หนังสั้นไทยที่เราชอบเป็นอันดับที่
48 ของปี 2016 คือ IF OUR DEATHS COME OUT OF THE BLUE (2016, Methavee Seethongphia) ซึ่งตัวหนังจริงๆอาจจะไม่ได้ดีมากนัก แต่เราชอบ concept ของมันอย่างสุดๆ เพราะถ้าเราเข้าใจไม่ผิด มันคือการเอาภาพหรือฟุตเตจจากหนังรักโรแมนติกธรรมดาเรื่อง
“ก็คิงบอกให้ฮาถ้า” (2016, Siraphop Dejsuwan) มาเล่าใหม่ให้กลายเป็นหนัง
sci-fi thriller และเราชอบการแต่งเรื่องจากภาพแบบนี้มาก
เราชอบมากที่ “ภาพเคลื่อนไหวชุดเดียวกัน” เราสามารถใส่เนื้อเรื่องเข้าไปให้มันกลายเป็นหนังรักโรแมนติกก็ได้
หรือทำให้มันกลายเป็นหนัง sci-fi thriller ก็ได้
ภาพเคลื่อนไหวชุดเดียวกันสามารถเล่าเรื่องที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วได้เป็นร้อยๆเรื่อง
ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้เล่าเรื่องแต่ละคน
คอนเซปท์ของ “การแต่งเรื่องที่ไม่ซ้ำกันเลยจากภาพเคลื่อนไหวชุดเดียวกัน”
เคยมีคนเอามาทำเป็นหนังที่เราชอบสุดขีดมาแล้วนะ ซึ่งก็คือหนังเรื่อง L’EXPERIENCE PREHISTORIQUE (2003,
Christelle Lheureux, 79min) ที่เป็นการนำภาพเคลื่อนไหวยาว 79
นาทีที่เหมือนกันไปให้คนต่างๆจากทั่วโลกแต่งเรื่องที่ไม่ซ้ำกันเลยออกมา
โดยตอนที่หนังเรื่องนี้มาฉายที่กรุงเทพนั้น หนังได้ “ปราบดา หยุ่น” มาแต่งเนื้อเรื่องให้
และมันก็เลยกลายเป็นเรื่องของครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่กังวลกับสมาชิกในครอบครัวที่ไปรบในสงครามอิรัก
คือในตัว “ภาพ” นั้นมันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอิรักเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ปราบดา
หยุ่นเก่งมากๆที่สามารถใส่เนื้อเรื่องของอิรักเข้าไปในหนังเรื่องนั้นได้
ตอนที่เราดู L’EXPERIENCE PREHISTORIQUE นั้น สิ่งที่สนุกสุดๆก็คือว่า
นอกจากเราจะดูภาพบนจอ+รับฟังเนื้อเรื่องจากปราบดา หยุ่นไปด้วยแล้ว
ในหัวของเรายังจินตนาการไปด้วยในขณะเดียวกันว่า ถ้าหากเราต้องแต่งเรื่องจากภาพเหล่านี้
เราจะแต่งเรื่องแบบไหนออกมา อย่างเช่น ภาพหญิงสาวยืนอยู่ที่ชานนอกบ้าน ปราบดาอาจจะแต่งเรื่องจากภาพนั้นว่า
“คิมิโกะรอคอยฟังข่าวอย่างกระวนกระวาย” แต่เราอาจจะแต่งเรื่องจากภาพเดียวกันว่า “คิมิโกะรู้สึกปวดขี้อย่างรุนแรง”
อะไรทำนองนี้
Apichatpong Weerasethakul ก็เคยทำหนังคล้ายๆกันนี้ออกมาสองเรื่อง
ซึ่งก็คือ MASUMI IS A PC OPERATOR (2001) กับ FUMIYO
IS A DESIGNER (2001) เราจำได้ว่าตอนที่หนังสองเรื่องนี้มาฉายในกรุงเทพนั้น
มีการส่งไมโครโฟนไปให้ผู้ชมในโรงหนังแต่ละคนช่วยกันแต่งเรื่องจากภาพบนจอ
แต่การแต่งเรื่องอย่างกะทันหันแบบนี้อาจจะไม่ก่อให้เกิดเรื่องราวที่พิสดารมากเท่าไหร่
มันต้องอาศัยผู้ชมที่มีไหวพริบสูงมากจริงๆที่จะสามารถแต่งเรื่องที่สนุกสนานออกมาจากภาพที่เห็นได้อย่างทันที
สรุปว่าชอบ concept ของ IF OUR DEATHS COME OUT OF THE BLUE
มากๆ
และหวังว่าจะมีคนทำหนังที่เล่นกับองค์ประกอบของหนังได้อย่างสนุกสนานแบบนี้อีก
อย่างเช่น การแยก “เนื้อเรื่อง” กับ “ภาพ” ออกจากกัน และแสดงให้เห็นว่า “ภาพ”
เดียวกันสามารถรองรับเนื้อเรื่องได้หลากหลายมากมายเพียงใด
No comments:
Post a Comment