Tuesday, January 10, 2017

PRAYOON (2016, Somchai Tidsanawoot, 70min, A+30)

หนังที่ได้ดูในงานบางแสนรามาในวันที่ 9 ธ.ค. 2016

1.PRAYOON (2016, Somchai Tidsanawoot, 70min, A+30)

รู้สึกว่าทีมสร้างหนังกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าจับตามองที่สุดในปี 2016 เพราะหนังเรื่อง “รำพัน” (2016, Somchai Tidsanawoot, 21min) และ PUSSY’S THRONE (2016, Sukrit Wongsrikaew, 36min) ของทีมนี้ ก็เป็นหนังที่เราชอบสุดๆเช่นกัน จริงๆแล้วเราว่าหนัง 3 เรื่องนี้ฉายเป็นไตรภาคชุดเดียวกันได้เลย เพราะทั้งสามเรื่องเป็นหนังที่มีบรรยากาศลึกลับหลอกหลอนที่ขลังมากๆ และทั้งสามเรื่องก็ดูเหมือนจะมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงอยู่ด้วย

แต่ถ้าจะให้เราตีความอะไรต่างๆในประยูร เราก็ทำไม่ได้นะ เราไม่ใช่คนที่ถนัดในการตีความอะไรพวกนี้น่ะ เวลาดูหนังเรามักจะใช้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเราเองไป approach หนัง มากกว่าจะใช้หัวสมองตีความสัญลักษณ์ต่างๆในหนัง เพราะฉะนั้นถ้าหากจะถามว่า ประยูร ต้องการจะ “ส่งสาร” อะไร หรือประยูรเป็นหนังเกี่ยวกับอะไร เราก็คงจะตอบไม่ได้ 555 คือถ้าหากจะเรียก “ประยูร” ว่าเป็น “หนังการเมือง” เราก็ประทับใจกับความเป็น “หนัง” ของมัน มากกว่าความเป็นการเมืองของมัน

ตอนดู “ประยูร” เราจะนึกถึง MUNDANE HISTORY (2009, Anocha Suwichakornpong) ด้วยนะ ในแง่ความเป็นหนังการเมืองแนวพิศวงที่เล่าเรื่องผ่านทางความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเหมือนกัน คือใน MUNDANE HISTORY มันจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ-ลูกชาย-บุรุษพยาบาล ส่วนในประยูร มันจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง ปู่-พ่อ-เด็กหนุ่ม

ชอบ “ความมืด” ในหนังเรื่องนี้กับใน PUSSY’S THRONE มากๆ เราว่าผู้สร้างหนังสองเรื่องนี้ถ่ายฉากมืดๆออกมาได้ทรงพลังและมีมนต์เสน่ห์มากๆ ฉากมืดๆบางฉากในประยูรนี่ทำให้นึกถึงพลังความมืดในหนังของ Philippe Grandrieux เลย

ช่วงท้ายของหนังก็ชอบมาก ที่เป็นฉากท้องถนนโล่งๆตามจุดต่างๆในกรุงเทพในช่วงรุ่งสาง (ถ้าจำไม่ผิด) ไม่รู้เหมือนกันว่าฉากเหล่านี้สื่อถึงอะไร แต่มันทรงพลังสุดๆสำหรับเรา

สรุปว่า ประยูร เป็นหนังที่เราชอบสุดๆ แต่มันเป็นหนังที่เขียนถึงได้ยากมากๆ เพราะมันเป็นหนังที่ทรงพลังด้านภาพและบรรยากาศน่ะ และมันยากจะบรรยายพลังของหนังประเภทนี้ออกมาเป็นตัวอักษรได้ ในขณะที่ “ประเด็น” ของหนังเรื่องนี้ เราก็อาจจะไม่เข้าใจมัน ก็เลยเขียนถึงไม่ได้อีก 555

มันเหมือนกับหนังของ Andrei Tarkovsky น่ะแหละ คือเวลาเราดูหนังอย่าง MIRROR (1975), STALKER (1979), NOSTALGIA (1983) และ SACRIFICE (1986) เราจะรู้สึกว่ามันทรงพลังสุดๆ หนักที่สุดในชีวิตการแสดง แต่เราจะไม่สามารถบรรยายพลังของมันออกมาเป็นตัวอักษรได้เลย คือมันมีพลังรุนแรงบางอย่างในหนังกลุ่มนี้ แต่เราไม่รู้จะถ่ายทอดมันออกมายังไง ต้องให้นักวิจารณ์คนอื่นๆเขียน เราไม่มีปัญญาเขียน

อยากให้มีคนเขียนตำราวิเคราะห์ “หนังการเมืองไทยแนวพิศวง” มากๆ เพราะนอกจาก “รำพัน”, PUSSY’S THRONE และประยูรแล้ว หนังของ Chaloemkiat Saeyong, Anocha Suwichakornpong, Apichatpong Weerasethakul, Eakaluck Maleetipawan, Arnont Nongyao และหนังอย่าง วัฏจักรวาล (2016, Pinmanee Emtanom) ก็ดูเหมือนจะ defy explanation อย่างรุนแรงมากๆเหมือนกัน

ถ้าหากให้เราจับคู่ฉายหนังกลุ่มนี้ เราก็อาจจะจับคู่ฉาย

1.1  “รำพัน” กับ YANEE,THE GIRL WHO IS TRYING TO OVERCOME HER FEARS (2015, Anuwat Amnajkasem) เพราะทั้งสองเรื่องเป็นหนังจากม.บูรพาเหมือนกัน และสื่อสารเรื่องการเมืองผ่านทางผีสางแม่นางโกงเหมือนกัน แต่ YANEE จะติดโทนตลกหน่อยๆ ในขณะที่รำพันจะขรึมขลังกว่า และเราว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆที่ PUSSY’S THRONE กับประยูร ก็มีบรรยากาศขรึมขลังแบบรำพันเหมือนกัน เหมือนกับว่าผู้สร้างหนังกลุ่มนี้ ทำหนังที่มีบรรยากาศแบบนี้แล้วมันออกมา work มากๆน่ะ

1.2 PUSSY’S THRONE กับ UNDER THE SHADOW (2016, Babak Anvari)
เพราะทั้งสองเรื่องนี้เป็นหนังสยองขวัญที่แฝงเรื่องการเมืองเอาไว้เหมือนกัน

1.3 ประยูร กับ KID-NAP หากว่าฝันไป (2014, Nutchanol Vatanakuljaras)
จริงๆแล้วหาหนังที่สามารถจับคู่กับ “ประยูร” ได้ยากมากๆ เพราะประยูรมัน unique มาก แต่เราเลือก KID-NAP เพราะว่ามันพิศวงเหมือนๆกัน, ดูแล้วงงเต๊กเหมือนกัน และมีฉากทุ่งหญ้าในความมืดเหมือนๆกัน 555

2.EVILVERDICT ยุติอธรรม (2016, อนุพงษ์ หล่อแท้, 60min, A+15)

ก่อนได้ดูหนังเรื่องนี้ เราแอบดูถูกหนังไว้ในใจว่า มันคงเป็นหนังที่ได้รับอิทธิพลจาก “ขุนพันธ์” (2016, ก้องเกียรติ โขมศิริ) น่ะ และคงเป็นแค่หนังห่ามๆ บู๊ๆ สนุกๆ เอามันส์อะไรทำนองนี้

แต่พอได้ดูหนังจริงๆแล้ว เรากลับพบว่ามันเป็นหนังที่มีประเด็นที่น่าสนใจมากๆ เพราะมันเป็น dilemma สำหรับเราน่ะ ถ้าให้เราไปอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตำรวจในเรื่องนี้ เราก็ตัดสินใจได้ยากเหมือนกันว่าควรจะทำยังไงดี เราควรจะฆ่าผู้ร้ายหรือไม่ หรือควรจะทำตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเราควรจะ “ตัดสิน” ตำรวจที่ทำแบบพระเอกในเรื่องนี้อย่างไรดี

เสียดายที่ execution หรือการกำกับมันยังไม่ทรงพลังมากพอน่ะ คือ “ประเด็น” มันดีแล้ว แต่การนำเสนอประเด็นออกมาเป็น “ภาพ” หรือ “ฉาก” มันยังขาดพลังอยู่

3.BOB (2016, ภาสวุฒิ สุขบัว, 80min, A+10)

จริงๆแล้วชอบช่วงแรกๆของหนังมากๆ แต่ความชอบดิ่งลงในช่วงองก์สามหรือช่วงท้ายๆของหนังน่ะ คือเราว่าช่วงแรกๆหนังมันนำเสนอชีวิตตัวละครแต่ละตัวได้อย่างราบรื่น เป็นธรรมชาติดี แต่พอเข้าสู่ช่วงท้ายของหนัง มันก็ดูเหมือนจะพยายามทำตัวเป็น thriller ต้องมีฉากลุ้นระทึก ตื่นเต้น ฆ่ากัน หักมุม แต่เรากลับรู้สึกว่ามันฝืนมากๆที่พยายามทำตัวเป็น thriller สูตรสำเร็จแบบนั้น


คือถ้าหากหนังเรื่องนี้เน้นนำเสนอชีวิตตัวละครไปเรื่อยๆเลย โดยไม่ต้องพยายามทำตัวเป็น thriller เราอาจจะชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆก็ได้

No comments: