของเพื่อน (แต่เราก็สำนึกผิดและรีบโทรไปบอกความจริงในเวลาต่อมา) และการขโมยเงิน 20 บาทของพี่ชาย

 

และเหมือนความผิดอะไรแบบนี้มันคอยตามหลอกหลอนเราจนเราอายุ 50 ปีในปัจจุบันนี้นะ อย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราถูกร้านขายไอติมร้านนึง โกงตังค์ทอนเราไป 5 บาท แล้วอยู่ดี ๆ เราก็นึกถึงเหตุการณ์ที่เราเคยขโมยเงินพี่ชายเราไป 20 บาทเมื่อ 40 ปีก่อน แล้วเราก็สงสัยว่ามันเป็นกฎแห่งกรรมหรือเปล่า คือเหมือนเหตุการณ์ผ่านมานาน 40 ปีแล้ว เราก็ยังคงถูกหลอกหลอนจากบาปของตัวเองอยู่จนบัดนี้ (แบบที่ THE POPE’S EXORCIST บอกไว้)

 

เราก็เลยชอบ BAD BOYZ BAND ที่มันเหมือนสอนให้เด็กมี accountability น่ะ เพราะเรามองว่า ตัวเราเองในวัยเด็ก โดยเฉพาะช่วงวัยนั้น เราก็คึกคะนองและไม่ค่อยมีสำนึกผิดชอบชั่วดีมากเท่าที่ควรเหมือนกัน และถ้าหากเราไม่มี accountability ไม่ยอมรับผิดจากการกระทำของตัวเอง มันก็จะกลายเป็นอะไรที่กัดกินใจเราและคอยหลอกหลอนเราไปจนแก่ หรืออาจจะถูกปีศาจมาลำเลิกความผิดเราได้แบบใน THE POPE’S EXORCIST 55555

 

8.ฉากที่ชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้ คงเป็นฉากยางรัดผมมั้ง ที่สองช่วยรัดผมให้จินนี่ตอนขี่จักรยาน เราว่าฉากนี้งดงามมาก ๆ นุ่มนวลมาก ๆ คลาสสิคมาก ๆ

 

9.เรารู้สึกก้ำกึ่งกับตอนจบของ BAD BOYZ BAND นะ เพราะเราชอบการสารภาพผิดของตัวละครบนเวที แต่พอมันมีฉากตัวละครตื่นนอนในเวลาต่อมา มันก็เลยเหมือนไปลดทอนพลังของ “บทเรียน” ที่ตัวละครได้รับไป แต่ในแง่หนึ่งมันก็ล้อกันได้ดีกับฉากเปิดเรื่องที่เป็นความฝันเหมือนกัน

 

จริง ๆ แล้วตอนจบของ BAD BOYZ BAND ทำให้นึกถึงตอนจบของ TERRORIZERS ด้วยนะ เพราะตอนจบของ TERRORIZERS เหมือนบอกว่า ฉากการสังหารโหดเป็นเพียงจินตนาการของตัวละคร ส่วนตอนจบของ BAD BOYZ BAND นั้นเราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นเป็นเพียง “ความฝัน” หรือเป็น “อดีต” หรือเราจินตนาการต่อเองว่า มันอาจจะเป็นอีก multiverse หนึ่งของตัวละครก็ได้ 5555 เพราะทุกการตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวละครย่อมก่อให้เกิดอีก multiverse หนึ่งขึ้นมาได้เสมอ

 

10.สรุปว่า ชอบ BAD BOYZ BAND มาก ๆ ในฐานะ “หนังแบบเด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี” หรือ “หนังที่สร้างขึ้นสำหรับเด็กวัยประถม และสำหรับผู้ชมกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ” คือหนังมันมีจุดที่ตอนแรกเรารู้สึกเอ๊ะ ๆ อยู่บ้าง อย่างเช่น การ flashback ในบางฉาก แต่พอเรามองว่ามันเป็นหนังที่น่าจะต้องการให้เด็กประถมดูแล้วเข้าใจหรือตามเรื่องได้ทันด้วย เราก็เลยเข้าใจเหตุผลของการ flashback ไปมา เพื่อให้ผู้ชมวัยเด็กเข้าใจตัวละครได้มากยิ่งขึ้น

 

หรือเอาเข้าจริง หนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่หนังที่เข้าทางเราซะทีเดียว เหมือนมันเป็นหนังที่ plot-driven มาก ๆ มั้ง คือเหมือนมีเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ เกิดขึ้นต่อเนื่องตามกันไปเรื่อย ๆ แต่พอเรามองว่า มันเป็นหนังที่สร้างขึ้นเพื่อให้ “เด็กดูได้” เราก็เลยเข้าใจว่าหนังมันคงต้องขับเคลื่อนด้วยเนื้อเรื่องและเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ แบบนี้นี่แหละ จะมาดำดิ่งเจาะลึกในความรู้สึกแบบหนังอาร์ตก็อาจจะเป็นการผลักไสผู้ชมวัยเด็กออกไป 555

 

แต่ถ้าหากถามว่า หนังเกี่ยวกับ “วัยเด็ก” เรื่องไหน ที่เราชอบมากที่สุดในชีวิต มันก็คงจะเป็นหนังเรื่อง MUSASHINO HIGH VOLTAGE TOWERS (1997, Naoki Nagao, Japan, 118min) มั้ง ที่เป็นเรื่องของเด็กชายสองคนในชนบทที่เดินตามเสาไฟฟ้าไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง โดยแทบไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่มีบทเรียนอะไร เหมือนเป็นแค่ moments หนึ่งของชีวิต ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึง “จับใจ” หรือ “กินใจ” เรามากที่สุดในชีวิต แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ หนังเรื่องนี้คงไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้ “เด็ก” ดูมั้ง เพราะฉะนั้นเราก็เลยจะไม่คาดหวังอะไรแบบนี้จากหนังแบบ “เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี” ด้วย 555

 

No comments: