Thursday, August 30, 2018

THE SILENCE OF THE SEA (1949, Jean-Pierre Melville, France, A+30)


THE SILENCE OF THE SEA (1949, Jean-Pierre Melville, France, A+30)

คลาสสิคจริงๆ ชอบความอารยะขัดขืนของนางเอกมากๆ คือในหนังทั้งเรื่องนี้นางเอกต่อต้านพระเอกที่เป็นทหารนาซีด้วยการไม่ยอมพูดกับพระเอกเลยตลอดทั้งเรื่อง ยกเว้นเพียงแค่ “คำเดียว” เท่านั้น พอดูจบแล้วเราก็เลยรู้สึกเหมือนมีอะไรหน่วงอยู่ในใจอย่างรุนแรงมาก มันเหมือนกับว่าการที่นางเอกต่อต้านด้วยการไม่พูดอะไรเลย มันเลยทำให้มวลความรู้สึกต่างๆจากนางเอกมันมาอัดอั้นอยู่ภายในตัวเรา โดยไม่ได้รับการระบายออกไป

ชอบความเข้มแข็งของนางเอกมากๆ คือถ้าหากมองในตอนแรก เราจะรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้นำเสนอภาพทหารนาซี “คนหนึ่ง” ในแง่เห็นอกเห็นใจอย่างมากๆ (ถึงแม้หนังนำเสนอภาพทหารนาซีโดยรวมในฐานะคนชั่วร้ายตามความเป็นจริง) แต่พอดูจบแล้ว เรากลับรู้สึกว่าหนังมันถ่ายทอดพลังของความเข้มแข็งจาก French Resistance มายังคนดูได้ด้วย โดยผ่านทาง “การไม่พูด” ของนางเอก คือในขณะที่หนังนำเสนอภาพทหารเยอรมันอย่างเห็นอกเห็นใจ หนังก็สามารถเชิดชูความเข้มแข็งของชาวฝรั่งเศสผู้รักชาติได้ด้วยวิธีการที่แยบยลในขณะเดียวกัน

ชอบที่การต่อต้านในหนังเรื่องนี้เป็นการต่อต้านที่ประหลาดไปจากหนังเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น ARMY OF SHADOWS (1969, Jean-Pierre Melville), BLACK BOOK (2006, Paul Verhoeven) และ SOPHIE SCHOLL: THE FINAL DAYS (2005, Marc Rothemund) คือในขณะที่การต่อต้านในหนังเรื่องอื่นๆเป็นการลุกขึ้นมาประท้วงโดยตรง, การทำตัวเป็นสปาย หรือการทำตัวเป็น “นักรบใต้ดิน” การต่อต้านในหนังเรื่องนี้กลับเป็นการนิ่งเงียบ และไม่พูดอะไรเลย เราก็เลย relate กับการต่อต้านในหนังเรื่องนี้มากๆ เพราะเราไม่ใช่คนที่กล้าหาญชาญชัยและฉลาดหลักแหลมมีไหวพริบปฏิภาณแบบ Sophie Scholl  และนักรบในสงครามโลก เราไม่มีความกล้าหาญและความเข้มแข็งมากเท่ากับวีรบุรุษและวีรสตรีในหนังเหล่านั้น แต่นางเอกหนังเรื่อง THE SILENCE OF THE SEA ไม่ต้องลุกขึ้นมาจับปืนไล่ฆ่าทหารนาซี เธอแค่ถักนิตติ้งตลอดทั้งเรื่องและไม่พูดอะไรเลย แต่นั่นก็เป็นความเข้มแข็งอย่างมากในแบบของเธอเองแล้ว เราก็เลยนับถือเธอมากๆ และรู้สึกว่าเธอเป็นแรงบันดาลใจในแบบที่ใกล้ตัวเรามากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ

แต่การต่อต้านแบบนี้ มันก็เหมาะกับ “ผู้รุกราน” ที่เป็นคนดีแบบพระเอกในหนังเรื่องนี้นะ คือถ้าหากผู้รุกรานเป็นคนดีแบบนี้ เราก็ต่อต้านด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงกับคนๆนั้นได้ แต่ถ้าหากเป็นผู้รุกรานในแบบอื่นๆ ก็คงต้องมีการด่าทอสาดเสียเทเสีย, ตบด้วยตีน หรือใช้วิธีการอื่นๆที่แตกต่างออกไป

ดู THE SILENCE OF THE SEA แล้วนึกถึง SOMEONE FROM NOWHERE (2017, Prabda Yoon) และ PRIVATE (2004, Saverio Costanzo) ด้วย เพราะหนังทั้งสามเรื่องนี้ เป็นเรื่องของ “การบุกรุก” หรือ “การรุกราน” เหมือนกัน โดยที่เนื้อหาเกือบทั้งหมดในหนัง เกิดขึ้นในห้องเพียงห้องเดียวหรือบ้านเพียงหลังเดียวตลอดทั้งเรื่อง แต่เนื้อหาที่เกิดขึ้นในห้องเพียงห้องเดียวในหนังทั้งสามเรื่องนี้ กลับสะท้อนความเป็นไปของประเทศทั้งประเทศได้เหมือนๆกัน

Wednesday, August 29, 2018

CRAZY RICH ASIANS (2018, Jon M. Chu, A-)


CRAZY RICH ASIANS (2018, Jon M. Chu, A-)

เชิญพวกมึงรวยกันให้สะใจไปเลยค่ะ อีเหี้ย อีสัตว์ 555 นึกว่าพวกมึงต้องเจอกับ “เวฬุรีย์” จากเพลิงพ่าย

แน่นอนว่าดูแล้วไม่อินเลย และพอดูจบแล้วก็สงสัยตัวเองว่า ทำไมเราถึงหลงใหลตัวละครหนุ่มหล่อรวยอย่าง “เบน” ใน BURNING (2018, Lee Chang-dong) มากๆ แต่กลับรู้สึกขยะแขยงคนรวยในหนังเรื่องนี้มากๆ ทำไมเบนถึงมีเสน่ห์ดึงดูดเราอย่างรุนแรง แต่คนรวยในหนังเรื่องนี้ถึงดูเป็นอะไรที่เรารังเกียจอย่างไม่มีสาเหตุ หรือจริงๆแล้วเราไม่ได้หลงใหลเบนที่ความรวยแต่อย่างใด มันเป็นเพราะอะไรอย่างอื่นที่เราไม่เข้าใจต่างหากที่ดึงดูดเราเข้าหาเบน

เราชอบ “การ์ตูนพาฝัน” ของญี่ปุ่นที่เราอ่านตอนประถมมากกว่าหนังเรื่องนี้หลายร้อยเท่านะ ทั้งๆที่มันดูเหมือนจะเป็นพล็อตแนวซินเดอเรลล่าเหมือนกัน เราหมายถึงการ์ตูนพาฝันอย่าง CANDY CANDY (1975, Yumiko Igarashi) และ GEORGIE! (1982, Yumiko Igarashi) น่ะ คือในการ์ตูนสองเรื่องนี้ นางเอกจะมีฐานะยากจนสุดๆ นางเอกของแคนดี้เป็นเด็กกำพร้าในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ส่วนจอร์จี้เป็นลูกนักโทษในออสเตรเลีย (ถ้าจำไม่ผิด) แล้วนางเอกทั้งสองก็ได้พบรักกับ “หนุ่มหล่อรวยนิสัยดี” และแน่นอนว่าฐานะของนางเอกกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางความรักของนางเอก

แต่เราอินกับการ์ตูนพาฝันของญี่ปุ่นที่เราอ่านตอนประถมมากๆ เพราะ “โลกแม่งโหดร้ายสุดๆ” น่ะ “หนุ่มหล่อรวยนิสัยดี” ที่รักนางเอกอย่างจริงใจในแคนดี้และจอร์จี้ ต่างก็ตายห่าหรือพลัดพรากจากนางเอกไปในช่วงกลางเรื่อง และชีวิตนางเอกก็สมบุกสมบัน เผชิญความยากลำบากอย่างสุดๆ และกว่าจะถึงตอนจบของเรื่อง ตัวละครประกอบก็ทยอยกันตายเหี้ยตายห่าไปแล้วราวสิบตัว คือ “โลกพาฝัน” ในจอร์จี้และแคนดี้ จริงๆแล้วมันโหดร้ายสุดๆน่ะ คือกว่านางเอกของการ์ตูนสองเรื่องนี้จะหาผัวใหม่ได้ในตอนจบ ชีวิตก็ไม่รู้แล้วว่าต้องเผชิญกับทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญอะไรบ้าง

สรุปได้เลยว่า CRAZY RICH ASIANS ไม่ใช่หนังสำหรับเรา ตัวละครในหนังมันโชคดีมากเกินไป

แต่ก็ดีใจสุดๆที่ได้เห็น Pierre Png เราเคยเงี่ยนเขามากๆตอนเขาแสดงเป็น “สมชาย” ใน 1+1 = 0 (2002, Danny Pang) ดีใจที่พบว่า เขายังหล่อยั่วเย็ดอย่างสุดๆสำหรับเรา ถึงแม้เขาอายุ 44 ปีแล้ว


Tuesday, August 28, 2018

SLEEPING SUN AND MIRAI OF THE FUTURE


SLEEPING SUN (2018, ผุสชาติ สัจจะไทย, A+30) VS. MIRAI OF THE FUTURE (2018, Mamoru Hosoda, Japan, animation, A+30)
          
1.ขอจดบันทีกความรู้สึกอย่างสั้นๆที่มีต่อหนังสองเรื่องนี้ควบกันไปเลย เพราะหนังสองเรื่องนี้สะเทือนใจเราอย่างสุดๆจนทำให้เราแทบร้องไห้ เพราะมันสามารถ “จี้จุดอ่อน” เดียวกันในตัวเรา นั่นก็คือเรื่องของความรู้สึกที่มีต่อ “เวลา” โดยที่หนังทั้งสองเรื่องนี้ต่างก็นำเสนอเหตุการณ์ต่างๆในหนังแบบสลับสับเปลี่ยนเวลาไปมาเหมือนๆกัน เวลาในหนังสองเรื่องนี้ไหลทบทับซ้อนกันไปมาอย่างได้อย่างงดงามและสะเทือนอารมณ์มากๆ

และก็เป็นเรื่องบังเอิญด้วย ที่ฉากที่น่าจดจำสุดๆในหนังทั้งสองเรื่องนี้ ต่างก็เป็นฉากเกี่ยวกับ รถไฟ

2. จุดที่เราชอบสุดๆใน SLEEPING SUN คล้ายๆกับที่เราชอบในหนังหลายๆเรื่องของ Alain Resnais นะ นั่นก็คือการนำเสนอ corrosive power of memory มันเหมือนกับว่า memory ในตัวละครนางเอกของ SLEEPING SUN มันยังคงกัดกร่อนแผดเผาใจของนางเอกอยู่จนถึงปัจจุบัน นางเอกยังคงหวนคิดถึงผัวเก่าและช่วงเวลาเก่าๆอยู่ตลอดเวลา ราวกับว่าภาพหลายๆภาพที่เธอเห็นในปัจจุบัน มันทำให้เธอหวนคิดถึงอดีต เธออาจจะนั่งอยู่คนเดียวที่ชายทะเล แต่เธอเห็นภาพเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ผัวเธอนั่งอยู่ที่ชายทะเลด้วย

3.อีกจุดที่ชอบสุดๆใน SLEEPING SUN ก็คือว่า มันทำให้เราคิดถึงความจริงที่ว่า ไม่เพียงแต่ตัวเราในปัจจุบันจะสามารถมองย้อนกลับไปในอดีต แต่ “ตัวเราในปัจจุบันยังสามารถรู้ตัวได้ด้วยว่า อนาคตจะมองย้อนกลับมาที่ปัจจุบันด้วย” คือนอกจากเรา ณ เวลา 22.42 น. ของวันอังคารที่ 28 ส.ค. 2018 จะมองย้อนกลับไปยังความทรงจำต่างๆในอดีตได้แล้ว เรายังรู้ตัวอีกด้วยว่า อนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า หรืออีก 5 ปีข้างหน้า หรืออีก 10 ปีข้างหน้า เราอาจจะมองย้อนกลับมา ณ เวลา 22.42 น.ของวันอังคารที่ 28 ส.ค. 2018 ด้วยก็ได้ แล้วอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า จะคิดยังไงกับตัวเราในปัจจุบันนี้ หรืออนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า จะคิดยังไงกับตัวเราในปัจจุบันนี้ ตัวเราในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า จะคิดว่าตัวเราในปัจจุบันช่างโง่เสียเหลือเกิน ที่ไม่เสยหีใส่ผู้ชายคนนั้นหรือเปล่านะ หรือตัวเราในอนาคตข้างหน้า อาจจะคิดว่าตัวเราในปัจจุบันช่างมีความสุขเสียเหลือเกิน เพราะตัวเราในปัจจุบันยังมีปัจจัย 4 เลี้ยงดูตัวเองได้อยู่

การที่ปัจจุบันมองย้อนกลับไปในอดีต และการที่ปัจจุบันจินตนาการถึงอนาคตที่มองย้อนกลับมาในปัจจุบันแบบนี้ มันก็เป็นสิ่งที่อยู่ใน MIRAI OF THE FUTURE ด้วยเหมือนกัน

4.ตอนแรกนึกว่า MIRAI OF THE FUTURE จะนำเสนอตัวละครเด็กเปรตที่น่าเบื่อแบบ THE BOSS BABY (2019, Tom McGrath) แต่ไปๆมาๆแล้ว MIRAI มัน “มหัศจรรย์” มากๆสำหรับเรา ชอบโลกแฟนตาซีหรือเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่างๆในหนังเรื่องนี้มากๆ

เหตุการณ์มหัศจรรย์ในหนังเรื่องนี้ ทำให้นึกถึงหนังของ Nobuhiko Obayashi นะ โดยเฉพาะหนังอย่าง THE GIRL WHO CUT TIME (1983) และ LONELYHEART (1985) และเราก็ชอบอะไรแบบนี้มากๆ

5.เหตุการณ์ใน MIRAI มันจี้จุดอ่อนเราเป็นการส่วนตัวด้วยแหละ เพราะเราก็ชอบจินตนาการถึงอะไรแบบนี้เหมือนกัน เราชอบจินตนาการว่า สมาชิกครอบครัวเราบางคนในอดีต เคยรู้สึกยังไงเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนที่คุณตาเราเป็นหนุ่ม ชีวิตเขาเคยเป็นยังไงบ้างนะ หรือแม่ของเราตอนเด็กๆ เขารู้สึกยังไงบ้างนะ

แม่ของเราเคยเล่าว่า ตอนเด็กๆแม่ต้องทำไร่ และอากาศก็ร้อนมาก ทรมานมาก ทำไร่ไป ในใจก็ภาวนาอยากให้มีเมฆช่วยพัดมาบังแสงอาทิตย์สักหน่อยเถอะ ขอแค่มีก้อนเมฆมาบังให้เกิดร่มเงาสักหน่อยก็ยังดี จะได้ทำไร่ได้อย่างไม่ทรมานเกินไป

ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เราชอบจินตนาการถึง moment นี้ เราชอบจินตนาการว่า ถ้าหากเราเป็นแม่เราในตอนนั้น เราจะรู้สึกยังไงบ้าง

พอได้ดู MIRAI OF THE FUTURE เราก็เลยพบว่า หนังเรื่องนี้มันมีจินตนาการแบบเดียวกับเราจริงๆ เราก็เลยดูแล้วแทบร้องไห้



Monday, August 27, 2018

KHUN PHAN 2 AND SEARCHING


KHUN PHAN 2 (2018, Kongkiat Khomsiri, A+25)

ชอบจักรวาลเวทมนต์ในหนังเรื่องนี้ ชอบที่แต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน การหักเหลี่ยมเฉือนคมในเรื่องก็สนุกดี

คือจริงๆแล้วเราไม่ได้เป็นแฟนหนังแนวนี้ เราไม่ได้ enjoy กับการดูหนังบู๊ genre นี้ แต่เราว่าหนังเรื่องนี้มันก็ตั้งใจทำดี, ตั้งใจเขียนบท, ตั้งใจกำกับ ก็เลยทำให้ดูได้อย่างเพลิดเพลินกว่าหนังบู๊ระเบิดภูเขา เผากระท่อมทั่วๆไป

ชอบที่หนังมันไม่ “ตลก” ด้วย และเราว่าการที่หนังมันหันไปเน้น “เวทมนต์” มันก็ช่วยทำให้เราอินกับหนังได้มากขึ้น คือถ้ามันใช้ปืนสู้กันแบบเพียวๆ เราคงไม่อินมากเท่านี้

แต่สาเหตุที่ทำให้เราไม่ได้ชอบหนังอย่างสุดๆ ก็เป็นเพราะว่าเราไม่ได้เป็นแฟนหนัง genre นี้นั่นแหละ และเราว่าหนังของก้องเกียรติหลายๆเรื่อง มันมีความสะใจใน “ความเลือดสาด” ในแบบที่มากเกินไปสำหรับเราน่ะ แต่อันนี้ไม่ใช่ความผิดของหนังนะ มันเหมือนก้องเกียรติชอบทำสเต็กแบบ rare แต่เราชอบกินสเต็กแบบสุกเต็มที่น่ะ เราก็เลยไม่ได้เอร็ดอร่อยกับการดูความเลือดสาดในหนังของเขาหลายๆเรื่อง

SEARCHING (2018, Aneesh Chaganty, A+30)

คงเขียนอะไรมากไม่ได้ เพราะเดี๋ยว spoil 555 แต่บอกได้เลยว่า หนังโผล่มาแค่ 5 วินาทีแรก ก็รู้แล้วว่าหนังเรื่องนี้น่าจะได้ A+30 เพราะเห็นหน้าคุณพ่อแล้วก็ตกหลุมรักทันที  รักคุณพ่อกับคุณอาในหนังมากๆ ถ้าเรามีคุณพ่อกับคุณอาแบบนี้ เราจะทำตัวเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียนแน่ๆค่ะ

เนื่องจากตกหลุมรักคุณพ่อตั้งแต่ต้นเรื่อง ตอนดูก็เลยเอาใจช่วย ลุ้น อินไปกับคุณพ่อมากๆ กลัวว่าหนังจะกลายเป็นแบบ L’AVVENTURA (1960, Michelangelo Antonioni) แต่ก็ดีที่หนังไม่ได้เป็นแบบนั้น 555

รู้สึกสนุกสุดๆเหมือนกับตอนที่ดู THE NET (1995, Irvin Winkler) เมื่อ 23 ปีก่อน ที่นึกถึง THE NET เป็นเพราะว่า มันเป็นหนัง thriller ที่พยายามเอา “เทคโนโลยีใหม่ในชีวิตประจำวัน” มาใช้เหมือนกัน



Saturday, August 25, 2018

DETECTIVE DEE: THE FOUR HEAVENLY KINGS (2018, Tsui Hark, China/Hong Kong, A+25)



DETECTIVE DEE: THE FOUR HEAVENLY KINGS (2018, Tsui Hark, China/Hong Kong, A+25)

1.รู้สึกกับหนังเรื่องนี้และฉีเคอะคล้ายๆกับที่รู้สึกกับ Luc Besson และ VALERIAN AND THE CITY OF A THOUSAND PLANETS (2017) นั่นก็คือเรายังคงถูกโฉลกกับฉีเคอะและ Luc Besson มากๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผู้กำกับหนังแอคชั่นเมนสตรีมคนอื่นๆ ซึ่งก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร มันคงเป็นเรื่องของ wavelenghts ของเราที่ตรงกันมากๆกับผู้กำกับสองคนนี้มั้ง แต่ก็ชอบหนังระยะหลังๆของสองคนนี้น้อยลงเมื่อเทียบกับหนังในทศวรรษ 1980-1990 ของสองคนนี้ (เราผิดหวังมากกับ JOURNEY TO THE WEST: THE DEMONS STRIKE BACK ของฉีเคอะ) และปัญหาของเราที่มีต่อ DETECTIVE DEE ภาคนี้และ VALERIAN ก็คือว่า มันเป็นหนังโชว์ CG น่ะ เหมือนหนังมันแสดงศักยภาพของ CG สูงมากๆ และเต็มไปด้วยฉากโชว์ spectacles ที่ยิ่งใหญ่ละลานตา แต่เราจะไม่ค่อยรู้สึกผูกพันกับตัวละครมากเท่าที่ควร

ไม่รู้เหมือนกันว่าที่เรารู้สึกแบบนี้ เป็นเพราะบทภาพยนตร์มันเขียนเน้นฉากโชว์ CG มากกว่าฉากเน้นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครหรือเปล่า หรือเป็นเพราะว่า พอมันเป็นฉากโชว์ CG ในการต่อสู้กัน เราเลยไม่ค่อยรู้สึกถึง “ความเจ็บปวดทางผิวหนังของตัวละคร” เวลาโดนอาวุธบาด/ฟัน/แทง คือพอโลกในหนังมันเป็นโลกที่หลายๆอย่างถูกสร้างโดย CG เราก็เลยไม่ค่อยรู้สึกถึง “สัมผัสทางผิวหนัง” มากเท่ากับเวลาดูหนังอย่าง “เผ็ดสวยดุ ณ เปไก๋”  (1986), “เดชคัมภีร์เทวดา” (1990), หวงเฟยหง ภาคต้นๆ, LA FEMME NIKITA และ LEON คือเราว่าในหนังยุคต้นๆของผู้กำกับสองคนนี้ เวลาตัวละครเจ็บปวดทางร่างกาย เราจะรู้สึกตามไปด้วยน่ะ แต่พอมาถึงยุค DETECTIVE DEE ภาคนี้และ VALERIAN เรากลับไม่ค่อยรู้สึกแบบนี้แล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสาเหตุมันเป็นเพราะ “บทภาพยนตร์, หรือการใช้ CG มากเกินไป หรือประสาทสัมผัสเราหยาบกระด้างขึ้น 555

2.ชอบตี่เหรินเจี๋ยมากๆ หล่อน่ารักดี ชอบบุคลิกของเขาในภาคนี้ที่ดูเหมือนไม่สนใจผู้หญิงเลย 555 แต่น่าเสียดายที่บทของบูเช็กเทียนในภาคนี้ดูแย่มากๆ

เหมือนหนังรู้ตัวว่าแทบไม่มีเวลาใส่ความเป็นมนุษย์ให้ตัวละครหลักในหนังเรื่องนี้เลย ก็เลยพยายามทำบทของซาโถว (Kenny Lin) กับมือสังหารหญิงให้ดูเป็นมนุษย์กว่าตัวละครหลักอื่นๆ แต่มันก็ดู cliche มากๆเลยน่ะ มันเหมือนกับเรื่องราว “ความสัมพันธ์” ระหว่างสองคนนี้ในหนังเรื่องนี้เป็นก้อนซุปคนอร์สำเร็จรูปอะไรสักอย่างที่ใช้กันมาหลายสิบปีแล้วในหนังฮ่องกงหลายร้อยเรื่อง คือบทของสองคนนี้มันช่วยให้ “รสชาติ” ของหนังมันกลมกล่อมขึ้นก็จริงนะ เพราะมันช่วยสร้างรส “ตลก” และรส “โรแมนติก” ให้หนัง หนังจะได้มีอารมณ์อื่นๆเข้ามาเบรก เข้ามาแทรกบ้าง แต่มันก็ดูสำเร็จรูปมากๆเลยน่ะ

แต่สิ่งที่ชอบมากในบทมือสังหารหญิงก็คือว่า มันเป็นตัวละครที่เราไม่รู้ว่าจะอยู่หรือตายน่ะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เธอต่อสู้กับตัวละครอื่นๆในหนัง เราก็เลยมีลุ้น ไม่เหมือนตัวละครประเภทตี่เหรินเจี๋ยหรือบูเช็กเทียนที่เรารู้อยู่แล้วว่ายังไงก็ไม่ตาย

จริงๆแล้วพอดูหนังเรื่องนี้ เรารู้สึกเหมือนกับว่ามันมี “รูปลักษณ์” ภายนอกบางอย่าง อย่างเช่นเครื่องแต่งกาย, องค์ประกอบศิลป์ หรือ “บรรยากาศ” ใกล้เคียงกับหนังเรื่อง SWORD MASTER (2016, เอ๋อตงเซิน) และ LEGEND OF THE DEMON CAT (2017, Chen Kaige) นะ แต่เราว่า LEGEND OF THE DEMON CAT ดูสนุกกว่านิดนึง และ SWORD MASTER กินขาดที่สุดในแง่การทำให้ตัวละครดูมีความเป็นมนุษย์ มีเลือดเนื้อ มีชีวิตจิตใจ ดูแล้วก็เลยรู้สึกเสียดายมากๆที่ฉีเคอะไม่ได้หยิบยืมความเป็นมนุษย์ของ SWORD MASTER มาใส่ในหนังเรื่องนี้ด้วย

3.ปัญหาสำคัญอีกอย่างของหนังเรื่องนี้ คือแนวคิดทางการเมืองด้วยแหละ คือพอดูจบแล้วเรารู้สึกเหมือนกับว่า ถ้าหากหนังเรื่องนี้ไม่ได้หวังเอาใจจีนแผ่นดินใหญ่ หนังเรื่องนี้มันน่าจะสร้างจากมุมมองของ “ผู้ร้าย” ได้ด้วยซ้ำไป คือเอาจริงๆแล้วตัวละครกลุ่มผู้ร้ายในหนังเรื่องนี้มันพลิกมาเป็นพระเอกได้ง่ายมากๆ ถ้าหากเล่าเรื่องจากอีกมุมนึง คือถ้าหากพลิกวิธีการเล่าในหนังเรื่องนี้ใหม่ ตัวละครกลุ่มผู้ร้ายในหนังเรื่องนี้ มันอาจจะไม่ต่างอะไรจาก “พรรคดอกไม้แดง” ของตั้งแกลก (เฉินเจียลั่ว) ใน “จอมใจจอมยุทธ์” ของกิมย้งเลยด้วยซ้ำ เพราะทั้งพรรคดอกไม้แดงและกลุ่มผู้ร้ายในหนังเรื่องนี้ ก็พยายามจะล้มราชวงศ์ด้วยเหตุผลที่อาจจะดูเหมือนชอบธรรมเหมือนๆกัน

4.อยากได้พระภิกษุในหนังเรื่องนี้มากๆ

Thursday, August 23, 2018

SOMEONE FROM NOWHERE (2017, Prabda Yoon, A+30)


SOMEONE FROM NOWHERE (2017, Prabda Yoon, A+30)
มา ณ ที่นี้

ตู่” เป็นคำกริยา แปลว่า “กล่าวอ้างหรือทึกทักว่าของผู้อื่นเป็นของตัวเอง”

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.ตอนดูจะนึกถึงหนัง 4 เรื่องด้วยกัน ซึ่งก็คือ DEATH AND THE MAIDEN (1994, Roman Polanski), THE HEADLESS WOMAN (2008, Lucrecia Martel, Argentina), THE PARTY AND THE GUESTS (1966, Jan Nemec, Czechoslovakia) และ “ความลักลั่นของงานรื่นเริง” (2007, Prap Boonpan)

ที่นึกถึง DEATH AND THE MAIDEN เป็นเพราะว่า SOMEONE FROM NOWHERE มันเป็นหนังการเมืองที่มีความ minimal คล้ายๆละครเวทีแบบ DEATH AND THE MAIDEN น่ะ คือใช้ตัวละครน้อยมาก และใช้ฉากน้อยมาก โดยที่ตัวละครนำคนนึงจะกล่าวหาตัวละครนำอีกคนนึง และคนดูก็จะลังเลใจอย่างน้อยก็ในช่วงแรกว่า สิ่งที่กล่าวหาเป็นจริงหรือไม่ ใครโกหก ใครพูดจริง ใครบ้า ใครสติดี

ที่นึกถึง THE HEADLESS WOMAN เป็นเพราะว่า เราว่านางเอกของ SOMEONE FROM NOWHERE อาจจะมีอะไรคล้ายๆนางเอกของ THE HEADLESS WOMAN น่ะ นั่นก็คือทั้งสองอาจจะเคยประกอบอาชญากรรม แต่ในที่สุดทั้งสองก็ “ลืม” อาชญากรรมที่ตัวเองเคยทำ ทั้งโดยความตั้งใจของตัวเองที่จะลืม และอาจจะด้วยความช่วยเหลือของคนรอบข้างที่พยายามลบล้างความทรงจำถึงอาชญากรรมนั้น

ที่นึกถึง THE PARTY AND THE GUESTS เป็นเพราะว่า เราว่าทั้ง SOMEONE FROM NOWHERE และ THE PARTY AND THE GUESTS เป็นหนังการเมืองที่มีลักษณะ absurd เหนือจริง และเหมือนหนังทั้งสองเรื่องตัดรายละเอียดจำเพาะของประเทศตนเองออกไปจากหนังมากพอสมควร (แต่อาจจะไม่ได้ตัดทิ้งทั้งหมด เพราะ SOMEONE FROM NOWHERE ก็มีบางสิ่งที่อ้างอิงถึงประเทศไทยอย่างตรงๆ) และพอหนังทั้งสองเรื่องตัดรายละเอียดจำเพาะของประเทศตนเองออกไป หนังก็เลยหันไปเน้นสถานการณ์และบทสนทนาที่กระตุ้นความคิดเชิงปรัชญาแทน และมันก็เลยทำให้หนังทั้งสองเรื่องดูมีความ “สากล” หรือมีความเปิดกว้างต่อการนำไปคิดต่อยอดถึงอะไรต่างๆได้มากขึ้น

คือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ถ้าหากเราดู THE UNBEARABLE LIGHTNESS OF BEING (1988, Philip Kaufman) เราก็จะได้ดูหนังที่พูดถึงการเมืองเช็คโกสโลวาเกีย “อย่างเฉพาะเจาะจง” น่ะ แต่ถ้าหากเราดู THE PARTY AND THE GUESTS เราจะพบว่าสถานการณ์ในหนังมันไม่ได้ทำให้เรานึกถึงแต่ประวัติศาสตร์การเมืองของเช็คโกสโลวาเกียเท่านั้น แต่มันทำให้นึกถึงประเทศไทย หรือความจริงหลายๆอย่างในสังคมรอบตัวเราด้วย คือสถานการณ์ใน THE PARTY AND THE GUESTS มันดูสากล และ timeless มากๆน่ะ

หรือถ้าเปรียบเทียบกับหนังไทยด้วยกันเองนั้น SOMEONE FROM NOWHERE ก็มีบางส่วนที่ทำให้นึกถึง “ความลักลั่นของงานรื่นเริง” เพราะหนังทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องการปะทะกันของตัวละครสองฝ่ายในห้องๆเดียวกันเหมือนกัน และเป็นการปะทะกันที่เริ่มต้นด้วยคำพูดที่โต้เถียงกันอย่างรุนแรง ก่อนที่ความรุนแรงจะลุกลามขึ้นเรื่อยๆจนกู่ไม่กลับ แต่ “ความลักลั่นของงานรื่นเริง” เป็นหนังที่ “จำเพาะเจาะจง” ถึงประเทศไทย ในขณะที่สถานการณ์ใน SOMEONE FROM NOWHERE ดูสากลกว่า และ timeless กว่า

และเราก็ชอบหนังทั้งสองเรื่องนี้มากๆในแบบที่ต่างกัน เพราะเราชอบ “ความลักลั่นของงานรื่นเริง” อย่างสุดๆในแง่ที่มันบันทึกสภาพสังคมไทย, ความคิดของคนไทย และปัญหาการเมืองไทย ณ ห้วงเวลาหนึ่งๆ ได้ดีมาก ส่วน SOMEONE FROM NOWHERE นั้น พอมันตัดรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆของสังคมไทยออกไป และนำเสนอสถานการณ์ในหนังในแบบที่ philosophical มากๆ มันก็เลยทำให้เรานึกถึงอะไรอย่างอื่นๆในชีวิตเราที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองไทยด้วย มันเหมือนหนังสองเรื่องนี้มีคุณประโยชน์ที่ทั้งเหมือนกันและต่างกันน่ะ

2.ในแง่ของการสะท้อนการเมืองไทยนั้น คิดว่า SOMEONE FROM NOWHERE คงเป็นหนังที่ตีความไปในทางนั้นได้ไม่ยาก และถ้าหากมองในแง่นี้ เวลาที่เราดูหนัง เราก็จะ identify ตัวเองเป็นพระเอก และมองว่านางเอกคือคนร้าย คนที่มาปล้นชิงตู่เอาอำนาจไปจากเราอย่างไม่ชอบธรรม

แต่สิ่งที่เราชอบสุดๆใน SOMEONE FROM NOWHERE อาจจะเป็นสิ่งที่หนังตั้งใจหรือไม่ตั้งใจเราก็ไม่รู้ และสิ่งนั้นก็คือว่า เราเห็นว่าตัวเองมีความเหมือนกับ “นางเอก” ในบางแง่มุมด้วย

สิ่งที่ทำให้เราคิดว่าตัวเองเหมือนกับนางเอก มันเห็นชัดในฉากที่พระเอกบอกให้นางเอกหาหลักฐานมายืนยันว่าตัวเองเป็นเจ้าของห้อง ซึ่งนางเอกก็หาหลักฐานไม่เจอ แต่นางเอกก็ยืนยันว่าตัวเองเป็นเจ้าของห้อง ไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานมายืนยันก็ได้ ยังไงตัวเองก็เป็นเจ้าของห้องอยู่ดี

อะไรแบบนี้ในหนังเรื่องนี้ มันทำให้เรานึกถึงตัวเองน่ะ คือเหมือนกับว่า ในทุกๆเช้า เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับ “ชุดความคิดของตัวเราเองที่มีต่อโลกของเรา” น่ะ ชุดความคิดนั้นก็อาจจะประกอบไปด้วยแนวคิดที่ว่า คนๆนี้ควรปฏิบัติกับเราอย่างไรถึงจะเรียกได้ว่า “ถูกต้อง”, การใช้ public space ควรเป็นอย่างไร, ปัญหาเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ป่าควรจัดการอย่างไร, การเวนคืนที่ดินแบบนี้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมหรือไม่, คนแต่ละคนควรคิด, พูด, ทำอะไรยังไงถึงจะถูกต้องตามความเห็นของเรา ฯลฯ

และพอเราตื่นมาทุกเช้าด้วยชุดความคิดแบบนี้ เราก็จะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ เวลาเจอคนอื่นๆที่ไม่ได้คิด, พูด, ทำตามความเชื่อของเราน่ะ เพราะมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้มันก็ต้องมีอะไรสักอย่างที่คิดไม่ตรงกับเราอยู่แล้ว และเราก็หงุดหงิด หงุดหงิด จนลืมนึกถึงความจริงไปว่า มันมี “หลักฐาน” อะไรว่าความเชื่อของเราถูกต้อง คือเราเชื่อไปเองว่ามันถูกต้อง แต่มันไม่มีหลักฐานอะไรว่ามันถูกต้อง เพราะจริงๆแล้วคำสอนทางศาสนาหรือหลักศีลธรรมต่างๆก็เชื่อไม่ได้ทั้งหมด (ถึงแม้ว่าอาจจะเชื่อได้เป็นส่วนใหญ่) เพราะมันก็เป็นแค่สิ่งที่มนุษย์กลุ่มนึงอุปโลกน์กันขึ้นมาเองว่านี่แหละคือ “หลักศีลธรรม” กฎหมายก็ยิ่งเชื่อไม่ได้ใหญ่ โดยเฉพาะกฎหมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน แต่เป็นกฎหมายที่ออกโดยชนชั้นสูงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นสูงเอง และยิ่งไม่ต้องพูดถึงขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีอะไรต่างๆนานา ที่น่าจะเต็มไปด้วยสิ่งที่ “ทึกทักกันไปเองว่าถูกต้องดีงาม” คือพอเรามองถึงความจริงที่ว่า เราไม่สามารถอ้างได้ว่า ศาสนา, กฎหมาย, ประเพณี เป็น “หลักฐาน” ที่ยืนยันได้ว่าสิ่งใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างแท้จริง แล้วอะไรกันล่ะคือ “หลักฐาน” ที่จะยืนยันได้ว่าความเชื่อของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับโลกใบนี้ อะไรกันล่ะคือ “หลักฐาน” ที่จะยืนยันได้ว่าสิ่งที่คนอื่นๆเชื่อเป็นสิ่งที่ผิด

คือพอเราดู SOMEONE FROM NOWHERE แล้วเห็นจุดนี้ เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ คือถ้าดูหนังเรื่องนี้แค่ในแง่ “การเมืองไทย” เราก็จะ identify ตัวเองกับพระเอก แต่พอดูหนังเรื่องนี้แบบเปิดกว้าง เรากลับพบว่า เรากลับมีส่วนคล้ายนางเอกอยู่ไม่น้อย เราตื่นขึ้นมาทุกเช้าพร้อมกับ “ความเชื่อของเราเอง” และก็ต้องพบเจอกับคนแต่ละคนที่มีความเชื่อไม่เหมือนกับเรา และเราก็หงุดหงิด ทั้งๆที่ลืมคิดไปว่า กูมี “หลักฐาน” อะไรเหรอ ว่าสิ่งที่กูคิดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่คนอื่นๆคิดเป็นสิ่งที่ผิด



Monday, August 20, 2018

BNK 48: GIRLS DON'T CRY


BNK 48: GIRLS DON’T CRY (2018, Nawapol Thamrongrattanarit, documentary, A+30)

1.เราคงไม่ต้องเขียนอะไรมาก เพราะแชร์ที่คนอื่นๆเขียนไปแล้ว 9 คน ทั้งของ The Standard, The Momentum, ปราปต์, Pongson Arunsintaweeporn, Pique Knoithi, Jutha Saovabha, Chanchana Khan, Fye Suthmahatayangkun, Kridpuj Dhansandors ชอบมากที่แต่ละคนมีความเห็นที่น่าสนใจหมดเลย ทั้งๆที่หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่มีสัญลักษณ์อะไรให้แต่ละคนตีความแตกต่างกันไป มันเป็นหนังที่ตรงไปตรงมาสุดๆแล้ว แต่มันก็กระตุ้นให้ผู้ชมแต่ละคนแสดงความคิดที่แตกต่างกันออกมาได้

เพราะฉะนั้นเราก็จะเน้นเขียนแต่ความรู้สึกส่วนตัวนะ และคงไม่ต้องมาเสียเวลาบรรยายถึงความดีงามมากมายของหนังเรื่องนี้ที่คนอื่นๆได้เขียนไปเยอะแล้ว

สิ่งแรกที่เราอ่านแล้วพบว่า เรามีปฏิกิริยาแตกต่างจากผู้ชมบางคนก็คือว่า เรา “ไม่ได้รู้สึกเศร้า” กับสมาชิก BNK ในหนังเรื่องนี้มากเท่าไหร่น่ะ เพราะอย่างที่เราเขียนไปแล้วว่า เรา “ไม่เชื่อ” คำพูดของใครเลยในหนังเรื่องนี้ เราแค่รับฟังว่าใครพูดอะไร แต่เราจะไม่ลงความเห็นแต่อย่างใดทั้งสิ้นว่าเขาพูดออกมาจากใจจริงหรือเปล่า คือเราไม่ได้ตัดสินว่าใครพูดเท็จหรือตอแหลนะ เรามองแค่ว่ามันมีความเป็นไปได้ทั้งสองทางว่าแต่ละคนอาจจะพูดจริงหรือไม่ก็ได้ และเรายอมรับความเป็นไปได้ของทั้งสองสิ่งนี้ และจะไม่ลงความเห็นว่าใครพูดจริงหรือเท็จ ใคร fake หรือ sincere

คือพอเราแค่ “รับฟัง” แต่ไม่ปักใจเชื่อใคร โดยเฉพาะการร้องไห้ของแต่ละคนที่ไม่รู้ว่าเศร้าจริงหรือเป็น “การแสดง” (แบบสุเทพ เทือกสุบรรณ) อารมณ์ของเรามันก็เลยไม่ได้ไหลไปตาม subjects น่ะ เราจะตั้งคำถามตลอดเวลาว่า เขาน่าสงสารจริง หรือเขาสร้างภาพลักษณ์ว่าน่าสงสาร

สาเหตุหนึ่งที่เรารู้สึกแบบนี้เป็นเพราะว่าเราไม่เคยติดตามสมาชิกวงนี้และแทบไม่เคยมีความรู้ใดๆเกี่ยวกับวงนี้มาก่อนเลย เพราะเรามองวงนี้มาตลอดว่ามันเป็นสินค้าที่ผลิตมาเพื่อคนอื่นๆ ไม่ได้ผลิตมาเพื่อเรา เราก็เลยไม่คิดจะเสียเวลาทำความรู้จักอะไรกับวงนี้ เราเพิ่งได้รู้จักสมาชิกหลายคนในวงนี้ก็จากหนังเรื่องนี้นี่แหละ (ครั้งแรกที่เรารู้จัก อร ก็จากหนังเรื่อง APP WAR 555) เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่คิดที่จะปักใจเชื่อคำพูดของใครจากการได้ฟังเขาพูดเพียงแค่ 2 ชั่วโมง ประสบการณ์ของเราสอนเราว่า เพื่อนสนิทบางคนที่เรารู้จักมักคุ้นสนิทสนมกันมา 9 ปี ยังทรยศเราอย่างรุนแรงและคาดไม่ถึงได้เลย และขนาดคนที่เราสนิทที่สุดมา 9 ปียังทรยศเรา โกหกเราได้ แล้วเราจะเชื่อคำพูดของคนที่เราไม่รู้จักได้อย่างไร

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่ปักใจเชื่อใคร เป็นเพราะว่า “ความรู้สึกของผู้ชม” มันกลายเป็นสิ่งที่มี “มูลค่า” สำหรับสมาชิกวงนี้น่ะ คือการทำตัวน่าสงสาร หรือการพูดจาในแบบใดก็ตามที่ทำให้ตัวเองดูดี มันก็ช่วยเพิ่มความนิยมให้กับตัวผู้พูดได้ และมันส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในฐานะสมาชิกวงนี้ได้ เพราะฉะนั้นเราก็เลย treat สมาชิกวงนี้ในแบบที่ไม่เหมือน subjects ของหนังสารคดีเรื่องอื่นๆ เพราะ subjects ของหนังสารคดีเรื่องอื่นๆมันไม่ต้องพึ่งพา “ความชื่นชอบของผู้ชม” มากเท่ากับ subjects ของหนังสารคดีเรื่องนี้น่ะ

คือจริงๆตอนดูหนังเรื่องนี้ หนังที่ผุดขึ้นมาเปรียบเทียบกันในหัวเราตลอดเวลาคือ THE CHAMPIONS (2003, Christoph Huebner) ซึ่งเป็นหนังสารคดีที่ติดตามชีวิตนักฟุตบอลหนุ่มๆในเยอรมนีเป็นเวลาราว 4 ปี ถ้าจำไม่ผิด ซึ่งหนุ่มๆกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการเป็นตัวสำรอง และทุกคนก็ใฝ่ฝันที่จะพัฒนาฝีมือจนได้รับเลือกให้เป็นตัวจริงของทีม

แต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนถึงตอนท้ายของ THE CHAMPIONS เราก็แทบร้องไห้ มันเศร้าสุดๆที่พบว่า ถึงเวลาจะผ่านมาหลายปีแล้ว พวกเขาหลายคนก็ยังคงเป็นได้แค่ “ตัวสำรอง” เหมือนเดิม หนุ่มๆหลายคนปรากฏตัวในช่วงแรกของหนังเรื่องนี้ด้วยดวงตาที่เป็นประกายสดใส เปี่ยมด้วยความหวัง ความฮึกเหิม ความใฝ่ฝันถึงความสำเร็จของชีวิต แต่หนุ่มๆหลายๆคนก็ปรากฏตัวในตอนท้ายของหนังสารคดีเรื่องนี้ ด้วยดวงตาที่ “ไม่มีความหวังใดๆหลงเหลืออยู่ในประกายตาของพวกเขาอีกต่อไป” พวกเขาต้องทำใจยอมรับความจริงของชีวิตว่าพวกเขาเป็นได้แค่ตัวสำรองเท่านั้น และคงต้องลำบากในการแสวงหาทางเลือกใหม่ให้กับการดำรงชีวิตต่อไป ชีวิตมันคือความทุกข์จริงๆ

คือตอนดู GIRLS DON’T CRY เราจะนึกถึง THE CHAMPIONS มากๆ แต่เราเศร้ากับหนุ่มๆเยอรมันใน THE CHAMPIONS มากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าพวกเขาคงไม่มา “แสดง” ต่อหน้ากล้องว่า กูไม่เก่งพอ กูเลยแทบไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นตัวจริงเลยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพราะการแสดงต่อหน้ากล้องแบบนั้นมันคงไม่น่าจะช่วยสร้าง “มูลค่า” ให้กับตัวพวกเขาสักเท่าไหร่

ในขณะที่ subjects ของ GIRLS DON’T CRY นั้น มันต้องพึ่งพาความนิยมจากประชาชนเป็นหลักน่ะ ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อพวกเธอมันกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าโดยตรงสำหรับพวกเธอ (อาจจะไม่ต่างจากนักการเมือง) เพราะฉะนั้น “ภาพลักษณ์” ที่แต่ละคนแสดงออกมา มันก็เลยมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็น “ภาพลักษณ์ที่ปั้นแต่งมาดีแล้ว” ทั้งภาพลักษณ์สวย, สง่า, ผู้ดี, น่ารัก, ใสๆ, โก๊ะๆ, น่าสงสาร, ใจดี, เกรี้ยวกราด, ใจสู้ ฯลฯ  ความรู้สึกของเราก็เลยถอยห่างออกจากตัว subjects ของหนังโดยอัตโนมัติ และคิดว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อใครในทันทีจะดีกว่าว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นออกมาจากใจจริง หรือ
เป็น “ภาพลักษณ์” ที่เขาพยายามสร้างขึ้นมา

ในแง่นึงเราก็เลย treat subjects ของหนังเรื่องนี้เหมือน subjects ในหนังสารคดีเกี่ยวกับคดีความทางกฎหมาย 555 อย่างเช่น  CAPTURING THE FRIEDMANS (2003, Andrew Jarecki), BROTHER’S KEEPER (1992, Jo Berlinger, Bruce Sinofsky) และ FAKE (2016, Tatsuya Mori) คือเราจะมองว่า subjects ในหนังเหล่านี้เป็นคนที่ “น่าสงสาร” มากๆ หรือบางทีเขาอาจจะไม่น่าสงสารจริงก็ได้ บางทีเขาอาจจะผิดจริงก็ได้ เราจะไม่เชื่อสิ่งที่เขาพูด 100% เต็ม อะไรทำนองนี้

2.หนังอีกกลุ่มที่เราคิดถึงมากๆตอนดู GIRLS DON’T CRY ก็คือหนังสารคดีที่กำกับโดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครน่ะ เพราะนักศึกษามหาลัยนี้ชอบทำหนังสารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงที่ทำอาชีพที่ต้องใช้ความสวย ทั้งพริตตี้, นางแบบ, นักแสดง, นักร้องงานเลี้ยง และหนังสารคดีเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการประกอบอาชีพที่ต้องใช้ความสวยเหล่านี้ จริงๆแล้วมันยากลำบากและมันหนักหนาสาหัส เลือดตาแทบกระเด็นมากเพียงใด

หนังสารคดีในกลุ่มนี้ก็มีเช่น MATOOM (2011, Benjamas Rattanaphech), ARISARA (2013, Charttakarn Wedchagit), NUDE DOCUMENTARY FILM (2014, Pimploy Sudlar), CHERRY (2016, Kantima Sirichusub) และ PARTY SINGER นักร้องงานเลี้ยง (2015, Thunwa Singkru)

แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า หนังสารคดีกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วกำกับโดย “เพื่อนสนิท” ของตัว subjects เองน่ะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยจะเหมือนเชื่อคำพูดของตัว subjects ในหนังได้ง่ายกว่า เพราะ subjects เหมือนไม่ได้คุยกับผู้ชม แต่คุยกับเพื่อนสนิทที่อยู่หลังกล้อง

และอีกสิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า subjects ในหนังสารคดีกลุ่มนี้ ใช้แค่ความสวยของรูปร่างหน้าตาเป็นหลักในการทำอาชีพน่ะ (ยกเว้น “นักร้องงานเลี้ยง”) แต่ไม่ต้องใช้ “บุคลิก” หรือตัวตนข้างในในการสร้างมูลค่าให้ตัวเองมากนัก เพราะฉะนั้นถึงแม้ subjects ของหนังสารคดีกลุ่มนี้จะมีความใกล้เคียงกับ subjects ของ GIRLS DON’T CRY แต่ subjects ของหนังสารคดีกลุ่มนี้ก็ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องสร้าง “ภาพลักษณ์” ใดๆขึ้นมาต่อหน้ากล้องน่ะ เราก็เลยปักใจเชื่อคำพูดของ subjects ในหนังสารคดีกลุ่มนี้ได้ง่ายกว่า GIRLS DON’T CRY

3.แต่ถึงแม้เราจะไม่ปักใจเชื่อว่าใครพูดจริงหรือไม่จริงบ้างใน GIRLS DON’T CRY เราก็ชอบสิ่งที่ subjects หลายๆคนในหนังพูดนะ คือเรามองว่าสิ่งที่หลายคนพูดมันเหมือนกับ “น้ำใสในลำธาร” หรือไม่ก็ “น้ำที่ผ่านการ sterilzed มาอย่างดี” น่ะ คือเรารู้สึกเหมือนกับว่า สมาชิกอายุน้อยหลายๆคน พูดจาเหมือน “น้ำใสในลำธาร” คือเหมือนยังซื่อๆอยู่ และก็พูดอะไรออกมาตรงๆ ดู sincere ดี (ถึงแม้เราเผื่อใจให้กับความกังขาอยู่บ้าง) ส่วนสมาชิกวัย 20 up บางคนใน GIRLS DON’T CRY พูดจาเหมือน “น้ำที่ผ่านกระบวนการ sterilized มาอย่างดีแล้ว” น่ะ ซึ่งอันนี้ไม่ได้หมายถึงว่าพวกเธอตอแหลนะ แต่เป็นการชื่นชมว่าพวกเธอ “ฉลาด” มาก คือใจจริงของแต่ละคนเป็นยังไง เราก็ไม่อาจตรัสรู้ได้ แต่เราคิดว่าคำพูดคำจาของบางคนมันดูฉลาดดีน่ะ คือเหมือน “คิดไตร่ตรองดีแล้วภายในเวลาอันรวดเร็ว”, “คัดกรองเอาถ้อยคำที่อาจส่งผลลบต่อคะแนนนิยมตัวเองออกไปอย่างรวดเร็ว” และเมื่อ “คิดไตร่ตรองดีแล้ว” จึงค่อยพูดออกมา มันก็เลยกลายเป็นคำพูดที่เหมือนน้ำที่ผ่านการ sterilized มาอย่างดีแล้ว และแสดงให้เห็นถึงความฉลาดของคนพูด

4.อีกปัจจัยที่ทำให้เราไม่ได้เศร้าไปกับ subjects ของ GIRLS DON’T CRY ก็คือว่า เรารู้สึกเหมือนกับว่าความเจ็บปวดของคนที่พยายามจะเป็นไอดอลเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่า เราฟังนักมวยบอกว่า “ขึ้นชกมวยแล้วเจ็บตัว” น่ะ คือถ้าคุณเลือกเองว่าจะ “ต้องการชื่อเสียงโด่งดัง เพราะมันจะนำมาซึ่งเงินในการหาเลี้ยงชีพ ด้วยวิธีการแบบนี้ คุณก็ต้องยอมรับความเสี่ยงและความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจที่มาพร้อมกับอาชีพนี้” ไม่งั้นคุณก็ต้องเลือกอาชีพอื่น คือในแง่นึงเราก็เลยนึกถึงนักมวยน่ะ  คือถ้าเลือกเองว่าจะมาทางสายนี้ ก็ต้องกัดฟันทนยอมรับความเจ็บปวดมากมายที่จะตามมาให้ได้ และต้องชั่งน้ำหนักเองให้ได้ว่าจะเป็นนักมวยต่อไปหรือเปล่า หรือถ้าทนเจ็บไม่ไหวแล้ว ก็ต้องรีบเลิกซะ ก่อนที่จะสายเกินไป

เพราะฉะนั้นพอเราได้ฟังความเจ็บปวดของ subjects บางคนในหนัง เราก็เลยรู้สึกอุเบกขาหน่อยๆ คือเหมือนกับฟังนักมวยบอกว่าขึ้นชกแล้วโดนต่อย เจ็บมากเลยน่ะ เพราะเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องแลกกันอยู่แล้ว การจะเป็นนักมวย มันก็ต้องทนเจ็บตัวแบบนี้แหละ และการจะเป็นไอดอล มันก็ต้องแลกกับความเจ็บปวดแบบนี้เหมือนกัน

และในเมื่อคนเราทุกคนแตกต่างกัน เราไม่รู้ว่าคุณ “เจ็บ” มากแค่ไหน สภาพจิตของคุณมีพื้นฐานเป็นอย่างไร และคุณมีความจำเป็นทางการเงินมากน้อยแค่ไหน เราก็เลยไม่สามารถแนะนำนักมวยหรือไอดอลแต่ละคนได้ว่า คุณควรอำลาวงการได้แล้วยัง เพราะแต่ละคนต้องชั่งน้ำหนักด้วยตัวเองแหละว่า ทนเจ็บต่อไปแล้วมันคุ้มหรือเปล่า ถ้ามันไม่คุ้ม ก็เลิกซะ เพราะเรา “เลือก” ได้

5.ชอบวิธีการที่เต๋อเลือกในการกำกับหนังเรื่องนี้มากๆ ทั้งการให้ข้อมูลพื้นฐานต่างๆเกี่ยวกับวงนี้ เพราะเราแทบไม่เคยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับวงนี้มาก่อนเลย และชอบที่เต๋อเลือกใช้ talking heads เป็นหลัก เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นมิตรกับผู้ชมที่เป็นเกย์อย่างเรา 555

คือถ้าว่ากันตามตรง เวลาเราดูประกวด “ชายงาม” เราก็ชอบช่วงการประกวด “ชุดว่ายน้ำ” มากที่สุดน่ะ เพราะเราอยากดูผู้ชายหนุ่มหล่อกล้ามใหญ่ใส่ชุดว่ายน้ำเดินไปเดินมา แต่เวลาเราดูประกวด “นางงาม” เราก็ชอบช่วง “ตอบคำถาม หรือสัมภาษณ์” มากที่สุด ไม่ใช่ช่วงนางงามเดินใส่ชุดว่ายน้ำ อวดเรือนร่างหรือความ sexy เพราะมันไม่ตอบสนองความต้องการทางเพศของเรา

เพราะฉะนั้นการดู talking heads ใน GIRLS DON’T CRY ก็เลยสร้างความพึงพอใจให้กับเราเหมือนกับการดูช่วง “แข่งขันตอบคำถาม” เวลาประกวดนางงามน่ะ มันเป็นช่วงที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ความงามของ subjects เพียงอย่างเดียว แต่มันวัดกึ๋น วัดสมอง ส่อง “ข้างใน” ความคิด, จิตใจ, ไหวพริบ ของ subjects หรือผู้เข้าประกวดแต่ละคนด้วย และเราก็เพลิดเพลินกับอะไรแบบนี้มากๆ

และเราว่าการใช้ talking heads เพื่อส่องสะท้อนข้างในความคิดของ subjects แต่ละคนแบบนี้นี่แหละ มันเป็นวิธีที่ช่วยให้ปูเป้และจิ๊บโดดเด่นขึ้นมาได้ มันช่วยเปิดโอกาสให้ subjects บางคนที่มีดีที่ข้างใน ได้แสดงความสามารถนั้นออกมาด้วย

6.อีกจุดที่ชอบ GIRLS DON’T CRY ก็คือว่า มันช่วยบันทึกปรากฏการณ์ทางสังคมหรือวัฒนธรรมได้ดีน่ะ และมันเหมาะกับผู้ชมอย่างเรา ที่แก่แล้ว และไม่คิดจะไล่ตามโลกหรือเทคโนโลยีอีกต่อไป ชอบอะไรเชยๆและล้าสมัยเป็นหลัก การได้ดูหนังแบบ GIRLS DON’T CRY ที่บันทึกวัฒนธรรมของพ.ศ.นี้, MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ที่บันทึกโลกทวิตเตอร์ หรือ FREELANCE ที่บันทึกชีวิตการทำงานของคนรุ่นใหม่ มันก็เลยช่วยให้เราที่ใช้ชีวิตอยู่กับความล้าสมัยเป็นหลัก ได้ทำความเข้าใจโลกยุคปัจจุบันได้มากขึ้น

ภาพประกอบจากนิตยสาร ฟิ้ว เล่ม 19 (ส.ค. 2008)

Friday, August 17, 2018

AFTERIMAGE (2016, Andrzej Wajda, Poland, A+30)


AFTERIMAGE (2016, Andrzej Wajda, Poland, A+30)

ดูแล้วสมาธิหลุดเป็นระยะๆ แต่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าหนังไม่ดี แต่เป็นเพราะว่าเหตุการณ์ในหนังมันทำให้นึกถึงเมืองไทยตลอดเวลา โดยเฉพาะเมืองไทยในตอนนี้ ซึ่งเป็นยุคที่เราเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างรุนแรงเพื่อความปลอดภัยของชีวิต

ชอบที่จริงๆแล้วชีวิตตัวละครมันหนักหนาสาหัสรุนแรงมาก แต่หนังมันไม่ฟูมฟายเลย มันไม่พยายามบีบคั้นอารมณ์เราให้ร้องไห้เลย คือพระเอกมันขาขาดข้างนึง แขนก็ขาดข้างนึง คือแค่พระเอกใช้ชีวิตประจำวันก็หนักมากๆแล้ว แต่พระเอกยังถูกทางการโปแลนด์ยุคสตาลินกลั่นแกล้งเล่นงานอย่างรุนแรงอีก

รู้สึกว่าหลายๆซีนในหนังนี่ ถ้าหากเป็นผู้กำกับบางคนทำ เขาคงจะใส่ดนตรีเศร้าๆ เร้าอารมณ์หนักๆ เพื่อให้คนดูร้องไห้ หรือเน้นกระตุ้นอารมณ์คนดูให้เกลียดชังตัวละครผู้ร้ายอย่างเต็มที่ แต่ไวดาใจหินมากๆ เพราะเขาไม่ทำแบบนั้นเลย เขาเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวละคร โดยตัดอารมณ์ที่ไม่จำเป็นทิ้งไปเกือบหมด

ดูแล้วก็คิดว่า “อังเดร ไวดา” เป็นผู้กำกับหนังการเมืองที่เราชอบสุดๆคนนึง แต่เขาก็มีความถนัดเฉพาะตัวนะ เพราะหนังการเมืองของเขาที่เราได้ดูส่วนใหญ่ มันต้องอาศัยตัวละครที่มีลักษณะเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรี ที่ต้องเผชิญกับความเลวร้ายอย่างรุนแรงจากระบอบเผด็จการน่ะ เหมือน “พลัง” ในหนังการเมืองหลายเรื่องของเขา มันใช้สูตรเคมีคล้ายๆกัน คือการนำเอาสารเคมีหลักสองตัวที่ตรงข้ามกันมาปะทะกันอย่างรุนแรง และสารเคมีหลักสองตัวนั้นก็คือ protagonist ที่มีความเข้มแข็งกล้าหาญ กับระบอบการปกครองที่กดขี่ประชาชนอย่างเลวร้าย ซึ่งอาจจะรวมถึงหนังเรื่องนี้ และหนังอย่าง MAN OF MARBLE (1977), MAN OF IRON (1981), A LOVE IN GERMANY (1983), DANTON (1981)

แต่การที่เขาชอบทำหนังอะไรแบบนี้ มันก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้นะ เพราะเขาคงเติบโตมากับความเลวร้ายของระบอบนี้น่ะ ทั้งในยุคนาซีและยุคคอมมิวนิสต์ ประสบการณ์ชีวิตของเขามันก็เลยหล่อหลอมให้เขาชอบทำหนังแบบนี้

ดูแล้วก็สงสัยว่า บางทีปัญหาการเมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ มันอาจจะส่งผลให้ forms หรือ styles ของผู้กำกับหนังการเมืองในแต่ละประเทศแตกต่างกันไปด้วยหรือเปล่า เหมือนอย่าง Rithy Panh ก็ทำหนังสไตล์นึง, Ken Loach ก็ทำหนังสไตล์นึง, Lav Diaz ก็ทำหนังสไตล์นึง, Jean-Luc Godard ก็ทำหนังสไตล์นึง, Jafar Panahi ก็ทำหนังสไตล์นึง, หนังเชคนิวเวฟก็เป็นอีกสไตล์นึง ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะปัญหาการเมืองของแต่ละประเทศมันไม่เหมือนกัน สไตล์ของหนังก็เลยแตกต่างกันไปด้วยหรือเปล่า

 หรือแม้แต่ในไทยเองนั้น บรรยากาศทางการเมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย ก็คงส่งผลกระทบต่อสไตล์ หรือ forms ของหนังการเมืองแต่ละยุคไปด้วย ในบางทศวรรษเราอาจจะมีหนังการเมืองที่ตัวละครถกเถียงกันอย่างตรงไปตรงมา อย่างเช่นหนังของ Prap Boonpan และในบางทศวรรษเราอาจจะมีหนังการเมืองที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ดูแล้วต้องตีความกันเอาเอง เพราะอย่างที่ AFTERIMAGE ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า “การเมือง” กับ “การแสดงออกทางศิลปะ” มันส่งผลกระทบต่อกันอย่างรุนแรงขนาดไหน



Tuesday, August 14, 2018

ON THE EDGE OF THE WORLD


101 DALMATIANS (1961, Clyde Geronimi, Hamilton Luske, Wolfgang Reitherman, animation, A+30)

หนังสวยมาก ชอบลายเส้นและสีสันของหนังมากๆ

ชอบไอเดียเรื่อง TWILIGHT BARK ที่ให้หมาเห่าหอนกระจายข่าวบอกต่อๆกันด้วย รู้สึกว่าเป็นไอเดียที่เก๋มาก

เหมือนหนังจะแอบสอนผู้ชมที่เป็นเด็กๆด้วยว่า อย่ากินอาหารเยอะไป และอย่าดูโทรทัศน์มากเกินไป คือหนังเหมือนใช้วิธีการสอนที่แยบยลดีน่ะ เพราะตัวละครลูกหมาตัวนึงที่กินเยอะไป และลูกหมาอีกตัวที่มัวแต่ดูโทรทัศน์ เป็นลูกหมาสองตัวที่ประสบปัญหาในการหนีผู้ร้ายเพราะจุดอ่อนของตัวเอง เราว่าวิธีการสอนเด็กแบบนี้เป็นวิธีที่ดีมาก คือแทนที่จะสอนตรงๆ เราก็สามารถสอนเด็กในทางอ้อมด้วยวิธีนี้ได้

ON THE EDGE OF THE WORLD (2013, Claus Drexel, France, documentary, 98min, A+30)

1.หนักมาก ชอบเรื่องราวของคนไร้บ้านในหนังเรื่องนี้มากๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้กำกับต้องไปคลุกคลีหรือทำความรู้จักกับ subjects นานมากเท่าไหร่ ถึงสามารถทำให้ subjects แต่ละคนเผยชีวิตของตนเองแบบนี้ออกมาได้

ชอบที่มันเป็นหนังยาวด้วย มันเลยมีเวลาให้แต่ละคนพูดอะไรได้เยอะ เพราะจริงๆแล้วเนื้อหาเรื่องคนไร้บ้านแบบนี้ ก็มีหนังสารคดีไทยทำออกมาบ้างแล้วเหมือนกัน อย่างเช่น BANGKOK GHOST STORIES (2016, Wachara Kanha, 20min) และ “บ้านไม่มีเลขที่” (2012, Abhichon Rattanabhayon, 25min) แต่พอหนังไทยสองเรื่องนี้มันเป็นหนังสั้น มันเลยทำได้แค่นำเสนอภาพรวมของ “คนกลุ่มนึง” น่ะ เราไม่มีเวลาในการทำความรู้จักกับ subjects แต่ละคนได้ดีพอ ในขณะที่หนังยาวมันจะเปิดโอกาสให้ subjects แต่ละคนมีเลือดมีเนื้อมีชีวิตจิตใจได้มากขึ้น และ subjects แต่ละคนจะไม่กลายเป็นเหมือน “ข้อมูลสถิติเชิงสังคมศาสตร์” เท่านั้น

2.ชอบ “คุณป้า” ในหนังเรื่องนี้มากที่สุด เหมือนในหนังเรื่องนี้มีผู้หญิงสองคน คนนึงจะใส่แว่นและดูเหมือนชอบพูดอะไรแปลกๆ ส่วนอีกคนนึงเป็นคุณป้าที่เล่าว่าตัวเองเคยมีบ้าน มีผัว มีลูกๆมาก่อน แต่ครอบครัวของเธอโดนทำร้ายเพราะอะไรสักอย่าง และตอนนี้ลูกๆของเธอก็เป็นคนไร้บ้านเหมือนกัน

ไม่รู้ว่าสิ่งที่คุณป้าคนนี้พูดเป็นความจริงหรือความเท็จมากแค่ไหน แต่ตัวเธอดูเป็นมนุษย์ที่น่าสนใจมากๆ คือเธอต้องมีอดีตที่รุนแรงอะไรสักอย่าง ถึงทำให้เธอต้องมาตกอยู่ในสภาพแบบนี้ได้

3.หนังแตะจุดที่สำคัญมากๆ นั่นก็คือการรับมือกับหน้าหนาว เพราะเราก็สงสัยมากๆว่า คนไร้บ้านจะอยู่กันยังไงในประเทศในยุโรปที่มีหิมะตก พวกเขาไม่แข็งตายกันหรือ

และเราก็เห็นว่าพวกเขาก็ทนอยู่กันจริงๆ บางคนก็กางเต็นท์อยู่ท่ามกลางหิมะ ส่วนคุณป้าก็ห่อตัวเองด้วยผ้าห่มอวกาศและผ้าห่มธรรมดา คือเธอดูเหมือนถูกห่อด้วยกระดาษและผ้าและกลายเป็นเหมือนของขวัญที่ถูกทิ้งหรืออะไรสักอย่าง คือสภาพของเธอมันดูรุนแรงมากๆ อนาถาอาถรรพณ์มากๆ

ชอบมากๆที่เธอเล่าว่า เธอหนาวก็จริง แต่เธอจะไม่ใช้ผ้าห่มทั้งหมดในทันที เพราะเธอต้องฝึกตัวเองให้ทนรับกับความหนาวให้ได้ ไม่งั้นเธอจะรับมือกับช่วง peak ของฤดูหนาวไม่ได้

ตอนดูจะนึกถึงหนังอย่าง WILL IT SNOW FOR CHRISTMAS? (1996, Sandrine Veysset) และ IT ALL STARTS TODAY (1999, Bertrand Tavernier) ด้วย เพราะหนังสองเรื่องนี้ก็นำเสนอชีวิตคนจนเหมือนกัน แต่เป็นคนจนที่ยังมีบ้านอยู่ และถ้าเราจำไม่ผิด หนังเรื่องใดเรื่องนึงในสองเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า ขนาดคนจนที่มีบ้านอยู่ แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้า พวกเขายังแข็งตายในหน้าหนาวได้เลย แล้วจะนับประสาอะไรกับคนไร้บ้าน ไม่รู้พวกเขาต้องทุกข์ทรมานมากแค่ไหนถึงจะอยู่รอดได้ในหน้าหนาวในยุโรป

4.เหมือนหนังเรื่องนี้ทำให้เรามองตำรวจฝรั่งเศสในแง่ดีขึ้นแฮะ โดยที่ไม่รู้ว่าหนังตั้งใจหรือเปล่า เพราะถึงแม้จะมีตำรวจมาไล่ที่คนไล่บ้านคนนึงในหนังเรื่องนี้ หนังก็ไม่ได้ฉายให้เห็นภาพความรุนแรง แต่เหมือนเป็นการทำตามหน้าที่ของตำรวจมากกว่า

แต่สิ่งที่ประทับใจมากๆก็คือเรื่องของคนไร้บ้านคนนึงที่เล่าว่า มีตำรวจใจดีเคยเอาของขวัญมาให้เขามากมายในช่วงคริสต์มาส

5.แมวในหนังขโมยซีนมากๆ

6.ชอบการนำเสนอภาพคนไร้บ้านที่นอนในซอกอุโมงค์ใต้ดินด้วย คือการถ่ายภาพคนไร้บ้านคนนี้นึกว่าเป็น paintings เมื่อ 200 ปีก่อนน่ะ มันเป็นสถานที่ที่โสโครกมากๆ แต่ใบหน้าของคนไร้บ้านคนนี้มันมีพลังรุนแรงเหมือน paintings เมื่อ 200-300 ปีก่อนมากๆ หรือเหมือนกับว่าเขาหลุดออกมาจากหนังของ Bela Tarr หรืออะไรทำนองนี้


7.ถ้าไม่ดูหนังเรื่องนี้ เราก็ไม่รู้มาก่อนว่ามีคนไร้บ้านแบบนี้ในฝรั่งเศสด้วย เพราะก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยดูหนังอย่าง VAGABOND (1985, Agnès Varda) ก็จริง แต่พอมันเป็นหนัง fiction เราก็เลยไม่ได้นึกว่ามันจะมีคนไร้บ้านอยู่จริงเป็นจำนวนมากแบบนี้

ส่วนหนังอย่าง THE GLEANERS AND I (2000,  Agnès Varda) นั้น ก็นำเสนอคนคุ้ยเขี่ยขยะในฝรั่งเศส ซึ่งโดยรวมแล้ว สถานะของคนเหล่านี้ก็ดีกว่าคนไร้บ้านน่ะ เพราะคนคุ้ยเขี่ยขยะหลายคนก็ดูเหมือนจะมีบ้านอยู่ เพียงแต่ว่าพวกเขาเล็งเห็นประโยชน์จากขยะเท่านั้นเอง

เวลาเราดูหนังเกี่ยวกับผู้อพยพในฝรั่งเศส เราก็พบว่า พวกเขาจะได้อยู่ในโรงแรมเล็กๆนะ เราก็ไม่รู้เรื่องระบบของฝรั่งเศสเหมือนกัน แต่เหมือนกับว่าทางการฝรั่งเศสจะจัดสรรที่พักเป็นโรงแรมเล็กๆให้พวกผู้อพยพอยู่กันไปก่อนจนกว่าจะได้สถานะผู้ลี้ภัยหรืออะไรทำนองนี้น่ะ เพราะฉะนั้นผู้อพยพพวกนี้ก็เลยไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกแบบคนไร้บ้านในหนังเรื่องนี้

หนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนกับว่า แตะจุดต่ำสุดจุดนึงของสังคมฝรั่งเศสจริงๆ

8.ชอบสไตล์ของผู้กำกับด้วย คือหนังมันดูเรียบง่ายมากๆในแง่นึง คือหนังแค่ปล่อยให้ผู้อพยพแต่ละคนพูดไปเรื่อยๆ เรื่อยๆเท่านั้นเอง พร้อมกับนำเสนอสภาพแวดล้อมของพวกเขา แต่แค่นี้มันก็หนักที่สุดแล้ว

สไตล์เรียบง่ายแต่ทรงพลังอย่างรุนแรงแบบนี้ ทำให้นึกถึงหนังหลายๆเรื่องของ Raymond Depardon ด้วย ทั้ง CAUGHT IN THE ACTS (1994), THE 10TH DISTRICT COURT (2004) และ MODERN LIFE (2008) คือหนังเหล่านี้เหมือนปล่อยให้ subjects พูดไปเรื่อยๆ แต่มันกลับกลายเป็นหนังที่ทรงพลังและดีงามสุดๆในความเห็นของเรา เหมือนผู้กำกับมันมีวิธีการบางอย่างในการทำให้การพูดของ subjects แต่ละคน หรืออากัปกิริยาสีหน้าสีตาท่าทางของ subjects แต่ละคน มันสะท้อนอะไรหลายๆอย่างและสะท้อนความเป็นมนุษย์หรือแก่นแท้ของ subjects แต่ละคนออกมาได้

9.รู้สึกว่าหนังที่สามารถปะทะกับหนังเรื่องนี้ได้ในแง่ “ความรุนแรงของชีวิต” คือ TONDO, BELOVED: TO WHAT ARE THE POOR BORN? (2011, Jewel Maranan, Philippines, documentary) ที่นำเสนอชีวิตคนจนครอบครัวนึงในฟิลิปปินส์ คือครอบครัวนี้มีบ้านอยู่ก็จริง แต่มันก็เป็นบ้านที่เล็กสุดๆ และความยากแค้นแสนเข็ญของครอบครัวนี้ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าของ subjects ใน ON THE EDGE OF THE WORLD แต่อย่างใด

10.ดู “หน้าหนาว” ในหนังสารคดีฝรั่งเศสเรื่องนี้ แล้วทำให้นึกถึงกลอนที่ชอบมากๆด้วย นั่นก็คือกลอน QUARANTINE ของ Eavan Boland ที่เล่าเรื่องของชายหญิงไร้บ้านคู่นึงที่มีคนพบศพทั้งสองนอนแข็งตายในหน้าหนาว โดยขณะที่พวกเขาแข็งตายนั้น ฝ่ายชายเอาเท้าฝ่ายหญิงมาซุกไว้ที่แผงอกของเขา เพื่อพยายามทำให้เท้าฝ่ายหญิงอุ่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความอบอุ่นจากแผงอกของเขาคือของขวัญชิ้นสุดท้ายที่เขาสามารถมอบให้เธอได้ ก่อนที่ทั้งสองจะหนาวตายไปด้วยกัน

“In the worst hour of the worst season

of the worst year of a whole people

a man set out from the workhouse with his wife.

He was walking-they were both walking-north.

She was sick with famine fever and could not keep up.

He lifted her and put her on his back.

He walked like that west and north.

Until at nightfall under freezing stars they arrived.

In the morning they were both found dead.

Of cold. Of hunger. Of the toxins of a whole history.

But her feet were held against his breastbone.

The last heat of his flesh was his last gift to her.

Let no love poem ever come to this threshold.

There is no place here for the inexact

praise of the easy graces and sensuality of the body.

There is only time for this merciless inventory:

Their death together in the winter of 1847.

Also what they suffered. How they lived.

And what there is between a man and a woman.

And in which darkness it can best be proved."