Thursday, August 16, 2007

COMPARING FEEL-BAD MOVIES

THIS IS MY COMMENT IN FILMSICK’S BLOG
http://filmsick.exteen.com/20070815/to-be-twenty

ขอบคุณมากค่ะที่เขียนถึงหนังเรื่อง TO BE TWENTY (1978, Fernando di Leo, A+)

อันนี้เป็นความรู้สึกของดิฉันที่มีต่อหนังเรื่องนี้ค่ะ

1.ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ยกเว้นเพียงการกระทำบางอย่างในฉากจบของหนังที่รู้สึกว่ามันโหดเกินไป ดูแล้วก็ตั้งคำถามในใจว่าหนังมันจำเป็นต้องโหดขนาดนั้นหรือเปล่า แต่ถ้ามันไม่โหดขนาดนั้น หนังมันก็คงจะไม่ค้างคาใจเรามากขนาดนี้ อย่างไรก็ดี ถ้าไม่นับการกระทำบางอย่างในฉากจบของหนังแล้ว ดิฉันก็ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆเลยค่ะ

2.ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดิฉันรู้สึกชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ ก็คือว่า หนังเรื่องนี้มันทำให้ดิฉันรักตัวละครนางเอกสองคนนี้มากๆ และเมื่อเรารักตัวละครสองตัวนี้แล้ว เราจึงรู้สึกสลดหดหู่อย่างสุดๆกับฉากจบของหนัง

มีหนังแนว FEEL-BAD หลายเรื่องที่อาจจบอย่างหดหู่เหมือนกับ TO BE TWENTY แต่ในความรู้สึกส่วนตัวของดิฉันนั้น TO BE TWENTY มันไปไกลกว่าหนัง FEEL-BAD เรื่องอื่นๆตรงที่มันทำให้ดิฉันรักตัวละครมากๆ

หนัง FEEL-BAD ที่อาจนำมาเปรียบเทียบกับ TO BE TWENTY

2.1 FUNNY GAMES (Michael Haneke, A+)

หนังเรื่องนี้อาจจะจบอย่างหดหู่ก็จริง แต่ดิฉันไม่รู้สึกสลดใจมากเท่ากับ TO BE TWENTY ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่าจุดประสงค์ของผู้สร้างหนังสองเรื่องนี้แตกต่างกัน โดยในส่วนของ FUNNY GAMES นั้น หนังทำให้เรารู้สึกตัวว่า “เรากำลังดูหนังอยู่” และรู้สึกว่า “มันก็เป็นแค่หนังเท่านั้น” เพราะฉะนั้นเราจึงไม่รู้สึกผูกพันหรือรัก “ตัวละคร” มากนัก เพราะเราตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่ามันเป็น “ตัวละคร” ในขณะที่ TO BE TWENTY นั้น ดิฉันต้องพยายามปลอบใจตัวเองหลังดูหนังจบว่า “มันเป็นแค่หนังเท่านั้น” แต่การปลอบใจตัวเองก็อาจช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะเรารู้ดีจากข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ในหลายๆวันว่า มีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อเหมือนอย่างนางเอกหนังเรื่องนี้ สิ่งที่นางเอกหนังเรื่องนี้ประสบไม่ได้ห่างไกลจากความจริงที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ แต่หนังเรื่องนี้ได้ทำให้ความรู้สึกของเราเปลี่ยนไปเมื่อเราเห็นข่าวหน้าหนึ่งตามหนังสือพิมพ์ เพราะแทนที่เราจะมองแค่ว่า “มีคนถูกฆ่าตายอีกแล้ว” แต่เรากลับรู้สึกหรือคิดเพิ่มขึ้นมาว่า “คนที่ถูกฆ่าตายนั้น เขาเคยมีความหวังหรือความฝันอะไรบ้างนะก่อนที่จะถูกฆ่าตาย เขาเคยมีความสุขหรือความเศร้าอะไรบ้างนะก่อนที่จะถูกฆ่าตาย ชีวิตของเขายังมีอนาคตที่ยาวไกลรออยู่อีกข้างหน้ามากเลยนะ” ดิฉันรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ทำให้ดิฉันมอง “เหยื่อ” ในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนขึ้น


2.2 THE MACABRE CASE OF PROMPIRAM (2003, Manop Udomdej, B+)

เหตุการณ์เลวร้ายใน TO BE TWENTY อาจจะไม่ได้ห่างไกลจาก “คืนบาปพรหมพิราม” มากนัก แต่ “คืนบาปพรหมพิราม” ค่อนข้างจะเด่นในด้านการวิพากษ์สังคม แต่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกผูกพันกับนางเอกมากเท่ากับ TO BE TWENTY เพราะฉะนั้น “คืนบาปพรหมพิราม” จึงทำให้ดิฉันรู้สึกเหมือนกับว่าเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นกับ “ผู้หญิงที่น่าสงสารมากๆ” ในขณะที่ TO BE TWENTY ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นกับ “คนที่ดิฉันรักมากๆ” และด้วยเหตุนี้ TO BE TWENTY จึงทำให้ดิฉันรู้สึก “เจ็บปวด” มากกว่า “คืนบาปพรหมพิราม” อยู่บ้าง


2.3 A NATION WITHOUT WOMEN (2003, Manish Jha, India, A)

หนังเรื่องนี้ก็นำเสนอความเลวร้ายที่ผู้หญิงต้องประสบเช่นกัน แต่เนื่องจากเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในโลกสมมุติ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้รู้สึกผูกพันกับตัวละคร, ไม่ได้รู้สึกว่าเหตุการณ์มันใกล้ตัวมากๆ และไม่ได้รู้สึกว่าเหตุการณ์มันเกิดขึ้นกับคนที่เรารักมากๆเหมือนอย่าง TO BE TWENTY


3.หากจะพูดถึงโครงสร้างของ TO BE TWENTY แล้ว ดิฉันก็นึกถึง WOLF CREEK (2005, Greg McLean, A+) กับ A TALKING PICTURE (2003, Manoel de Oliveira, A+) ค่ะ เพราะหนังสามเรื่องนี้จบลงด้วยการให้ตัวละครตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเหมือนกัน แต่ก่อนที่หนังสามเรื่องนี้จะพาเราไปสู่บทลงเอยอันเศร้าสลด หนังได้ทำให้เราเห็นชีวิตในด้านอื่นๆของตัวละครเหล่านั้น และถ่ายทอดความเป็นมนุษย์หรือแง่มุมอื่นๆที่น่าสนใจของตัวละครเหล่านั้น หนังเหล่านี้ไม่ได้สร้างตัวละครขึ้นมาเพียงเพื่อแค่จะให้มันเป็น “เหยื่อของความรุนแรง” แต่มันทำให้เรารู้สึกอย่างมากๆว่าตัวละครที่ตายในหนัง มัน “ไม่สมควรตาย” เลยจริงๆ และนั่นมันส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของดิฉันต่อเหตุการณ์รุนแรงในโลกความเป็นจริงด้วย


4.อย่างไรก็ดี ดิฉันจินตนาการเล่นๆว่า บางทีอาจจะเป็นการดีกว่าถ้าหากให้ผู้กำกับที่เป็นผู้หญิงมากำกับ TO BE TWENTY เพราะผู้กำกับที่เป็นผู้หญิงอาจจะมีวิธีปฏิบัติต่อฉากจบในแบบที่ดิฉันยอมรับได้อย่างสนิทใจมากกว่านี้

No comments: