Wednesday, August 12, 2015

THE BLUE HOUR (2015, Anucha Boonyawatana, A+30)

THE BLUE HOUR (2015, Anucha Boonyawatana, A+30)
อนธการ

อันนี้เป็นการจดบันทีกความรู้สึกบางส่วนของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้แบบ spoil อย่างรุนแรงนะ ถ้าใครยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ ก็จงรีบไปดูซะ แล้วค่อยกลับมาอ่านนะจ๊ะ

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.เราเห็นด้วยกับ Ratchapoom Boonbunchachoke ในแง่ที่ว่า จริงๆแล้วมันอาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงเลยก็ได้ในหนังเรื่องนี้ สิ่งที่เราเห็นส่วนใหญ่แล้วอาจจะเป็นปรากฏการณ์ทางจิตเท่านั้น อ่านความเห็นของ Ratchapoom ได้ที่นี่

2.แต่สิ่งที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ก็คือ เหมือนมันไม่มีเฉลยน่ะ คือหนังที่เล่าเรื่องแบบนี้ อาจจะแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ นั่นก็คือ

2.1 หนังที่เฉลยในตอนจบว่า ฉากไหนฝันฉากไหนจริง หรืออาจจะไม่เฉลย แต่มี “ความชัดเจน” ในการแบ่งแยกความฝันกับความจริงในระดับนึง อย่างเช่น INCEPTION, หนังของ Brian de Palma หรือหนังที่แยกออกอย่างชัดเจนว่าตัวละครตัวไหนเป็นตัวละครในจินตนาการ อย่างเช่น EM-TRAP กับดักอารมณ์ (2015, Pruksathip Sawantrat, A+30) และ LONG FOR ขอให้น้ำแข็งละลาย (2014, Phawinee Sattawatsakul, A+30)

2.2 หนังที่เบลอความจริง, ความฝัน, จินตนาการเข้าด้วยกันอย่างรุนแรงมากจนแยกไม่ออก อย่างเช่น MULHOLLAND DRIVE, EDEN AND AFTER (1970, Alain Robbe-Grillet), DOPPELGANGER (2003, Kiyoshi Kurosawa), PHANTOM LOVE (2007, Nina Menkes), NUDE AREA (2014, Urszula Antoniak), หนังของ Raoul Ruiz และหนังของ Andrei Tarkovsky

คือเราไม่ค่อยพบหนังไทยแบบ 2.2 น่ะ นอกจากหนังของ Apichatpong เราก็เลยดีใจมากที่มีหนังอย่าง THE BLUE HOUR ออกมา เพราะเราว่าพรมแดนระหว่างความจริงกับจินตนาการในเรื่องนี้มันเบลอเข้าหากันอย่างรุนแรง คือหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ถึงขั้น Andrei Tarkovsky และ Philippe Grandrieux ก็จริง แต่เราว่ามันเทียบชั้นกับหนังของ Raoul Ruiz, Alain Robbe-Grillet และ Claire Denis ได้

3.เราว่าผู้ชมแต่ละคนคงตีความหนังเรื่องนี้ไม่เหมือนกันเลยน่ะ หรือมีความเห็นไม่ตรงกันเลยว่าส่วนไหนจริง ส่วนไหนไม่จริงในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเราว่าเป็นสิ่งที่ดี เราว่ามันเหมือนหนังอย่าง LAST YEAR AT MARIENBAD (1961, Alain Resnais) น่ะ ที่แต่ละคนดูจบแล้ว ก็สามารถตีความไปได้ต่างๆนานา

4.แต่ก่อนที่เราจะจดบันทึกความรู้สึกของเราที่มีต่อความจริง ความไม่จริงในหนังเรื่องนี้ เราขอจดบันทึกไว้ก่อนว่า “การเล่นเกมเอาเถิดเจ้าล่อกับคนดู เพื่อให้คนดูแก้เกมปริศนาว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง” ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงนะ เพราะ “หนังที่เล่นเกมกับคนดู” แบบนี้ จริงๆแล้วอาจจะมีอยู่หลายเรื่อง แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ มันคือส่วนของอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่มันโดนใจเราอย่างรุนแรงน่ะ

คืออย่างที่เราเขียนไปแล้วว่า โลกในหนังเรื่องนี้มันดูเหมือนเข้าอกเข้าใจเรา หรือสอดคล้องกับโลกในใจเรามากๆ มันเป็นโลกที่เห็นความงามในคราบเก่าๆ, บ้านเรือนธรรมดาที่มีรองเท้าแตะของใครไม่รู้ทิ้งค้างอยู่ตรงกันสาด, มีรูปวาดดวงตาแบบเด็กๆอยู่ข้างฝาผนัง, มีอะไรเก่าคร่ำคร่าทิ้งไว้มากมาย, โลกที่เห็นความงามของแสงที่ลอดผ่านหน้าต่างและผ้าม่านเข้ามา และหนังก็สามารถทำให้ “อะไรที่ดูธรรมดา” เหล่านี้ งดงามมากๆและน่าสะพรึงมากๆได้ด้วย อย่างเช่นใน moment สำคัญอันนึงของหนัง ที่แสงเงาตรงผ้าม่านที่ดูสวยงามเย็นใจ กลายเป็นอะไรที่น่าสะพรึงกลัวได้ในทันที

และที่สำคัญก็คือ โลกในหนังเรื่องนี้มันเป็นโลกที่มีความสุขกับการจ้องมองท้องฟ้าน่ะ และไม่ใช่ท้องฟ้าแบบ magic hour หรือ golden hour ที่เริ่มเกร่อขึ้นเล็กน้อยในช่วง 2 ปีหลังด้วย แต่เป็นท้องฟ้าในช่วงที่มืดกว่า magic hour นิดนึง คือ magic hour มันยังเป็น “กลางวัน” อยู่น่ะ แต่ท้องฟ้ายามสนธยาช่วง blue hour ในหนังเรื่องนี้มันอยู่ตรงริมขอบระหว่างกลางวันกับกลางคืน และการอยู่ตรง “ช่วงคาบเกี่ยว” แบบนี้มันก็สอดรับกับเนื้อหาของหนังดีด้วย เพราะหนังทั้งเรื่องก็เหมือนคาบเกี่ยวระหว่างโลกจริงกับโลกจินตนาการเช่นกัน ในขณะที่ตัวละครตั้มก็เหมือนจะอยู่คาบเกี่ยวระหว่างความเป็น “เหยื่อ” กับ “ผู้ทำร้ายเหยื่อ” หรือคาบเกี่ยวระหว่าง “ผู้ถูกใส่ร้าย” กับ “คนที่กระทำผิดจริง”

5.นอกจากโลกทาง physical ในหนังเรื่องนี้ (ซึ่งได้แก่โลกของบ้านเรือนธรรมดาและอาคารเก่าที่ถูกขับเน้นเสน่ห์ออกมา กับโลกของการจ้องมองท้องฟ้าและก้อนเมฆ) จะสอดคล้องกับโลกในใจเราแล้ว โลกทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครก็สอดคล้องกับโลกในใจเราด้วย

คือในแง่นึง เรามองว่าโลกทางอารมณ์ในหนังเรื่องนี้ มันเป็นโลกของเกย์ที่เหงามากๆน่ะ เขามีปัญหากับเพื่อนๆที่โรงเรียน, มีเรื่องขัดแย้งกับพ่อและพี่ชายอย่างรุนแรง ส่วนแม่ก็ดีกับเขาในระดับนึงเท่านั้น มันเหมือนกับว่าในชีวิตของเขาไม่มีใครเลย เขาก็เลยต้องอยู่กับผัวในจินตนาการไปเรื่อยๆ เหมือนผัวในจินตนาการเป็นสรณะเดียวในชีวิตของเขา คือมันเป็นโลกที่เหงาสุดๆน่ะ มันไม่มีใครหรืออะไรในชีวิตเลยจริงๆ นอกจากนี้ ความเกลียดชังที่เขามีต่อสมาชิกในครอบครัว และความสิ้นหวังที่เขามีต่อชีวิตของตัวเอง มันยังทำให้โลกในใจของตัวละครตัวนี้ เต็มไปด้วยอะไรที่น่าสะพรึงกลัวหรือเกือบๆจะเรียกได้ว่าเป็น “นรกในใจ” ตัวละครได้อีกด้วย

สรุปว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ ก็คือการที่เรารู้สึกว่าโลกในหนังเรื่องนี้มันเข้าอกเข้าใจ “ความเหงา ความเศร้าสร้อย ความหดหู่” หรือความอะไรสักอย่างที่อยู่ในใจเรานี่แหละ และวัตถุสิ่งของ, อาคารบ้านเรือน, ท้องฟ้า และอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในหนังเรื่องนี้ มันก็สอดคล้องกับโลกที่อยู่ในใจเรามากๆ

6.ส่วนประเด็นที่ว่า ภูมิมีตัวตนจริงหรือไม่นั้น เราก็ไม่รู้เหมือนกันนะ เราว่าหนังเรื่องนี้เปิดทางเลือกให้เราเยอะมากๆเลยน่ะ และมันเหมือนกับว่าผู้ชมแต่ละคนเลือกได้ด้วยซ้ำไปว่า อยากให้ฉากไหนจริง ฉากไหนไม่จริงก็ได้ตามใจชอบ มันเหมือนกับว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีคำตอบตายตัวน่ะ ผู้ชมคนไหนอยากให้ฉากไหนจริง ก็สามารถหาเหตุผลมาอ้างได้ว่าฉากนั้นจริง ผู้ชมคนไหนอยากให้ฉากไหนไม่จริง ก็สามารถหาเหตุผลมาอ้างได้เช่นกันว่าฉากนั้นไม่จริง และมันมีฉากแบบนี้อยู่เป็นสิบๆฉากในเรื่อง เราก็เลยชอบตรงจุดนี้มากๆ เพราะเราก็อยากจะเลือกเองเช่นกันว่า ฉากไหนจริงฉากไหนไม่จริง คือเราสามารถนำหนังเรื่องนี้มาปรับให้เข้ากับ fantasy ในใจตัวเองได้ง่ายน่ะ ในขณะที่หนังที่มีคำตอบตายตัว มันเป็นหนังที่เราเอามาปรับให้เข้ากับ fantasy ในใจตัวเองได้ยากกว่า

เปรียบเทียบง่ายๆก็คือว่า หนังที่มีคำตอบตายตัว มันเหมือนกับเป็นหนังที่เป็นก้อนวัตถุสำเร็จรูปบางอย่างสำหรับเราน่ะ เราไม่สามารถดัดแปลงมันได้ แต่หนังอย่าง THE BLUE HOUR มันเหมือนให้ตัวต่อ lego สีน้ำเงินกับเรา 30 อัน และผู้ชมแต่ละคนก็เอามาต่อเป็นอะไรก็ได้ตามใจชอบ โดยไม่ต้องใช้หมดทั้ง 30 อัน ใครอยากใช้ 30 อันก็ได้ หรือใครอยากใช้แค่ 2 อันมาต่อเป็น dildo ยาวใหญ่ ก็ได้ แล้วโยนอีก 28 อันทิ้งไป เหมือนเราที่เลือกว่า อาจจะมีแค่ 2 ซีนเท่านั้นที่เป็นความจริงในหนังเรื่องนี้ ส่วนอีก 28 ซีนในหนังเป็น “กึ่งจริงกึ่งฝัน” หรือเป็น “ความจริงทางจิต” อะไรทำนองนี้

7.แล้วเราเลือก 2 ซีนไหนบ้างให้เป็นความจริงสำหรับเรา นั่นก็คือสองซีนที่ไม่มี ภูมิ อยู่ในหนังน่ะ มันคือซีนที่เริ่มต้นด้วยการที่ตั้ม “ตื่นนอน” ขึ้นมาในห้องเรียน แล้วมีเพื่อนๆเคาะประตูห้องเรียน เขาถูกเพื่อนๆซ้อม กลับมาบ้าน คุยกับแม่ แม่เช็ดตัว แล้วเขาก็ “นอนหลับ” ไป เรามองว่าเขา “ตื่นนอน” ขึ้นมาจริงๆอีกครั้งเมื่อพี่ชายมาเคาะประตูห้องเขา แล้วเขาก็ลงมา ทะเลาะกับแม่และพี่ชาย หนังโฟกัสภาพไปที่หัวของเขา เราไม่แน่ใจว่าเขาขโมยปืนไปหรือเปล่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากฉากนั้นไปจนถึงตอนจบ อาจจะเป็นความจริงก็ได้ หรืออาจจะเป็นจินตนาการที่เกิดจากความเจ็บช้ำน้ำใจที่ถูกใส่ร้ายว่าขโมยปืนไปก็ได้

แต่เราไม่ได้มองว่าช่วงหลังจากนั้นเป็นจินตนาการเพียวๆที่ไม่มีอะไรยึดโยงกับความจริงเลยนะ เรามองว่ามันเป็นจินตนาการที่ผสมกับความจริงน่ะ

แต่เราก็ไม่แน่ใจ 100% เช่นกันนะว่าฉากทะเลาะกับพี่ชายเป็นความจริงหรือเปล่า เพราะมันมีอยู่ช่วงนึงที่พี่ชายพูดแบบ offscreen แล้วเรารู้สึกเหมือนกับว่าเสียงพี่ชายมันอู้อี้เหมือนคนจมอยู่ใต้น้ำน่ะ ก่อนที่เสียงจะกลับมาชัดอีกครั้ง เราไม่แน่ใจว่าหนังมันจงใจเล่นกับอะไรตรงจุดนี้หรือเปล่า เพราะมันมีอีกครั้งนึงในฉากห้องน้ำที่ภูมิพูดแบบ offscreen แล้วเสียงก็อู้อี้เหมือนอยู่ใต้น้ำ ก่อนที่จะกลับมาชัดอีกครั้งเหมือนกัน คือหนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจตรงจุดนี้ก็ได้ แต่พอเราได้ยินเสียงแบบนี้แล้ว มันก็ทำให้เราเผลอคิดไปพักนึงว่า บางทีหนังทั้งเรื่องอาจจะเป็นจินตนาการของตั้มก่อนจมน้ำตายแบบในหนังเรื่อง CARNIVAL OF SOULS ก็ได้ 555

8.แล้วเราเอาหนังเรื่องนี้มาปรับเข้ากับ fantasy ของเราอย่างไรบ้าง คือเราไม่แน่ใจหรอกว่า จริงๆแล้วมันเกิดอะไรขึ้นบ้างในหนัง และผู้ชมแต่ละคนก็คงมีคำตอบไม่เหมือนกัน อาจจะมีการฆาตกรรมเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่ใน fantasy ของเรานั้น ตั้มอาจจะแค่ “ตัดขาด” ทางจิตหรือกายกับครอบครัวของตัวเองน่ะ เขาอาจจะเพียงแค่ฆ่าคนกลุ่มนั้นออกไปจากอารมณ์ความรู้สึกของเขา ไม่แคร์พวกเขาอีกต่อไป หรืออาจจะตัดขาดทางกายกับพวกเขา ด้วยการกลายเป็นภูมิ กลายเป็นเด็กที่มาทำงานที่อู่รถ และอาศัยนอนที่อู่รถ หาเงินเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ, พบว่าตัวเองมีเงินไม่พอใช้ และแอบจินตนาการว่า ถ้าหากสมาชิกครอบครัวตายหมด เขาก็น่าจะได้รับมรดก และมีเงินใช้มากขึ้น แต่ในเมื่อสมาชิกครอบครัวยังไม่ตาย และเขาต้องทำงานกระเบียดกระเสียรแบบนี้ ความสุขสุดๆที่เขาอาจจะหาได้ในตอนนี้คงมีเพียงแค่ การเล่นน้ำคลองที่ดูเย็นและร่มรื่นแบบในฉากจบเท่านั้น และแหงนมองท้องฟ้า พร้อมกับจินตนาการว่า ท้องฟ้านั่นเป็นของเรา

คือการฆ่าสมาชิกครอบครัว “ทางจิต” แบบนี้ อาจจะพบได้ในหนังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นหนังที่เราชอบมากที่สุดในชีวิตนะ ซึ่งก็คือเรื่อง THE SLEEP OF REASON (1984, Ula Stöckl, West Germany, A+30) ถ้าเราจำไม่ผิด ในหนังเรื่องนั้น นางเอกจะฆ่าล้างบางสมาชิกในครอบครัวของตัวเองเหมือนกัน แต่หนังเรื่อง THE SLEEP OF REASON มันดำเนินไปภายใต้ความ surreal อยู่แล้วตลอดทั้งเรื่อง เพราะฉะนั้นการฆ่าล้างบางในช่วงท้ายของหนังเรื่องนั้น มันก็เลยชัดว่าเป็นการฆ่าแบบ metaphorical ไม่ใช่การฆ่าแบบ literallly

แต่เราว่าใน THE BLUE HOUR นั้น มันมีความเป็นไปได้สูงแหละ ที่การฆาตกรรมเกิดขึ้นจริงในช่วงท้ายของหนัง เพียงแต่ว่ามันไม่เข้ากับ fantasy ของเรา 555 อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ไปดูหนังเรื่องต่างๆเพื่อ “ดูว่าเกิดอะไรขึ้นในหนัง” แต่เราไปดูหนังเรื่องต่างๆ “เพื่อตอบสนอง fantasy ของเรา” เพราะฉะนั้นถึงแม้ความจริงใน THE BLUE HOUR จะเป็นอีกอย่างนึง มันก็ไม่ได้ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้น้อยลง เพราะสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากกว่า “เหตุการณ์จริงในหนัง” หรือ “คำเฉลยของหนัง” ก็คือ “ความสามารถของหนังเรื่องต่างๆในการตอบสนอง fantasy ของเรา” เพราะฉะนั้นใน fantasy ของเรา เราก็เลย assign ความไม่จริงให้กับ “ฉากฆาตกรรม” ซะ 555 ถึงแม้ว่าความจริงของหนังจะเป็นอีกอย่างนึงก็ตาม

ปัจจัยนี้ทำให้เรานึกถึง SPRING BREAKERS (2012, Harmony Korine, A+30) ด้วยนะ คือมันมีฉากการสังหารหมู่ใน SPRING BREAKERS เหมือนกัน แต่ฉากนั้นมีลักษณะคล้ายวิดีโอเกมมากๆ พอเราดูจบแล้ว เราก็เลยไม่แน่ใจว่า ตกลงมันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ทำไมหญิงสาวในเรื่องอยู่ดีๆก็มีความสามารถสูงในการฆ่าคนขึ้นมา หรือว่ามันอาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ เพียงแต่หนังไม่ได้ถ่ายทอดฉากนั้นตามความเป็นจริง แต่ถ่ายทอดฉากสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นจริงโดยมองผ่าน “มุมมองแบบวิดีโอเกม” เท่านั้นเอง

9.แล้วอะไรที่ทำให้เราไม่แน่ใจว่า เกิดการฆาตกรรมขึ้นจริงในช่วงท้ายของหนัง ปัจจัยที่สร้างความไม่แน่ใจของเราก็มีอย่างเช่น

9.1 เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าฉากการว่าจ้างมือสังหารนั้นเป็นความจริงหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านั้นตั้มขับมอเตอร์ไซค์ไปคนเดียว แต่หนังตัดมาเป็นตั้มกับภูมิอยู่ที่อาคารริมสระ คือมันอาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่แสดงว่าเป็นเหตุการณ์คนละวันหรือคนละช่วงเวลากัน โดยในตอนแรกนั้นตั้มขับรถมอเตอร์ไซค์ไปคนเดียว แล้วในอีกหลายชั่วโมงต่อมา หรือในวันต่อมา เขากับภูมิค่อยไปพบมือสังหารที่อาคารริมสระ แต่การตัดต่อในฉากนั้นมันไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นคนละวันหรือคนละช่วงเวลากัน การตัดต่อในฉากนั้นมันก็เหมือนกับการตัดต่อในฉากอีกราว 20 ฉากในหนังเรื่องนี้ที่ “จงใจให้ต่อกันไม่สนิท” เพื่อให้เกิดรอยปริระหว่างฉากเป็นระยะๆในเรื่อง และรอยปริเหล่านี้แหละที่มันทำให้แต่ละฉากเหมือนกับตัวต่อเลโก้ ที่เราสามารถหยิบมันมาใช้ในฐานะความจริงหรือไม่ใช้มันก็ได้

9.2 มือสังหารมองเห็นทั้งตั้มและภูมิ เหมือนกับจะยืนยันว่าทั้งสองคนนี้เป็นคนละคนกัน แต่สถานะของตั้มและภูมิดูเหมือนจะเบลอเข้าด้วยกันในฉากนั้น เพราะภูมิบรรยายถึงครอบครัวของตั้มในแบบที่เหมือนกับครอบครัวของภูมิ โดยบอกว่าครอบครัวของตั้มโดนโกงที่มา

หรือจริงๆแล้วตั้มกับภูมิเป็นคนเดียวกัน ฉากแรกที่ตั้มเจอกับภูมินั้น มีอยู่หลายครั้งที่เราไม่เห็นภูมิเพราะเสาบังไว้, ฉากก่อนหน้านี้ตั้มก็นอนร้องไห้ เรารู้ว่าตั้มร้องไห้เพราะฝันร้าย แต่เมื่อเขามองไปเห็นภูมิ ภูมิก็นอนร้องไห้ ภูมินอนร้องไห้ทำไม หรือจริงๆแล้วทั้งสองคนเป็นคนเดียวกัน

สถานะของภูมิ “ที่โดนไล่ที่” นั้นจริงๆแล้วก็เหมือนกับสถานะของตั้ม เพราะตั้มถูกพ่อไล่ให้ไปอยู่ชั้นดาดฟ้า เพราะพ่อจะเอาห้องเดิมของตั้ม “ไปทำอะไรอย่างอื่น” ในแง่นึงตั้มเองก็ถูก “ผู้มีอิทธิพล” ไล่ที่เหมือนกับภูมิ

เราไม่รู้ว่าพ่อเอาห้องเดิมของตั้มไปทำอะไร แต่ถ้าหากภูมิกับตั้มเป็นคนเดียวกัน เราก็อาจจะอนุมานหรือจินตนาการเล่นๆได้ว่าใช้เป็นที่เก็บพระพุทธรูปสำหรับการซื้อขาย เพราะภูมิบอกว่า ที่เดิมของบ้านเขาถูกใช้ในการ “ซื้อขายขยะ” และภูมิบอกกับมือปืนรับจ้างว่า เขาจะจ่ายค่าจ้างด้วย “พระพุทธรูปหลายๆองค์” หรืออะไรทำนองนี้ มันก็เลยทำให้เราอนุมานได้ว่า พ่อของตั้มน่าจะเก็บพระพุทธรูปหลายๆองค์ และถ้าหาก “ห้องเดิมของตั้ม” มีสถานะเท่ากับ “ที่เดิมของบ้านเก่าของภูมิ” ห้องเดิมของตั้มก็อาจจะถูกใช้เป็นที่เก็บพระพุทธรูปก็ได้

9.3 ศัตรูของตั้มและภูมิก็ดูคล้ายๆกันอีกด้วย ศัตรูของภูมิปรากฏในรูปของคนที่ไล่ยิงตั้ม ก่อนจะถูกตั้มหวดที่หัว และเมื่อเขาล้มลงไปนอนกองที่พื้น (เราไม่รู้ว่าเขาตายหรือเปล่า) เราก็พบว่าเขาใส่เสื้อทหาร และต่อมาเราก็พบว่าศพพ่อของตั้มนั้นใส่เสื้อทหารเหมือนกัน และนอนทำมุมองศาอะไรคล้ายๆกับคนที่ไล่ยิงตั้มในฉากกองขยะด้วย

การที่ศพสองศพใส่เสื้อทหารเหมือนๆกัน และนอนทำมุมองศาคล้ายๆกันนี้ มันก็เหมือนกับองค์ประกอบอีกหลายๆอย่างของหนังเรื่องนี้ ที่เล่นกับ “ความคล้องจอง” กันตลอดทั้งเรื่อง อย่างเช่น “เสียงเคาะประตูห้องเรียน” กับ “เสียงเคาะประตูห้องนอน”, ฉากที่ตั้มนอนตะแคงหน้าเข้าหาคนดู ซึ่งปรากฏในช่วงต้นเรื่องสองครั้ง และปรากฏในฉากที่นอนที่อู่รถ, แมลงวันที่เรา “เห็น” บินในสระว่ายน้ำ แต่เรา “ได้ยิน” เสียงแมลงวันบินในฉากกองขยะ, ฉากที่ตั้มค่อยๆเปิดหน้าศพในกองขยะ กับฉากที่ตั้มค่อยๆเปิดหน้าศพในช่วงท้ายเรื่อง, ถุงพลาสติกที่ถูกลมพัดในฉากกองขยะขณะที่ภูมิเดินไป กับถุงพลาสติกที่ถูกลมพัดในห้องน้ำชายขณะที่ภูมิหายตัวไป ฯลฯ

หนังเรื่องนี้เต็มไปความคล้องจองกันอะไรอย่างนี้เยอะมากๆ เป็นหลายสิบอย่าง และความคล้องจองกันอย่างนี้อาจจะเป็นได้ทั้ง

9.3.1 ความคล้องจองกันเฉยๆเพื่อความงดงามทางอารมณ์ โดยฉากที่เกิดความคล้องจองกันนี้อาจจะเป็นความจริงทั้งคู่ อย่างเช่น เสียงเคาะประตูห้องเรียน กับเสียงเคาะประตูห้องนอน

9.3.2 ความคล้องจองกัน เพื่อเป็นการ foreshadow เหตุการณ์ที่จะเกิดในอนาคต

9.3.3 ความคล้องจองกัน เพื่อบอกว่าฉากหนึ่งเป็นความจริง ส่วนอีกฉากหนึ่งเป็นเพียงแค่ variation ของความจริง

ซึ่งถ้าเป็นในกรณีนี้ เราก็ตั้งคำถามได้ว่า คนใส่ชุดทหารที่นอนกองกับพื้น ที่ปรากฏตัวสองครั้งในหนังเรื่องนี้ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งสองฉาก หรือฉากแรกเป็นการ foreshadow ฉากที่สอง หรือมันเกิดขึ้นจริงแค่ฉากเดียว ส่วนอีกอันหนึ่งเป็น variation ของความจริง หรือมันไม่ได้เกิดขึ้นจริงทั้งสองฉาก ทั้งสองฉากเป็น variations ของจินตนาการทั้งคู่

9.4 การตกลงว่าจ้างมือปืนก็ดูน่าสงสัยมากๆว่ามันจริงหรือจ๊ะ คือมือปืนจะยอมฆ่าคนสามคน ด้วยเงินมัดจำเพียงแค่ 15,000 บาทเหรอ แล้วภูมิก็สัญญาว่าจะให้รถปิกอัพเป็นค่าจ้างด้วย แล้วรถปิกอัพนั้นมาจากไหน รถปิกอัพถูกพูดถึงครั้งแรกใน “ฉากความฝันของตั้ม” แต่เราก็ไม่ได้เห็นรถปิกอัพในความฝันนั้นด้วยซ้ำ และในความฝันนั้น รถปิกอัพก็เป็นของที่ภูมิยืมมาจากเพื่อนด้วย

9.5 หรือฉากการว่าจ้าง เป็นเพียงแค่ “จินตนาการที่ดำมืด” ที่สุดเท่านั้นเอง เพราะ “สถานที่ว่าจ้าง” มันตรงกับ “จุดที่มืดที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้”

คือก่อนหน้านั้น ตั้มกับภูมิเคยเดินเข้าไปในอาคารร้างริมสระสองครั้งใน “ฉากความฝันของตั้ม” โดยครั้งแรกเป็นการเข้าไปเพื่อพิสูจน์ความกล้า และครั้งที่สองเป็นการเข้าไปเพื่อเก็บศพพี่ชาย และเราก็จะเห็นส่วนหนึ่งของอาคารที่เป็น “กำแพงอิฐ” แต่ส่วนที่อยู่ติดกับกำแพงอิฐนั้น คือส่วนที่หนัง suppose ว่าเป็น “ประตูห้องน้ำชาย” แต่เราไม่เคยเห็น “ประตูห้องน้ำชาย” จริงๆที่อยู่ติดกับกำแพงอิฐเลย เพราะพอกล้องเคลื่อนผ่านกำแพงอิฐไป กล้องก็ให้เราเห็น “ความมืดที่มืดมากๆ” มันเหมือนกับว่ากล้องถลำเข้าไปในความมืดที่แท้จริงในวินาทีนั้น ก่อนที่จะตัดภาพไปเป็นกล้องตั้งอยู่ในห้องน้ำชาย และเห็นตั้มกับภูมิเปิดประตูเข้ามา

ถ้าหากจุดที่ติดกับกำแพงอิฐเป็น “จุดที่ดำมืดที่สุดในหนัง” ในฉากว่าจ้างมือปืนนั้น เราก็จะเห็นกล้องเคลื่อนเข้าไปในอาคารร้างเช่นกัน เห็นกำแพงอิฐเช่นกัน แต่ในฉากนี้ เรากลับพบว่าจุดที่อยู่ติดกับกำแพงอิฐ ไม่ใช่ “ความดำมืดที่สุดในหนัง” เหมือนที่เราเห็นสองครั้งก่อนหน้านี้แต่อย่างใด แต่เราเห็นการว่าจ้างมือปืนเกิดขึ้นในจุดที่อยู่ต่อจากกำแพงอิฐนั้น เพราะฉะนั้น ฉากว่าจ้างมือปืนในหนังเรื่องนี้ มันก็เลยเกิดขึ้นในจุดเดียวกับ “จุดดำมืดที่สุดในหนัง” และ “จุดที่อาจจะมีประตูห้องน้ำชายหรือไม่มีก็ได้” มันก็เลยทำให้เราสงสัยว่า บางทีฉากว่าจ้างนี้ อาจจะเป็นเพียง “จินตนาการที่ดำมืดที่สุดอันหนึ่งเท่านั้นเอง”

9.6 เอเย่นต์ของมือปืนบอกกับมือปืนว่า “เดี๋ยวจะมีคนเปิดประตูให้” แล้วใครเป็นคนเปิดประตูให้มือปืนเข้าไปยิงคนในบ้าน เพราะเราไม่เห็นตั้มเป็นคนเปิดประตู

9.7 หรือในแฟนตาซีของเรา บางทีการสังหารหมู่อาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่ไม่ได้เกิดจากการว่าจ้างของตั้ม บางทีตั้มอาจจะกลับบ้านมา แล้วพบว่าครอบครัวของเขาถูกฆ่าตาย เพราะสาเหตุจากธุรกิจของพ่อในฐานะเซียนพระก็ได้ แต่เนื่องจากตั้มเกลียดชังครอบครัวของตัวเองอยู่แล้ว มันก็เลยเกิดเป็นจินตนาการแบบนี้ขึ้นมา

10. หรือจริงๆแล้ว ตั้มอาจจะเป็นฆาตกรจริงๆก็ได้ สภาพจิตใจของเขามันถึงถูกสะท้อนออกมาด้วยกองขยะและศพที่เน่าเหม็นในสระว่ายน้ำแบบนั้น และบาปในใจเขาที่คิดถึงแผนฆาตกรรมก็อาจจะทำให้เขาหวาดกลัว “คราบรูปคนที่สระว่ายน้ำ” บางทีการที่ตั้มพยายามแกะคราบที่สระว่ายน้ำออก อาจจะคล้ายกับ Lady Macbeth ที่พยายามล้างมืออย่างบ้าคลั่ง เพื่อลบคราบเลือดที่ไม่มีจริง บางทีการที่คนเราวางแผนฆาตกรรมหรือวางแผนชั่วบางอย่างอยู่ในใจ มันอาจจะทำให้เราหวาดกลัวก็ได้ว่า ภูตผีที่อยู่รอบตัวเรามันรู้เรื่องนี้ และทำให้เรามีอาการหูแว่ว หรืออะไรต่างๆนานา

11.ชอบฉากเชื่อมซีนแต่ละฉากในหนังเรื่องนี้มากๆ อย่างที่เราบอกไว้แล้วว่า มันเหมือนเป็นรอยปริที่ทำให้เราเลือกได้ว่ามันจริงหรือไม่จริงได้ตามใจชอบน่ะ อย่างเช่น

11.1 ฉากแรกที่ตั้มนอนคะแคงหันหน้าเข้าหาคนดู ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำสองครั้งในช่วงต้นเรื่อง และพอมันเกิดขึ้นครั้งที่สอง มันก็ทำให้เราไม่แน่ใจว่า ฉากที่เกิดขึ้นครั้งแรกมันเป็นเพียงความฝันหรือเปล่า

11.2 ตั้งแต่ฉากแรก เราก็เห็น “เส้นแบ่งครึ่ง” ในเฟรมหนังแล้ว ในฉากแรกตั้มนอนอยู่ทางซ้ายของเส้นแบ่ง และไตเติลบริษัทสร้างหนังปรากฏขึ้นมาทางขวาของเส้นแบ่ง มันเป็นเส้นแบ่งธรรมดา หรือมันบอกว่าสิ่งที่จะเกิดต่อไปนี้เป็นกึ่งจริงกึ่งมายา และต่อมาเราก็เห็นเส้นแบ่งที่ปรากฏในรูปของกำแพงโรงเรียนเช่นกัน ส่วนที่อยู่ใต้เส้นแบ่ง ที่เป็นกำแพงโรงเรียน มันเหมือนความจริงที่โหดร้าย ส่วนท้องฟ้าที่อยู่เหนือเส้นแบ่ง มันเหมือนกับโลกความฝันที่งดงาม

11.3 ป้าย “สถานที่ส่วนบุคคล ห้ามเข้า” เป็นป้ายจริง หรือสถานที่ส่วนบุคคลในที่นี้ คือโลกจินตนาการกันแน่ และในโลกจินตนาการนี้ ก็มีส่วนที่ลึกกว่าธรรมดาด้วย ทั้งการดำดิ่งลงไปในสระน้ำ และการที่ประตูห้องน้ำชาย ดูเหมือนจะตั้งอยู่ในส่วนที่มืดที่สุดของหนัง มันเหมือนกับว่าโลกจินตนาการในหนังเรื่องนี้ มีทั้งจินตนาการถึงความรัก, เซ็กส์ และส่วนที่มืดที่สุด ซึ่งก็คือการฆาตกรรม

11.4 การดำลงไปใต้น้ำในหนังเรื่องนี้ แล้วแหงนหน้าขึ้นมามองข้างบน ก็ถูกใช้เป็นฉากเชื่อมซีนเช่นกัน ตอนที่ฉากแบบนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรก มันทำให้เราไม่แน่ใจว่าตั้งแต่ต้นเรื่องมามันเป็นจินตนาการหรือเปล่า เพราะมันถูกต่อด้วยฉากตั้มตื่นนอนในโรงเรียนพอดี

หลังจากนั้น เราได้ยิน “เสียงของการดำน้ำ” ปรากฏอยู่ในฉากผ้าม่านด้วย แล้วเสียงดำน้ำมันมาอยู่ในฉากผ้าม่านได้อย่างไร หรือว่ามันจะบอกว่าฉากก่อนหน้าฉากผ้าม่านเป็นฉากไม่จริง หรือฉากที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นเป็นฉากไม่จริง

ฉากมองผ่านผิวน้ำปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังจากตั้มไปนอนที่อู่รถ แต่ฉากนี้หนังบอกชัดเจนว่าเป็นความฝัน

ฉากมองผ่านผิวน้ำเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงท้ายเรื่อง และมันน่าสนใจดีในแง่ที่ว่า เมื่อเรามองผ่านผิวน้ำในฉากนั้น เราไม่แน่ใจว่า “เรายังคงอยู่ในคลอง หรือยังคงอยู่ในสระ” บางทีเราอาจจะจมน้ำตายไปแล้วในสระ และนี่เป็นโลกหลังความตายของเรา และไอ้สีขาวๆนั่น มันคือขนนกหรือมันคือพระจันทร์กันนะ

นอกจากนี้ การดำน้ำในช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ มันเป็นการดำแบบหายไปจนเหมือนกับว่าไม่มีตัวตนหลงเหลืออยู่เลยน่ะ มันก็เลยเป็นอีกจุดนึงที่ทำให้เราสงสัยว่า จริงๆแล้วอาจจะแทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริงในเรื่องก็ได้ มีเพียงแค่สะเก็ดของความจริงเท่านั้นที่เราได้เห็นมา

11.5 การเชื่อมซีนด้วยฉากผ้าม่านก็รุนแรงมากๆ

11.6 การเชื่อมซีนด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ก็ทำให้เราตั้งคำถามทุกครั้งว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมันจริงหรือเปล่า หรือบางที ตัวละครเพียงแค่เดินทางไปในโลกจินตนาการของตัวเองเท่านั้นเอง เขาเพียงแค่เดินทางไปเยี่ยมชม events ต่างๆในใจของตนเอง และกองขยะในเรื่องก็อาจจะเป็นเพียง “สถานที่แห่งความคับแค้นใจ” และการขี่มอเตอร์ไซค์ในบางครั้ง ก็ทำให้เรารู้สึกว่า ภูมิกับตั้มเป็นคนคนเดียวกันด้วย

12.เราว่าหนังเรื่องนี้ควรดูในโรงภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเสียงมันมี layers รุนแรงมาก ทั้งเสียง sound effects หลอนๆ, เสียงแมงหวี่แมงวันที่ชิบหายมากๆ และในฉากที่ตั้มพยายามแกะคราบริมขอบสระนั้น เราเหมือนได้ยินเสียงคนสวดมนต์ซ้อนอยู่อีก layer นึงด้วย

13.ประเด็นเรื่อง “การร้องไห้” ก็สุดๆมาก ตั้งแต่ฉากที่ตั้มพูดว่า คนที่ร้องไห้ชอบทำตัวเหมือนกับว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด แต่อีกคนนั่นแหละผิด แต่ต่อว่าเราก็เห็นว่าตั้มร้องไห้เสียเองเมื่อแม่มีท่าทียอมรับแฟนของตั้ม, และตั้มก็ร้องไห้อีกครั้งเมื่อภูมิหายตัวไป (เพื่อนเราคนนึงตั้งข้อสังเกตว่า ฉากนี้มันคลาสสิคมากๆ เพราะถ้าเป็นตัวละครปกติในหนังปกติ มันต้องวิ่งหนีโกยแน่บแล้วในฉากนั้น แต่ฉากนี้กลับโฟกัสไปที่การร้องไห้ของตัวละครในสถานการณ์แบบนั้น มันก็เลย classic ไปเลย) และเขาก็ตื่นนอนขึ้นมาร้องไห้ และเห็นภูมิร้องไห้ด้วย คือการร้องไห้ในหนังเรื่องนี้มันไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการเรียกน้ำตาคนดูน่ะ แต่มันทำให้เรารู้สึกได้ถึงอารมณ์บางอย่างที่เรานึกคำคุณศัพท์ไม่ออก

14.สรุปว่าชอบองค์ประกอบต่างๆในหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงมาก น้องโอบก็หล่อน่ากินมากๆ, คนที่เล่นเป็นตั้มก็แสดงได้ดีมาก, เสียงในหนังเรื่องนี้หนักมากๆ, การออกแบบเฟรมภาพก็รุนแรง, การถ่ายท้องฟ้าก็รุนแรง, การใช้ location ก็รุนแรงที่สุด, บทภาพยนตร์ก็มีทั้งความพิศวงกว่าหนังเรื่องอื่นๆ และแทงใจเราได้อย่างรุนแรงกว่าหนังเรื่องอื่นๆ และแม้แต่องค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่นเสื้อผ้าก็ดีมากด้วย อย่างเช่นในฉากที่น้องโอบถอดเสื้อแต่ใส่กางเกงยีนส์ แต่พอตื่นนอนขึ้นมากลับพบว่าเขาใส่อีกชุดนึง มันก็ทำใหเราตั้งคำถามเช่นกันว่า อะไรมันคือความจริง คือเขาตื่นนอนก่อน แล้วไปอาบน้ำ แล้วเปลี่ยนชุดใหม่ หรือว่ามันไม่ใช่ความจริง คือทุกองค์ประกอบในหนังเรื่องนี้ ภาพ, เสียง มันมีความสำคัญหมด และมันถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างรุนแรงกว่าหนังทั่วๆไป

15.แต่ก็สรุปอีกครั้งนะว่า สิ่งที่เราชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่ “การเล่นเกมเอาเถิดเจ้าล่อกับคนดู ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง โดยมีคำตอบเอาไว้ให้แล้วแบบตายตัว” แต่เป็นการที่หนังเหมือนจะเปิดโอกาสของความเป็นไปได้มากมายของความจริง ความไม่จริงในเรื่อง เหมือนหนังอย่าง EDEN AND AFTER และสิ่งที่เราชอบที่สุดในหนัง ก็คือการที่โลกในหนังเรื่องนี้มันดูเหมือนจะเข้าอกเข้าใจ “ความเหงา ความเศร้าสร้อย และความอะไรบางอย่างที่เรานึกคำคุณศัพท์ไม่ออก” ในใจเรานี่แหล




No comments: