Sunday, December 30, 2018

DREAM (2018, Wachara Kanha, documentary, A+30)


DREAM (2018, Wachara Kanha, documentary, A+30)
ความฝัน

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่

เหมือนเป็นการนำเอาสารคดี 3-4 เรื่องมาผสมเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งได้แก่สารคดีเกี่ยวกับคนไร้บ้าน, คนเลี้ยงนก, คนชรา, ชาวประมง และความฝันของคนต่างๆ โดยภาพส่วนใหญ่ในหนังเรื่องนี้คือภาพจากสารคดีคนชราและชาวประมง  และมีการใช้เสียงสัมภาษณ์จากหนังสารคดีเหล่านี้ด้วยราว 30% แต่เสียงอีก 70% ที่เหลือในหนังเป็นเสียงสัมภาษณ์บุคคลทั่วไปเกี่ยวกับความฝันของพวกเขา โดยความฝันในที่นี้คือความฝันในตอนนอนหลับ ที่สะเปะสะปะ, ไร้เหตุผล, ไร้คำอธิบายใดๆ

เพราะฉะนั้นภาพกับเสียงในหนังก็เลยสอดคล้องกันบ้าง และไม่สอดคล้องกันบ้าง โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะได้เห็นภาพหนุ่มๆชาวประมงทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย และได้ฟังเสียงของคนต่างๆพูดถึงความฝันของตัวเองควบคู่ไปกับภาพหนุ่มประมงเหล่านั้น

รู้สึกว่าการผสานสองส่วนที่ไม่สอดคล้องกันเข้าด้วยกันในหนังเรื่องนี้ มันก็ดี แต่มันก็ไม่ได้เข้ากันแบบสุดๆนะ คือเราว่าถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็นหนังสารคดีเกี่ยวกับชาวประมง หรือคนชราไปเลย มันอาจจะ “จืด” ไปหน่อย คือเราก็จะได้แต่เนื้อหาที่น่าสนใจ แต่ภาพในหนังที่ตรงไปตรงมากับเนื้อหา ก็อาจจะทำให้หนังเหมือนขาดพลังอะไรบางอย่าง

การนำเสียงที่ไม่เข้ากับภาพมาใช้ในหนังเรื่องนี้ มันก็เลยช่วยเพิ่มพลังให้กับหนังได้เป็นอย่างดี ถึงแม้มันจะยังไม่ลงตัวแบบสุดๆก็ตาม

LOVE (2019, Wachara Kanha, 28min A+30)
สิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิ

--เข้าใจว่าหนังน่าจะเริ่มเผยแพร่ต่อสาธารณชนในปี 2019 เราก็เลยใส่ปีของหนังเป็นปี 2019

1.เหมือนเป็นหนังเรื่องแรกในรอบหลายปีของวชร ที่เป็น fiction ที่ใช้นักแสดงมาแสดงแบบจริงๆจังๆ เพราะก่อนหน้านี้วชรเคยทำหนัง fiction มาบ้างในช่วงปี 2010 ในช่วงที่ทำหนังส่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัย อย่างเช่น “คำพิพากษาของความรัก” (THE JUDGE) (2010, 25min) แต่หลังจากนั้นวชรก็หันมาทำหนังทดลองเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องราว fiction แบบ narrative เหมือนหนังทั่วๆไป เพิ่งจะมีหนังเรื่องนี้นี่แหละที่น่าจะเป็น narrative fiction เรื่องแรกในรอบ 6-7 ปีของวชร ถ้าจำไม่ผิด

2.เข้าใจว่าหนังมีส่วนที่เป็น autobiography อยู่ราว 70-80% และมีส่วนที่เป็น “ความเหนือจริง” อยู่อีก 20-30% ซึ่งเราชอบมากๆที่หนังใส่ความเหนือจริงเข้ามาด้วย เพราะมันช่วยให้หนังไม่แบนเกินไปจนเป็น autobiography

3.ชอบที่ setting หลักในหนังมันง่ายดี เป็นแค่คู่รักคุยกันขณะรอให้สุกี้เดือด โดยที่บทสนทนาในหนังน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ต่างๆในชีวิต ซึ่งการพึ่งพิงประสบการณ์จริงเป็นหลักแบบนี้ มันก็มีทั้งข้อดีและข้อด้อย ข้อดีก็คือมันสมจริง, เป็นธรรมชาติ, เป็นการบันทึก slice of life ได้ดีมากๆ แต่ข้อด้อยก็คือ มันเหมือนยังขาดพลังอะไรบางอย่างที่จะช่วยให้มันรุนแรงได้มากกว่านี้ คือเหมือนผู้สร้างหนังกับ “สิ่งที่หนังพูดถึง” มันใกล้กันมากเกินไป จนมันขาดแง่มุมบางอย่างที่จะช่วยให้หนังทรงพลังมากขึ้น ถ้าหากมันถูกนำเสนอด้วยแง่มุมที่ถอยห่างออกมาหน่อยจากตัว subjects

4.ถ้าเทียบกับหนังไทยด้วยกัน เราก็ชอบหนังเรื่องนี้แบบสุดๆนะ ชอบความที่หนังมันดูเหมือนง่ายๆ สบายๆ (ในแง่การถ่ายทำ) แต่สามารถบันทึกความเศร้า ความเจ็บปวดบางอย่างของชีวิตจริงได้ดี

แต่ถ้าหากเทียบกับหนังต่างประเทศแล้ว เราว่าอะไรแบบนี้ยังพัฒนาได้อีกนะ โดยดูได้จากหนังอย่าง THE LONG DAY CLOSES (1992, Terence Davies, UK) ที่เป็น autobiography เหมือนกัน แต่ทำออกมาเป็นแบบ poetic มากๆ และมันทรงพลังสุดๆ

หรือถ้าหากจะทำหนังแบบนักแสดงคุยกันไปเรื่อยๆแล้ว เราว่าหนังของ Eric Rohmer, Mike Leigh อะไรแบบนี้ ก็น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในการศึกษาว่า จะทำหนังที่ตัวละครคุยกันให้ออกมา “เข้มข้น” หรือทรงพลังได้มากกว่านี้ได้อย่างไร

No comments: