Tuesday, July 21, 2015

COMMUNITY AND GARBAGE (Thitipat Rotchanakorn + Pawee Melanon, documentary, A+30)

ชุมชน คน ขยะ (Thitipat Rotchanakorn + Pawee Melanon, documentary, A+30) เราว่าเนื้อหาของหนังดีมาก และมีจุดเล็กๆบางจุดที่ชอบมากด้วย อย่างเช่นการตัดต่อบางช่วงที่ภาพกับเสียงไม่จำเป็นต้องตรงกัน อย่างเช่นเสียงอาจจะเป็นเสียงสัมภาษณ์ถึงความทุกข์ยากของชาวบ้าน แต่ภาพเป็นภาพของเด็กๆในหมู่บ้านที่ยิ้มอย่างร่าเริง คือเราว่าการผสมภาพกับเสียงแบบนี้มันทรงพลังมากๆน่ะ เพราะถ้าเสียงสัมภาษณ์มันเล่าเรื่อง+ส่งสารได้ดีในตัวมันเองอยู่แล้ว เราก็ไม่ต้องใส่หน้าผู้ให้สัมภาษณ์เข้ามาในฉากนั้นก็ได้ เราก็ใส่ภาพอื่นๆเข้ามาแทน และพอภาพที่ใส่เข้ามันมีเนื้อหาที่ “ขัดกับเสียง” มันก็เลยเกิดการปะทะกันอย่างทรงพลังมากๆขึ้นมา คือภาพเด็กๆยิ้มอย่างเริงร่าปกติแล้วมันควรเป็นภาพที่เราดูแล้วมีความหวังใช่ไหม แต่พอมันถูกนำมาประกอบกับเสียงสัมภาษณ์ของชาวบ้านที่ไร้ทางไป เราก็จะจินตนาการไปโดยอัตโนมัติว่าเด็กๆที่ยิ้มอย่างเริงร่าในวันนี้ วันข้างหน้ามันจะมีอนาคตที่สดใสหรือหดหู่สักแค่ไหน ความทุกข์ที่รอมันอยู่ในวันข้างหน้าจะทำให้เด็กหยุดยิ้มเมื่อไหร่ และเมื่อไหร่ที่เด็กมันจะรู้ความจริงว่า โลกนี้อาจจะแทบไม่มีสถานที่แห่งความสุขสำหรับมัน

เชื้อราในร่มบ้าน (Pasit Tandaechanurat, A+30) ชอบมากๆ เข้าใจว่าเป็น fiction ที่ทำออกมาคล้ายสารคดีมากๆ จุดที่ชอบสุดๆในหนังเรื่องนี้รวมถึง

1.การที่หนังทำให้เราจินตนาการเองว่า พระเอกของเรื่องมีอดีตอย่างไร และเขาจะรู้สึกอย่างไรกับตัวเองในปัจจุบันและอดีตของตัวเอง คือฉากที่พระเอกไปเยี่ยมเพื่อนเก่าและเอากีตาร์ขึ้นมาเล่น แล้วมีเพลง I STARTED A JOKE ขึ้นมาน่ะ มันรุนแรงทางอารมณ์มากๆสำหรับเรา เพราะมันทำให้เราจินตนาการไปเองว่า เขาคงจะนึกถึงวัยหนุ่มของตัวเองในอดีต วัยหนุ่มที่เคยแข็งแรง เริงร่า เล่นกีตาร์กับเพื่อนๆหลายคน แต่ปัจจุบันนี้เขาต้องอยู่กับภรรยาที่เก็บความไม่พอใจในตัวเขาเอาไว้ และใช้ชีวิตอย่างเหงาๆแกนๆกับภรรยาไปเรื่อยๆ เราชอบมากที่หนังไม่ได้เน้น “ความอบอุ่น” ในครอบครัวนี้ออกมา และชอบมากที่ “ความฝัน” ของชายชราในการสร้างห้องสมุด ไม่ได้ดูเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และน่าเทิดทูน แต่ดูเหมือนการหาเป้าหมายอะไรสักอย่างในชีวิต เพียงเพื่อไม่ให้ชีวิตมันว่างเปล่าเกินไป

2.ชอบ gaze ของหนังในการจ้องมองคราบเก่าๆในตึก คือคราบพวกนี้มันเป็นสิ่งธรรมดาที่พบได้ในชีวิตประจำวัน แต่วิธีการถ่ายคราบเก่าๆเหล่านี้ของหนังเรื่องนี้ สามารถทำให้ “คราบเก่าๆตามตึกที่เราพบได้ในชีวิตประจำวัน” กลายเป็นอะไรที่ทรงพลังขึ้นมาได้

ใน “ซีรีย์ฮอร์โมนวัยหมกมุ่น” เราชอบ “ตุ๊กตาหมี” มากที่สุด เราชอบการวางเฟรมภาพทุกช็อตในหนังเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะช็อตแรกที่ป้ายรถเมล์ และช็อตที่ถ่ายหน้าลิฟท์ และเรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันตลกสุดๆสำหรับเรา ซึ่งสาเหตุนึงอาจจะเป็นเพราะ sense ตลกของหนังมันตรงกับเราน่ะ คือมันตลกภายใต้ฉากหน้าที่ดูจริงจังน่ะ และเราจะชอบอะไรแบบนี้ คือการแสดงในหนังและ voiceover ในหนังมันดูจริงจังไปกับความพร่ำเพ้อของมันมากๆ ในขณะที่เรารู้สึกว่าหนังอย่าง ID OF TEM 2 (A+) เราชอบไอเดียของหนังมากๆ โดยเฉพาะการที่นางเอกบุกไปฆ่าเจ้าแม่บริษัทขายน้ำส้ม แต่เราว่าพอหนังจงใจทำโทนออกมาให้มันตลก มันก็เลยไม่ตลกสำหรับเรา ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็เหมือนกับว่า ถ้าหากความตลกเป็นรสเค็ม “ตุ๊กตาหมี” มันมีเนื้อหาที่ตลก แต่มันมีโทนที่จริงจัง ความเค็มของหนังมันก็เลยไม่มากเกินไป และอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอดีถูกปากเรา เหมือนกับได้กินส้มตำไข่เค็มที่อร่อยมากๆ แต่ ID OF TEM 2 มันเหมือนกับว่าเนื้อหาของมันก็ตลก และโทนของหนังก็ตลก มันก็เลยเหมือนกินไข่เค็มที่เหยาะน้ำปลาใส่เข้าไปอีก มันก็เลยเค็มเกินไปสำหรับเรา แต่เรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนตัวนะ เพราะหนังที่ตลกหลายๆเรื่องสำหรับเรา มักจะเป็นหนังที่คนอื่นๆดูแล้วไม่ตลกตามไปด้วย 555


คือตอนที่ดู ID OF TEM 2 เราชอบไอเดียของหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆเลยน่ะ แต่เราว่าถ้าหากหนังมันออกมาในโทนที่ซีเรียสขึ้น แบบ EVERLY (2014, Joe Lynch, A+30), THE MISSION 2: DIAMOND BATTLE OF THE UNDERGROUND (2011, Sompong Soda) หรือ THE REQUIRED ล่าทะลุรังเพลิง (องอาจ ยศรุ่งเรือง) หนังอาจจะถูกปากเรามากกว่านี้ 

No comments: