เมื่อเขาพูดเรื่องสิทธิ ไปๆมาๆก็วกมาถึงตัวอย่างเรื่องอาวุธปืน
["เหมือนกับกฏหมายอาวุธปืนที่ไม่อนุญาตให้คนซื้อปืนได้เสรีเพราะไม่มีหลักประกันว่าคนที่ซื้อปืนจะมี eq สูงแค่ไหน ถามว่าจำกัดสิทธิไหม ก็จำกัด อเมริกาปล่อยเสรีไหม ก็เสรี ถามว่าทำให้เทคโนโลยีด้านการผลิตปืนของคนไทยไม่พัฒนาไหม ก็ถูกแต่ผลได้มากกว่าผลเสียเยอะครับ บ้านเราไม่มีเหตุการณ์เด็กนักเรียนชักปืนมายิงเพื่อนให้สะดุ้งเล่น ๆ ในอเมริกาในโรงเรียนหลายแห่งต้องมีเครื่องตรวจโลหะอาวุธปืนไว้หน้าประตูโรงเรียน คุณว่าดีเหรอถ้าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในไทยบ้าง ในอเมริกาคุณเดินเข้าผิดบ้านมีโอกาสตายสูง"]
นี่ก็โยงกันได้มั่วสุดๆ !!!!!!! ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าต้องปัญญานิ่มได้ขนาดไหนถึงจะมั่วได้ถึงขนาดนี้ เอาสิทธิในการครอบครองปืนมาเปรียบเทียบกับสิทธิในการชมภาพยนตร์ .......... เฮอะ ........
เขายกเอาตัวอย่างนี้มาใช้อธิบายเรื่องสิทธิ ที่นี้เราลองมาดูกันว่า ทำไมอเมริกาถึงไม่ให้เสรีภาพในการครอบครองอาวุธ แต่ให้เสรีภาพเรื่อง Free Speech
ผมได้ย้ำถึง "สิทธิ" ในการมีเสรีภาพที่จะทำกิจกรรมใดๆก็ตามที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ไม่ว่าความเดือดร้อนนั้นจะอยู่ในรูปความรุนแรงที่เป็นรูปธรรม การทำลายความสงบสุข หรือการก่อให้เกิด "ความเสี่ยง" ต่อความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะถ้ามีความเสี่ยง ถึงแม้ว่าความเสียหายจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ความสงบสุขคงต้องสูญสิ้นไปกับความหวาดระแวงใช่ไหมครับ
ทีนี้ มันต่างกันยังไง ระหว่างความเสี่ยงของการปล่อยให้มีเสรีภาพในการครอบครองอาวุธ กับความเสี่ยงให้การรับรู้และการแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างเสรี ถ้าลองกลับมาพิจารณาดูว่า สิ่งที่คุณ "นาย ก" เรียกว่า "การยั่วยุ" นั้น มันจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ต่อเมื่อมันถูกกระทำโดย "เจตนา" จนทำให้ผู้ถูกยั่วยุเกิดบันดาลโทสะ และสร้างความเสียหายอย่างเป็น "รูปธรรม" จะเห็นได้ว่า "การยั่วยุ" มันใช้ไม่ได้กับกรณีอย่างอื่น อย่างเช่น การถูกยั่วยุให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศอันเกิดจากการชมภาพยนตร์ เพราะมันไม่ใช่ "เจตนารมณ์" ของผู้สร้างภาพยนตร์ ที่จะ "ยั่วยุ" ให้ผู้ชมออกไปก่ออาชญากรรม เพราะวัตถุประสงค์ของการสร้างภาพยนตร์ คือการนำเสนอความบันเทิงหรือศิลปะ ในกรณีการเกิดอาชญากรรม ผู้ก่อเหตุต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวต่อสิ่งที่ทำ เพราะการชมภาพยนตร์อย่างเดียวจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่เป็นรูปธรรมใดๆทั้งสิ้น และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น มันก็ไม่ได้เกิดจากเจตนารมย์ของผู้สร้างแต่เป็นเจตนารมย์ของตัวผู้ก่อเหตุเอง ดังนั้นพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุไม่ควรจะเป็นเหตุผลที่จะใช้ในการปิดกั้น Free Speech เพราะ Free Speech ไม่ใช่ต้นตอของความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย
แต่ทำไมการให้เสรีภาพในการครอบครองอาวุธจึงนับได้ว่าเป็น "ความเสี่ยง" ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ ขึ้นชื่อว่าปืน มันก็แน่นอนที่ว่า ข้อแรก มันถูกผลิตขึ้นด้วย "เจตนา" ที่จะใช้ในการทำร้ายร่างกายโดยเฉพาะ แม้ว่าผู้ครอบครองจะมีข้ออ้างในเรื่องการป้องกันตัว แต่ก็เป็นการป้องกันตัวด้วยการจู่โจมให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย ข้อสองก็คือ เป็นเพราะมันสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผิดกับภาพยนตร์ ตรงที่ ภาพยนตร์ยังไม่สามารถสร้างความเสียหายที่เป็นรูปธรรมกับผู้ชมได้ อะไรก็ตามที่สามารถสร้างความเสียหายอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะผลิตขึ้นด้วย "เจตนา" อย่างใดก็ตาม ก็สมควรที่จะเปิดโอกาสให้มีการครอบครองด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง อย่างเช่น ยานพาหนะที่สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง แม้ว่ามันไม่ได้ถูกผลิตขึ้นด้วยเจตนาที่จะใช้ในการทำร้ายร่างกาย แต่ด้วยความเร็วที่มากพอจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ยานพาหนะเหล่านั้นจึงถือได้ว่าเป็น "ความเสี่ยง" ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมในขณะขับขี่ (ในขณะที่ผู้ชมภาพยนตร์ไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายในขณะที่กำลังรับชม) จึ่งมีความจำเป็นที่ต้องเปิดโอกาสให้เฉพาะผู้ที่ผ่านการรับรองว่ามีความพร้อมทางด้านวุฒิภาวะ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม จึงต้องมีการกำหนดอายุผู้ที่จะมีใบขับขี่
สิ่งใดก็ตาม ที่มาพร้อมความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายได้อย่างเป็นรูปธรรม การเปิดโอกาสให้มีการครอบครองจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีของการครอบครองอาวุธนี่ชัดเจนที่สุดครับ
ในอเมริกา สิทธิในการครอบครองอาวุธ ยังเป็นประเด็นทางการเมืองที่ยังมีข้อถกเถียงในแง่ของการตีความรัฐธรรมนูญ เพราะฝ่ายที่สนับสนุนการครอบครองอาวุธ (นอกจากพวกกลุ่มอนุรักษ์นิยมแล้ว ก็ยังต้องรวมพวกซ้ายสุดขั้ว เพราะทั้งสองกลุ่มต่างก็มีความเคลือบแคลงในการให้อำนาจการควบคุมแก่รัฐบาลเช่นเดียวกัน) ก็ไม่ต้องการให้รัฐผูกขาดอำนาจในการครอบครองอาวุธแต่ฝ่ายเดียว และพวกเขายังให้เหตุผลว่า ประชาชนควรจะมีสิทธิในการป้องกันตนเอง เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยู่ในเขตตัวเมืองที่มีตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา หลายคนยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์ม ซึ่งการมีอาวุธเพื่อป้องกันตัวเองยังเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนั้นถ้ารัฐไม่สามารถควบคุมปืนเถื่อนในตลาดมืดได้ การจำกัดสิทธิพลเมืองในการครอบครองอาวุธอย่างถูกกฏหมายก็เท่ากับเป็นการให้อภิสิทธิกับพวกอาชญาให้อยู่ในสภาพที่ได้เปรียบไปในเวลาเดียวกัน
เป็นเพราะโอกาสในการครอบครองที่เปิดกว้างนี่แหละครับ สำหรับผู้ผลิต มันคุ้มค่ากว่าในระยะยาวถ้าทำอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งทำให้การผลิตอาวุธปืนอยู่บนดินแทบทั้งหมด ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้ตำรวจทำงานง่ายขึ้นในการสืบสวนคดีอาชญากรรมต่างๆ
แน่นอนครับว่าทุกๆที่ล้วนแต่มีอาชญากรรม และในอเมริกาที่มีประชากรเข้าไกล้สามร้อยล้านคนเข้าไปทุกที เมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว อัตราการเกิดอาชญากรรมก็ไมได้มากมายไปกว่าเมืองไทยเลย และการได้รับรู้ว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เพราะสื่อที่นั่นเขามีเสรีภาพในการนำเสนอความเป็นจริง แทนที่จะต้องคอยรักษา "ภาพลักษณ์" ให้กับประเทศ เพราะสภาพความเป็นจริงรอบๆตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องรู้ เราอาจจะยังไม่มีเด็กนักเรียนยิงกันในโรงเรียน แต่ก็มีคดีเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นไม่น้อยไปกว่าที่นั่นเลย ทั้งๆที่จำนวนประชากรมีน้อยกว่าหลายเท่า ข้อแตกต่างก็คือ สังคมของเขาตระหนักดีว่า ปัญหาอาชญากรรมในหมู่วัยรุ่นมันมีที่มาซับซ้อนเกินกว่าจะชี้นิ้วประนามหนังที่พวกเขาดู หรือเพลงที่พวกเขาฟัง ทั้งๆที่ต้นตอมันอาจจะมาจากครอบครัว หรือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนความล้มเหลวของฝ่ายรัฐ ในขณะที่สังคมเรา เอาแต่แก้ปัญหาตามอาการและรักษาภาพลักษณ์ให้กับพวกผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาจจะมีส่วนในการสร้างปัญหา
หรือถ้าคุณ "นาย ก" ยังคิดว่ามันเป็นสังคมที่อยู่ได้ด้วยความหวาดระแวง คุณก็น่าจะทราบนี่ครับว่า ไม่ควรจะรุกล้ำเข้าไปในบ้านของใครโดยที่เจ้าของบ้านไม่อนุญาติ และแน่นอนครับว่า กรณีเช่นนี้อาจจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนมีสิทธิจะทำเกินกว่าเหตุเพียงเพราะความเข้าใจผิด โดยที่ไม่ถูกลงโทษตามกฏหมายใช่ไหมครับ นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดของการเปิดเสรีในการครอบครองอาวุธ แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอย่างไหนมันแย่กว่า กับการควบคุมจนพวกอาชญากรสามารถทำร้ายเจ้าของบ้านได้โดยไม่ต้องใช้อาวุธ เพราะฝ่ายที่สนับสนุนการเปิดเสรีก็ยังเชื่อว่า การครอบครองอาวุธช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรม เพราะจะทำให้พวกอาชญากรได้ตระหนักก่อนที่จะลงมือว่า เจ้าของบ้านก็อาจจะมีอาวุธเช่นเดียวกัน
ผมเองก็ไม่ได้บอกว่าอย่างไหนมันดีกว่า แต่เราคงไม่สามารถจะยกเอากรณีหนึ่งเพียงกรณีเดียว มาใช้แทนภาพรวมในสังคมของเขาได้ทั้งหมด เพียงเพื่อจะให้มันมาสนับสนุนข้อโต้แย้งที่มันเข้าทางเราเท่านั้น ใช่ไหมครับ เพราะนั่นเท่ากับว่าเรากำลังลดทอนความซับซ้อนของความเป็นจริงและละเลยที่มาของปัญหาทั้งหมดที่มี เพื่อจะโดดลงไปตัดสินโดยที่ไม่รู้อะไรเลย แต่อย่างหนึ่งที่ผมพอจะลดทอนลงเป็นข้อสรุปง่ายๆก็คือ ปัญหาในอเมริกาจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นหลายเท่าตัวถ้าผู้คนที่นั่นคิดอะไรกันง่ายๆ มองอะไรกันตื้นๆ และแก้ปัญหาแบบขวานผ่าซากกันอย่างพวกที่สนับสนุนการเซ็นเซอร์ชอบทำ ถ้าอเมริกาเต็มไปด้วยคนอย่างเขาแล้วละก็ คงจะมีสภาพด้อยพัฒนาไม่ต่างอะไรกับที่นี่เลยครับ
ต่อมาก็เรื่องภาพลักษณ์ เอาแบบย่อๆแล้วกันนะครับ เพราะมันจะเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่
["ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่ายังไม่ได้ดูเรื่อง แสงศตวรรษเคยเห็นแค่บางฉากจำได้ เลือน ๆ
พระเล่นกีต้าร์ หมอดื่มเหล้า ไม่รับผิด ชอบสังคมตรงไหน
ตรงที่ทำลายภาพลักษณ์ของพระกับ หมอครับ ทำให้ดูไม่น่าเคารพไม่น่า เชื่อถือ แล้วมีผลยังไงอย่างพระทำให้ คนไม่เชื่อถือเวลาสั่งสอนอะไรก็จะไม่เชื่อ ถ้าภาพลักษณ์ดี ๆ สอนไป 100 คน จะเชื่อ 100 คน แต่ถ้าภาพลักษณ์ไม่ดี สอน 100 คนเชื่อแค่ 20 คน"]
ถ้าภาพลักษณ์มันสำคัญได้ถึงขนาดนั้น ผมก็ยังแปลกใจที่คุณ "นาย ก" เขาไม่ยักคิดว่าสิ่งที่ "ลัดดา" ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์คไทม์เป็นการทำลาย "ภาพลักษณ์ทางปัญญา" ของคนไทยทั้งประเทศอย่างย่อยยับเลยทีเดียว
ต้องยกเครดิตให้กับลัดดาที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศกลายเป็น "ไอ้งั่ง" ในสายตาชาวโลก ด้วยการออกมาพ่นผ่านสื่อระดับโลก แสดงความมั่นใจในความไม่รู้ของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ ชาวต่างประเทศที่อ่านบทสัมภาษณ์คงจะคิดกันว่า ประชากรส่วนใหญ๋ของประเทศนี้คงเต็มไปด้วยพวกไอคิวต่ำ คุ้นเคยกับการถูกปิดกั้นทางปัญญาจนขาดอิสระภาพทางความคิด อย่างน้อยก็พอที่จะปล่อยให้วิวัฒนาการทางปัญญาของประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกมี "ปมด้อยทางปัญญา" อย่างลัดดา เขาคงแปลกใจว่าคนอย่างนี้ขึ้นมาได้ดิบได้ดี มีอำนาจควบคุมเสรีภาพทางความคิดได้ยังไง ในสังคมที่เจริญแล้ว คนที่มีสมองในระดับเดียวกับลัดดาเป็นได้อย่างเก่งก็แค่พนักงานทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะ
ดูจากบทสัมภาษณ์ก็ค่อนข้างจะมีความขัดแย้งกันในตัวนะครับ ถ้าคนไทยไม่ชอบหนังของคุณอภิชาติพงษ์เพราะพวกเขาขาดการศึกษา และเพราะการศึกษาที่ไม่เพียงพอนี่เองที่ทำให้คนไทยชอบดูแต่หนังตลก แต่คนของกระทรวงวัฒนธรรมในคณะกรรมการเซ็นเซอร์ก็มีส่วนในการอายัดฟิลม์เพื่อไม่ให้หนังได้รับการเผยแพร่ ดังนั้นคนไทยก็ควรจะถูกกดให้ขาดการศึกษาอยู่อย่างนั้น เพื่อที่จะรับสิ่งที่หนังอย่างแสวศตวรรษต้องการสื่อไม่ได้
***** ผมเคยคิดว่า คนที่มีสิทธิจะเที่ยวไปกล่าวหาใครต่อใครแบบเหมารวมว่าเป็นพวกโง่หรือไร้การศึกษาได้นั่น คนๆนั้นต้องเป็นคนที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ ตัองเรียกว่า จะทำอย่างนั้นได้อย่างน้อยต้องเป็นอัจฉริยะ แต่ผมมองเท่าไรก็ไม่เห็นคุณสมบัติข้อนี้ในตัวคนอย่างลัดดาเลย เท่าที่เห็นก็มีแต่ความมั่นใจที่พบได้ทั่วไปในกลุ่มของพวกที่อยู่ใต้กะลา พวกที่คิดว่าสิ่งที่มีอยู่ในกะลาคือความรู้ทั้งหมด และคนพวกนี้มักจะชอบเรียกร้องให้คนอื่นคุ้นเคยกับการอยู่ใต้กะลาเหมือนกับตัวเอง พอทุกคนขาดการศึกษาได้พอๆกัน คนพวกนี้จะได้ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยอีกต่อไป ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่าเราควรจะรู้สึกขำหรือสังเวชกับสภาพของคนพวกนี้ดี ******
มันก็โอเคน่ะครับที่คุณ "นาย ก" เขาจะยกเอากรณีของบริษัทโซนี่มาสนับสนุนข้อโต้แย้งเรื่องความสำคัญของภาพลักษณ์ แต่ก่อนที่ผลิตภัณฑ์ของโซนี่จะได้มาซึ่งภาพลักษณ์ให้คอยรักษา คุณภาพของสินค้าก็จะต้องผ่านการพิสูจน์มาเป็นระยะเวลายาวนานก่อนใช่ไหมครับ การสร้างภาพลักษณ์มันถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาดเพื่อจูงใจลูกค้า ในขณะที่ลูกค้าเองก็ยังคงมีเสรีภาพในการเลือกที่จะซื้อหรือไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัท
แต่ถ้าบริษัทอย่างโซนี่หมดเงินไปกับการรักษาภาพลักษณ์จนละเลยคุณภาพของสินค้าละก็ ประสิทธิภาพการทำงานของสินค้าจะฟ้องตัวมันออกมาเองครับ ยกตัวอย่างกรณีเครื่องเสียง ถ้าสินค้าที่ออกใหม่ไม่สามารถแข่งขันด้านคุณภาพกับสินค้าจากบริษัทคู่แข่งได้ เพราะบริษัทใช้งบประมาณส่วนใหญ่คอยรักษาภาพลักษณ์ แทนที่จะใช้พัฒนาเทคโนโลยี่ มันก็คงจะไม่มีประโยชน์ใช่ไหมครับ ถ้าบริษัทจะรักษาภาพลักษณ์ของสินค้าด้วยการไปฟ้องพวกนิตยสารเครื่องเสียง เพียงเพราะนิตยสารเหล่านั้นเขียนบทวิพากณ์สินค้าของบริษัทตามความเป็นจริง ถ้าจะเปรียบเทียบกับหมอ มันก็คงจะไม่มีประโยขน์ใช่ไหมครับถ้าแพทยสภาจะรักษาภาพลักษณ์ให้กับแวดวงของผู้ร่วมวิชาชีพ ในขณะเดียวกันก็มักจะออกมาคอยปกป้องพวกแพทย์ที่ขาดจรรยาบรรณ หรือบกพร่องในการให้การรักษาแก่คนไข้ จนบางครั้งสิ่งที่คนไข้ต้องจ่ายก็คือชีวิตของพวกเขาเอง ดูกรณีของเด็กวัยรุ่นที่ตายเพราะไปดูดไขมันเป็นตัวอย่าง
ถ้าจะบอกว่า หนังบางเรื่องนำเสนอเนื้อหาที่อาจจะทำลาย "ภาพลักษณ์" แก่บุคคลบางกลุ่มละก็ ก่อนอื่นต้องไม่ลืมนะครับว่า สิ่งที่หนังนำเสนอ คือ "มุมมอง" ของผู้สร้าง ไม่ใช่ "ข้อเท็จจริง" และหนังโดยตัวมันเองก็ไม่เคยยืนยันว่าสิ่งที่มันนำเสนอคือข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ถ้ามีการยืนยันว่าเนื้อหาที่หนังนำเสนอนั้นเป็นข้อเท็จจริงแล้วละก็ มันจะไม่ดีกว่าเหรอครับถ้าเราปล่อยให้หนังได้รับการเผยแพร่ แล้วก็ใช้กลไกทางกฏหมายฟ้องร้องต่อทางผู้สร้าง
แต่ก็ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า กลไกทางด้านกฏหมาย อย่างการฟ้องหมิ่นประมาท จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ถูกฟ้องยืนยันว่า ข้อมูลที่ให้ออกไปเป็น "ข้อเท็จจริง" เท่านั้น อย่างถ้าผมจะบอกว่า ผมเห็นคุณ "นาย ก" ขโมยของ ก็เรียกได้ว่า ผมได้ยืนยันไปในตัวว่าข้อมูลที่ผมให้ไปนั้นเป็นข้อเท็จจริง ถ้าสิ่งที่ผมพูดไม่เป็นความจริง คุณ "นาย ก" ก็สามารถจะฟ้องผมในข้อหาหมิ่นประมาทได้
***** มันทำให้ผมนึกไปถึงกรณีที่คุณลัดดาออกมาให้ข่าวต่อสื่อมวลขนว่า ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีการโชว์อนาจารในงานบวช สิ่งที่ลัดดาทำ น่าจะถือได้ว่าเป็นการยืนยันไปในตัวว่าข้อมูลที่ลัดดาให้กับสื่อมวลชนเพื่อนำไปเผยแพร่ออกไปในวงกว้างนั้นเป็น "ข้อเท็จจริง" ซึ่งต่อมาภายหลังก็พบว่า มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้น แต่เกิดขึ้นนานมาแล้ว กรณีนี้น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทหมิ่นประมาทได้เหมือนกันนะครับ เพราะมันก่อให้เกิดความเสียหายต่อ "ภาพลักษณ์" ของคนทั้งหมู่บ้านได้ และผมไม่แน่ใจว่า ถ้ามีการพิจารณาคดีตามเจตนารมย์ที่แท้จริงของกฏหมายแล้วละก็ การแก้ตัวแบบศรีธนชัยของคุณลัดดามันยังจะฟังขึ้นอยู่อีกไหม แต่น่าเสียดายตรงที่ ที่นี่มันประเทศไทย ที่ๆกฏหมายสามารถตีความเพื่อหลีกเลี่ยงเจตนารมย์ที่แท้จริงได้ *****
กลับมาดูกรณีที่เนื้อหาในภาพยนตร์อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ เมื่อสิ่งที่หนังนำเสนอคือมุมมองของผู้สร้าง ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียจึงไม่ได้เกิดจากเนื้อหาที่หนังนำเสนอมากไปกว่าการขาดวิจารณญาณในการแยกแยะของผู้ชมบางคน ซึ่งก็อย่างที่เรียนให้ทราบไปแล้วว่า ความสามารถในการใช้วิจารณญาณของผู้ชม จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ชมได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านเท่านั้น แน่นอนว่าต้องเป็นไปโดยไม่ถูกปิดกั้น เพราะการปิดกั้นเองนี่แหละครับคือสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ผู้คนคิดอย่างคับแคบและขาดวิจารณญาณ
เมื่อพูดถึงเรื่อง "ภาพลักษณ์" ผมเห็นว่า สิ่งที่เป็นอันตรายที่แท้จริงต่อสังคมในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่อง "ภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสีย" หรอกครับ แต่เป็น "ความศรัทธาต่อภาพลักษณ์" อย่างไม่ลืมหูลืมตาต่างหาก ทำไมพวกผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลถึงได้เดือดร้อนกับ "ภาพลักษณ์" ของประเทศในเรื่องโสเภณีกันนัก ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ก็น่าจะเป็นเพราะปัญหาการเพิ่มจำนวนโสเภณีมันสะท้อนถึงความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเผด็จการ ต้องยอมรับนะครับว่า ทั้งสลัมและธุรกิจการค้าประเวณีต่างก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก
ถ้าปัญหาเศรษฐกิจสะท้อนความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลเผด็จการแล้ว มันก็ย่อมสะท้อนความล้มเหลวของคนไทยในฐานะเจ้าของประเทศด้วยใช่ไหมครับ ประชาชนอย่างเราล้มเหลวตรงที่ว่า ทำไมเราถึงปล่อยให้พวกเผด็จการมีอำนาจอยู่หลายทศวรรษ ผมคิดว่า ส่วนหนึ่ง ก็คงเป็นเพราะประชาชนยึดติดกับ "ภาพลักษณ์จอมปลอม" ที่พวกเผด็จการพยายามปลูกฝังให้เชื่อ เราเคยเชื่อกันว่า "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" ซึ่งนั่นก็เป็นผลจากภาพลักษณ์จอมปลอมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นรัฐบาลที่เป็นเผด็จการถึงจะเข้มแข็งพอที่จะนำพาประเทศชาติพ้นภัยอันตราย (จากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นแค่ทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองแขนงหนึ่ง ที่ถูกทำให้เสื่อมเสียโดยภาพลักษณ์จอมปลอมที่ฝ่ายรัฐปลูกฝังอย่างเป็นระบบ) และมีประสิทธิภาพมากพอที่จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว (แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังถึงการสร้างปัญหาระยะยาว)
แล้วทำไม วิธีการปลูกฝังภาพลักษณ์จอมปลอมอย่างเป็นระบบนี้มันถึงใช้ได้ผลกับคนไทย เพราะมันง่ายที่จะทำให้คนไทยอย่างเราเชื่อในภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นได้อย่างสนิทใจ ซึ่งนี่ก็คงจะเป็นเพราะการถูกปิดกั้น (การเซ็นเซอร์ที่คุณ "นาย ก" สนับสนุนก็นับได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่ง) มายาวนาน เพื่อไม่ให้คนไทยได้เข้าถึงข้อมูลจากโลกภายนอกที่พวกเขาจำเป็นต้องรู้ ก็เลยไม่เห็นว่าชีวิตในแบบที่แตกต่างในที่อื่นๆนั้นมันเป็นยังไง การปกครองในแบบที่แตกต่างมันเป็นยังไง เราขาดเสรีภาพกันยังไงบ้างเมื่อเทียบกับผู้คนในที่อื่นๆ และการอยู่อย่างขาดเสรีภาพมันทำให้เราได้เสียอะไรไปบ้าง เราไม่มีโอกาสได้เห็นว่า เรามีอำนาจกันมากแค่ไหน ประชาชนในที่อื่นๆเขาใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือตอบโต้ผู้มีอำนาจกันได้ยังไง เราจำต้องอยู่อย่างคนที่ไม่ต้องใช้ความคิดกันนานเสียจนเราเคยชินกับการเชื่อมากกว่าการคิด เราจึงมักพร้อมจะเชื่อในภาพลักษณ์มากกว่าเนื้อหาสาระ เพราะถ้าจะพิจารณากันที่เนื้อหาสาระอย่างจริงจังแล้ว มันจะบังคับให้เราต้องคิด
และตามด้วยเรื่องหมอกินเหล้า
["ภาพหมอกินเหล้าเห็นได้ในสังคม เป็นสิ่งที่เห็นได้ในสังคม
ผมไม่เคยเห็นหมอที่ใส่เสื้อกาวน์ไป เข้าผับเข้าบาร์ หรือเดินถือขวดเหล้า ในโรงพยาบาลศิริราชโดยมีกลิ่นเหล้า แล้วเดินเป๋ ในสังคมไทยคนที่เป็นหมอ ได้นี้ถือว่ามีคุณภาพลำดับต้น ๆ เลยน่ะ ครับเรื่องวินัย นิสัย ความรู้ คุณธรรม ถือได้ว่ามีสูงกว่าคนทั่วไปมากแม้จะไม่ ทุกคนแต่โดยรวมก็ถือว่าสูงและนี้คือกลุ่ม คนที่สังคมไทยเราพยายามสร้างและ พัฒนามาร้อยกว่าปีแล้วอยู่ ๆ จะให้คน ไร้หัวคิด หลงคิดว่าตัวเองหัวสร้างสรรค์ แต่จริง ๆ แค่มักง่าย แค่คนเดียวมาทำ ให้เสียหาย" ]
อย่างในกรณีของหมอ ถ้า "ภาพลักษณ์" ของหมอเรียกร้องให้ประชาชนมอบความไว้วางใจอย่างสิ้นเชิงโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบแล้วละก็ มันก็เรียกได้ว่าเป็น "ภาพลักษณ์จอมปลอม" ที่อันตรายเช่นกันครับ ตัวผมเองไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาถ้าชาวบ้านในท้องถิ่นธุระกันดารจะมีความเคลือบแคลงในคุณภาพของบุคลากรของรัฐที่เข้ามาประจำในพื้นที่ เพราะมันเป็นลักษณะการทำงานของระบบราชการไทยที่มีมานานแล้ว ในการที่จะลงโทษเจ้าพนักงานด้วยการส่งไปประจำในที่ห่างไกล ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง เท่าที่ผมได้ยินมาจากเพื่อนสนิทที่เป็นเจ้าของลานมันในต่างอำเภอ เขาเคยบอกว่า พวกหมอที่มาประจำนั่น แม้แต่วัดค่าเลือดยังวัดไม่ค่อยจะเป็นกันเลย จนเขาต้องวัดให้ดู (เขาเคยเห็นเป็นประจำตอนที่พาลูกๆไปรักษากับหมอในตัวเมือง) และเรื่องที่หมอดื่มเหล้านั้น ผมอาจจะเคยเห็นหมอดื่มนอกเวลางานกันบ้างเป็นครั้งคราว แต่ถ้าเป็นพวกหมออนามัยละก็ บางทีนอกเวลางานพวกก็ซัดเหล้าขาวกันเป็นประจำ และเมื่อดูจากปริมาณที่ดื่มเข้าไป แม้ว่าจะเป็นการดื่มนอกเวลางาน แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่ามันคงต้องมากพอที่จะส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงานในวันต่อๆไป
ถ้าการรักษาภาพลักษณ์เป็นไปเพื่อที่จะให้พวกชาวบ้านยอมรับตาปริบๆ กับการหยิบยื่นการบริการที่ด้อยคุณภาพโดยที่พวกเขาไม่มีทางเลือก หรือกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษา โดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิจะร้องเรียนให้มีการตรวจสอบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเกิดจากความบกพร่องที่ตัวบุคคล "การรักษาภาพลักษณ์" ที่ว่า "แพทย์ทุกคนทีมีขีดความสามารถในการรักษาและจรรยาบรรณที่เชื่อถือได้อย่างเท่าเทียมกัน" อย่างนี้ ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งมอมเมาชนิดหนึ่งที่สมควรจะถูกกำจัด เพราะมันเป็นการมอมเมาให้ทุกคนเชื่อในภาพลักษณ์จอมปลอม จนเหมือนกับว่ามันเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งมันเลวร้ายเสียยิ่งกว่าสื่อที่คุณ "นาย ก" ต้องการเซ็นเซอร์หลายเท่า ภาพลักษณ์จอมปลอมมันทำให้ทุกคนยอมรับความเน่าเฟะไปได้เรือยๆ โดยไม่ยอมลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกับมัน ผมจะดีใจเสียอีกถ้าทุกคนเลิกยึดติดกับภาพลักษณ์ และตั้งข้อสงสัยกับทุกสิ่ง เพราะการสงสัยจะนำไปสู่การคิดและการติดตามเฝ้าระวังอย่างไกล้ชิด
และแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องดีที่ชาวบ้านเลิกยึดติดกับภาพลักษณ์ และมีการจับตา เฝ้าระวัง และตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างเช่น แพทย์ แต่ก็ไม่ได้หมายพวกชาวบ้านมี "สิทธิ" จะขู่ทำร้ายหมอ (แทนที่จะทำเรื่องร้องเรียน) ถ้าหมอรักษาไม่หายนี่ครับ ตัวอย่างที่ยกมา นอกจากมันสะท้อนถึงความสับสนในเรื่อง "สิทธิ" เนื่องจากพวกเขาไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมที่มี "การเคารพสิทธิ" จนพวกเขาขาดความรู้เรื่อง "ขอบเขตทางด้านสิทธิ" แล้ว มันทำให้ผมสงสัยว่า ถ้าวัดเป็นเสาหลักของชุมชนในชนบทจริงอย่างที่คุณ "นาย ก" ว่า ก็ย่อมแสดงว่า อย่างน้อยชาวบ้านในชนบทก็ต้องใกล้ชิดกับศาสนามากกว่าคนในเมือง แต่ถ้าพวกเขาสามารถจะฆ่า หรือ ข่มขู่ใครต่อใครได้อย่างไร้สติเช่นนี้ ผมก็สงสัยเหมือนกันว่าบางทีอาจจะเป็นเพราะผู้ถ่ายทอดอย่างพระสงฆ์ถ่ายทอดศาสนาให้ชาวบ้านอย่างผิดๆ หรือว่าเป็นเพราะคำสอนทางศาสนามันก็เป็นได้ไม่มากไปกว่าหลักการที่คลุมเคลือ ที่เปิดช่องให้แต่ละคนได้ตีความตามความหมายที่เข้าทางกับพฤติกรรมของตนเอง นี่ขนาดศาสนายังไม่ได้ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ กลไกรัฐยังอ้างหลักศีลธรรมอันคลุมเคลือมาปิดกั้นการรับรู้ได้ขนาดนี้ ถ้ามันถูกบรรจุขึ้นมา ผมยังคิดไม่ออกว่าศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมจะมีอำนาจการควบคุมเพิ่มขึ้นจนถึงระดับไหน
และถ้าภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาไม่ดีเพราะพระสงฆ์ประพฤติตัวไม่ดี จนทำให้คน 100 คนเชื่อสิ่งที่พระเทศนาแค่ 20 คน ปัญหามันก็คงไม่ได้อยู่ที่ภาพลักษณ์ของพระที่สื่อนำเสนอมากไปกว่าการประพฤติตัวของพระเองหรอกครับ และการจะเที่ยวไปปิดกั้นผู้คนให้ได้รับรู้ความเป็นจริง หรือการปิดกั้นพวกเขาจากภาพยนตร์ที่กระตุ้นให้พวกเขาได้ตั้งคำถาม เพียงเพื่อที่จะให้คนทั้ง 100 คน เชื่อในสิ่งที่พระรูปหนึ่งพูดออกมาหมดทั้ง 100 คนแล้วละก็ เท่ากับเราปิดทางเลือกทางความคิด ไม่ให้พวกเขาได้คิดไปในทางอื่น นอกจากให้เชื่อโดยไม่ต้องคิด ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่า "การเชื่อ" แบบนั้น โดยตัวมันเองนั่นเป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่า "ความสงสัยในภาพลักษณ์" เสียอีกครับ และถ้าพวกเขาไม่สามารถจะ "คิด" ได้ด้วยตัวเองว่า การดื่มสุราอย่างขาดสติมันอันตราย ตัองรอให้ตัวแทนจากองค์กรศาสนาที่พวกเขา "เชื่อ" มาคอยบอกละก็ บางทีการอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่ส่งเสริมการปิดกั้นมันทำให้พวกเขามีสภาพย่ำแย่จนเกินจะเยียวยาแล้วละครับ
["จะให้คน ไร้หัวคิด หลงคิดว่าตัวเองหัวสร้างสรรค์ แต่จริง ๆ แค่มักง่าย แค่คนเดียวมาทำ ให้เสียหาย
และถ้าเคยเห็นมีเหตุผลอะไรต้องไปทำ ให้ย่ำแย่ลงด้วย คุณตัวเตี้ย ตัวดำ ฟัน เบี้ยว คุณอยากให้เพื่อนคุณเรียกคุณ ว่าเตี้ย ดำ เบี้ยวไหม เวลาทำให้นึกถึง คนอื่นบ้าง"]
นี่โยงกันจนมั่ว เขาคงจะไม่รู้จักแยกแยะนะครับว่า หน้าตาเป็นเรื่องที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เป็นสิ่งที่เราทำอะไรไม่ได้ แต่ประสิทธิภาพการทำงานและความประพฤติของบุคลากรหรือองค์กรในแต่ละสายงาน อย่าง หมอ หรือ พระสงฆ์ มันเป็น “หน้าที่” ครับ เหมือนกับ "หน้าที่" ที่เขาชอบย้ำนั้นล่ะครับ การล้อเลียนรูปลักษณ์ภายนอก ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในความสงบสุขรูปแบบหนึ่งได้เลย แต่การนำเสนอมุมมองเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานนี่มันคนละเรื่องเลยครับ
มันน่าเศร้านะครับ เพราะนี่มันก็ตั้งห้าปีมาแล้วที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ตั้งขึ้นมา น่าเสียดายที่จุดประสงค์เมื่อแรกเริ่มเดิมที ต้องการให้กระทรวงนี้เป็นหน่วยงานที่ให้ "การสนับสนุน" การแตกหน่อทางวัฒนธรรม และเปิดพื้นที่ให้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่อาจจะถูกกลืนหายเพราะวัฒนธรรมกระแสหลัก หรือแม้แต่อำนาจรัฐ (เหมือนอย่างที่วัฒนธรรมพื้นบ้านดั้งเดิม ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา โดยกระทรวงวัฒนธรรมในยุคจอมพล ป.) แต่พอตั้งขึ้นมาแล้ว มันกลับกลายเป็นหน่วยงานที่มาตอกย้ำปัญหาวัฒนธรรมอำนาจนิยม อันเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมนี้
มีสิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยมานานเกี่ยวกับสังคมไทยก็คือ กว่าจะได้เสรีภาพมามันแสนยากลำบาก แต่ทำไมมันเวลาที่สูญเสียมันไป มันถึงได้ง่ายดายนัก เท่าที่ผมลองนึกๆดู ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะเราคุ้นเคยกับการไม่มีเสรีภาพ จนไม่สามารถรับมือกับความหลากหลายอันซับซ้อนที่มาพร้อมกับมันได้ หรือว่าเสรีภาพมันคงจะเป็นสิ่งสูงค่าที่พวกชั้นต่ำอย่างคนไทยไม่คู่ควร
ดูจากความเห็นของคุณ "นาย ก" แล้ว คงต้องยอมรับว่ายังมีคนอย่างเขาอีกมากในสังคมนี้ ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาเป็นคนส่วนใหญ่หรือเปล่า เพราะดูเหมือนคนกลุ่มนี้จะเสียงดังกันเหลือเกิน และก็มักจะได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักเสมอ จนดูเหมือนสื่อเหล่านั้นจะไม่มีพื้นที่ให้กับใครก็ตามที่มีความคิดต่างจากคนกลุ่มนี้เลย มันก็น่าเสียดายตรงที่ว่า สื่อกระแสหลักพวกนั้นมักจะเรียกร้องเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารข้อมูลให้กับตัวเอง แต่คงลืมนึกกันไปว่า เสรีภาพของสื่อมันสัมพันธ์กับเสรีภาพในการรับรู้ของประชาชนทั่วไปด้วย (ผมว่าไม่ใช่แค่เสรีภาพการรับรู้เท่านั้น แต่ต้องรวมเสรีภาพของประชาชนในแง่มุมอื่นๆเข้าไปด้วย)
แต่สิ่งที่สื่อกระแสหลักทั้งหลายทำ ก็คือให้พื้นที่กับกลุ่มคนที่จ้องจะเข้ามาริดรอนเสรีภาพของทุกๆคน ให้การสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานรัฐ อย่างศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านั้นมาคอยกรอกหูว่าสิ่งที่พวกนั้นทำเป็นสิ่งจำเป็น โดยไม่เคยเหลือพื้นที่ให้กับผู้ที่ต้องการจะโต้แย้งเลย
คนพวกนี้อาจจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสังคมนี้ ถึงกระนั้นก็ตาม ผมก็ไม่คิดว่าเสียงส่วนใหญ่อย่างพวกเขามีสิทธิโดยสมบูรณ์ที่จะเรียกร้องให้มีการละเมิดเสรีภาพของเสียงส่วนน้อย ถ้าเสรีภาพนั้นไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆทั้งสิ้น หรือมีสิทธิที่จะเข้ามายัดเยียดหน้าที่ๆไม่ควรจะต้องมาแบกรับ
ถ้าสังคมยังเต็มไปด้วยคนเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีลัดดา หรือ ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม คนเหล่านี้ก็ยังคงหาทางเรียกร้องให้ภาครัฐใช้กลไกอื่นๆเข้ามาควบคุมเสรีภาพของทุกคนได้อยู่ดี เพราะต้องไม่ลืมว่า มันยังมีกลไกอื่นๆที่รัฐบาลใช้เซ็นเซอร์มาเป็นเวลานานก่อนหน้าที่กระทรวงนี้จะถูกตั้งขึ้นด้วยซ้ำ และถึงไม่มีกฏหมายเซ็นเซอร์ฉบับใหม่ ภาครัฐก็อาจจะผลักดันกฏหมายว่าด้วยสื่อลามกอนาจารเข้ามาบังคับใช้ได้เช่นกัน ถึงไม่มีลัดดาคนนี้ ก็ยังมีคนประเภทเดียวกับลัดดาอีกหลายคนที่พร้อมจะอาสาเข้ามาสนองความต้องการให้กับคนกลุ่มนี้อยู่ดี
บางทีระบบคิดของคนไทยอาจจะยึดติดในเรื่องความดีงาม และหลงภูมิใจกับความดีงามในวัฒนธรรมของตัวเองกันเสียจนคิดว่ามันต้องมาก่อนเสรีภาพ จนสังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ละเลยเรื่องการเคารพสิทธิ ถ้าสิทธิมันเกิดขัดแย้งกับความดีงามขึ้นมา จนความดีงามมันสามารถนำไปบังคับใช้ได้กับทุกคน มันไม่พอถ้าเราจะมีชีวิตโดยไม่เป็นคนเลว หรือตระหนักว่าทุกๆสิ่งที่ทำไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับใคร แค่นั้นมันยังไม่พอ เราทุกคนยังต้องเป็นคนดีกันด้วย มันก็เลยทำให้พวกที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดีกร่างพอที่มาบังคับให้ทุกคนเป็นอย่างพวกเขา ด้วยการยัดเยียดหลักศีลธรรมแบบมือถือสากปากถือศีลและ "หลักเหตุผลแบบมั่วๆ"
ผมเคยคิดดูเล่นๆว่า ถ้ามีการเปลี่ยนกรอบความคิด จากเดิมที่เน้นเรื่องความดีงาม มาเป็นการเน้นเรื่องการเคารพสิทธิ เคารพการมีเสรีภาพที่ไม่ล่วงล้ำขอบเขตของผู้อื่น ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ขึ้นมาจริงๆ เราคงจะมีสังคมที่แตกต่าง มีระบบกฏหมายที่แตกต่าง ซึ่งสิ่งที่คลุมเคลืออย่าง "เพื่อรักษาความมั่นคงและศีลธรรมอันดี" คงไม่มีปรากฏในประมวลกฏหมาย เพื่อทีจะเปิดช่องให้มีการผูกขาดอำนาจ เราอาจจะได้เห็น ความคิดสร้างสรรค์ ผลผลิตจากความคิดเหล่านั้นจากคนไทย ซึ่งควรจะได้เกิดขึ้นบนโลกมานานแล้ว และเราคงไม่ต้องพลาดโอกาสดีๆในชีวิต ที่จะได้สำรวจ ทดลอง กับประสพการณ์ที่แปลกใหม่
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่ามันคงจะไม่ได้มาด้วยการหยิบยื่นจากผู้มีอำนาจ ไม่ได้ด้วยการทำตัวเป็นเด็กดีที่ว่านอนสอนง่าย แล้ววันหนึ่งพวกเขาจะให้มันกับเรา เพราะฝ่ายที่กุมอำนาจคงไม่โง่พอที่จะหยิบยื่นสิ่งที่สามารถสั่นคลอนอำนาจของพวกเขา ข้อควรตระหนักอีกอย่างก็คือ "เสรีภาพ" ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ "ให้" กันได้ เพราะมันควรจะเป็นของเรามาโดยตลอด
การได้มาซึ่งเสรีภาพย่อมมีเพียงวิถีทางเดียวคือการต่อสู้เรียกร้อง ซึ่งผมเองก็สงสัยว่ามันทำไมถึงใช้เวลานานนักกับการเริ่มต้นเรียกร้อง อย่างน้อย ตอนที่รัฐบาลชุดที่มีแผนที่จะก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรม ก็น่าจะมีความรู้สึกเคลือบแคลงในเจตนารมย์ของพวกผู้มีอำนาจพวกนั้นกันบ้าง ว่าการกระทำทุกอย่างของพวกเขาล้วนเป็นไปเพื่อการควบคุม
แต่อย่างน้อย ตอนนี้มันน่าจะเป็นเวลาที่ผู้คนในสังคมนี้เริ่มหันมาเน้นเรื่อง "การเคารพสิทธิ" กันเสียที เพราะมันเรียกได้ว่าเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ทุกคนควรตระหนักว่า สิทธิในการมีเสรีภาพควรเป็นของทุกคน และทุกคนมีสิทธิจะใช้เสรีภาพทำกิจกรรมใดๆก็ได้ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ไม่ว่ากิจกรรมเหล่านั้นจะเป็นสิ่งดีงาม น่าสนับสนุนหรือไม่ก็ตาม
ตราบใดที่กิจกรรมที่ทำยังเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างความเดือดร้อน ถึงจะไม่ดีงาม ก็ไม่ควรจะถูกประนามหรือทำให้กลายเป็นสิ่งผิดกฏหมาย ถ้าทุกคนตระหนักได้อย่างนั้น คงไม่มีใครต้องมาเดือดร้อนกับชุดที่ดาราบางท่านใส่ออกงานในงานประกาศรางวัล หรือคงไม่มีการแสดงความเห็นต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเภทที่ว่า "ทำไมทีหนังโป๊ที่มีเกลื่อนเมืองถึงไม่จับ" เพราะผู้ที่แสดงความเห็นคงลืมไปว่า การดูหนังโป๊ในพื้นที่ส่วนตัวก็ถือว่าเป็นสิทธิที่ควรได้รับการรับรองเช่นกัน และถ้าทุกคนตระหนักได้อย่างนั้น "การจัดระเบียบสังคม" ก็คงจะไม่มีกระแสตอบรับที่ดีอย่างที่เราได้เห็น
การที่จะตระหนักในเรื่องนี้ได้ เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่า เราเคารพสิทธิผู้อื่นมากพอหรือยัง มันรบกวนเราหรือเปล่าถ้าเราเห็นผู้หญิงแต่งตัวนุ่งน้อยห่มน้อย อะไรควรถือเป็นการละเมิดสิทธิมากกว่าระหว่างการนุ่งน้อยห่มน้อย กับการเจ้ากี้เจ้าการกับการแต่งกายของผู้อื่น ทำไมเราทนได้เวลาที่คนแต่งตัวมิดชิดส่งเสียงดังรบกวนความสงบสุข แต่ทนไม่ได้กับผู้หญิงุนุ่งน้อยห่มน้อยที่เดินสวนกันแค่ไม่กี่วินาที การตั้งคำถามเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เราแน่ใจได้ว่า เราไม่ได้เป็น "หนึ่งในพวกเจ้ากี้เจ้าการ"
และเราควรมีความรู้สึกที่ไวกว่านี้ต่อสัญญานเตือนภัยต่างๆทีเตือนให้รู้ว่ากำลังจะมีการริดรอนเสรีภาพเกิดขึ้น เวลาที่หน่วยงานรัฐมีนโยบายที่อาจจะเปิดช่องให้เกิดการริดรอน หรือเวลาที่มีกลุ่มคนอย่างคุณ "นาย ก" ออกมาเรียกร้องให้บังคับใช้นโยบายเหล่านั้น ก็ควรจะมีการตอบโต้และแสดงความไม่พอใจออกมาให้เห็นในทันที แน่นอนว่าสิทธิของทุกคน รวมทั้งคนอย่างคุณ "นาย ก" ควรได้รับการเคารพ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการใช้สิทธิที่เกิน "ขอบเขต" ก็ควรจะมีการตอกกลับอย่างสาสม ถ้าความเข้าใจและความสมานฉันใช้กับคนเหล่านี้ไม่ได้ บางทีมันอาจจะเป็นเวลาที่เราควรจะเริ่มเรียนรู้ที่จะเกลียดชัง เพราะบางครั้ง ความเกลียดชังเป็นสิ่งดี
ที่ผมเขียนอาจจะฟังดูเหมือนกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ผมไม่คิดว่าการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนั้นเป็นปัญหาเลยครับ เพราะการต่อสู้เรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ก็คือการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในตัวอยู่แล้วครับ
เราต้องตระหนักว่า ทุกอย่างที่เราอาจจะได้รับจากการมีเสรีภาพ อย่าง โอกาสที่จะสำรวจ ทดลอง กับประสพการณ์ที่แปลกใหม่ หรือการได้มีโอกาสเห็นผลงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นบนโลก เพราะผู้สร้างไม่มีเสรีภาพในการสร้างงาน ทุกอย่างล้วนแต่เป็นโอกาสที่พวกเราทุกคนถูกกลุ่มผู้สนับสนุนการปิดกั้นอย่างคุณ นาย ก "ปล้น" เอาไปจากเราทั้งนัน นี่คือสิ่งแรกที่เราทุกคนควรตระหนัก แน่นอนเราควรเคารพสิทธิการอยู่ใต้กะลาของพวกเขา แต่ควรตอบโต้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ถ้าพวกเขามีความพยายามจะเอากะลาของพวกเขามาครอบทุกคน
ผมยังสงสัยว่าทำไมไม่มีใครออกมาตอบโต้ใดๆเลยเวลาที่เครือข่ายผู้ปกครองออกมาเรียกร้องให้นิตยสารต่างๆระมัดระวังการนำเสนอภาพที่วาบหวิว เวลาที่ "นางไขศรี" ทำทีไปคุยกับนักศึกษาหญิงที่นั่งอยู่ในวัด เพื่อที่จะให้พวกนักข่าวแอบถ่ายภาพการแต่งกายพวกเธอ แล้วเอาไปประจานลงบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งๆที่การแต่งกายที่ไม่เหมาะของเด็กพวกนั้นควรจะปล่อยให้เจ้าของสถานที่อย่างทางวัดเป็นคนจัดการ เรื่องอย่างนี้ เห็นได้ชัดว่า เด็กๆพวกนั้นถูกละเมิดสิทธิไปอย่างหน้าด้านๆจากคนที่เป็นถึงรัฐมณตรี แต่ทำไมไม่มีผู้รู้ทางด้านกฏหมายให้คำแนะนำกับเด็กพวกนั้นว่าพวกเธอทำอะไรกันได้บ้าง ถึงจะเอาเรื่อง "นางไขศรี" ตามกฏหมายไม่ได้ แต่อย่างน้อย ก็ยังสามารถชี้ให้เห็นได้ว่าเป็นการรังแก และทำไมถึงยังไม่มีการตอบโต้อย่างเป็นรูปธรรม กับการเซ็นเซอร์วีซีดีกับดีวีดี ที่ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมทำมาหลายปีแล้ว
ลำพังแค่การยื่นหนังสือมันคงจะไม่พอแล้วละครับ เพราะการยื่นหนังสือเพียงอย่างเดียวมันเป็นเหมือนการอ้อนวอนขอร้อง รอรับการหยิบยื่น มันน่าจะมีมาตรการอย่างอื่นที่ควรทำควบคู่กันไปด้วย การประท้วงเป็นสิ่งที่ควรจะทำมานานแล้ว แต่ก็อาจจะดึงคนมาได้ไม่มากพอจะมีน้ำหนักกดดัน เท่าที่ผมพอจะนึกออก การกดดันด้วยการบอยคอตกิจกรรมของกระทรวง บอยคอตทุกอย่างที่กระทรวงให้การสนับสนุน บอยคอตองค์กรธุรกิจที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับกิจกรรมของทางกระทรวง น่าจะทำกันในวงกว้างได้มากกว่า เพราะทุกคนสามารถทำได้ทั่วประเทศ ไม่จำกัดแค่เฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพเท่านั้น
การประท้วงยังเป็นสิ่งที่ควรทำครับ แต่ในเวลาเดียวกันก็เปิดโอกาสให้พวกฝ่ายรัฐบาลได้ทราบว่า นอกจากคนที่มาประท้วงกันแล้ว กลุ่มผู้ต่อต้านการเซ็นเซอร์ยังมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ที่พร้อมจะบอยคอตทุกกิจกรรมของกระทรวงวัฒนธรรม จะมีการแชร์ข้อมูลระหว่างสมาชิกว่ากระทรวงมีกิจกรรมใดบ้าง มีใครเป็นสปอนเซอร์บ้าง บริษัทที่เป็นสปอนเซอร์มีธุรกิจอะไรบ้าง และจะมีการหาสมาชิกเพิ่มเพื่อให้เครือข่ายขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ และทุกๆคนพร้อมที่จะทำให้ทุกอย่างที่กระทรวงวัฒนธรรมเข้าไปจับกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ทุกอย่างที่กระทรวงให้การสนับสนุน ไม่ว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างผ้าพื้นบ้าน หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างค่านิยมที่กระทรวงต้องการส่งเสริม ทุกอย่างที่กระทรวงนี้เข้าไปจับต้อง จะต้องกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจโดยไม่มีข้อยกเว้น จนกระทั่งไม่มีใครต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานนี้ การบอยคอตยังตัองรวมถึงการแสดงความรังเกียจต่อใครก็ตามที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม แสดงให้คนอื่นๆได้เห็นว่าคนเหล่านี้แหละที่เป็นพวกเจ้ากี้เจ้าการ คอยรายงานความเป็นไปในชุมชน เอาเรื่องภายในของชุมชนไปขายให้กับหน่วยงานรัฐ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment