Sunday, December 09, 2007

PC'S COMMENTS ON THAI CENSORSHIP (2)

จริงหรือไม่ที่สื่อต่างๆเป็นต้นตอของพฤติกรรมด้านลบในระดับปัจเจก? หรือมันเกิดจากปัจจัยอื่น

ผมเองก็เชื่อเหมือนกันครับว่า ทุกสิ่งที่เราได้พบเจอตลอดช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโต ทั้งจากประสบการณ์ในชีวิตจริง และ สิ่งที่ได้รับรู้ผ่านสื่อ ต่างก็ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็น ถ้าเป็นเช่นนั้น ในกรณีของตัวผมเอง สื่อต่างๆ (ไม่จำกัดเฉพาะภาพยนตร์) ส่งผลต่อโลกทัศน์ของผมในแง่ที่ว่า การได้รับรู้มุมมองของผู้สร้าง ทำให้ผมได้ฉุกคิดและตั้งคำถามต่อสภาพรอบๆตัว ถ้าจะนับว่า การเคลือบแคลงต่อระบบอำนาจหรือผู้ที่กุมอำนาจเป็นพฤติกรรมด้านลบอย่างหนึ่ง ผมก็คงต้องยอมรับว่าที่ผมเป็นเช่นนั้นมันเกิดจากอิทธิพลของสื่อ โชคดีที่พฤติกรรมด้านลบของผมมันยังไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ผมยังสงสัยอีกว่า ทุกอย่างที่เกิดจากอิทธิพลของสื่อ อย่างเช่น อิทธิพลต่อการแต่งกายของวัยรุ่น เสรีภาพทางเพศที่มาพร้อมกับการป้องกัน (ในกรณีที่ข้อมูลเรื่องการป้องกันไม่ได้ถูกปิดกั้นไปด้วย) ถ้ามันไม่สร้างความเดือดร้อน ควรจะถือเป็นพฤติกรรมด้านลบด้วยหรือไม่?

ถ้าสื่อมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนจริงๆแล้วละก็ อิทธิพลของมันน่าจะส่งผลครอบคลุมต่อทุกคนที่ได้รับชมใช่ไหมครับ แต่ปรากฏว่าในจำนวนผู้ชมนับล้านที่รับชมผลงานชิ้นเดียวกัน กลับมีแค่สองสามคนที่แสดงพฤติกรรมออกมาจนเป็นข่าว ซึ่งถ้าเทียบดูแล้ว จำนวนมีน้อยกว่าเด็กที่ตีกันหลังเกมการแข่งขันกีฬาด้วยซ้ำ ถ้าตัดสินกีฬาด้วยตรรกะแบบเดียวกับที่ตัดสินสื่อ จะบอกได้ไหมครับว่ากีฬาส่งผลต่อความก้าวร้าวในหมู่วัยรุ่นได้เหมือนกัน เพราะท้ายที่สุดแล้ว กีฬาก็คือการจำลองสภาพการต่อสู้ของคู่ปรปักษ์ในสงคราม เพียงแต่นำกติกามาบังคับใช้เพื่อให้ดูศิวิไลซ์ขึ้นเท่านั้น นี่ยังไม่นับอันตรายจากการแข่งขันที่เกิดกับตัวผู้เล่น แต่ทำไมสังคมจึงมีสองมาตรฐานเอากับสื่อ นั่นคงเป็นเพราะกีฬาส่งเสริมแนวคิดเรื่องการเป็นสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งเข้าทางแนวความคิดเรื่องแบบชาตินิยม ที่ผู้กุมอำนาจต้องการสนับสนุน ในขณะที่ความบันเทิงหรือสุนทรียะที่ได้จากการเสพย์สื่อ หรือ งานศิลปะอื่นๆ มันส่งเสริมความเป็นปัจเจกให้เด่นชัดขึ้น

ถ้าจำนวนผู้ที่แสดงพฤติกรรมด้านลบมีน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชมทั้งหมด มันก็น่าจะกล่าวได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของสื่อที่ควรจะส่งผลต่อผู้ชมทั้งหมดในวงกว้าง แต่อาจจะเกิดจากปัจจัยเฉพาะของตัวผู้ก่อเหตุเอง ปัจจัยที่คนเหล่านั้นได้รับรู้จากชีวิตจริง อย่าง ปัจจัยด้านภูมิหลังทางครอบครัวหรือสภาพสังคมที่แวดล้อมตัวพวกเขาตลอดระยะเวลาที่พวกเขาเติบโต ที่ทำให้คนเหล่านั้นมีพัฒนาการที่ไม่ปรกติ ความไม่ปรกตินี่เองที่ติดตัวพวกเขาอยู่ตลอดเวลา และมันพร้อมจะแสดงผลได้ทุกเมื่อถ้าได้พบสิ่งยั่วยุ ถ้าเป็นเช่นนั้น ทุกสิ่งที่พวกเขาได้พบเห็นรอบตัวก็สามารถเป็นสิ่งยัวยุได้ทั้งสิ้น

ทีนี้ลองมาพิจารณาดูว่า ถ้าประสพการณ์จากชีวิตจริงต่างหากที่เป็นสาเหตุหลัก ซึ่งสามารถส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสามารถในการควบคุมตัวเองได้มากกว่าสื่อแล้ว ผมก็พอจะบอกได้เหมือนกันใช่ไหมครับว่า ทุกอย่างที่ทำให้ทุกคนเป็นอย่างที่ได้เป็นมันก็น่าจะเริ่มมาจากครอบครัว ซึ่งเป็นจุดแรกที่กำหนดมุมมองต่อโลกและชีวิตให้กับทุกคน รวมทั้ง "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" ทั้งหลายเช่นเดียวกันครับ แม้ว่าพวกเขาบางคนอาจจะบรรลุนิติภาวะแล้ว อย่างน้อย พวกเขาก็เคยเป็นเด็กกันมาก่อนทั้งนั้น ถ้าความไม่พร้อมทั้งหลายมันเกิดจากครอบครัวที่แวดล้อมวัยเด็กของพวกเขา เราก็น่าจะมาดูกันหน่อยนะครับว่าสภาพครอบครัวในประเทศนี้มันเอื้อต่อ "ความไม่พร้อม" กันได้ขนาดไหน เราอาจจะเจอปัจจัยที่เอื้อต่อพัฒนาการที่ไม่ปรกติอยู่เต็มไปหมดเลยนะครับ

เมื่อไม่กี่วันมานี่เองครับ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีรายงานออกมาว่า หนึ่งในสี่ของครอบครัวไทย มีการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว หนึ่งในสี่เชียวนะครับ !!! ผมลองจินตนาการดูเล่นๆถึงเด็กๆจากครอบครัวเหล่านั้นว่ามีด้วยกันกี่เปอร์เซนต์ของจำนวนเยาวชน มันไม่น้อยเลยนะครับ

แม้ว่าความสัมพันธ์ของสาเหตุและผลลัพธ์อาจจะแสดงออกมาได้ในรูปแบบที่คาดไม่ถึง อย่างความรุนแรงในครอบครัวอาจจะแสดงออกมาในรูปแบบอื่นแทนที่จะเป็นพฤติกรรมก้าวร้าวในหมู่วัยรุ่น และก็เช่นเดียวกันที่ว่า พฤติกรรมก้าวร้าวก็อาจจะไม่ได้มีที่มาจากการได้เห็นความรุนแรงที่เป็นรูปธรรมก็ได้ เด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรงอาจจะไม่ได้เป็นเพราะเขาถูกทุบตี หรือได้เห็นพ่อแม่ใช้กำลังต่อกัน แต่อาจจะมาจากการที่ต้องทนอยู่ใต้ระเบียบข้อบังคับอันเข้มงวดเกินความจำเป็น การถูก "ปิดกั้น" อย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมอันหลากหลายที่จะช่วยให้พวกเขาได้ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นตามวัย ทั้งยังระบบจารีตที่กันพวกเขาออกจากการเรียนรู้ในทุกๆแง่มุมของชีวิตอย่างรอบด้าน เหมือนอย่างที่ "การปิดกั้น" ได้ส่งผลในระดับมหภาคต่อประชากรในสังคมที่เคร่งจารีต สิ่งเหล่านี้จะสั่งสมภาวะคับข้องใจนทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนถูกบีบให้เข้ามุมอับ เวลาและพลังงานส่วนใหญ่ต้องมาหมดไปกับการต้องทนมีชีวิตอยู่อย่างเกร็งๆตลอดเวลา ผลที่เกิดจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างเหล่านี้ก็อาจจะแสดงออกในรูปความรุนแรงที่เป็นรูปธรรมได้เช่นเดียวกัน

เมื่อผมลองเอาปัจจัยพวกนี้อย่างมารวมกันเข้า หนึ่งในสี่ของครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรม กับส่วนที่เหลือที่อาจจะเป็นพวกเก็บกดเพราะถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง นี่ผมพูดถึงเด็กจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ผู้ปกครองเป็นผู้มีการศึกษาเท่านั้นนะครับ ยังไม่นับพวกเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนด้วยซ้ำ มันก็คงจะไม่แปลกหรอกนะครับที่ระดับไอคิวเฉลี่ยของเด็กไทยจะค่อนข้างต่ำ และผมก็ไม่เชื่อว่าเป็นเพราะเด็กพวกนั้นขาดสารไอโอดีนอย่างที่รัฐบาลเคยพูดเอาไว้

ไม่ใช่ว่าผมจะยอมรับกับพฤติกรรมด้านลบของพวกเขานะครับ แต่มันก็พอจะเป็นที่เข้าใจกันได้ ที่เด็กพวกนั้นจะสะสมความโกรธและระบายออกมาด้วยการต่อต้านสังคม ถ้าต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้ความรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกจ้องจับผิดตลอดเวลา อย่าว่าแต่เด็กเลยครับ แม้แต่คนในวัยไกล้สี่สิบอย่างผมก็ยังรู้สึกโกรธ อย่างเช่นความรู้สึกแย่ๆที่สะสมมาเป็นปีๆ (กระทรวงวัฒนธรรมตั้งขึ้นในปี 2002 ตอนนี้มันก็ห้าปีมาได้แล้วใช่ไหมครับ) จากการที่ต้องทนดูหนังที่ถูกเซ็นเซอร์อย่างน่าเกลียด ทั้งๆที่ไม่เคยคิดว่าต้องมาเจอเรื่องอย่างนี้ในยุคที่เสรีภาพส่วนบุคคลควรจะเปิดกว้างมากขึ้น ความรู้สึกอึดอัดในเวลานี้มันก็เริ่มเปลี่ยนเป็นความสะอิดสะเอียนกับการที่ต้องเกิดมาเป็นคนไทย กับมีชีวิตอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบไทยๆ ที่ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมพยายามจะสืบทอดเอาไว้ รู้สึกคลื่นไส้ทุกครั้งกับการที่ต้องสูดอากาศหายใจร่วมกับพวกประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของรัฐเผด็จการ อย่างคุณ "นาย ก"

ถ้าคนอายุขนาดผมยังรู้สึกได้ถึงขนาดนี้ แล้วพวกเด็กๆที่ยังไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองพวกนั้นล่ะครับ ทุกๆวันพวกเขาจะรู้สึกยังไงกันบ้างที่ต้องได้เจอกับการจัดระเบียบทั้งหลายแหล่ ทั้งในบ้านและในโรงเรียน ผมไม่สงสัยหรอกครับว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ที่ผ่านช่วงวัยรุ่นมาได้ ถ้าไม่เติบโตมาเป็นพวกที่นิยมความรุนแรง (ทั้งที่เป็นรูปธรรมและเชิงโครงสร้าง) หรือ "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" ทั้งหลายแหล่ ก็คงจะกลายเป็นพวกที่เฉื่อยเนือย หมดแรงกระตุ้นต่อการมีชีวิต เพราะได้ถูกยัดเยียด "ความชราภาพ" ก่อนที่จะได้เข้าสู่วัยหนุ่มสาวเสียอีกครับ ตัวผมเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

***** แล้ว ตกลงสื่อ "ยั่วยุ" ให้ "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" เหล่านั้นมีพฤติกรรมอย่างที่เขามี หรือเขามีพฤติกรรมอย่างนั้นเพราะปัจจัยเฉพาะตัวของพวกเขาเอง แล้วพวกเขาก็ดึงเอาสิ่งที่พวกเขาได้พบเห็นจากสื่อมารองรับความไม่ปรกติที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ถ้าพวกเขาพบว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอมันสอดคล้องกับความต้องการอันไม่ปรกติของพวกเขา *****

ถ้าพวก "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" นั่นบรรลุนิติภาวะกันแล้ว มันก็คงจะไม่มีข้ออ้างให้กับพฤติกรรมของพวกเขากันอีกต่อไป ไม่ว่าภูมิหลังทางครอบครัวจะมีปัญหามากแค่ไหน อย่างน้อยพวกเขาก็ต้องโตพอที่ควรจะรู้ว่า ไม่ควรเอาปัญหาของเขาไปลงกับคนอื่นๆที่ไม่รู้ว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร ถ้าทำผิด ก็ต้องว่ากันไปตามความผิดที่พวกเขาต้องรับกันไปเต็มๆ ไม่ใช่จะโยนความรับผิดชอบไปให้กับสื่อ



แต่ถ้าพวกเขายังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็นับว่าควรจะอยู่ในความดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขา ความเสียหายที่พวกเขาก่อจะต้องเป็นความรับผิดชอบของคนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างปฏิเสธไม่ได้ครับ ใช่ไหมครับ เพราะมันเป็น "หน้าที่" ที่พวกผู้ปกครองเหล่านั้นที่จะต้องให้การดูแล และอบรม ใช่ไหมครับ?

ปัญหาที่เกิดจากพวกเด็กที่ยังไม่พร้อมก็คือพ่อแม่ไม่ให้การอบรมที่ดีพอ เนื่องจากตัวของพวกพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ยังไม่พร้อม เมื่อลองคิดต่อยอดไปอีกทีว่า ทำไมถึงคิดจะมีลูกกันทั้งๆที่ยังไม่พร้อม มันเป็นไปได้ไหมครับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเป็นเพราะวิธีคิดของคนไทยอันเกิดจากวัฒนธรรมของเราเอง ที่ทำให้การมีครอบครัวมันกลายเป็นหน้าที่ทางสังคมที่ทุกๆคนต้องทำ หรือต้องคิดล่วงหน้าเมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง

ทำไมประเทศนี้ถึงเต็มไปด้วยพวกเด็กที่ยังไม่พร้อม? อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ เป็นเพราะเด็กพวกนั้นเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขายังขาดความพร้อม ซึ่งไม่ได้หมายถึงความพร้อมทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความพร้อมทางด้านเวลาที่จะให้การอบรมดูแล รวมทั้งวุฒิภาวะของตัวพ่อแม่เอง ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมพวกพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้นถึงยังคิดจะมี่ลูกกันทั้งๆที่ยังไม่พร้อม หรือไม่เคยได้ตระหนักถึงความไม่พร้อมของตน? ถ้าไม่นับกรณีการมีบุตรนอกสมรส เหตุผลหลักของการดันทุรังสร้างครอบครัวก็น่าจะเป็นเหตุผลทางด้านวัฒนธรรม ที่ปลูกฝังแนวความคิดเรื่องการมีครอบครัวว่ามันถือเป็นหน้าที่ๆสำคัญทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ทุกๆคนต้องทำหรือต้องคิดถึงเรื่องนี้เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง จนทำให้ชีวิตในแต่ละช่วงวัยดูเป็นสูตรสำเร็จ รูปแบบการมีชีวิตมีอยู่เพียงมิติเดียวเท่านั้น การใช้ชีวิตตามลำพัง หรือการใช้ชีวิตคู่โดยไม่มีบุตรหรือสร้างข้อผูกมัดระหว่างกันเพื่อให้สังคมมาร่วมรับรู้ จะถือว่าเป็นวิถีชีวิตที่อยู่นอกเหนือสูตรสำเร็จ และเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่วัฒนธรรมอันดีงามของเราไม่ให้การยอมรับ

ซึ่งก็คงจะด้วยเหตุผลนี้แหละครับที่ทำให้พวกพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้นปั๊มลูกกันออกมาได้เรื่อยๆ เพียงเพื่อจะพบว่ามันเป็นภาระที่เรียกร้องจากพวกเขามากกว่าที่เคยคิด ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นควรจะฉุกคิดได้ว่า การมีลูกมันไม่ใช่ "หน้าที่" ที่ทุกคนต้องทำ แต่ถ้าจะทำแล้ว มันก็เป็น "หน้าที่" ของพวกเขาเช่นกันที่จะต้องตระหนักว่า สิ่งที่พวกเขาทำ เป็นเพียงแค่การตอบสนองความต้องการให้กับตัวเองเท่านั้น พวกเขาไม่ได้ทำเพื่อใครทั้งสิ้นนอกจากตัวเอง รวมทั้งไม่ได้ทำเพื่อเด็กที่พวกเขาดึงเข้ามาเวียนว่ายบนโลกใบนี้ด้วยซ้ำ เพราะเด็กคงจะตอบพวกเขาไม่ได้หรอกครับว่าอยากจะเกิดมาบนโลกใบนี้หรือเปล่า อยากจะมีชีวิตอยู่ในสังคมของพวกพ่อแม่ของพวกเขาหรือเปล่า อยากจะอยู่ในประเทศที่มีวัฒนธรรมที่นิยมการปิดกั้นแบบนี้หรือเปล่า เด็กไม่ได้เป็นฝ่ายเลือกเลย นอกจากต้องเกิดมารับรู้ความเป็นไปบนโลกเหมือนถูกมัดมือชก ในขณะสังคมไทยยังคงเชื่อกันอย่างผิดๆว่า การให้กำเนิดถือได้ว่าเป็นบุญคุณอันใหญ่หลวง เป็นบุญคุณที่พวกผู้ปกครองมักจะยกขึ้นมาลำเลิกเวลาที่จะเรียกร้องให้เด็กๆของพวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่บุญคุณ แต่เป็นเพียงแค่การสนองความอยากมีลูกให้กับตัวเอง

***** แต่เมื่อพวกเขาคิดจะมีขึ้นมาให้ได้ มันก็เป็น "หน้าที่" อีกเช่นกันที่พวกเขาต้องตระหนักว่า เมื่อมันเป็นแค่การสนองความอยากให้กับตัวเองเท่านั้น ความรับผิดชอบทุกอย่างในการอบรมดูแลให้ลูกๆของพวกเขามี "ความพร้อม" มันเป็นความรับผิดชอบของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาไม่มี "สิทธิ" ที่จะโยนภาระที่พวกเขาก่อขึ้นไปให้กับคนอื่นๆที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นไปกับความต้องการของพวกเขาได้เลย และต้องตระหนักด้วยว่า ไม่ใช่ว่าภาระของการเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองจะยิ่งใหญ่เหนือกว่าภาระของคนอื่นๆ การเป็นพ่อแม่ไม่ได้ให้ "อภิสิทธิ์" กับพวกเขาที่จะไปเที่ยวคาดคั้นว่ามันเป็น "หน้าที่" ของทุกๆคนที่ต้องคอยอำนวยความสะดวกให้กับพวกเขา เพราะมันก็อยู่นอกเหนือ "ขอบเขตทางด้านสิทธิ" ของพวกเขาที่จะเอาแต่เรียกร้องผ่านกลไกรัฐเพื่อบีบให้ทุกคนต้องหลีกทางให้ เมื่อพบว่าเสรีภาพของทุกๆคนมันเป็นอุปสรรคอยู่บนเส้นทางแห่งภาระกิจการเป็นพ่อแม่ของพวกเขา ดังนั้นทุกๆคนจะต้องมาคอยเสียสละเสรีภาพเพื่อแบ่งเบาภาระให้ เพราะพวกเขาก็ต้องตระหนักเช่นเดียวกันว่า คนอื่นๆก็มีภาระหน้าที่ของตัวเองเช่นเดียวกัน และทุกๆคนก็มีเวลาส่วนตัวในชีวิตอันจำกัดที่จะสนองความต้องการในการเก็บเกี่ยวประสพการณ์ให้กับชีวิต ซึ่งก็ตัองนับได้ว่าเป็นภาระกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของการมีชีวิต *****

เท่าที่ผมพอจะคิดออก มันมีสิ่งที่คนที่คิดจะเป็นพ่อแม่ทุกคนจะต้องทำ ถ้าคิดจะเป็นพ่อแม่ที่รับผิดชอบ ผู้ที่คิดจะเป็นพ่อแม่ต้องประเมินสถานภาพของตนเองไว้ล่วงหน้าว่ามีความพร้อมแต่ไหน ทั้งทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสแน่นแฟ้นขนาดไหน ถ้ามีอุปสรรคใดๆเกิดขึ้น จะยังคงรักษาสัมพันธภาพนั้นไว้ได้ดีแคไหน และยังต้องพิจารณาความมั่นคงทางการเงินด้วย ว่ามีเงินมากพอที่จะซื้อเวลามาดูแลลูกๆกันไหม สภาพแวดล้อมรอบๆตัวเป็นยังไงกันบ้าง เต็มไปด้วยมลภาวะหรือเปล่า ถ้ายังมีความจำเป็นจะต้องอยู่ในที่อย่างนั้นไปเรื่อยๆ ก็ต้องคิดว่ามันคุ้มกันไหมที่จะให้เด็กเกิดมามีชีวิตในที่อย่างนี้ ถ้ายังยืนยันจะมี ก็ต้องคิดล่วงหน้าว่าจะทำอย่างไรเมื่อเด็กเกิดมาแล้วจะได้รับการดูแลอย่างที่เด็กสมควรได้รับ จะอบรมอย่างไรเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าถึงช่วงวัยรุ่น เพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการได้ตามวัย และเพื่อให้เด็กมีโอกาสได้สนองตอบความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติในแต่ละช่วงวัยโดยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

ที่สำคัญที่สุดก็คือ พ่อแม่ต้องอบรมให้เด็กรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่เด็กจำเป็นจะต้องรู้เพื่อที่จะได้เป็น "ผู้ที่มีความพร้อม" สิ่งเหล่านี้จะสำเร็จลงได้ก็ต่อเมื่อผู้ปกครองทั้งหลายไม่นำเอาปัจจัยต่างๆที่เอื้อต่อความไม่พร้อมมาสร้างเงื่อนไขอันเป็นมลพิษทางจิดให้กับเด็ก ซึ่งก็คือ ไม่สร้างความกดดันที่ไม่จำเป็น ไม่นำเอาความรุนแรงทุกรูปแบบ (ทั้งทางกายภาพและเชิงโครงสร้าง) มาบังคับใช้กับเด็ก ไม่นำกรอบจารีตในยุคสมัยของพ่อแม่มาเป็นตัวตัดสินเด็ก พร้อมๆกับต้องตระหนักว่า เมื่อพ่อแม่ได้รับประสพการณ์ดีๆในยุคสมัยของตนเองไปแล้ว เด็กๆเหล่านั้นก็มียุคสมัยของพวกเขาเช่นเดียวกัน และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือ ทุกๆอย่างที่พวกเขาต้องทำในการเลี้ยงดูลูกๆ จะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและความสงบสุขของผู้อื่นด้วยครับ

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น พ่อแม่ผู้ปกครองต้องระลึกตลอดเวลาว่ามันเป็น "หน้าที่" ขั้นพื้นฐานที่สุดของการเป็นพ่อแม่ที่รับผิดชอบ ผมเข้าใจครับว่าการเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็อย่างที่บอกละครับว่าการมีลูกมันไม่ใช่ความจำเป็น และไม่ใช่หน้าที่ๆทุกคนต้องมี ที่พวกเขาทำกันอยู่ก็เป็นแค่เพียงแค่การสนองความอยากให้กับตัวเองกันทั้งนั้น แต่เมื่อดึงเด็กลงมาเกิดแล้ว นอกจากจะต้องรับผิดชอบในฐานะพ่อแม่แล้ว ยังต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่นในสังคม ด้วยการให้ความเคารพสิทธิคนอื่นๆที่อาจจะต้องได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงดูลูกๆของพวกเขาด้วยเช่นกันครับ สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักเสมอก็คือ การเป็นพ่อแม่ ไม่ได้หมายถึงการเป็น "อภิสิทธิ์ชน" ความเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากพฤติกรรมด้านลบของลูกๆของพวกเขา มันก็คือตัวสะท้อนถึงความบกพร่องในการอบรมเลี้ยงดูของพวกเขาเองเท่านั้น

เมื่อผลแห่งความบกพร่องปรากฏให้เห็นแล้ว อาจจะแสดงออกมาในรูปพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ "หน้าที่" อันดับแรกผู้ปกครองต้องทำก็คือสำรวจความบกพร่องของตน พฤติกรรมด้านลบของเด็กอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่าง การสร้างความกดดันด้วยการปิดกั้น การปล่อยปละละเลย หรือ การตามใจจนเคยตัว ระดับความพอดีที่อยู่ระหว่าง การเคี่ยวเข็นกับการตามใจ หรือระหว่าง การเอาใจใส่กับการให้อิสระ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องศึกษาให้ถ้วนถี่ก่อนที่จะมีลูกกันด้วยซ้ำ มันเป็น "หน้าที่" ครับ แต่เดาว่าผู้ปกครองชาวไทยมักไม่ค่อยทำกัน เพราะพวกเขามักจะสับสนว่าเรื่องใดที่ควรจะเคี่ยวเข็น และเรื่องใดที่ควรจะตามใจ การอบรมดูแลก็เลยขาดความสมดุลย์ เด็กไม่ควรจะถูกเคี่ยวเข็นในเรื่องความสำเร็จ แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะทำ เพราะความสำเร็จของเด็กมักจะเป็นหน้าเป็นตาให้กับพ่อแม่ไปด้วย และพ่อแม่ไม่ควรตามใจในเรื่องที่เด็กอาจจะสร้างความเดือดร้อนหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่พ่อแม่ชาวไทยส่วนใหญ่ก็มักจะละเลยในเรื่องนี้ ที่เจอบ่อยๆก็คือ เวลาที่เด็กส่งเสียงดังในที่ๆต้องการความสงบ พ่อแม่ก็มักจะไม่ค่อยห้าม

บางครั้งการเป็นพ่อแม่ก็ทำให้คนเห็นแก่ตัวกันได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยนะครับ จำได้ว่า ผมได้ดูรายการไอทีวีในช่วงดึก จำชื่อรายการไม่ได้แล้วแต่เป็นสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับพวกแกงค์มอเตอร์ไซด์ซิ่ง มีการสัมภาษณ์สมาชิกคนหนึ่งในแก๊งค์ว่า ทำไมพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กเหล่านั้นถึงได้ปล่อยให้ลูกๆของพวกเขาทำอย่างนี้ ทั้งๆที่มันเสี่ยงต่อชีวิตและความปลอดภัยของผู้อื่น คำตอบที่ชวนให้ขนลุกก็คือ พ่อแม่บางคนนอกจากจะไม่ห้าม ยังสนับสนุน เพราะคิดว่า ยังไงถ้าห้ามกันไม่อยู่แล้ว ปล่อยให้ไปซิ่งมอเตอร์ไซด์มันก็ยังดีกว่าให้เด็กไปติดยา ถ้าลูกๆของพวกเขาอยู่ได้จนถึงอายุสามสิบ ก็เท่ากับว่าเข้าสู่ระยะปลอดภัยแล้ว ก็เลยปล่อยให้ทำกันโดยไม่ต้องไปสนใจว่า ลูกๆของพวกเขาได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นกันไปเท่าไร มีคนที่ต้องประสพกับอันตรายบนท้องถนนเพราะพฤติกรรมเหลือขอของเด็กพวกนั้นกันไปกันกี่คน ด้วยรถที่ซื้อมาจากเงินของพวกเขา วิ่งด้วยค่าน้ำมันที่ออกมาจากกระเป๋าสตางค์ของพวกเขา ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น มันก็น่าจะเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดด้วย พวกพ่อแม่เหล่านั้นก็ควรจะมีส่วนรับผิดชอบไม่น้อยไปกว่าเด็กพวกนั้น แต่การเป็นพ่อเป็นแม่ บางทีก็ไม่ต้องคำนึงถึง "สิทธิ" ของผู้อื่นที่ต้องใช้ถนนร่วมลูกๆของพวกเขาเลยก็ได้ หรือถ้ารถโดนตำรวจยึด บางทีผู้ปกครองเหล่านั้นก็ปล่อยให้รถถูกยึดไปเลย ไม่ต้องมารับรถกลับ ถ้าเด็กๆต้องการจะซิ่งต่อ ก็คงต้องไปออกมอเตอร์ไซด์คันใหม่มาให้

นี่คือตัวอย่างของพฤติกรรมด้านลบจากการตามใจ ยังมีอีกเป็นล้านที่เกิดขึ้นจากการเคี่ยวเข็นที่เกินพอดี พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นอาการของโรคร้ายที่สะสมมาเป็นเวลานาน สิ่งสำคัญที่ต้องแยกแยะก็คือ พฤติกรรมบางอย่าง แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนับสนุน แต่ถ้ายังไม่สร้างความเดือดร้อน เด็กเหล่านั้นก็ยังไม่ควรถูกปฏิบัติเหมือนกับเป็นอาชญากร แต่ถ้าพวกเขาล้ำเส้น สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นขึ้นมา ผมบอกได้เลยครับว่า สิ่งสุดท้ายที่ผู้ปกครองเหล่านั้นจะทำก็คือ "หน้าที่" ของพวกเขาที่จะต้องพิจารณาตัวเอง และก็ถือเป็นโชคดีของพวกผู้ปกครองเหล่านั้นที่มักจะมีคนคอยหาข้ออ้างให้ มีพวกนักวิชาการกำมะลอ และพวกศูนย์เฝ้าระวัง รวมทั้งคนอย่างคุณ "นาย ก" ที่คอยแก้ตัวให้กับพวกเขาว่า มันไม่ใช่ความผิดของพวกเขา พวกเขาสามารถเลี่ยง "หน้าที่" ที่ต้องสำรวจตัวเองได้ ทั้งหมดล้วนเป็นความผิดของสื่อ และเสรีภาพอันเสื่อมทรามที่เรารับมาจากตะวันตก สิ่งที่พวกเขาควรทำก็คือ สนับสนุนหน่วยงานรัฐด้วยการเข้าร่วมเครือข่ายเฝ้าระวัง หรือสนับสนุนพวกนักการเมืองที่มีนโยบายจัดระเบียบทั้งหลาย หรือถ้าจะให้ดี ก็ช่วยกันออกมากดดันรัฐบาลให้ยกระดับหน่วยงานด้านการเฝ้าระวังให้เป็นกรมขึ้นมา พวกผู้ปกครองเหล่านี้จะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับความผิดพลาดของตัวเอง ไม่ต้องรู้สึกผิดกับวิธีที่พวกเขาปฏิบัติกับลูกๆ เพราะตอนนี้พวกเขามีแพะ อย่างเช่น สื่อต่างๆให้เล่นงาน และมีศูนย์ระวังทางวัฒนธรรม (ที่ทักษิณตั้งมากับมือเพื่อจะโหนกระแสคนพวกนี้โดยเฉพาะ) คอยทำงานให้

ที่น่าเศร้าก็คือ ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมาก เชื่อไปจริงๆว่า ความเลวร้ายทั้งหมดนี้เกิดจากอิทธิพลของสื่อ ดูคุณ "นาย ก" เป็นตัวอย่าง มันน่าแปลกนะครับที่คุณ "นาย ก" ไม่คิดจะเรียกร้อง "หน้าที่" เอาจากพ่อแม่ผู้ปกครองพวกนี้เลย เขากลับบอกว่าสื่อผิดที่นำเสนอสิ่งยั่วยุ สร้างกระแส ผู้ชมอย่างผมก็ผิดที่ไปสนับสนุนสื่อเหล่านั้น ทุกคนผิดหมดเลย ยกเว้นแต่ตัวพ่อแม่ผู้ปกครองที่บกพร่องใน "หน้าที่" ของตัวเอง โดยที่ลืมกันไปว่า เด็กจะมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็งพอที่จะไม่หวั่นไหวกับกระแสหรือสิ่งยั่วยุกันได้แค่ไหน มันก็ขึ้นอยู่กับประสพการณ์และความสัมพันธ์ในครอบครัวเป้นอันดับแรก

ถ้าพิจารณาถึงหน้าที่ๆพวกพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้นต้องปฏิบัติ ทั้งหน้าที่ในการให้การอบรมดูแลลูกๆอย่างเหมาะสม กับหน้าที่ในการให้ความเคารพสิทธิของผู้อื่น พวกเขาสอบตกกันทั้งสองข้อเลยครับ แต่ก็น่าแปลกที่พวกนักการเมืองกลับปฏิบัติกับคนเหล่านี้เหมือนกับเป็นพลเมืองขั้นสูงสุด สื่อกระแสหลักก็มักจะให้ความสนใจและเปิดพื้นที่ให้คนพวกนี้แสดงความคับแคบออกมาอยู่เสมอ ปล่อยให้คนพวกนี้ตั้งข้อเรียกร้องเอาได้กับทุกๆคน แทนที่จะให้รับผิดชอบกับความผิดที่ทำ ถ้าพวกเขาไม่มีปัญญาอบรมลูกๆให้เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์กันอย่างเป็นเวล่ำเวลา ก็เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาจัดระเบียบร้านเน็ต ทีนี้ คนที่มีธุระจะต้องส่งอีเมล์ ถ้าคอมพ์เกิดแฮงค์ขึ้นมาหลังสี่ทุ่ม จากที่เคยไปส่งอีเมล์ได้ที่ร้านเน็ต ก็กลายเป็นว่าต้องรอจนถึงเช้าวันต่อไปเพราะร้านเน็ตในต่างจังหวัดเดี๋ยวนี้ปิดหลังสี่ทุ่ม ถ้าพวกพ่อแม่พวกนั้นไม่อยากให้ลูกเข้าเว็บลามก แทนที่จะซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งเพื่อบล็อคเว็บในเครื่องคอมพ์ของตัวเอง กลับเรียกร้องให้กระทรวงไอซีทีเข้ามาบล็อคเว็บ โดยลืมไปว่า ผู้ที่บรรลุนิติภาวะคนอื่นๆก็มีสิทธิจะเข้าเว็บโป๊หรือเว็บอะไรก็ได้ที่เขาอยากเข้า บนความเสี่ยงของตัวเองที่จะต้องเจอไวรัส เวลาที่พวกผู้ปกครองเหล่านี้ไม่สามารถอบรมลูกให้อย่างรู้จักแบ่งเวลา ก็มาเรียกร้องให้รัฐจัดระเบียบสังคม โดยไม่ต้องไปสนใจว่า ผู้บรรลุนิติภาวะที่ทำงานกะกลางคืนจะมีเวลานั่งดื่มได้แค่ชั่วโมงเดียว และคนหลายคนต้องตกงาน พวกกิจการเล็กๆอย่างร้านรวงที่ขายอาหารช่วงดึก ไปจนถึงพวกขับแท็กซี่ต้องสูญเสียรายได้ ถ้าพวกเขากลัวว่าลูกๆจะได้ดูหนังโป๊แล้วหมกมุ่นในเรื่องเพศ ก็หันมาร้องเรียนให้มีการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์กันอย่างเข้มงวด แทนที่จะตระหนักว่า ถ้าลูกเขาหมกมุ่นกับมันมากเกินไป ก็คงจะเป็นเพราะการปิดกั้นด้วยกรอบความคิดทางศีลธรรมอันคับแคบของพวกเขาเองนั่นแหละ ที่ทำให้ลูกๆกลายเป็นพวกเก็บกดทางเพศ หรือบางทีพวกเขาคงจะลืมไปว่า ตัวพวกเขาเองเกิดมาบนโลกกันได้ยังไง

คงเป็นเพราะการเป็นผู้ปกครองให้กับเยาวชนของชาติในประเทศนี้มันง่ายและมีอภิสิทธิอันอย่างล้นเหลืออย่างนี้นี่เอง "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" จึงสามารถพบเห็นได้ทั่วไปจนเป็นเรื่องธรรมดา ก็เพราะการตัดสินใจจะสร้างครอบครัวกันโดยไม่ยั้งคิดมันทำกันได้เหมือนเป็นเรื่องธรรมดานี่แหละครับ ถึงแม้ว่าจะปิดกั้นสื่อทุกชนิด ประเทศนี้ก็คงจะไม่มีวันขาดแคลน "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" หรอกครับ ตราบใดที่พวกพ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้นยังไม่หยุด "ปัมป์" ปัญหาออกมาบนโลกนี้กันไม่หยุด และไม่เคยตระหนักว่าตนเองนั่นแหละเป็นพวกที่คอยสร้างปัญหาให้ทุกๆคนคอยแบกรับ และยังไม่มีใครเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ "แก้ปัญหาให้ตรงจุด" ด้วยการ "กำหนดบทลงโทษทางอาญา" กับพ่อแม่ของเด็ก ถ้ามีอาชญากรรมใดๆเกิดขึ้นโดยที่เด็กเป็นผู้ก่อคดี เพราะพวกผู้ปกครองเหล่านั้นควรจะมีความผิดฐาน "ละเลยหน้าที่" ในการให้การอบรมที่เพียงพอ และบทลงโทษนี้จะเป็นการดึงให้พวกผู้ปกครองที่ไม่รู้จักหน้าที่เหล่านั้นให้หันมาทำหน้าที่ของตัวเองกันให้มากขึ้น หรืออย่างน้อย มันจะช่วยให้คนที่คิดจะเป็นพ่อแม่ต้องคิดให้รอบคอบเสียก่อน ไม่ใช่ว่ามีกันไปเรื่อย โดยไม่ยั้งคิด พอมีปัญหาขึ้นมา ก็ออกมาโวยวาย เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันเสียสละเพื่อส่วนรวม

ด้วยทัศนคติที่ให้ความสำคัญกับคำว่าเพื่อส่วนรวมนี่แหละครับ พวกนักจัดระเบียบทั้งหลายมีอำนาจการควบคุมเพิ่มมากขึ้นทุกที สามารถเข้ามาก้าวก่ายกิจกรรมได้แม้แต่ในพื้นที่ๆเป็นส่วนตัวที่สุด ความเป็นระเบียบในสังคมที่ต้องแลกมาด้วยเสรีภาพแห่งการเฉลิมฉลองการมีชีวิต หาความรื่นรมย์กับชิวิต (โดยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น) ถ้าแม้แต่เสรีภาพในการมีความสุขมันยังหากันไม่ได้ เราก็คงจะไม่ต้องเสียเวลาไปพูดเรื่องเสรีภาพทางการเมืองทั้งหลายแหล่นั่นหรอกครับ เพราะเสรีภาพ แม้ว่าเราจะจัดมันให้อยู่ในเรื่องใด มันก็ยังคงเป็นเสรีภาพ ในสังคมที่ศิวิไลซ์เขาไม่แยกกันหรอกครับระหว่างเสรีภาพทางการเมืองกับเสรีภาพส่วนบุคคล เพราะมันก็คือเสรีภาพอันเดียวกัน แต่พิจารณากันคนละแง่มุมเท่านั้น และเรื่องทุกเรื่องไม่ว่ามันจะเล็กหรือเป็นส่วนตัวขนาดไหนก็ตาม มันสามารถจะเป็นประเด็นทางการเมืองได้ทั้งนั้น ถ้าปล่อยให้ฝ่ายที่มีอำนาจเข้ามาก้าวก่ายกับเสรีภาพในเรื่องส่วนตัวกันได้แล้ว ก็เท่ากับว่าเราปล่อยให้พวกเขารุกคืบเข้ามาได้เรื่อยๆ ตราบใดที่เรายอมตามข้อเรียกร้องด้วย "ความเชื่อ" ที่ว่า ควรจะเสียสละด้วยการหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่จำเป็นเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม หรือ "ถ้าไม่ได้ดูหนังมันก็คงไม่ถึงกับตาย" แต่ก็ต้องไม่ลืมนะครับว่า ถ้าคิดได้เช่นนั้น บางที "ความสุขในชีวิต" มันก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นได้เช่นกันครับ เราสามารถจะอยู่ไปเรื่อยๆ อยู่ไปวันๆโดยที่ไม่มีความสุขเลย มันก็คงไม่ถึงกับตายหรอกครับ แค่อยู่เพื่อรอวันตายแค่นั้นเอง และความสุขของทุกๆคนก็แตกต่างกันไป ไม่ควรจะปล่อยให้คนอย่างคุณ "นาย ก" มาเที่ยวบอกคนนู้นคนนี้ว่า ความสุขที่ถูกสุขอนามัย มันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าทุกคนควรจะเป็นเหมือนเขา หรือคิดได้ไม่เกินไปจากที่เขาคิด ใช่ไหมครับ? เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นละก็ ใครก็ตามที่มีระดับไอคิวเกินห้าสิบก็ควรจะขอวีซ่าเพื่อให้ได้อยู่ในประเทศนี้กันหมดแน่



["ยังไม่ได้อ่านตัวเต็มของพ.ร.บ. แต่ถ้าทำให้หนังแย่ ๆ ขาดความรับผิดชอบต่อ สังคมไม่สามารถออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะได้ก็ขอสนับสนุนครับ หนังแย่ ๆ ไม่รับผิดชอบต่อสังคมก็คือหนังที่ตอนก่อนจะสร้างใช้วิธีนึกเอาว่าดี ระหว่างสร้างรู้ว่าขายไม่ออกแน่ ๆ เพราะทำไม่เป็นสื่อไม่เป็น บทแย่จริง ๆ คิด ไม่ออกเลยใช้วิธีมักง่ายเช่น แทรกฉากผู้หญิงแก้ผ้า แทรกคำหยาบ แทรก ฉากรุนแรง เพื่อให้หนังขายได้ สังเกตุได้จากหนังหลายเรื่องถ้าไม่มีฉากพวกนี้เรื่องจะสื่อได้ตรงและชัดกว่า เอา เวลาที่จะเสียไปกับฉากพวกนี้ไปเน้นด้านอื่นจะทำให้หนังดีกว่าเช่นเน้นการถ่ายทอด อารมณ์บวกกับการลำดับเรื่องจะดีกว่า" ]

หนังไม่ได้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมนะครับ เพราะทุกๆคนต่างก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองกันทั้งนั้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องเลวร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมก็คือตัวผู้ก่อเหตุเองนั่นแหละครับ ไม่ใช่จะมามั่วโยนความผิดให้กับหนังที่ผมดู

ผมมองไม่เห็นว่า ถ้าผู้ชมต้องการจะชมภาพยนตร์เพื่อรับความบันเทิงที่มาพร้อมกับความอนาจารล้วนๆ มันผิดที่ตรงไหน พวกผู้ชมไม่ได้ดูหนังกันเพื่อรับการสั่งสอนเรื่องศีลธรรมเพียงอย่างเดียวนะครับ ถ้าต้องการจะเรียนศีลธรรมก็ต้องเข้าวัดสิครับถึงจะถูก และการปลูกฝังให้เชื่อเรื่องศีลธรรม โดยไม่มีการตั้งคำถามถึงนัยยะแห่งอำนาจที่แฝงอยู่ในคำสอนเหล่านั้น ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะมันก็ไม่ต่างอะไรกับความเชื่อที่ปราศจากความคิด มันทำให้เราสามารถเที่ยวไปฟันธงตัดสินใครต่อใครกันได้ โดยไม่ต้องไปมองถึงเงื่อนไขที่ทำให้แต่ละคนต้องมาเป็นอย่างที่พวกเขาเป็น

หนังก็เช่นเดียวกับผลงานด้านศิลปะและการบันเทิงอื่นๆนะครับ หน้าที่มันก็คือการนำเสนอมุมมองและจินตนาการของผู้สร้าง ซึ่งมันกว้างไกลเกินกว่าจะจับมายัดใส่ลงในกรอบอันคับแคบของคุณ "นาย ก" ไว้ได้หมดนะครับ มุมมองและจินตนาการสามารถนำเสนอออกมาได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งข้อดีของความหลากหลายก็คือ มันสามารถสนองตอบความหลากหลายของผู้รับได้เช่นเดียวกัน ผู้รับบางคนอาจจะต้องการชื่นชมกับสุนทรียะภาพทางศิลปะ บางคนอาจจะต้องการสิ่งที่กระตุ้นจินตนาการ บางคนอาจจะต้องการปลดปล่อยอารมณ์ หรือ บางคนก็อาจจะต้องการแค่ความบันเทิงเพื่อหลบหนีความเป็นจริง

จะเห็นได้ว่าผลงานที่นำเสนอในรูปแบบและเนื้อหาที่หลากหลายนั้น ล้วนเป็นไปเพื่อตอบสนองความหลากหลายของผู้รับ ซึ่งก็เป็นตัวสะท้อนถึงความหลากหลายทางความต้องการและทางความคิดของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี ถ้าต้องการให้สื่อนำเสนอผลงานตามข้อกำหนดอันคับแคบของคุณ "นาย ก" มันมีอยู่เพียงทางเดียวที่จะทำได้ก็คือ ต้องลดทอนความหลากหลายทางความคิดของผู้คนในสังคมลงไป ให้ทุกๆคนคิดได้แค่ในระดับเดียวกับคุณ "นาย ก" นั่นแหละครับ ไม่ควรจะคิดได้เกินไปจากนั้น

ถ้าทำได้ ผมว่ามันอันตรายมากนะครับ ความคิดและความต้องการที่หลากหลายนี่ไม่ใช่หรือครับที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาความลุ่มลึกทางความคิด และช่วยให้สังคมได้มีวิวัฒนาการไปสู่ระดับที่ซับซ้อนขึ้น ถ้าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือ การเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆ มันเริ่มขึ้นมาจากวาบความคิดของใครบางคนแล้วละก็ จุดเริ่มต้นของความคิดและจินตนาการก็ต้องเป็นการรับรู้ใช่ไหมครับ เพราะแต่ละครั้งที่เราคิด เราจะเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆที่เรารับรู้มาจากอดีต ถ้าการรับรู้ถูกตัดตอนลงด้วยการเซ็นเซอร์ เท่ากับว่าเราตัดตอนวิวิฒนาการทางสังคมไปด้วยพร้อมๆกันเลยนะครับ

[หนังที่ได้รางวัลไม่ได้แปลว่าดีทุกเรื่อง ผมสงสัยว่าได้รางวัลอะไร ส่งเข้าประกวดยังไง มีหนังเรื่องอะไรบ้างที่เข้าประกวด มีวิธีตัดสินยังไง หลักเกณฑ์ยังไง และถ้าการ ตัดสินนี้ไม่ได้มีการวัดผลกระทบทางสังคม ด้วยผมว่าแย่น่ะ รางวัลอย่างนี้ ไม่น่ายินดี ออกจะน่ารังเกียจด้วยซ้ำ ]

ที่เขาเขียนนี่มันทำให้ผมนึกไปถึงรายชื่อหนังสือต้องห้ามของทางวาติกัน องค์กรศาสนาที่เคยก่อสงคราม ล่าแม่มด สั่งประหารกาลิเลโอ แต่ชอบทำตัวเป็นผู้พิทักษ์ศีลธรรมด้วยการทำรายชื่องานวรรณกรรมที่พวกเขาเห็นว่ามันส่ง "ผลกระทบ" ทางด้านศีลธรรมต่อสังคม แล้วห้ามไม่ให้ชาวแคธอลิคอ่านหนังสือเหล่านั้น แต่เมือดูในรายชื่อ ก็จะพบชื่องานวรรณกรรมระดับคลาสสิคมากมาย อย่าง งานของ John Milton Leo Tolstoy Gustave Flaubert Emile Zola Voltaire ฯลฯ

นี่คือผลของการปล่อยให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องศิลปะทางด้านวรรณกรรม มาทำการตัดสินคุณค่าของงานวรรณกรรม ด้วยข้ออ้างทางด้านผลกระทบต่อสังคม การโดดลงไปตัดสินสิ่งต่างๆ โดยที่ไม่มีความรู้ในสิ่งที่กำลังตัดสินนั่นเลย ผมว่าพฤติกรรมอย่างนี้ควรจะต้องเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจมากกว่าผลงานที่นำเสนอเสียอีก

ถ้าจะนำเอาข้ออ้างทางด้าน "ผลกระทบต่อสังคม" เข้ามาพิจารณาว่าอะไรควรหรือไม่ควรจะได้รับการเผยแพร่แล้วละก็ ด้วยข้ออ้างนี้มันเปิดโอกาสให้นักผูกขาดด้านศีลธรรมเข้าไปแทรกแซงกระบวนการสร้างสรรค์ในเรื่องต่างๆได้อย่างครอบจักรวาลเลยครับ ไม่แต่เฉพาะการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์เท่านั้น แต่รวมไปถึงงานด้านศิลปะ และผลงานด้านวิชาการแทบทุกแขนงเลยครับ

มันจะเป็นยังไง ถ้าในยุคที่ ชาร์ล ดาร์วิน นำเสนอทฤษฎีการวิวัฒนาการและการคัดสรรทางธรรมชาติ มีพวกผู้ผูกขาดด้านศีลธรรมเข้ามาบอกให้เขาเลิกเผยแพร่ เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อทางศาสนา และทำลายภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนา (ซึ่งถือได้ว่าเป็นเสาหลักของชุมชนในยุคนั้น เหมือนกับที่คุณ "นาย ก" กล่าวว่า วัดคือเสาหลักของชุมชนในชนบทของไทยในยุคนี้) ถ้าข้ออ้างนี้มันใช้ได้ผล บางทีคนในยุโรปอาจจะยังเชื่อกันอยู่ว่าพระเจ้าสร้างโลกและสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ต่างๆขึ้นมาในเจ็ดวัน หรือถ้าจะบอกว่า ไอน์สไตน์ไม่ควรนำเสนอทฤษฎีสัมพันธภาพ เพราะจะมีการนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ ถ้าจะปิดกั้นทฤษฏีนี้ ก็คงต้องย้อนไปปิดกั้นทฤษฎีอื่นๆที่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาทฤษฎีนี้ อย่าง ทฤษฎีฟิสิกส์ของนิวตัน หรือ ทฤษฎีแคลคูลัสของไลบ์นิช มันก็โอเคละครับว่ามีการนำทฤษฎีสัมพันธภาพไปใช้ผลิตอะตอมมิคบอมพ์จริง แต่เดาว่าคุณ "นาย ก" คงจะแยกแยะไม่ออกระหว่าง ผู้คิดค้นทฤษฎีเพื่อค้นหาความจริง ผู้ที่นำความจริงไปดัดแปลงเพื่อประยุกต์ใช้ กับผู้ที่ใช้ประดิษฐ์กรรม เขาคงจะแยกไม่ออกระหว่างผู้ที่คิดค้นทฤษฎี กับ ผู้ออกคำสั่งทิ้งระเบิด เรียกได้ว่าเป็นการระบุต้นตอของปัญหาที่ผิดตำแหน่งไปไกลทีเดียวครับ

หนัง ก็เช่นเดียวกับศิลปะแขนงอื่นๆ มันอาจจะไม่ได้ช่วยให้เราได้เข้าใกล้ความจริงเหมือนวิทยาศาสตร์ แต่ก็อย่างที่ได้เรียนไปแล้วว่า มันสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหลายๆคนได้ และแรงบันดาลใจก็สามารถส่งผ่านข้ามแขนงวิชาได้เช่นกันครับ

****** ทางดีที่ พวกผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศน่าจะเชิญคุณ "นาย ก" ไปเป็นคณะกรรมการ หรือน่าจะมาเข้ารับฟังคำแนะนำเรื่องผลกระทบทางสังคมของเขาดู เพราะดูเขาจะมั่นใจในความไม่รู้ของเขาเสียเหลือเกิน ******

No comments: