Monday, September 12, 2016

SULLY (2016, Clint Eastwood, A+30)

SULLY (2016, Clint Eastwood, A+30)

ชีวิตจะทดสอบเราด้วยคุณสมบัติพิเศษที่หลบซ่อนอยู่ในตัวเรา

ประโยคข้างต้นมาจากหนังเรื่อง AKIRA (2016, A. R. Murugadoss, India, A-) นะ แต่จริงๆแล้วเราว่าประโยคนี้เหมาะจะนำมาใช้กับหนังเรื่อง SULLY และ NEERJA (2016, Ram Madhvani, India, A+30) มากกว่า เพราะทั้ง SULLY และ NEERJA ต่างก็สร้างจากเรื่องจริงของคนธรรมดาที่อยู่ดีๆก็เจอกับสถานการณ์ชิบหายอย่างสาหัสสากรรจ์ และสถานการณ์ดังกล่าวบีบให้พวกเขาต้องดึงเอาคุณสมบัติที่ดีที่สุดในตัวเองออกมา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พวกเขาอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองมีอยู่ในตัวก็ได้ ถ้าหากพวกเขาใช้ชีวิตตามปกติไปเรื่อยๆ

1.สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชอบ SULLY ในระดับ A+30 เป็นเพราะประสบการณ์ส่วนตัวของเราเองน่ะแหละ เพราะเราเองก็เคยเจอเหตุการณ์ที่ unprecedented (หรือไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน) เหมือนกัน และบางคนก็อาจจะไม่เข้าใจการกระทำของเราในเหตุการณ์นั้น หรือไม่เข้าใจการตัดสินใจของเราในเหตุการณ์นั้น

เพราะฉะนั้นหลายประโยคที่ตัวละครพูดในหนังเรื่องนี้ก็เลยโดนใจเรามากๆ ทั้งประโยค “Everything is unprecedented until it happens for the first time.” “คุณไม่เข้าใจผม เพราะคุณไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับผมในตอนนั้น”, การพูดถึง human factor และการตัดสินคนโดยไม่ได้คำนึงถึง human factor

ฉากการพิจารณาคดีก็เลยเป็นฉากสำคัญที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 เพราะมันทำให้เรานึกถึงเรื่องบางเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตเราเอง

2.เราว่ามันเป็นเรื่องยากนะที่จะทำหนังแบบนี้ เพราะเป็นหนังที่สร้างจากเรื่องจริงที่โด่งดัง เพราะฉะนั้นผู้ชมทุกคนก็รู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า ผู้โดยสารทุกคนบนเครื่องบินจะรอดตาย เพราะฉะนั้นหนังเรื่องนี้จึงไม่สามารถพึ่งพาการสร้างความลุ้นระทึกเหมือนหนัง thriller ทั่วๆไปได้ แต่ต้องหันไปพึ่งพาการสำรวจมโนสำนึก,อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนกว่า, ลึกซึ้งกว่า และยากกว่า

อีกสิ่งที่เราว่ายากมากในการเขียนบทหนังเรื่องนี้ ก็คือว่า เหตุการณ์สำคัญมันเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่นาทีน่ะ แล้วคุณจะเขียนบทหนังยาวยังไงให้ดูสนุกน่าติดตามได้ ในเมื่อเหตุการณ์สำคัญในหนังมันเกิดขึ้นในเวลาเพียงแค่ 3-5 นาทีเท่านั้น แต่หนังเรื่องนี้ก็ทำได้สำเร็จ

คือเรื่องแบบนี้ต้องลองเปรียบเทียบกับหนังที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะ หนังที่สร้างจากคดีจริงเกี่ยวกับวีรกรรมของคนธรรมดาที่ออกฉายในปีนี้ อย่างเช่น SPOTLIGHT (2015, Tom McCarthy), NEERJA และ AIRLIFT (2016, Raja Menon) คือเราก็ชอบหนังทั้งสามเรื่องนี้มากๆเลยนะ แต่เราว่าสถานการณ์ใน
หนัง 3 เรื่องนี้มันดัดแปลงมาทำเป็นหนังยาวได้ง่ายกว่า SULLY น่ะ โดย AIRLIFT นี่สร้างเป็นหนังได้ง่ายสุด เพราะมันเป็นสถานการณ์คับขันที่กินเวลานานหลายวัน หนังสามารถพึ่งพาความสนุกตื่นเต้นจากบรรดาตัวประกอบชิบหายๆที่ติดอยู่ในคูเวตได้ ในขณะที่ SULLY นั้น หนังไม่สามารถพึ่งพาความสนุกจากตัวประกอบได้เลย หนังไม่มีเวลาพัฒนาตัวละครแอร์โฮสเตสหรือผู้โดยสารแต่ละคนบนเครื่องบินได้อย่างจริงๆจังๆเลย เพราะมันเป็นเหตุการณ์คับขันเพียงแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น

ส่วน NEERJA นี่ก็สร้างเป็นหนังได้ง่ายกว่า SULLY ในแง่ที่ว่า มันเป็นเหตุการณ์คับขันที่กินเวลาน่าจะหลายชั่วโมงอยู่ เพราะฉะนั้นหนังจึงมีเวลาในการสร้างตัวละครประกอบที่เป็นผู้โดยสารบนเครื่องบินได้ และมีสถานการณ์ที่แอร์โฮสเตสชิงไหวชิงพริบกับผู้ก่อการร้ายบนเครื่องบินในปากีสถานอยู่หลายสถานการณ์ NEERJA ก็เลยสามารถพึ่งพาความสนุกจากเหตุการณ์เหล่านี้ได้

ส่วน SPOTLIGHT นั้นน่าจะยากคนละอย่างกับ SULLY ในแง่ที่ว่า SPOTLIGHT มันเล่าเหตุการณ์ที่กินเวลายาวนานเป็นปี แล้วคนเขียนบทจะย่นเวลายาวๆนั้นให้เหลือแค่ 2 ชั่วโมงได้อย่างไร แต่การคั้น เหตุการณ์ยาวให้เหลือแต่หัวกะทิเข้มข้นในหนังยาว 2 ชั่วโมง อาจจะเป็นสิ่งที่หนังหลายเรื่องกระทำกันอยู่แล้ว ในขณะที่ SULLY นั้น เป็นสิ่งที่เราอาจจะไม่ค่อยพบ นั่นก็คือการนำเสนอเหตุการณ์คับขันเพียงแค่ไม่กี่นาที ให้กลายเป็นหนังยาวได้

3.จริงๆแล้วเราเกลียด AMERICAN SNIPER (2014, Clint Eastwood) มาก เพราะแนวคิดทางการเมืองของมัน เราก็เลยดีใจที่คลินท์ อีสต์วูดทำหนังอย่าง SULLY ออกมา เพราะมันไม่ใช่หนังที่เรามีปัญหากับทัศนคติทางการเมือง
ก็ต้องยอมรับแหละว่ามีผู้กำกับหลายคนบนโลกนี้ที่มีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับเรา ทั้งผู้กำกับไทยและผู้กำกับต่างประเทศ และหลายคนในกลุ่มนี้ก็ถือว่า มีฝีมือในการกำกับภาพยนตร์เพราะฉะนั้นการที่เราจะมีความสุขกับการดูหนังของผู้กำกับกลุ่มนี้ได้หรือไม่นั้น บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะแสดง ส่วนที่เรารับไม่ได้ในตัวเขาออกมาในหนังเรื่องนั้นๆด้วยหรือเปล่า ซึ่งอย่าง SULLY นี่ก็ถือว่ารอดตัวไป

4.ถ้าหากเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของ Clint Eastwood แล้ว เรารู้สึกว่า SULLY มันดูเรียบง่ายขึ้นมากเลยนะ ดูแล้วทำให้นึกถึงผู้กำกับอย่าง Manoel de Oliveira ที่ทำหนังที่ดูเรียบง่ายมากๆขณะที่มีอายุแก่ชรา คิดว่าปัจจัยด้านอายุคงมีส่วนสำคัญในการทำให้ SULLY ดูไม่โฉ่งฉ่างหรือไม่แกรนด์แบบหนังยุคก่อนของปู่คลินท์

5.ดูแล้วนึกถึงหนังญี่ปุ่นเรื่อง HAPPY FLIGHT (2008, Shinobu Yaguchi, A+30) ที่เกี่ยวกับเครื่องบินที่ต้องบินกลับเพราะปัญหาเรื่องนกหรืออะไรทำนองนี้เหมือนกัน คือพอดู SULLY แล้วก็ทำให้สงสัยว่า ผู้สร้างหนังเรื่อง HAPPY FLIGHT นี่มี ญาณทิพย์เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าหรือเปล่า 555 เขาถึงได้สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์จริงๆที่คล้ายกันในช่วงต้นปี 2009 ที่สหรัฐอเมริกา


No comments: