Sunday, December 30, 2018

WAVES + DROWNING DEW


WAVES (2018, Samak Kosem, video installation, approximately 37min, A+30)

ดูแล้วนึกถึงหนังไตรภาคชุด SUN (2012, Teeranit Siangsanoh, 163min) มากๆ เพราะหนังไตรภาคชุด SUN เป็นการบันทึกกิจวัตรประจำวันของคนในภาคใต้ โดยเฉพาะกิจวัตรของคนที่ชายหาด แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า WAVES เหมือนมีประเด็นเรื่อง “การต่อต้านถ่านหิน” เป็นแกนกลาง ในขณะที่ SUN ดูเหมือนจะไม่มีประเด็นเรื่องสังคมการเมืองใดๆที่เป็นรูปธรรมให้จับต้องได้เลย เพราะฉะนั้นหนังไตรภาคชุด SUN ก็เลยดูเป็นอะไรที่นามธรรมกว่ามากๆ

คือเวลาที่เราดูหนังไตรภาคชุด SUN ของ Teeranit นั้น เรามองดูคนเล่นน้ำที่ชายหาดไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้เลยว่าหนังต้องการจะส่งสารอะไรใดๆ แต่เวลาเราดูฉากคนเล่นน้ำที่ชายหาดใน WAVES ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรไปจากฉากใน SUN นั้น เราเหมือนจะดูฉากดังกล่าวด้วยความคิดที่ว่า “ถ้าหากมีเหมือง, โรงไฟฟ้า, โรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งบริเวณนี้ แล้วประชาชนจะยังเล่นน้ำที่ชายหาดได้เหมือนเดิมหรือเปล่านะ” เพราะฉะนั้นฉากที่เหมือนกันมากๆใน WAVES กับSUN ก็เลยให้อารมณ์ที่แตกต่างกันในการดู มันเหมือนกับอารมณ์ที่ได้จากการดู SUN มันอยู่ในรูปของก๊าซ ส่วนอารมณ์ที่ได้จากการดู WAVES มันอยู่ในรูปของ “ของเหลว” หรืออาจจะเปรียบเทียบได้ว่า การดู SUN มันเหมือนกับว่า Teeranit ให้ “แป้ง” เรามา แล้วเราจะเอาแป้งนั้นไปทำขนมอะไรก็ได้ ส่วนการดู WAVES นั้นเหมือนกับว่า เราได้กินขนมเค้กที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว

DROWNING DEW (2017, Art Labor, Truong Que Chi, Do Van Hoang, Vietnam, video installation, approximately 35min, A+30)

ชอบสุดๆ วิดีโอนี้แบ่งออกเป็น 6 ตอน ซึ่งได้แก่ BONES, DEATH, CROW, CHARCOAL, GRASSHOPPER และ DEW ซึ่งทั้งหมดน่าจะเป็นการนำเสนอชีวิต/วัฒนธรรม/ประเพณี/ความเชื่อ ของชาวบ้านในพื้นที่เฉพาะเจาะจงพื้นที่หนึ่งในเวียดนาม ขณะที่พื้นที่นั้นเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากการสร้างเขื่อนหรือการทำไร่กาแฟหรือโลกสมัยใหม่ อะไรทำนองนี้ ชอบตอน CROW มากๆ ที่เป็นเหมือนพิธีกรรมประหลาดอะไรสักอย่าง ถ้าจำไม่ผิด

ตอน BONES ทำให้นึกถึง MELANCHOLY OF A VIDEO (2013, Ukrit Sa-nguanhai) เพราะทั้ง MELANCHOLY OF A VIDEO และ BONES เหมือนจะนำเสนอกิจวัตรประจำวันหลักของหนุ่มๆในชนบทในยุคปัจจุบัน นั่นก็คือการขี่มอเตอร์ไซค์ โดยไม่ใช่การขี่เพื่อทำงานหรือเพื่อเดินทาง แต่ขี่เล่นๆไปเรื่อยๆ

ตอน DEW ก็ติดตามากๆ ที่เป็นชาวบ้านไปรอรับน้ำค้างจากใต้ต้นไม้ใหญ่

No comments: