Wednesday, January 13, 2021

HER SOCIALIST SMILE (2020, John Gianvito, documentary, A+30)

 

MEMORIES OF MURDER (2003, Bong Joon Ho, South Korea, A+30)

 

SPOILERS ALERT

--

--

--

--

--

1.ชอบเส้นเรื่องของหนังมากๆ นึกว่าบททดสอบความเป็นมนุษย์ เราค่อยๆดูพัฒนาการในทางลบของตัวละครนักสืบ Seo Tae-yoon (Kim Sang-kyung) เขาปรากฏตัวมาในมาดพระเอกในตอนแรก เป็นคนฉลาด และไม่ซ้อมทรมานผู้ต้องหา เขาดูเป็นคนดีเมื่อเทียบกับตำรวจอีกสองนายที่พร้อมจะปรักปรำผู้บริสุทธิ์

 

แต่เมื่อการสอบสวนดำเนินไปเรื่อยๆ ความหมกมุ่นที่จะจับผู้ต้องหา บวกกับความเชื่อมั่นในความฉลาดและความเชื่อมั่นในตัวเอง และสภาพสังคมสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้ Seo Tae-yoon ค่อยๆกลายเป็นคนเลวไปในที่สุด

 

2.ชอบ “ความเปลี่ยนแปลง” ของตัวละครในทำนองนี้น่ะ ตัวละครที่มองว่าตัวเองเป็น “คนดี” ต่อสู้กับผู้ร้ายหรือคนชั่ว แต่คนที่คิดว่าตัวเองเป็น “คนดี” ไปๆมาๆกลับค่อยๆกลายเป็นคนเลวเหมือนกับอีกฝ่ายไปโดยไม่รู้ตัว ดูแล้วทำให้นึกถึงหนังเรื่อง COLD SKIN (2017, Xavier Gens) ที่มีพัฒนาการของตัวละครไปในทำนองคล้ายๆกัน

 

ถ้าจำไม่ผิด หนังเรื่อง COLD SKIN เปิดเรื่องด้วย quote ในทำนองที่ว่า

 

“He who fights with monsters should be careful lest he thereby become a monster. And if thou gaze long into an abyss, the abyss will also gaze into thee."

 

ซึ่ง quote นี้ก็ทำให้นึกถึงตัวละครนักสืบ Seo Tae-yoon ใน MEMORIES OF MURDER ด้วยเช่นกัน

 

3. ถ้าจำไม่ผิด Bong Joon Ho บอกว่า หนึ่งในแรงบันดาลใจของหนังเรื่อง PARASITE (2019) มาจาก LA CÉRÉMONIE (1995, Claude Chabrol)

 

พอเราดู MEMORIES OF MURDER เราก็เลยนึกเปรียบเทียบกับหนังของ Claude Chabrol ด้วยเหมือนกัน เราว่าหนังของ Bong เรื่องนี้กับหนังของ Chabrol มีจุดเหมือนและจุดต่างที่น่าสนใจดี เพราะ Chabrol เองก็เคยทำหนังเกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตที่ “ประเด็นสำคัญของหนังไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครคือฆาตกร” เหมือนกัน อย่างเช่น LE BOUCHER (1970) และ THE COLOR OF LIES (1999) เพราะ LE BOUCHER เน้นไปที่ความรักของนางเอกที่รู้ว่าตัวเองหลงรักฆาตกรโรคจิต ส่วน THE COLOR OF LIES เน้นไปที่ผลกระทบที่คนในหมู่บ้านได้รับจากฆาตกรโรคจิต

 

แต่จุดต่างก็คือว่า เรารู้สึกว่าหนังของ Chabrol เหมือนเน้นความซับซ้อนของจิตใจมนุษย์น่ะ ทั้ง LE BOUCHER, THE COLOR OF LIES และ LA CÉRÉMONIE เหมือนหนังใช้การฆาตกรรมเป็นเครื่องมือในการสำรวจจิตใจมนุษย์ ส่วนหนังของ Bong เน้นการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งเราก็ชอบหนังของทั้งคู่มากๆ เหมือนทั้งคู่ต่างก็เป็นเลิศในแนวทางของตัวเอง

 

 

HER SOCIALIST SMILE (2020, John Gianvito, documentary, A+30)

 

1.เราเคยรู้จัก Helen Keller ก็จากการ์ตูนเรื่อง “หน้ากากแก้ว” หรือ “นักรักโลกมายา” (Suzue Miuchi) เพราะตัวละครมายะกับอายูมิในการ์ตูนต้องเล่นละครเวทีเป็น Helen Keller เราก็เลยได้รับรู้จากการ์ตูนเรื่องนั้นว่า เคยมีเด็กหญิงที่หูหนวกและตาบอด แต่สามารถเรียนรู้ที่จะติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมหัศจรรย์ด้วยความช่วยเหลือของคุณครู

 

พอเราได้ดูหนังเรื่องนี้ เราก็เลยตกใจมาก เพราะเราไม่เคยรู้มาก่อนว่า Helen Keller ได้เติบโตขึ้นมาเป็นนักพูดทางการเมืองด้วย โดยเธอต่อสู้ทั้งในเรื่องสิทธิสตรีและเรื่องสังคมนิยม สิ่งที่เธอพูดในยุคนั้นมันน่าสนใจมากๆ และหนังเรื่องนี้ก็ได้นำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจของ Helen Keller ที่เราไม่เคยได้รับรู้มาก่อน

 

2.พอได้ดูหนังเรื่องนี้กับ PROFIT MOTIVE AND THE WHISPERING WIND (2007, John Gianvito) ก็ต้องกราบตีน John Gianvito จริงๆ สิ่งที่ชอบในหนังทั้งสองเรื่องของเขาก็คือ

 

2.1 การที่เขาเน้นเรื่องแรงงาน และประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิคนงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่เราไม่ค่อยเจอในหนังเรื่องอื่นๆ

 

2.2 การที่เขานำเสนอ “ประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืม”

 

2.3 ดูเหมือนว่าเขาจะต่อต้าน capitalism แต่เขามีลีลาท่าทีที่แตกต่างจากผู้กำกับแนว activist แบบ Michael Moore มากๆ

 

2.4 หนังของเขามาจากการ research ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หนักมากๆ

 

2.5 หนังของเขาเหมือนเป็นการดัดแปลง “หนังสือวิชาการ” ให้ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่งดงามมากๆ

 

2.6 หนังของเขาเหมือนใช้วิธีที่ “น้อยแต่มาก” หรือ “ดูเรียบง่ายแต่ทรงพลังสุดๆ” เพราะ PROFIT MOTIVE AND THE WHISPERING WIND ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมด้วยการให้ผู้ชมตามอ่านคำจารึกบนหลุมศพทั่วสหรัฐ ส่วน HER SOCIALIST SMILE ให้ผู้ชมได้รับรู้ความน่าทึ่งทางความคิดอ่านของ Helen Keller ด้วยการอ่าน text บนจอ

 

2.7 หนังทั้งสองเรื่องของเขาตัดสลับ “เนื้อหาหนักอึ้ง” ด้วยซีนธรรมชาติที่งดงามเป็นระยะๆ และวิธีการแบบนี้มันออกมา work มากๆ

 

3.คิดว่า HER SOCIALIST SMILE เป็นหนังที่ออกมาสอดคล้องกับกระแสการเมืองไทยในช่วงนี้ด้วย เพราะเนื้อหาส่วนนึงของหนังเป็นการ debate เรื่อง socialism และ communism และตัว Helen Keller เองก็พูดถึงความคาดหวังที่ว่าคนรุ่นใหม่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย

 

4.ยังไม่ได้ดู THE MIRACLE WORKER (1962, Arthur Penn) เลย อยากดูเหมือนกัน

https://www.imdb.com/title/tt0056241/?ref_=nv_sr_srsg_0

 

No comments: