Thursday, May 04, 2023

ENDING CREDITS

 

ฉันรักเขา Yu Rongguang ซึ่งมีอายุ 65 ปีแล้ว 555 เราเพิ่งเห็นเขารับบทเป็นอาเสี่ยตัวร้ายใน RIDE ON (2023, Larry Yang, China, A+30) แล้วก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลา เหมือนเขาเคยเป็นสามีเก่าของเรามาก่อน ก็เลยไปเช็คดู แล้วก็ปรากฏว่าใช่จริง ๆ ด้วย เพราะก่อนหน้านี้เราเคยชอบเขาจากบทพระเอกใน “เดชคัมภีร์เทวดา ภาค 3” หรือ THE EAST IS RED (1993, Ching Siu-tung, Raymond Lee) 

 -----------------

หนึ่งในประเด็นที่ได้คุยกับเพื่อน ๆ cinephiles แล้วอยากจดบันทึกไว้ นั่นก็คือ เราสงสัยว่า “เมื่อใด” และ “เพราะอะไร” ทางโรงหนังในไทยถึงเริ่มทำในสิ่งที่ถูกต้อง นั่นก็คือ “การฉาย ending credits ของหนังแต่ละเรื่องจนจบจนการทำแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา”

 

คือถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิด หนังฮอลลีวู้ดน่าจะเริ่มมี ending credits ยาว ๆ ตั้งแต่ช่วงราวทศวรรษ 1970 ส่วนเรานั้นเริ่มไปดูหนังโรงในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งตอนนั้นเราจำได้ว่ามีหนังเรื่อง THE MISSION (1986, Roland Joffe, A+30) ที่เราได้ดูที่โรงแมคเคนนา ตรงเชิงสะพานหัวช้าง ซึ่งมีฉากสำคัญมาก ๆ อยู่หลัง ending credits และทางโรงก็ฉายจนจบ ending credits และเราก็ประทับใจมาก ๆ

 

แต่เหมือนในยุคนั้นเรายังไม่ได้เป็น cinephiles เราก็เลยอาจจะไม่ได้นั่งดู ending credits ของหนังฮอลลีวู้ดหลาย ๆ เรื่องจนจบ เราก็เลยไม่ได้มีความทรงจำมากนักว่า โรงหนังในไทยยุคนั้นมักจะฉาย ending credits จนจบหรือเปล่า เพราะเราเองก็อาจจะไม่ได้นั่งดูมันจนจบในทศวรรษ 1980-1990

 

แต่พอได้คุยกับเพื่อน ๆ cinephile เมื่อไม่กี่วันก่อน ความทรงจำของเราก็เลยเริ่มกลับคืนมา คือถ้าหากเราจำไม่ผิด โรงหนังในไทยหลายโรงอาจจะไม่ได้ฉาย ending credits จนจบในยุคนั้น แล้วพนักงานก็ชอบกดปุ่มให้ม่านรูดปิดจอไปเลยพอ ending credits เริ่มปรากฏขึ้นมา ซึ่งก็สร้างความหงุดหงิดให้กับผู้ชมหลายคน โดยเฉพาะคนที่อยากฟังเพลงตอนจบ

 

สิ่งที่เราจำได้แม่นยำก็คือว่า ตอนที่เราไปดู A LEAGUE OF THEIR OWN  (1992, Penny Marshall) ที่โรงหนังในชั้น 1 ของมาบุญครองนั้น ตอนช่วง ending credits มีฉากที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งได้แก่การนำตัวนักเบสบอลหญิงจริง ๆ ที่เป็นต้นแบบของตัวละครในหนังเรื่องนี้มาขึ้นจอ ซึ่งตัวนักเบสบอลหญิงจริง ๆ แต่ละคนก็แก่หง่อมมาก ๆ แล้ว และพอเราได้เห็น “ตัวจริง” ของคนเหล่านี้ มันก็เลยรู้สึกตื้นตัน น้ำตาไหลมาก ๆ และเราก็จำได้ว่า คนดูในโรงชื่นชมพนักงานโรงหนังมาก ๆ ที่ยอมฉาย ending credits ของ  A LEAGUE OF THEIR OWN จนจบ และการที่คนดูในโรงชื่นชมอะไรแบบนี้อย่างรุนแรง แสดงว่าการฉาย ending credits จนจบในยุคปี 1992 นั้น อาจจะยังไม่ใช่ “เรื่องปกติธรรมดา” ของโรงหนังในไทย 55555

 

เราก็เลยสงสัยว่า มันเป็นตอนไหนกันนะ ที่พฤติกรรมของโรงหนังในไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น (คือฉาย ending credits จนจบจนมันกลายเป็นเรื่องปกติ) และมันเปลี่ยนไปเพราะอะไร ซึ่งเราเดาว่าสาเหตุอาจจะเป็น

 

1.การเกิดขึ้นของสื่อ internet ซึ่งทำให้ “ผู้บริโภค” แต่ละคนมีสื่ออยู่ในมือ สามารถประณามโรงหนังได้อย่างเต็มที่ 555 เพราะในยุค 1980-1990 นั้น ถ้าหากเราไม่พอใจโรงหนัง เราก็ไม่รู้จะไปด่าอะไรยังไงผ่านทางสื่อไหนถึงจะสัมฤทธิ์ผล คือจะด่าตัวพนักงานโดยตรง ก็ไม่รู้ว่าเขาจะนำมันไปปรับปรุงหรือเปล่า แต่การที่ผู้บริโภคหลายคนร่วมมือกันด่าผ่านทางสื่อ internet อาจจะมีส่วนช่วย shape พฤติกรรมของโรงหนังให้ดีขึ้นหรือเปล่า เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

 

2.หรือว่า ผู้บริหารโรงหนังเกิดมีจิตสำนึกที่ดีด้วยตัวเอง 55555

 

3.หรือว่า ต้องยกความดีความชอบให้หนัง MARVEL ที่ชอบมีฉากท้ายเครดิต 55555

 

เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เป็นตอนไหนที่โรงหนังมักฉาย ending credits จนจบจนมันกลายเป็นเรื่องปกติ อาจจะเป็นในช่วงต้นทศวรรษ 2000 มั้ง เพราะเราจำได้ว่า เราไปดู VAN HELSING (2004, Stephen Sommers) ที่โรงหนังในเอ็มโพเรียม แล้วเราก็เข้าใจผิดว่า มันจะมีฉากท้ายเครดิต เราก็เลยนั่งดู ending credits ที่ยาวมาก ๆ จนจบ ซึ่งก็ไม่มีฉากท้ายเครดิตอะไรแต่อย่างใด 5555 แต่เราจำได้ดีว่า ทางโรงฉายมันจนจบ

 

รูปประกอบนี้เป็นรูปของหนัง 4 เรื่องที่มีฉาก ending credits ที่เราประทับใจ ซึ่งก็คือ THE MISSION, A LEAGUE OF THEIR OWN, OM SHANTI OM (2007, Farah Khan, India) และ TEASING MASTER TAKAGI-SAN: THE MOVIE (2022, Hiroaki Akagi, Japan, animation)

 

 

 

 

 

 

No comments: