Sunday, February 25, 2024

MOSCOW MISSION (2023, Herman Yau, China/Russia, A+30)

 

MOSCOW MISSION (2023, Herman Yau, China/Russia, A+30)

 

1.เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดขีดมาก ๆ ถึงแม้เราแอบสงสัยว่า การสร้างหนังเรื่องนี้ถือเป็นผลพวงจาก "สงครามยูเครน" หรือเปล่า คือพอเกิดสงครามยูเครนตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา จีนกับรัสเซียก็เลยหันมาสนิทกัน รัสเซียหันไปใช้เงินหยวนในการค้าขายระหว่างประเทศ เพราะมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกส่งผลให้รัสเซียไม่สะดวกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอีกต่อไป แล้วพอจีนกับรัสเซียหันมาสนิทกันในช่วงนี้ ก็เลยอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสองประเทศนี้หันมาสร้างหนังอวยซึ่งกันและกันหรือเปล่า

 

คือ MOSCOW MISSION นี่ น่าจะเป็นหนังที่นำเสนอ KGB หรืออดีต KGB ในทางบวกมากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เราเคยดูมาในชีวิตเลยนะ

 

2.เป็นหนังที่สนุกสุดขีดสำหรับเรา บู๊กันมันส์สะใจมาก ๆ นึกถึงความเดือดของทั้ง RRR (2022, S.S. Rajamouli, India) และ THE BATTLE AT LAKE CHANGJIN (2021, Chen Kaige, Dante Lam, Tsui Hark, China) ซึ่งมันเข้าทางเรามากกว่าหนังอย่าง JOHN WICK

 

เราชอบ “ความเดือด” ของ MOSCOW MISSION และหนังฮ่องกงแบบ SHOCK WAVE (2017, Herman Yao) มากกว่าความเดือดของหนังชุด MISSION: IMPOSSIBLE และ FAST & FURIOUS ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ แต่เราเดาว่าสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ความเดือดของหนังฮ่องกงหลาย ๆ เรื่อง มันเล่าผ่านตัวละคร “ตำรวจ” ที่ “เก่งในระดับไม่เว่อร์เกินไป” น่ะ เหมือนเป็นตำรวจที่เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ตั้งอกตั้งใจทำงานและเก่งกาจด้านการบู๊ในระดับนึง แต่ยังไม่ได้เก่งเว่อร์ถึงขั้นพระเอกในหนังชุดของฮอลลีวู้ดพวกนั้นน่ะ เพราะฉะนั้นพอพระเอกของหนังฮ่องกงพวกนี้มีความใกล้เคียงกับคนธรรมดามากกว่าพระเอกหนังชุดของฮอลลีวู้ด เราก็เลยรู้สึกตื่นเต้นหรืออินกับตัวละครในเรื่องมากกว่าการดูหนังชุดของฮอลลีวู้ดมั้ง เพราะพระเอกในหนังชุดของฮอลลีวู้ดมันจะ “หนังเหนียว” มาก ๆ หรือเก่งเว่อร์มาก ๆ จนเราไม่ค่อยอินหรือไม่ค่อยรู้สึกหวาดกลัวกับ “อันตราย” ที่ตัวละครพระเอกในหนังฮอลลีวู้ดต้องเผชิญ แต่เราจะรู้สึกว่า “อันตราย” ในหนังฮ่องกงมันทำให้เรากลัวมากกว่า

 

3.ชอบที่ MOSCOW MISSION ย้อนไปรัสเซียในยุคต้นทศวรรษ 1990 ในช่วงที่สหภาพโซเวียตเพิ่งล่มสลาย และเป็นยุคของเพจเจอร์ ในขณะที่โทรศัพท์มือถือยังเป็นของที่หายากสุดขีดอยู่ เหมือนเราไม่ค่อยเห็นหนังที่พูดถึงยุคนี้ นอกจาก LOVE IS NOT AN ORANGE (2022, Otila Babara, Moldova/Belgium, documentary, A+30), FLEE (2021, Jonas Poher Rasmussen, Denmark, animation), LILYA 4-EVER (2002, Lukas Moodysson, Sweden/Denmark)

 

4.พอหนังพูดถึงรถไฟข้ามไซบีเรีย เราก็เลยนึกถึงหนังดังต่อไปนี้ด้วย

 

4.1 JOAN OF ARC OF MONGOLIA (1989, Ulrike Ottinger, West Germany, 2hrs 45mins, A+30)

 

4.2 WISH US LUCK (2013, Wanweaw Hongvivatana, Weawwan Hongvivatana, documentary)

 

4.3 COMPARTMENT NUMBER 6 (2021, Juho Kuosmanen, Finland)

 

5.สรุปว่าในบรรดาผู้กำกับหนังจีน/ฮ่องกงยุคนี้ เรารัก Herman Yau, Felix Chong, Soi Cheang อย่างรุนแรงมาก ๆ ดีใจที่ได้เห็น Herman Yau ทำหนังจีนเดือด ๆ แบบยุคเก่าออกมาให้เราได้ดูกัน หลังจาก John Woo ทำให้เราผิดหวังอย่างสุดขีดกับ SILENT NIGHT (2023)

 

6.ย้อนกลับไปข้อ 1 ที่เราตั้งข้อสงสัยว่า การสร้างหนังเรื่องนี้อาจจะถือเป็น “ผลพวงจากสงครามยูเครน” คือเรารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้มันเข้ากับสิ่งที่เราเคยเขียนไว้.ในประเด็นเรื่อง ภาพยนตร์ในฐานะ “อาวุธสงคราม” และ “โรงภาพยนตร์” ในฐานะ “สมรภูมิรบ” ด้วย เพราะเรารู้สึกว่า หนังหลาย ๆ เรื่องที่เราได้ดู มันถูกใช้เป็น propaganda ในการอวยบางประเทศ จนราวกับว่า มันเป็น “อาวุธสงคราม” ในทางนึง เพียงแต่ว่ามันเป็นอาวุธที่ไม่ได้ทำร้ายร่างกายคนในประเทศอื่น ๆ แต่เป็นอาวุธทางจิตวิทยาที่ใช้ในการโน้มน้าวคนดูทั้งในประเทศและนอกประเทศให้หันมามองประเทศนั้น ๆ ในทางบวก ซึ่งการสู้รบกันโดยไม่ได้ใช้อาวุธจริงในการทำร้ายร่างกายกัน แต่หันมาสู้รบกันผ่านทางศิลปะภาพยนตร์แทน ก็ถือเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้และสนใจมาก ๆ นะ เพียงแต่ว่าเราก็ต้องเตือนตัวเองเวลาที่ดูว่า ถึงแม้เราจะชอบหนังเรื่องนั้น ๆ อย่างสุดขีด เราก็ต้องไม่ลืมความจริงที่ว่า มันถูกสร้างขึ้นเพื่อ propaganda อะไร

 

 

เราเคยเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ที่

https://web.facebook.com/photo/?fbid=10232990193080395&set=a.10232633255917189

 

และนอกจากหนังอย่าง MOSCOW MISSION, FIGHTER (2024, Siddharth Anand, India, 160min, A+25), BAZMANDE (THE SURVIVOR) (1995, Seifollah Dad, Iran, A+30),  THE BLOOD OF SUPAN เลือดสุพรรณ (1979, Cherd Songsri, A+30),  ORDINARY HERO (2022, Tony Chan, China, A+15), BORN TO FLY (2023, Liu Xiaoshi, China) ที่เรามองว่ามันเป็น propaganda/อาวุธสงครามในทางอ้อม ที่น่าสนใจแล้ว เราว่าแม้แต่หนังอย่าง WHERE THE WIND BLOWS (2022, Philip Yung, China/Hong Kong) และ THE GOLDFINGER (2023, Felix Chong, Hong Kong/China, A+30) ก็เป็น propaganda ที่น่าสนใจเช่นกัน คือเราชอบหนังสองเรื่องนี้อย่างมาก ๆ นะ แต่เราสงสัยว่า หนังสองเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อ propaganda การปกครองของจีนในฮ่องกงหรือเปล่า เพราะหนังสองเรื่องนี้ตีแผ่ความเลวร้ายในวงการตำรวจ, วงการการเงิน, ระบบศาล ในยุคที่อังกฤษปกครองฮ่องกงน่ะ คือพอเราดูหนังสองเรื่องนี้แล้วเราก็จะได้เห็นความฉ้อฉลเลวร้ายของวงการตำรวจ, วงการการเงิน, ศาล ในยุคที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ และมันก็เลยเหมือนจะทำให้เรารู้สึกในทางอ้อมว่า การที่จีนเข้ามาปกครองฮ่องกงตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา อาจจะช่วยทำให้วงการตำรวจ, วงการการเงิน, วงการศาล ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น

 

เพราะฉะนั้นถึงแม้เราจะชอบ WHERE THE WIND BLOWS และ THE GOLDFINGER มาก ๆ เราก็เตือนตัวเองว่า เราจะต้องไม่ลืมการประท้วงของคนฮ่องกงในทศวรรษ 2010 และหนังอย่าง YELLOWING (2016, Chan Tze-woon, Hong Kong, A+30),  WE HAVE BOOTS (2020, Evans Chan, Hong Kong, documentary, 130min, A+30) ด้วย

 

นี่เรายังไม่ได้ดู THE CHALLENGE (2023, Klim Shipenko, Russia) นะ แต่เดาได้ล่วงหน้าเลยว่า หนังเรื่องนี้คงเข้าข่าย propaganda/อาวุธสงครามทางจิตวิทยา เช่นเดียวกัน 555

 

ส่วนหนังที่เรารู้สึกว่า มันเป็นขั้วตรงข้ามกับหนัง propaganda ชาตินิยมเหล่านี้ ก็คือหนังอย่าง REASON (2018, Anand Patwardhan, India, documentary, 3hrs 38min, A+30) และ THE HOLDOVERS (2023, Alexander Payne, A+30) นี่แหละ ที่ตีแผ่ความเลวร้ายของประเทศตนเอง

No comments: