Friday, July 03, 2015

Films seen in John Torres’ Retrospective at Reading Room (Part3)

Films seen in John Torres’ Retrospective at Reading Room (Part3)

10. YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE (2008, second viewing, A+30)
11. REFRAINS HAPPEN LIKE REVOLUTIONS IN A SONG (2010, A+30)
12. LUKAS THE STRANGE (2013, A+30)

หนึ่งในฉากที่ชอบมากใน YEARS คือฉากที่ผู้นำชนเผ่าแห่งหนึ่งสอนลูกชายที่แต่งตัวแบบตะวันตกให้รู้จักวิธีการเต้นรำแบบโบราณ คือถ้าหากตัดเนื้อเรื่องอะไรเหล่านี้ออกไปแล้ว ฉากนี้จะดูเหมือนเป็นการบันทึกวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่ง เป็นการบันทึกวิธีการเต้นระบำชนเผ่าอย่างหนึ่ง แต่ฉากนี้ถูกนำมาใช้เล่าเรื่องราวการ reconciliation กันระหว่างพ่อกับลูกชายด้วย ซึ่งทำให้ฉากนี้มีเนื้อหาสอดรับกับเรื่องราวในชีวิตจริงของ John Torres และการเต้นระบำแบบชนเผ่าในฉากนี้ ก็อาจจะเชื่อมโยงได้กับการเต้นแอโรบิคของหญิงสาวในเนื้อเรื่องส่วนถัดไปด้วย

ตอนที่เราดูฉากเต้นระบำชนเผ่านี้ เรารู้สึกชอบมากๆ และเพลิดเพลินมากๆ ทั้งๆที่เนื้อหาเฉพาะส่วนของภาพในฉากนี้ มันดูเหมือนจะเป็นแค่สารคดีบันทึกวัฒนธรรมพื้นบ้านธรรมดาๆ ตอนที่เราดูฉากนี้ เราก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า เพราะอะไรเราถึงเพลิดเพลินกับมัน และถ้าหากฉากนี้ไปปรากฏอยู่ในหนังสารคดีเชิดชูวัฒนธรรมแบบ “รากเรา” หรือหนังสารคดีรวบรวมการเต้น+ดนตรีชนเผ่าแบบ SOUND OF BRASIL (2002, Mika Kaurismäki) เราจะยังชอบมันมากเท่าเดิมหรือเปล่า

เราคิดว่าสาเหตุที่เราชอบฉากนี้มากๆ เพราะมันเกิดจากการผสมผสานอย่างลงตัวพอดีระหว่าง fiction กับ documentary น่ะ การที่หนังใช้ภาพแบบ documentary แต่ใส่เนื้อเรื่องแบบ fiction เรื่องการคืนดีกันระหว่างพ่อกับลูกชายเข้าไปด้วย คือสาเหตุที่ทำให้เราเพลิดเพลินกับฉากนี้มากๆ และทำให้เราดูฉากการเต้นระบำนี้ได้โดยไม่เบื่อ คือถ้าหากฉากนี้ถูกนำเสนอว่า “นี่คือการเต้นระบำของชนเผ่า A และเรามานั่งดูวิธีการเต้นระบำของชนเผ่า A กันเถอะ” แบบในหนังสารคดีทั่วๆไป เราอาจจะนั่งดูฉากนี้ด้วยความรู้สึกอุเบกขาก็ได้

เราว่าการผสมผสานกันอย่างลงตัวแบบนี้คืออะไรที่ดีมากๆ มันเหมือนกับว่าคุณค่าเชิงสารคดีของฉากนี้มันเหมือนยาขมอะไรสักอย่าง ที่ถ้าหากถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมา มันก็เหมือนกับการกินยาขมๆเข้าไปตรงๆ แต่การผสมผสาน fiction เข้าไปด้วย มันเหมือนกับว่ายาขมๆนั้นถูกสอดไส้อยู่ในช็อกโกแลตที่อร่อยมากๆ และเมื่อเรากินช็อกโกแลตนั้นเข้าไป เราก็ได้รับทั้งความอร่อยและคุณค่าของตัวยาด้วย

คือตอนที่เราดูฉากนี้ มันทำให้เราเข้าใจน่ะว่า ทำไมเราถึงชอบ LITTLE FOREST (2014-2015, Junichi Mori) ทั้งสองภาคอย่างสุดๆ แต่รู้สึกชอบ STEAK (R)EVOLUTION (2014, Franck Ribière) แค่ในระดับ A+5 เท่านั้น ทั้งๆที่มันเป็นหนังทำอาหารเหมือนกัน คือ STEAK (R)EVOLUTION มันเป็นสารคดีแบบตรงไปตรงมาน่ะ ในขณะที่ LITTLE FOREST นั้น เราว่ามันเหมือนกับเป็นการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่าง fiction กับสารคดีการทำอาหาร และไอ้ความเป็น fiction ที่ใส่เข้ามาในหนังอย่างเจือจางนี่แหละ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราดูหนังเรื่องนี้อย่างเพลิดเพลินสุดๆได้ แต่ถ้าหากตัดตัว fiction ทิ้งไป และหนังทั้งเรื่องกลายเป็นสารคดีการทำอาหารอย่างตรงไปตรงมา เราก็อาจจะรู้สึกเบื่อหนังเรื่องนี้ได้

จุดนี้ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง EISENSTEIN IN GUANAJUATO (2015, Peter Greenaway) ด้วยเหมือนกัน คือถ้าหากหนังเรื่องนี้เป็นสารคดีที่เล่าประวัติไอเซนสไตน์และเม็กซิโกอย่างตรงไปตรงมา เราคงเบื่อ แต่พอมันเป็นหนังกึ่ง essay+fiction อย่างนี้ มันก็เลยสนุกเถิดเทิงมากๆ

อีกฉากหนึ่งที่เราชอบสุดๆใน YEARS คือฉากที่สาวนักเต้นแอโรบิคเดินคุยกับเพื่อนชาย เราชอบวิธีการที่หนังเล่นกับฉากนี้มากๆ คือฉากนี้เป็นฉากยาวๆกินเวลาประมาณ 5 นาที แต่ถูก repeat สองรอบติดกัน โดยในรอบแรกนั้น เราเห็นตัวละครสองคนเดิน แต่เราไม่ได้ยินเสียงของพวกเขา เราได้ยินแต่เสียง voiceover ของ John Torres ที่บรรยายถึงเรื่องต่างๆ แต่หลังจากฉากนี้จบลง เราก็ได้เห็นฉากนี้ทั้งหมดใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้เราได้ยินหนุ่มสาวคู่นี้คุยกันถึงเรื่องราวในชีวิตของตัวเอง

เราชอบกลวิธีแบบนี้มากๆ มันทำให้เราครุ่นคิดถึงศักยภาพของภาพยนตร์ หรือความเป็นไปได้ต่างๆของภาพยนตร์ และองค์ประกอบต่างๆด้านภาพและเสียงในภาพยนตร์น่ะ คือเราได้เห็นว่าภาพชุดเดียวกันมันถูกนำมาใช้เล่าเรื่องที่แตกต่างกันได้ ภาพหนุ่มสาวคู่นี้ถูกนำมาใช้เล่าเรื่องราวชีวิตของ Torres ก็ได้ หรือถูกนำมาใช้เล่าเรื่องราวของตัวหนุ่มสาวนั้นเองก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าภาพนั้นจะถูกนำไปใช้ประกอบกับ “เสียง” และ “subtitle” อะไร

กลวิธีแบบนี้ทำให้เรานึกถึงหนังของผู้กำกับกลุ่ม Nouveau Roman นะ อย่างเช่น Marguerite Duras และ Alain Robbe-Grillet น่ะ คือผู้กำกับทั้งสองคนนี้ก็เคยทดลองทำอะไรคล้ายๆกันนี้ โดย Marguerite Duras เคยสร้างหนังเรื่อง INDIA SONG (1975) และ HER VENETIAN NAME IN CALCUTTA DESERT (1976) ที่ใช้ “เสียง” เดียวกันในหนังทั้งสองเรื่อง แต่ใช้ภาพที่ไม่เหมือนกัน ส่วน Alain Robbe-Grillet ก็เคยสร้างหนังเรื่อง EDEN AND AFTER (1970) และ N TOOK THE DICE (1971) ที่ใช้ภาพชุดเดียวกัน แต่ตัดต่อไม่เหมือนกัน เพื่อสร้างเรื่องราวที่ไม่ซ้ำกัน

นอกจาก Duras และ Robbe-Grillet แล้ว ฉากนี้ใน YEARS ยังทำให้เรานึกถึงหนังเรื่อง L’EXPERIENCE PREHISTORIQUE  (2003-2008) ของ Christelle Lheureux ด้วย โดยหนังเรื่องนี้ถูกทำออกมาประมาณ 8 เวอร์ชั่นได้มั้ง และทุกเวอร์ชั่นใช้ภาพเหมือนกันหมด ตัดต่อเหมือนกันหมด แต่เล่าเรื่องไม่ซ้ำกันเลย โดยเวอร์ชั่นที่มาฉายเมืองไทยนั้นได้ “ปราบดา หยุ่น” เป็นคนแต่งเรื่องจากภาพ และกลายเป็นหนังที่เล่าเรื่องความกังวลของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อตัวประกันในอิรัก แต่พอหนังเรื่องนี้ไปฉายในประเทศญี่ปุ่น หนังเรื่องนี้ก็ได้นักประพันธ์อีกคนนึงมาเป็นคนแต่งเรื่องจากภาพ และก็กลายเป็นหนังที่เล่าเรื่องอื่นแทน และพอหนังเรื่องนี้ไปฉายในเกาหลีใต้ นักประพันธ์อีกคนก็มาแต่งเรื่องจากภาพจากหนังเรื่องนี้ และหนังก็กลายเป็นอีกเรื่องนึงไป ทั้งๆที่ภาพเหมือนกันหมด

คือฉากนี้ใน YEARS WHEN I WAS A CHILD OUTSIDE ทำให้เราได้เห็นการเล่นกับภาพ และได้เห็นว่าเราสามารถเล่าเรื่องราวที่ไม่ซ้ำกันได้จากภาพๆเดียวกัน โดยผ่านทางเสียงและ subtitle ซึ่งวิธีการนี้คล้ายๆกับกลวิธีของผู้กำกับกลุ่ม Nouveau Roman และ Christelle Lheureux และเราว่ากลวิธีแบบนี้นี่แหละ ที่ถูกนำมาพัฒนาต่อมาใน REFRAINS, MAPANG-AKIT และ LUKAS THE STRANGE เพราะในหนัง 3 เรื่องนี้ เราได้เห็นการบันทึกภาพสามัญของคนธรรมดา ชาวบ้านพูดคุยกัน แต่ภาพธรรมดาสามัญเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้เล่าเรื่องราวชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา แต่มันถูกนำมาใช้เล่าเรื่องราวตำนานพิศวงด้วย มันเหมือนเป็นการดึงเอาศักยภาพของ “ภาพ” “เสียง”, “ซับไตเติล” และ “การเล่าเรื่อง” มาใช้ได้อย่างน่าสนใจมากๆ

สิ่งหนึ่งที่ John Torres อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่เรานึกเชื่อมโยงกันไปเอง ก็คือใน REFRAINS นั้น ตัวละครนางเอกของเรื่อง มี identities มากมาย ทั้งการเป็นสาวนักเก็บหนี้, หญิงสาวนักเล่าเรื่องในชนเผ่าพิเศษ ผู้สามารถเดินบนผิวน้ำได้, นางเอกในตำนานชนเผ่าที่ต้องปลอมตัวเป็นผู้ชาย, ลูกสาวนักปฏิวัติ  ฯลฯ การที่ identity ของนางเอกผันแปรไปเรื่อยๆในเรื่อง มันทำให้เรานึกถึงหนังกลุ่ม nouveau roman ด้วยเหมือนกัน ที่เนื้อเรื่องในหนังบางทีมันซ้อนกันหลาย layer จนเรางงไปหมดว่า ณ วินาทีไหน หนังกำลังเล่าเรื่องใน layer ไหนกันแน่ และมันทำให้เรานึกถึงศักยภาพของ “ภาพ” ด้วย คือการที่นางเอกมันมีหลาย identities มันทำให้เรานึกถึง “ภาพในหนัง” ที่สามารถถูกนำมาเล่าเรื่องราวต่างๆมากมายได้ไม่ซ้ำกันเลยน่ะ ทั้งๆที่มันเป็นภาพๆเดียวกัน มันขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้ที่มีอำนาจในการใส่ voiceover, ใส่เสียง หรือใส่ subtitle เข้าไปในภาพในตอนนั้น

การไม่ตรงกันระหว่าง “บทสนทนาของตัวละคร” กับ “subtitles” ที่เราได้เห็นใน REFRAINS และ MAPANG-AKIT มันทำให้เรานึกถึง “อำนาจในการเขียนประวัติศาสตร์” หรือ “อำนาจในการบิดเบือนประวัติศาสตร์” ด้วยเหมือนกันนะ และนี่ก็อาจจะเป็นอีกประเด็นนึงที่ Torres อาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่เรานึกเชื่อมโยงกันไปเอง

สุดท้ายนี้ ขอบอกว่า นอกจากหนังของ John Torres จะทำให้เรานึกถึงหนังของ Wachara Kanha และ Teeranit Siangsonoh อย่างมากๆ ตามที่เราได้เคยเขียนถึงไปแล้วใน part 1 และ part 2 เราขอเพิ่มเติมว่า หนังของ Torres ทำให้เรานึกถึงหนังของ Chaloemkiat Saeyong มากๆด้วย โดยเฉพาะการใช้ดนตรีประกอบแบบ “รู้ตัวว่าจงใจเร้าอารมณ์” ใน LUKAS THE STRANGE ซึ่งทำให้เรานึกถึงดนตรีประกอบใน POLITICALLY LAWYER AND NARRATIVE CINEMA (2009, Chaloemkiat Saeyong) มากๆ นอกจากนี้ หนังของเฉลิมเกียรติ อย่าง HISTORY IN THE AIR ก็มีการขึ้น text อย่างเอาเป็นเอาตายเหมือน REFRAINS ของ Torres และหนังของเฉลิมเกียรติอย่าง POLITICALLY LAWYER ก็มีการเล่นกับพลังของ subtitle อย่างสุดๆเหมือนกับหนังของ Torres ด้วย คือใน POLITICALLY LAWYER นั้น เราได้เห็นภาพ “ห้องเรียนหนังสือ” ที่มี subtitle ขึ้นว่า “จงจินตนาการว่าที่นี่คือสนามบิน” หรืออะไรทำนองนี้น่ะ คือ subtitle มันกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการเล่าเรื่อง และมันทำให้ “ภาพที่เราได้เห็นทางตา” กับ “สิ่งที่เรารับรู้ในใจ” มันบิดเบือนไปจากกัน คือเราได้เห็นภาพ “ห้องเรียน” แต่สิ่งที่เรารับรู้ในใจก็คือ “นี่คือห้องเรียนที่มีสถานะเป็นสนามบินในหนังเรื่องนี้” คือกลวิธีแบบนี้มันทำให้นึกถึงหนังของ Torres มากๆ เมื่อ subtitle ในหนัง มันกลายเป็นตัวกำหนดว่า เราควรจะรับรู้เรื่องราวใดในใจเรา จาก “ภาพที่เราเห็นทางตา”  ในขณะนั้น



No comments: