Sunday, June 09, 2024

DARK WAS THE NIGHT

 

DARK WAS THE NIGHT ผีพุ่งไต้ (2024, Taiki Sakpisit, video installation, A+30)

 

1.ทรงพลังอย่างสุดขีดมาก ทั้งภาพ, การร้อยเรียงภาพ และเสียง ซึ่งเสียงน่าจะเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากที่สุดสำหรับเราในงานวิดีโอชิ้นนี้

 

2.หนัง (เราขอใช้คำนี้แทน “ภาพเคลื่อนไหวทุกประเภท” ก็แล้วกัน เพราะคำนี้มันสั้นดี 55555) ของคุณไทกิถือเป็นหนึ่งในหนังประเภทที่เราชอบที่สุด แต่ “เขียน” ถึงได้ยากที่สุด เพราะเรารู้สึกว่านี่แหละคือพลังที่แท้จริงอย่างหนึ่งของหนัง นั่นก็คือมันต่อต้านการถูกถ่ายทอดออกมาเป็น “คำ” มันไม่สามารถแทนที่ด้วย “คำ” ได้ง่าย ๆ ซึ่งพลังของหนังหลาย ๆ เรื่องของคุณไทกิ และของหนังทดลองของผู้กำกับท่านอื่น ๆ บางเรื่อง อย่างเช่น WINDOWS (1999, Apichatpong Weerasethakul) หนังของ Bruce Baillie, Marguerite Duras, Peter Tscherkassky, etc. อะไรพวกนี้ คือหนังที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันทรงพลังอย่างเต็มเปี่ยมขณะที่เราดู มันกระแทกกระทั้น, โอบล้อมเรา, พาเราเดินทางเข้าสู่มิติประหลาด, ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ยากจะบรรยายในใจเรา และเราก็ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกที่เราได้รับจากหนังเหล่านี้ออกมาเป็น “คำ” ได้ ซึ่ง DARK WAS THE NIGHT ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของหนังกลุ่มนี้ เราบอกได้แค่ว่ามันทรงพลังสุดขีดสำหรับเรา

 

3.ชอบ texture ของภาพในวิดีโอชิ้นนี้มาก ๆ เราว่ามันสวยงามมลังเมลือง ราวกับเป็นภาพที่อยู่ใน “ภวังค์ทางจิต” บางอย่าง มันเหมือนสวยกว่า “ภาพฝัน” ในหนังทั่ว ๆ ไป และ “ความมลังเมลือง” ของมันก็ถูกออกแบบมาให้สวยแบบเหมาะเจาะ เพราะมันไม่ได้ “ฉ่ำวาว” แบบภาพในหนังโรแมนซ์ทางช่อง Hallmark หรือหนังอย่าง MAY DECEMBER (2023, Todd Haynes) ด้วย

 

แล้วพอ texture ของภาพมันสวยสุดขีดในแบบที่พอเหมาะพอเจาะแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกราวกับว่า บาง moments ในหนังเรื่องนี้นี่แทบจะกลายเป็น “งานจิตรกรรม” ไปเลย โดยเฉพาะในฉากที่หญิงสูงวัยอยู่นิ่ง ๆ นานหลายนาที

 

ก็เลยรู้สึกชอบวิดีโอชิ้นนี้ตรงจุดนี้ด้วย ตรงที่มันเหมือนทำให้งาน “ภาพเคลื่อนไหว” แผ่พลังออกมาในบางขณะในแบบที่ทำให้นึกถึงงานจิตรกรรม

 

4.ส่วนเรื่องการร้อยเรียงซีนต่าง ๆ เข้าด้วยกันนั้น เราชอบอย่างสุดขีดมาก เราแอบคิดในใจเล่น ๆ ตอนที่ดูว่า นี่อาจจะเป็นหนึ่งในหนังไทยไม่กี่เรื่องที่ทำให้เรานึกถึง TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND (1976, Bruce Conner) ขณะที่เราได้ดู เพราะ TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND เป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุดในชีวิต และมันเหมือนประกอบด้วยซีนต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน แล้วก่อให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรงสุดขีดสำหรับเรา โดยไม่ทราบชีวิตหรือความหมายใด ๆ อะไรอีกต่อไป

 

คือเราดูหนังเรื่องนี้หลังจากอ่านคำบรรยายนิทรรศการ แต่เราได้ดูหนังเรื่องนี้ก่อนที่เราจะได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณไทกิน่ะ เพราะฉะนั้นตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยรู้แค่ว่ามันอาจจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ต.ค. 2519 แต่เราไม่รู้เลยว่าหนังเรื่องนี้มันนำแสดงโดยคุณดุษฎี พนมยงค์ และเกี่ยวข้องกับสุริยุปราคา เราเพิ่งมารู้สองประเด็นนี้หลังจากได้ดูหนังไปแล้ว

 

เพราะฉะนั้นตอนที่เราดูหนัง (หรือวิดีโอ) เรื่องนี้ เราก็เลยรู้สึกพิศวงอย่างรุนแรงมากคล้าย ๆ กับตอนที่ดู TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND เพราะเราไม่รู้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นในแต่ละฉาก แล้วแต่ละฉากมันเกี่ยวข้องกันยังไง รู้แต่ว่าบางฉากถ่ายที่ม.ธรรมศาสตร์แค่นั้นเอง

 

เราก็เลยชอบความรู้สึกพิศวง จับต้นชนปลายอะไรไม่ถูกแบบนี้อย่างรุนแรงมาก เหมือนภาพในแต่ละฉากมันงามมาก แล้วเสียงในแต่ละช่วงขณะก็รุนแรงมาก แต่เราไม่รู้ความหมายของแต่ละฉาก ไม่รู้เนื้อเรื่อง ไม่รู้ตรรกะที่ใช้เชื่อมโยงแต่ละฉากเข้าด้วยกัน มันก็เลยเกิดความพิศวงคล้าย ๆ กับตอนที่ดูหนังของ Bruce Bailler, Bruce Conner และหนังทดลองอีกหลาย ๆ เรื่อง อย่างเช่น THE GARDEN (1990, Derek Jarman, UK)

 

เหมือนความรู้สึกของเราพีคถึงขีดสุดช่วงที่มีภาพคล้าย ๆ จิตรกรรมฝาผนัง หรือภาพวาดไทยโบราณ แทรกเข้ามาในจอที่ฉายภาพม.ธรรมศาสตร์เป็นระยะ ๆ น่ะ เพราะเราไม่รู้ว่าภาพวาดไทยโบราณแต่ละภาพนั้นสื่อถึงอะไร มันสื่อถึงแผนภูมิจักรวาลแบบไทยโบราณ หรือสุริยุปราคา หรืออะไร แล้วมันเกี่ยวข้องกับฉากอื่น ๆ ยังไง คือเราตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้หรอก เรารู้แค่ว่าการตัดต่อฉากภาพวาดไทยโบราณเหล่านี้เข้ามามันทำให้ความรู้สึกของเราถะถั่งหลั่งล้นถึงขีดสุดมาก

 

5.คือระหว่างที่เราดูหนังเรื่องนี้ เรานึกถึงความสุขที่ได้รับจากการดู TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND นะ ความสุขจากการดูฉากที่เหมือนไม่เกี่ยวข้องกันมาถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกัน แล้วมันก่อให้เกิดพลังที่รุนแรงมากขึ้นมา แต่พอเราดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว แล้วมาอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณไทกิ เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เรานึกถึง THE GARDEN ของ Derek Jarman ด้วยนะ เพราะ THE GARDEN มันเต็มไปด้วยฉากที่พิศวงต่าง ๆ มาถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันเหมือนกัน แต่แต่ละฉากจริง ๆ แล้วมันมี “ความหมาย” อยู่ด้วยน่ะ ซึ่งคนดูไม่จำเป็นต้องเข้าใจความหมายดังกล่าวก็ enjoy กับหนังอย่างสุดขีดได้อยู่ดี แต่คนดูบางคนดูแล้วก็อาจจะตีความได้ว่า แต่ละฉากใน THE GARDEN มันอ้างอิงถึงเนื้อหาส่วนใดใน “คัมภีร์ไบเบิล” หรือพาดพิงถึงปัญหาเรื่องสิทธิเกย์อย่างไรบ้าง คือมันมีความหมายทางการเมืองและศาสนาซ่อนอยู่ในหลาย ๆ ฉากใน THE GARDEN น่ะ

 

ซึ่งเราเดาว่าจริง ๆ แล้วแต่ละฉากใน DARK WAS THE NIGHT ก็คงมีความหมายทางการเมืองซ่อนอยู่ เพราะฉะนั้นแต่ละฉากในหนังเรื่องนี้เลยอาจจะไม่ได้เป็นฉากที่ “พิศวงในแบบที่ไม่รู้ความหมายใด ๆ อีกต่อไป” เหมือนกับแต่ละฉากใน TAKE THE 5:10 TO DREAMLAND แต่เป็นฉากที่ “พิศวงแต่มีความหมายซ่อนอยู่” คล้าย ๆ กับ THE GARDEN มากกว่า

 

6. ยอมรับว่าตอนดูหนังเรื่องนี้ เราไม่รู้ว่ามันมีสุริยุปราคาอยู่ในหนัง 55555 เราแค่งง ๆ ว่า ทำไมบางฉากเดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่างในฉากเดียวกัน พอเรามาอ่านบทสัมภาษณ์ทีหลัง เราถึงเพิ่งรู้ว่า มีสุริยุปราคาอยู่ด้วย ซึ่งก็เลยทำให้เรานึกถึง “พญาโศกพิโยคค่ำ” THE EDGE OF DAYBREAK (2021, Taiki Sakpisit) มาก ๆ เพราะหนังเรื่องนั้นก็เน้นสุริยุปราคาเหมือนกัน, พูดถึงการเมืองไทยเหมือนกัน แล้วชื่อหนังก็พูดถึงช่วงเวลาต่าง ๆ ของวันเหมือนกัน

 

7.ตอนดูหนังเรื่องนี้ เรานึกไปถึงหนังไทยเรื่องอื่น ๆ ของผู้กำกับรุ่นใกล้เคียงกับคุณไทกิ โดยที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้ตั้งใจด้วย 55555 อย่างเช่น

 

7.1 พอหนังเรื่องนี้เน้นฉาก “หญิงสูงวัย” เราก็เลยนึกถึง ANATOMY OF TIME (2021, Jakkrawal Nilthamrong)

 

7.2 พอหนังเรื่องนี้พูดถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ต.ค. 2519 เราก็เลยนึกถึง BY THE TIME IT GETS DARK (2016, Anocha Suwichakornpong) ที่นำเสนอประเด็นนี้ในแบบหนังซ้อนหนัง และ SILENCE (2021, Kick the Machine Documentary Collective, video installation) ที่นำเสนอประเด็นนี้ในแบบหนังไซไฟ dystopia

 

เราก็เลยประทับใจมาก ๆ ที่ถึงแม้ DARK WAS THE NIGHT อาจจะพูดถึง 6 ต.ค. 2519 แต่ทำออกมาในแบบที่ไม่เหมือนกับหนังเรื่องอื่น ๆ เลย และทำออกมาในแบบที่ abstract เป็นนามธรรมที่สุดด้วย

 

ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้อ่านบทบรรยายนิทรรศการมาก่อน เราก็คงไม่แน่ใจหรอกว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงประเด็นนี้ เราอาจจะแค่รู้สึก “สงสัย” อยู่ในใจ เวลาเห็นฉากม.ธรรมศาสตร์ในหนังเรื่องนี้ แต่ไม่อาจฟันธงลงไปได้

 

7.3 แต่สิ่งที่ทรงพลังสุดขีดในงานวิดีโอชิ้นนี้ ก็คือ “เสียง” ของมันที่หนักข้อรุนแรงมาก และเป็นสิ่งที่เกินความสามารถของเราที่จะ “บรรยาย” ถึงเสียงของมันได้ ซึ่งความยากที่จะบรรยายถึงเสียงประหลาดที่เคยได้ยินมานี่แหละ ก็เลยทำให้เรานึกถึงนางเอกของ MEMORIA (2021, Apichatpong Weerasethakul) 55555

 

8.สรุปว่าชอบวิดีโอชิ้นนี้มาก ๆ สำหรับเราแล้ว มันเหมือนกับว่างาน video installation นี้พาเราเข้าสู่การเดินทางทางจิตหรือการผจญภัยทางจิตอะไรบางอย่าง ราวกับว่าเรานั่งสมาธิจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ดวงจิตล่วงเข้าสู่มิติประหลาด เห็นภาพนิมิตและได้ยินเสียงนิมิตจากนอกโลกกายหยาบ ก่อนที่จะออกจากสมาธิเมื่อวิดีโอสิ้นสุดลง

 

IN MEMORIAM (2023, Siwakorn Bunsrang, 59min, A+30)

 

1.เหมือนเป็นหนังที่ “เล่นท่ายาก” แต่ทำออกมาได้สำเร็จงดงามมาก ๆ ซึ่งการเล่นท่ายากนั้นก็คือการไม่เล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา ไม่เป็น linear narrative แต่เล่าออกมาแบบไม่ปะติดปะต่อ ราวกับเป็นกึ่ง ๆ กระแสสำนึก บอกไม่ได้อีกต่อไปว่าอันไหนอดีต ปัจจุบัน ใครเป็นใคร ฉากไหนจริง หรือฝัน หรือจินตนาการ หรืออะไร

 

ซึ่งเราคิดว่าคนที่จะทำหนังแบบนี้ได้สำเร็จจะต้องมีความสามารถ “เชิงกวี” สูงมาก ๆ เหมือนสามารถสร้างความงามขึ้นจากการนำเสนอฉากต่าง ๆ และร้อยเรียงฉากต่าง ๆ เข้าด้วยกันโดยไม่เน้นไปที่ “การเล่าเรื่อง” แต่ก่อให้เกิดพลังอย่างเอกอุทางภาพยนตร์ด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ นอกเหนือไปจากเนื้อเรื่องด้วย

 

ซึ่งเรารู้สึกว่าคุณศิวกรมีความสามารถเชิงกวีสูงจริง ๆ เพราะสิ่งที่เราประทับใจที่สุดในหนังเรื่องนี้ อาจจะไม่ใช่ตัวเนื้อเรื่อง หรือสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละคร เพราะเราดูไปแล้วก็งงว่าจริง ๆ มันเกิดอะไรขึ้นบ้างในชีวิตของตัวละครกันแน่ แต่สิ่งที่เราประทับใจที่สุดในหนังคือการตัดสลับ “เวลา”, การร้อยเรียงสถานที่ (อย่างเช่นฉากที่ตาแก่เดินในระเบียงโรงเรียน และฉากที่เด็กเดินในระเบียงโรงเรียน การใส่สองฉากนี้เข้ามาในหนังในเวลาที่ต่างกัน ก่อให้เกิดพลังของความคล้องจองในเชิงกวีอย่างมาก ๆ สำหรับเรา) , การสลับสับเปลี่ยนตัวละคร อะไรแบบนี้มากกว่า

 

2.ในแง่หนึ่งก็เลยรู้สึกว่า IN MEMORIAM นี่แหละ คือหนังที่อาจฉายควบกับ MIRROR (1975, Andrei Tarkovsky), PHANTOM LOVE (2007, Nina Menkes), หนังของ Alain Resnais, หนังของ Terence Davies, etc. อะไรทำนองนี้ได้ เพราะหนังเหล่านี้สามารถ “ปั้นแต่งเวลา” ได้อย่างยอดเยี่ยมและทรงพลังเหมือน ๆ กัน และเปล่งพลังเชิงกวีอย่างสูงสุดเหมือนกัน

 

3.สรุปว่าตอนนี้เราเคยดูหนังของคุณ Siwakorn Bunsrang มาแล้วราว 8 เรื่องมั้ง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจดชื่อหนังมาครบหรือเปล่า แต่ทั้ง 8 เรื่องนี้ทำให้เรามั่นใจได้ว่า คุณ Siwakorn ทำหนังเข้าทางเรามาก ๆ และเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่น่าจับตามองมากที่สุดในรุ่นนี้

 

หนัง 8 เรื่องของคุณศิวกรที่เราเคยดู เรียงตามลำดับความชอบส่วนตัว

 

3.1 IN MEMORIAM

 

3.2 DISAPPEARED เลือนรางและจางหาย (2022, ศิวกร บุญสร้าง, 24.35 นาที, DOCUMENTARY, A+30)

 

3.3 WHEN THE WIND BLOWS ยามเมื่อสายลมพัดผ่าน (2022, ศิวกร บุญสร้าง,12.30 นาที DOCUMENTARY, A+30)

 

3.4 THE ANGEL FROM BELOW อัจฉราคืนเวหา (2021, ศิวกร บุญสร้าง, 15min, A+30)

 

3.5 ห้องสมุด โรงเรียน แห่งอนาคต (2022, ศิวกร บุญสร้าง, 13min, A+30)

 

3.6 THE WAY TO ESCAPE FROM ETERNITY (2023, ศิวกร บุญสร้าง, 4.25 นาที, A+30)

 

3.7 THE MIDDLE WAY มัชฌิมาปฏิปทา ( 2023, ศิวกร บุญสร้าง, 14.38 นาที, A+30)

 

3.8 THE FUTURE อนาคต (2022, ศิวกร บุญสร้าง, 5.54 นาที A+)

 

 

HAUNTED UNIVERSITIES 3 (2024, A+30)

เทอม 3

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

--

--

--

--

--

 

1.THE PROCESSION ขบวนแห่ (2024, Aussada Likitboonma, Sorawit Meungkeaw, A+)

 

เป็นตอนที่เราชอบน้อยสุด ซึ่งก็น่าเสียดายมาก ๆ เพราะจริง ๆ แล้วเราชอบช่วงแรก ๆ ของหนังมาก ๆ เราว่าตัวละครพระเอกนางเอกในตอนนี้ดูมีความเป็นธรรมชาติมากในระดับนึง นักแสดงเล่นได้เก่งและน่ารักดี

 

แต่ช่วงท้าย ๆ ของหนังไม่เข้าทางเราอย่างรุนแรง เพราะว่า

 

1.1 ผีเจ้านางมี “อำนาจ” มากเกินไปน่ะ มันก็เลยเหมือนหนังมันไม่มี boundary หรือมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า ผีในหนังมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ทำอะไรได้บ้าง และเรามักจะไม่อินกับหนังที่ผี/ปีศาจมีอำนาจมากเกินไป นึกอยากจะโผล่มาฆ่าใครเมื่อไหร่ก็ฆ่าได้ตามสบายด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วแม้แต่หนังต่างประเทศอย่าง METAMORPHOSIS (2019, Kim Hong Sun, South Korea) เราก็มีปัญหาทำนองนี้เหมือนกัน คือถ้าผี/ปีศาจมันนึกอยากจะโผล่มาฆ่าใครก็ฆ่าได้ตามสบายแล้ว เราก็หมดสนุกกับมัน

 

แต่เราไม่มีปัญหากับหนังชุด JU-ON (2002, Takashi Shimizu) นะ เพราะอันนั้นมันยังมีกฎชัดเจนว่า ผีมันจะฆ่าเฉพาะคนที่ก้าวเข้าไปในบ้านหลังนั้นเท่านั้น

 

1.2 เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีปัญหามาก ๆ กับการที่ผีเจ้านางมาฆ่านักศึกษาคนอื่น ๆ ในมหาลัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระเอกนางเอกด้วย เพราะเหมือนหนังมันทำให้เราเข้าใจในตอนแรกว่า ผีขบวนแห่นี้จะมาฆ่าเฉพาะคนที่ไปบนบานศาลกล่าวโดยไม่ได้เป็นคู่รักกันเท่านั้น เพราะฉะนั้นเราก็เลยงงว่า ทำไมอยู่ดี ๆ อีผีขบวนแห่มีอิทธิฤทธิ์อำนาจอะไร หรือมี “สิทธิ” อะไร ถึงสามารถมาเข้าสิงนักศึกษาหนุ่มสองคนแล้วให้ทั้งสองเชือดคอตัวเองตาย

 

1.3 แล้วเราก็งงมาก ๆ กับฉากที่เหมือนมีผีหัวขาดมาฟันนักศึกษาคนอื่น ๆ ตายด้วย คือถ้าหากมีแค่พระเอกนางเอกที่เห็นกลุ่มผีหัวขาด แต่คนอื่น ๆ ไม่เห็น อันนั้นมันน่าจะเป็นไปได้สำหรับเรามากกว่า แต่การที่อยู่ดี ๆ มีผีหัวขาดมาไล่ฟันกลุ่มนักศึกษากลางมหาลัยกลางวันแสก ๆ นี่ มันดูเลอะเทอะสำหรับเรามาก ๆ คือถ้าหากมันเกิดเหตุการณ์กลุ่มผีหัวขาดอาละวาดแบบนั้นได้จริง ก็น่าจะต้องมีอาจารย์สาวสักคนตรงระเบียงชั้นสองถ่ายคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนำคลิปไปให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางช่อง CNN ไปแล้วไหม คือมันเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกได้แล้วล่ะถ้ามีกลุ่มผีหัวขาดอาละวาดกลางมหาลัยกลางวันแสก ๆ แบบนี้ 55555

 

1.4 ระดับความชอบของเราที่มีต่อ THE PROCESSION ก็เลยหล่นฮวบจาก A+30 ลงเหลือแค่ A+ เพราะช่วงท้ายของตอนนี้ เพราะเราไม่ชอบหนังที่ให้ผี/ปีศาจมีอำนาจมากเกินไปแบบนี้ และเราไม่ชอบหนังที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่เราเข้าใจได้ว่า ตกลงแล้วผี/ปีศาจในหนังสามารถทำอะไรได้บ้าง

 

ซึ่งสิ่งที่ตรงข้ามกับหนังตอนนี้ ก็มีอย่างเช่น ละครทีวีชุด FREDDY’S NIGHTMARES (1988-1990) หรือละครทีวีชุด “นิ้วเขมือบ” น่ะ คือในละครทีวีชุดนี้ มันมีตอนนึง ที่นางเอกเป็นสาวนักวิ่งเร็ว แล้วเธอก็วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ชนะคู่แข่ง แต่เส้นชัยที่มันควรจะเป็นผ้า กลับตัดคอเธอขาดกระเด็นน่ะ ร่างของเธอก็เลยวิ่งเข้าเส้นชัยไป แต่เป็นร่างคอขาด เพราะคอเธอถูกเส้นชัยตัดขาดกระเด็นไปแล้ว

 

แต่ต่อมาละครก็แสดงให้เห็นว่า “ในโลกแห่งความเป็นจริง” นั้น คือเธอวิ่งเข้าเส้นชัยไป แล้วก็ขาดใจตายอยู่ในสนามน่ะ คือคอเธอไม่ได้ถูกเส้นชัยตัดขาดแต่อย่างใด เพราะถ้าหากเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นจริง มันก็คงโด่งดังไปทั้งโลกแล้ว

 

เราก็เลยรู้สึกชอบอะไรแบบนี้มาก ๆ เพราะมันเหมือนเป็นโลกสยองขวัญที่มันรักษากฎเกณฑ์ของมันเองไว้ได้ดีน่ะ ตัวปีศาจนิ้วเขมือบมีอำนาจแค่ในโลกแห่งความฝันเท่านั้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงก็คือว่า นางเอกของตอนนั้นวิ่งเข้าเส้นชัยแล้ว “หลับ” ไป แล้วในโลกแห่งความฝัน เธอก็ถูกเส้นชัยตัดคอขาดกระเด็น แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น คอเธอไม่ได้ขาด เธอแค่ขาดใจตายขณะที่วิ่งเข้าเส้นชัย

 

คือถ้าหาก THE PROCESSION มันแสดงให้เห็นว่าตัวละครพระเอกนางเอกหลอนไปเองจนตายหรืออะไร มันก็จะเข้าทางเรามาก ๆ นะ แต่พอมันลงเอยด้วยการที่ผี/ปีศาจมันมีอิทธิฤทธิ์จะทำอะไรก็ได้ จะฆ่านักศึกษาคนอื่น ๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรก็ได้แบบนี้ มันก็เลยมีปัญหากับเรามาก ๆ เหมือนมันไร้กฎเกณฑ์เกินไปสำหรับเรา เราชอบอะไรแบบ FREDDY’S NIGHTMARES มากกว่าที่มันมีกฎเกณฑ์ชัดเจนว่าปีศาจทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง

 

2. THE CARETAKER พี่เทค (2024, Nontawat Numbenchapol, A+30)

 

2.1 ความวาย ความ homoerotic ของหนังตอนนี้นี่ดีงามที่สุด

 

2.2 ชอบการออกแบบตัวละครจั๊มพ์ให้ดูมีความ dilemma ดีด้วย เพราะเหมือนหลายคนรู้อยู่แล้วว่าโซตัสมันเลว รุ่นพี่บ้าอำนาจมันเลว หนังเรื่องนี้ก็เลยผลักไปอีกทางหนึ่งด้วยการสร้างตัวละครจั๊มพ์ให้กลายเป็นคนที่สุดขั้วไปอีกทาง ซึ่งก็ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ ๆ ที่น่าสนใจตามมา เพราะใจนึงเราก็รู้สึกว่า จั๊มพ์ควรดูแลน้อง แต่อีกใจหนึ่งเราก็รู้สึกว่า ถ้าเขาไม่อยากดูแล เขาก็ไม่ควรจะต้องไปดูแล เราว่าอะไรแบบนี้มันเป็น dilemma ที่น่าสนใจดีสำหรับเรา

 

3. THE INVISIBLE SHRINE ศาลล่องหน (2024, Aroonakorn Pick, A+30)

 

3.1 งดงามที่สุด เหมือนเป็นหนัง “ผีการเมืองไทย” ที่เราชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตเลย ปะทะกับหนังผีการเมืองไทยที่เราชอบมากที่สุดอย่างเช่นเรื่อง THIS HOUSE HAVE GHOST (2011, Eakarach Monwat) ได้เลย เหมือนหนังมันผสมความเป็นการเมืองเข้ากับหนังผีออกมาได้ดีงามมาก ๆ

 

ส่วนขั้วตรงข้ามของหนังเรื่องนี้ หรือหนัง “ผีการเมืองไทย” ที่ออกมาไม่ลงตัวอย่างรุนแรงสำหรับเรา ก็มีอย่างเช่นหนังเรื่อง “ผู้เช่า” THE TENANT 55555

 

3.2 การผสมความตลกกับความเป็นหนังผีเข้าด้วยกันก็ออกมาดีงามมาก ๆ เช่นกัน เราว่ามันตลกในระดับพอดี ๆ โดยไม่ไปลดทอนความน่ากลัวของผีน่ะ คือผีในหนังไม่ได้ทำตลกตามไปด้วยน่ะ ผีในหนังไม่มีอารมณ์ขัน ผีในหนังมีปัญหาจริง ๆ ความตลกของหนังเรื่องนี้ก็เลยอยู่ในระดับที่ลงตัวสำหรับเรา มันเหมือนกับว่าความตลกมันไม่ได้ไปลดทอน “ความจริงจังของปัญหาที่ตัวละครต้องเผชิญ” ลงไป

 

 

3.3 ชอบการออกแบบตัวละครของมาร์ค ศิวัช จำลองกุลด้วย คือเหมือนเขาเป็นหนุ่มแหกคอก ไม่ทำตามประเพณีในสังคม แต่จริง ๆ แล้วเขาเป็นคนที่มีความรู้สูงและจริงจังในระดับนึง

 

3.4 ชอบมาก ๆ ด้วยที่ผีในหนังเรื่องนี้มันตบกันเอง แย่งชิงอำนาจกันเอง เราชอบอะไรแบบนี้อย่างสุด ๆ

No comments: