SEEING RED (2005, Su Friedrich, 27min, A+30)
ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้จนถึงราว
ๆ เที่ยงวันศุกร์ที่ 10 พ.ค.
https://www.lecinemaclub.com/now-showing/seeing-red/
1.งดงามที่สุด หนังเป็นการเล่นกับ idiom “seeing red” ที่หมายความว่า “เกิดโทสะแรงกล้า” โดยภาพในหนังจะเป็นการจับสังเกตสิ่งต่าง
ๆ ในชีวิตประจำวันที่มีสีแดง ซึ่งเรารู้สึกว่ามันงดงามมาก ๆ ทำให้นึกไปถึงหนังอย่าง
PERFECT DAYS (2023, Wim Wenders) ที่พระเอกมองเห็นความงามของแสงลอดกิ่งไม้
ส่วนหนังเรื่องนี้เป็นการมองเห็นความงามของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันเช่นกัน
แต่เน้นไปที่สีแดง
2.อีกส่วนของหนังเป็นการระบายความในใจของ Su
Friedrich เองที่พูดถึง midlife crisis ตอนอายุ
50 ปี ซึ่งตอนแรกเราไม่รู้ว่านั่นคือ Su Friedrich เรานึกว่าหนังไปสัมภาษณ์
“แม่บ้านจิตแตก” สักคนหนึ่ง 555555
3.ชอบการระบายความในใจของผู้กำกับอย่างรุนแรงที่สุด
เราดูแล้วร้องห่มร้องไห้เลย ในฉากที่เธอพูดถึงบทกลอนของ Emily Dickinson เกี่ยวกับทุ่งหญ้าแพรรี่ แล้วเธอก็พูดว่า เวลาที่เธอพยายามจะนึกถึงทุ่งหญ้าแพรรี่ที่สวยงาม
เพื่อจะได้มีความสุขใจเวลานึกถึงอะไรที่สวย ๆ งาม ๆ เธอก็นึกต่อไปถึงความจริงที่ว่า
เธอไม่มีเงินจะเดินทางไปทุ่งหญ้าแบบนั้น แล้วทำไมเธอมีเงินไม่พอ งานที่เธอทำอยู่นี้มีปัญหาอะไรบ้าง
เธอจะต้องรับมือกับนักศึกษาอย่างไรบ้าง นักศึกษาจะเกลียดเธอมั้ย แล้วในที่สุดกระแสสำนึกของเธอก็ทำให้เธอเกิด
panic attack คือแทนที่เธอจะมีความสุขกับการนึกถึงทุ่งหญ้าสวยงาม
สายธารความคิดของเธอกลับไหลต่อไปเรื่อย ๆ จนทำให้เธอเป็นทุกข์อย่างรุนแรงในที่สุด
เราก็เลยร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงกับฉากนี้เลย
เพราะรู้สึกว่ามันจริงมาก ๆ สำหรับเราเช่นกัน
4.จุดนี้ของ SEEING RED ทำให้นึกถึง
“สายธารความคิด” ของตัวละครในหนังเรื่องอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น ตัวละครนางเอกของ APRIL,
COME SHE WILL (2024, Tomokazu Yamada, Japan, A+30) ด้วย
ที่เหมือนเธอมีชีวิตที่มีความสุขอยู่กับแฟน แต่เหมือนปมต่าง ๆ ในใจเธอ
ตั้งแต่เรื่องพ่อกับแม่, ความไม่มั่นใจในความยั่งยืนของความรัก, etc. อะไรต่าง ๆ ทำให้เธอทิ้งผัวหนุ่มหล่อน่ารักไป ซี่งเราจะอินกับตัวละครแบบนี้อย่างสุด
ๆ
คือเราชอบตัวละครแบบนี้มาก ๆ คือถ้าตัวละครอยู่กับผัว
แล้วเธอคิดแค่ว่า “ตอนนี้ฉันมีความสุขจัง” ปัญหาก็อาจจะไม่เกิด
แต่ถ้าเธออยู่กับผัว แล้วเธอคิดว่า “ตอนนี้ฉันมีความสุขจัง
แต่ฉันสงสัยว่ามันจะจีรังยั่งยืนหรือเปล่านะ” แล้วปล่อยให้ความคิดมันไหลไปเรื่อย ๆ
มันก็อาจจะนำไปสู่ความทุกข์อย่างรุนแรงได้
เพราะฉะนั้นหนึ่งในฉากที่เราชอบที่สุดในชีวิตนี้
ก็เลยเป็นฉากใน “มังกรหยก” ที่ลี้มกโช้วลักพาตัวก๊วยเซียงตอนเป็นเด็กทารกไป
แล้วลี้มกโช้วก็พูดว่า “เด็กทารกคนนี้หน้าตาน่ารักจัง” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนปกติคิดหรือพูดกัน
แต่ลี้มกโช้วกลับพูดต่อไปว่า “แต่กว่าเด็กคนนี้จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
ก็ไม่รู้ว่าจะต้องผิดหวังกับความรักอย่างรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
ไม่รู้ว่าจะต้องเสียน้ำตามากน้อยแค่ไหนให้กับความรัก เพราะฉะนั้นก็ตายเสียตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารกซะดีกว่า”
ซึ่งเราว่าสิ่งที่ลี้มกโช้วพูดมันก็มีทั้งส่วนจริงและไม่จริง
คือเราชอบสุดขีดที่พอลี้มกโช้วเห็นเด็กทารกหน้าตาน่ารัก ลี้มกโช้วก็จินตนาการไปถึงอนาคตที่ว่า
เด็กคนนั้นจะเติบโตขึ้นเป็นหญิงสาวที่สวยงาม และอาจจะต้องมีประสบการณ์ชีวิตรัก
และอาจจะผิดหวังกับความรักอย่างรุนแรง เหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่ว ๆ ไปที่อาจจะเคยเจ็บปวดอย่างรุนแรงกับความรัก
เราก็เลยชอบสุดขีดที่ลี้มกโช้วมองอะไรได้ไกลกว่าคนทั่ว ๆ ไป เพียงแต่ว่ามันนำไปสู่
“ข้อสรุป” ที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงว่า เพราะฉะนั้นเด็กทารกคนนั้นก็สมควรตายไปเลยซะดีกว่า
เราก็เลยชอบ “สายธารความคิด” ของผู้หญิงในหนังทั้ง
3 เรื่องนี้อย่างรุนแรงสุดขีดมาก ๆ ตั้งแต่ Su Friedrich ที่พยายามจะนึกถึงทุ่งหญ้าที่สวยงาม
แต่สายธารความคิดกลับไหลไปเรื่อย ๆ จนทำให้เธอเกิด panic attack, นางเอกของ APRIL, COME SHE WILL ที่แทนที่จะมีความสุขอยู่กับผัวหนุ่มหล่อ
แต่เธอกลับคิดต่อไปว่า ความรักมันจะสิ้นสุดลงหรือไม่ (ถ้าหากเราเข้าใจไม่ผิดนะ) และลี้มกโช้ว
ใน “มังกรหยก” ที่พอเห็นเด็กทารกหน้าตาน่ารัก ก็สงสัยว่า กว่าเด็กคนนี้จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
เด็กคนนี้จะต้องเสียน้ำตาให้กับความรักมากน้อยแค่ไหน
เพราะเราว่าเราก็เป็นเหมือนกัน อาการ “สวรรค์อยู่ในอก
นรกอยู่ในใจ” แบบนี้ อาการแบบที่ว่าบางทีสายธารความคิดของเราอาจไหลไปเรื่อย ๆ
จนส่งผลให้เราเกิดความทุกข์อย่างรุนแรงขึ้นมาได้ ทั้ง ๆ ที่สาเหตุของมันเกิดจาก “ความคิดของเราเอง”
สังเกตได้ว่าบันทึกความทรงจำของเราอันนี้ก็เริ่มจาก
Su Friedrich แต่มันก็ไหลไปเรื่อย ๆ จนถึงลี้มกโช้วในที่สุด
55555
5.ก่อนหน้านี้เราเคยดู SINK OR SWIM
(1990, Su Friedrich) ซึ่งเราก็ชอบอย่างสุดขีดเช่นเดียวกัน
อยากดู THE LESBIAN AVENGERS EAT FIRE,
TOO (1993, Janet Baus, Su Friedrich) มาก ๆ
No comments:
Post a Comment