Wednesday, January 06, 2021

HAPPY END DOY (2021, Kritsada Boonrit, 62min, A+25)

 

HAPPY END DOY (2021, Kritsada Boonrit, 62min, A+25)

 

ดูหนังได้ที่นี่

https://www.youtube.com/watch?v=cckdfmMNypI

 

1.หนังแนว video diary ซึ่งส่วนใหญ่เราจะได้ดูแค่ในเทศกาลหนังสั้นรอบมาราธอนของมูลนิธิหนังไทยเท่านั้น เราชอบหนังแนวนี้มากๆ อาจจะเป็นเพราะส่วนนึงเราชอบหนังที่สะท้อนความธรรมดาของชีวิต และสาเหตุอีกอันนึงเป็นเพราะว่าเรามีความสอดรู้สอดเห็น (หรือความเสือก 55555) อยากรู้ว่าชีวิตของคนอื่นๆเขาเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าหนังแนวนี้อาจจะไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองผู้ชมในวงกว้าง เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะชอบหนังแนวนี้มากๆ หรือชอบหนังเรื่องนี้มากๆ เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้ชมทั่วไปจะชอบหนังแนวนี้

 

หนังเรื่องนี้เหมาะฉายควบกับ “ผม ตัวผม และไดอารี่ของผม” (WHEN I  DANCE) (2006, Unnop Saguanchat, 90min) และ ME AND MY VIDEO DIARY (2010, Tani Thitiprawat, 30min) มากๆ เพราะหนังทั้ง 3 เรื่องนี้ถือเป็นหนังแนว video diary ของไทยที่เราชอบมากๆเหมือนกัน

 

แต่เราชอบ HAPPY END DOY น้อยกว่าหนัง 2 เรื่องข้างต้นนะ เพราะเราว่า HAPPY END DOY อาจจะ “มีความเป็นส่วนตัว” สูงกว่าหนัง 2 เรื่องข้างต้นน่ะ คือเราว่าหนังกลุ่ม video diary นี้ จุดประสงค์หลักมันอาจจะไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อผู้ชมในวงกว้างอยู่แล้วแหละ จุดประสงค์หลักมันคงสร้างขึ้นเพื่อช่วยบันทึกสิ่งต่างๆที่น่าจดจำสำหรับตัวผู้กำกับเอง แต่ถ้าหากหนังแนว video diary หรือหนังแนว home video เรื่องไหน ต้องการเข้าถึงผู้ชมคนอื่นๆที่ไม่ได้รู้จักกับผู้กำกับเป็นการส่วนตัวด้วย มันก็ต้องอาศัยกลวิธีต่างๆในการสื่อสารกับผู้ชมมากขึ้นแหละ ไม่สามารถอาศัยเพียงแค่การบันทึกสิ่งที่น่าจดจำสำหรับตัวผู้กำกับเองเท่านั้น ซึ่งเราว่า HAPPY END DOY อาจจะบรรลุจุดประสงค์หลักในการบันทึกสิ่งที่น่าจดจำสำหรับตัวผู้กำกับเองแล้ว แต่หนังเรื่องนี้อาจจะยังต้องอาศัยกลวิธีอื่นๆเข้ามาช่วย ถ้าหากหนังต้องการจะสื่อสารกับผู้ชมในวงกว้างขึ้น

 

2.ชอบความวูบไหวของกล้อง ความสั่นไหวไหลลื่นไปมาของกล้องในหนังเรื่องนี้มากๆ คือ moments ไหนที่กล้องวูบไหวไปมาในหนังเรื่องนี้ เราจะรู้สึกว่ามัน “มีชีวิต” ดี

 

เราเดาว่านี่น่าจะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของผู้กำกับคนนี้นะ เราคิดว่าผู้กำกับแต่ละคนน่าจะมีความถนัดแตกต่างกันไป ผู้กำกับบางคนถนัดในการ “วางเฟรมภาพ” มากๆ เพราะฉะนั้นเวลาผู้กำกับกลุ่มนี้ตั้งกล้องนิ่งๆ ถ่าย long take แล้วฉากนั้นจะดูทรงพลังและออกมาตราตรึงใจ (อย่างเช่น Marguerite Duras, Chaloemkiat Saeyong) ส่วนผู้กำกับบางคนถนัดในการทำภาพแบบ superimposition (อย่างเช่นคุณ Tanakit Kitsanayunyong) ส่วนผู้กำกับหนังเรื่องนี้ น่าจะถนัดในการทำให้กล้องวูบไหวไปมา คือเรารู้สึกว่าการวูบไหวไปมาของกล้องในหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นความพยายามทำเท่ และไม่ได้เป็นการจงใจเร้าอารมณ์ใดๆด้วยนะ เราเพียงแค่รู้สึกว่าการวูบไหวไปมาของกล้องในหนังเรื่องนี้มันดูเข้ากับหนังมากๆ

 

3.ส่วนสาเหตุที่ทำให้เราไม่ได้ชอบหนังแบบสุดๆ ถึงขั้น A+30 เป็นเพราะว่า เรารู้สึกว่าบางฉากมันน่าเบื่อเล็กน้อยสำหรับเราน่ะ แต่บางฉากก็ออกมาดี

 

ฉากที่เรารู้สึกว่า “น่าสนใจน้อยที่สุด” สำหรับเรา คือฉากที่เป็นการบันทึกภาพการทำงานของกองถ่ายต่างๆน่ะ ทั้งกองถ่ายแบบมืออาชีพในช่วงต้นเรื่อง และกองถ่ายหนังนักศึกษาในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง คือเราว่าฉากพวกนี้มันคงมีคุณค่าและความหมายสำหรับชีวิตส่วนตัวของผู้กำกับในช่วงปี 2020 น่ะแหละ แต่พอเราดูฉากพวกนี้นานๆ เราก็รู้สึกเบื่อๆเล็กน้อย อาจจะเป็นเพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับอะไรพวกนี้มั้ง

แต่ถ้าหากเป็นนักศึกษาศึกษาภาพยนตร์คนอื่นๆมาดู เขาอาจจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากกว่าเราก็ได้

 

จริงๆแล้วเหมือนช่วงนี้เราได้ดูหนังเกี่ยวกับ “การทำงานของกองถ่ายไทย” หลายเรื่องนะ 555 ทั้ง PEOPLE ON SUNDAY (2019, Tulapop Saenjaroen) และ DSC_3896 (2020, Tanakit Kitsanayunyong) แต่หนัง 2 เรื่องนี้ทำให้ฉาก “การทำงานของกองถ่าย” ดูน่าสนใจกว่าหนังเรื่องนี้น่ะ เพราะ PEOPLE ON SUNDAY เป็นการตั้งคำถามทางปรัชญาเกี่ยวกับการทำงาน ส่วน DSC_3896 เน้นถ่าย “บรรยากาศ” และคุณ Tanakit มี sense ทางการถ่ายภาพที่งดงามมากๆ เพราะฉะนั้นคนดูที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับกองถ่ายหนัง ก็สามารถเพลิดเพลินกับการดูภาพงามๆและซึมซับกับบรรยากาศในหนังได้ ในขณะที่ใน HAPPY END DOY นั้น เราจะรู้สึก “ห่าง” จากฉากกองถ่ายพวกนี้มากเหมือนกัน

 

พูดถึง “ฉากกองถ่าย” แล้วก็ทำให้นึกถึงฉากกองถ่ายในหนังของ Ben Rivers ด้วย อย่างเช่นใน THE SKY IS TREMBLE AND THE EARTH IS AFRAID AND THE TWO EYES ARE NOT BROTHERS (2015) กับใน A DISTANT EPISODE (2015) ซึ่งในหนังสองเรื่องนี้ มีการบันทึกภาพ “การทำงานของกองถ่ายภาพยนตร์” เหมือนกัน แต่มันเป็นการเอาภาพฟุตเตจการทำงานของกองถ่าย มาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างหนัง fiction น่ะ มันก็เลยออกมาน่าสนใจสุดๆ

 

สรุปว่า เราคิดว่าฉากกองถ่ายอะไรพวกนี้มันคงมีคุณค่ากับตัวผู้กำกับเป็นการส่วนตัวน่ะแหละ แต่สำหรับเราที่ไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมด้วยแล้ว เราว่าฉากพวกนี้อาจจะต้องการอะไรมากกว่านี้น่ะ อย่างเช่น การใส่เสียง voiceover ของผู้กำกับเข้าไป เพื่อเล่าเรื่องอะไรก็ได้ที่อาจจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับ “ภาพ” ในหนังก็ได้ อย่างเช่นเล่าเรื่องราวอะไรก็ได้ที่อยากเล่าเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง เล่าว่าชีวิตมหาลัยเป็นยังไง มีอะไรที่น่าจดจำในชีวิตมหาลัย เล่าว่าทำไมตัวเองถึงชอบดูหนัง ทำไมถึงมาเรียนภาพยนตร์ หรือเล่าเรื่องสัพเพเหระอะไรก็ได้ หรือเล่าจินตนาการ ความฝันอยากทำหนัง หรือเล่า fiction อะไรก็ได้ที่ตัวเองแต่งเอง เพราะเรารู้สึกว่า “ภาพ” ในส่วนนี้มันขาดความน่าสนใจ หรือขาดพลังน่ะ แต่ถ้าหากมันใส่เสียง voiceover หรือใส่ text ที่น่าสนใจเข้าไปในภาพด้วย มันอาจจะช่วยเสริมพลังให้กับหนังในส่วนนี้ได้

 

อย่างไรก็ดี การผสมกันระหว่างภาพกับเสียงที่ไม่สัมพันธ์กันโดยตรง มันก็ต้องอาศัย sense ที่ดีมากๆของผู้กำกับเหมือนกันนะ ซึ่งถ้าหากใครเก่งในการทำหนังทดลองหรือหนังเชิงกวี ก็จะทำอะไรพวกนี้ได้ง่าย

 

เหมือนกับว่าสาเหตุที่เราชอบ WHEN I DANCE และ ME AND MY VIDEO DIARY มากกว่าหนังเรื่องนี้ มันเป็นเพราะหนังสองเรื่องนี้ไม่มีจุดอ่อนแบบนี้น่ะ หรือมีจุดแข็งจุดอื่นที่สามารถมากลบจุดอ่อนได้สนิท อย่างใน ME AND MY VIDEO DIARY นั้น หนังมีการใช้ “เสียงอ่านบทกวีที่ตัวผู้กำกับแต่งเอง” ประกอบไปกับภาพต่างๆด้วย แล้วมันออกมาทรงพลังอย่างสุดๆ เราดูแล้วแทบตายคาจอ เพราะบทกวีมันทรงพลังมากๆ แล้วพอมันมาประกอบกับภาพ “ชีวิตประจำวัน” มันก็เลยทำให้เกิด chemical reaction ที่รุนแรงมากๆได้ แต่ถ้าหากมันอาศัยเพียงแค่ “ภาพชีวิตประจำวัน” เพียงอย่างเดียว มันก็จะไม่ทรงพลังมากนัก

 

4.ส่วนฉากที่เราว่า “น่าสนใจแค่ในระดับปานกลาง” คือฉากที่บันทึกภาพการสรวลเสเฮฮากับเพื่อนๆน่ะ 55555 คือฉากพวกนี้มันทรงคุณค่ามากๆน่ะแหละสำหรับตัวผู้กำกับ แต่มันอาจจะขาดพลังนิดนึงสำหรับผู้ชมที่เป็นคนแปลกหน้า

 

คือเหมือนกับว่า ถ้าหากเราได้เห็น “มิสเอ” ในหนัง ซึ่งเป็นคนที่เราไม่รู้จักมาก่อน เราก็จะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าหากเราได้เห็น “มิสเอ” ซึ่งเป็นคนที่เราคบเป็นเพื่อนมานาน 4 ปีแล้วในหนัง เราก็จะรู้สึกรุนแรงมากๆ

 

เพราะฉะนั้นหนังแนวที่บันทึก moments ดีๆกับเพื่อนๆ มันก็เลยเหมือนจะเจอ dilemma สำคัญตรงจุดนี้เหมือนกัน เพราะหนังมันจะทรงคุณค่ามากๆสำหรับผู้ชมที่รู้จักบุคคลในหนัง แต่ถ้าหากมันนำเสนอ moments แบบนี้อย่างตรงไปตรงมา คนดูที่ไม่รู้จักบุคคลในหนังก็อาจจะรู้สึกเฉยๆได้

 

ซึ่งจริงๆแล้วเราก็เคยดูหนังไทยแนวนี้มาหลายเรื่องนะ 555 ตั้งแต่ หนังสือรุ่น MY SONG CLASSROOM (2005, Benjaphan Rungsubhatanond, 14min), 6 OR 5 (2006, Sarawan Weerawat, 56min), MY ROOM AND I (2010, Ka-nes Boonyapanachoti) หนังหลายเรื่องของ Theeraphat Ngathong อย่างเช่น “เมื่อเราลอบผ่านปราการสวรรค์และถูกผู้พิทักษ์ไล่ล่า” (2012, 31min) และ ค่ำคืนสุดท้าย OUR LAST NIGHT TOGETHER (2010, Wachara Kanha, 48min) แต่หนังที่บันทึก moments ดีๆกับเพื่อนๆแบบนี้ บางเรื่องมันสร้างความน่าสนใจให้กับผู้ชมที่เป็นคนแปลกหน้าได้น่ะ อย่างเช่น 6 OR 5 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รู้จักกับเพื่อนๆแต่ละคนของผู้กำกับไปเลย, MY ROOM AND I ที่บันทึกฉากเพื่อนๆแสดงอิทธิฤทธิ์อย่างรุนแรง และหนังของ Theeraphat กับ Wachara ที่บันทึก “บทสนทนา” ระหว่างเพื่อนๆด้วยกัน ระหว่างเพื่อนๆกับตัวผู้กำกับ

 

คือเราชอบดูหนังที่บันทึก “บทสนทนา” ระหว่างเพื่อนๆมากน่ะ เพราะเราเองก็ชอบ moments เวลาได้นั่งอยู่ในวงสนทนาของเพื่อนๆเหมือนกัน และอีกสาเหตุนึงเป็นเพราะว่า หนังกลุ่มนี้มันตอบสนองความอยากรู้อยากเห็น หรือความอยากเสือกของเราได้ดีด้วย ว่าคนอื่นๆเขาคุยกันเรื่องอะไรยังไงบ้าง

 

คือเรารู้สึกว่า ปัญหาของเราที่มีต่อฉาก “การถ่ายทำภาพยนตร์” และ ฉาก “เพื่อนๆ” ใน HAPPY END DOY บางทีมันอาจจะเป็นเพราะว่า ผู้กำกับเปิดเผยชีวิตตัวเองน้อยเกินไปน่ะ คือการได้เห็นเพื่อนๆเล่นกีตาร์และเพื่อนๆยิ้มแย้ม มันสร้างความรู้สึก “เฉยๆ” สำหรับคนแปลกหน้าอย่างเราน่ะ แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้เลือกใช้วิธีแบบหนังของ Theeraphat และ Wachara ที่กล้าถ่ายทอดบทสนทนาของเพื่อนๆออกมา มันก็จะช่วยทำให้คนแปลกหน้าอย่างเรารู้สึกตื่นเต้นยินดีที่จะเข้าไปอยู่ท่ามกลางวงสนทนานั้นด้วย

 

หรือไม่งั้นก็อาจจะต้องใช้วิธีแบบหนังของ Jonas Mekas ไปเลย ที่ตัดต่อฉากพวกนี้ออกมาให้ดูเป็นบทกวี แต่การจะใช้วิธีแบบนี้ให้สัมฤทธิ์ผลได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้กำกับมีความสามารถเชิงกวีมากแค่ไหน

 

สรุปว่า ในความเห็นส่วนตัวของเรานั้น ฉากเบื้องหลังการถ่ายทำ กับฉากเพื่อนๆในหนังเรื่องนี้ มันให้ความรู้สึกกับเรา (ซึ่งเป็นคนแปลกหน้า) คล้ายๆการกินขนมปังเปล่าๆน่ะ แต่เราคิดว่าถ้าหากผู้กำกับกล้าเปิดเผยชีวิตตัวเองมากกว่านี้ อาจจะด้วยการใส่ voiceover เข้าไป หรือด้วยการบันทึกบทสนทนาของเพื่อนๆ มันก็อาจจะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับฉากเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น เหมือนการได้กินขนมปังทาน้ำพริกเผา หรือทาแยม หรือราดนมข้นหวานอะไรพวกนี้ 55555

 

5.อย่างไรก็ดี ฉากเพื่อนอ้วกในห้องน้ำนี่เราชอบสุดๆในระดับ A+30 เลยนะ เพราะมัน dramatic ดี เราซึ่งเป็นคนแปลกหน้าก็รู้สึกดีที่ได้เข้าไปล่วงรู้ moment แบบนี้ด้วย 55555 ทำให้นึกถึงหนังแบบ THE DIRECTOR OF SOUTHPOLE (2012, Vorakorn Ruetaivanichkul, 18min) ที่บันทึกภาพเพื่อนๆขณะเมามาย พูดจาไม่ได้สติ หรือ 2ND FLOOR (2017, Natthapong Prasri) ที่บันทึกภาพเพื่อนขณะติดลิฟท์ (ถ้าจำไม่ผิด)

 

6.เราชอบส่วนที่เหลือของหนังมากๆเลยนะ ทั้งฉากการไปต่างจังหวัด, การไปม็อบ, การคุยกับแฟน, etc. เหมือนฉากพวกนี้ เราซึ่งเป็น “คนแปลกหน้า” ก็สามารถ enjoy กับมันได้ไม่ยากน่ะ

 

7.แต่ฉากที่ memorable สำหรับเรามากที่สุดในหนังเรื่องนี้ อาจจะเป็นฉากที่ถ่ายฝาผนังห้อง แล้วมีเสียงคน (ไม่แน่ใจว่าตัวผู้กำกับหรือเปล่า) เล่าเรื่องการไปทำงาน ฝนตก เจอปัญหา เข้า 7-eleven ไม่ได้เพราะไม่ได้ใส่หน้ากาก, etc.

 

เราชอบอะไรแบบนี้นี่แหละ เราชอบการเปิดเปลือยชีวิตของตัวเองออกมาตรงๆแบบนี้ล่ะ คือ “ภาพ” ในฉากนี้อาจจะไม่ทรงพลังมากนัก แต่เสียง voiceover ที่เล่าชีวิตของตัวเองออกมาตรงๆมันเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ ดูแล้วนึกถึงหนังแบบ A NEANGLY FAIRYTALE (BREAKDOWN: SIDE STORY) (2009, Nattaphan Boonlert, 21min) ที่บันทึกภาพผู้กำกับพูดจาใส่กล้องขณะสติแตกกระเจิดกระเจิง หรือช่วง 20 นาทีสุดท้ายของ 10 YEARS (2013, Chawagarn Amsomkid, 70min) ที่เป็นผู้กำกับพูด monologue ใส่กล้องอย่างรุนแรงที่สุด

 

คือถ้าเป็นหนัง video diary แล้วผู้กำกับกล้าเปิดเผยความอ่อนไหว, จุดอ่อน, ความเปราะบาง, ความอ่อนแอ, ด้านลบ ของตัวเองออกมา มันก็จะเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆนะ แบบใน A NEANGLY FAIRYTALE และ 10 YEARS คือถึงแม้ภาพมันจะไม่ทรงพลัง แต่เสียงมันเล่าเรื่องที่ทรงพลังมากๆ หรือเสียงมันถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงมากๆ แค่นี้มันก็เพียงพอแล้ว

 

หรือถ้าทำหนังแบบนี้ดีๆ มันจะเทียบชั้นกับหนังของ John Smith ได้เลยนะ แบบหนังอย่าง MUSEUM PIECE (2004) และ DIRTY PICTURES (2007)  คือ John Smith ทำหนังหลายเรื่องที่ถ่ายแค่ “ห้องๆเดียวในโรงแรม” แล้วเขาก็พูดพล่ามไปเรื่อยๆตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง แต่หนังของ John Smith กลุ่มนี้มันทรงพลังสุดๆ เพราะสิ่งที่เขาพูดพล่ามไปเรื่อยๆมันทรงพลังมากๆ ซึ่งแน่นอนว่าการจะทำหนังแบบนี้ได้นั้นคุณต้องพูดเก่ง และคุณต้องมีความรู้เยอะด้วย ถึงจะพูดพล่ามไปเรื่อยๆตั้งแต่ต้นจนจบหนังแล้วทำให้หนังทรงพลังสุดๆได้

 

8.เราว่า HAPPY END DOY พยายามรวบรวมเศษเสี้ยวต่างๆมากมายในหนังเข้าด้วยกัน ผ่านทางคุมโทนภาพ และการใช้ดนตรีประกอบกุ๋งกิ๋งแบบเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

 

ซึ่งเราว่าในส่วนของ “โทนภาพ” นั้น เราพึงพอใจ หนังทำออกมาเป็นขาวดำ ที่โทนออกมืดๆหน่อย มันช่วยคุมโทนของหนังทั้งเรื่องให้ออกมาในทางเดียวกัน

 

แต่ดนตรีประกอบเราว่าต้องปรับปรุงอีกเยอะ 55555 แต่เข้าใจว่านี่เป็น “หนังส่วนตัว” ไม่ใช่หนังส่งประกวดชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ ก็เลยใช้ดนตรีประกอบแบบนี้ได้

 

คือเราว่าหนังใส่ดนตรีประกอบเยอะเกินไปน่ะ มีหลายๆฉากที่ไม่ต้องใส่ดนตรีประกอบก็ได้ และมีหลายๆฉากที่เราคิดว่า ถ้าหากจ้างเพื่อนที่เป็นนักดนตรีให้มาช่วยออกแบบดนตรีประกอบให้ มันน่าจะช่วยเสริมพลังให้ฉากนั้นๆได้มากขึ้น

 

9.สรุปว่า ชอบหนังเรื่องนี้มากพอสมควร ดีแล้วที่ถ่ายฟุตเตจชีวิตของตัวเองเก็บไว้ ของพวกนี้มันจะมีคุณค่าทางจิตใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ 5 ปี 10 ปีข้างหน้า แล้วเราได้ย้อนกลับมาดูภาพสิ่งต่างๆในชีวิตตัวเองในปี 2020 เราจะรู้สึกดีใจมากๆที่เราเคยบันทึกเศษเสี้ยวต่างๆของชีวิตตัวเองเอาไว้

 

แต่นอกจากคุณค่าทางจิตใจสำหรับตัวผู้สร้างหนังเองแล้ว ถ้าหากหนังเรื่องนี้ต้องการสร้างความประทับใจสำหรับผู้ชมที่เป็นคนแปลกหน้า หนังก็อาจจะต้องหาทางดึงดูดผู้ชมที่เป็นคนแปลกหน้าด้วยวิธีการต่างๆด้วยเช่นกัน แล้วแต่ว่าผู้กำกับคนไหนถนัดทางไหน ผู้กำกับบางคนอาจจะถนัดเอาฟุตเตจ “moment ธรรมดาๆในชีวิตประจำวัน” มาเรียงร้อยเข้าด้วยกันแล้วเกิดความงามแบบบทกวี (Jonas Mekas), บางคนอาจจะถนัดทำหนังที่เปิดเปลือยชีวิตตัวเอง (Caveh Zahedi), บางคนอาจจะมีความรู้เยอะ และพูดเก่ง (John Smith), บางคนอาจจะมีกลุ่มเพื่อนที่กล้าพูดเรื่องต่างๆต่อหน้ากล้องได้อย่างไม่เขินอาย (Wachara Kanha), บางคนถนัดถ่าย “เรื่องจริงต่างๆที่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน” แต่เอา footage เรื่องจริงเหล่านั้นมาแต่งเรื่องแต่งราวใหม่ให้กลายเป็นหนัง fiction (Phaisit Phanphruksachat), บางคนถนัดทำหนังแบบไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆทั้งสิ้น ก็เลยสร้างหนังที่มีทั้งส่วนที่เป็น video diary และส่วนที่เป็น “อะไรก็ไม่รู้” ผสมผสานเข้าด้วยกัน แต่ออกมาแล้วดีงามสุดๆ (Teeranit Siangsanoh, Tani Thitiprawat), etc. เราว่าวิธีการต่างๆเหล่านี้อาจจะช่วยทำให้หนังแนว video diary มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ชมที่เป็นคนแปลกหน้า

 

10. ถ้าใครสนใจหนังแนว video diary นอกจากหนังเรื่องต่างๆที่เราเอ่ยชื่อถึงข้างต้นแล้ว เราก็แนะนำให้หาหนังเหล่านี้มาดูด้วยก็ดีนะ

 

10.1 NEWS FROM HOME (1977, Chantal Akerman, 85min)

 

10.2 FROM THE AGE OF LIGHTHEARTEDNESS (1993, Klaus Wyborny, West Germany, 76min)

 

10.3 AS I WAS MOVING AHEAD OCCASIONALLY I SAW BRIEF GLIMPSES OF BEAUTY (2000, Jonas Mekas, 4hours 48min)

 

10.4 I AM A SEX ADDICT (2005, Caveh Zahedi)

 

10.5 KAMIAS: MEMORY OF FORGETTING (2006, Khavn De La Cruz, Philippines)

 

10.6 หนังกลุ่ม HOTEL DIARIES (2001-2007, John Smith)

http://johnsmithfilms.com/selected-works/hotel-diaries/

No comments: