Monday, July 15, 2013

THE HARDSHIP IN BEW'S LIFE (2013, Thanapruet Prayoonprom, A+30)


สิ่งที่ชอบมากๆใน “ความลำบากยากเย็นในช่วงชีวิตของนายบิว”

 

(เราฟังประโยคสนทนาในเรื่องไม่ออกในหลายช่วงมากๆ ก็เลยอาจจะเข้าใจหนังเรื่องนี้ผิดไปบ้าง ถ้าเข้าใจผิดอะไรยังไงก็ขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วย)

 

1.เราดูแล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรง ทั้งๆที่หนังมันตลกมากๆ เราไม่รู้ว่าผู้กำกับตั้งใจอะไรยังไง แต่หนังเรื่องนี้มันทำให้เรานึกถึง “ความเล็กกะจ้อยร่อยของชีวิตเราเอง” น่ะ ประโยคสนทนาช่วงท้ายของหนังมันทำให้เราเศร้ามากเลยนะ มันคือการ disillusion ของชีวิตน่ะ แต่มันก็ไม่ได้ฟูมฟายกับการ “สงสารตัวเอง” ด้วย คือเหมือนพระเอกมันพยายามจะทำใจยอมรับว่า ชีวิตมันก็คงเป็นได้แค่คนธรรมดาคนนึง ยังไงก็สู้เพื่อนรวยๆไม่ได้หรอก ไม่ว่าตัวพระเอกจะเคยมีความฝันความหวังอะไรในชีวิตมาก่อนก็ตาม

 

สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่จี๊ดใจตัวเราเองมากๆเป็นการส่วนตัวนะ และมันเป็นสิ่งที่ขัดกับหนังบางเรื่องในเทศกาลมาราธอนด้วย โดยเฉพาะหนังที่เด็กมัธยมทำ เพราะหนังบางเรื่องทั้งในและนอกเทศกาลมาราธอน มันเป็นหนังที่ too optimistic สำหรับเราน่ะ อย่างเช่นเรื่อง “THE WAY I WANT วันที่ฝันเป็นจริง” (สุภาณี ลิ้มโรจน์นุกูล, A+15) ที่เราชอบมากๆ แต่สาเหตุที่เราไม่ได้ให้ A+30 กับ THE WAY I WANT เป็นเพราะตอนจบของหนัง ตัวละครนางเอกเหมือนจะเชื่อว่า “สักวันฉันจะทำให้ฝันเป็นจริงได้” ซึ่งมันไม่ผิดหรอกที่นางเอกของหนังหรือผู้สร้างหนังเรื่องนี้จะเชื่อเช่นนั้น เพียงแต่ว่ามันทำให้เราดีดตัวออกห่างจากหนังเท่านั้นเอง เพราะเราไม่เชื่อเช่นนั้นแล้ว

 

เพราะฉะนั้นตอนจบของ  ความลำบากยากเย็นในช่วงชีวิตของนายบิวก็เลยเป็นสิ่งที่เราโหยหาจากหนังหลายๆเรื่อง แต่หาไม่เจอ จนมาเจอในหนังเรื่องนี้นี่แหละ และเราก็ชอบที่ตัวพระเอกไม่ได้ฟูมฟายกับความธรรมดาของชีวิตมันด้วย เพราะชีวิตมันก็ไม่ได้ลำบากยากแค้นอะไร เพียงแค่ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นผู้กำกับชื่อดัง,คนรวย หรือคนที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เท่านั้นเอง

 

2.นอกจากตอนจบแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกในหนังเรื่องนี้ที่ทำให้เรานึกถึง “ความเล็กกะจ้อยร่อยของชีวิตเราเอง” อย่างเช่น “การถ่ายภาพจากระยะไกลหรือค่อนข้างไกลในหลายๆฉาก คือถ้าเป็นในหนังเรื่องอื่นๆ หนังมันคง close up ไปที่หน้าตัวละครเอก หรือหน้าตัวละครที่กำลังพูดน่ะ แต่หนังเรื่องนี้ใช้วิธีถ่ายจากระยะค่อนข้างไกลในหลายๆฉากที่ตัวละครคุยกัน มันก็เลยยิ่งทำให้เรานึกถึงความเล็กกะจ้อยร่อยของชีวิตเรา และมันทำให้หนังเรื่องนี้ treat พระเอก “ในระดับที่เท่ากับ” ตัวประกอบในหลายๆฉากด้วย มันไม่ได้ treat พระเอกในแบบที่ว่า “โห เรื่องของมึงยิ่งใหญ่มากเลยว่ะ ปัญหาของมึงยิ่งใหญ่มาก” คนอื่นๆในชีวิตมึงเป็นแค่ตัวประกอบที่มีหน้าที่คอยเสริมให้มึงเด่นขึ้นเท่านั้น เราว่าวิธีการที่หนังเรื่องนี้ใช้มันทำให้ตัวประกอบทุกตัวดูมีชีวิตเป็นของตัวเอง, ดูเป็นมนุษย์มากขึ้น แม้แต่คนที่เดินผ่านไปผ่านมาหน้า 7-ELEVEN คือในหนังเรื่องอื่นๆ เราจะรู้สึกว่าตัวประกอบที่เดินผ่านไปผ่านมาหน้า 7-ELEVEN มันเป็นตัวประกอบที่ “เกิดมาเพื่อเดินผ่านฉาก” เท่านั้นน่ะ แต่ในหนังเรื่องนี้ เราจะรู้สึกว่าตัวประกอบทุกตัวที่เดินผ่านไปผ่านมาหน้า 7-eleven มันมีชีวิตเป็นของตัวเอง ทั้งๆที่หนังมันไม่ได้พาเราเข้าไปรู้จักชีวิตของพวกเขาเลยแม้แต่คนเดียวก็ตาม ซึ่งนั่นเป็นเพราะวิธีการถ่ายภาพของหนังที่ทำให้เรารู้สึกเช่นนี้ โดยเฉพาะในฉากนึงที่หนัง treat ตัวละครเอกด้วยการถ่ายภาพจากระยะที่ไกลเท่าๆกับคนที่เดินผ่านไปผ่านมาหน้า 7-ELEVEN

 

3.นอกจาก “การลดทอนความยิ่งใหญ่ของพระเอกด้วยการถ่ายภาพจากระยะค่อนข้างไกล” แล้ว หนังเรื่องนี้ยังลดทอนความยิ่งใหญ่ของพระเอกหรือตัวละครบางตัวด้วย “เสียง” ด้วย คือแทนที่หนังเรื่องนี้จะโฟกัสไปที่เสียงคุยของตัวละคร หนังเรื่องนี้ยังมีการใช้เสียงในแบบที่เหมือน “หนังทดลอง” มากๆ ในหลายๆฉาก อย่างเช่น

 

3.1 ในบางฉาก เราไม่ได้ยินเสียงตัวละครคุยกัน เพราะเสียงรถไฟฟ้า หรือเสียง ambient อะไรต่างๆ มันดังกลบไปหมด ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจ, หรือว่าบันทึกเสียงไม่ดี, หรือว่ามิกซ์เสียงไม่ดี, หรือเป็นเพราะความผิดพลาดทางการฉาย แต่เราว่าในบางฉาก มันทำให้เรารู้สึกถึงความเล็กกะจ้อยร่อยของตัวละคร ที่แม้แต่เสียงของพวกเขา ก็ถูกกลบทับด้วยเสียงของอะไรอื่นๆ

 

3.2 ในบางฉาก เราได้ยินเสียงตัวละครประกอบ แต่เราเห็น subtitle บทสนทนาของตัวละครหลัก

 

3.3 ในบางฉาก เราได้เห็นภาพจากฉากนึง แต่ได้ยินเสียงจากอีกฉากนึง

 

3.4 ในบางฉาก เราได้ยินเสียงตัวละครคุยกัน แต่เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนพูดประโยคไหน เพราะหนังถ่ายภาพจากระยะค่อนข้างไกล

 

คือเราไม่รู้หรอกว่าผู้กำกับตั้งใจอะไรยังไง แต่เราชอบหนังทดลองน่ะ และเราก็ชอบ element แบบนี้ที่มันมาปรากฏในหนังเรื่องนี้

 

4.เราชอบความสับสนของพระเอกด้วย เราว่าหนังนำเสนอความ insecure ของพระเอกได้ดีพอๆกับหนังของ Caveh Zahedi เลย เราชอบความสับสนของพระเอกตั้งแต่ฉากที่สองแล้ว ที่เป็นพระเอกเล่นเครื่องดนตรี แล้วก็มี text อะไรต่างๆขึ้นมายุ่บยั่บเต็มไปหมด มันทำให้เรานึกถึงความสับสนในการเลือกแนวทางชีวิต  และวิธีการใช้เสียงแบบต่างๆที่เราบรรยายไว้ในข้อ 3 มันก็ช่วยสร้างความสับสนของชีวิตในแบบที่เราชอบด้วย

 

5.ทั้งการถ่ายภาพและการใช้เสียงในหนังเรื่องนี้ รวมทั้งเนื้อเรื่องของหนัง มันทำให้หนังไม่บีบบังคับให้เรา focus ไปที่ชีวิตของพระเอกแบบในหนังเรื่องอื่นๆน่ะ แต่มันเหมือนกับว่ารอบๆตัวพระเอกมันมีพลังชีวิตอะไรบางอย่างไหลเวียนไปมาเต็มไปหมด คือในหนังเรื่องอื่นๆมันคงจะ close up หน้าพระเอก และทำให้คนดูได้ยินเสียงพูดของพระเอกชัดๆในทุกๆฉาก แต่ในหนังเรื่องนี้ มันเหมือนกับว่ามันมีอะไรยุ่บยั่บ, สับสนอลหม่าน และ “มีชีวิตเป็นตัวของตัวเอง” เกิดขึ้นรอบพระเอกอยู่ตลอดเวลา เราก็เลยชอบจุดนี้มากๆ เพราะมันทำให้เรานึกถึงหนังหรือละครเวทีที่เราชอบมากๆบางเรื่อง อย่างเช่น บ้านคัลท์เมืองคัลท์ (2013, วิชย อาทมาท, A+30) คือในละครเวทีเรื่องนี้ เต้ ไกรวุฒิเคยเขียนถึงว่า มันเหมือนมี “ช่องลม” อะไรบางอย่าง ไหลเวียนอยู่รอบๆเวที คือแทนที่ละครเวทีเรื่องนี้จะเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงอย่างชัดเจนให้คนดูติดตามได้ง่ายๆ แต่มันเหมือนกับว่าเนื้อเรื่องมันโดนลดทอนความสำคัญคงไปดีกรีนึง และมีองค์ประกอบอะไรบางอย่างที่ถูกขับเน้นขึ้นมาแทน และมันทำให้ละครเวทีเรื่องนี้มันดูเหมือน “มีอิสระ” อะไรบางอย่างมากกว่าละครเวทีที่เล่าเรื่องแบบเน้นความสำคัญของเนื้อเรื่องเพียงอย่างเดียว

No comments: