เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน (2012, จิรัศยา วงษ์สุทิน)
สิ่งที่นึกถึงหลังจากดู “เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน”
1.ชอบที่หนังจับเอาช่วงเวลาสั้นๆแค่ช่วงเวลาเดียว
แต่สะท้อนอะไรได้เยอะมากๆ จุดนี้ของหนังทำให้นึกถึงคำพูดของ Fred Kelemen ที่ว่า
หนังของเขาอย่างเช่นเรื่อง FATE (1994, A+30) กับ NIGHTFALL
(1999, A+30) นำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพียงในช่วงคืนเดียว
เพราะเขาเชื่อว่าแค่นั้นก็เพียงพอแล้วในการสะท้อนชีวิตของตัวละครของเขาได้เกือบทั้งชีวิต
เนื่องจาก “เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน” ทำให้เรานึกถึงคำพูดของ Fred Kelemen ดังนั้นเราขอ
quote สิ่งที่เราเคยเขียนถึง Fred Kelemen มาเลยแล้วกันนะจ๊ะ
“ผู้ชมบางคนเคยตั้งคำถามกับเคเลเมนว่า
เพราะเหตุใดหนังบางเรื่องของเขา อย่างเช่น KALYI, FATE และ NIGHTFALL ถึงเลือกที่จะดำเนินเนื้อเรื่องเพียงในเวลาหนึ่งวันหนึ่งคืนเท่านั้น
ซึ่งเคเลเมนก็ตอบว่า ในบางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครเพียงในเวลา 24 ชั่วโมง
ก็สามารถสะท้อนความเป็นจริงทั้งหมดได้แล้ว
เหมือนอย่างเช่นในการจะวิเคราะห์คุณลักษณะของน้ำ
เราก็สามารถวิเคราะห์ได้โดยการนำน้ำเพียงหนึ่งหยดมาผ่านการวิเคราะห์องค์ประกอบ
โดยที่เราไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์น้ำหมดทั้งกาละมังแต่อย่างใด
เคเลเมนกล่าวในเชิงที่ว่า ช่วงเวลาเพียงหนึ่งวันในหนังเรื่องนี้ก็เพียงพอที่จะสะท้อนสาระสำคัญได้แล้ว
และเขาได้ยกตัวอย่างว่า หนังสงครามบางทีอาจจะนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงใน 1 วันก็ได้
โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำเสนอภาพของสงครามเป็นเวลานานหลายปี
เพราะการนำเสนอเหตุการณ์ที่ยืดยาวอาจจะเพียงแค่ทำให้มีตัวละครตายเพิ่มขึ้นเท่านั้น
แต่แก่นสารที่แท้จริงของสงครามก็แทบจะไม่ได้แตกต่างจากกันเลยในแต่ละวัน”
ช่วงเวลาเพียงแค่ 12 นาทีในหนังเรื่อง “เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน”
ก็สะท้อนความรัก, ความผูกพัน
และนิสัยใจคอของนางเอกทั้งสองคนในเรื่องได้เป็นอย่างดี และอารมณ์ในตอนท้ายก็เจ็บปวดมากๆ
การจับช่วงเวลาสั้นๆของ “เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน”
ทำให้เรานึกถึงหนังอีกเรื่องนึงที่มีประเด็นบางอย่างคล้ายคลึงกัน แต่ขาดจุดสำคัญจุดนี้ไป
นั่นก็คือเรื่อง THE WAY I WANT วันที่ฝันเป็นจริง (2013,
สุภาณี ลิ้มโรจน์นุกูล, A+15)
THE WAY I WANT พูดถึงประเด็นหลายๆประเด็น
แต่มีประเด็นนึงที่ตรงกับ “เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน”
นั่นก็คือความผูกพันของเพื่อนหญิงสองคนที่คนนึงกำลังจะต้องเดินทางจากไป เราชอบ THE
WAY I WANT มากๆ
แต่เราว่าหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องที่กินขอบเขตเวลานานเกินไป พลังของหนังมันเลยไม่ “ข้นคลั่ก”
เหมือนอย่างหนังที่จับช่วงเวลาที่สั้นกว่า เราว่าถ้าหาก THE WAY I WANT เลือก concentrate สถานการณ์ในหนังได้มากกว่านี้
หนังเรื่องนี้อาจจะทรงพลังมากขึ้น อย่างไรก็ดี ถ้าเข้าใจไม่ผิด ผู้กำกับ THE
WAY I WANT น่าจะเป็นเพียงเด็กมัธยมเท่านั้น
ซึ่งทำหนังออกมาได้แค่นี้ก็สุดยอดมากๆแล้ว แต่ถ้าหากผู้กำกับ THE WAY I
WANT อยากพัฒนาฝีมือต่อไป เราว่า “เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน”
ถือเป็นตัวอย่างที่เหมาะให้เรียนรู้มากๆจ้ะ
2. สิ่งหนึ่งที่เราว่าสะท้อนออกมาได้ดีในช่วงเวลาสั้นๆ
ก็คือนิสัยของนางเอกทั้งสอง เราว่านางเอกตัวเตี้ยดูเหมือนเป็นคนที่ “ไม่ค่อยยอมรับความเป็นจริง”
มากเท่านางเอกอีกคน
สังเกตได้จากการที่นางเอกตัวเตี้ยมักไม่ยอมให้นับคะแนนถ้าหากเธอตีแบตพลาด
เธอมักจะขอโอกาสใหม่เสมอ การที่เธอไม่ยอมรับความเป็นจริง” หรือ “ไม่ยอมรับผลของการตีแบตพลาด”
มันทำให้เธอไม่สามารถรับมือได้กับ “ความเป็นจริงที่ไม่มีโอกาสลองใหม่” ได้อีกแล้ว
นั่นก็คือการเดินทางจากไปของนางเอกตัวสูง
3.หนังทำให้เราโยงกลับมาหาชีวิตจริงของเราได้มากพอสมควร
มันทำให้เรานึกถึงความเปราะบางระหว่างเพื่อน เพื่อน 2 คนรักกันฉันท์มิตร แต่ความผูกพันกันนี่แหละที่เป็นสาเหตุให้ทะเลาะกัน
ถ้าหากคนตัวเตี้ยไม่ได้รักคนตัวสูงมากนัก เธอก็คงจะไม่พูดหรือทำแบบนี้
เรารู้สึกว่าคนตัวเตี้ยทำผิดที่พยายามรั้งคนตัวสูงเอาไว้ ทั้งๆที่มันไม่ใช่สิ่งที่คนตัวสูงควบคุมหรือตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
แต่สิ่งที่คนตัวเตี้ยทำไปแบบนั้น ก็เพราะเธอ value friendship นี้มากๆนั่นเอง
ดูหนังเรื่องนี้แล้วนึกถึงเพื่อนบางคน มิตรภาพที่เพื่อนๆมีต่อกัน
บางทีมันก็ถูกทำลายลงเพราะสาเหตุหลากหลายประการ อย่างเช่น ความเห็นแก่ตัว,
ความไม่เข้าใจกัน, การเห็นผัวดีกว่าเพื่อน, etc. แต่บางทีมันก็ถูกทำลายลงเพราะความรักเพื่อนมากเกินไปนี่แหละ
ในบางครั้ง ความรักความผูกพันที่มีต่อเพื่อน มันนำไปสู่ “การเรียกร้องจากเพื่อนในระดับที่มากเกินไป” เหมือนอย่างที่คนตัวเตี้ยเรียกร้องจากคนตัวสูง
4.ภาพตอนจบของหนัง ที่เป็นคนตัวเตี้ยวิ่งรอบสนามที่มีคนตัวสูงยืนอยู่ตรงกลาง
ทำให้เรานึกถึงอะไรหลายๆอย่าง อย่างเช่น
4.1 การที่คนตัวเตี้ยมองว่าคนตัวสูงเป็นจุดศูนย์กลางของชีวิตเธอ
(แน่นอนว่าในตอนที่เรามีอายุเท่านั้น เพื่อนๆก็เป็นจุดศูนย์กลางของชีวิตเราเหมือนกัน)
4.2 การที่คนตัวเตี้ยพยายามล้อมกรอบกักขังคนตัวสูงเอาไว้ในชีวิตเธอ
4.3 การวิ่งรอบๆอีกคนนึงในหนังเรื่องนี้ มันทำให้เรารู้สึกถึง “การโอบกอดอย่างห่างเหิน”
น่ะ คือถ้าหากคนตัวเตี้ยทำใจยอมรับความเป็นจริงได้
ทั้งสองคนก็คงโอบกอดร่ำลากันไปแล้ว แต่เนื่องจากทั้งสองผิดใจกัน
คนตัวเตี้ยจึงไม่สามารถโอบกอดคนตัวสูงได้อย่างตรงๆ การวิ่งรอบๆในที่นี้จึงกลายเป็นการจากลาที่เจ็บปวด
และแทนที่ทั้งสองจะได้สัมผัสกันอย่างอบอุ่น ทั้งสองจึงต้องสัมผัสกับความห่างเหินแทน
5. ถ้าหากจะฉาย “เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน”
ควบกับหนังเรื่องอื่น เราคงจะเลือกฉายควบกับ “เธอจะคิดถึงฉันบ้างใช่ไหม” (2006,
ทศพล บุญสินสุข, 8min)
เพราะว่าหนังสองเรื่องนี้พูดถึงการจากลาเหมือนกัน
และจับเอาช่วงเวลาสั้นมากๆช่วงเวลาเดียวเหมือนกัน แต่ได้อารมณ์ที่เปี่ยมล้นมากๆ
อย่างไรก็ดี “เธอจะคิดถึงฉันบ้างใช่ไหม” เป็นหนังที่ feel good มากๆจ้ะถ้าหากเทียบกับเด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน
No comments:
Post a Comment