Tuesday, December 11, 2018

THE CRUELTY AND THE SOY-SAUCE MAN+ (2000, Phaisit Phanphruksachat, 106 min, A+30)


THE CRUELTY AND THE SOY-SAUCE MAN+ (2000, Phaisit Phanphruksachat, 106 min, A+30)
จอมโหดมนุษย์ซีอิ๊ว+

1.ฉากคุยกันบางฉากในหนังเรื่องนี้นี่ถือเป็นหนึ่งในฉากคลาสสิคสำหรับเราไปเลย เพราะมันดูจริงมาก ทรงพลังมากๆ มันมีพลังดิบสดบางอย่างแบบที่หาไม่ได้ในหนังเรื่องอื่นๆ แต่อาจจะพอมีที่เทียบเคียงได้บ้าง อย่างเช่น

1.1 ฉากคุยกันในหนังของ Eric Rohmer แต่ฉากคุยกันในหนังของ Rohmer มันจะไม่ดู macho เท่านี้

 1.2 ฉากคุยกันในหนังของ Mike Leigh แต่ฉากคุยกันในหนังไมค์ ลีห์ จะไม่ macho เท่านี้ และฉากคุยกันในหนังไมค์ ลีห์จะมี "สาระ", "ความหมาย" หรือมีความสัมพันธ์กับเส้นเรื่องหลัก มากกว่าหนังของ Phaisit

1.3 ฉากผู้ชายเมาเหล้าคุยกันในหนังเรื่อง THE DIRECTOR OF SOUTHPOLE (2012, Vorakorn Ruetaivanichkul) แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า ฉากผู้ชายเมาเหล้าคุยกันในหนังของวรกร มันถูกนำเสนอในฐานะ “สารคดี” แต่ฉากผู้ชายคุยกันอย่างถึงพริกถึงขิงในหนังเรื่องนี้ มันถูกนำเสนอในฐานะของ fiction มันก็เลยเหมือนกับว่าฉากผู้ชายคุยกันตามความเป็นจริงนี้ มันถูกนำมาเล่นแร่แปรธาตุอะไรบางอย่าง จนทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดา หรือถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า คนนึงถ่ายภาพตุ๊กตาหมี แล้วก็บอกว่า “นี่คือตุ๊กตาหมี” แต่อีกคนนึงถ่ายภาพตุ๊กตาหมี แล้วก็บอกว่า “นี่อาจจะเป็นตุ๊กตาหมีของลูกสาวมาเฟียที่ถูกฆ่าตายอย่างลึกลับ” เพราะฉะนั้นภาพตุ๊กตาหมีภาพเดียวกัน มันก็เลยอาจจะส่งผลกระทบทางอารมณ์, ความรู้สึก และจินตนาการของผู้ชมอย่างแตกต่างกันมากๆก็ได้ เพราะวิธีการนำเสนอภาพนั้นมันแตกต่างกัน ทั้งๆที่มันเป็นภาพเดียวกัน

1.4 ดูแล้วนึกถึงฉากผู้ชายคุยกันในหนังเรื่อง DIASPORA UTOPIA (2017, Supawit Buaket) ด้วย แต่ถ้าเทียบกันแล้ว จะเห็นได้ชัดเลยว่า ฉากคุยกันในหนังของ Phaisit มันพิเศษหรือมัน unique ยังไง เพราะฉากเพื่อนผู้ชายคุยกันใน DIASPORA UTOPIA มันเป็นฉากที่มี function แบบในหนังทั่วๆไป นั่นก็คือคุยกันเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมตามที่หนังต้องการนำเสนอ และอาจจะทำให้ตัวละครดูเป็นมนุษย์ที่จับต้องได้มากขึ้น (เรารู้ประวัติภูมิหลังของพระเอกผ่านทางบทสนทนา เราเข้าใจพระเอก, เพื่อนๆของเขา และสภาพแวดล้อมของเขามากขึ้นผ่านทางบทสนทนา) แต่ฉากคุยกันในหนังของ Phaisit มันเหมือนเลยพ้นไปจากการทำหน้าที่ของ “บทสนทนาที่ดี” แบบในหนังทั่วๆไป มันเหมือนเป็นการคว้าจับบทสนทนาที่น่าจดจำ, ห้วงขณะที่น่าจดจำมาเก็บบันทึกไว้ โดยที่มันไม่จำเป็นต้องส่องสะท้อนอะไรมากนักก็ได้

1.5 ดูแล้วนึกถึงบทสนทนากวนตีนๆในหนังของ Quentin Tarantino และหนังที่รับอิทธิพลมาจาก Tarantino ด้วย อย่างเช่นหนังเรื่อง “อำพราง” (2010, Tani Thitiprawat) ที่ให้ตัวละครสมาชิกแก๊งนักฆ่าถกกันเป็นเวลานานเรื่องการใช้ทิชชูในห้องน้ำ แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือว่า ในหนังของ Phaisit นั้น เราจะรู้สึกว่า จุดประสงค์ของการใส่บทสนทนาแบบนี้เข้ามา ไม่ใช่เพื่อ “สร้างอารมณ์กวนตีน” กับผู้ชมแบบในหนังของ Tarantino น่ะ คือมันเป็นการใส่บทสนทนาแบบสมจริงที่มักจะไม่ได้เห็นในหนังทั่วๆไปเข้ามาในหนังเหมือนๆกัน แต่ในหนังของ Tarantino นั้น มันเหมือนกับว่าเขาใส่เข้ามา เพราะเขารู้ว่ามัน “ผิดที่ผิดทาง” และจงใจเล่นสนุกกับความรู้สึกผิดที่ผิดทางนั้น (หนัง genre แอคชั่นไม่ควรจะมีบทสนทนาเรื่องชีวิตประจำวันเป็นเวลายาวนาน) แต่ในหนังของ Phaisit นั้น มันไม่ได้ถูกใส่เข้ามาเพราะมัน “ผิดที่ผิดทาง” แต่มันถูกใส่เข้ามาเพราะมันดูเหมาะสมของมันเองจริงๆ

1.6 ถ้าจะมีฉากคุยกันยาวๆฉากใด ที่ทำให้เรารู้สึกรุนแรงได้มากเท่ากับฉากตัวละครคุยกันใน THE CRUELTY AND THE SOY-SAUCE MAN นั่นก็คงจะเป็นฉากตัวละครระบายความในใจอย่างยาวนานใน THE MOTHER AND THE WHORE (1973, Jean Eustache, 217min)

2.ชอบการคุยกันเรื่องเต้าหู้กับเต้าฮวยมากๆ จริงๆช่วงนี้ของหนังนี่นำไปปะทะกับ BEFORE SUNRISE ได้เลย

3.ถ้าหากเลือกผู้กำกับคนใดในโลก ที่สามารถปะทะกับ Phaisit Phanphruksachat ได้แล้ว เราก็คิดว่าอาจจะมีแค่ Herbert Achternbusch จากเยอรมนีนี่แหละ ที่สามารถปะทะได้ ในแง่ความทุนต่ำ, บ้าบอคอแตก, ขี้เล่น, การไม่อินังขังขอบกับความสมจริงอะไรใดๆอีกต่อไป แต่หนังของ Achternbusch อาจจะ “การเมือง” กว่า หรือเน้นสาระมากกว่าหนังของ Phaisit

No comments: