Saturday, August 25, 2007

PRAP BOONPAN, STRAUB, HUILLET, AKERMAN

THIS IS MY COMMENT IN BIOSCOPE WEBBOARD
http://www.bioscopemagazine.com/smf/index.php?topic=492.60

รู้สึกมีความสุขกับโปรแกรมวันนี้มากๆเหมือนกัน

ข้างล่างนี้เป็นอาการพร่ำเพ้อไร้สาระของดิฉัน โปรดอย่าอ่านถ้าหากต้องการอะไรที่มีสาระ (ดิฉันจะเปลี่ยนสรรพนามแทนตัวเองไปๆมาๆด้วย เพื่อเน้นย้ำถึงความมีสติไม่อยู่กับร่องกับรอยของดิฉัน)


โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันถูกโฉลกกับหนังของคุณปราปต์ บุนปานมากๆค่ะ ตอนนี้ LETTER FROM THE SILENCE (2006, Prap Boonpan, A+) ขึ้นไปครองอันดับสองของหนังไทยที่ดิฉันชอบที่สุดในปีนี้ไปแล้ว ไม่รู้เป็นไง ดูแล้วร้องไห้ จนขณะดู “จำเลยรัก” (A) และ “สาม-สูญ” (A+) ดิฉันก็ยังคงร้องไห้ให้ LETTER FROM THE SILENCE อยู่ จนกระทั่งมาถึงหนังของคุณมานัสศักดิ์ ดอกไม้นั่นแหละ ถึงค่อยหยุดร้อง

จริงๆแล้วก็เคยอ่านเนื้อหาในจดหมายสองฉบับที่อยู่ใน LETTER FROM THE SILENCE มาตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วนะ รู้สึกว่าจะได้อ่านจากเว็บประชาไท แต่ตอนที่อ่านจากเว็บประชาไท ก็ไม่ได้รู้สึกอยากร้องไห้มากเท่านี้

บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าหนังมันทำให้เกิด “พื้นที่ทางจินตนาการ” ในหัวดิฉันได้มากกว่า “ตัวหนังสือ” บนจอคอมพิวเตอร์หรือบนหน้ากระดาษก็ได้นะ พอได้ดู LETTER FROM THE SILENCE แล้ว ถึงได้เกิดจินตนาการต่างๆมากมายในหัว ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับชาวบ้านบ่อนอก-หินกรูด และคุณนวมทองโดยตรง คือหนังเรื่องนี้มันทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครสมมุติที่อยู่ในจินตนาการเราเองน่ะ LETTER FROM THE SILENCE อาจจะเป็นสารคดีนะ และผู้สร้างก็อาจจะไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้ผู้ชมเกิดอาการแบบที่เราเป็น แต่อาการที่เราเป็นก็คือเราจินตนาการตัวละครสมมุติขึ้นมาในหัวของเรา เขาเป็นคนที่ทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้วกับการถูกกระทำจากอำนาจรัฐ เขารู้สึกสิ้นหวังกับการเมือง เขาอาจจะเคยมีความหวังอยู่สักระยะนึง แต่ความหวังอันสวยงามของเขาก็ถูกทำลายลงในที่สุด เขาจึงคิดว่าตายเสียดีกว่า เรารู้สึกสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของตัวละครสมมุติในหัวของเราน่ะ มันเจ็บปวดมากๆจนต้องร้องไห้ออกมา คือเราจินตนาการมันขึ้นมาเอง เจ็บปวดเอง และก็ร้องไห้เอง และก็คิดถึงมันอีก แล้วก็ร้องไห้อีก โดยมีหนังเรื่อง LETTER FROM THE SILENCE เป็นตัวกระตุ้น โดยตัวละครที่เราจินตนาการถึงมันอาจจะไม่ได้คล้ายคลึงกับคุณนวมทองตัวจริงก็ได้ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ตอนนี้เรารู้สึกอยากใช้เวลาว่างไปกับการจินตนาการถึงชีวิตของตัวละครสมมุติเหล่านี้ จินตนาการว่าชีวิตของเขาตั้งแต่เด็กมันเป็นยังไง มันเคยพบกับความอยุติธรรมมาอย่างไรบ้าง เราอยากจะจินตนาการถึงความเจ็บปวดในแต่ละช่วงชีวิตที่ตัวละครสมมุติของเราเคยประสบมาน่ะ เราไม่รู้เหมือนกันนะว่าทำไมหนังเรื่องอื่นๆถึงไม่ได้กระตุ้นจินตนาการของเรามากเท่านี้

ความรู้สึกส่วนนึงของเราที่มีต่อ LETTER FROM THE SILENCE มันคล้ายๆกับความรู้สึกของเราที่มีต่อเพลง ANOTHER DAY IN PARADISE ของ PHIL COLLINS ด้วยเหมือนกัน เพลง ANOTHER DAY IN PARADISE เคยทำให้เราร้องห่มร้องไห้จนแทบเป็นบ้า และทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเราโชคดีมากเกินไปถ้าหากเทียบกับเพื่อนมนุษย์หลายๆคนบนโลกนี้

สรุปว่าถึงแม้ LETTER FROM THE SILENCE จะเป็นหนังเงียบ แต่สำหรับดิฉันแล้ว หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยเสียงตะโกนด้วยความคั่งแค้นและเสียงร้องไห้ เสียงเหล่านี้มันดังอึงอลอยู่ในหัวของดิฉันอย่างรุนแรงมาก และเสียงที่ดิฉันจินตนาการขึ้นมาเองเหล่านี้ มันคงจะดังก้องอยู่ในหัวของดิฉันต่อไปเป็นเวลานาน (หรือจนกว่าปัญหาของชาวบ้านบ่อนอก-หินกรูดจะทุเลาเบาบางลง)


หรือบางทีดิฉันอาจจะอารมณ์ค้างจากการดู EUROPA 2005 – 27 OCTOBER (2006, Jean-Marie Straub + Daniele Huillet, A+) เมื่อวานนี้ จากคลิปวิดีโอข้างล่างนี้ที่โพสท์ไว้ในอีกกระทู้นึง
http://video.google.fr/videoplay?docid=-3238754652290051467&q=cinetract

จริงๆแล้วหนังของคุณปราปต์ บุนปาน กับของ JEAN-MARIE STRAUB + DANIELE HUILLET ไม่ได้คล้ายคลึงกันเลยนะ แต่พอดีเราได้ดูหนังสองเรื่องนี้ในวันไล่เลี่ยกัน และมันก็ส่งผลกระทบอย่างเดียวกันกับตัวเรา นั่นก็คือมัน “ติด” อยู่ในหัวเรามากๆ และมันก็กระตุ้นจินตนาการเราอย่างรุนแรงมาก รุนแรงมากเกินไปด้วย

เราได้ดูคลิปวิดีโอ EUROPA 2005 – 27 OCTOBER แล้ว เราไม่รู้เหมือนกันนะว่าผู้กำกับเขาต้องการสื่ออะไรที่เฉพาะเจาะจงบ้าง คือเวลาเราดูหนัง เรายึดความบันเทิงของตัวเองเป็นหลักน่ะ เราเป็นผู้ชมที่แย่มากๆ คือเราไม่ค่อยสนเท่าไหร่หรอกว่าผู้กำกับเขามีเจตนายังไง หรือหนังมันมีคุณค่าทางศิลปะยังไงบ้าง เราสนแค่ว่าหนังเรื่องนั้นมันให้ความบันเทิงหรือความสุขกับเรามากแค่ไหน ไม่ว่าผู้กำกับเขาจะจงใจให้เกิดผลกระทบอย่างนั้นหรือไม่ก็ตาม

เราดู EUROPA 2005 – 27 OCTOBER แล้วมันหลอนเรามากๆ มันทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าเราเป็นดวงวิญญาญของชายที่ตายในสถานที่นั้นน่ะ แล้วมันวนเวียน มันไปไหนไม่ได้ มันออกจากสถานที่นั้นไม่ได้ มันเป็นดวงวิญญาณของคนที่ตายด้วยความเจ็บปวด ดวงวิญญาณของชาวต่างชาติที่ใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศส แล้วต้องเจอกับความอยุติธรรมมาตลอดทั้งชีวิต แล้วเขาก็ต้องตายลงเพราะความอยุติธรรมนั้น เขาทุกข์ทรมานมาแล้วตลอดทั้งชีวิต และก็ต้องตายลงเพราะความอยุติธรรมอีก และดวงวิญญาณของเขาก็คงจะไปไหนไม่ได้ จนกว่าความอยุติธรรมที่ชาวต่างชาติในฝรั่งเศสได้รับจะทุเลาเบาบางลง

คือคนที่ได้ดู EUROPA 2005 – 27 OCTOBER คงจะเห็นน่ะนะว่าหนังมันไม่ได้มีผีวิญญาณอะไรโผล่ขึ้นมาเลย ความรู้สึกของเราข้างต้นมันเกิดจากจินตนาการของเราเองล้วนๆ โดยมีหนังเป็นตัวกระตุ้นขึ้นมา แต่พอเราจินตนาการแล้ว เราก็หยุดมันไม่ได้นะ เรายังคงรู้สึกว่าเราเป็นดวงวิญญาณอันเจ็บแค้นที่ติดอยู่ในโรงไฟฟ้าแห่งนั้นอยู่

พูดถึงหนังแนวกระตุ้นจินตนาการแล้ว ก็มีหนังเรื่องนึงที่เราอยากดูมากๆ นั่นก็คือเรื่อง SOUTH (1999, Chantal Akerman) ที่เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับการสำรวจสถานที่ที่เคยเกิดเหตุฆาตกรรมชายผิวสีอย่างโหดเหี้ยมทางภาคใต้ของสหรัฐ เราเดาล่วงหน้าว่าถ้าหากเราได้ดูหนังเรื่องนี้ มันอาจจะ “เปิดพื้นที่ทางจินตนาการ” ในหัวของเราแบบ LETTER FROM THE SILENCE และ EUROPA 2005 – 27 OCTOBER ก็ได้

เนื้อหาเกี่ยวกับ SOUTH หรือ SUD (1999, Chantal Akerman, 70 min) สามารถอ่านได้ที่
http://www.sensesofcinema.com/contents/00/6/south.html

Chantal Akerman เขียนถึงหนังเรื่องนี้ว่า

At the heart of this journey is the murder of James Byrd Jr, and his presence haunts the entire film. This is not an anatomy of his murder, nor the autopsy of a black man lynched by three young white males, but more an evocation of how this event fits in to a landscape and climate as much mental as physical.”

“How do the trees and the whole natural environment evoke so intensely death, blood and the weight of history? How does the present call up the past? And how does this past, with a mere gesture or a simple regard, haunt and torment you as you wander along an empty cotton field or a dusty country road?”

ในช่วง 15 นาทีแรกในหนังสารคดีเรื่อง SUD ผู้ชมจะได้ชมชีวิตประจำวันของคนในภาคใต้ของสหรัฐ ได้เห็นบางคนออกมาตัดหญ้าหน้าโบสถ์ และเห็นคนหลายๆคนทำงานต่างๆของตัวเอง โดยไม่มีบทบรรยายใดๆทั้งสิ้น หลังจากนั้นหนังก็จะค่อยๆนำเสนอเรื่องราวของการสังหาร JAMES BYRD ซึ่งเป็นชายผิวดำในปี 1998 โดยกลุ่ม WHITE SUPREMACISTS โดยที่คนกลุ่มนี้จับเจมส์ เบิร์ดมามัดไว้กับท้ายรถบรรทุก และขับรถลากเขาถูลู่ถูกังไปกับพื้นถนนเรื่อยๆจนเขาถึงแก่ความตาย โดยที่อวัยวะต่างๆจากตัวเขาหล่นอยู่กระจัดกระจายตามท้องถนนตลอดระยะทาง 3 ไมล์ที่เขาถูกลากตัวไปและเมื่อผู้ชมได้รับรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนี้ ความรู้สึกของผู้ชมที่มีต่อ “ภาพชีวิตประจำวัน” ของผู้คนในเมืองแจสเปอร์ รัฐเท็กซัส ที่ได้เห็นในช่วงต้นเรื่อง ก็จะเปลี่ยนไปในทันที ภาพชีวิตประจำวันที่ดูน่าเบื่อหน่าย ได้กลายเป็นอะไรบางอย่างที่น่าสยดสยองพองขนไปแล้ว

ในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ กล้องของชองตาล แอคเคอร์มานจะพาผู้ชมไปสำรวจดูท้องถนนตลอดระยะทาง 3 ไมล์ที่ร่างกายของชายผิวดำคนนี้เคยถูกลากไป โดยผู้ชมจะรู้สึกเหมือนตัวเองได้สัมผัสกับทุกตารางนิ้วบนถนนมรณะสายนั้น

ภาพท้องถนนที่ว่างเปล่าและยาวนาน คงเป็นภาพที่น่าเบื่ออย่างสุดๆ แต่ในหนังเรื่องนี้นั้น ทุกๆวินาทีที่กล้องลากเราไปบนถนนสายนี้ คือเสียงกรีดร้องของความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน(แปลจากบทวิจารณ์หนังเรื่อง SUD ใน TIME OUT FILM GUIDE) http://www.filmfestivals.com/cannes99/html/quinzaine8.htm

สรุปว่าพรุ่งนี้ดิฉันควรจะไปพบจิตแพทย์ (หล่อๆ) อาจจะเป็นการดีเหมือนกัน ฮ่าๆๆๆๆ


THIS IS MY COMMENT IN BIOSCOPE WEBBOARD
http://www.bioscopemagazine.com/smf/index.php?topic=521.0

หนังใหม่ของ STRAUB + HUILLET ใน GOOGLE

ก่อนอื่นต้องขออภัยทุกคนด้วยนะคะที่ช่วงนี้ไม่ได้เข้าไปตอบกระทู้หนังสั้นกับกระทู้หนังใหม่ที่ได้ดูเลย เพราะช่วงนี้ไม่ค่อยว่างเข้าร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ค่ะ แต่ก็ตามอ่านสิ่งที่ทุกคนเขียนอยู่เสมอ นอกจากนี้ ช่วงนี้ดิฉันยังไม่ค่อยอยากเขียนอะไรด้วย เพราะต้องการไว้ทุกข์ให้กับ ROB SAGER นายแบบคนโปรดของดิฉัน ดิฉันเพิ่งรู้จากนิตยสาร MEN’S WORKOUT ว่าเขาเสียชีวิตเมื่อต้นปีนี้ด้วยอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น จากอาการหัวใจวาย

ROB SAGER
http://farm2.static.flickr.com/1439/1214462175_26b755f74a_o.jpg


วันนี้ดิฉันเพิ่งรู้จากคุณ HARRYTUTTLE (http://screenville.blogspot.com ) ค่ะว่า หนังใหม่ของ JEAN-MARIE STRAUB + DANIELE HUILLET มีเผยแพร่ตามเว็บไซท์ต่างๆ โดยคุณ HARRYTUTTLE เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ใน BLOG ของคุณ GIRISH SHAMBU
http://www.girishshambu.com/blog/2007/08/tiff-2007.html

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า EUROPA 2005 – 27 OCTOBER (A+) โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับวัยรุ่นชายสองคนที่หลบหนีตำรวจฝรั่งเศสในวันที่ 27 ต.ค. ปี 2005 พวกเขาหนีตำรวจด้วยการเข้าไปหลบในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและถูกไฟช็อตตาย และการตายของวัยรุ่นชายสองคนนี้ก็เป็นชนวนก่อให้เกิดเหตุการณ์จลาจลครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส


ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดโอกาสให้เราได้จ้องมองย่านที่เกิดเหตุการณ์นั้น และรำลึกถึงการเสียชีวิตของสองคนนั้น นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงความเป็น STRAUB + HUILLET เอาไว้อย่างครบถ้วน นั่นก็คือเป็นภาพยนตร์ที่มีการปรุงแต่งน้อยมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ


รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้น สามารถอ่านได้ที่
http://en.wikipedia.org/wiki/2005_civil_unrest_in_France

The 2005 civil unrest in France of October and November was a series of riots and violent clashes, involving mainly the burning of cars and public buildings at night starting on October 27, 2005 in Clichy-sous-Bois. Events spread to poor housing projects (the cités HLM) in various parts of France. A state of emergency was declared on November 8, 2005. It was extended for three months on 16 November by the Parliament.[1][2][3] The biggest riots since the May 1968 unrest were triggered by the accidental death of two teenagers, Zyed Benna and Bouna Traoré, in Clichy-sous-Bois, a working-class commune in the eastern suburbs of Paris, who were chased by the police and tried to hide from the police in a power substation where they were electrocuted.


ดิฉันชอบคำวิจารณ์ของคุณ OLAF MOLLER ที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้มากๆค่ะ โดยเขาเขียนไว้ในนิตยสาร CINEMASCOPE ว่า
http://www.cinema-scope.com/cs29/spot_moller_queiloro.html

“Only 12 minutes long, Europa 2005 - 27 Octobre is obviously an incidental work, but it’s nevertheless/therefore important, for it reminds us that Huillet and Straub are political artists who recurrently tackled very real, precise, and timely political subjects, something too many of their self-appointed acolytes couldn’t be bothered with. And even if Straub’s overly judgmental musings get on one’s nerves, they’re still preferable to the docile, “understanding” silences or demagogic ravings which make up the present style of political non-discussions: with Huillet and Straub one can at least fight. They possess unquiet hearts and minds, unreconciled, unconsoled, hopeful. They care. “

ไม่รู้เป็นไง อ่านคำวิจารณ์ STRAUB + HUILLET ข้างบนแล้ว นึกถึงผู้กำกับภาพยนตร์ไทยบางคน

ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่
http://video.google.fr/videoplay?docid=-3238754652290051467&q=cinetract

http://www.dailymotion.com/video/xvv0z_europa2005web_news


THIS IS MY COMMENT IN BIOSCOPE WEBBOARD

http://www.bioscopemagazine.com/smf/index.php?topic=524.0

ตอบน้อง merveillesxx

รู้สึกว่า “คนตัดหญ้า” เคยเข้าประกวดมูลนิธิหนังไทยปีที่แล้วด้วย แต่เราไม่ได้ดู เคยอ่านเรื่องย่อของหนังเรื่องนี้ในสูจิบัตรปีที่แล้ว รู้สึกอยากดูมาก เพราะมีตัวละครชื่อ “ปิยะพงศ์ ขำห่วย” (ห้ามผวน)

เราชอบหนังของ NATHAN HOMSAP + DHAN LHAOW มากๆเลยนะ เคยดู “โตเต้” (2005, A+) กับ “ซัมเป้” (2005, A+/A) แล้วชอบมาก มาปีนี้ได้ดู “อาจารย์ฃวด” (2007, A+/A) ก็ฮามากๆเหมือนกัน ฉากเด็ดที่ชอบมากใน “อาจารย์ฃวด” คือฉากที่ชายหนุ่มหญิงสาวไปหาอาจารย์ฃวด ซึ่งเป็นหมอดู เพื่อให้ทำนายดวง อาจารย์ฃวดก็ทำนายว่าทั้งสองจะได้รักกันไปจนวันตาย ชายหนุ่มกับหญิงสาวก็ดีใจกันยกใหญ่

แล้วอาจารย์ฃวดก็บอกว่า “พวกแกจะได้รักกันไปจนวันตายแน่ๆ เพราะวันนี้คือวันตายของพวกแกยังไงล่ะ” แล้วอาจารย์ฃวดก็เอามีดมาแทงทั้งสองตาย (ไม่รู้คิดมุกตลกนี้ขึ้นมาได้ยังไง ขอกราบงามๆสักที)

เราหวังว่าย่อหน้าข้างบนคงไม่เป็น SPOILER มากนักนะ เพราะหนังเรื่อง “อาจารย์ฃวด” ยังมีอะไรฮาๆอีกเยอะมาก นอกเหนือจากฉากข้างบนที่กล่าวมา


เราเคยจัดให้หนังของ NATHAN HOMSAP + DHAN LHAOW กับหนังเรื่อง “ค้างคาวดูดกล้วย” ติดอันดับ MY MOST FAVORITE THAI WEIRD COMEDY MOVIES ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาด้วย
http://celinejulie.blogspot.com/2007/04/im-not-girl-who-misses-much.html

No comments: