Saturday, October 01, 2016

COMRADE KIM GOES FLYING (2012, Kim Gwang Hun, Nicholas Bonner, Anja Daelemans, North Korea/UK/Belgium, A+30)

COMRADE KIM GOES FLYING (2012, Kim Gwang Hun, Nicholas Bonner, Anja Daelemans, North Korea/UK/Belgium, A+30)

1.เหมือนมีหนังเรื่องนึงที่เราเพิ่งได้ดูเมื่อเร็วๆนี้ ที่ตัวละครพูดว่า “People see what they want to see.” คือคนเราเห็นในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเห็น หรือมักจะพยายามตีความสิ่งใดก็ตามที่ตัวเองเห็นให้เข้ากับแนวคิดดั้งเดิมของตนเอง และเราก็พบว่าเรารู้สึกแบบนั้นกับหนังเรื่องนี้ คือหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นภาพชนชั้นแรงงานในเกาหลีเหนือที่หน้าตายิ้มแย้มเบิกบานร่าเริงแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคนที่ชื่นชอบเกาหลีเหนือก็อาจจะเห็น “ความสุขของประชาชนภายใต้ระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ” แต่คนอย่างเราก็จะเห็น “ความ fake ของการนำเสนอภาพความสุขของเกาหลีเหนือ”

แต่ถึงแม้เราจะรู้สึกว่า  ความสุขของตัวละครในหนังเรื่องนี้มันคือ “ความ fake อย่างรุนแรง” เราก็ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆนะ เพราะเราไม่รู้เจตนาของผู้สร้างหนังเรื่องนี้ บางทีเขาอาจจะตั้งใจให้มันดู fake อย่างรุนแรงเพื่อให้คนดูสัมผัสได้ถึงความ fake ของรัฐบาลเกาหลีเหนือก็ได้ 555 หรือถึงแม้เขาเป็นคนที่สนับสนุนระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ หนังเรื่องนี้ก็มีคุณค่าสำหรับเราในแง่ propaganda ที่ดูเพลิดเพลิน และ fake จนน่าขันในหลายๆจุด

การ “เห็นในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเห็น” ที่เราได้รับจากหนังเรื่องนี้ ทำให้เรานึกถึงหนังสั้นไทยหลายเรื่องที่เราไม่ขอเอ่ยชื่อถึงนะ เพื่อความปลอดภัยของผู้กำกับ คือมันมีหนังสั้นไทยหลายเรื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่พูดถึงเรื่องสังคม-การเมือง แต่ไม่บอกว่าผู้กำกับเข้าข้างฝ่ายไหนกันแน่ มีหนังบางเรื่องในกลุ่มนี้เรากับเพื่อนๆมักจะถกกันอยู่เสมอว่าหนังมันเข้าข้างฝ่ายไหน ในกรณีที่เราไม่รู้จักตัวผู้กำกับคนนั้น เราอาจจะตีความว่าหนังมันสนับสนุนทหารก็ได้ หรืออาจจะมองว่าหนังมันต่อต้านทหารก็ได้ และก็มีหนังบางเรื่องที่เรารู้ว่าผู้กำกับเป็น liberal มากๆ แต่หนังเหล่านั้นกลับได้รับการชื่นชอบจากฝ่ายเสื้อเหลืองมากๆ เพราะหนังเหล่านั้นเป็นสารคดีที่นำเสนอความจริงอย่างมีชั้นเชิง คือเวลาเราดูหนังกลุ่มนี้ เราก็มักจะรู้สึกว่าหนังมันเข้าข้างฝ่ายเราอย่างรุนแรง แต่ไปๆมาๆคนที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับเรา ก็ดูจะชอบหนังเรื่องนั้นอย่างมากๆเหมือนกัน เพราะหนังมันไม่บอกตรงๆ มันเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เห็นในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเห็น

ไม่รู้เหมือนกันว่าทางรัฐบาลเกาหลีเหนือและประชาชนเกาหลีเหนือรู้สึกอย่างไรกับหนังเรื่องนี้ บางทีเขาอาจจะเห็น “ภาพความสุข” ของประเทศตนเองก็ได้ ส่วนเรากลับเห็น “ความ fake ของความสุข”

2.น่าสนใจดีที่เส้นเรื่องของหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงละครทีวีและการ์ตูนของญี่ปุ่นยุคทศวรรษ 1970-1980 นะ ทั้ง “ยอดหญิงชิงโอลิมปิก”, “เงือกสาวจ้าวสระ”, “ตากล้องยอดรัก”, “ยอดรักจอแก้ว”, “สู้เขามายูโกะ” และละครทีวีญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆที่เน้นการ “ประกอบอาชีพให้ดีที่สุด” ทั้งละครทีวีที่นางเอกพยายามจะเป็นตำรวจที่ดี, เป็น designer ที่ดี เป็น airhostess ที่ดีอะไรทำนองนี้

คือความมุมานะ แววตามุ่งมั่น ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค การกัดฟันลุกขึ้นยืนสู้ของนางเอก COMRADE KIM GOES FLYING นี่ ทำให้นึกถึงแววตาของนางเอกในละครทีวีญี่ปุ่นยุคทศวรรษ 1970 อย่างรุนแรงน่ะ มันก็เลยน่าสนใจดีที่สังคมเกาหลีเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์ กับสังคมญี่ปุ่นที่เป็นทุนนิยม กลับสร้าง ภาพยนตร์/ละครทีวีที่มีส่วนคล้ายคลึงกันอย่างรุนแรงออกมา

แต่สิ่งที่ต่างไปจากละครทีวีญี่ปุ่นก็คือว่า COMRADE KIM GOES FLYING ให้ความสำคัญกับชนชั้นแรงงานมากๆ และบอกว่านักกายกรรมห้ามดูถูกคนงานเหมือง/คนงานก่อสร้างเป็นอันขาด ซึ่งการเน้นย้ำแนวคิดแบบนี้คงเป็นสิ่งที่หาได้ยากในหนังประเทศอื่นๆในปัจจุบันนี้

3.จริงๆแล้วเราว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้เก่งพอสมควรนะ เพราะเรารู้สึกว่าหนังเล่าเรื่องได้เพลิดเพลินดี ทั้งๆที่เรามองว่าทุกอย่างมัน fake และเราไม่เชื่อในภาพสังคมที่เราได้เห็นเลย คือ skills ในการเล่าเรื่องและการถ่ายทำช่วยหล่อเลี้ยงอารมณ์ของเราไว้ได้เกือบตลอดทั้งเรื่อง

แต่ถ้าเทียบกับหนัง propaganda ของโซเวียตแล้ว เราว่าเราชอบหนัง propaganda ของโซเวียตยุคเก่ามากกว่าหนังเรื่องนี้นะ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้มันขาด “คู่ขัดแย้ง” ด้วยแหละ มันก็เลยไม่ทรงพลังอย่างรุนแรง เพราะหนังเรื่องนี้มันฉายภาพความสุขชื่นบานของชนชั้นแรงงานในเกาหลีเหนือ โดยไม่มีการกดขี่อะไรจากใครเลย คือตัวนักกายกรรมในเรื่องมันอาจจะดูถูกชนชั้นแรงงานก็จริง แต่มันก็เป็นอะไรที่แผ่วเบามากๆเมื่อเทียบกับ “การกดขี่ของศักดินา/ทุนนิยม” ที่ทำต่อชนชั้นแรงงานในหนังโซเวียตยุคเก่า อย่างเช่นเรื่อง BATTLESHIP POTEMKIN (1925, Sergei M. Eisenstein), MOTHER (1926, Vsevolod Pudovkin), EARTH (1930, Alexander Dovzhenko), I AM CUBA (1964, Mikhail Kalatozov) หรือเทียบกับหนัง propaganda ของเวียดนามอย่าง THE WILD FIELD (1979, Nguyen Hong Sen) ที่นำเสนอกองทัพสหรัฐในฐานะศัตรูผู้รุกรานประเทศอย่างชัดเจน

COMRADE KIM GOES FLYING ยังมีฉายอยู่ที่ Bangkok Screening Room นะจ๊ะ

1 comment:

celinejulie said...

I think it is an entertaining propaganda films. The film is as entertaining as many Japanese TV-series in the 1970s-1980s which portray a heroine who has a strong ambition to be an accomplished swimmer/volleyball player/designer/cop/air hostess/musician, etc. The propaganda side of the film is really funny for me. The working class people in this film smile happily all the time. It seems so fake, but the fakery is very funny. I don’t know the real intention of the filmmakers. The film can be viewed either as a film which portrays the happiness of the working class in North Korea, or as a film which protrays the fakery of the happiness of the working class in North Korea.