Sunday, September 11, 2016

SHIN GODZILLA (2016, Hideaki Anno + Shinji Higuchi, Japan, A+30)

SHIN GODZILLA (2016, Hideaki Anno + Shinji Higuchi, Japan, A+30)

1.ถือเป็นหนึ่งในหนังที่เซอร์ไพรส์เรามากที่สุดในปีนี้ เพราะตอนแรกเราไม่เคยคิดจะดูหนังเรื่องนี้เลย แต่พอเห็นน้องกีวี่ไปดูมาแล้วชอบ เราก็เลยไปดูบ้าง แล้วก็พบว่ามันเข้าทางเรามากๆ คือดูแล้วนึกว่ากำกับโดย Frederick Wiseman 55555

คือสิ่งที่เราชอบในหนังของ Frederick Wiseman อย่าง LA DANSE (2009), AT BERKELEY (2013) และ NATIONAL GALLERY (2014) คือการตีแผ่ระบบการทำงานของหน่วยงานต่างๆในองค์กรหรือสถาบันน่ะ ไม่ว่าจะเป็นคณะบัลเล่ต์, มหาวิทยาลัย หรือพิพิธภัณฑ์ คือในหนังของ Frederick Wiseman เราจะไม่ได้ตามติดชีวิตของนักบัลเล่ต์หน้าใหม่ที่พยายามจะก้าวข้ามอุปสรรค์ไปสู่ความโด่งดัง, อาจารย์ที่พยายามโน้มน้าวนิสิตให้ตั้งใจเรียน หรือการพบรักกันระหว่างคนที่มาดูภาพวาดในพิพิธภัณฑ์ อะไรทำนองนี้ แต่เราจะได้เห็น “การทำงาน” จริงๆของคนที่มีตำแหน่งต่างๆกันไปในองค์กรองค์กรนั้น หรือสถาบันนั้นๆ หนังของ Wiseman จะไม่ได้เน้นไปที่อารมณ์รักโลภโกรธหลงของมนุษย์ แต่เห็นมนุษย์ในฐานะกลไก ฟันเฟืองของระบบในองค์กรต่างๆ แทน

จุดที่เราชอบใน SHIN GODZILLA ก็คือจุดเดียวกับที่เราชอบในหนังของ Frederick Wiseman น่ะแหละ เพราะใน SHIN GODZILLA เราเห็นกลไกการทำงานของรัฐบาลและข้าราชการของญี่ปุ่นในการรับมือกับภัยพิบัติ, การออกกฎหมาย, ข้อกฎหมายใดเอื้อให้ทำสิ่งใดได้ หรือไม่อนุญาตให้ทำสิ่งใด, อำนาจในการตัดสินใจอยู่ที่ใคร, ต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์กรใดบ้างในการทำงานนั้นๆ, เราควรจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำอย่างไร, องค์การระหว่างประเทศสามารถให้คุณให้โทษอะไรกับเราในการรับมือกับภัยพิบัติบ้าง และเราควรวางตัวอย่างไรกับประเทศต่างๆและองค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ

คือพอดู SHIN GODZILLA แล้ว รู้สึกว่ามันสามารถ “วิวัฒนาการ” ไปเป็นหนังแบบ Frederick Wiseman ได้สบายเลยนะ คือเหลืออีกแค่ step เดียวมันก็จะเป็นหนัง Frederick Wiseman แล้ว

หรือถ้าหากประเทศไทยจะทำหนังแนวนี้ เราก็สามารถดัดแปลง SHIN GODZILLA ให้กลายเป็นหนังแนว Kafkaesque ได้สบายเลยนะ คือเน้นการรับมือกับภัยพิบัติที่ล่าช้า, มีขั้นตอนยุ่งยากมากมาย, มีระบบราชการบ้าบอคอแตก, มีข้าราชการที่แย่งกันเสนอหน้าหรือเกี่ยงงานกันทำอะไรก็ว่าไป 555

2.ไปๆมาๆแล้ว ปีนี้ถือเป็นปีที่มีหนัง “ระบบ” ที่เราชอบมากๆหลายเรื่องเลยนะ ตั้งแต่ THE BIG SHORT (2015, Adam McKay), SPOTLIGHT (2015, Tom McCarthy), นางส่วย (อรรคพล สาตุ้ม), POWERHOUSE COMPLEX (2016, Soraya Nakasuwan) และรวมมาถึงSHIN GODZILLA นี่

คือหนังกลุ่มนี้ไม่ได้เล่าเรื่องแบบหนังทั่วไปที่มีพระเอกนางเอกฟันฝ่าอุปสรรค โดยเน้นไปที่ตัวพระเอกนางเอกเป็นหลักน่ะ แต่หนังกลุ่มนี้มันให้ความสำคัญกับ “ระบบ” มากกว่าอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร อย่างเช่น THE BIG SHORT ก็เน้นตีแผ่ระบบการเงิน, SPOTLIGHT ก็แสดงให้เห็นกลไกการทำงานของหนังสือพิมพ์, “นางส่วย” ก็แสดงให้เห็นขั้นตอนการทำงานของนายจ้างในการให้สวัสดิการที่ดีแก่ลูกจ้าง ส่วน POWERHOUSE COMPLEX ก็แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการทำงานของผู้พิพากษา

3.แต่เราก็ไม่ได้ต่อต้านหนังที่เน้นความเป็นมนุษย์ของตัวละครนะ เพราะโดยปกติแล้วเราชอบหนังที่เน้นความเป็นมนุษย์ของตัวละคร  แต่เราก็ต้องการ “ความหลากหลาย” ด้วยเช่นกัน นั่นก็คือต้องการให้มีหนังหลายๆแนว หรือหนังที่มีข้อดีในตัวมันเองในจุดที่ไม่ซ้ำกับหนังเรื่องอื่นๆ เพราะฉะนั้นการที่มี “หนังระบบ” ออกมาดีๆหลายเรื่องในปีนี้ ก็เลยเป็นสิ่งที่เราปลื้มปริ่มมากๆ ถึงแม้หนังบางเรื่องในกลุ่มนี้มันอาจจะไม่ได้มีมนุษย์จริงๆอยู่ในหนังก็ตาม

4.การที่ SHIN GODZILLA เป็น “หนังระบบ” มีส่วนทำให้หนังเรื่องนี้เข้าทางเราในแง่นึงด้วย เพราะจริงๆแล้วเราก็เบื่อพล็อตเรื่องประเภท “กูต้องกลับไปช่วยสมาชิกครอบครัวกู กูต้องพยายามช่วยชีวิตลูกสาว, ลูกชาย, ผัว, เมีย, พ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายายญาติโกโหติกาของกู” ในหนังอย่าง TRAIN TO BUSAN (2016, Yeon Sang-ho), THE HOST (2006, Bong Joon-ho) หรือ THE WAVE (2015, Roar Uthaug) น่ะ ซึ่งจริงๆแล้วเราก็ชอบหนังทั้ง 3 เรื่องนี้ในระดับ A+30 นะ แต่พอหนังภัยพิบัติหลายเรื่องใช้ประโยชน์จากพล็อตแบบนี้เหมือนๆกันไปหมดในการเร้าอารมณ์ผู้ชม เราก็เลยพึงพอใจที่ได้เจอหนังอย่าง SHIN GODZILLA ที่ไม่ต้องใช้ประโยชน์จากพล็อตแบบนี้อีกต่อไป


5.หนังที่ควรฉายคู่กับ SHIN GODZILLA ก็คือ GAS ATTACK (2001, Kenneth Glenaan,  UK) ที่เล่าเรื่องการระบาดของโรคที่อาจจะเกิดจากฝีมือของผู้ก่อการร้าย แต่แทนที่หนังเรื่องนี้จะเป็นหนัง thriller สืบสวนตามหาผู้ก่อการร้าย หนังกลับเน้นไปที่ฉากข้าราชการประชุมกันอย่างจริงจัง และถกเถียงกันในที่ประชุมเป็นเวลายาวนานแทน

No comments: