Monday, April 22, 2024

HAUNTED HOUSES VS. SHAIHU UMAR

 

หลังจากเกิดเหตุการณ์เซ็นเซอร์ SYNDROMES AND A CENTURY (2006, Apichatpong Weerasethakul) ในไทยในเดือนเม.ย. 2007 ก็มีการผลิตหนังไทยบางเรื่องออกมาเพื่อต่อต้านการเซ็นเซอร์แสงศตวรรษในยุคนั้น ตามที่เราเพิ่งเขียนไปในโพสท์ก่อน ๆ หน้านี้ ซึ่งหนึ่งในหนังไทยกลุ่มนี้ก็คือ I WILL RAPE YOU WITH THIS SCISSORS (2008, Napat Treepalawisetkun, 13min)

 

เรื่องย่อของ I WILL RAPE YOU WITH THIS SCISSORS หรือ “หนังและกรรไกร ในวันที่ 4 เมษา” ในสูจิบัตรเทศกาลหนังสั้น:

 

“เธอเกลียดหนัง และเธอสั่งให้ลูกสาวตัดหนังออกไปในวันที่ 4 เมษา”

 

ส่วนอันนี้เป็น trailer ของ I WILL RAPE YOU WITH THIS SCISSORS ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=eTYW-vmF0NU

++++++++

DOUBLE BILL FILM WISH LIST

 

HAUNTED HOUSES บ้านผีปอบ (2001, Apichatpong Weereasethakul, 60min, A+30)

+ SHAIHU UMAR (1976, Adamu Halilu, Nigeria, 142min, A+30)

 

โดยมาฉายคู่กันใน concept “มนตร์เสน่ห์ของความไม่สมจริง”

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เม.ย.เราได้ดู SHAIHU UMAR ที่หอภาพยนตร์ ศาลายาแล้วชอบสุดขีดมาก ๆ หนึ่งในฉากที่ชอบที่สุด และขอยกให้เป็นหนึ่งในฉากคลาสสิคอมตะนิรันดร์กาลสำหรับเราไปเลย คือฉากที่พระเอกที่เป็นเด็กชายตัวเล็ก ๆ ถูกโจรนักลักพาตัวเอามีดยาวจ่อคอหอย แล้วโจรก็บอกพระเอกว่าห้ามส่งเสียงดังเพื่อเรียกคนมาช่วย แต่แทนที่นักแสดงที่เป็นเด็กจะแสดงอาการหวาดกลัว นักแสดงกลับดูเหมือนจะกลั้นหัวเราะแทบไม่อยู่ขณะที่มีดจ่อคอหอยของเขา

 

เหมือนจริงๆ  แล้วฉากนี้เป็น “ฉากที่ไม่สมจริงอย่างรุนแรงที่สุด” แต่เรากลับชอบอะไรแบบนี้อย่างสุด ๆ ซึ่งบางทีนี่อาจจะเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้เราชอบดูหนังในเทศกาลหนังสั้นมาราธอนที่เต็มไปด้วยการแสดงที่ไม่สมจริง 55555 หรือชอบดูละครทีวีช่อง 9 ของคุณสุนันทา นาคสมภพในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มันเหมือนอะไรแบบนี้มันทำให้เรา enjoy สองอย่างในเวลาเดียวกัน นั่นก็คือ enjoy “ตัวเนื้อเรื่องที่หนังพยายามจะเล่า” และ enjoy “ความสนุกของนักแสดงขณะถ่ายทำ” เหมือนฉากนี้มันมีทั้งความเป็น fiction (เล่าเรื่องของตัวละครขณะถูกลักพาตัว) และความเป็น nonfiction ในเวลาเดียวกัน (กล้องทำหน้าที่บันทึกการแสดงที่ไม่สมจริงของนักแสดง) และพอความเป็น fiction กับ nonfiction มันขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในฉากนั้น (ตัวละครควรจะหวาดกลัว แต่นักแสดงกลับกลั้นหัวเราะไม่ได้) มันก็เลยเกิดพลังบางอย่างที่เข้าทางเราขึ้นมา และสิ่งที่สำคัญก็คือว่า หนังไนจีเรียเรื่องนี้ไม่ได้พยายามจะบอกคนดูว่า “คุณควรจะหัวเราะให้กับฉากนี้นะ” เหมือนอย่างที่หนังเรื่องอื่น ๆ ชอบเอาฉากหลุด ๆ มาใส่ใน ending credit ด้วย คือหนังไม่ได้ treat ฉากนี้เป็นฉากตลกนอกเนื้อเรื่อง แต่เอาฉากนี้มาใส่ในเนื้อเรื่องราวกับว่ามันซีเรียสจริงจัง มันก็เลยเกิดพลังของความขัดแย้งบางอย่างขึ้นมาในแบบที่เข้าทางเรามาก ๆ

 

ซึ่งจริง ๆ แล้วหนังเรื่อง SHAIHU UMAR ตลอดทั้งเรื่องก็ดูเหมือนจะมีลักษณะการแสดงหรือวิธีการเล่าเรื่องที่ดูแปลกตาสำหรับเรามาก ๆ คือมันดูเหมือนเป็นอะไรที่แตกต่างจาก “ขนบการแสดง” และ “ขนบการเล่าเรื่อง” ของหนังเรื่องอื่น ๆ มาก ๆ เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดขีด ซึ่งรวมถึงชอบการแสดงที่อาจจะดูเหมือนไม่สมจริงในหลาย ๆ ฉากเมื่อเทียบกับมาตรฐานหนังโดยทั่วไปด้วย คือมันไม่สมจริง แต่มันกลับมีมนตร์เสน่ห์ของตัวเองในแบบที่เข้าทางเรามาก ๆ

 

แล้วพอเราได้ดู SHAIHU UMAR โดยเฉพาะฉากคลาสสิคอมตะสำหรับเราฉากนั้นแล้ว เราก็เลยนึกถึงหนังเรื่อง “บ้านผีปอบ” หรือ HAUNTED HOUSES ของพี่เจ้ยขึ้นมา ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุดของพี่เจ้ย และเป็นหนังที่ “ไม่มีความสมจริงอะไรอีกต่อไป” แต่ความไม่สมจริงนี่แหละคือสิ่งที่งดงามที่สุดสำหรับเรา

 

One of my most favorite scenes of all time ใน HAUNTED HOUSES ก็คือฉากที่ หญิงชาวบ้านคนหนึ่งพยายามเล่นละครตามบท (เราอาจจะจำรายละเอียดบางอย่างผิดพลาดในฉากนี้ก็ได้นะ เพราะเราได้ดูหนังเรื่องนี้เมื่อ 20 ปีก่อน ถ้าหากเราจำอะไรผิดก็ต้องขออภัยด้วยนะคะ) แล้วเหมือนในบทนั้นหญิงชาวบ้านคนนั้นต้องรับบทเป็น “หญิงสาวที่ตื่นเต้นกับรถยนต์ที่หรูหรา” หรืออะไรทำนองนี้ แต่มันไม่มีรถยนต์หรูหราปรากฏเป็นภาพให้เห็นในฉากนั้น มันมีแต่ “รถซาเล้ง” แล้วหญิงชาวบ้านคนนั้นก็ treat รถซาเล้งคันนั้นราวกับว่ามันเป็นรถยนต์ที่หรูหราซะเต็มประดา แล้วเราก็ขอยกให้ฉากนี้เป็นหนึ่งในฉากที่เราชอบที่สุดตลอดชีวิตไปเลย  เราว่าฉากนี้ของ Apichatpong มันมีพลังบางอย่างใกล้เคียงกับพลังของฉากนั้นใน SHAIHU UMAR มันเหมือนฉากนั้นมีทั้งความเป็น fiction และ nonfiction ในเวลาเดียวกัน และมันกระตุ้นจินตนาการอย่างรุนแรงของผู้ชมในเวลาเดียวกัน เพื่อให้ผู้ชมใช้จินตนาการของตนเองช่วยรับมือกับความไม่สมจริงของฉากนั้น มันกระตุ้นให้ผู้ชมจินตนาการว่ารถซาเล้งคือรถยนต์หรูหรา (เหมือนกับใน SHAIHU UMAR ที่ผู้ชมต้องจินตนาการว่า ตัวละครหวาดกลัว ทั้ง ๆ ที่นักแสดงกลั้นหัวเราะไม่อยู่) และความเป็น fiction กับ nonfiction ของฉากนั้นก็เหมือนขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในฉากนั้น โดยผ่านทางความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่าง “ภาพของรถซาเล้งในความเป็น nonfiction” และ “บทบาทของรถยนต์หรูหราในความเป็น fiction” เราก็เลยรู้สึกว่าสองฉากนี้ในหนังสองเรื่องนี้มันมีอะไรบางอย่างที่เข้าทางเราอย่างสุด ๆ ในแบบเดียวกันมาก ๆ

 

ในแง่หนึ่งสองฉากนี้ก็ทำให้เรานึกถึงหนึ่งในฉากที่เราดูบ่อยที่สุดในชีวิตด้วยนะ นั่นก็คือฉากที่ Rebekah Del Rio ร้องเพลงใน MULHOLLAND DRIVE (2001, David Lynch) แล้วร้อง ๆ ไปเธอก็หงายหลังล้มตึงกลางเวทีไปเลย แต่เพลงที่เธอร้องก็ยังคงเล่นต่อไป เพราะจริง ๆ แล้วเธอไม่ได้ร้อง เธอแค่ลิปซิงค์ เพราะฉะนั้นถึงแม้ตัวเธอจะนอนแผ่หราอยู่บนเวที เพลงที่ไพเราะเพราะพริ้งก็ยังคงดำเนินต่อไป เพราะสิ่งที่เราได้เห็นในตอนแรกมันคือการลิปซิงค์ มันเป็นเพียงแค่ “มายาทางการแสดง” เท่านั้น

 

 ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมสองฉากนี้ใน SHAIHU UMAR กับ HAUNTED HOUSES ทำให้เรานึกถึงฉากนี้ใน MULHOLLAND DRIVE บางทีอาจจะเป็นเพราะว่า ทั้งสามฉากนี้มัน “เปิดเปลือยมายาทางการแสดง” เหมือน ๆ กันก็ได้มั้ง มันเหมือนให้เราดู “การแสดง” แล้วก็แสดงให้เราเห็นอย่างฉับพลันถึง “ความไม่สมจริงทางการแสดง” แต่มันกลับก่อให้เกิดความรู้สึกที่งดงามอย่างสุดขีดในใจเราเหมือน ๆ กันเมื่อได้ตระหนักถึงความเป็นมายาของสิ่งที่เรากำลังดูมันอยู่

 

ซึ่งสมัยก่อนเราชอบดูฉากนักร้องล้มตึงใน MULHOLLAND DRIVE บ่อยมาก ๆ เหมือนมันทำให้เรา “จิตใจสงบ” เหมือนมันทำให้เรายอมรับความเป็นมายาของหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างที่เรายึดมั่นถือมั่นในชีวิตของเรา เหมือนมันทำให้เราปล่อยวางได้ เราก็เลยดูฉากนี้ใน MULHOLLAND DRIVE ซ้ำไปซ้ำมาบ่อยมากในอดีต

https://www.youtube.com/watch?v=uHQnb3HS4hc

 

ภาพของ HAUNTED HOUSES จากสูจิบัตรเทศกาลหนังสั้นปี 2004

 

 

 

 

 

 

 

 

No comments: