FANDAY (2016, Banjong Pisanthanakun, A+25)
1.ถ้าแบ่งหนังออกเป็นสามช่วง
เราจะชอบช่วงแรกของหนังในระดับ A+15, ชอบช่วงที่สองของหนังในระดับ
A- และชอบช่วงที่สามของหนังในระดับ A+30
2.คือช่วงที่สองเราไม่อินเลยน่ะ
แต่เราไม่คิดว่ามันเป็นความผิดของหนังนะ เพราะโดยปกติเราจะไม่อินกับหนัง romantic
comedy อยู่แล้ว และเราก็มองว่าช่วงที่สองของหนัง มันเป็น “การทำตามหน้าที่ของหนัง
romantic comedy สำหรับผู้ชมชาวไทยกระแสหลัก”
อะไรทำนองนี้
เราก็เลยไม่ได้รังเกียจช่วงที่สองของหนังมากนัก ถึงแม้เราจะไม่อินกับมันก็ตาม
แต่พอพูดถึงหนังโรแมนติกของไทย เราก็พบว่า ในปีนี้ เราอินกับ “ลูกทุ่งซิกเนเจอร์”
(ปรัชญา ปิ่นแก้ว, A+30) มากกว่าเยอะเลยนะ
คือเราอินกับเรื่องย่อยๆเกือบทุกเรื่องในลูกทุ่งซิกเนเจอร์น่ะ
ยกเว้นเรื่องความรักในกองถ่ายหนังเท่านั้นที่เราไม่อินกับมันเลยแม้แต่นิดเดียว
บางทีอาจจะเป็นเพราะเหตุผลง่ายๆคือเรื่องการ identify กับตัวละครนั่นแหละ
เพราะเราไม่มีทาง identify ตัวเองเป็น “สาวออฟฟิศสวยน่ารัก”
ที่มีหนุ่มๆมาแอบหลงรักแบบใน FANDAY
อยู่แล้ว แต่เราสามารถ identify กับอารมณ์ตัวละครหญิงหลายตัวในลูกทุ่งซิกเนเจอร์ได้
ทั้งสาวภารโรง, เด็กสาวที่กล้าจูบผู้ชายต่อหน้าสาธารณชน, รปภ.สาวที่บ้าดาราหนุ่ม
และโดยเฉพาะ “สาวหน้าผี” เพราะฉะนั้นอารมณ์โรแมนติกใน ลูกทุ่งซิกเนเจอร์ ก็เลยสื่อมาถึงเราได้อย่างรุนแรงมากๆ
ในขณะที่อารมณ์ romantic comedy ในช่วงที่สองของ FANDAY
เป็นอะไรที่สื่อมาถึงเราไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว แต่เราไม่ได้มองว่าFANDAY
ทำอะไรผิดในส่วนที่สองของหนัง เรามองแค่ว่ามันเพียงแค่ “ทำตามหน้าที่ของมัน”
3.พฤติกรรมของพระเอก FANDAY ที่แอบเข้าไปก้าวก่ายชีวิตนางเอกโดยที่นางเอกไม่รู้ตัว
รวมทั้งแอบจัดโต๊ะให้นางเอก มันทำให้เรานึกถึง CHUNGKING EXPRESS (1994,
Wong Kar-wai, A+30) ด้วยนะ ที่เฟย์ หว่องชอบแอบเข้าไปจัดห้องของเหลียงเฉาเหว่ย
คือตัวละครใน FANDAY กับ CHUNGKING EXPRESS นี่มีนิสัยชอบล่วงล้ำ privacy ของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตเหมือนกัน
แต่เราก็ไม่ได้เกลียดชังตัวละครสองตัวนี้นะ และไม่ได้มองว่ามันเป็นการทำผิดศีลธรรมขั้นร้ายแรง
แต่เราไม่อินกับ CHUNGKING EXPRESS ในส่วนของเฟย์หว่องเหมือนกัน
คือที่ชอบ CHUNGKING EXPRESS ในระดับ A+30
นี่ เป็นเพราะส่วนของ “หลินชิงเสีย” ล้วนๆ ในขณะที่ส่วนของเฟย์หว่องนี่ เราเฉยมากๆ
4.แต่ช่วงที่สามของ FANDAY นี่เราชอบสุดๆเลย
เราชอบที่ตัวนางเอกในปี 2012 ยอมรับตัวนางเอกในปี 2016 ไม่ได้
เราว่ามันสะท้อนธรรมชาติที่น่าสนใจของมนุษย์น่ะ นั่นก็คือ
มนุษย์แต่ละคนมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และหลายๆคนมักจะ “กลายเป็นคนที่ตัวเองเกลียด”
โดยไม่รู้ตัว มันเหมือนกับว่า เราเกลียดใครคนนึง เพราะเขามีนิสัยอย่างนู้นอย่างนี้
แต่พอผ่านไป 5-10 ปี เรากลับพบว่า เรากลายเป็นคนที่มีนิสัยเหมือนคนที่เราเกลียดไปแล้ว
มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่น่าสนใจดี
เหมือนอย่างเราเอง ตอนมัธยมเราก็เรียบร้อยมากๆ ธัมมะธัมโมมากๆ
โพชฌงค์เจ็ด มรรคมีองค์แปดมากๆ แต่อยู่ดีๆก็กลายเป็นกะหรี่ชุบน้ำไปได้ยังไงไม่รู้
จุดนี้ทำให้นึกถึงตัวละครหญิงในเรื่องอื่นๆด้วยนะ อย่างเช่น
4.1 นุดี ใน “เมียหลวง” ของกฤษณา อโศกสิน เราว่าถ้าหากนุดีในช่วงต้นของนิยายที่ดูมี
“หลักการ” มากๆ ได้มาเห็นสภาพของตัวเองที่กลายเป็น
“เมียน้อย” ในช่วงท้ายของนิยาย เธอก็อาจจะมีอาการตกใจแบบนางเอกของ FANDAY ก็ได้
ซึ่งจริงๆแล้วเราว่าตัวละครที่ธีรภัทร์ สัจจกุลเล่นใน FANDAY ทำให้เรานึกถึงตัวละครดร.อนิรุทธิ์ใน”เมียหลวง” มากๆด้วย คือการที่หนังเรื่อง
FANDAY ไม่ได้เล่าเรื่องของตัวละครเจ้านายมากนัก
มันเลยทำให้เราจินตนาการ background, ประวัติครอบครัวของตัวละครตัวนี้เอาเอง
ว่ามันคงคล้ายๆดร.อนิรุทธิ์ 555
4.2 ตัวละครในเรื่องสั้น “สุมลกับสุมลรัตน์” ของ “เอื้อ อัญชลี”
ในหนังสือ BOOKVIRUS 2 ที่เป็นเรื่องของสาวออฟฟิศน้องใหม่ที่เกลียดรุ่นพี่ในที่ทำงาน
แต่พออยู่ทำงานไปนานๆ ตัวละครน้องใหม่กับตัวละครรุ่นพี่มันก็เหมือนกลืนเข้าหากัน (ถ้าจำไม่ผิด)
4.3 หนังสั้นเรื่อง THE DRAGON’S DEMISE (2015, Marina Diaby) ที่นางเอกบอกว่า ตอนเด็กๆเธอไม่อยากเป็น “คนเย็นชา” แบบแม่ของเธอ
แต่ดูเหมือนหนังจะแสดงให้เห็นว่า จริงๆแล้วตัวนางเอกเองนี่แหละที่เย็นชามากๆ
เธอไม่ได้ต่างอะไรไปจากแม่ของเธอ หรือ “คนที่เธอไม่อยากจะเป็น” เลย
5.นอกจากประเด็นเรื่อง “เรากลายเป็นคนที่เราเกลียดชัง” แล้ว
อีกจุดที่ชอบมากๆใน FANDAY ก็คือมันทำให้เรานึกถึงเรื่อง “ทางเดินชีวิตที่ไม่ได้เลือก”
ด้วยแหละ เหมือนกับบทกวี THE ROAD NOT TAKEN ของ Robert
Frost น่ะ ที่มนุษย์เราบางคนมักจะถามตัวเองว่า “ถ้าหากวันนั้นเราเลือก
A แทนที่จะเลือก B ป่านนี้ชีวิตเราจะเป็นยังไงไปบ้างแล้วก็ไม่รู้”
คือพอเห็นนางเอกในช่วงท้ายของหนัง มันเหมือนกับว่าเราได้เห็นว่า
ถ้าหากเราตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตอีกแบบนึง ชีวิตเราจะแตกต่างไปจากเดิมยังไงบ้างน่ะ
มันเหมือนกับนางเอกที่เป็นเมียน้อย ได้เห็นว่า ถ้าหากเธอตัดสินใจไม่เป็นเมียน้อยเขาเมื่อ
3 ปีก่อน ป่านนี้ชีวิตเธออาจจะมีความสุขมากกว่านี้ไปแล้วก็ได้ เธออาจจะได้เจอคนที่รักเธอจริงก็ได้
มันเหมือนกับนางเอกได้เห็นชีวิตตัวเองในโลกคู่ขนานน่ะ เธอได้ใช้ชีวิตในโลกคู่ขนานเป็นเวลาหนึ่งวัน
ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตในโลกเดิมต่อ
คือจุดนี้จริงๆแล้วมันจะคล้ายหนังประเภท SLIDING DOORS (1998, Peter
Howitt), RUN LOLA RUN (1998, Tom Tykwer), SMOKING/NO SMOKING (1993, Alain
Resnais, 298 min), PEGGY SUE GOT MARRIED (1986, Francis Ford Coppola), CAMILLE
REDOUBLE (2012, Noémie Lvovsky), FATHER AND SON (2015, Sarawut Intaraprom) นะ คือหนังกลุ่มนี้มักจะแสดงให้เห็นว่า ถ้านางเอกเลือก A แล้วชีวิตจะเป็นยังไง แต่ถ้านางเอกเลือก B แล้วชีวิตจะแตกต่างไปยังไง
เราว่ามันน่าสนใจดีที่ FANDAY สามารถสะท้อนอะไรพวกนี้ได้ด้วย
โดยไม่ต้องใช้โครงสร้างหนังประเภท PEGGY SUE GOT MARRIED
คือเราว่าจริงๆแล้วสถานการณ์พื้นฐานของ FANDAY มันเอื้อต่อการเป็นหนัง
thriller ประเภท BEFORE I GO TO SLEEP (2014, Rowan
Joffe) มากกว่านะ ที่นางเอกความจำเสื่อม แล้วเลยโดนผู้ร้ายหลอก
เราก็เลยชอบ FANDAY ตรงจุดนี้ด้วยในแง่ที่ว่า
มันสามารถเอาสถานการณ์นางเอกความจำเสื่อม (ที่เอื้อต่อการเป็นหนัง thriller)มาสะท้อน “ทางเดินชีวิตที่เราไม่ได้เลือกเดิน” ได้อย่างซาบซึ้งสะเทือนใจแบบใน
PEGGY SUE GOT MARRIED ได้
6.เราว่าช่วงท้ายของ FANDAY มัน treat ตัวละครได้เป็นมนุษย์มากๆด้วยแหละ คือช่วงแรกกับช่วงที่สอง
ตัวละครมันยังเป็น “ตัวละครที่ทำตามหน้าที่ของหนัง romantic comedy” อยู่ แต่พอช่วงที่สามของหนัง ตัวละครมันก็ดูเหมือนมีหัวจิตหัวใจขึ้นมาจริงๆ
มีความคิดความอ่าน มีการตัดสินใจที่ผิดๆถูกๆ แบบมนุษย์จริงๆ
แทนที่จะพยายามทำตามหน้าที่ของหนังโรแมนติกพาฝันต่อไป
ระดับความชอบของเราที่มีต่อหนังเรื่องนี้ก็เลยพุ่งพรวดขึ้นมาในทันทีในช่วงท้ายของหนัง
7.แต่เราก็มองว่า พระเอกตัดสินใจผิดนะ ในตอนจบของหนัง
ผิดในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงผิดถูกในหลักศีลธรรมหรือหลักเหตุผลนะ ผิดในที่นี้หมายถึง “แตกต่างจากเรา”
น่ะ คือพระเอกตัดสินใจผิดตั้งแต่ช่วงที่สองของหนังแล้วน่ะ
หรือตัดสินใจแตกต่างจากเราตั้งแต่ช่วงที่สองของหนังแล้ว แต่เขาก็ดูเหมือนจะกลับมาตัดสินใจถูกต้องในช่วงต้นของช่วงที่สามของหนัง
ก่อนจะตัดสินใจแตกต่างจากเราอีกทีในช่วงท้าย
8.ถ้าหากจะให้เราเลือกฉาย FANDAY ควบกับหนังเรื่องไหน
เราก็คงจะเลือกฉายควบกับ THE HEADLESS WOMAN (2008, Lucrecia Martel) 555 เพราะมันมี “การสร้างความทรงจำเทียม” และ “การพยายามลบความทรงจำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริง”
ต่อตัวละครนางเอกในหนังสองเรื่องนี้เหมือนๆกัน แต่หนังสองเรื่องนี้มันก็เหมือนกันแค่นี้เท่านั้นแหละ
เพราะส่วนอื่นๆของหนังสองเรื่องนี้มันแตกต่างจากกันอย่างสิ้นเชิง 555
คือพอดู THE HEADLESS WOMAN เมื่อหลายปีก่อน เราก็พบว่า
ประเด็นเรื่อง “การสร้างความทรงจำเทียม” และ “การพยายามลบความทรงจำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริง” มันเป็นประเด็นที่เหมาะจะนำมาสร้างเป็นหนังไทยแนวการเมืองมากๆเลยน่ะ
เพราะมันมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมากในไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีใครผลิตหนังไทยแนว
THE HEADLESS WOMAN ออกมา เราก็เลยมีแต่หนังไทยแบบ
FANDAY ออกมาแทน จบ
No comments:
Post a Comment