Saturday, April 13, 2024

FILMS WHICH REALLY STAND THE TEST OF TIME FOR MY FEELINGS

 

FILMS WHICH REALLY STAND THE TEST OF TIME FOR MY FEELINGS

 

ขอบันทึกความทรงจำเอาไว้ว่า หนังบางเรื่องเราอาจชอบมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากเราลืมหนังเรื่องนั้นไม่ลง หรือเนื่องจากมันมีตัวเปรียบเทียบ

 

ซึ่งกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับเราในปีนี้มีอย่างน้อย 2 กรณี

 

1.กรณีแรกก็คือการที่เราดูหนังเรื่อง HOW TO MAKE MILLIONS BEFORE GRANDMA DIES หลานม่า (2024, Pat Boonnitipat, A+30) แล้วเราพบว่า เราไม่อินกับมันเลย มันไม่ relate กับชีวิตของเราเลย เหมือนเราชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก ๆ ในแบบเดียวกับที่เราชอบ THE COLOR PURPLE (2023, Blitz Bazuwule, A+30) ในแง่การสะท้อนชีวิตของคนอื่น ๆ ที่แตกต่างจากเราได้อย่างดีงามมาก ๆ ซึ่งเราก็รู้สึกว่า หนังเหล่านี้มันทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีที่สุดแล้วในการสะท้อนชีวิตของคนอื่น ๆ แต่ไม่ใช่ชีวิตของเรา เราก็เลยชอบทั้งหลานม่าและ THE COLOR PURPLE อย่างมาก ๆ ในแง่ของการสะท้อนชีวิตของคนอื่น ๆ ที่แตกต่างจากเราได้อย่างงดงามและน่าประทับใจ

https://web.facebook.com/photo/?fbid=10233350228761062&set=a.10232633255917189

https://web.facebook.com/photo?fbid=10233353356919264&set=a.10232633255917189

 

แต่การดู “หลานม่า” กลับทำให้เราชอบ THE HOLDOVERS (2023, Alexander Payne, A+30) เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอย่างรุนแรง คือเราชอบ THE HOLDOVERS อย่างสุด ๆ ตั้งแต่ตอนที่เราได้ดูมันแล้ว แต่พอเราดู “หลานม่า” แล้วเรารู้สึก “ห่าง” จากชีวิตในหนัง มันก็เลยทำให้เราหวนนึกไปถึง THE HOLDOVERS ตลอดเวลาขณะที่เราดู “หลานม่า” เหมือนกับหนังเรื่อง THE HOLDOVERS บอกเราว่า “ถึงแม้ไม่มีคนเข้าใจจิตร แต่อย่างน้อยหนังเรื่องนี้ก็เข้าใจความรู้สึกในจิตใจของจิตร และความเจ็บปวดในจิตใจของจิตรนะ” ซึ่งจริง ๆ แล้ว “ชีวิตของตัวละคร” ใน THE HOLDOVERS นั้นแตกต่างจากเรามาก ๆ แต่ “อารมณ์ความรู้สึก” ของหนังเรื่องนี้มันตรงกับเรา มันเหมือนช่วยปลอบประโลมและเยียวยาจิตใจของเราได้อย่างรุนแรง การดู “หลานม่า” ก็เลยทำให้เราชอบ THE HOLDOVERS เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมมาก ๆ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า หนังเรื่องไหนเข้าใจความเจ็บปวดของเรา

 

ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องพวกนี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า หนังเรื่องใดดีกว่าหนังเรื่องใด แต่มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกันไปของผู้ชมแต่ละคน และผู้ชมทุกคนไม่สามารถเลือกได้อยู่แล้วว่า ตนเองจะมีพ่อแม่เป็นใคร ฉันอยากเลือกเกิดในครอบครัวชนชาติอะไร ฐานะอะไร ศาสนาอะไร ผู้ชมแต่ละคนก็เลยมีประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกันไปเป็นเรื่องธรรมดา และหนังที่เข้าใจความเจ็บปวดของผู้ชมแต่ละคน และสามารถเยียวยาจิตใจผู้ชมแต่ละคนก็ย่อมแตกต่างกันไปเป็นเรื่องธรรมดา

 

2. แต่การดู THE HOLDOVERS ก็ทำให้เราชอบหนังอีก 2 เรื่องเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเช่นกัน 55555 เพราะตอนที่เราดู THE HOLDOVERS นั้น เรารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้มันเยียวยาจิตใจเราด้วยการสะท้อนสิ่งที่เราโหยหา แต่มันก็มีหนังอีก 2 เรื่องที่สะท้อนจิตใจของเราใน “ช่วงเวลาวันหยุด” ได้อย่างดีกว่า THE HOLDOVERS เสียอีก ซึ่งก็คือ KRISTY (2014, Olly Blackburn) และ FEBRUARY (2015, Oz Perkins)

 

คือตอนที่เราดู THE HOLDOVERS นั้น เรารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้มันสะท้อน “สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา” น่ะ นั่นก็คือการได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดยาวกับคนบางคนที่ดีกับเราน่ะ แต่มันไม่ได้สะท้อน “สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในชีวิตของเรา” เพราะฉะนั้นตอนที่เราดู THE HOLDOVERS เราก็เลยนึกถึง KRISTY และ FEBRUARY อย่างรุนแรง เพราะ THE HOLDOVERS มันทำให้เรารู้สึกว่า KRISTY และ FEBRUARY นี่แหละที่เข้าใจจิตใจของเราอย่างแท้จริงและอย่างรุนแรงที่สุด โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ 55555

 

คือ KRISTY จริง ๆ แล้วมันก็เป็นแค่หนังที่มีจุดประสงค์เพื่อ thrill คนดูนี่แหละ แต่เรากลับดูแล้วอินกับมันอย่างรุนแรงที่สุด เพราะเราใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังตัวคนเดียวมานานหลายสิบปีแล้ว และต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ อย่างรุนแรงตามลำพัง ต่อสู้กับความซวยต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตอย่างไม่คาดฝัน เพราะฉะนั้นหนังเรื่อง KRISTY ก็เลยตรงกับเรามาก ๆ เพราะในขณะที่ตัวละครคนอื่น ๆ ใน KRISTY “ได้ใช้ช่วงเวลาวันหยุดยาวกับครอบครัว” นางเอกของ KRISTY ต้องอยู่ตามลำพังตัวคนเดียว กระเสือกกระสนดิ้นรนปากกัดตีนถีบอย่างรุนแรงตามลำพัง และรับมือกับความซวยในชีวิตอย่างหนักหนาสาหัสมาก ๆ เพราะฉะนั้นหนังเรื่อง KRISTY มันก็เลยตรงกับชีวิตของเรามากกว่าหนังเรื่อง THE HOLDOVERS เสียอีก

 

ส่วนหนังเรื่อง FEBRUARY นั้นก็สะท้อนตัวละครที่ต้องใช้ชีวิตช่วงวันหยุดยาวอยู่กับ “คนที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว” เหมือนกับ THE HOLDOVERS แต่ในขณะที่ THE HOLDOVERS มันเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในเพื่อนมนุษย์ FEBRUARY มันก็สอดคล้องกับ “ความเกลียดมนุษย์ของเรา” 555555 และสะท้อนความรู้สึกเวิ้งว้างเหน็บหนาวทางใจได้ดีมาก ๆ เราก็เลยรู้สึกว่า THE HOLDOVERS กับ FEBRUARY นั้นเป็นเหรียญสองด้านที่ตรงกับชีวิตของเราอย่างรุนแรง หนังทั้งสองเรื่องนี้เข้าอกเข้าใจเราอย่างดีที่สุดโดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจ FEBRUARY นั้นสอดคล้องกับความเกลียดมนุษย์ของเรา และสะท้อนความรู้สึกเหน็บหนาวอ้างว้างในใจเราได้อย่างดีงามที่สุด เหมือน FEBRUARY “เข้าใจแผลเหวอะหวะและความเหน็บหนาวในใจของเรา” แต่ THE HOLDOVERS  นั้น “ช่วยเยียวยาแผลเหวอะหวะในใจเราและมอบความอบอุ่นทางใจให้เรา” หนังเรื่อง FEBRUARY กับ THE HOLDOVERS ก็เลยเป็นหนังที่เข้าอกเข้าใจเราอย่างดีที่สุดและทำหน้าที่สองอย่างที่แตกต่างกันให้กับจิตใจของเรา

 

3.อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจดบันทึกไว้ก็คือว่า ความรู้สึกเหินห่างและไม่ relate กับชีวิตของเราที่มีต่อ “หลานม่า” นั้น มันก็คือความรู้สึกเดียวกับที่เรามีต่อหนังหลาย ๆ เรื่องของ Yasujiro Ozu เช่นกันนะ ยกเว้น EARLY SPRING (1956) คือเราชอบหนังของ Ozu ในแง่ form หรือ style แต่เราจะไม่รู้สึก relate กับตัวละครในหนังของเขาเลย ยกเว้น EARLY SPRING ที่เราพอรู้สึก relate ด้วยได้บ้าง (แน่นอนว่าตัวละครของ Ozu นั้นดูแตกต่างจากตัวละครในหนังเรื่อง FEBRUARY ของ Oz Perkins อย่างรุนแรง 55555)

 

แต่สิ่งที่ irony อย่างมาก ๆ ก็คือว่า Wim Wenders นั้นก็บูชา Yasujiro Ozu เช่นกัน แต่หนังเรื่อง PERFECT DAYS (2023) ของเขา กลับเป็นหนังที่เรา relate ด้วยมากที่สุดเรื่องนึงในปีนี้ มันก็เลยน่าสนใจดีในแง่ที่ว่า เพราะเหตุใดเราถึงรู้สึก relate อย่างรุนแรงกับ PERFECT DAYS แต่ไม่รู้สึกอินใด ๆ เลยกับหนังเรื่อง “หลานม่า” ทั้ง ๆ ที่หนังทั้งสองเรื่องนี้ก็มีความเกี่ยวพันกับ Yasujiro Ozu เหมือน ๆ กัน 555555

 

4.ก็เลยสรุปว่า พอเราดู THE HOLDOVERS มันก็เลยทำให้เราชอบ KRISTY กับ FEBRUARY (2015, Oz Perkins) เพิ่มมากขึ้นอย่างรุนแรง แต่พอเราได้ดู “หลานม่า” มันก็เลยทำให้เราชอบ THE HOLDOVERS เพิ่มมากขึ้นอย่างรุนแรง คือหนังบางเรื่องเราจะชอบมันเพิ่มมากขึ้นอย่างรุนแรงในภายหลัง เมื่อเราได้พบกับ “ตัวเปรียบเทียบ”

 

5.มีหนังอีกเรื่องที่เราชอบเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป นั่นก็คือ “ตุ๊กตาซาตาน” IMAGINARY (2024, Jeff Wadlow) 55555 เพราะนอกจากหนังบางเรื่องอย่างเช่น THE HOLDOVERS, KRISTY และ FEBRUARY จะช่วยบอกเราในทางอ้อมว่า “มีหนังบางเรื่องที่เข้าใจความเจ็บปวดในใจเรานะ” เราก็มี “ตุ๊กตาหมี” ของเรานี่แหละ ที่เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกแย่ เราก็จะจินตนาการว่า ตุ๊กตาหมีของเราพูดกับเราว่า “หนูเข้าใจความเจ็บปวดในใจของแม่หมีนะครับ” แล้วเราก็จะรู้สึกดี เพราะเราจินตนาการว่า ตุ๊กตาหมีเข้าใจความเจ็บปวดในชีวิตของเรา

 

เพราะฉะนั้นหนังเรื่อง “ตุ๊กตาซาตาน” นี่แหละ คือหนังที่เรานึกถึงอยู่ทุกวันนับตั้งแต่วันที่เราได้ดูหนังเรื่องนี้ในปีนี้ 55555

No comments: