Monday, May 01, 2006

DEBRA WINGER

7.An Autumn Tale (1998, เอริค โรห์แมร์)

Autumn Tale หรือ Conte d'automne เป็นภาพยนตร์ตอนที่ 4 ในภาพยนตร์ชุด Tales of Four Seasons ที่กำกับโดยอีริค โรห์แมร์ ผู้กำกับชื่อดังของฝรั่งเศส โดย 3 ตอนแรกก่อนหน้านี้ได้แก่ A Tale of Sprintime (1990), A Winter's Tale (1992) และ A Summer's Tale (1996)

อีริค โรห์แมร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชุดนี้ได้สร้างภาพยนตร์มากว่า 40 ปี และภาพยนตร์ของเขามีลักษณะเฉพาะตัวที่นักชมภาพยนตร์ต่างรู้จักกันดี โดยภาพยนตร์ของเขาแทบไม่ให้ความสำคัญกับพล็อตเรื่องเลย และแทบไม่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในเรื่อง แต่ภาพยนตร์ของเขาก็ได้สะท้อนชีวิตมนุษย์ธรรมดาออกมาได้อย่างสมจริงและน่าประทับใจ อีกทั้งยังเต็มไปด้วยบทสนทนาที่แหลมคม, ตัวละครที่สมจริง และการแสดงขั้นสุดยอด

Autumn Tale มีเนื้อหาเกี่ยวกับมากาลี (บีทริซ โรมองด์) แม่ม่ายที่มีลูก 2 คน เธอใช้ชีวิตอยู่ในเขตโรน แวลลีย์ และใช้เวลาไปกับการทำไร่องุ่นที่ใช้ทำไวน์ เธออุทิศตัวเองให้กับการดูแลคุณภาพรสองุ่นและปล่อยให้วัชชพืชเติบโตในไร่ไปพร้อมกับองุ่นเพราะเธอไม่ต้องการใช้ยาฆ่าแมลง และเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับฤดูการเก็บเกี่ยวองุ่นนี้เองที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้

มากาลียอมรับต่ออิซาเบล (มารี ริเวียร์) เพื่อนสนิทของเธอว่าเมื่อลูกๆของเธอย้ายออกไปเรียนที่อื่นแล้ว เธอก็รู้สึกเหงาและต้องการผู้ชายสักคนเข้ามาในชีวิต แต่เธอก็คิดว่าคงเป็นการยากที่จะพบชายคนนั้น และกล่าวว่า "อายุอย่างฉันปูนนี้แล้ว ขุดหาหีบสมบัติเจอยังจะง่ายกว่า" โดยนักวิจารณ์ได้ยกย่องการแสดงของโรมองด์ในเรื่องนี้ว่าสามารถแสดงอารมณ์โหยหาความรักของมากาลีได้เป็นอย่างดี และยังแสดงความเข้มแข็งและเป็นตัวของตัวเองของมากาลีได้ด้วยในขณะเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวละครตัวนี้มีความซับซ้อนและสมจริงเป็นอย่างมาก ไม่แบนราบเหมือนตัวละครในภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ

อิซาเบลพยายามช่วยเหลือมากาลีด้วยการแอบลงโฆษณาหาคู่และได้รู้จักกับเฌอราลด์ (อแลง ลิโบลท์) ผู้ตอบรับโฆษณานี้ อิซาเบลนัดพบกับเฌอราลด์หลายครั้งจนแน่ใจว่าผู้ชายคนนี้เหมาะสมกับมากาลีก่อนจะเปิดเผยความจริงว่าเธอแต่งงานแล้วและเรื่องทั้งหมดนั้นเธอทำไปให้มากาลี ไม่ใช่ให้ตัวเธอเอง เฌอราลด์รู้สึกผิดหวังเล็กน้อยแต่ก็ยินดีที่จะพบกับมากาลีตามการคะยั้นคะยอของอิซาเบล

ไม่ใช่แค่อิซาเบลคนเดียวที่วางแผนหาคู่ให้มากาลี โรซีน (อเล็กเซีย ปอร์ตัล)นักศึกษาสาวที่เป็นแฟนของลีโอ (สเตฟาน ดามอง) ลูกชายของมากาลี ก็ได้พยายามหาคู่ให้เธอเช่นกัน โดยโรซีนรู้สึกผูกพันกับมากาลีมากเป็นพิเศษและยอมรับว่าเธอเข้ากันได้ดีกับมากาลีมากกว่ากับลีโอเสียอีก ทั้งนี้ โรซีนต้องการให้เอเตียน (ดิดิเยร์ ซองด์) แฟนเก่าของเธอซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้รู้จักและมาเป็นแฟนกับมากาลี อย่างไรก็ดี เอเตียนยังคงชอบโรซีนอยู่ ในขณะที่โรซีนคิดจะตัดความสัมพันธ์รักที่มีต่อทั้งเอเตียนและลีโอลง

เรื่องดำเนินมาถึงจุดไคลแมกซ์ในงานแต่งงานของลูกสาวของอิซาเบลเมื่อตัวละครทุกตัวได้มาพบกันพร้อมหน้าในงานเป็นครั้งแรก เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงจุดนี้ ผู้ชมจะรู้สึกผูกพันกับตัวละครในเรื่องมากและรู้สึกเหมือนรู้จักตัวละครแต่ละตัวมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ผู้ชมจะรู้สึกลุ้นอย่างมากว่าเนื้อเรื่องจะคลี่คลายออกมาอย่างไร และฉากงานแต่งงานนี้ยังนับได้ว่าเป็นฉากที่ตลกและเรียกรอยยิ้มมากที่สุดฉากหนึ่งในบรรดาภาพยนตร์ของโรห์แมร์ด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ควรอยู่ชมจนถึงวินาทีสุดท้ายของเครดิตท้ายเรื่อง เนื่องจากตัวละครตัวหนึ่งได้เปิดเผยความรู้สึกที่เก็บซ่อนปิดบังมาตลอดทั้งเรื่องในช่วงไม่กี่วินาทีสุดท้ายของเครดิตท้ายเรื่องนี้เอง

Autumn Tale แสดงให้เห็นภาพของผู้คนในวัยกลางคนที่กำลังแก่ตัวลงและเริ่มใช้ชีวิตตามลำพังหลังจากลูกๆออกไปเรียนมหาวิทยาลัย และนักวิจารณ์ได้แสดงความชื่นชมมากเป็นพิเศษต่อฉากการคุยกันของตัวละครในเรื่องนี้ โดยเฉพาะฉากที่อิซาเบลคุยกับมากาลี และฉากที่อิซาเบลคุยกับเฌราลด์ในร้านอาหาร ปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างตัวละครขณะคุยกันมีความสมจริงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ นักวิจารณ์ยังระบุอีกด้วยว่า Autumn Tale แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของโรห์แมร์อีกครั้ง และถึงแม้โรห์แมร์จะมีอายุมากแล้ว แต่ดูเหมือนว่าฝีมือการกำกับของเขากลับแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ

บีทริซ โรมองด์ เคยแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Four Adventures of Reinette and Mirabelle, The Green Ray, A Good Marriage, House of the Yellow Carpet และ The Romantic English Woman

มาเรีย ริเวียร์ เคยแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Venus Beauty Salon, Muriel's Parents Have Had It Up to Here, A Winter's Tale, Four Adventures of Reinette and Mirabelle และ The Green Ray

ดิดิเยร์ ซองด์ เคยแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Coming to Terms with Death, Lie, La Femme de ma vie, Mazeppa และ Train d'enfer

อแลง ลิบอลท์ เคยแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Bernie, The Shadow Army, The Wanderer, La Maison และ George qui?


8.Ali: Fear Eats the Soul (1973, ไรเนอร์ แวร์เนอร์ ฟาสบินเดอร์)

บริกิทเทอ มิรารับบทเป็นพนักงานทำความสะอาดที่ตกหลุมรักหนุ่มโมร็อกโกผิวดำที่มีอายุน้อยกว่าเธอมาก แต่เธอต้องเผชิญกับแรงกดดันจากคนรอบข้างที่ไม่เห็นด้วยกับความรักของเธอ ซึ่งรวมถึงลูกๆของเธอเอง

หนังเรื่องนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก All That Heaven Allows (1955) ของดักลาส เซิร์ค


9.Venus Beauty Institute (1998, โทนี มาร์แชล)

หนังเรื่องนี้เป็นหนังโรแมนติกพาฝันและสร้างความกระชุ่มกระชวยให้แก่หัวใจอย่างสุดๆ โดยในเรื่องนี้นาตาลี เบย์ (Slow Motion) รับบทเป็นอองเชล ช่างเสริมความงามที่มีอายุมากแล้ว เธอมักจะมีเซ็กส์กับผู้ชายแปลกหน้าโดยไม่หวังว่าจะได้รับความรักตอบแทน แต่หัวใจเธอก็เริ่มหวั่นไหวเมื่อเธอได้พบกับอังตวน (แซมมวล เลอบิฮอง จาก He Loves Me, He Loves Me Not) ชายหนุ่มแปลกหน้าที่หล่อมากและนิสัยดีมาก

นอกจาก Venus Beauty Institute แล้ว ฝรั่งเศสยังสร้าง “หนังประเภทหนุ่มหล่อหลงรักสาวแก่” ออกมาอีกหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งรวมถึง

(1) The School of Flesh (1998, เบนัวท์ ฌากโคท์) นำแสดงโดยแวงซองท์ มาร์ติเนซ (น้องชายของโอลิวิเยร์ มาร์ติเนซ) กับอิซาเบล อูแปร์ท

(2) The Piano Teacher (2001, มิฆาเอล ฮาเนเก้) นำแสดงโดยเบนัวท์ มาจิเมล กับอิซาเบล อูแปร์ท

(3) Body Against Heart หรือ Corps a coeur (1979, ปอล เวคเชียลี)

(4) See How They Run หรือ Embrassez qui vous voudrez (2002, มิเชล บลองก์)

(5) Perfect Love! (1996, แคเธอรีน เบรยาต์)

(6) Post coitum, animal triste (1998, บริกิทเทอ รูออง) นำแสดงโดยบริกิทเทอ รูออง กับบอริส เตร์ราล

(7) Clement (2001, เอ็มมานูแอล เบร์โกต์) นำแสดงโดยเอ็มมานูแอล เบร์โกต์ กับโอลิวิเยร์ เกริตี

(8) Cet Amour-La (2001, โจซี ดายัน) นำแสดงโดยฌานน์ มอโร และมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตรักช่วงท้ายของมาร์เกอริต ดูราส์


10.My Mother’s Courage (1995, ไมเคิล เวอร์โฮเวน)

พอลลีน คอลลินส์ (Shirley Valentine) รับบทเป็นหญิงวัยกลางคนชาวยิวที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงบูดาเปสท์ ประเทศฮังการีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เธอกำลังจะถูกนาซีส่งตัวขึ้นรถไฟไปยังค่ายกักกัน แต่เธอก็พยายามหาทางเอาตัวรอดจากสถานการณ์นี้อย่างสุดความสามารถ


หนังเกี่ยวกับหญิงสาววัยรุ่น

ถึงแม้ดิฉันมีความโน้มเอียงที่จะชอบหนังเกี่ยวกับป้าแก่ๆมากกว่าหนังเกี่ยวกับหญิงสาววัยรุ่น แต่ก็มีหนังเกี่ยวกับหญิงสาววัยรุ่นบางเรื่องที่ดิฉันชอบอย่างรุนแรงค่ะ ซึ่งได้แก่หนัง 15 เรื่องดังต่อไปนี้

1. Hi, Tereska (2001, โรเบิร์ต กลินสกี, โปแลนด์)

2. Kokkuri-san (1997, ทากาฮิสะ เซเสะ)

3. Lovely Rita (2001, เจสสิกา เฮาส์เนอร์, ออสเตรีย)

4. Bu Su (1987, จุน อิชิกาวะ)

5. Mouchette (1966, โรแบร์ต แบรซง)

6. Moving (1993, ชินจิ โซมาอิ)

7. Four Adventures of Reinette and Mirabelle (1986, เอริค โรห์แมร์)

8. The Cherry Orchard (1990, ชุน นากาฮาระ)

9. The State I Am In (2000, คริสเตียน เพทโซลด์, เยอรมนี)

10. Saint-Cyr (2000, แพทริเซีย มาซุย)

11. Or (2004, เคเรน เยดายา, อิสราเอล)

12. Osama (2003, ซิดดิค บาร์มาค, แอฟกานิสถาน)

13. Lime (2001, นาธิลด์ โอเวอร์ไรน์ แรพพ์, นอรเวย์)

14. A Nos Amours (1983, มอริซ เปียลาต์)

15. Violet Perfume, No One Hears You (2003, แมริส ซิสตาช, เม็กซิโก)


ผู้กำกับหญิง – แคธรีน บิเกโลว์

นักแสดงคนหนึ่งใน Born in Flames คือแคธรีน บิเกโลว์ ซึ่งเป็นผู้กำกับหญิงคนสำคัญคนหนึ่งของฮอลลีวู้ด ผลงานของบิเกโลว์ที่น่าสนใจมากๆคือ The Weight of Water ที่นำแสดงโดยผู้หญิงหลายคน และรวมถึงหนังดังต่อไปนี้

1.Near Dark (1987)

หนังเรื่องนี้พูดถึงผีดูดเลือด แต่นำสไตล์หนังคาวบอยและฟิล์มนัวร์มาผสมผสานเข้าไป โดยมีหนุ่มหล่อสุดๆอย่าง เอเดรียน ปาสดาร์มารับบทเป็นพระเอก

2.The Loveless (1981)
http://images.amazon.com/images/P/B00030AZFM.01.LZZZZZZZ.jpg

บิเกโลว์ร่วมงานกับมอนตี มอนต์โกเมอรีในการกำกับหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวการเดินทางของกลุ่มสิงห์มอเตอร์ไซค์ขณะที่พวกเขาแวะพักที่เมืองเล็กแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของสหรัฐก่อนจะเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งรถที่เดย์โตนา

The Loveless เป็นการสำรวจความอีโรติกของยุคทศวรรษ 1950 โดยมองผ่านสายตาของทศวรรษ 1980 และเป็นการคารวะหนังเรื่อง The Wild One (1953, ลาซโล เบเนเดค) ที่อำนวยการสร้างโดยสแตนลีย์ เครเมอร์ และนำแสดงโดยมาร์ลอน แบรนโด อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างหนัง 2 เรื่องนี้ก็คือในขณะที่ The Wild One เน้นพล็อตเรื่องและการเล่าเรื่อง The Loveless กลับเน้นไปที่ซิป, แว่นกันแดด, ชุดหนัง , ดนตรีประกอบของโรเบิร์ต กอร์ดอนที่กรุ่นไปด้วยอารมณ์เพศ และ “บรรยากาศ” ของทศวรรษนั้น

นักวิจารณ์บางคนตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า The Loveless มีเพลงมากกว่าบทสนทนาถึง 5 เท่า และฝีมือการถ่ายภาพของดอยล์ สมิธ (Widow’s Kiss) ในเรื่องนี้ก็น่าตื่นตะลึงมาก โดยภาพในหนังเรื่องนี้มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับภาพวาดของเอ็ดเวิร์ด ฮ็อปเปอร์ในทศวรรษ 1950 (หนังของวิม เวนเดอร์ส อย่าง The End of Violence ก็มีการจัดภาพให้ดูคล้ายงานจิตรกรรมของเอ็ดเวิร์ด ฮ็อปเปอร์เช่นกัน)

3.Strange Days (1995)

หนังเรื่องนี้เป็นหนังเกี่ยวกับโลกอนาคตเหมือน Born in Flames แต่เปลี่ยนจากการใช้ฉากหลังในนิวยอร์คมาเป็นลอสแองเจลิส และพูดถึงความขัดแย้งด้านสีผิวมากกว่าความขัดแย้งระหว่างเพศ โดยพระเอกของเรื่องนี้คือเลนนี นีโร (เรล์ฟ ไฟน์ส จาก Spider) ที่ทำอาชีพขายคลิปบันทึกประสบการณ์จริงของมนุษย์ โดยคลิปนี้อัดผ่านทางประสาทสัมผัสในสมองของผู้ประสบเหตุการณ์

เจมส์ คาเมรอนร่วมอำนวยการสร้างและเขียนบทหนังเรื่องนี้

จุดหนึ่งที่ดิฉันชอบมากใน Strange Days คือบทของแองเจลา บาสเซทท์ ค่ะ เธอรับบทเป็น “เมซ” ผู้หญิงที่เท่มากๆในเรื่องนี้ เธอเป็นผู้หญิงมาดห้าวกร้าวแกร่งที่หลงรักเล่นนี นีโรเพียงข้างเดียว และเธอสามารถบู๊ต่อสู้กับผู้ร้ายด้วยมือเปล่าเพื่อช่วยเหลือพระเอกได้ด้วย นอกจากนี้ เธอยังรับบทเป็นแม่ที่เลี้ยงลูกตามลำพังอีกต่างหาก

4.Blue Steel (1989)

ไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดที่บิเกโลว์สร้างหนึ่งในสุดยอดตัวละครหญิงห้าวอย่างเมซใน Strange Days ขึ้นมาได้ เพราะก่อนหน้านั้นเธอเคยสร้างหนึ่งในตัวละครตำรวจหญิงที่น่าสนใจมากๆมาแล้วในหนังเรื่องนี้ โดยในเรื่องนี้เจมี ลี เคอร์ติส จาก Halloween มารับบทเป็นเมแกน เทอร์เนอร์ ตำรวจหน้าใหม่ในนิวยอร์คที่ยิงคนปล้นซุปเปอร์มาร์เก็ตตายในวันแรกที่เธอปฏิบัติงาน และนั่นส่งผลให้เธอถูกสั่งพักงานเพราะคนอื่นๆไม่เชื่อว่าโจรคนนั้นมีปืน

เมแกนเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ฆาตกรรมลึกลับในเวลาต่อมา เนื่องจากมีฆาตกรต่อเนื่องออกอาละวาดฆ่าคนโดยใช้กระสุนที่ยิงจากปืนของเมแกนและสลักชื่อของเมแกนไว้ที่กระสุน นอกจากนี้ เมแกนยังเข้าไปพัวพันกับยูจีน ฮันท์ (รอน ซิลเวอร์) โบรกเกอร์หนุ่มน่ารักที่สนใจในตัวเธอ แต่เขาก็เป็นผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งด้วยเหมือนกัน

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดิฉันชอบบทตำรวจหญิงในหนังเรื่องนี้เป็นเพราะเธอไม่ได้ดูเซ็กซี่จนน่าอิจฉาเมื่อเทียบกับบทตำรวจหรือนักสืบหญิงอีกหลายคนในหนังฮอลลีวู้ด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับบทของแองเจลินา โจลีใน Taking Lives (2004, ดี.เจ. คารูโซ), บทของแอชลีย์ จัดด์ใน Twisted (2004, ฟิลิป คอฟแมน) หรือแม้แต่บทของเจนนิเฟอร์ เอสโปซิโต ใน Don’t Say a Word (2001, แกรี เฟลเดอร์)


ตัวละครตำรวจหรือนักสืบหญิงที่ดิฉันชื่นชอบ

นอกจากบทตำรวจหญิงใน Blue Steel แล้ว บทตำรวจหญิงที่ดิฉันชอบมากๆยังรวมถึง

1.บทของสเตฟานี เครเมอร์ ในละครโทรทัศน์ชุด Hunter (1984-1990)
http://images.amazon.com/images/P/B000BO0KLO.01.LZZZZZZZ.jpg

2.บทของฮอลลี ฮันเตอร์ ในหนังฆาตกรโรคจิตเรื่อง Copycat (1995, จอน อาเมียล)

3.บทของลินด์เซย์ เคราส์ ใน Desperate Hours (1990, ไมเคิล ชิมิโน)

หนังเรื่องนี้ดัดแปลงจากหนังเรื่อง The Desperate Hours (1955, วิลเลียม ไวเลอร์) ที่ดัดแปลงมาจากละครบรอดเวย์อีกทอดหนึ่ง โดยในเรื่องนี้ตำรวจหญิงต้องพยายามแก้ไขสถานการณ์ที่ผู้ร้ายหนุ่ม 3 คนจับครอบครัวหนึ่งเป็นตัวประกัน โดยนอกจากลินด์เซย์ เคราส์แล้ว มิมี โรเจอร์ส ในบทของตัวประกัน และเคลลี ลินช์ในบทของผู้ช่วยผู้ร้ายก็ช่วยสร้างสีสันให้กับหนังได้เป็นอย่างมาก

THE DESPERATE HOURS (1955)
http://images.amazon.com/images/P/B00008Z44E.01.LZZZZZZZ.jpg

4.บทของวาเลอเรีย บรูนี-เตเดสกี ใน The Colour of Lies (1998, คล็อด ชาโบรล)

บทตำรวจหญิงนี้ค่อนข้างแตกต่างจาก 3 บทข้างต้น เพราะตำรวจหญิงคนนี้ไม่ค่อยห้าวและกร้าวเหมือนบทตำรวจหญิงคนอื่นๆ แต่ดูมีความเป็นผู้หญิงอยู่ในตัวมากพอสมควร แต่ก็ไม่ถึงขั้นสวยเซ็กซี่แบบโจลีหรือจัดด์ ตำรวจหญิงคนนี้ดูค่อนข้างสงบสุขุม, ใจเย็น, คิดลึก และสามารถวางอำนาจได้โดยไม่ต้องแผดเสียงแว้ด อย่างไรก็ดี บทนี้ไม่ใช่บทนางเอกของเรื่อง เพราะนางเอกของเรื่องคือซองดรีน บอนแนร์

ในเรื่องนี้ ตำรวจหญิงต้องมาสอบสวนคดีฆาตกรรมเด็กนักเรียนหญิงในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นเบรตองของฝรั่งเศส โดยผู้ต้องสงสัยในคดีนี้มีอยู่ 3 คน ซึ่งก็คือครูสอนศิลปะ (ฌาคส์ แกมบลิน จาก Holy Lola) ที่พบนักเรียนหญิงคนนี้เป็นคนสุดท้าย, ภรรยาของครู (บอนแนร์) ซึ่งพยายามปกป้องสามีจนเกือบปะทะกับตำรวจหญิงอย่างรุนแรง แต่ภรรยาคนนี้ก็เคยนอกใจสามีด้วยเช่นกัน ส่วนผู้ต้องสงสัยคนที่สามคือนักแต่งนิยาย (อังตวน เดอ กอเนส์) ที่เป็นคนดังในเมืองนี้

ฉากที่บรูนี-เตเดสกี มาสอบสวนบอนแนร์ขณะบอนแนร์รีดผ้าเป็นฉากที่ทำให้ดิฉันหายใจไม่ทั่วท้องเลยค่ะ ดิฉันต้องเกาะขอบเก้าอี้ไว้แน่น เพราะรู้สึกลุ้นระทึกและหวาดกลัวอย่างมากในฉากนี้ สิ่งที่ทำให้ดิฉันกลัวมากในฉากนี้ก็คือสีหน้าของบอนแนร์ค่ะ สีหน้าของเธอทำให้ดิฉันจินตนาการไปว่าเธออาจจะควบคุมอารมณ์ไม่อยู่จนตัดสินใจหยิบเตารีดขึ้นมาต่อสู้กับบรูนี-เตเดสกี

5.บทเอฟบีไอของเดบรา วิงเกอร์ใน Betrayed (1988, คอสตา-กาฟราส)

หนังเรื่องนี้มีเออร์วิน วิงค์เลอร์เป็นผู้อำนวยการสร้าง และมีโจ เอซเตอร์ฮาส (Jagged Edge, Basic Instinct, Jade) เป็นผู้เขียนบท โดยในเรื่องนี้วิงเกอร์รับบทเป็นเอฟบีไอที่ไปสืบคดีฆาตกรรมดีเจวิทยุโดยฝีมือของกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด เธอได้พบกับเกษตรกรหนุ่มพ่อม่าย (ทอม เบอเรนเจอร์) ที่รักครอบครัวและใช้ชีวิตอย่างสะอาดสะอ้าน เธอตกหลุมรักและยอมเป็นแฟนกับเขา แต่กว่าเธอจะรู้ความจริงว่าเขาเป็นสมาชิกกลุ่มฆาตกรใจเหี้ยมที่ชอบจับคนผิวดำมาฆ่าแกง เธอก็ไม่อาจถอนตัวจากคดีนี้ได้เสียแล้ว

ดิฉันตกหลุมรักวิงเกอร์จากบทนี้นี่แหละค่ะ บทนี้เป็นบทของผู้หญิงที่ตกหลุมรักฆาตกรใจโหด และสับสนว่าตัวเองควรจะเลือกระหว่างรักเขาหรือฆ่าเขา นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังนำเสนอภาพประชาชนของประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างน่าสยดสยองพองขนมาก ดิฉันได้ดูหนังเรื่องนี้ที่มาบุญครองตอนที่ตัวเองอยู่ม.4 ก่อนหน้านั้นดิฉันนึกว่าการเหยียดผิวได้หมดไปแล้ว แต่พอดู Betrayed เสร็จ ดิฉันเดินออกมาจากโรงหนังพร้อมกับทัศนคติที่มีต่อโลกมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง Betrayed ทำให้ดิฉันตื่นขึ้นมาจากโลกแห่งความฝันและเปิดเปลือกตาออกรับรู้โลกแห่งความเป็นจริงที่ตรงข้ามกับความฝันราวหน้ามือกับหลังเท้า

เดบรา วิงเกอร์ ซึ่งเกิดปี 1955 เป็นดาราหญิงที่เคยมีงานชุกในทศวรรษ 1980 และต้น 1990 แต่พอเธออายุมากขึ้นเรื่อยๆ เธอก็เริ่มหาบทดีๆแสดงได้ยากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเธอมีอายุย่างเข้า 40 ปี ทั้งนี้ ความล้มเหลวในการหางานดีๆทำของเดบรา วิงเกอร์เป็นแรงบันดาลใจให้โรแซนนา อาร์เควทท์ (After Hours) กำกับหนังสารคดีเรื่อง Searching for Debra Winger (2002) โดยหนังสารคดีเรื่องนี้ตีแผ่ความโหดร้ายของฮอลลีวู้ดที่กระทำต่อดาราหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

วิงเกอร์เคยเป็นภรรยาของทิโมธี ฮัตตัน (Ordinary People) หนึ่งในดาราหนุ่มที่น่ารักที่สุดในทศวรรษ 1980 ในความเห็นส่วนตัวของดิฉัน โดยเธอใช้ชีวิตสมรสร่วมกับเขาระหว่างปี 1986-1990 เธอเคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ 3 ครั้งจาก An Officer and a Gentleman (1982, เทย์เลอร์ แฮคฟอร์ด), Terms of Endearment (1983, เจมส์ แอล บรูคส์) และ Shadowlands (1993, ริชาร์ด แอทเทนเบอโรห์)

บทบาทการแสดงของเธออีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะพอนำมาเทียบเคียงกับ Betrayed ได้ก็คือบทใน Black Widow (1987, บ็อบ ราเฟลสัน, ถ่ายภาพโดยคอนราด ฮอลล์) โดยในเรื่องนี้วิงเกอร์รับบทเป็นผู้หญิงที่บ้างานในกระทรวงยุติธรรม เธอค้นพบเงื่อนงำเบาะแสที่น่าสงสัยเกี่ยวกับการตายของชายที่ร่ำรวยหลายคน โดยเธอสงสัยว่าชายเหล่านี้แต่งงานกับผู้หญิงคนเดียวกัน (เธเรซ่า รัสเซลล์) เพียงแต่ว่าผู้หญิงคนนี้เปลี่ยนรูปพรรณของตัวเองไปเรื่อยๆ ดังนั้นเธอจึงออกตามล่าหาตัวฆาตกรโรคจิตหญิงคนนี้ด้วยตัวเอง แต่ในระหว่างที่เธอออกตามล่านี้ เธอก็ได้เรียนรู้เรื่องวิธีการแต่งตัวและเรียนรู้ที่จะสนุกกับการร่วมรักกับผู้ชายไปด้วย

BLACK WIDOW
http://images.amazon.com/images/P/B00013RC66.01.LZZZZZZZ.jpg

ผลงานการแสดงที่น่าสนใจสุดๆของวิงเกอร์ที่ดิฉันยังไม่ได้ดูคือในหนังเรื่อง Everybody Wins (1990, คาเรล ไรส์) ซึ่งเธอรับบทเป็นตัวละครแนว femme fatale ชื่อแองเจลา คริสปินี ตัวละครตัวนี้เป็นโสเภณีโรคจิตจากเมืองเล็กที่พยายามสนับสนุนให้นักสืบเอกชนชื่อทอม โอ’ทูล (นิค โนลเต) ค้นหาความจริงเกี่ยวกับคดีที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นฆาตกร

Everybody Wis สำรวจความสัมพันธ์แบบประนีประนอมพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคู่รักและระหว่างตำรวจ, ผู้พิพากษา กับอาชญากร โดยนักวิจารณ์นำหนังเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับ Chinatown (1974, โรมัน โปลันสกี), Twin Peaks (เดวิด ลินช์) และบทประพันธ์ของแดชเชียล แฮมเมทท์ (The Maltese Falcon)

Everybody Wins สร้างจากบทภาพยนตร์เรื่องแรกของอาร์เธอร์ มิลเลอร์ นับตั้งแต่ The Misfits (1960, จอห์น ฮุสตัน) เป็นต้นมา และดัดแปลงมาจากบทละครเวทีของเขาเองที่มีชื่อว่า Some Kind of Love Story ซึ่งเป็นละครองก์เดียว โดยหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าบทละครเวทีเรื่องนี้อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตสมรสของมิลเลอร์กับมาริลิน มอนโร

EVERYBODY WINS (1990, KAREL REISZ)
http://images.amazon.com/images/P/B000BMY2MY.01.LZZZZZZZ.jpg

หลังจาก Betrayed คอสตา-กาฟราสก็ได้กำกับหนังเรื่อง Music Box (1989) ที่นำแสดงโดยเจสสิกา แลงจ์ โดยในเรื่องนี้แลงจ์รับบทเป็นทนายความที่ว่าความให้กับพ่อของตัวเอง (อาร์มิน มุลเลอร์-ชตาห์ล จาก The Wounded Man) เนื่องจากพ่อของเธอถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการฆ่าและทรมานประชาชนในฮังการีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ดิฉันชอบ Music Box อย่างรุนแรงมากค่ะ หนังเรื่องนี้พูดถึงประเด็นเรื่องความสัมพันธ์พ่อ-ลูกได้อย่างตรงใจดิฉันมากๆ

No comments: