Friday, January 08, 2021

SCHOOL TOWN KING (2020, Wattanapume Laisuwanchai, documentary, A+30)

 

SCHOOL TOWN KING (2020, Wattanapume Laisuwanchai, documentary, A+30)

 

1.ดีใจที่มีคนทำหนังสารคดีขนาดยาวแบบนี้ออกมาในไทย รู้สึกว่าในแง่ของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยนั้น หนังเรื่องนี้คงขึ้นแท่นหนังไทยคลาสสิคเรื่องนึงไปเลย เหมือนกับหนังเรื่อง THE HARA WOMAN WORKERS STRUGGLE (1975, Jon Ungpakorn, documentary, 52min) เพราะหนังสารคดีทั้งสองต่างก็เลือกนำเสนอชีวิตชนชั้นแรงงานที่มักจะถูกมองข้ามจากสื่อกระแสหลัก และหนังทั้งสองต่างก็สะท้อนปัญหาสังคมที่น่าสนใจมากๆด้วย

 

2.ชอบการเลือก subjects ของหนังมากๆ ตัวเด็กทั้งสองคนนี้มีทั้งความน่าสนใจในตัวเอง (การเป็น rappers วัยเด็กที่ต้องเผชิญทางเลือกทางการศึกษา) และความน่าสนใจในส่วนของสิ่งแวดล้อม (ถิ่นที่อยู่อาศัย, สถานะทางการเงิน) และเด็กทั้งสองก็ให้ความร่วมมือกับผู้ทำสารคดีเป็นอย่างดี เราก็เลยได้เห็นทั้งชีวิตคนที่น่าสนใจในฐานะปัจเจก และการสะท้อนแง่มุมต่างๆของสังคมไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งเรื่องวงการ rappers ของไทย, เรื่องสลัม, ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม, โอกาสที่ตีบตันสำหรับชนชั้นแรงงาน และระบบการศึกษา

 

3.สิ่งที่ทึ่งมากๆก็คือการที่ผู้สร้างหนังสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อตัว subjects ทั้งสองคนได้ เพราะในการทำหนังแบบตามติดชีวิต subjects แบบนี้ ถ้าหาก subjects ไม่เปิดใจ หรือไม่ค่อยให้ความร่วมมือ หนังสารคดีเรื่องนั้นก็จะมีปัญหาในทันที มันจะเหมือนมีกำแพงกั้นระหว่างตัว subjects กับคนที่อยู่หลังกล้อง และเราว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนหลังกล้องกับคนหน้ากล้องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจจะต้องอาศัยการเข้าไปคลุกคลีกับตัว subjects เป็นเวลานานพอสมควร

 

ชอบที่ผู้สร้างหนังได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากครอบครัวของ subjects, จากคนในชุมชนนั้น และได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วย

 

4.อีกสิ่งที่ทึ่งมากคือการจัดการกับ space ที่น่าจะแคบมากๆๆ ทั้งในบ้านของ subjects และตรอกซอกซอยต่างๆ เราว่าการถ่ายสารคดีในพื้นที่แคบๆแบบนี้น่าจะเป็นอะไรที่โหดมาก

 

5.ในส่วนของปัญหาในระบบการศึกษาและในส่วนของเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังเรื่องนี้นั้น เราคงไม่รู้จะเขียนอะไร เพราะเรารู้สึกว่าเราได้อ่านสิ่งเหล่านี้จากงานเขียนของเพื่อนๆหลายๆคนไปแล้วในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 55555 ไม่รู้จะเสริมอะไรดี

 

6.ฉากที่เราชอบเป็นการส่วนตัว ก็คือ

 

6.1 ฉากที่นนท์กับบุ๊คแสดงปฏิกิริยาต่อกันและกันเอง อย่างเช่นฉากในรถยนต์ที่บุ๊คพยายามให้คำแนะนำนนท์ แต่นนท์ใส่หูฟังและทำท่าทางล้อเลียนบุ๊ค และฉากที่บุ๊คบอกว่านนท์ทำตัวไม่เป็นมืออาชีพ (เราเข้าใจว่านนท์คงไม่อยากขึ้นพูดให้เด็กนักเรียนฟังในงานนั้น)

 

6.2 ฉากที่ร้านอาหารข้างทาง ที่บุ๊คเจอกับเพื่อนผู้หญิงที่เป็นประธานนักเรียน

 

6.3 ฉากที่นนท์อยู่กับน้องชายตัวเล็กๆ

 

เราเดาว่าที่เราชอบฉาก 3 กลุ่มข้างต้นมากเป็นพิเศษ หรือชอบ wavelengths ในฉากเหล่านี้มากเป็นพิเศษ บางทีอาจจะเป็นเพราะว่า ในฉากเหล่านี้ ตัว subjects อยู่กับคนที่มีสถานะเท่าเทียมกันหรือด้อยกว่าหน่อย (น้องชาย) น่ะ และมันเลยเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงอะไรที่เป็นธรรมชาติออกมาได้ หรือมีความผ่อนคลายอะไรบางอย่าง ซึ่งจะแตกต่างจากฉากในโรงเรียน ที่พวกเขาถูกกดทับจากระบบการศึกษา หรือมีสถานะด้อยกว่าครูและเพื่อนๆที่ดูเหมือนมาแกล้ง, ฉากในบ้าน ที่พวกเขามีสถานะเป็นลูกหรือหลาน, ฉากการขึ้นเวที ที่พวกเขามีสถานะเป็น performers ที่ต้องพยายามสร้างความประทับใจให้คนดูหรือคนฟัง หรือฉากที่พวกเขาพูดคุยกับคนหลังกล้อง ซึ่งถึงแม้จะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากพวกเขา แต่ก็ไม่ใช่ “เพื่อนสนิทที่มีสถานะเท่าเทียมกับพวกเขา” (ซึ่งจะแตกต่างจากหนังสารคดีอย่าง นักร้องงานเลี้ยง (2015, Thunwa Singkru) และเพียงรัก EVERYTHING IS FAMILY (2016, Wisaruta Rakwongwan) ที่เราเดาว่าผู้กำกับกับตัว subjects น่าจะเป็นเพื่อนสนิทกัน)

 

6.4 และแน่นอนว่าเราชอบฉากตัวเงินตัวทองด้วย 55555

 

7.รู้สึกเหมือนหนังเรื่องนี้มันช่วยเสริมในสิ่งที่ขาดหายไปจากหนังไทยเรื่องอื่นๆ และจากสิ่งที่นิทรรศการศิลปะให้ไม่ได้น่ะ (เพราะมันเป็นคนละสื่อกัน)

 

พอดูหนังเรื่องนี้แล้ว สิ่งแรกที่นึกถึงเลยก็คือนิทรรศการศิลปะ VILLA IN THE SLUMS (2013, Phil America + Orawan Arunrak) ที่จำลองเอาที่พักของตัวศิลปินในสลัมคลองเตยมาไว้ใน gallery น่ะ เราจำได้ว่า สิ่งที่เราประทับใจมากในนิทรรศการนั้น ก็คือความรู้สึกที่ว่า ตัวที่พักมัน “คับแคบ” มากๆ การได้เข้าไปอยู่ในตัวที่พักนั้น มันทำให้เราจินตนาการถึงความคับแคบของ space ในสลัมได้ดีมาก แต่ตัว installation นั้นมันไม่สามารถสะท้อน “ความสกปรก” , “ความผุพัง” และ “ความรู้สึกของการใช้ชีวิตในสถานที่นั้นมานานหลายปี” แบบที่หนังเรื่องนี้ทำได้ หนังเรื่องนี้ก็เลยเหมือนช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากนิทรรศการศิลปะได้เป็นอย่างดี

 

8.การที่หนังเลือกตามติดชีวิต subjects แค่ 2 คน แล้วทำออกมาเป็นหนังยาว มันก็ช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปจากหนังไทยเรื่องอื่นๆได้ดีมากๆด้วย เพราะจริงๆแล้ว มันก็มีหนังสารคดีไทยหลายเรื่องที่พูดถึงชีวิตคนชนชั้นแรงงานน่ะ แต่หนังสารคดีเหล่านี้ ส่วนใหญ่เน้นนำเสนอ “ภาพกว้างๆ” น่ะ เพื่อสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของ “กลุ่มคน” และไม่ได้ลงลึกไปยังปัจเจกในชุมชนนั้น การที่หนังเรื่องนี้เลือกเจาะชีวิตของปัจเจกได้แบบลงลึกจริงๆ มันก็เลยช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย และสร้าง impact ทางอารมณ์ความรู้สึกได้ในแบบที่แตกต่างจากหนังที่เน้นนำเสนอ “ภาพกว้างๆ” ด้วย

 

หนังสารคดีที่เราชอบสุดๆ และเน้นนำเสนอภาพกว้างๆก็รวมถึง

 

8.1 บ้านไม่มีเลขที่ (2012, Abhichon Rattanabhayon)

https://www.youtube.com/watch?v=fOLnurHzTnE&t=2s

 

8.2 UTOPIA บ้านใหม่คนใต้สะพาน (2015, Kirimag Boonrom, 60min)

https://www.youtube.com/watch?v=Ohsggz-XcO4

 

8.3 BANGKOK GHOST STORIES (2016, Wachara Kanha)

https://www.youtube.com/watch?v=4AmKGkEmMzM&t=202s

 

8.4 FROM HOME TOWN ย้ายรัง (2016, Tinnawat Chankloi, 45min)

https://www.youtube.com/watch?v=MDcrhODkYxs

 

และรวมไปถึงนิทรรศการศิลปะ “RECORD BEFORE DEATH” (2019, On-anong Glinsiri) ด้วย ที่นำเสนอเรื่องราวของชีวิตคนหลายสิบคนที่เคยอาศัยอยู่ที่ท้องสนามหลวง

 

9. สรุปว่าชอบหนังสุดๆ กราบมากๆที่มีคนถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้พวกเราได้ดูกัน และเราก็ได้แต่หวังว่าชีวิตของแต่ละคนในหนังจะดีขึ้น

 

10.ถ้าหากเทียบกับหนังต่างประเทศแล้ว เราชอบหนังเรื่องนี้มากพอๆกับหนังสารคดีอย่าง BECAUSE WE WERE BORN (2008, Jean-Pierre Duret, Andrea Santana, France/Brazil), TONDO, BELOVED: TO WHAT ARE THE POOR BORN? (2012, Jewel Maranan, Philippines) และ ON THE EDGE OF THE WORLD (2013, Claus Drexel, France) เลย ชอบสุดๆที่มีคนสร้างหนังสารคดีเกี่ยวกับประเด็นแบบนี้ออกมา และช่วยให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงเรื่องราวเหล่านี้

https://www.imdb.com/title/tt1270680/?ref_=fn_al_tt_1

https://www.imdb.com/title/tt1988201/?ref_=nv_sr_srsg_1

https://www.imdb.com/title/tt2914068/?ref_=fn_al_tt_2

 

ถ้าหากให้เราเลือกฉาย SCHOOL TOWN KING ร่วมกับหนังเรื่องไหน เราก็คงเลือกฉายควบกับหนัง fiction เรื่อง MUSHROOMS (2014, Oscar Ruiz Navia, Colombia) ที่นำเสนอชีวิตสองหนุ่มที่ชื่นชอบ graffiti ชื่นชอบการพ่นสีตามกำแพง สาเหตุที่เรานึกถึง MUSHROOMS เป็นเพราะว่า MUSHROOMS ก็นำเสนอเรื่องราวของปัจเจกเด็กหนุ่มสองคนได้อย่างน่าสะเทือนใจ และสะท้อน “สภาพสังคม” ไปด้วยในขณะเดียวกัน นอกจากนี้ MUSHROOMS ก็แสดงให้เห็นอีกด้วยว่า เราอาจจะหลีกหนีปัญหาสังคมไม่พ้น เราอาจจะต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคม ตั้งแต่อดีตหลายสิบปีก่อน จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน บางทีสิ่งที่เราพอทำได้ อาจจะเป็นเพียงแค่ว่า เราต้องทนต่อไป ชีวิตยังไม่สิ้น ก็ต้องดิ้นกันต่อไป และเราก็คอยเก็บเกี่ยวทั้ง “ความงดงามเล็กๆน้อยๆที่แอบโผล่เข้ามาในชีวิต” และ “ความโหดร้ายของชีวิต” เอาไว้ แล้วดัดแปลงสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็น “งานศิลปะ”

No comments: