Monday, September 12, 2016

IMPERIUM (2016, Daniel Ragussis, A+30)

IMPERIUM (2016, Daniel Ragussis, A+30)

อะไรคือการที่สัปดาห์นี้มีแต่หนังโรงที่ถูกจริตเราทั้งนั้นเลย ทั้ง SULLY, SHIN GODZILLA, FEBRUARY และ IMPERIUM นี่ได้ A+30 จากเราทั้ง 4 เรื่องเลย ถือเป็นสุดสัปดาห์ที่ต้องกราบขอบพระคุณบริษัทจัดจำหน่ายหนังในไทยจริงๆ

1.ดู IMPERIUM แล้วนึกถึง BETRAYED (1988, Costa-Gavras) ตลอดเวลา เพราะ BETRAYED ก็พูดถึงเรื่องเอฟบีไอที่ปลอมตัวไปสืบแก๊ง Klu Klux Klan เหมือนกัน และมีบางฉากที่มีฟังก์ชั่นคล้ายกันมากๆ (ฉากปล้นธนาคารใน BETRAYED เพื่อทดสอบความจงรักภักดีของนางเอก นี่เทียบได้กับฉากปะทะกับชายเม็กซิกันใน IMPERIUM) แต่ถ้าเทียบกันแล้ว เราก็ชอบ BETRAYED มากกว่านะ เพราะ BETRAYED มันเล่าเรื่องผ่านตัวละครหญิง, มันพูดถึงการหลงรักฆาตกร และมันเป็นหนังที่ช็อคเราอย่างรุนแรงมากในวัยเด็กน่ะ คือตอนที่เราดู BETRAYED นั้น เรายังเป็นเด็กมัธยมใสๆที่เติบโตมากับหนังดิสนีย์อยู่เลย เรานึกว่าพวก Klu Klux Klan หมดไปจากโลกนี้นานแล้ว เพราะฉะนั้นพอได้ดู BETRAYED ในปี 1988 เราก็เลยช็อคมาก และทำให้รู้ว่า โลกนี้ยังคงมีคนอีกมากมายที่เราไม่สามารถเข้าใจจิตใจอะไรพวกเขาได้เลย

แต่ IMPERIUM ก็เป็นหนังที่เราชอบสุดๆอยู่ดีนะ และหนังมันก็ช็อคเรานิดนึงเหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้เรานึกว่าพวก white supremacists ในอเมริกาพวกนี้จะสิ้นฤทธิ์กันไปตั้งนานแล้ว แต่หนังเรื่องนี้ก็ทำให้เราได้รับรู้ว่า พวกนี้ยังคงเป็นอะไรที่น่ากลัวมากๆอยู่ และถ้าหากในอเมริกาพวกนี้ยังน่ากลัวขนาดนี้ แล้วในยุโรปจะยิ่งน่ากลัวขนาดไหน เพราะในยุโรปพวกนี้คงได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมเป็นอย่างมากจากกระแสความกลัวผู้ก่อการร้าย

2.บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าหนังมันดียังไง แต่รู้สึกว่าทุกอย่างมันลงตัวดี ถึงแม้ว่าเส้นกราฟอารมณ์ของมันจะเป็นสูตรสำเร็จไปหน่อย คือรู้สึกว่าหลายฉากหลายตอนในหนังมันมีฟังก์ชั่นเหมือนหนังเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องน่ะ คือดูๆไปแล้วจะเดาได้เลยว่า เดี๋ยวช่วงนี้พระเอกต้องเจอปัญหา, เดี๋ยวปัญหาจะดูเหมือนคลี่คลาย, เดี๋ยวพระเอกจะโล่งใจ, แล้วก็พบว่าตัวเองเข้าใจผิด, แล้วก็มี twist แล้วก็มี climax คือรู้สึกว่าเส้นกราฟอารมณ์ของหนังเรื่องนี้มันดูเป็นสูตรสำเร็จมากๆ แต่หนังก็ทำให้เราไม่รู้สึกต่อต้านมันมากเกินไป แต่กลับรู้สึกไหลไปตามเนื้อเรื่องได้

3.ชอบที่หนังให้ความสำคัญกับ “ถ้อยคำ” มากๆ เหมือนกับหนังจะแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการใช้ถ้อยคำในการปลุกระดมมวลชนน่ะ คือเวลาพูดถึงผู้ก่อการร้าย และ racists เรามักจะนึกถึง “อาวุธ” หรืออะไรพวกนี้ และพยายามแก้ปัญหาด้วยการสกัดกั้นอาวุธ แต่จริงๆแล้วปัญหามันเริ่มต้นด้วยการเผยแพร่แนวคิดอันเลวร้ายผ่านทางคำพูด โดยเห็นได้จากฮิตเลอร์หรือเผด็จการบางประเทศที่ไม่ได้กุมอำนาจด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียว แต่กุมอำนาจได้เพราะใช้ “words” ในการปลุกระดมมวลชน, สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน, ปลูกฝังความเชื่อที่ผิดๆให้แก่ประชาชน และเครือข่ายของผู้ก่อการร้ายก็ใช้ words ในการหาสมาชิกใหม่ๆเช่นกัน

4.ชอบความสิ้นหวังของพระเอกที่พยายามจะหาวิธีทำให้คนที่หลงผิด หรือพวก racists ที่ต่อต้านประชาธิปไตย กลับมา “ตาสว่าง” แล้วก็พบว่าทำไม่สำเร็จ คือไม่ว่าจะใช้ “หลักเหตุผล” ในการพูดยังไงๆ พวกที่ต่อต้านประชาธิปไตยก็ไม่ตาสว่างสักที


5.ชอบ Toni Collette ในหนังเรื่องนี้มากๆ คือบทเธอไม่ได้มีอะไรมากนะ แต่เธอก็ดูเหมือนได้ใช้ความสามารถของตัวเองในระดับที่น่าพอใจ 

No comments: