Sunday, November 16, 2014

THE TWELVE SISTERS: EPISODE -- THE HERMIT CHANGES THE MESSAGE (2014, Pradit Prasartthong, stage play, A+30)

THE TWELVE SISTERS: EPISODE --  THE HERMIT CHANGES THE MESSAGE (2014, Pradit Prasartthong, stage play, A+30)
นางสิบสอง ตอน ฤาษีแปลงสาส์น

ความรู้สึกที่มีต่อละครเวทีเรื่องนี้

1.ชอบการด่าเทวดาและการด่าพ่อของพระรถเสนในละครเรื่องนี้

2.สิ่งที่เราชอบสุดๆในละครเรื่องนี้ก็คือ มันเหมือนกับว่าละครเรื่องนี้มันสามารถหาจุดที่มาบรรจบกันระหว่าง “พจน์ อานนท์ กับ Bertolt Brecht” หรือระหว่าง “การแสดงตลกคาเฟ่ กับหนังของ Alexander Kluge” ได้น่ะ คือมันอาจจะไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับ Brecht หรือ Kluge ได้เป๊ะๆหรอกนะ แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เราจินตนาการไปถึงจุดที่มันบรรจบกันได้

คือโดยปกติแล้ว เราจะชอบหนังที่เป็นมากกว่า “เรื่องที่มันเล่า” น่ะ คือหนังโดยทั่วๆไปมันจะเล่าเรื่องราวเป็นเส้นตรง เหตุการณ์เกิดขึ้น 1, 2, 3, 4 เรียงตามลำดับกันไป และหนังก็จะทำเหมือนกับว่าทุกอย่างในหนังเกิดขึ้นจริงในจักรวาลของมัน

แต่เราจะชอบหนังที่เป็นมากกว่านั้น คือหนังบางเรื่อง มันอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องราวเป็นเส้นตรง แต่มันจะเฉไฉไปหาอะไรที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกันด้วย อย่างเช่นหนังบางเรื่องของ Alexander Kluge ที่โครงสร้างอาจจะไม่ได้เป็น 1, 2, 3, 4, 5 แต่เป็น 1, Œ, 5, Þ, 23 แต่การที่เนื้อหาในแต่ละส่วนมันไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง มันกลับกระตุ้นความคิดของผู้ชมอย่างมากๆ

หนังบางเรื่องที่เราชอบมาก ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “เรื่องที่เล่า” แต่ไปให้ความสำคัญกับ “วิธีการเล่าเรื่อง” หรืออะไรอื่นๆแทน อย่างเช่น HAUNTED HOUSES (2001, Apichatpong Weerasethakul, 60 min) และ  THE LIVING WORLD (2003, Eugène Green) คือเวลาที่เราดูหนังประเภทนี้ เราจะไม่ได้อินไปกับตัวละครและสถานการณ์ที่ตัวละครเผชิญ เพราะเราจะรู้ตัวตลอดเวลาว่าเราดูหนังอยู่ เราดูโลกสมมติ โลกติ๊ต่างอยู่ ตัวละครใน HAUNTED HOUSES ชี้ไปที่รถซาเล้ง แล้วบอกว่านั่นเป็นรถเบนซ์หรูหรา แล้วก็ treat มันเหมือนรถเบนซ์หรูหรา ตัวละครใน THE LIVING WORLD ชี้ไปที่หมา แล้วบอกว่ามันเป็นสิงโต แล้วก็ treat มันเป็นสิงโต คนดูหนังประเภทนี้ จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “เรื่องที่เล่า” แต่ไปสนใจกับ “วิธีการเล่าเรื่อง” แทน มนต์ของการรู้สึกอินไปกับหนังหรือตัวละครถูกทำลาย คนดูรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังดูโลกติ๊ต่างอยู่

ทีนี้เรากลับมาที่ตลกคาเฟ่ ซึ่งโดยปกติแล้วหลายๆคนอาจจะมองว่ามันเป็นอะไรที่ต่ำกว่าหนังอาร์ท แต่จริงๆแล้วมันมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่น่าสนใจในตลกคาเฟ่ นั่นก็คือว่า ในการแสดงตลกคาเฟ่บางครั้ง นักแสดงจะพยายามเล่าเรื่อง แต่แทนที่เขาจะเล่าเรื่องราว 1 2 3  4 5 ได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นจนจบ เขากลับถูกขัดจังหวะในการเล่าเรื่องตลอดเวลาจากนักแสดงตลกคนอื่นๆ อย่างเช่น พอเขาเล่าฉาก 1 จบ เขาก็จะถูกขัดจังหวะ ถูกเพื่อนนักแสดงเอาฉาบมาตีตัว โครงสร้างของการเล่าเรื่องในตลกคาเฟ่ ก็เลยเหมือนเป็น 1 ฮิฮิ 2 ฮิฮิ 3 ฮิฮิ 4 ฮิฮิ อะไรอย่างนี้แทน การเล่าเรื่องถูกขัดจังหวะตลอดเวลา เรื่องที่เล่ากลายเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญเท่ากับการเฉไฉออกนอกเรื่อง

ดังนั้นถ้าเราดูให้ดี เราอาจจะพบว่าโครงสร้างของหนังอาร์ทบางเรื่อง กับโครงสร้างของตลกคาเฟ่ มันมีอะไรบางอย่างที่อาจจะนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้ หนังของ Kluge ก็ดูเหมือนจะเฉไฉออกนอกเรื่องตลอดเวลา (แต่มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นความคิดผู้ชม) ตลกคาเฟ่ก็ดูเหมือนจะเฉไฉออกนอกเรื่องตลอดเวลา (แต่มีจุดประสงค์เพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู) หนังอาร์ทบางเรื่องพยายามทำให้คนดูรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าดูหนัง คนที่ดูตลกคาเฟ่หรือมหรสพบางประเภทของไทย ก็รู้ตัวตลอดเวลาว่าดูการแสดงอยู่ และไม่ได้เรียกร้อง “ความสมจริง” หรือ “ความอินไปกับตัวละคร” จากการแสดงหรือมหรสพนั้น แต่ในบางครั้งพวกเขากลับเรียกร้อง “ความไม่สมจริง” ต่างหาก โดยความไม่สมจริงในหนังอาร์ทอาจจะต้องการกระตุ้นความคิดบางอย่าง ในขณะที่ความไม่สมจริงในตลกคาเฟ่ (อย่างเช่นการเอานักแสดงหน้าเหียกมาเล่นเป็นเจ้าหญิงแสนสวย) อาจจะต้องการเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู

เพราะฉะนั้นพอเราดู ฤาษีแปลงสาส์น เราก็เลยชอบสุดๆ เพราะเรารู้สึกว่าละครเวทีเรื่องนี้เหมือนกับหาจุดที่เชื่อมโยงกันได้ระหว่างหนังอาร์ทบางประเภทกับตลกคาเฟ่ เพราะในละครเวทีเรื่องนี้ เรื่องที่เล่าจะถูกขัดจังหวะตลอดเวลาด้วย

1.การเล่นตลกโปกฮานอกเรื่อง
2.การเล่นตลกแบบไร้สติ อย่างเช่นการที่ตัวละครคุยกันอยู่ดีๆ แล้วก็พูดย้ำไปย้ำมา แล้วก็เต้นกันอย่างสุดเหวี่ยง ซึ่งมันมีลักษณะไร้สติ ไร้เหตุผลมากๆ ก่อนที่จะกลับมาเข้าเรื่องต่อ ซึ่งเราว่าอารมณ์ตลกแบบนี้มันจะต่างจากข้อหนึ่ง แต่เราบรรยายไม่ค่อยถูกเหมือนกัน แต่เรารู้สึกว่าเราชอบ “มุกตลกแบบที่จงใจเขียนไว้ดีแล้ว” น้อยกว่า “มุกตลกแบบเสียสติ, ไร้เหตุผลไปเลย” น่ะ
3.การทำให้ผู้ชมรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าดูการแสดงอยู่
4.การขอเงินจากคนดู
5.การเน้นย้ำความแตกต่างระหว่างสมัยอดีตกับสมัยปัจจุบัน (จุดนี้ทำให้นึกถึงหนังเทพนิยายฝรั่งเศสเรื่อง DONKEY SKIN ของ Jacques Demy ที่มีฉาก “นางฟ้านั่งเฮลิคอปเตอร์”)
6.การวิเคราะห์โครงสร้างวรรณกรรมไทย คือแทนที่ตัวละครจะเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงแหนว ตัวละครใน “นางสิบสอง” กลับพูดคุยกันถึงนางวันทอง, นางโมราในจันทโครพ, สังข์ทอง, รามเกียรติ์ด้วย
7.การสะท้อนสภาพสังคมการเมือง


สรุปว่าเราชอบละครเวทีเรื่องนี้อย่างสุดๆจ้ะ เพราะแทนที่มันจะเล่าเรื่องนางสิบสองเป็นเส้นตรง การเล่าเรื่องในละครเวทีเรื่องนี้ กลับถูกขัดจังหวะตลอดเวลา ด้วยการแสดงตลกโปกฮา, ตลกเสียสติ และการกระตุ้นให้ผู้ชมได้คิดวิเคราะห์ทั้งเรื่องโครงสร้างวรรณกรรมไทย และสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน

No comments: