Tuesday, July 23, 2019

YESTERDAY'S US

YESTERDAY'S US (2019, Jenjira Kanawiwat, 71min, A+30)

1.เจ็บปวดสุดๆ ชอบที่หนังสามารถถ่ายทอดความทุกข์ของตัวละครนางเอก, พ่อ และพี่ชายออกมาได้อย่างทรงพลังมากๆ ตัวนางเอกก็เล่นดีมาก ชอบที่หนังคุมโทนอารมณ์ได้ดี ไม่ให้มันเมโลดราม่ามากเกินไป

2.ชอบที่ "พ่อ" กับ "พี่ชาย" มีสถานะเหมือนเป็น "มารขัดขวางความสุขในชีวิตของนางเอก" แต่หนัง treat ตัวละครสองตัวนี้ไม่ใช่ในฐานะ " ผู้ร้าย" แต่เป็น "มนุษย์ปุถุชน ที่มีทั้งข้อเสีย และแง่มุมบางมุมที่น่าเห็นอกเห็นใจ" ในเวลาเดียวกัน อย่างเช่นตัวละครพ่อที่ "อยากตาย" หนังก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ทำไมพ่อถึงอยากตาย และไม่พยายามทำให้ตัวเองมีสุขภาพดีขึ้น หรือตัวละครพี่ชายที่ชอบกล่าวโทษนางเอกอย่างไม่ยุติธรรมนั้น เขาก็ต้องทำงานงกๆหาเงินเลี้ยงดูทั้งพ่อ, น้องสาว, เมีย, ลูก และภาระดังกล่าวก็น่าจะทำให้ชีวิตเขาไม่มีความสุขสักเท่าไหร่

3.ชอบการ design character นางเอกให้ออกมาเป็นแบบนี้ด้วย ไม่ใช่แบบหญิงสาวแม่พระที่อุทิศตัวเพื่อคนอื่นๆจนดีเกินไป แต่เป็นคนที่ต้องการแสวงหาความสุขในชีวิตตนเองเช่นกัน

4.ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในเนื้อเรื่อง แต่หนังเหมือนทำให้เราเดาว่า นางเอกอาจจะหลับขณะขับรถ  แล้วทำให้แม่ตาย+ พ่อพิการ แต่มันมีฉากนึงที่นางเอกขณะเป็นนักศึกษาขายเสื้ออยู่ แล้วมีเสียงรถหวอ เราก็เลยไม่แน่ใจว่าตกลงแม่ตาย+พ่อพิการเพราะอะไร

5.ชอบกลวิธีการตัดสลับเวลาอย่างรุนแรงในหนังมากๆ ทำให้นึกถึงหนังที่ชื่อเรื่องคล้ายกัน นั่นก็คือ YESTERDAY'S TOMORROW (1978, Wolfgang Staudte, West Germany)  ที่เล่าเรื่องแบบตัดสลับช่วงเวลาต่างๆอย่างรุนแรงมากเหมือนกัน

 PART (2019, Nuttamon Pramsumran, video installation, A+30)

วิดีโอที่จัดแสดงที่ชั้น 7 BACC นำแสดงโดยอินทิรา เจริญปุระ และพีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข ดูแล้วนึกถึงอารมณ์ที่ได้จากหนังสารคดีบางเรื่องของ Patricio Guzman อย่าง NOSTALGIA FOR THE LIGHT (2010) กับ THE PEARL BUTTON (2015) เพราะหนังชิลีสองเรื่องนี้พูดถึงผลกระทบจากความรุนแรงทางการเมืองที่มีต่อญาติๆหรือคนรู้จักของ “ผู้ที่ถูกฆ่าตาย หรือถูกอุ้มหาย” คล้ายๆกับในวิดีโอนี้

จำได้ว่าใน THE PEARL BUTTON มันจะมีประโยคในทำนองที่ว่า  ถ้าหากการสังหารหรือการอุ้มหายมันได้รับความยุติธรรม มันได้รับการเปิดเผยข้อมูล + มีการลงโทษผู้กระทำผิด หรืออะไรทำนองนี้ มันก็จะช่วยให้ “The dead can finish dying, and the living can go on living”

การดูวิดีโอ PART ก็เลยทำให้นึกถึงหนังของ Patricio Guzman เพราะในวิดีโอนี้เราจะรู้สึกว่า the living ยังไม่สามารถ go on living ได้ เพราะ the dead ยังไม่ได้รับความยุติธรรม

แต่สิ่งที่ video installation ชิ้นนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างจากหนังของ Patricio Guzman ก็คือว่า ในหนังสองเรื่องของ Guzman นั้น มันให้ความรู้สึกว่า ชิลีในปัจจุบันอยู่ในยุคของ “การขุดค้นหาความจริงที่เคยถูกฝังกลบไว้”  แต่ในวิดีโอ PART ของไทยนี้ มันให้ความรู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่ในยุคของ “การขุดค้นหาความจริงที่ถูกฝังกลบไว้” แต่เรายังคงอยู่ในยุคของ “การพยายามทำลาย, ลบเลือน, ขจัด, ฝังกลบบางสิ่ง” ให้สูญหายไปทั้งในทางกายภาพและในทางความทรงจำของผู้คน

 HOW WE MET IN APRIL (2019, Supawit Woothisart, 47min, A+25)

1.หนังดูเพลินมาก แม้ตัวโครงเรื่องหลักมันจะดู cliché สำหรับหนังไทยหรือหนังนักศึกษามากๆ เพราะเราว่าประเด็นเรื่องแอบชอบเพื่อนแต่ไม่กล้าบอกเพื่อนนี่มันได้รับการนำเสนอในหนังนักศึกษามาแล้วเป็นร้อยเรื่อง หรือแม้แต่ในหนังเมนสตรีมอย่าง DEAR DAKANDA (2005, Komgrit Triwimol) และ FRIEND ZONE (2019, Chayanop Boonprakob) ก็นำเสนออะไรที่คล้ายๆกัน แต่โชคดีที่หนังเรื่องนี้ทำออกมาได้ดี ไม่น่าเบื่ือเลย ถึงแม้เนื้อหาของมันอาจจะไม่มีอะไรใหม่

2.ชอบการนำเสนอสองช่วงเวลาในหนังด้วย ทั้งตอนเป็นวัยรุ่นกับตอนที่โตแล้ว มันทำให้หนังดูซึ้งมากขึ้น

3.แต่ตอนดูจะแอบนึกถึงหนังอีกเรื่องที่เราชอบสุดๆนะ ซึ่งก็คือ OUR LAST DAY (2015, Rujipas Boonprakong) เพราะ OUR LAST DAY ก็พูดถึงความสัมพันธ์พระเอก+นางเอกในวัยมัธยม กับชีวิตพระเอกตอนโตเป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน แต่ OUR LAST DAY จะเข้าทางเรามากกว่า เพราะ OUR LAST DAY เน้นความ nostalgia เน้นการมองย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่มีความสุขในวัยมัธยมว่ามันเป็นสิ่งที่หอมหวาน และไม่มีทางหวนย้อนคืนมาได้อีกแล้ว ซึ่งมันตรงกับความรู้สึกในชีวิตจริงของเรา ส่วน HOW WE MET IN APRIL เน้นความโรแมนติกในวัยมัธยม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่มีประสบการณ์ในชีวิตจริง 555

No comments: