Sunday, December 09, 2007

PC'S COMMENTS ON THAI CENSORSHIP (1)

PC has left a great comment on Thai censorship in Bioscope webboard. I like his comments a lot, so I copy them and post them here. His comments are the reply to some evil comments in Pantip webboard. I put the evil comments in square brackets.
http://www.bioscopemagazine.com/smf/index.php?topic=694.30


***** เหลือเชื่อเลยใช่ไหมครับ ใครก็ตามที่มีไอเดียอย่างนี้ได้ ย่อมแสดงว่าพวกเขาควรค่าที่จะได้รับรางวัลดาร์วินเป็นอย่างยิ่ง ความเห็นแบบของเขานี่แหละครับ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาในประเทศไทยได้เป็นอย่างดีเลยครับ เห็นได้ชัดว่า การปลูกฝังเรื่องการปิดกั้นอย่างเป็นระบบ สำหรับบางคน มันใช้ได้ผลเป็นอย่างดีทีเดียวครับ *****

ที่จริงแล้วยังมีความเห็นของเขา ในอีกกระทู้หนึ่ง ที่คุณ merviellesxx นำกระทู้ของคุณ MdS ที่เป็นบทสัมภาษณ์ของลัดดาในนิวยอร์คไทม์ไปโพสท์ไว้ในพันธ์ทิพย์ แต่ผมลองเข้าไปดูอีกครั้งก็หาไม่เจอ สงสัยว่าโดนลบไปแล้ว ไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นคนลบ ที่จริงไม่น่าจะไปแจ้งลบความเห็นของเขาเลยนะครับ เพราะทำอย่างนั้นมันก็ไม่ต่างอะไรจากการเซ็นเซอร์ และยังตัดโอกาสของทุกๆคนในการวิเคราะห์วิธีการให้เหตุผลของเขา และชี้จุดบกพร่อง หรืออย่างน้อยก็ให้ความบกพร่องเหล่านั้นประจานตัวมันเองไปเรื่อยๆ เป็นผมๆคงไม่ทำ

ผมว่ามันน่าทึ่งมากเลยครับที่เรายังต้องมาทนอยู่ร่วมสังคมกับคนอย่างนี้ ที่แย่ก็คือ ในสังคมนี้ กลุ่มคนที่มีความคิดอย่างคุณ “นาย ก” มักจะใหญ่กันเสียเหลือเกิน ความคิดเห็นของพวกเขาก็มักจะได้รับการตอบรับจากผู้ที่มีอำนาจอยู่เสมอ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ระบบคิดของคนเหล่านี้มันสอดคล้องกันอย่างพอดิบพอดีกับความต้องการของฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ในมือ เพื่อที่จะเข้ามากำหนดเงื่อนไขในการมีเสรีภาพกับทุกๆคนกันไปได้ทุกๆเรื่อง แม้แต่เรื่องที่อยู่ในพื้นที่ๆควรจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวที่สุด ผมไม่ค่อยแปลกใจหรอกครับว่า ในสังคมนี้ ทำไมจึงมีแต่คนพวกนี้ที่เสียงดังกันได้อยู่ฝ่ายเดียว

ก็คงจะเป็นเพราะอย่างนี้แหละครับ ผู้รักการชมภาพยนตร์ทุกๆท่านก็เลยต้องมามีชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายเซ็นเซอร์ (อาจจะต้องรวมกฎหมายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการชมภาพยนตร์ด้วย) ที่ถูกเขียนขึ้นจากกรอบความคิดของคนเหล่านี้ และหน่วยงานภาครัฐ อย่างศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ก็คือตัวอย่างหนึ่งในหลายล้านตัวอย่างของสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจนเป็นรูปธรรม เพื่อสนองความต้องการให้กับคนเหล่านี้โดยเฉพาะเลยครับ

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วนะครับว่า องค์กรภาครัฐอย่างกองเซ็นเซอร์และศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรมนี้ ไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชาชนที่ยอมรับความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของมัน อย่างพวก เครือข่ายภาคประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในรูป เครือข่ายผู้ปกครอง ครู นักการศึกษา รวมถึงนักวิชาการบางกลุ่ม ซึ่งผมเชื่อว่าคุณ “นาย ก” ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนพวกนี้ (ที่จริงแล้ว การสนับสนุนอาจจะต้องรวมไปถึงการจำใจยอมรับการถูกลิดรอนโดยที่ไม่มีการออกมาคัดค้านหรือต่อต้าน เหมือนอย่างที่ผมกับอีกหลายๆคนก็กำลังทำกันอยู่ในเวลานี้)

และผมเห็นว่า เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องให้ความสนใจกับระบบคิดของคนเหล่านี้ ว่าพวกเขาคิดกันอย่างไร ถึงได้คิดจะคาดหวังให้ทุกๆคนต้อง “ลดตัว” ลงให้ต่ำได้ในระดับเดียวกับพวกเขา ด้วยการยอมรับสภาพการขาดเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง และยังต้องเชื่อมั่นในความชอบธรรมของมัน ตามเหตุผลที่เชื่อมโยงกันแบบมั่วๆของเขา ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณๆ “นาย ก” เป็นอย่างยิ่งเลยครับที่อุตสาห์ออกมาแสดงความเห็นให้ดูเป็นตัวอย่าง ให้ทุกๆคนได้ประจักษ์ว่าตรรกะของคนพวกนี้มันเละเทะกันได้ขนาดไหน

จากความเห็นทั้งหมดของคุณ “นาย ก” เห็นได้ชัดเลยนะครับว่าเขาเป็นผู้ที่สนับสนุนการแบนและการเซ็นเซอร์ อย่างที่เขาได้เขียนเอาไว้ว่า “อยากจะตอบทุกความเห็นเพราะสามารถอธิบายได้หมด” แต่เมื่อลองดูการให้เหตุผลที่เชื่อมโยงกันแบบมั่วๆของเขา ผมเองก็เคยคิดอยู่เหมือนกันนะครับว่า ถ้าเขาเป็นผู้ที่ต่อต้านการเซ็นเซอร์ และแสดงความเห็นเหล่านี้ออกมาเพื่อสวมรอยฝ่ายที่สนับสนุนการเซ็นเซอร์ ผมจะถือได้ว่าเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลดีทีเดียวครับที่จะทำให้กลุ่มผู้ที่สนับสนุนการเซ็นเซอร์มีภาพลักษณ์ที่น่ารังเกียจยิ่งขึ้น แต่ถ้าการแสดงความเห็นของเขา เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจละก็ มันจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงความหมายของคำว่า Ignorance at Its finest ได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียวครับ ผู้ที่คิดได้ถึงขนาดนี้ต้องนับได้ว่าเป็นหนึ่งในประชากรกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นที่ต้องการของรัฐเผด็จการทุกรูปแบบ

เท่าที่ได้อ่านมาทั้งหมด ก็คงจะพอสรุปได้ว่า คุณ “นาย ก” ถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้สร้างภาพยนตร์และบริษัทจัดจำหน่าย ที่จะต้องหลีกเลี่ยงการนำเสนอผลงานที่เขาคิดไปเองว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคม รวมไปถึงผู้ชมอย่างผมและทุกๆท่านในที่นี้ที่จะต้องมีหน้าที่ในการงดให้การสนับสนุนผลงานที่เขาเห็นว่าอาจจะเป็นไปในทิศทางที่ยั่วยุให้เกิดพฤติกรรมด้านลบ ที่นี้ผมจะลองยกความเห็นบางส่วนมาลองนั่งศึกษาดู เอาแบบไม่เรียงลำดับนะครับ ทุกท่านน่าจะลองทำกันบ้าง ผมว่ามันก็น่าสนุกดีนะครับ

ก่อนอื่น ผมขอยกความเห็นช่วงท้ายๆ อย่างย่อหน้าข้างล่างนี้มาให้พิจารณาร่วมกันก่อนนะครับ ผมว่ามันบอกอะไรเราได้เยอะเลยครับ

["อธิบายด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ง่าย ๆ ตลาดเรามีเพราะคนพร้อมที่จะจ่ายเงินถ้าหนังมีคุณภาพ แต่ปัญหาเดียวคือเราไม่มีผู้ผลิตครับ คนที่ไม่มีฝีมือในการผลิต เราไม่ถือว่าเป็นผู้ผลิตน่ะครับ เหรอพูดอีกนัยหนึ่งก็คือคนที่เรียนนิเทศน์ส่วนมากเป็นพวกที่สอบไม่ติดแพทย์ ไม่ติดวิศวะ คิดไม่ออก เรียนนิเทศน์ดีกว่าไม่มีเลขด้วยสบายใจ ถ้าคุณทำงานฝ่ายบุคคลคุณจะรู้เลยว่าคนต่างกันคุณภาพงานต่างกัน"]


Oiiii !?!!??!!!??!!?! สุดยอดไปเลยครับ !!!!!! เป็นความเห็นที่แสดงความสิ้นคิดในตัวมันเองได้อย่างหน้าด้านๆ !!!!! ผมว่าความเห็นนี้ (โดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ) ตลกกว่ามุขของคุณ โน๊ต อุดม แต้พานิช ที่คุณ "นาย ก" กล่าวถึงหลายเท่าเลยครับ นี่เขาคงไม่คิดมั้งครับว่าความรู้ในแต่ละสาขาวิชาต่างก็มีความลึกซึ้งในแบบฉบับของตัวมันเอง เช่นเดียวกับตัวผู้เรียน

ทีนี้ให้ผมลองคิดตามวิธีคิดของคุณ "นาย ก" ดูนะครับ ขอย้ำครับว่าตามวิธีคิดของเขานะครับ ไม่ใช่ผม

คือถ้าผมต้องทนดูหนังห่วยๆ ที่เขียนบทโดยเด็กนิเทศน์ที่ขาดทักษะทางคณิตศาสตร์แล้วละก็ ถ้างั้น ทำไมผมจะต้องเอาเสรีภาพในการรับรู้ของผมไปอยู่ใต้มาตรฐานห่วยๆของหน่วยงานอย่างศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ที่บริหารงานโดย "อดีตนางรำ" อย่างคุณลัดดาด้วยละครับ

ได้ยินมาว่าพวกนางรำอย่างคุณลัดดาก็มาจากพวกนักเรียนนาฏศิลป์ สรุปก็คือไม่ต้องเก่งทั้งเลขและไม่ต้องเก่งทั้งภาษา เอาแค่ร้องรำทำเพลงได้ก็พอ ใช่ไหมครับ

ก็คงจะเป็นเพราะด้อยเรื่องภาษาด้วยมั้งครับ พูดจาอะไรออกมาแต่ละทีก็มักจะแสดง "ปมด้อยทางปัญญา" ออกมาได้เรื่อยๆ เวลาที่คุณลัดดาสื่อสารกับสื่อ ก็มักจะให้ข้อมูลที่ค่อนข้างสับสน แล้วก็ยังชอบโบ้ยให้เป็นความสับสนของสื่อได้เป็นประจำ

บังเอิญว่าผมไม่ได้มองอะไรได้ตายตัวขนาดนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากนะครับผู้ที่เคยคลุกคลีกับวงการศิลปะอย่างคุณลัดดาจะสามารถสร้างความเสียหายกับแวดวงศิลปะร่วมสมัยได้มากมายขนาดนี้

ดูคุณ "นาย ก" จะมีวิธีคิดที่ค่อนข้างจะเป็นสูตรสำเร็จในการตัดสินคุณค่าของผลงาน และตัวบุคคลผู้สร้างผลงานเลยทีเดียวนะครับ คะแนนเอ็นฯ ที่ตัดสินคุณค่าของทุกๆคนด้วยความสามารถในการทำข้อสอบ ด้วยมาตรฐานอันนี้ เราจึงสามารถนำคะแนนสอบ (ที่วัดกันเฉพาะวิชาสายสามัญเป็นหลัก) ไปใช้ตัดสินความสามารถและผลผลิตทางปัญญาเอาได้กับทุกเรื่อง แต่น่าแปลกอย่างหนึ่งนะครับ ที่ในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงทางด้านสาขาวิชาภาพยนตร์และเป็นแหล่งผลิตบุคลากรอันทรงคุณค่าต่อศิลปะวิทยาการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ของโลก กลับไม่นำเอาผลการเรียนในวิชาสายสามัญมาเป็นตัวกำหนดในการคัดคนเพื่อเข้ารับการศึกษาเลยครับ

ถ้านำผลการเรียนในโรงเรียนมาเป็นตัวตัดสินความสามารถในการนำเสนอผลงานภาพยนตร์แล้วละก็ ผมว่า ผู้กำกับอย่างสตีเฟ่น สปีลเบิร์ก ผู้ซึ่งมีผลการเรียนในระดับไฮสคูลค่อนข้างแย่ ก็คงจะไม่มีสิทธิได้นำเสนอจินตนาการและความคิดฝันของเขาออกมาเป็นภาพให้เราได้ชมกันหรอกครับ นี่แค่ตัวอย่างที่พอจะเห็นกันได้ชัดๆนะครับ ว่า ถ้ามีการตัดสินคุณค่ากันตามมาตรฐานของคุณ "นาย ก" ขึ้นมาจริงๆ เราคงจะสูญเสียโอกาสในการได้รับ "แรงบันดาลใจทางด้านจินตนาการ" จากนักสร้างภาพยนตร์ผู้มีพรสวรรค์ไปมากทีเดียวครับ เพราะมีอยู่หลายท่านที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาด้านภาพยนตร์จากการศึกษาในระบบเลย แต่ผมเชื่อว่า คำว่า "แรงบันดาลใจทางด้านจินตนาการ" คงไม่เคยถูกนับรวมอยู่ในระบบความคิดของเขาเลย แม้ว่าจินตนาการจะเป็นแหล่งที่มาของศิลปะวิทยาการแทบทั้งหมดของมวลมนุษย์ชาติก็ตาม

ผมยังมีข้อสงสัยอีกอย่างเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการวัดผลด้วยคะแนนสอบ มันสามารถตัดสินความสามารถได้อย่างถูกต้องแม่นยำอย่างที่คุณ "นาย ก" คิดจริงๆหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ ว่ามันสามารถจะทดสอบระดับสติปัญญา หรือมันทดสอบได้แค่ความสามารถในการเรียนรู้ในแต่ละสาขาวิชา หรือ การวัดผลอย่างหยาบๆของมันใช้บอกได้แค่เพียงสามารถในการ "ทำข้อสอบ" เท่านั้น เคยมีการสอบวัดผลทางด้านคณิตศาสตร์ของเด็กนักเรียนในระดับมัธยมทั่วโลก ปรากฏว่า คะแนนสุงสุดเป็นของนักเรียนสิงคโปร์ แต่ทำไมผมไม่เคยได้ยินว่า สิงคโปร์ได้ผลิตนักคิดทางด้านคณิตศาสตร์ หรือ ผลิตทฤษฎีคณิตศาสตร์ใหม่ๆออกมาเลยล่ะครับ ยังคงต้องแบมือรับองค์ความรู้จากบรรดาประเทศตะวันตกที่ผู้นำของพวกเขากล่าวหาว่า เป็นแหล่งที่มาของเสรีภาพอันเสื่อมทราม แม้แต่การเรียนการสอนทางด้านคณิตศาสตร์ ก็ยังต้องไปขอดูงานในประเทศที่มีระดับคะแนนสอบที่ต่ำกว่า จำได้ว่า เมื่อปลายทศวรรษที่เก้าสิบ รัฐบาลสิงคโปร์ส่งนักวิชาการด้านการศึกษาไปดูงานที่สหรัฐ เจ้าหน้าที่สหรัฐถามว่าทำไมต้องมาดูงานที่นี่ทั้งๆที่เด็กๆของพวกคุณมีระดับคะแนนคณิตศาสตร์ที่ดีเยี่ยม เจ้าหน้าที่ของสิงคโปร์ได้แต่ตอบกลับไปว่า เด็กของเรารู้แค่เฉพาะเรื่องเทคนิค แต่ไม่ค่อยรู้ระบบตรรกะเบื้องหลังเทคนิคเหล่านั้นกันหรอก

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าคุณ "นาย ก" เรียนสาขาอะไรมา เอาเป็นว่าคงจะเป็นแพทย์ก็แล้วกัน ผมเองก็เรียนมาทางวิศวะ คณิตศาสตร์ก็พอจะรู้เรื่องบ้าง งูๆปลาๆ เพราะคะแนนสอบมักจะอยู่ระดับหางแถว ผมพอจะบอกได้อย่างหนึ่งว่า เหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่ผมเลือกเรียนสาขานี้ เพราะผมไม่ต้องสอบวิชาชีวะวิทยา เพราะขี้เกียจท่องจำ ผมชอบดนตรีมาตลอด แต่ไม่เคยเรียนดนตรีเพราะไม่มีความสามารถในการใช้เครื่องดนตรี และเห็นว่า การอ่านโน๊ตดนตรีเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน (คงคล้ายๆกับที่เด็กนิเทศน์คิดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ..... อย่างที่คุณ "นาย ก" ว่าเอาไว้) ผมก็พอจะพูดได้เช่นกันใช่ไหมครับว่า บางคนที่เลือกเรียนแพทย์ทั้งๆที่อาจจะชื่นชมงานศิลปะ เหตุผลที่ไม่เลือกเรียนศิลปะ คงเป็นเพราะเขาขาดความสามารถในการใช้จินตนาการ หรืออาจจะขาดทักษะในการนำเสนอจินตนาการ หรือไม่แน่ อาจจะเป็นเพราะเขาเป็นคนที่ไม่เคยมีจินตนาการเลยก็ได้ ใช่ไหมครับ

ผมเองก็คิดอยู่เหมือนกันว่า ความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ในด้านต่างๆ ล้วนมีความเชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกัน สามารถส่งผ่านแรงบันดาลใจให้แก่กัน เช่นเดียวศิลปะวิทยาการในสาขาต่างๆของมนุษย์ที่ล้วนมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน ก็คงจะเป็นอย่างนี้นี่เองที่ทำให้คุณ "นาย ก" คิดไปว่า ความสามารถทางปัญญาของแต่ละคนมันน่าจะมีตัวร่วมที่แสดงถึงความเป็นเอกภาพ และสามารถวัดผลได้ด้วยวิธีการที่ตายตัว อย่างคะแนนสอบของวิชาสายสามัญที่เรียนกันมาในระบบโรงเรียน ด้วยการวัดผลในเชิงปริมาณนี้เอง คุณ "นาย ก" ก็คงจะคิดว่า ถ้าจับเอานักศึกษาแพทย์ให้ไปเรียนนิเทศน์ เราอาจจะได้นักเขียนบทมือฉมังที่สามารถใช้สูตรสำเร็จทางปัญญา เขียนบทหนังดีๆที่ถูกสุขอนามัยต่อผู้ชมได้ โดยที่ไม่ต้องไม่มีภาพโป๊หรือคำหยาบมาปนเปื้อน

ถ้าตรรกะของคุณ "นาย ก" เป็นไปในทำนองว่า ทุกคนมีระดับสติปัญญาที่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่ตนเองเลือก บทภาพยนตร์ดีๆย่อมไม่สามารถมาจากเด็กนิเทศน์ที่ปัญญาไม่ดี เพราะผู้ที่เลือกเรียนสาขานี้ไม่มีปัญญาเรียนสาขาวิชายากๆ นั่นก็เท่ากับว่า คุณ "นาย ก" ก็กำลังจัดลำดับทางปัญญาให้กับสาขาวิชาต่างๆด้วยเช่นกันใช่ไหมครับ ว่าวิชาชีพบางสาขาเป็นแหล่งรวมของพวกเหลือเดน พวกที่ความสามารถไม่พอจะผ่านการแข่งขัน ดังนั้นภูมิปัญญาของสาขาอาชีพนั้น (อันเป็นผลผลิตของพวกเหลือเดน) ก็ไม่น่าจะนับว่าเป็นสิ่งที่มีความลึกซึ้งทางความคิด

มันทำให้ผมนึกถึงประวัติศาสตร์ทางดนตรีของยุโรป จากยุคมืดจนมาถึงยุคแสงสว่างทางปัญญา การเป็นศิลปินยังไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร ประพันธกรหลายท่านในยุคก่อนเบโธเฟ่นต่างก็ได้รับการอุปถัมจากราชสำนัก แต่ฐานะของศิลปินเหล่านั้นก็ยังจัดได้ว่าอยู่ในระดับเดียวกับพวกบ่าวรับใช้ เวลามีงานรื่นเริงก็ไม่มีสิทธิได้ร่วมโต๊ะกับพวกแขกรับเชิญ ไม่เว้นแม้กระทั่งโมสาร์ท แม้ว่าทางเลือกในการประกอบอาชีพในยุคนั้นอาจจะยังมีไม่มากเท่ายุคนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย แน่นอนครับว่าเราคงบอกไม่ได้ว่าคนอย่าง บาค หรือ โมสาร์ท เป็นพวกเหลือเดน เพียงเพราะเขาไม่ได้ประชีพอาชีพที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์หรือวรรณกรรม หรือมีตำแหน่งอันควรค่ากับการยกย่อง ในเมื่อผลงานศิลปะทางเสียงของพวกเขาก็ส่งผลต่อวิวัฒนาการทางด้านวัฒนธรรมของยุโรป (และอารยธรรมของโลก) อย่างประมาณค่าไม่ได้ อิทธิพลของพวกเขาแผ่ปกคลุมไปไกลเกินกว่าดนตรี และได้ส่งผลในการวางรากฐานทางความคิดต่อนักคิดรุ่นต่อๆมา ที่เติบโตมากับมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขา และแน่นอน ความงาม แพทเทิร์นที่ลงตัวของท่วงทำนอง ได้สร้างแรงบันดาลใจต่อนักคณิตศาสตร์หลายท่าน

คุณ "นาย ก" คงไม่ทันได้คิดน่ะครับว่า องค์ความรู้ทั้งหมดของมนุษย์มีความเป็นเอกภาพ ความรู้ในทุกแขนงต่างมีความสำคัญเท่าเทียมกันและส่วนสนับสนุนและเกื้อกูลกันซึ่งกันและกัน แรงบันดาลใจสามารถจะส่งผ่านข้ามสาขากันได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดนตรีอาจจะส่งผลต่องานวรรณกรรม และงานวรรณกรรมบางประเภทก็อาสร้างแรงบันดาลใจต่อนักวิทยาศาสตร์ อย่างที่งานเขียนประเภทสืบสวนสอบสวนกระตุ้นไอน์สไตนในวัยเด็กให้เกิดความสนใจการแก้สมการทางคณิตศาสตร์เพื่อหาคำตอบ

ความสามารถทางปัญญาของมนุษย์ มันมีความคล้ายคลึงกับองค์ความรู้ทั้งมวลที่มนุษย์มีก็ตรงที่ แม้ว่าจะมีความเป็นเอกภาพ แต่ก็สามารถแสดงตัวออกมาได้หลากหลายรูปแบบ มันไม่อาจจะตัดสินได้ด้วยมาตรฐานอันคับแคบ อย่างข้อสอบเอ็นท์ ที่คุณ "นาย ก" ยกมาตัดสินบุคลากรในวงการภาพยนตร์ รวมทั้งผลงานของพวกเขา ผมเองก็เชื่อว่า ผู้ที่สนับสนุนการเซ็นเซอร์ท่านอื่นๆก็มีมาตรฐานคล้ายๆกันในการตัดสินสิ่งต่างๆ (ไม่ใช่แค่คุณค่าของภาพยนตร์) เป็นมาตรฐานที่เค้นออกมาจากโลกทัศน์อันคับแคบและตื้นเขินเกินกว่าจะมารองรับความซับซ้อนของโลกยุคปัจจุบัน มีแต่คนที่มีโลกทัศน์แบบนี้เท่านั้นนะครับ ถึงจะสนับสนุนวิธีการที่ลดทอนความซับซ้อนของปัญหา อย่างการเซ็นเซอร์ ได้

คุณค่าของบทภาพยนตร์นั้นจริงๆมันก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของตัวภาพยนตร์เองด้วยว่า เป็นไปเพื่อนำเสนองานศิลปะ กระตุ้นสำนึก หรือ นำเสนอ ความบันเทิงที่ผู้ชมต้องการเท่านั้น และผู้ชมก็เป็นผู้เลือกชมตาม "สิทธิ"ที่พวกเขามี ไม่จำเป็นว่าพวกเขาควรจำกัดตัวเองให้มีสิทธิได้รับชมแต่เฉพาะสิ่งที่คุณ "นาย ก" ยอมรับ ตามมาตรฐานอันเรียบง่ายของเขา



[“สิทธิเป็นแค่แนวคิดแนวปฏิบัติไม่ใช่กฏตายตัวเหมือนกับใช้คนให้ไปซื้อของหน้าปากซอยระหว่างทางมีรถขวางทางเข้าออกก็ต้องเดินอ้อม ไม่ใช่ให้เดินเหยียบหลังคารถ บางกฏในทางปฏิบัติทำไม่ได้ บางกฏก็ขัดแย้งกับกฏอื่น ๆ กันเอง อย่างเช่น การเกฏฑ์ทหารก็ถือว่าระเมิดสิทธิ นี้จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมถึงต้องบัญญัติคำว่าหน้าที่และเขียนกำกับไว้เลยว่าสิทธิและหน้าที่ ใช้คำว่าและแปลว่าต้องมีทั้งสองคำขาดคำใดคำหนึ่งไม่ได้

หน้าที่ในที่นี้ก็คือต้องช่วยคนที่ไม่พร้อมก่อน สังคมไทยคนยังไม่พร้อม หน้าที่คุณคือไม่สนับสนุนและต้องลงโทษคนทำหนังพวกนี้ด้วย

ตอนนี้เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถให้หลักประกันได้ว่าหนังเรท 18 คน 10 ขวบจะดูไม่ได้ หน้าที่ของคุณคือไม่ดูหนัง ไม่สร้างหนัง ไม่สนับสนุนให้มีหนังเรท 18 ออกมาในสังคมไทยเพื่ออนาคตเยาวชนของไทย”]

เมื่อดูจากสองย่อหน้าสุดท้ายในส่วนนี้ คุณ “นาย ก” เขียนถึง “คนที่ยังไม่พร้อม” ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเขาหมายถึงผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังไม่พร้อมเพราะขาดความสามารถในการแยกแยะ “สิ่งที่สื่อนำเสนอ” กับ “โลกแห่งความเป็นจริง” หรือเขาอาจจะหมายถึงทั้งสองอย่างรวมกัน ถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็เท่ากับว่า พวกเราทุกๆคนจะต้องถูกยัดเยียดหน้าที่ความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมด้านลบของ “ผู้ที่ยังไม่พร้อม” เหล่านั้น ทุกๆครั้งที่พวกเขาก่อเรื่อง ทั้งๆที่พวกเขาเองก็ควรจะต้องมีความรับผิดชอบกับทุกๆการกระทำของตนเอง เช่นเดียวกับคนอื่นๆ

เท่าที่อ่านดู ก็พอจะสรุปได้ว่า มันเป็นความผิดของผมด้วยใช่ไหมครับ? สำหรับอาชญากรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้น ถ้าบังเอิญว่าพวกอาชญากรนั่นเคยดูหนังเรื่องเดียวกับที่ผมเคยดูเข้า เพราะถ้าว่ากันตามหลักของคุณ “นาย ก” การดูหนังเรื่องนั้นอาจจะเป็นการสนับสนุนให้มีการเผยแพร่หนังที่มีเนื้อหาที่ส่อไปในทางยั่วยุ แทนที่ตัวอาชญากรเองจะต้องรับผิดชอบกับผลการกระทำทั้งหมด สื่อและผู้ชมอย่างผมก็ต้องมีส่วนแบกรับความผิดนั้นไว้ด้วย

หรือบางที ก็อาจจะกล่าวได้เช่นเดียวกันใช่ไหมครับ ว่า เป็นความผิดของพวกสื่อที่ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอล สมาคมฟุตบอลในอังกฤษ ที่จัดการแข่งขันฟุตบอลนัดต่างๆ รวมทั้งพวกเจ้าของทีมฟุตบอล ไล่มาจนถึงนักเตะ เพราะคนเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมการเล่นพนันบอลของแฟนบอลชาวไทยที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งด้วย หรือที่แน่ๆ คนเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เวลาที่มีพวกฮูลิแกนยกพวกตีกันด้วยใช่ไหมครับ เพราะพวกเขานำเสนอการแข่งขันให้กับแฟนบอลที่ “ยังไม่พร้อมทางด้านวุฒิภาวะ” ที่จะสนุกกับการชมกีฬาอย่างสุภาพชน

หรือจะเอาที่ใกล้ตัวเข้ามาอีกหน่อย จำได้ว่าเคยมีข่าวเล็กๆบนหน้าหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับพระภิกษุรูปหนึ่งที่เฉือนอวัยวะเพศของตนเองทิ้ง เพราะคิดไปว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุธรรม ผมก็ไม่แน่ใจว่าพระรูปนั้นไปอ่านหนังสือธรรมะเล่มไหนมา แต่หนังสือธรรมะทุกเล่มก็อ้างอิงมาจากพระไตรปิฎก ซึ่งเป็น “สื่อ” ที่ใช้บันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ทราบว่าคุณ “นาย ก” คิดว่าพระพุทธเจ้ามีส่วนต้องรับผิดชอบด้วยหรือเปล่ากับ "ความไม่พร้อม" ของพระภิกษุรูปนั้นด้วยหรือเปล่า หรือจะพูดได้ไหมว่า ถ้าสื่ออย่างพระไตรปิฎกยังเปิดโอกาสให้มีการตีความให้เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้นมาได้ ก็นับได้ว่ายังเป็น “สื่อ” อันตราย ไม่ควรได้รับการเผยแพร่ใช่ไหมครับ? เพราะถ้ามันตกไปอยู่ในมือ “ผู้ที่ยังไม่พร้อม” รายอื่นๆ อย่างพวกเด็กๆ หรือ พวกบกพร่องทางจิต ก็อาจจะส่งผลกระทบที่คาดไม่ถึงออกมาได้เช่นกัน ดังนั้น ทุกๆคนก็ควรจะมีอยู่ชีวิตอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่มีไว้เพื่อปกป้องคนเหล่านั้นไปเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ

ถ้าเป็นเช่นนั้น มันน่าดีใจแทนพวกที่ชอบก่อเรื่องนะครับ ที่มีคนอย่างคุณ “นาย ก” คอยหาข้อแก้ตัวให้กับการกระทำของพวกเขา เพราะถ้าพฤติกรรมเหล่านั้นมันเกิดเพราะพวกเขา “ถูกยั่วยุ” จากสิ่งที่ได้ชม นั่นเท่ากับว่า คุณ “นาย ก” กำลังบอกว่า พวกเขาไม่ใช่ต้นตอของความเสียหายที่เกิด สื่อที่นำเสนอสิ่งยั่วยุนั่นต่างหากเป็นต้นตอที่กระตุ้นให้พวกเขาได้ลงมือกระทำเรื่องเสียหายพวกนั้น ถ้าไม่ถูกยั่วยุ พวกเขาก็คงจะไม่ทำ ถ้าเป็นไปตามนั้น ก็เท่ากับว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องแบกรับความรับผิดชอบกับการกระทำของพวกเขาทั้งหมดด้วย เพราะยังไงเสีย พวกเขาก็สามารถจะโยนความผิดบางส่วนไปให้กับสื่อที่พวกเขาเลือกที่จะรับชม (โดยที่ไม่ได้ถูกบังคับ) ได้

ถ้าพวกเขาไม่ใช่ต้นตอจริงๆละก็ ไม่ทราบเหมือนกันว่าผู้สนับสนุนการเซ็นเซอร์อย่าง คุณ "นาย ก" คิดว่าพวกเขาควรได้รับการลดโทษด้วยหรือเปล่า

หลังจากได้อ่านปรัชญาในเรื่อง “สิทธิ” และ “หน้าที่” ตามกรอบความคิดของคุณ “นาย ก” แล้ว ไม่ทราบว่ามีใครคิดเช่นเดียวกับผมบ้างว่า เวลาคุณ “นาย ก” ได้ยัดเยียด “หน้าที่” ให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในที่นี้อาจจะหมายถึงผมและพวกเราทุกคน ในขณะเดียวกันนั้นเอง เขาก็ได้ให้ “สิทธิ” กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ในการหลีกเลี่ยง “หน้าที่ความรับผิดชอบ”ของตัวเอง อย่างน้อยก็หน้าที่ในการควบคุมความประพฤติของตน ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนให้กับคนอื่นๆ

***** ลองมาดูตัวอย่างที่เขายกขึ้นมากันนะครับ นอกจากจะไม่ชัดเจนแล้ว ในตัวมันเองก็ยังดูมั่วๆ ผมไม่แน่ใจว่า กรณีรถจอดขวางทางเข้าออกนั้น มันจอดขวางที่หน้าปากซอยนั่นมันจอดขวางซอยเลยหรือเปล่า ในกรณีที่เราเดินไปซื้อของคงต้องยอมรับนะครับว่าถนนเขาสร้างไว้ให้รถวิ่งเป็นหลัก เราคงจะไม่มี "สิทธิ" ไปสร้างความเสียหายให้ทรัพย์สินของเขาด้วยการเดินย่ำไปบนรถหรอกครับ ถ้าเขาละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นด้วยการจอดรถขวางซอย ก็เท่ากับว่า มันจอดขวางทางที่รถวิ่งเข้าออกซอยด้วย ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ต้องดูเป็นกรณีครับว่า ที่มันจอดขวางเพราะรถบนถนนสายหลักมันติดหรือเปล่า ถ้าเป็นเพราะรถติดมันก็คงจะเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ แต่ถ้าจอดขวางไว้เฉยๆ บอกแล้วก็ยังไม่ยอมไป ก็เรียกได้ว่ามันละเมิดสิทธิกันแน่ๆ แล้วทำไมถึงไม่เรียกให้ตำรวจเข้ามาจัดการล่ะครับ ถ้าเจ้าของรถไม่อยู่ ตำรวจเขาก็จะหารถมาลากออกไปเอง และตัวเจ้าของรถก็ต้องโดนใบสั่ง ฐานละเมิดสิทธิผู้อื่น ทำให้เกิดการเสียเวลา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความเสียหาย ต้องมีการลงโทษและลงบันทึก ถ้าทำอยากนี้อีกก็จะโดนยึดใบขับขี่ นี่เป็นสิ่งที่เขาทำกันในต่างประเทศนะครับ การยึดใบขับขี่ค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ทราบเหมือนกันว่าที่นี่เขามีการลงโทษกันจริงจังหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็คงจะเป็นเพราะว่าผู้คนที่นี่ไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่อง "สิทธิ" และ "หน้าที่ในการให้ความเคารพสิทธิ" กันเท่าที่ควร ก็คงจะเป็นเพราะผู้คนส่วนใหญ่คิดกันแบบคุณ "นาย ก" นั่นละครับ เมื่อไม่รู้จักหวงแหนสิทธิ เราก็จะไม่รู้จักการเคารพสิทธิผู้อื่นไปด้วย ผมถึงไม่ประหลาดใจที่เวลาขับรถ มักจะเจอพวกที่ชอบขับปาดหน้าปาดหลัง ที่ขับแบบไม่เคารพสิทธิการใช้เลนก่อนหลังกันซักเท่าไร *****

คุณ “นาย ก” ได้กล่าวถึง “สิทธิ” ที่ต้องมาพร้อมกับ “หน้าที่” ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ให้ความชอบธรรมกับหน่วยงานรัฐในการปิดกั้นการรับรู้ ซึ่งการรับรู้นั้นก็ถือได้ว่าเป็น “สิทธิ” ขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ตัวคุณ “นาย ก” เองคงจะลืมไปนะครับว่าตัวเขาเองนั้นบกพร่องโดยสิ้นเชิงใน “หน้าที่ขั้นพื้นฐานที่สุด” ของเขา ที่จะต้องรู้จัก “ให้ความเคารพในสิทธิ” ของผู้อื่น อย่างน้อยก็ให้มากพอๆกับที่หวงแหนสิทธิของตน ผมคงพอจะพูดได้เช่นกันใช่ไหมครับว่า คนอย่างคุณ “นาย ก” เป็น “พวกที่ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง” และมันก็ไม่ใช่ "หน้าที่" ของใครทั้งนั้น ที่จะต้องมาเลือกชมภาพยนตร์ หรือต้องมีชีวิต อยู่บนความคาดหวังหรือความเหมาะสมของคนอย่างเขา

ที่เป็นเช่นนี้ ผมเดาว่าเป็นเพราะตัวคุณ “นาย ก” แกเองก็ยังคงมีความสับสนในเรื่อง “ขอบเขต” ซึ่งเป็นตัวคอยกำกับ “สิทธิ” และ “หน้าที่” ในแต่ละคน อยู่นะครับ และผมพบว่า ผู้ที่สนับสนุนการปิดกั้นทั้งหลายก็มักจะมีความสับสนในเรื่องนี้เช่นกันครับ มันเป็น “หน้าที่” ที่สำคัญอย่างยิ่งที่เลยนะครับที่ทุกๆคนหรือทุกๆองค์กรจะตระหนักถึง “ขอบเขต” ของตน ไม่เช่นนั้นมันจะนำไปสู่การรุกล้ำในเสรีภาพ และก็เห็นได้ชัดว่า คุณ “นาย ก” เองก็ยังไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้

ทุกๆคนและทุกๆองค์กรต่างก็ต้องมี "ขอบเขตทางด้านสิทธิ" และ "ขอบเขตทางด้านหน้าที่" ด้วยกันทั้งนั้นนะครับ กฏหมายที่มีอยู่ในสังคมที่ศิวิไลซ์ (แน่นอนครับว่าไม่รวมสังคมไทย) ต่างก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ์ และควรมีไว้เพื่อเป็นหลักประกันให้ทุกคนมีเสรีภาพเต็มที่ภายใต้ "ขอบเขตทางด้านสิทธิ" ของตน บนพื้นฐานที่ว่า ทุกคนที่บรรลุนิติภาวะจะต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกการกระทำของตัวเอง ที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ส่วน "ขอบเขตทางด้านหน้าที่" ของแต่ละคนก็คือต้องรู้จักให้ความเคารพสิทธิในการมีเสรีภาพของผู้อื่น ด้วยการรู้จักขอบเขตและควบคุมพฤติกรรมของตน ไม่ใช่พอควบคุมไม่ได้ ก็โทษว่าคนอื่นๆไม่ทำ "หน้าที่" ที่จะต้องคอยช่วยเหลือ "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" อย่างพวกเขา ด้วยการงดสนับสนุน "สิ่งยั่วยุ" ที่พวกยังไม่พร้อมเหล่านั้นเลือกเสพย์ เพราะสิ่งที่พวกยังไม่พร้อมทำอยู่ ก็คือโยน "หน้าที่" ที่อยู่นอก "ขอบเขตทางหน้าที่" ให้กับทุกๆคน

ถ้าการโยนหน้าที่มันใช้เป็นข้ออ้างในการหลีกเลี่ยงความผิดกันได้ เพียงแค่เรื่องเดียวที่พวกยังไม่พร้อมเหล่านั้นก่อขึ้น มันสามารถหาแพะให้มารับผิดแทนได้เป็นล้านเลยครับ ถ้าผู้สร้างภาพยนตร์ต้องเป็นฝ่ายผิด เพราะมีผู้ที่ยังไม่พร้อมก่อเรื่องขึ้นเนื่องจากถูกหนังเรื่องนั้นยั่วยุ ผู้กำกับคนอื่นๆที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สร้างภาพยนตร์คนนั้นก็ต้องผิดด้วยที่สร้างแรงบันดาลใจที่สามารถยั่วยุให้หนังเรื่องนั้นถูกสร้าง หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างภาพยนตร์คนนั้นคิดจะมาเป็นนักทำหนัง

ในสังคมที่มีความศิวิไลซ์มากพอ กฏหมายต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ใช่ว่ากฏหมายเป็นตัวคุกคามสิทธิเสรีภาพเสียเอง

ในสังคมเหล่านั้น แม้แต่หน่วยงานรัฐเองก็ยังต้องมีขอบเขตด้านสิทธิที่จำกัด การจำกัดอำนาจของรัฐบาลก็มีบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน อย่างน้อยก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจได้อย่างพร่ำเพรื่อ เป็นเพื่อเป็นหลักประกันว่า สิทธิ์ในการมีเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ในแต่ละคน เพราะแต่ละคนจะมีเวลาในการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างจำกัด ดังนั้น แต่ละคนจึงควรจะมีสิทธิที่จะใช้เวลาอันมีอยู่จำกัดนี้เก็บเกี่ยวประสพการณ์แห่งการมีชีวิตได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นประสพการณ์อันเกิดจากประสพการณ์ที่เกิดในชีวิตจริง หรือประสพการณ์จากการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ทุกคนควรจะมีเสรีภาพในการจะทำกิจกรรมใดๆก็ตามเพื่อให้ได้มาซึ่งประสพการณ์ตามแต่ความอยากรู้อยากเห็นของแต่ละคนจะชักนำไป ตามแต่ปัจจัยของแต่ละบุคคลจะเอื้ออำนวย ตราบใดที่กิจกรรมเหล่านั้นยังไม่ก่อให้เกิดการล่วงละเมิดในสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการมีเสรีภาพ สิทธิส่วนบุคคล หรือสิทธิที่จะได้อยู่อย่างสงบสุข ซึ่งคนอื่นๆก็ย่อมมีสิทธิอย่างเดียวกันนี้ โดยเท่าเทียมกัน หลักประกันนี้จะรับการรับรองว่าองค์กรรัฐมีหน้าที่เพียงแค่ป้องกันหรือบังคับใช้กฏหมายเมื่อมีการล่วงละเมิดเท่านั้น แต่จะต้องไม่มีการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นโดยหน่วยงานหรือคนของรัฐโดยเด็ดขาด สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในความเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อประชาชนความตื่นตัว ตระหนักในสิทธิของพวกเขาที่ควรจะได้มี และมีการติดตามเฝ้าระวังการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง

***** ในเมื่อเราทุกคนต่างก็มีชีวิตกันได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น และถ้าไม่มีผู้พิทักษ์วัฒนธรรมหน้าไหนคืนเวลาในชีวิตหรือคืนช่วงวัยแห่งความเป็นหนุ่มเป็นสาวให้กับใครได้ทั้งนั้น ถ้าการต้องมีชีวิตบนความคาดหวังของพวกผู้พิทักษ์วัฒนธรรม หรือเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมที่มันปล้นเอาโอกาสในการใช้เวลาในชีวิตให้ได้ประโยชน์สูงสุดแล้วละก็ ทำไมทุกคนยังต้องภาคภูมิใจกับวัฒนธรรมเหลือเดนจากอดีตพวกนั้นอีกล่ะครับ ถ้าวันใดวันหนึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ได้สูญหายหรือตายจากไป มันก็ไม่ควรค่าจะได้รับความรู้สึกอาลัยอาวรณ์จากใครทั้งสิ้น *****

การสูญเสียโอกาสที่จะได้เก็บเกี่ยวประสพการณ์ในแต่ละช่วงวัยของชีวิต อันเนื่องมาจากการถูกปิดกั้นโดยพวกผู้พิทักษ์วัฒนธรรม หรือจากการที่ต้องมีชีวิตอยู่บนความคาดหวังของคนประเภทเดียวกับคุณ "นาย ก" นั้น ผมเดาว่าคนอย่างเขาคงจะไม่คิดว่ามันเป็น "ความเสียหาย" หรอกครับ ยิ่งให้ตัวเขาได้ตระหนักว่าเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างความเสียหาย (ด้วยการเป็น "ตัวถ่วง" กับการมีเสรีภาพของคนอื่นๆ โดยการตั้งความคาดหวัง ยัดเยียดหน้าที่ และยอมรับความชอบธรรมให้กับหน่วยงานรัฐ) นั่นก็ยิ่งไม่มีทาง ถึงแม้เขาจะได้ตระหนัก แต่ตัวเขาคงไม่มีปัญญารับผิดชอบด้วยการคืนโอกาสหรือเวลาในชีวิตให้กับใครได้เลย ทั้งๆที่มันเป็น "หน้าที่" ที่ต้องรับผิดชอบ เวลาที่มีความเสียหายเกิดขึ้น มันก็ย่อมต้องมีการชดใช้

เมื่อพูดเรื่องสิทธิในการชมภาพยนตร์ ไม่ว่าผมจะมองกี่ครั้ง การเลือกชมภาพยนตร์ที่แต่ละคนต้องการ ในพื้นที่ส่วนบุคคลและในเวลาส่วนตัวนั้น มันก็ยังเป็นกิจกรรมที่อยู่ใน "ขอบเขตทางด้านสิทธิ" ของแต่ละคนอยู่ดี ยังไม่มีการล่วงละเมิด หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ใครทั้งสิ้น และทุกคนควรจะมีสิทธิได้ดูหน้งทุกเรื่องที่พวกเขาอยากดู ตราบใดที่ยังมีผู้สร้างหรือผู้จัดจำหน่าย ที่เต็มใจจะจัดหามาให้ได้ชม ไม่ว่าเนื้อหาที่นำเสนอในภาพยนตร์เหล่านั้น จะเต็มไปด้วยความวิปริตขนาดไหนก็ตาม มันก็ยังเป็นสิทธิที่ควรได้รับการเคารพ และได้รับการปกป้องให้ปลอดภัยจากพวกหน่วยงานรัฐหรือกลุ่มผู้พิทักษ์วัฒนธรรมทั้งหลาย และมันก็ไม่ควรจะเป็นธุระอะไรของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเข้ามาแทรกแซง ในเมื่อไม่มีใครที่ถูกละเมิดสิทธิจากกิจกรรมการชมภาพยนตร์เหล่านั้น และไม่มีใครต้องถูกบังคับให้ดูในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากดู

จะเห็นได้ชัดเลยใช่ไหมครับว่าเมื่อเปลี่ยนจากการกล่าวถึงผู้สร้างภาพยนตร์ มาเป็นการกล่าวถึงสิทธิของผู้บริโภคในการรับรู้รับชม ประเด็นมันไปไกลเกินกว่าประเด็นที่ว่า สิ่งที่หนังนำเสนอนั้นเป็นศิลปะหรือเป็นความอนาจาร มันเป็นหนังอาร์ทหรือหนังโป๊ เพราะในมุมมองของผู้ชมอย่างผม ถึงมันจะเป็นหนังเอ็กซ์ที่เต็มไปด้วยความวิตถารขนาดไหน มันก็ยังเป็นสิทธิทีผู้ชมทุกคนควรได้ดูหนังที่พวกเขาอยากจะดูอยู่วันยังค่ำ และต้องแยกแยะให้ออกนะครับว่า การชมภาพยนตร์ในที่ส่วนตัวหรือในที่ๆจัดไว้เพื่อการชมภาพยนตร์ อย่างในโรงหนัง โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับใครทั้งสิ้น กับการออกไปก่อคดีข่มขืนนัน มันคนละเรื่องกัน

สิทธิในการรับรู้นั้น ไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่แค่การชมภาพยนตร์เท่านั้น แต่ต้องรวมถึงกิจกรรมทุกอย่างที่สามารถตอบสนองต่อความอยากรู้อยากเห็นให้กับทุกคน ตราบใดที่กิจกรรมเหล่านั้นยังไม่ล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น อย่างเช่นสิทธิความเป็นส่วนตัว มันคงจะเกินขอบเขตของสิทธิที่ผมมี ถ้าผมเกิดความอยากรู้อยากเห็นว่า วันนี้ดาราที่ผมชอบใส่กางเกงในสีอะไร หรือ ชีวิตส่วนตัวของพวกเขาเป็นอย่างไร ถ้าการใช้ชีวิตส่วนตัวของพวกเขาไม่ส่งผลกระทบต่อใครก็ตาม อันนี้ก็ถือได้ว่าความอยากรู้อยากเห็นของผมมันรุกล้ำสิทธิของผู้อื่น แต่เราทุกคนก็ต้องแยกให้ออกเช่นกันครับ ระหว่าง ผลงานการแสดงที่เหล่าดาราและผู้สร้างภาพยนตร์เต็มใจจะนำเสนอ กับชีวิตส่วนตัวที่พวกเขาไม่เต็มใจจะนำเสนอให้เป็นที่รับรู้

พูดถึงชีวิตส่วนตัวของพวกนักแสดง เท่าที่ผมสังเกต บรรดาพวกพ่อแม่ผู้ปกครองมักจะชอบบ่นกันว่า ดารานักแสดงที่ไม่รู้จักควบคุมความประพฤติตัวเองจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน พูดง่ายๆก็คือลูกๆของพวกเขานั่นแหละครับ ผมสงสัยว่า ที่พวกเขารู้เกี่ยวกับความพฤติกรรมในชีวิตส่วนตัวของนักแสดงพวกนั้น เป็นเพราะพวกเขาอุดหนุนสื่อขยะอย่างพวกแทบบลอยด์กันหรือเปล่า ซึ่งเท่ากับว่าสนับสนุนให้พวกปาปาราซซี่เที่ยวล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น เพียงแค่พวกเขาไม่สนับสนุนเท่านั้น สื่อเหล่านั้นก็จะไม่สามารถจะนำเสนอพฤติกรรมที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูกๆของพวกเขาได้ แต่คงเป็นเพราะว่าพวกเขาต้องการหาแพะให้กับความล้มเหลวของตัวเอง ที่ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกๆกันได้ พวกเขาจึง "ถือสิทธิ" ที่เกินขอบเขตของตน ไปตั้งความหวังให้พวกนักแสดงเหล่านั้นต้องมามีชีวิตอยู่บนความคาดหวังของพวกเขา ด้วยการอ้างว่านักแสดงเป็นคนของประชาชน ทั้งๆที่มันไม่ใช่ "หน้าที่" ของนักแสดงเลย นักแสดงมี "หน้าที่" นำเสนอผลงานการแสดง ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ความบันเทิงหรือเพื่อยกระดับศิลปะการแสดงก็ตามแต่ ยังไงมันก็ไม่ใช่ "หน้าที่" ของพวกเขาที่ต้องเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก และพวกนักแสดงก็ไม่ได้ติดค้างอะไรกับสาธารณชนทั้งสิ้น ในเมื่อความบันเทิงที่สาธารณชนได้จากพวกนักแสดงเหล่านั้น ก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรมดีแล้ว เหมือนกับการแลกเปลี่ยนอย่างอื่น

และมันก็เกินขอบเขตทางด้านสิทธิของคนอย่างคุณ "นาย ก" เช่นกันครับ ที่จะเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการ หรือ ละลาบละล้วง ให้ทุกคนต้องเอาเสรีภาพส่วนบุคคลมาวางไว้บนความคาดหวังของเขา ต้องเลือกชมแต่เฉพาะภาพยนตร์ที่คนประเภทเดียวกับเขาเป็นผู้ให้การรับรอง ให้ผมหรือผู้ชมคนอื่นๆต้องไปเที่ยวคอยรับผิดชอบต่อทุกคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ หรือต้องคอยรับผิดชอบต่อการกระทำของอาชญากรทั้งโลกหรอกนะครับ เพราะมันเกิน "ขอบเขตทางด้านหน้าที่" ของผม ในขณะที่ ผู้ที่ก่อคดีก็บกพร่องใน "หน้าที่ขั้นพื้นฐาน" ของตนเอง

การรู้จักใช้วิจารณญาณในการแยกแยะสิ่งที่สื่อนำเสนอกับความเป็นจริง การรู้จักควบคุมความประพฤติของตนไม่ให้ก่อความเดือดร้อนต่อผู้อื่น เป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรจะต้องรู้ก่อนที่จะบรรลุนิติภาวะด้วยซ้ำ (ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ควรจะอยู่ภายใต้การอบรมและการดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครอง มันเป็น "หน้าที่" ที่พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนควรจะมีความรับผิดชอบต่อลูกๆของตัวเอง) ทุกๆคนควรจะตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้ในทุกๆการกระทำของตน ถ้า "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" ในความหมายของคุณ "นาย ก" คือผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ก็ยังคงบกพร่องในเองพื้นฐานเหล่านี้ ไม่รู้จักแยกแยะ ไม่รู้จักใช้วิจารณญาณ หรือไม่รู้จักควบคุมตนเอง แล้วละก็ สำหรับคนพวกนี้ ทุกอย่างเป็น "สิ่งยั่วยุ" ได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่พวกเขาเจอในภาพยนตร์หรือสื่ออื่นๆ อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ถ้ามันสอดคล้องกับความไม่ปรกติที่พวกเขามีในตัว ก็จัดได้ว่าเป็นตัวกระตุ้นได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่การได้เห็นแม่ของพวกเขานุ่งกระโจมอก

แต่ถ้าหากคุณ "นาย ก" ยังยืนยันที่จะยัดเยียดหน้าที่ในการหลีกเลี่ยงการชมภาพยนตร์ที่มีเนื้อหายั่วยุให้กับทุกๆคน หรืออ้างเหตุผลว่า การช่วยปกป้องผู้ที่ยังไม่พร้อม ก็ควรจัดอยู่ใน "ขอบเขตด้านหน้าที่" ของทุกๆคนด้วยแล้วละก็ ถ้าจะให้ผมคิดแบบคุณ "นาย ก" นะครับ ผมก็คิดว่า แทนที่จะมายัดเยียดหน้าที่ให้กับผู้ชม มันจะไม่ดีกว่าเหรอครับถ้าเอาเวลาไปชี้ให้ "ผู้ที่ยังไม่พร้อมทั้งหลาย" ได้ตระหนักว่า สำหรับพวกเขา มันยังมีหน้าที่อันเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่งรออยู่ มันเร่งด่วนเสียยิ่งกว่าหน้าที่ๆผู้สนับสนุนการเซ็นเซอร์อย่างคุณ "นาย ก" เที่ยวคาดคั้นเอากับผู้ชมอย่างผมเสียอีก หน้าที่ของพวก "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" เหล่านี้ก็คือ พวกเขาจำเป้นจะต้องรู้ว่า การรู้จักใช้วิจารณญาณในการแยกแยะและการควบคุมตัวเองนั้น มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดในการมีชีวิต ถ้าการมีชีวิตในแต่ละวันของพวกเขายังต้องให้คนอื่นมาคอยรับผิดชอบอีกละก็ การปล่อยให้พวกเขาได้อยู่ต่อไปเรื่อยๆ มันก็รังแต่จะเป็นการเสี่ยงต่อตัวพวกเขาเอง กับการที่ต้องพบเจอกับ "สิ่งยั่วยุ" จนควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วแสดงพฤติกรรมด้านลบของตนออกมาจนคนอื่นต้องได้รับความเดือดร้อน สิ่งที่พวกเขาต้องรีบทำอย่างเร่งด่วนก็คือ "รีบตายๆกันไปซะ" ก่อนที่พวกเขาจะได้เจอกับสิ่งยั่วยุ !!!!!! เพราะถ้าปล่อยให้คนพวกนี้มีชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ คนอื่นๆก็จะต้องมามีชีวิตอยู่บนความเสี่ยง โดยที่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคนพวกนี้จะระเบิดพฤติกรรมด้านลบออกมาเมื่อไร

นี่ว่ากันตามแนวคิดของคุณ "นาย ก" นะครับ เพราะมันจะไม่เป็นการดีกว่าหรือครับที่จะไปคาดคั้น "หน้าที่" เอากับพวกกลุ่มเสี่ยงโดยตรงไปเลย

เห็นได้เลยนะครับว่า "ขอบเขตทางด้านหน้าที่" ก็มีความสำคัญพอๆกับ "ขอบเขตทางด้านสิทธิ " นอกจากทุกคนควรมีขอบเขตทางด้านสิทธิที่จำกัดแล้ว ก็ควรจะมีขอบเขตทางด้านหน้าที่ๆจำกัดด้วยครับ ไม่เช่นนั้น "ผู้ที่ยังไม่พร้อมทั้งหลาย" ทั้งผู้ที่บรรลุนิติภาวะหรือยังไม่บรรลุ ก็จะใช้เป็นข้ออ้างให้กับความบกพร่องในหน้าที่ของตนได้เรื่อยๆ ด้วยการโยน "หน้าที่ๆเกินขอบเขต" ให้กับใครต่อใคร หรือสื่อที่พวกเขาเลือกจะชมเพื่อที่จะเอามาเป็นต้นตอให้กับพฤติกรรมด้านลบของตัวเอง

ผมลองจินตนาการดูเล่นๆว่ามันจะเป็นยังไง ถ้าเกิดมีคนไปปาขี้ใส่หน้าคุณลัดดา เพราะว่าเขาถูก "ยั่วยุ" จากถ้อยคำที่คุณลัดดาให้สัมภาษณ์ผ่าน "สื่อ" แล้วเขาก็อ้างบ้างว่ามันเป็น "หน้าที่" ของคุณลัดดาที่ควรจะระมัดระวังทุกๆครั้งก่อนจะอ้าปากพูด เพราะอาจจะหลุดปากพูดในสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดการยั่วยุเกิดขึ้น ถ้ามีสิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ผมว่าเขามีข้ออ้างที่ฟังขึ้นมากกว่าข้ออ้างที่คุณ "นาย ก" ใช้แก้ตัวให้พวกอาชญากรเสียอีก เพราะสิ่งที่คุณลัดดาทำ นอกจากจะยั่วยุแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อ "ขอบเขตด้านเสรีภาพ" ของเขาด้วย

ถ้าเรายอมรับได้ว่า สิ่งที่สื่อนำเสนอสามารถ “ยั่วยุ” ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ เท่ากับเรายอมรับเช่นกันว่านะครับว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านั้นสามารถใช้ “การยั่วยุ” เป็นข้ออ้างเพื่อรับบาปแทนตัวเองได้เช่นกัน สิ่งที่ต้องระวังก็คือ ข้ออ้างเรื่อง “การยั่วยุ” ที่นอกเหนือจากการยั่วยุโดยตรง (อย่างกรณีการบันดาลโทสะ ที่ผู้ก่อเหตุถูกยั่วยุโดยเจตนาจากคู่กรณี) สามารถใช้ได้ครอบจักรวาลเลยครับ ไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่ "สื่อ" นำเสนอเท่านั้น


มันมีคำถามสำคัญที่ควรจะนำมาพิจารณาเมื่อพูดถึงเรื่องการยั่วยุก็คือ จริงหรือไม่ที่สื่อเป็นต้นตอหลักของพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ? ถ้าจริง สื่อ สามารถส่งอิทธิพลต่อผู้ที่ยังไม่พร้อมได้ไกลแค่ไหน? ใครควรเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายจากพฤติกรรมเหล่านั้น เมื่อนำเรื่อง ขอบเขตทางด้านสิทธิและหน้าที่มาพิจารณา? การปิดกั้นใช้แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่? และอะไรคือต้นตอของ "ความไม่พร้อม"?

ผมเองก็เคยสงสัยว่าทำไมประเทศนี้ถึงเต็มไปด้วยอันตรายอันเกิดจาก "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" ทั้งๆที่เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในสังคมไทยเองก็ได้ถูกปิดกั้นอย่างแน่นหนา เมื่อเทียบกับสังคมอื่นที่เสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรอง ทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้จึงไม่ค่อยจะเกิดขึ้นในที่เหล่านั้น และเท่าที่ได้สังเกตุ ในประเทศที่เต็มไปด้วย "ผู้ที่ยังไม่พร้อม" ก็มักจะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยการปิดกั้นในทุกรูปแบบเช่นกัน และถ้าความไม่พร้อมสามารถวัดเป็นปริมาณได้ ปริมาณของความไม่พร้อมก็มักจะแปรผันโดยตรงกับปริมาณของการปิดกั้นเสียด้วยสิครับ หรือบางที ผมก็ไม่แน่ใจว่า เราควรถูกปิดกั้นไปเรื่อยๆเพราะเราคงจะไม่มีวันพร้อม หรือ เป็นเพราะเราถูกปิดกั้นมากเกินไปหรือเปล่า เราถึงไม่รู้จักโตกันเสียที

ถ้าอยากจะทราบว่าการปิดกั้น (ซึ่งการเซ็นเซอร์ก็ถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่ง) มันใช้แก้ปัญหาด้านความรุนแรงและปัญหาด้านพฤติกรรมต่างๆได้จริงหรือเปล่า เราก็ต้องนำสังคมที่เต็มไปด้วยการปิดกั้นกับสังคมที่มีการรับรองเสรีภาพมาลองเปรียบเทียบกันดูนะครับ ลองเอาที่แตกต่างกันแบบสุดๆมาเทียบดูกันเลย เพื่อที่จะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

ลองนึกถึงสังคมในประเทศอย่างอาฟกานิสถานในยุคที่ถูกปกครองโดยพวกทาลีบัน ที่ประชากรต้องอยู่ภายใต้กรอบจารีตอย่างที่เคร่งครัด ที่ซึ่งสื่อต่างๆกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ทุกสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดแรงกระตุ้นทางเพศนอกการสมรสเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ที่ซึ่งผู้หญิงไม่สิทธิออกนอกบ้านโดยไม่มีญาติฝ่ายชายคอยตามประกบ ไม่มีสิทธิได้รับการตรวจรักษาด้วยการแตะเนื้อต้องตัวจากหมอผู้ชาย ไม่เว้นแม่แต่ในกรณีฉุกเฉิน หรือสังคมยุโรปในยุคกลาง ที่องค์กรศาสนามีอำนาจเต็มที่ในการบังคับให้ทุกๆคนต้องอยู่ใต้กฏเกณฑ์ที่พวกเขาเขียนขึ้น ทุกอย่างที่ให้ความรื่นรมย์ทางผัสสะถือได้ว่าเป็นสิ่งยั่วยุ ไม่เว้นแม้กระทั่งดนตรี มีการเฝ้าระวังกิจกรรมทุกอย่างที่อยู่นอกเหนือไปจากข้อปฏิบัติทางศาสนา

ถ้าว่ากันตามหลักของคุณ "นาย ก" แล้ว สังคมที่ปราศจากสิ่งยั่วยุเหล่านั้นน่าจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความราบรื่นใช่ไหมครับ ไม่น่าจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมหรือความรุนแรงต่อเด็กและสตรี แต่บางที ในความเป็นจริง ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในสังคมเหล่านั้นอาจจะไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย โรงภาพยนตร์ถือได้ว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะการปล่อยให้หญิงและชายที่ไม่ใช่คู่สมรสไปอยู่ในห้องมืดๆด้วยกันมันขัดกับข้อห้ามทางศาสนา แต่ทำไมบรรดาผู้ก่อการร้ายตัวแสบๆที่ไม่เคยลังเลใจเวลาสังหารผู้บริสุทธิ์จึงมักจะมาจากที่นี่

จะเห็นได้เลยนะครับว่า การปิดกั้นในระดับที่เข้มข้นขนาดนี้มันก็ไม่ได้แก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมแต่อย่างใดเลย ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีก็ยังเกิดขึ้นเป็นประจำเหมือนเป็นเรื่องปรกติ ยิ่งกรอบที่บังคับใช้ต่อสตรีและการปลูกฝังทางด้านขนบจารีตมีความเข้มข้นมากขึ้นเท่าใด สตรีเหล่านั้นก็สามารถยอมรับการปฏิบัติได้ต่ำกว่าความเป็นมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น เพราะมีแต่การปลูกฝังให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย ที่จะทำให้ผู้ที่อยู่ใต้กรอบข้อบังคับยอมรับสภาพของการถูกปฏิบัติแย่ๆ หรือถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงได้ ในสังคมแบบนี้ การจับกุมและเผาทั้งเป็นเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีความคิดแตกต่าง หรือกับใครก็ตามที่บังอาจตั้งคำถามต่อกลุ่มที่ผูกขาดทางด้านศีลธรรม ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นพวกนอกรีต ฝูงชนที่เชื่อในจารีตพวกนั้นก็สามารถจะยืนดูเฉยๆโดยไม่มีการต่อต้าน ขนบจารีตที่เคร่งครัดแบบนี้นี่เองครับ ที่ทำให้ยุโรปเข้าสู่ยุคมืดเป็นเวลาหลายศตวรรษทีเดียว

บางท่านอาจจะแย้งว่า ความรุนแรงและสงครามที่เกิดขึ้นในยุโรปยุคกลาง เป็นผลอันเนื่องมาจากอิทธิพลของ "สื่อ" ในยุคนั้น อย่างคัมภีร์ไบเบิ้ล ซึ่ง "ยั่วยุ" ได้แม้แต่ประชาชนทั่วไปที่มีสภาพจิตปรกติ ให้ก่อสงครามและความรุนแรง แต่ปัญหาก็คือ ฝูงชนทั้งหลายที่มีส่วนร่วมในความรุนแรงเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้ที่มีสภาพจิตปรกติ และความไม่ปรกตินันไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ประชาชนเหล่านั้นได้เข้าถึงเนื้อหาของคัมภีร์ไบเบิ้ล แต่เป็นเพราะการปลูกฝังทางด้านกรอบจารีต ทำให้พวกเขามีสิทธิจะรู้ได้แค่เฉพาะเนื้อหาของคัมภีร์ไบเบิ้ลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่จะได้รับรู้แนวคิดทางปรัชญาอื่นๆที่นอกเหนือไปจากหลักคำสอนทางศาสนา การถูกตัดขาดจากการรับรู้อย่างรอบด้านนี่เองที่ตัดโอกาสของทุกคนในการตอบสนองต่อความต้องการและความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของมนุษย์ แม้ว่าการตอบสนองเหล่านั้นจะเป็นการกระทำที่ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใครเลยก็ตาม ความเคร่งครัดที่มาพร้อมกับความคับข้องใจเรื้อรังจะดูดซับพลังงานที่ควรใช้กับความคิดสร้างสรรค์ไปจนหมด แล้วทดแทนด้วยความเกลียดชังและอัคติ ในสังคมแบบนี้ สงครามก็เป็นทางออกอย่างหนึ่งที่สังคมเหล่านั้นใช้ในการลดแรงเสียดทานที่อยู่ภายใน ทุกครั้งที่ผลด้านลบของการอยู่ใต้กรอบจารีตเริ่มแสดงผล ผู้คนอาจจะเริ่มไม่พอใจกับสภาพชีวิตที่ตายซากอย่างนี้ แทนที่จะรอให้พวกเขาเริ่มตั้งคำถามกับฝ่ายที่ผูกขาดและได้ประโยชน์จากระบบจารีต มันจะไม่ง่ายกว่าเหรอครับที่จะหันไปโทษปัจจัยที่มาจากภายนอก อย่างความเสื่อมทรามจากสังคมที่ศิวิไลซ์กว่า แล้วก็เริ่มก่อสงคราม

มีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งที่พอจะพบได้จากผู้คนที่อยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเคร่งครัดก็คือ มันง่ายมากที่พวกเขาจะถูกปั่นหัวคนให้ไปตายในสมรภูมิเพื่อสนองความกระหายอำนาจของผู้นำ เพราะการอยู่ใต้การปิดกั้นมาเป็นเวลานาน ทำให้มันง่ายกว่าสำหรับพวกเขาที่จะ “เชื่อ” มากกว่าที่จะ “คิด” ตั้งคำถาม และในสังคมของพวกเขา การ "เซ็นเซอร์" คือกลไกที่จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาอำนาจ หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแบบที่เป็นอยู่ เพราะถ้าปล่อยให้ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ ได้รับรู้ข้อมูลของโลกที่ต่างออกไป หรือระบบวิธีคิดจากภายนอกที่สามารถชี้ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถมีชีวิตอีกแบบหนึ่งได้ “การค้นพบ” นี้เอง อาจจะนำมาซึ่งสิ่งที่คุณ “นาย ก” อาจจะเรียกว่า “ความวุ่นวาย” เพราะผู้คนก็จะเริ่มเปรียบเทียบและเรียกร้องเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นของพวกเขามาโดยตลอด

ทีนี้ก็ลองมาดูสังคมที่เต็มไปด้วยเสรีภาพกันบ้าง อย่างสังคมของบางประเทศในยุโรป อย่างเยอรมัน ที่ซึ่งแม่แต่ในสถานีโทรทัศน์ทั่วไป ผู้ชมก็สามารถดู pornography ได้ในช่วงดึก ในกลุ่มประเทศอื่นๆที่พูดเยอรมัน อย่างออสเตรียกับสวิสเซอร์แลนด์ ก็ถือได้ว่าเป็นที่ๆปลอดการเซ็นเซอร์เช่นเดียวกัน ผู้คนก็ค่อนข้างจะมีทัศนคติที่เสรีในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่เห็นว่าคนในรัฐบาลเอาข้ออ้างเรื่อง "ความไม่พร้อม" เข้ามายุ่มย่ามกับสิทธิการรับรู้ของคนทั่วไปอย่างที่เราทำ ทั้งๆที่ประเทศเหล่านั้นก็ไม่เคยขาดแคลนนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์หรือด้านจิตวิทยา อย่าลืมนะครับว่าอย่างน้อยทั้งสองประเทศนี่ก็เป็นดินแดนที่ให้กำเนิดผู้บุกเบิกทฤษฎีด้านจิตวิเคราะห์ อย่าง Sigmund Freud กับ Carl Jung ไม่ได้มีแต่พวกนักวิชาการกำมะลอ ที่ชอบออกมาโวยวายเรื่องเนื้อหาที่สื่อนำเสนอ เพียงเพื่อสร้างผลงานให้ตัวเอง

หรืออย่าง ในเนเธอร์แลนด์ ที่ซึ่งการค้าประเวณี เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ค้าประเวณีได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายได้ระบุ ในเรื่องความปลอดภัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมไปถึงสุขอนามัย หรือเอาที่ใกล้เข้ามาหน่อยอย่างญี่ปุ่น ที่ซึ่งหนังเอ็กซ์แบบพิสดารสุดๆสามารถหาชมได้ตามเซ็กส์ช็อพที่มีอยู่ทั่วไป แต่ทำไมสังคมเหล่านี้ถึงได้มีอัตราการเกิดอาชญากรรมทางเพศที่เรียกได้ว่าต่ำที่สุดในโลกล่ะครับ ทั้งยังเป็นที่ๆผู้หญิงที่นุ่งน้อยห่มน้อยสามารถเดินตามถนนได้ด้วยความรู้สึกที่ปลอดภัย และพวกอาชญากรที่ก่อคดีข่มขืนก็ไม่มีสิทธิโยนความผิดไปให้เหยื่อด้วยการอ้างว่าเหยื่อแต่งตัว "ยั่วยุ" ผิดกับสังคมด้อยพัฒนาบางประเทศที่ผู้คนถูกปิดกั้นจนกลายเป็นพวกเก็บกดทางเพศกันเต็มไปหมด ทีซึ่งพวกอาชญากรมีข้ออ้างให้กับพฤติกรรมของตัวเอง หรือบางทีก็เป็นพวกผู้พิทักษ์วัฒนธรรมทั้งหลายแหล่นั่นเองแหละครับที่คอยหาข้ออ้างให้อาชญากรเหล่านั้น

จากที่ลองเปรียบเทียบสังคมที่ต่างกันอย่างสุดขั้วดูแล้ว ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่า "การปิดกั้น" ซึ่งรวม "การเซ็นเซอร์" เอาไว้แล้วนั้น เป็น "วิธีการแก้ปัญหา" หรือเป็น "ต้นเหตุของปัญหา" กันแน่ครับ? ผมว่ามันค่อนข้างจะแปลกประหลาดมากเลยนะครับ ถ้าคุณ "นาย ก" จะนำเอาต้นเหตุของปัญหามาใช้แก้ปัญหาแล้วล่ะก็ ตัวคุณ "นาย ก" เอง ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ชอบสร้างปัญหาก็ได้

No comments: