Sunday, January 15, 2017

SCHOOL TALES (2017, Pass Patthanakumjon, A+30)

SCHOOL TALES (2017, Pass Patthanakumjon, A+30)
เรื่องผีมีอยู่ว่า

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.จุดแรกที่ชอบมากๆเลยก็คือหนังแทบไม่มีอารมณ์ตลกเลย หนังเรื่องนี้ก็เลยเข้าทางเรามากๆ เพราะโดยปกติแล้วเรามักจะไม่รู้สึกตลกกับมุกตลกในหนังไทยหลายๆเรื่องน่ะ หรือมักจะรู้สึกว่าโทนตลกในหนังไทย+หนังเอเชียหลายๆเรื่องมันไม่ถูกปากถูกลิ้น หรือไม่ตรงกับรสนิยมส่วนตัวของเราสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะโทนตลกใน “มหาลัยเที่ยงคืน” (2016, A+15) และโรงเรียนผี (2016, Manusnun Pongsuwan, B+ ) เราก็เลยชอบมากๆที่ SCHOOL TALES เหมือนเข้าโทนซีเรียสตั้งแต่ช่วงแรกๆของหนังเลย และหนังก็ไม่พยายามแทรกอารมณ์ตลกเข้ามาในเรื่องเลยด้วย

2.เหมือนเราชอบการทวีความซีเรียสในช่วงแรกๆของหนังมากน่ะ คือหนังมันเริ่มซีเรียสตั้งแต่การเล่าเรื่องผี 3 เรื่องติดกันแล้ว แล้วหนังก็แสดงให้เห็นเลยว่า เมย์กับครีมมีเรื่องผิดใจกันอย่างรุนแรง และท็อปกับเน็ตก็มีเรื่องผิดใจกันอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นในช่วงแรกๆของหนัง เราก็เลยเผชิญกับความเครียดทั้งจากผี และความเครียดที่เกิดจากความเกลียดชังกันในจิตใจของตัวละครแต่ละตัวด้วย และเราชอบอะไรแบบนี้มากๆ คือเราต้องกลัวทั้งผี และกลัวทั้งคนไปด้วยในขณะเดียวกัน เพราะเราคาดเดาไม่ได้ว่า ตัวละครตัวไหนจะแอบวางแผนฆ่าเพื่อนคนไหนอะไรยังไงด้วย

3.มันเหมือนกับว่า ตั้งแต่ช่วงแรกของหนัง เราก็เห็นแล้วล่ะว่า หนังเรื่องนี้เข้าทางเรามากกว่าหนังผีไทยหลายๆเรื่อง เพราะมันคิดตัวละครมาดีมากๆน่ะ คือเรารู้สึกเลยว่า ตัวละครแต่ละตัวมันมีชีวิตของมันมาก่อนหนังเริ่มเรื่อง และมันดูเป็นธรรมชาติ ดูเป็นมนุษย์มากกว่าตัวละครเด็กวัยรุ่นในหนังผีไทยหรือหนังโรแมนติกไทยหลายๆเรื่องอีก

คือเรารู้สึกว่า ในหนังผีไทยหลายๆเรื่อง ตัวละครเหมือนกับเป็น “ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เจอผี พร้อมกับตอบสนองความต้องการของผู้ชมแต่ละกลุ่ม” แต่ในหนังเรื่องนี้ ตัวละครเหมือนกับเป็น “เด็กวัยรุ่นที่มีชีวิตของตัวเอง แต่อยู่ๆก็ต้องมาเจอผีในช่วงหนึ่งของชีวิต” เราก็เลยชอบการออกแบบตัวละครในหนังเรื่องนี้มากๆ

4.ชอบที่หนังมันเหมือนตั้ง “เกม” ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับวางกฎกติกาในการเล่นเกมนั้นๆน่ะ และเราชอบหนังที่มีลักษณะเหมือนการเล่นเกมแบบนี้

5.ตัวประเด็นของมันก็น่าสนใจมากๆ ที่โยงผีเข้ากับ “ความเชื่อ” หรือ “อานุภาพของความเชื่อและเรื่องเล่า”

สิ่งที่หนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำให้เรานึกถึงก็คือความจริงที่ว่า ในโลกทุกวันนี้ คนเราก็ฆ่ากันมากมายเพราะ “ความเชื่อ” ที่จริงๆแล้วอาจจะไม่ได้เป็นความจริงเลยแม้แต่นิดเดียว เหมือนคนเราถูกบอกให้เชื่อในสิ่งนึง แล้วก็เลือกที่จะเชื่อตามที่คนอื่นๆบอกมา แล้วก็ออกไปฆ่าคน, ทำร้ายคน หรือกดขี่คนอื่นๆเพราะความเชื่อนั้นๆ ทั้งที่จริงๆแล้วสิ่งที่คุณเชื่ออาจจะไม่ได้เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อย

6.ชอบประโยคช่วงท้ายที่โอมพูดมากๆ ที่บอกว่า “เราจะไม่ลืมสิ่งที่คนอื่นๆทำกับภาวดี และจะไม่ลืมสิ่งที่ภาวดีทำกับปัน” เราว่ามันจริงดี

คือถ้าหากเป็นในหนังทั่วๆไปที่พยายามจบแบบอารมณ์สมานฉันท์ ทุกคน happy ให้อภัยกัน โอมจะไม่พูดว่า “จะไม่ลืมสิ่งที่ภาวดีทำกับปัน” น่ะ และเราว่าอารมณ์แบบนี้มันไม่ใช่เรา มันเป็นการเกลื่อนๆความจริงเพื่อความ fake ทางอารมณ์ในภาพยนตร์ในหนังทั่วๆไปน่ะ แต่โชคดีที่หนังเรื่องนี้ไม่ตกหลุมพรางนี้ เราก็เลยชอบมากๆ

7.ตั้ว เสฏฐวุฒิ อนุสิทธิ์ เล่นดีมากๆ

8.ฉากจับมือกันในห้องวิทย์ จริงๆแล้วเราไม่อินหรือไม่ identify ตัวเองกับตัวละครในฉากนี้เลยน่ะ แต่ทำไมดูแล้วนึกถึงอดีตของตัวเองตอนแอบชอบรุ่นพี่หนุ่มหล่อคนนึงในโรงเรียนมัธยมก็ไม่รู้ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมฉากนี้ถึง bring back memories ของเราได้อย่างรุนแรงมากๆ ทั้งๆที่เนื้อหาของฉากมันไม่ได้ใกล้เคียงกับอดีตของเราแต่อย่างใด แต่บางทีอาจจะเป็นที่ “อารมณ์ความรู้สึก” ของฉากก็ได้ ที่มันทำให้เรานึกถึงอดีตขึ้นมา

ประหลาดดีที่เราเคยดูหนังโรแมนติกของไทยมาเป็นร้อยๆเรื่อง แต่มันไม่สามารถ bring back romantic memories ของเราได้เลย แต่การดูหนังผีเรื่องนี้ กลับสามารถ bring back romantic memories ของเราได้

9.ถึงเราจะชอบหนังในระดับ A+30 แต่จริงๆแล้วก็มีจุดที่ “ไม่เข้าทางเรา” หลายจุดนะ อย่างเช่น เรารู้สึกว่าผีแต่ละตัวถูกปราบง่ายเกินไปจนไม่ “สนุกสุดขีด” น่ะ

คือ concept หนังมันดีมากแล้ว แต่การปราบผีแต่ละตัวมันดูง่ายๆเกินไปยังไงไม่รู้ โดยเฉพาะถ้าหากเทียบกับหนังอย่าง BEFORE I WAKE (2016, Mike Flanagan) คือที่เรานึกถึง BEFORE I WAKE ขึ้นมาเป็นเพราะว่า การปราบผีใน BEFORE I WAKE ก็ต้องอาศัย “การสืบหาความจริงที่ต้นตอของปัญหา” เหมือนกัน แต่ BEFORE I WAKE เหมือนยังมีภาวะที่ตัวละครเผชิญความยากลำบากในระดับหืดขึ้นคอก่อนจะคลี่คลายปัญหาได้ และตัวละครสำคัญบางตัวก็ถูกฆ่าตายด้วย แต่ใน SCHOOL TALES นั้น มันยังไม่เกิดภาวะ “หืดขึ้นคอ” ในระดับที่รุนแรงจริงๆน่ะ และตัวละครก็รอดชีวิตกันเกือบหมด คือถ้าหากหนังจบลงด้วยการที่ตัวละครรอดชีวิตแค่คนเดียว แทนที่จะจบลงด้วยการที่ตัวละครตายแค่คนเดียว บางทีหนังอาจจะสนุกหรือเข้าทางเรามากกว่านี้ก็ได้

10.อีกจุดที่เราว่าน่าเสียดาย ก็คือว่า จริงๆแล้วเนื้อเรื่องของผีแต่ละตัว มันมี “ความเจ็บปวด” อย่างรุนแรงมากๆอยู่ในนั้นน่ะ แต่พอมันเป็นหนังผี หนังก็เลยไม่สามารถสะท้อนความเจ็บปวดของตัวละครยักษ์, ภาวดี และบรรณารักษ์ออกมาได้ ทั้งๆที่จริงๆแล้วตัวละคร 3 ตัวนี้มีชีวิตที่เจ็บปวดสุดขีดมากๆ โดยเฉพาะตัวบรรณารักษ์นี่นึกถึงสปัน เสลาคุณเลย

แต่เราไม่ตำหนิผู้กำกับในจุดนี้นะ เราว่ามันเป็นเรื่องเงื่อนไขทางการตลาดน่ะ คือพอมันเป็นหนัง mainstream ของไทยที่ทำขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ชมในวงกว้าง หนังก็เลยไม่สามารถสะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของตัวผู้กำกับหรือผู้เขียนบทได้อย่างเต็มที่น่ะ

แต่จริงๆแล้วเนื้อหาของหนังเรื่องนี้มันสามารถนำไปพัฒนาเป็นหนังที่อาร์ตกว่านี้ได้สบายๆเลย คือสมมุติหนังไปเน้นที่ความเจ็บปวดของภาวดี, บรรณารักษ์ และยักษ์ เราก็อาจจะได้หนัง drama ที่รุนแรงมากๆก็ได้

11.อีกจุดที่เราสงสัยก็คือว่า บางทีการที่หนังเรื่องนี้ไปไม่สุดในความเห็นของเรา อาจจะเป็นเพราะว่า มันเชื่อในวิทยาศาสตร์มากเกินไปหรือเปล่า 555 คือหนังเรื่องนี้ตั้งกรอบกฎเกณฑ์กติกาเกี่ยวกับผีขึ้นมาใหม่ และพยายามแก้ไขปัญหาผีแต่ละตัวอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากพอสมควรน่ะ มันดูเหมือนมีการใช้หลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์เข้ามาคลี่คลายปัญหาในหนังเรื่องนี้มากกว่าหนังผีโดยทั่วๆไป ซึ่งในแง่นึงมันก็เป็นสิ่งที่ดีมาก

แต่ในอีกแง่นึง เราก็เชื่อว่ามนุษย์มัน “น่าสนใจ” และ “น่ากลัว” เพราะมนุษย์บางคนมันทำในสิ่งที่ไม่มีเหตุผล หรือ “ไม่มีทางเข้าใจได้” หรือ “อธิบายไม่ได้” น่ะ และพอหนังเรื่องนี้ใช้หลักเหตุผลเข้ามาแก้ปัญหาได้หมด หนังมันก็เลยไม่น่ากลัวแบบรุนแรงสำหรับเรา ในขณะที่หนังบางเรื่องมันเหมือนแตะ “ความไร้เหตุผลของมนุษย์และจักรวาล” หรือ “อำนาจมืดที่อยู่นอกเหนือคำอธิบายใดๆ” น่ะ และหนังกลุ่มหลังนี้มันก็เลยน่ากลัวอย่างรุนแรง เพราะมันแตะ “สิ่งที่อธิบายไม่ได้” ในขณะที่ SCHOOL TALES มันทำให้ “ผีเป็นสิ่งที่อธิบายได้”

12.ขอจบด้วยจุดที่เราชอบมากๆอีกจุดนึงในหนังก็แล้วกัน นั่นก็คือจุดที่ว่า ปัญหาหลายอย่างแก้ได้ด้วยการบอกความจริงและการสารภาพผิดน่ะ ทั้งปัญหาขัดแย้งระหว่างเมย์กับครีม ที่แก้ไขได้ด้วยการขอโทษ และปัญหาระหว่างโอมกับบรรณารักษ์ ที่แก้ไขได้ด้วยการสารภาพผิด

เพราะเราก็เชื่อเหมือนกันว่า ถ้าหากเราสารภาพผิดหรือพูดความจริงออกไป มันจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดน่ะ เราก็เลยชอบที่หนังเรื่องนี้นำวิธีนี้มาใช้แก้ปัญหาให้กับตัวละครบางตัวในเรื่อง


No comments: