Tuesday, September 06, 2016

BANGKOK STORIES (2016, A+30)

BANGKOK STORIES (2016, A+30)

1.MORCHIT, ALMOST LOVE STORY (Wichanon Somumjarn, A+30)

2.SILOM (Vorakorn Ruetaivanichkul, A+30)

3.HERO (SUKHUMVIT) (Aditya Assarat, A+25)

4.PHAHURAT (Soraya Nakasuwan, A+20)

5.YAOWARAT (Apinya Sakuljaroensuk, A+5)

6.OH! JEAN (KHAO SARN) (Anocha Suwichakornpong, A-/B+ )

เหมือนสิ่งที่อยากพูด หลายคนก็ได้พูดไปแล้วในคลิปนี้ ก็เลยไม่รู้จะเขียนอะไร 555

ความรู้สึกเพิ่มเติม

1.ชอบการถ่ายท้องถนนของหมอชิตมากๆ คือในหมอชิต เราจะเห็นวิวของเสาสูง ไม่แน่ใจว่าเป็นเสารางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างหรือเปล่า และเห็นคนงานกำลังปีนป่ายเสาเหล่านั้นอยู่ คือมันเป็นทัศนียภาพของกรุงเทพที่น่าสนใจมากๆ มันไม่ใช่วิวที่สวยงาม เย็นใจ หรือเป็นทัศนอุจาด แต่เป็นวิวของความเปลี่ยนแปลง ความเจริญเติบโตทางวัตถุ และการทำงานอย่างยากลำบากของคนงานก่อสร้าง คนงานซึ่งอาจจะเป็นคนต่างจังหวัด คนที่ต้องอพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพ มีเงินพอเลี้ยงชีพไปวันๆ ไม่มีความหวังถึงความยิ่งใหญ่ก้าวหน้าใดๆในชีวิต คนที่ต้องกัดฟันสู้ชีวิตต่อไปเรื่อยๆตามมีตามเกิดเท่าที่จะพอสู้ได้

คือหนังไม่ได้เล่าชีวิตคนงานก่อสร้างเสารถไฟฟ้าโดยตรงนะ หนังเพียงแค่ชำเลืองมองคนงานเหล่านี้แค่แว่บเดียว แต่เราก็จินตนาการชีวิตคนงานเหล่านี้ได้เอง เพราะมันคงไม่ได้แตกต่างไปจากชีวิตของคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งเป็นพระเอกของตอนนี้เท่าใดนัก ชีวิตของคนที่ต้องปากกัดตีนถีบต่อไป

2.ประโยคที่นางเอกตอนหมอชิต พูดกับพระเอกในทำนองที่ว่า ต้องสู้ชีวิตต่อไปนะ มันเป็นประโยคที่ซึ้งมากๆสำหรับเรา มันโดนใจเรามากๆเป็นการส่วนตัว เราว่าหนังใส่อะไรแบบนี้เข้ามาได้ในระดับที่พอเหมาะด้วย คือมันไม่ได้เป็นหนังที่จงใจเล่าชีวิตตัวละครที่ยากจนข้นแค้น หรือต้องการบอกผู้ชมว่า “จงสงสารคนกลุ่มนี้” นะ มันเป็นหนังที่สะท้อนความปากกัดตีนถีบของตัวละครออกมาอย่างอ้อมๆ และไม่ได้พยายามเรียกร้องความสงสารจากผู้ชม แต่มันกลับทำให้เราเข้าใจหัวอกของตัวละครแบบนี้อย่างมากๆ

3.จริงๆแล้วหนังสั้นเกี่ยวกับ “บ้านนอกเข้ากรุง” นี่อาจจะถือเป็น sub-genre อย่างนึงนะ เพราะดูเหมือนจะมีหนังสั้นไทยหลายเรื่องที่จับประเด็นนี้มาเล่า อย่างเช่นเรื่อง สถานีกรุงเทพ (1997, บิน กิจขจรพงษ์) และ “เด็กชายจากต่างแดน” (2007, Tossaporn Mongkol) แต่หนังสั้นในกลุ่มนี้มักจะจับแค่ moment ตอนที่ตัวละครจากบ้านนอกเดินทางมาถึงกรุงเทพ และงงๆสับสนกับกรุงเทพ โดนผู้ร้ายหลอก อะไรทำนองนี้ ซึ่งหนังยาวของไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนก็อาจจะมีเนื้อหาทำนองนี้แทรกอยู่ด้วย อย่างเช่นเรื่อง “เทพธิดาบาร์ 21” (1978, Euthana Mukdasanit)

แต่ดูเหมือนจะไม่มีการผลิตหนังสั้นทำนองนี้ออกมาแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเพราะผู้กำกับหลายคนรู้ดีว่าอะไรแบบนี้มันเป็น cliche ไปแล้ว และอาจจะเป็นเพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ไม่มีคนบ้านนอกที่ไหนจะมายืนงงๆหลงๆอยู่ที่หัวลำโพงอีกแล้ว หนังสั้นทำนองนี้ก็เลยไม่มีออกมาอีก (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแล้ว)

นั่นก็เลยเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราชอบ MORCHIT เพราะเราว่า MORCHIT มันมีจุดเหมือนและจุดต่างกับหนังสั้นกลุ่มนี้ จุดเหมือนก็คือว่า มันเล่าเรื่องของคนต่างจังหวัดที่เพิ่งเดินทางเข้ากรุงเทพเหมือนกัน แต่มันไม่ได้ใช้หัวลำโพงเป็นฉากหลัง และตัวละครก็ไม่ได้มางงๆ หลงๆ โง่ๆให้คนหลอก แต่ตัวละครในเรื่องนี้เป็นคนหนุ่มสาวที่ดูเหมือนจะยังมี “ความสดใส” ในชีวิตในตอนแรก ก่อนที่ชีวิตในเมืองกรุงจะทำให้พวกเขากร้านโลกมากขึ้นในเวลาต่อมา

4.ชอบฉากที่ “ไม่เล่าเรื่อง “ ใน MORCHIT อย่างมากๆเลยด้วย นั่นก็คือฉากที่ Lee Anantawat เป็นผู้โดยสารรถแท็กซี่ คือตอนแรกเรานึกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในฉากนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เธอแค่เป็นผู้โดยสารคนนึง แล้วฉากนี้ก็จบไป ไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นเลยในฉากนี้

ไม่รู้เหมือนกันว่าฉากนี้มีความสำคัญอะไรยังไง หรือต้องการจะสื่ออะไร หรือต้องการจะสื่อแค่ว่า ไม่ใช่แค่นางเอกที่ทำสีผมแปลกๆในกรุงเทพ 555 แต่เราชอบฉากอะไรแบบนี้น่ะ ฉากที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญอะไรทั้งสิ้นกับเนื้อเรื่อง แต่พอใส่เข้ามาแล้ว มันช่วยลดความแข็งเกร็งของตัวหนังลงไปได้มาก ฉากแบบนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า ตัวละครในหนังเป็นมนุษย์มากขึ้น มนุษย์ที่มีช่วงเวลาที่ “ไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้น” ในบางช่วงเวลา แทนที่จะเป็นเพียงแค่ “ตัวละคร” ที่ทุกๆ moment ต้องถูกครอบงำด้วย “ความหมาย”, “สาระ” “พล็อตเรื่อง” หรือ “การกระตุ้นอารมณ์ผู้ชม” ในทุกๆฉาก

5.ชอบอาชีพของนางเอกตอน MORCHIT มากๆเลยด้วย มันประหลาดดี ไม่เคยเห็นในหนังเรื่องไหนมาก่อน

6.มีช็อตที่ชอบมากหลายช็อตใน MORCHIT ด้วย อย่างเช่นช็อตที่ถ่ายให้เห็นพระเอกขับรถ และนางเอกนั่งอยู่หลังรถ คุยกันในเฟรมเดียว โดยกล้องน่าจะอยู่ในตำแหน่งที่นั่งข้างคนขับ เราว่าช็อตนี้แปลกดี เพราะปกติแล้วถ้าหากตัวละครนั่งแยกกันแบบนั้น กล้องในหนังเรื่องอื่นมักจะเลือกวิธีถ่ายตัวละครทีละตัว แล้วตัดสลับกัน มากกว่าจะถ่ายให้อยู่ในเฟรมเดียวกัน

อีกช็อตที่ชอบมากก็คือช็อตพระอาทิตย์ในช่วงท้ายเรื่อง ไม่รู้ทำไมเราถึงรู้สึกว่ามันทรงพลังมากๆ และมันแปลกดี คือปกติเรามักจะเห็นฉาก “พระอาทิตย์ตกดินที่ริมทะเล” ในหนังไทยเรื่องอื่นๆ แต่แทบไม่เห็นฉาก “พระอาทิตย์ในกรุงเทพ” ที่ถ่ายแล้วได้อารมณ์ที่รุนแรงแบบนี้ (ยกเว้นในหนังของวชร กัณหาและเฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง)

7.ในส่วนของ SILOM นั้น ส่วนแรกที่ชอบมากก็คือการเลือกใช้ฉากหลังเป็น “ห้องสมุด” (เข้าใจว่าเป็นการพาดพิงถึง Nielson Hays Library) และสถานเสาวภา เพราะปกติแล้วเวลาคนพูดถึง SILOM คนจะไม่ได้นึกถึงสองสถานที่นี้

อีกส่วนที่ชอบมากก็คือ การนำเสนอเรื่องราวโรแมนติกของเกย์ได้อย่างจั๊กกะจี้จั๊กกะเดียมมากๆ คือมันทั้งพาฝันและสมจริงในเวลาเดียวกัน ตัวละครเด็กมัธยมก็ดูแร่ดๆ ซุกซนเหมือนตัวผู้กำกับ ส่วนตัวละครหนุ่มออฟฟิศก็ดูมีมาดและมีเสน่ห์แบบหนุ่มออฟฟิศอย่างมากๆ

คือเราว่าจุดดีที่สุดของ SILOM มันเป็นจุดที่เราบรรยายยากนะ มันเป็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนตอนที่ตัวละครสองคนนอนคุยกันบนเตียงน่ะ และอารมณ์ที่ละเอียดอ่อนแบบนี้เป็นสิ่งที่เราบรรยายเป็นตัวหนังสือได้ยาก มันต้องดูเองในรูปแบบสื่อภาพยนตร์

8.จริงๆแล้วส่วนของ SUKHUMVIT ก็เล่าเรื่องได้ดีมากๆนะ แต่เราชอบน้อยกว่าส่วนของ MORCHIT และ SILOM เพราะปัจจัยส่วนตัวเท่านั้นเอง เพราะฐานะการเงินของเราทำให้เราอินกับ MORCHIT และเพศสภาพของเราทำให้เราอินกับ SILOM ในขณะที่ส่วนของ SUKHUMVIT นั้นเล่าเรื่องของตัวละครชนชั้นกลางที่เป็น straight เพราะฉะนั้นระดับความอินของเราก็เลยไม่มากเท่า MORCHIT และ SILOM

9.ส่วนของ PHAHURAT นั้น สิ่งที่ชอบมากๆก็คือการนำเสนอตัวละครที่เป็นซิกข์ ซึ่งแทบไม่เคยได้รับการ represent เป็นตัวละครหลักในหนัง fiction ไทยมาก่อน และช็อตผีเสื้อช่วงท้ายก็ดีมากๆ

ชอบมากๆด้วยที่ตัวละครทั้งใน PHAHURAT และ YAOWARAT ต่างก็ต้องการจะ “หนี” ออกไปเหมือนกัน คือเราว่ามันเป็นเรื่องของ generation ด้วยแหละ คือถ้าหากเป็นคนเฒ่าคนแก่ เขาอาจจะผูกพันกับย่านนี้ แต่ถ้าหากเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวแบบในหนังสองพาร์ทนี้ เขาก็อาจจะต้องการหนีไปจากย่านที่ตนเองเติบโตมา

และเราก็อินกับความรู้สึกอยากหนีออกไปจากกรุงเทพและประเทศไทยในสองพาร์ทนี้ด้วย

10.ส่วนของข้าวสารนั้น เราไม่อินเลย เหมือนจริงๆแล้วเราว่าหนังน่าจะเข้าทางเรามากกว่านี้นะ ถ้าหากตัวละครนางเอก เปิดใจ แล้วเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครหมอดูในช่วงต้นเรื่อง หรือถ้าหากนางเอกเปิดใจ เปิดตา สังเกตสังกาผู้คนรอบข้างในถนนข้าวสาร หรือพูดคุยทำความรู้จักกับคนไทยที่ประกอบอาชีพต่างๆในถนนข้าวสาร แต่พอนางเอกปิดกั้นตัวเองแบบนี้ หนังก็เลยเหมือนแทบไม่ได้ทำให้เรามองเห็นหรือสัมผัสถนนข้าวสารได้มากเท่าไหร่

จริงๆแล้วพอพูดถึงถนนข้าวสารเราจะนึกถึงหนังไทยสองเรื่องนะ ซึ่งก็คือ AMAZING THAILAND (1998, Soraya Nakasuwan + Panutta Yoosuksawasdi) ที่ทำให้เราสนใจถนนข้าวสารขึ้นมา คือก่อนหน้าที่เราจะดู AMAZING THAILAND เราไม่เคยรู้สึกว่าถนนข้าวสารน่าเที่ยวมาก่อนน่ะ แต่พอได้ดูหนังเรื่องนี้ปุ๊บ ถนนข้าวสารก็กลายเป็นแหล่งที่น่าสนใจขึ้นมาในทันที


ส่วนหนังอีกเรื่องที่เราว่าถ่ายทอดถนนข้าวสารได้เข้าทางเรามากๆ คือ TIME ACTUALLY PASSES SLOWER IN DREAM (2016, Alwa Ritsila + Lucy Day + Watcharapong Narongphine) ซึ่งเราว่าสาเหตุหนึ่งอาจจะเป็นเพราะ Alwa Ritsila น่าจะผูกพันหรือช่ำชองกับถนนข้าวสารมากพอสมควร เขาเลยถ่ายทอดมนต์เสน่ห์ของถนนข้าวสารออกมาในหนังเรื่องนี้หรือหนังเรื่องอื่นๆของเขาได้อย่างเต็มที่

No comments: