แน่นอนครับว่า การตัดสินคุณค่าของงานภาพยนตร์ตามเทศกาลต่างๆ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศิลปะภาพยนตร์ จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่คอนเซพท์ของแต่ละงาน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ผลกระทบทางสังคมอันเกิดจากคุณค่าของตัวงาน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือเนื้อหาที่นำเสนอนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลงานหรือตัวผู้สร้างเพียงฝ่ายเดียว แต่มันต้องรวมถึงการตีความของผู้รับด้วย เพราะผู้รับแต่ละคนก็จะมีอิสระในการตีความสารที่ตัวงานนำเสนอได้แตกต่างกันไป เมื่อผู้รับตีความผลงานได้หลากหลายรูปแบบ ผลกระทบอันเกิดจากการตีความก็เกิดขึ้นได้อย่างหลากหลายเช่นเดียวกัน ถ้ามีผลกระทบด้านลบที่เกิดจากการตีความผิดเจตนารมย์ของผู้สร้างเกิดขึ้น นั่นย่อมไม่ได้หมายความว่าตัวผู้สร้างต้องมารับบาปของผู้กระทำไปด้วยใช่ไหมครับ แต่ถ้าผลกระทบด้านลบเกิดขึ้นจากเจตนาผู้ของสร้างด้วยแล้ว ก็กล่าวได้เช่นกันใช่ไหมครับว่าผลงานนั้นทำหน้าที่ของมันได้โดยสมบูรณ์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าตัวผลงานต้องมารับบาปแทนตัวผู้สร้างใช่ไหมครับ เหมือนอย่างที่หลายคนกล่าวโทษงานดนตรีของ ว๊ากเนอร์ ว่ามีส่วนยั่วยุให้ชาวเยอรมันรู้สึกถึงความสูงส่งทางด้านเชื้อชาติ ในขณะที่ตัวผู้สร้างเองก็เป็นผลผลิตของสภาพสังคมในยุคของเขา
และการสร้างผลงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง มันก็เป็นผลของการได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลายแหล่ง ถ้าจะนำผลกระทบทางสังคมไปตัดสินผลงานชิ้นนั้น คือถ้าจะโทษ ก็คงจะต้องโทษผลงานอื่นๆที่สร้างขึ้นมาก่อนหน้านั้น ที่ผู้สร้างงานชิ้นนั้นใช้เป็นแรงบันดาลใจด้วยใช่ไหมครับ ผมอาจจะคิดว่าพืชเอ็มโอมันทำลายระบบนิเวศน์ได้ถึงในระดับพันธุกรรม แต่ผมคงไม่คิดว่าทฤษฎีวิวัฒนาการและการคัดสรรทางธรรมชาติของดาร์วินเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจหรอกนะครับ เพราะตัวแนวคิดเองหรือผู้ริเริ่มแนวคิด กับ ผู้ที่นำแนวคิดไปตีความหรือนำแนวคิดนั้นไปใช้ ไม่ใช่คนๆเดียวกัน ยิ่งในงานศิลปะ ผู้รับมีอิสระภาพในการตีความได้เต็มที่ด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรจะไปตัดสินคุณค่าโดยการวัดจากความเสี่ยงในการยั่วยุให้เกิดผลกระทบด้านลบ หรือบางที ความคลุมเครือในตัวผลงาน ที่เปิดโอกาสให้ผู้รับตีความได้หลายหลายแนวทาง นั่นก็เรียกได้ว่าเป็นคุณค่าที่พิเศษอย่างหนึ่งของผลงาน ในการกระตุ้นความคิดของผู้รับใช่ไหมครับ
และการจะมาบอกว่าผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นนั้น เป็นด้านบวกหรือด้านลบ มันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนเช่นกันครับ ถ้าผู้หญิงเริ่มจะออกมาเรียกร้องเสรีภาพที่ควรจะเป็นของพวกเขามาโดยตลอด เพราะได้รับอิทธิพลจากการอ่านงานวรรณกรรมบางชิ้น สำหรับผู้ที่เชื่อแนวคิดเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่อาจจะมองว่าเป็นผลกระทบในด้านลบ แต่คนอื่นๆอาจจะไม่
การโดดลงไปตัดคุณค่าของสิ่งใดก็ตาม ผมว่ามันจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ตัดสินควรจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง ผมคงไม่สามารถไปตัดสินคุณค่าของสมการทางคณิตศาสตร์ว่ามันมีประโยชน์มากน้อยเพียงใดได้หรอกครับ เพียงเพราะว่าผมคิดว่าสมการพวกนั้นมันดูไม่รู้เรื่อง ในแง่ของหนัง ซึ่งก็เช่นเดียวกับศิลปะแขนงอื่นๆ มันอาจจะ ไม่ได้ช่วยให้เราได้ค้นพบความจริงเหมือนกับผลงานทางวิทยาศาสตร์ แต่เนื้อหาและรูปแบบที่มันนำเสนอ ก็ทำให้ผู้ชมได้รับแรงบันดาลใจได้ในหลายแง่มุมไม่ใช่เหรอครับ
ในฐานะผู้ชมภาพยนตร์คนหนึ่งที่ไม่มีความรู้เรื่องกระบวนการสร้างงาน ผมคงตัดสินหนังที่ผมดูได้เพียงอย่างเดียวว่าผมชอบมันหรือเปล่า มันกระตุ้นจินตนาการ ทำให้ผมได้ฉุกคิด หรือให้ความบันเทิงผมได้มากน้อยแค่ไหน แต่การตัดสินว่าดีหรือไม่ คุณค่าบางอย่างต้องอาศัยความลุ่มลึกทางอารมณ์ที่สั่งสมมายาวนาน เวลาที่ได้ชมบางเรื่อง ผมอาจจะตื้นเขินเกินกว่าที่จะได้เห็นความงามเหล่านั้น แต่ผมก็ยังสามารถจะค้นพบมันได้ในเวลาต่อมา ถ้ามีประสพการณ์ทางอารมณ์มากพอ ถ้าจะให้เปรียบเทียบ มันก็เหมือนกับดนตรีของบีโธเฟ่น ที่ความงาม ความสมมาตร และความซับซ้อนทางอารมณ์ ที่ซ่อนอยู่ในดนตรีจะค่อยๆปรากฏชัดเจนขึ้น พร้อมๆไปกับวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้ฟังที่ซับซ้อนขึ้น
ผมว่า คุณ "นาย ก" เขาคงไม่ทราบว่า ครั้งหนึ่งดนตรีของท่านก็เคยแปดเปื้อนกับข้อหาที่ว่า มีความอนาจารแฝงอยู่ในเสียงดนตรี แม้แต่ซิมโฟนีหมายเลขเก้า ก็เคยถูกกล่าวหาว่าแสดงนัยยะแห่งการข่มขืน แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นเจตนาของผู้แต่ง ก็อาจจะนับได้ว่า ผลงานชั้นเลิศอาจจะมีที่มาของแรงบันดาลใจได้หลากหลาย แม้แต่สิ่งอนาจารก็สามารถส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานที่ปฏิวัติวงการดนตรีในยุโรป จากยุคคลาสสิคไปสู่ยุคโรแมนติคได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีสิทธิที่จะสนองความอยากรู้อยากเห็นได้อย่างอิสระเท่านั้น
ให้ผมลองคิดดูเล่นๆว่า มันจะเป็นยังไง ถ้าผลงานของเบโธเฟ่นต้องมาถูกตัดสินจากคนประเภทเดียวกับคุณ "นาย ก" ที่อาจจะกล่าวหาผลงานของท่านว่าใช้วิธีมักง่ายในการประพันธ์ดนตรี ด้วยการสอดแทรกความอนาจารเข้าไปในบทเพลง ถ้าทำได้ คนประเภทนี้อาจจะอวดรู้ด้วยการเข้าไปให้คำแนะนำว่าเสียงที่ดีควรจะออกมาแบบไหนมันถึงจะถูกสุขอนามัยต่อผู้ฟัง ถ้าตัดเสียงนี้ออกไป มันจะสื่อออกมาได้ชัดเจนกว่า ทั้งๆที่ความชัดเจนมันก็มีหลายระดับ ความคลุมเคลือในระดับพื้นผิวบางครั้งก็สามารถกระตุ้นจิตนาการที่ชัดเจนในระดับที่ลึกซึ้งได้เช่นกัน แต่คนอย่างคุณ "นาย ก" ก็คงจะคิดว่าเขารู้ดีพอที่จะเข้าไปก้าวก่าย เพียงเพราะเขาได้อ่านหนังสือดีๆเพียงไม่กี่เล่ม อย่าง "อยู่อย่างสง่า" ทั้งๆที่ตัวเขาเองอาจจะไม่มีความรู้เรื่องดนตรี หรืออ่านตัวโน๊ตไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ
แต่ก็น่าดีใจนะครับ ที่นักคิดและศิลปินเหล่านั้น ไม่ได้มาเกิดในสังคมไทย มามีชีวิตที่ต้องทนอยู่ร่วมสังคมกับพวกที่ชอบปิดกั้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ผลงานของพวกเขาอาจจะไม่มีโอกาสได้ปรากฏขึ้นมาบนโลก
***** ที่ผมบอกว่า เขาอาจจะอ่านหนังสือเพียงไม่กี่เล่มนี่เป็นการมองในแง่ดีนะครับ ถ้าเขาอ่านหนังสือมามากกว่าที่ผมคิดแล้วยังมีทัศนะคติที่คับแคบได้อย่างนี้ละก็ นั่นแสดงว่าสภาพของเขามันคงเกินจะเยียวยาแล้วครับ *****
[จริง ๆ สนับสนุนแบนกับเซ็นเซอร์และไม่สนับสนุนการจัดเรทเลยเพราะจะมีหลัก ประกันอะไรที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าเด็กอายุ 10 ปีจะไม่สามารถดูหนังเรท 18 ได้ เพราะอย่าลืมน่ะครับว่าสมัยนี้การก็อปปี้แผ่นเป็นเรื่องปกติประจำบ้านไปแล้วเครื่อง คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องสามารถเขียนซีดีได้ ยิ่งมีอินเทอร์เน็ตการแพร่กระจายยิ่งเป็น ไปได้เร็วกว่าสมัยก่อนมาก ]
สรุปคือทุกๆคนต้องรับผิดชอบกับเด็กที่เราไม่ได้ดึงมาเกิดบนโลกใบนี้ แล้วพ่อแม่พวกเขาหายไปไหนกันเสียล่ะครับ ไม่มาดูมาแลจนต้องเดือดร้อนให้คนอื่นมาคอยร่วมแบกรับภาระอย่างนี้
นี่แสดงว่า เขาคิดถึงขนาดจะเอาการเซ็นเซอร์ไปบังคับใช้ในประเทศอื่นด้วย เขาคงจะคุ้นเคยกับการอยู่ใตวัฒนธรรมอำนาจนิยมของเราเป็นอย่างดีนะครับ ถึงได้มีความเชื่อมั่นขนาดที่ว่าจะเอาของเหลือเดนจากที่นี่อย่างการเซ็นเซอร์ไปเผื่อแผ่ในสังคมอื่น ผมเดาว่าคงเป็นเพราะเขาคงจะคิดว่าผู้คนในสังคมอื่นเป็นพวกเชื่องง่ายแบบที่เขาเป็น ก็เลยคิดว่าสิ่งที่บังคับใช้ได้กับที่นี่ จะเวิร์คเมื่อนำไปใช้ที่อื่นด้วย
ถ้าทำได้อย่างนั้นจริงๆ คนทั้งโลกคงจะฉลาดได้เหมือนคนไทยละครับ คุณ "นาย ก" คงจะคิดว่า เราดีกันเสียจนคนทั้งโลกต้องเอาเยี่ยงอย่าง
ไม่ทราบเหมือนกันว่า เราจะมีเทคโนโลยีในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกันไปทำไม ถ้าข้อมูลข่าวสารยังต้องถูกเซ็นเซอร์ แม้ว่าเทคโนโลยีมักจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่รับใช้อำนาจ แต่เขาคงจะไม่ทราบว่า จุดเริ่มต้นที่เทคโนโลยีแทบทุกอย่างได้รับการคิดค้นขึ้น มันเป็นไปในจุดประสงค์ก็เพื่อจะเพิ่มเสรีภาพให้กับมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์หลุดจากการควบคุม ทั้งการควบคุมด้วยข้อจำกัดทางธรรมชาติ หรือการถูกควบคุมโดยระบบต่างๆที่มนุษย์อย่างเราคิดค้นขึ้นมาเอง
ถ้าการควบคุมในประเทศเหล่านั้นมักรัดกุมเสียจนไม่เปิดช่องให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือผู้คนในสังคมของเขามีค่านิยมเหมือนคุณ "นาย ก" พวกเขาก็คงพอจะคิดกันได้ว่า จะคิดค้นเทคโนโลยีเหล่านี้กันไปทำไม ถ้าคิดไปแล้วมันไม่ได้ใช้ ถ้ายังต้องรู้สึกผิดกับการรับข้อมูลข่าวสารที่ต้องการจะรู้ ดูหนังที่อยากจะดู หรือต้องรู้สึกผิดที่จะได้มีความสุขกันละก็ พวกเขาคงจะเฉื่อยเนือยไม่ต่างไปจากคนไทย ไม่มีความกระตือรือร้นในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆออกมา ไม่มีแรงกระตุ้นในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือหมดแรงกระตุ้นในการมีชีวิตไปพร้อมๆกันเลย
เดาว่าพวกสนับสนุนการเซ็นเซอร์คงจะคุ้นกับปลอกคอกันเป็นอย่างดีนะครับ
คุณ "นาย ก" อาจจะแย้งได้ว่า เทคโนโลยีควรนำมาใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างการแชร์ข้อมูล ก็ควรจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่การระบุไปว่า อะไรมีประโยชน์ หรืออะไรไม่มีประโยชน์นั้น มันควรจะต้องปล่อยให้เป็นการตัดสินใจบนความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน เพราะแต่ละคนย่อมจะรู้ดีที่สุดถึงสิ่งที่แต่ละคนต้องการ ไม่ใช่ว่าคนประเภทคุณ "นาย ก" จะรู้ดีไปเสียทุกอย่างจนคิดไปว่า เขารู้ดีกว่าทุกคนว่าทุกคนควรจะต้องการอะไร
ถ้าผมดาวน์โหลดหนังมาดูสักเรื่อง ไม่ว่าเนื้อหามันจะเป็นยังไงก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะผมต้องการจะดู นั่นก็ย่อมแสดงว่าหนังเรื่องนั้นมีประโยชน์ในการตอบสนองความต้องการของผมใช่ไหมครับ ไม่ใช่เขาจะมารู้ดีกว่าผม ว่าผมอยากดูหนังเรื่องอะไร หรือผมควรจะอยากดูหนังเรื่องอะไร
และไม่ทราบว่าทำไมทุกคนจะต้องคอยหลักประกันที่ว่า เด็กอายุต่ำกว่าสิบปีไม่ควรจะมีโอกาสได้ดูหนังเรท 18 เพราะนั่นควรอยู่ในการดูแลของพ่อแม่เด็กใช่ไหมครับ ถ้าพ่อแม่เห็นว่าหนังพวกนั้นไม่ดีสำหรับเด็ก ก็ต้องดูแลลูกๆของพวกเขากันเอาเอง หรืออย่างน้อย ถ้าไมสามารถจะป้องกันไม่ได้เด็กดูได้ พ่อแม่ก็ควรอบรมให้เด็กรู้จักแยกแยะสิครับ ไม่ใช่ว่าจะต้องให้ทุกคนเป็นพ่อแม่แทนพวกผู้ปกครองพวกนั้น
ถ้ากลัวว่าเด็กจะดาวน์โหลดมาดู ก็ควรจะหาอุปกรณ์ที่ใช้บล็อคเว็บมาติดตั้งกับเครื่องคอมพ์ในบ้านไม่ใช่เหรอครับ แทนที่จะไปเรียกร้องให้รัฐบาลบล็อคเว็บ จนคนอื่นๆเดือดร้อนกันไปทั่ว แหม ... พวกพ่อแม่ผู้ปกครองพวกนี้ จะมีลูกกันทั้งที่ก็ต้องคอยรบกวนคนนู้นคนนี้เขาไปทั่วเลยนะครับ
[การจัดเรทนี้เข้าใจว่าคนร่างกฏหมายอเมริกาคิดในสมัยที่อินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นที่ รู้จักกันทั่วไปและเครื่องเขียนซีดีก็เป็นเครื่องที่หายาก พอ ๆ กับสมัยนี้ที่เราจะ หาเครื่องแกะวัตถุต้นแบบ 3 มิติในราคา 900 บาทได้จากที่ไหน เชื่อว่า ถ้าให้คนร่างกฏหมายของอเมริกามาคิดในสมัยนี้โดยไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ จะเสนอวิธีแบนกับเซ็นเซอร์เท่านั้นไม่มีการจัดเรท อย่าคิดว่าสิ่งที่ประเทศอเมริกาทำแล้วจะดีทุกเรื่องอย่างเรื่องสาธารณสุขของเรา ทำได้ดีกว่าของอเมริกา นักวิชาการ ชาวบ้านพยายามจะแก้แต่ทำไม่ได้เพราะ ติดกลุ่มผลประโยชน์เช่นพวกบริษัทยา ส่วนเรื่องภาพยนต์ถ้าไม่ติดที่กลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนต์ฮอลลีวู้ดที่มีเงินทุนหนา สามารถล็อบบี้คนออกกฏหมายได้ เอาแต่เรื่องเหตุผลของชาติเป็นหลัก รับรอง อาจจะได้เห็นระบบเซ็นเซอร์เป็นหลักแน่ไม่มีจัดเรท]
เข้าใจว่าคุณ "นาย ก" คงไม่เคยไปเห็นอเมริกา หรือ อาจจะเคยไปเห็น แต่อยู่ไม่นานพอ หรือ อาจจะอยู่นานพอ แต่ตัวเขาเองคงไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย
แม้ว่าสังคมอเมริกันโดยรวมแล้วจะค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในโลกตะวันตก แต่เท่าที่ผมทราบอย่างหนึ่งก็คือ ผู้คนเขาไม่โง่ครับ อย่างน้อย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทุกรูปแบบได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลจะเอาการเซ็นเซอร์มาบังคับใช้ คงไม่ต้องถึงกับให้กลุ่มอุตสาหกรรมภาพยนตร์เขาออกมาเคลื่อนไหวหรอกครับ ประชาชนคนธรรมดานี่แหละครับที่จะออกมาต่อต้าน อย่างน้อย พวกเขาตระหนักดีว่า ถ้าปล่อยให้อำนาจการควบคุมของรัฐรุกคืบเข้ามาควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นได้แม้แต่น้อยละก็ วันหนึ่งข้างหน้ารัฐบาล หรือกลุ่มธุรกิจที่ควบคุมนักการเมืองผู้กุมอำนาจรัฐอีกที ก็จะผูกขาดการนำเสนอความเป็นจริงได้เช่นกัน
คงไม่ต้องยกเอาเรื่องเหตุผลของชาติมาเป็นตัวกดดันหรอกครับ เพราะอย่างน้อยผู้คนที่นั่นก็ยังตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สิ่งที่เรียกว่ารัฐชาตินั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับโลกใบนี้ ก่อนหน้าที่เราต้องถูกบังคับให้สังกัดประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็มีมนุษย์อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินที่มีความต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกันมาเป็นเวลานาน ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มเรียนรู้ที่จะตัดแบ่งแผ่นดินที่เป็นผืนเดียวกันนี้ออกเป็นประเทศต่างๆ อย่างน้อยหลายคนที่นั่นเขาก็ตระหนักได้ว่า การมีอยู่ของรัฐชาตินั้นเป็นเรื่องของอำนาจล้วนๆ มากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของความดีงาม เหมือนกับที่เรามักจะถูกปลูกฝังให้เชื่อกันว่าต้องเป็นคนที่รักชาติถึงจะเป็นคนดี
พวกเขาทราบดีว่า ถ้ารัฐชาติ หรือ ระบบอื่นๆที่เป็นผลผลิตทางสัมคมของมนุษย์ อย่าง ระบบเศรษฐกิจ หรือ วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้ว ระบบก็ควรจะตอบสนองต่อความผาสุขของมนุษย์ ไม่ใช่ให้มนุษย์ต้องเอาความผาสุขไปตอบสนองต่อความมั่นคงของระบบ ถ้ามีนักการเมืองบ้องตื้นหน้าไหนคิดจะเอาการเซ็นเซอร์ไปบังคับใข้ รับรองว่า เขาได้หมดอนาคตทางการเมืองแน่ครับ
ก็ไม่ใช่ว่าที่นั่นจะไม่มีคนอย่างคุณ "นาย ก" อยู่เลยเสียทีเดียว มันก็คงต้องมีบ้าง ไม่งั้นก็คงจะไม่มีประธานาธิปดีที่ชื่อ จอร์จ ดับเบิ้ลยู่ บุช หรอกครับ แต่อย่างน้อย สังคมที่นั่น ก็ไม่ได้เป็นสังคมที่ปล่อยให้คนอย่างคุณ "นาย ก" เสียงดังได้อยู่ฝ่ายเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเซ็นเซอร์นี่ แม้แต่บุชยังไม่กล้าทำเลยครับ แม้ว่าจะอยากปิดกั้นขนาดไหนก็ตาม ก็เลยต้องอาศัยกลไกทางธุรกิจ ด้วยการให้บริษัทที่เป็นเจ้าของสถานนีเคลียร์ชาแนลเข้าเทคโอเวอร์สื่อต่างๆ
และที่คุณ "นาย ก" เขียนมาว่าเรื่องสาธารณสุขของเราทำได้ดีกว่าเขา ผมเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนัก มันต้องแยกให้ออกว่าดีกว่า หรือว่าทำได้คุณภาพเท่าเทียมกันแต่ราคาย่อมเยากว่า เพราะค่าเงินต่ำกว่า และไม่เคร่งครัดในเรื่องกฏหมายแรงงานพอที่จะเปิดโอกาสให้มีการกดค่าแรงเอากับแรงงานระดับล่าง
ถ้าสาธารณสุขของไทยดีกว่าจริง เราคงจะไม่ต้องเอาแต่แบมือคอยรับเทคโนโลยีทางการแพทย์และเภสัชกรรมจากที่อื่น เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ใช่ไหมครับ จะให้สังคมที่มีแต่การปิดกั้นอย่างนี้สร้างนักคิดออกมา มันก็คงเหมือนกับจะให้หมูบินได้เหมือนนกนั่นละครับ
[กองเซนเซอร์ที่ไม่คิดจะเปิดใจรับรู้ความเป็นไปของโลก
คิดว่าเข้าใจผิด คนทำหนังไม่เคยมองผลกระทบที่จะมีต่อสังคมต่างหาก ฝีมือก็ไม่มี อย่างกรณีเกาหลีบอกได้เลยเกาหลีจะได้จ่ายด้วยราคาที่แพงกว่ารายได้ที่ได้จากอุตสาหกรรมภาพยนต์ที่ทำได้ไว้มาก เรื่องนี้ต้องคุยกันยาว แต่ถ้าจะยกให้เป็นตัวอย่างก็อย่างละครไทยครับรัฐได้ค่าสัมปทานไม่ถึงพันล้านบ้านต่อปีแต่รัฐต้องได้สื่อที่สอนให้คนเกลียดชัง ก้าวร้าว วิธีทำร้ายจิตใจ ค่านิยมผิด ๆ ความหวาดระแวง สร้างการยอมรับการนินทา อิจฉาริษยา พวกนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นแต่รัฐต้องจ่ายอย่างไม่รู้ตัวไม่ต่ำกว่าล้านล้านบาทต่อปี]
เขาพูดเรื่อง ค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น เรื่องพฤติกรรมด้านลบผมก็ได้เขียนไปมากแล้ว แต่เดาว่าเขาไม่ได้นับ "แรงบันดาลใจ" กับ "การกระตุ้นจินตนาการ" ที่ต้องเสียไปกับการเซ็นเซอร์เป็นค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น ถ้าจะให้เปรียบเทียบ ก็คงเหมือนกับที่เราเคยเซ็นเซอร์งานเขียนของมาร์ก ในขณะที่ประเทศอื่นๆนำงานเขียนเหล่านั้นไปวิเคราะห์ต่อยอด ทั้งในแง่มุมด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ไปจนถึงศิลป การแตกแขนงทางความคิดที่ต้องถูกตัดตอนจากการควบคุมการรับรู้ คุณ "นาย ก" ก็คงว่ามันไม่ใช่มูลค่าที่มองไม่เห็นหรอกครับ
คุณ "นาย ก" คงไม่ทราบว่า สำหรับหลายคน การได้ฟังเพลงที่ชอบ หรือได้ดูหนังที่ชอบ ทำให้พวกเขาหลายคนผ่านพ้นแต่ละวันไปได้ สุขภาพจิตที่ต้องสูญเสียให้กับการเซ็นเซอร์ เขาคงจะไม่นับรวมว่าเป็น "ค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น" หรอกครับ ก็ความคิดของเขามันหยาบได้ขนาดนั้น
โอ้ว .... แล้วยังไม่นับ อาการเกร็งในแวดวงศิลปะร่วมสม้ย หลังจากที่ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมเข้ามามีอำนาจ การคิดแบบเกร็งๆมันก็บั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ไปได้มากมายทีเดียวครับ และก็ไม่ใช่แต่คนในแวดวงศิลปะ หรือ ภาพยนตร์ เท่านั้นที่ต้องรู้สึกเกร็ง พวกวัยรุ่นก็ต้องรู้สึกเกร็งว่าจะถูกจับผิดเรื่องการแต่งตัว ผู้รักการชมภาพยนตร์อย่างผมก็ต้องรู้สึกหงุดหงิดกับการถูกริดรอนเสรีภาพ บางครั้งความหงุดหงิดมันก็ดูดเอาเวลาและพลังงานที่ผมควรจะเอาไปใช้ในเรื่องงานหรือเรื่องอื่นที่มันสร้างสรรค์ได้มากทีเดียวครับ
และอย่างที่บอกละครับ เขาบอกว่า ถ้าไม่มีการเซ็นเซอร์ รัฐจะได้สื่อที่สอนให้คนเกลียดชัง ผมไม่แน่ใจว่าหนังที่ผมได้ดูจะทิ้งมลพิษทางจิตไว้ให้ผู้ชมเอาไปพัฒนาไปเป็นพฤติด้านลบได้หรือเปล่า แต่ผมพอจะบอกได้อย่างหนึ่งว่า การเซ็นเซอร์ที่คุณ "นาย ก" สนับสนุน มันบั่นทอนสุขภาพจิตของผู้ชมอย่างผมลงไปเยอะที่เดียวครับ มันทำให้ผมเกิดความเกลียดชังอย่างรุนแรง ในระดับที่ว่าหนังทุกเรื่องที่ผมได้ดูมาไม่สามารถจะทำได้ และผมมั่นใจครับว่าไม่ใช่ผมคนเดียวที่รู้สึกเช่นนั้น
ทีนี้ลองมาดู
["เรื่องที่ถูกทำให้เข้าใจผิดกันมากในอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยคือการเซ็นเซอร์ ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนต์ไม่พัฒนา ไม่เกี่ยวกันเลยครับ เหตุที่อุตสาหกรรม ภาพยนต์เราไม่พัฒนาถ้าเอาหลัก ๆ ก็มี 2 อย่าง 1. บท 2 ผู้กำกับ
1. บท นี้สังเกตุได้จากหนังที่ดูแล้วขาดเหตุผลอยู่ ๆ ก็มีใครไม่รุ้โผล่มาแล้วอยู่ ๆ ก็หายไปเฉย ๆ ไม่มีเหตุมีผลรองรับ ที่สำคัญดูไม่สนุกผูกเรื่องไม่ดีพอ ดูอย่างเรื่อง Whale Rider,เบนเฮอร์,Be With You,แดจังกึม,1 Litre of Tear (Series) ถามว่าโดนเซ็นเซอร์ไหมก็ไม่โดนแต่ก็เป็นหนังดีเรื่องหนึ่งเลย
2. ผู้กำกับ กำกับหนังไม่เป็นทำงานมักง่ายไม่วางแผนให้รัดกุมรู้ทั้งรู้ว่าต้องมีปัญหา ก็ใช้วิธีไปแก้เอาหน้างาน งานก็เละครับ วิธีการดำเนินเรื่องไม่แน่น ดูแล้วขาด ๆ เกิน ๆ ฯลฯ สุดท้ายคิดไม่ออกแทรกฉากผู้หญิงแก้ผ้าเหตุที่ใช้ฉากพวกนี้สังเกตุให้ดีเพราะ แถบจะไม่ต้องแก้อะไรเลยแค่จ้างผู้หญิงมาแก้ผ้าแค่นั้นแต่ทำให้หนังขายได้ "]
แล้วต่อด้วย
["แล้วอะไรที่ไม่โดนเซ็นแล้วเป็น บทที่ดี อย่างน้อย ๆ ก็ดูแล้วว่าสร้างสรรค์ มีพัฒนาการที่ดี
Lord of The Ring, Love Letter, Sinking of Japan,โหมโรง,แฟนฉัน " ]
กับ
["ถามว่าเซนเซอร์มีมานานแล้วแต่ทำไมหนังไทยไม่พัฒนา
อธิบายด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ง่าย ๆ ตลาดเรามีเพราะคนพร้อมที่จะจ่ายเงินถ้าหนังมีคุณภาพ แต่ปัญหาเดียวคือเราไม่มีผู้ผลิตครับ "]
วงการหนังจะพัฒนาหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้สร้างแต่ฝ่ายเดียวครับ มันขึ้นอยู่กับคุณภาพทางด้านสุนทรียะของผู้ชมด้วย และคุณภาพทางสุนทรียะของผู้ชมก็เป็นตัวชี้วัดว่า พวกเขามีเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน สุนทรียะพัฒนาขึ้นได้ด้วยการได้รับโอกาสที่จะได้รู้ได้เห็น "อย่างรอบด้าน" ครับ สิทธิในการรับรู้ไม่ได้จำกัดแค่ภาพยนตร์เท่านั้น แต่รวมถึงข้อมูลข่าวสารทุกอย่าง ถ้ามีผู้ที่เต็มใจจะจัดหามานำเสนอ ก็ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลจากทุกมุมโลกได้ตามความสนใจของพวกเขา ให้ข้อมูลอันหลากหลายจากการรับรู้มาปฏิสัมพันธ์กันจนเกิดการฟอร์มจิตสำนึกที่กว้างไกล ซับซ้อน และลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ด้วยการปิดกั้นจนแต่ละคนมีกรอบความคิดอันเป็นสูตรสำเร็จที่ตายตัว เหมือนอย่างที่ผู้ชมส่วนใหญ่ในประเทศนี้คิดว่าหนังที่ดูสนุก ควรจะมีรูปแบบที่ตายตัวอย่างไร ไม่คิดบ้างเหรอครับว่านั่นเป็นผลจากการถูกปิดกั้นเป็นเวลายาวนาน
เรื่องบทกับกระบวนการสร้างงาน มันก็คงจะต้องปล่อยให้ผู้สร้างเป็นผู้ตัดสินใจไม่ใช่เหรอครับ ก็มันหนังของพวกเขานี่ครับ ส่วนคุณค่าของหนังต่อผู้ชม ก็คงต้องให้ผู้ชมแต่ละคนเป็นคนตัดสินใจเอาเอง ไม่ใช่ให้คนอย่างคุณ "นาย ก" ไปเที่ยวเจ้ากี้เจ้าการตัดสินใจแทนใครอยางนี้ แน่นอนครับว่าหนังดีๆตามรายชื่อที่คุณ "นาย ก" ยกมาอ้างนั้น ไม่ค่อยได้มีใครสร้างเพราะไม่มีผู้ให้ทุน แต่อย่างน้อย ถึงไม่มีการเซ็นเซอร์ ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังเหล่านั้นจะถูกห้ามสร้างนี่ครับ และการที่หนังในตลาดมีเนื้อหาไม่หลากหลาย นั่นเป็นเพราะกลไกตลาดที่ทำให้ค่ายหนังต้องสร้างหนังที่คิดว่าตลาดต้องการ ซึ่งอาจจะเรียกได้เช่นกันว่า กลไกตลาดก็คือข้อจำกัดรูปแบบหนึ่งที่จำกัดความหลากหลายของงานสร้าง มันเป็นแนวคิดที่ฟังดูแปลกประหลาดพิลึกเลยนะครับถ้า คุณ "นาย ก" คิดว่าความหลากหลายจะเพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มข้อจำกัดอย่างการเซ็นเซอร์จากภาครัฐเข้าไปอีก ยิ่งดูเหมือนกับเอาสิ่งที่คอยสร้างปัญหามาใช้แก้ปัญหาเข้าไปอีก
ถ้านำกฏหมายเซ็นเซอร์ฉบับใหม่มาใช้ แล้วภาพยนตร์ที่หาดูได้ในท้องตลาดก็จะมีเหลือแต่ภาพยนตร์ดีๆตามแนวทางของกลุ่มผู้สนับสนุนการเซ็นเซอร์อย่างคุณ "นาย ก" ในขณะเดียวกัน เราก็คงต้องเสียหนังดีๆหลากหลายรูปแบบเพื่อแลกกับหนังดีๆในแนวทางแคบๆอย่างนั้น ถ้ามองจากมุมมองของคนในแวดวงศิลปะ (ศูนย์เฝ้าระวังไม่ได้เล่นงานแค่ภาพยนตร์อย่างเดียวครับ ยังสร้างความเสียหายให้กับศิลปะแขนงอื่นๆอีกเยอะเลยครับ) มองยังไงมันก็ไม่คุ้มครับ กับความหลากหลายที่ต้องเสียไป ถ้าแค่นี้มันแย่พอแล้ว ถ้าลองมามองในมุมมองของผู้บริโภคดูบ้าง ความเสียหายต่อเสรีภาพในการรับรู้รับชมของประชาชนทั่วๆไปมันยิ่งแย่กว่านั้นหลายเท่าเลยครับ
หนังที่เรียกได้ว่าดีนั้น อย่างที่ทราบนะครับว่ามันดีกันได้หลายแนวทาง เพราะคุณค่ามันพิจารณาได้หลายระดับ หนังบางเรื่องจำเป็นต้องมีเนื้อหาทางเพศเพื่อสำรวจธรรมชาติของมนุษย์ หนังบางเรื่องดีก็ตรงที่มีวิธีการนำเสนอที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ หนังบางเรืองมันดีแบบนามธรรมเสียจนอธิบายออกมาเป็นถ้อยคำไม่ได้ เพราะมันจะอธิบายให้เข้าใจได้ก็ด้วยภาพเคลื่อนไหวอันไม่ปะติดปะต่อที่ผุดขึ้นมาในห้วงความคิดเท่านั้น เช่นเดียวกับดนตรี ทำไมดนตรีไซคีเดลลิคดีๆต้องมีบรรยากาศหลอนๆ ทำไมถึงไม่ไพเราะแบบพื้นๆ ทำไมความไพเราะของดนตรีคลาสสิคในยุคศตวรรษที่ยี่สิบจึงดูเหมือนว่ามันถอยห่างออกไปเป็นนามธรรมขึ้นเรื่อยๆ งานดีๆบางครั้งเราก็ต้องเป็นฝ่ายเดินเข้าหามันใช่ไหมครับ เพราะตัวผลงานบางครั้งก็เป็นฝ่ายเลือกผู้เสพย์ได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้เลือกหรือผู้ถูกเลือก ต่างฝ่ายต่างก็มีเสรีภาพที่จะเลือกใช่ไหมครับ เว้นเสียแต่ว่า ผู้เสพย์ที่ไม่ได้ถูกเลือกอย่างคุณ "นาย ก" จะเที่ยวหาเหตุมาสนับสนุนการแบน
ถ้าจะต้องเอาคุณค่าอันหลากหลายที่เราควรจะได้ ไปแลกกับความดีในระดับพื้นๆเท่าที่หาดูได้จากหนังที่คุณ "นาย ก" ยกมา (หรือเท่าที่สมองของพวกสนับสนุนการเซ็นเซอร์ อย่างคุณ "นาย ก" พอจะมองออก) หรือต้องทนเห็นความงามด้านภาพถูกทำลายด้วยการทำเบลอแล้วละก็ วิวัฒนาการทางปัญญาของประเทศนี้คงจะหยุดชะงัก และเราคงจะได้มีสติปัญญาแค่ในระดับเดียวกับคุณ "นาย ก" กันหมดแน่ครับ แหม ..... เห็นในลิสต์ของเขาก็มี Lord of The Ring ถ้าเขาทราบว่า ก่อนที่ Peter Jackson สร้างหนังเรื่องนี้ เขาสร้างหนังแนวไหนมาก่อน ผมยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าเขาจะคิดยังไง ถ้าหนังอย่าง Bad Taste เป็นหนังที่ผู้กำกับคนเดียวกันนี้อยากทำ และถ้าเขาไม่ได้สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา หนังดีๆอย่าง Lord of The Ring ก็คงจะไม่ได้สร้างขึ้นมาแน่
ผมไม่คิดว่าเราจะได้ดูหนังที่หลากหลายขึ้นเมื่อนำเอาการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดเข้ามาใช้หรอกครับ ถ้าเป็นจริง ผู้สร้างคงจะเกิดอาการเกร็งจนต้องเลิกสร้างและหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น คุณ "นาย ก" คงจะคิดตามมุมมองของคนที่ไม่ได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับกระบวนการสร้างงาน ถ้าไปถามบรรดาผู้สร้างหนังดีๆที่อยู่ในสิสต์ของเขาดู ผู้สร้างเหล่านั้นคงไม่ต้องการให้งานของพวกเขาถูกควบคุมโดยบรรดาคณะกรรมการสมองอึเหล่านั้นหรอกครับ และถ้ามองในมุมมองของผู้ชมอย่างผม มันก็ขึ้นอยู่กับตัวผมด้วยว่าผมอยากดูอะไร บางวันผมก็ไม่อยู่ในอารมณ์อยากจะดูหนังดีๆ และผมคิดว่า การดูหนังที่เต็มไปด้วยความโสมม เพื่อลดแรงเสียดทานทางจิต บางทีก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการบำบัดได้อย่างหนึ่ง หรืออาจจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิต ให้ได้ตระหนักว่า สิ่งแย่ๆที่เห็นในหนังก็อาจจะพบได้ในชีวิตจริงเช่นกัน และแน่นอนครับว่า การดูหนังเลวๆไม่ควรถูกทำให้เป็นอาชญากรรม
ทีนี้ลองมาดูนี่ครับ
["คราวนี้ถ้าหนัง 4 เรื่องที่โชว์นมโดนแบบไปก็จะเหลือหนังเพียง 1 เรื่องที่ได้ฉายดังนั้นหนังเรื่องนั้นก็จะมีคนดู 100 คน ได้เงิน 10,000 บาท
จะส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด คนทำหนังดี ๆ สร้างสรรค์สังคมก็จะมีกำลังใจทำหนังต่อไป"]
ไม่เข้าใจเหมือนกันครับ กับคำว่า "การประหยัดต่อขนาด" ไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไรแน่ ดูไปแล้ว วิธีการสื่อสารของเขามันชวนให้สับสนจริงๆครับ พวกสนับสนุนการเซ็นเซอร์นี่ ดูๆไปก็ไม่ต่างอะไรกับผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมเลยนะครับ ที่มักจะสื่อสารอย่างสับสนกับพวกสื่อมวลชน แต่ก็มักจะโทษว่าสื่อให้ข้อมูลสับสนทุกที และก็มักจะหาแพะมารับบาปแทนได้เรื่อยๆ
ถ้าจะให้ผมเดา คำว่า "การประหยัดต่อขนาด" นี่อาจจะหมายถึงว่า ถ้าสร้างหนังกันน้อยลง พวกผู้สร้างจะประหยัดเงินได้มากขึ้น หรืออาจจะเป็นว่า ถ้าดูหนังกันน้อยลง ผู้ชมแต่ละคนจะประหยัดเงินได้มากขึ้น
ถ้าเป็นกรณีแรก ผมก็ไม่รู้ว่าเขาเข้าใจความหมายของ "การลงทุน" ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นกรณีหลัง ที่เขาพยายามจะบอกว่า ผู้ชมทุกคนควรจะประหยัดเงินด้วยการลดการดูหนัง ดูได้ก็แต่เฉพาะหนังที่เขาเห็นว่าดี ถ้าเป็นอย่างนี้ ผมว่าเขาคงจะคิดว่า กิจกรรมที่ทำในยามว่างทุกอย่างเป็นสิ่งสิ้นเปลือง เราไม่ควรจะหาความสุข ควรจะเอาพลังงานทั้งหมดไปทำงาน และเอาเงินที่เหลือ ไปใช้ช่วยเหลือผู้อื่น ความสุขเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เราควรจะอยู่ไปวันๆอย่างไม่มีความสุขเพื่อรอวันตาย และชีวิตของเรามันอยู่เพื่อทุกคนในโลกยกเว้นตัวเราเอง
ถ้าเขาจะเที่ยวคาดคั้นให้ทุกคนเป็นได้อย่างนั้น ผมก็อยากทราบเหมือนกันว่าชีวิตเขาได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นไปแล้วบ้าง และถึงแม้เขาได้ทำจริงๆ ก็ไม่ควรจะเรียกร้องในสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นจากความสมัครใจ ต้องไม่ลืมนะครับว่า ทุกคนต่างก็มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองเป็นอันดับแรก รวมทั้งตัวเขาและคนที่เขาต้องการจะช่วยด้วยเช่นกันครับ
ถ้าทุกคนรู้จักคิดถึงตัวเองให้มาก (โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น) อย่างน้อยก็ให้มากพอที่จะรู้วิธีการพึ่งตัวเอง คิดเผื่อวันข้างหน้า เราคงไม่ต้องได้เห็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่เต็มไปหมดอย่างนี้ หรือบางที พวกที่ต้องการความช่วยเหลือ อย่างพวกคนจน แท้ที่จริงแล้วก็คือพวกที่ได้รับผลพวงจากความอยุติธรรม และในสังคมที่อยู่ใต้ระบอบเผด็จการมายาวนาน มันก็หาความยุติธรรมได้ค่อนข้างยากครับ คุณ "นาย ก" คงไม่ทันคิดว่า การเซ็นเซอร์หรือการปิดกั้นต่างๆที่เขาสนับสนุนนั้น ก็คือหนึ่งในกลไกที่พวกเผด็จการชอบใช้ในการรักษาอำนาจ ถ้าเขาสนับสนุนกลไกอย่างนี้ แล้วผมพอจะพูดได้หรือเปล่าครับว่า ตัวเขาเองก็คือหนึ่งในต้นตอของความอยุติธรรม ต้นตอความเดือดร้อนของบรรดา "ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ"
และถ้าเขาคิดว่าการชมภาพยนตร์เป็นสิ่งสิ้นเปลืองละก็ เขาคงจะไม่รู้ว่า ทุกอย่างก็ล้วนแต่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้ง "การมีชีวิตอยู่" ด้วยเช่นกัน ทุกกิจกรรมที่ทำแล้วได้ความสุขในยุคนี้ ก็ล้วนแต่ต้องมีค่าใช้จ่าย อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปของเงินเสมอไป แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นค่าใช้จ่าย มันมีกิจกรรมเพื่อแสวงหาความสุขอีกหลายล้านอย่างที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการดูหนังหลายเท่า ทั้งค่าใช้จ่ายต่อตัวผู้ทำ ค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นกีฬาบางประเภทที่พวกคนรวยชอบเล่น แต่คุณ "นาย ก" เขาก็ยังคิดจะมาไล่บี้เอากับกิจกรรมที่นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้ว ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นจินตนาการด้านภาพด้วยอย่างนี้แล้ว ผมก็คิดว่า แทนที่เขาจะเอาพลังงานมาเที่ยวก้าวก่ายเสรีภาพของผู้อื่น มันก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าถ้าเขาใช้มันไปช่วยคนที่เขาอยากช่วย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment