15.Office Killer (1997, ซินดี้ เชอร์แมน)
Office Killer เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของซินดี เชอร์แมน ซึ่งเคยมีชื่อเสียงด้านการถ่ายภาพนิ่ง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับดอรีน ดักลาส (แครอล เคน ซึ่งเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยมในปี 1975 จาก Hester Street) หญิงสาวท่าทางซื่อๆที่สวมแว่นตาหนาเตอะและชอบใส่เสื้อผ้าล้าสมัย เธอชอบพูดจาด้วยท่าทางที่คล้ายกับหุ่นยนต์ และทำงานในนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งมานานกว่า 10 ปีโดยนิตยสารนี้อยู่ในระหว่างการปรับลดขนาดกิจการ ดอรีนอาศัยอยู่กับแม่และแมวตัวหนึ่งที่มีท่าทางชั่วร้าย เธอต้องการจะย้ายออกไปอยู่ตัวคนเดียวเพื่อจะได้เป็นอิสระจากแม่ของเธอ ทั้งนี้ นอกจากชีวิตที่บ้านของดอรีนจะไม่ค่อยมีความสุขแล้ว ชีวิตการทำงานของเธอก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันนัก เนื่องจากเพื่อนร่วมงานของดอรีนมักทำเหมือนดอรีนเป็นตัวตลกประจำสำนักงาน พวกเขามองว่าดอรีนคล้ายกับคนปัญญาอ่อน, ไม่มีความเป็นมนุษย์, ไม่มีความเป็นผู้หญิง แต่ยังคงมีประโยชน์ต่อสำนักงาน เพื่อนร่วมงานของดอรีนคือหญิงสาว 3 คนที่ชอบแต่งตัวหรูหราและชอบแก่งแย่งแข่งขันกัน ซึ่งได้แก่นอราห์ รีด (จีนน์ ทริเปิลฮอร์น จาก Basic Instinct), คิม พูล (มอลลี ริงวอลด์ จาก Pretty in Pink) และเวอร์จิเนีย วินเกท (บาร์บารา ซูโควา จาก Zentropa และ Berlin Alexanderplatz) โดยวินเกทนั้นป่วยเป็นโรคหอบหืดและต้องใช้เครื่องฉีดพ่นจมูกเป็นประจำ บุคลิกภาพของดอรีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างกะทันหันในวันหนึ่งโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า โดยในคืนหนึ่งที่เธอทำงานอยู่ในสำนักงาน คอมพิวเตอร์ของเธอเกิดเสียและเธอตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากแกรี ไมเคิลส์ (เดวิด ธอร์นตัน) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของเธอ อย่างไรก็ดี แกรีถูกไฟดูดขณะพยายามแก้สายไฟ แต่ดอรีนกลับตัดสินใจไม่เรียกรถพยาบาล เธอนำศพของแกรีขึ้นรถกลับไปไว้ที่บ้านของเธอเอง และหลังจากนั้นดอรีนก็กลายเป็นฆาตกรโรคจิตที่ฆ่าคนอื่นๆอีกมากมายโดยไร้สาเหตุ ทั้งนี้ คอนสแตนติน ซานตาส นักวิจารณ์ของ sensesofcinema.com กล่าวว่าแคโรล เคนแสดงเป็นดอรีนได้ดีมาก และฉากบางฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้ผู้ชมอย่างมากเช่นกัน นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแตกต่างจากภาพยนตร์แนวตื่นเต้น/ฆาตกรโรคจิตโดยทั่วไปในยุคนี้ แต่กลับมีลักษณะคล้ายคลึงภาพยนตร์ของอัลเฟรด ฮิทช์ค็อคในยุคก่อน ซานตาสยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่าการฆาตกรรมของดอรีนไม่ได้มีแรงจูงใจมาจากการแก้แค้น เพราะเธอฆ่าคนบางคนที่ไม่เคยมีเรื่องแค้นเคืองกับเธอมาก่อน นอกจากนี้ ซานตาสยังกล่าวอีกด้วยว่าภาพยนตร์ของซินดี เชอร์แมนเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งจินตนาการที่ยอดเยี่ยมเทียบเท่ากับบทประพันธ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เรื่อง Porphyria's Lover ของโรเบิร์ต บราวนิง และ Lygeia ของเอ็ดการ์ อัลลัน โป ซึ่งทั้งบราวนิงและโปนั้นต่างก็เป็นนักประพันธ์ที่เชี่ยวชาญในการเจาะลึกถึงจิตใจของ "คนบ้า" Office Killer เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเสือดาวทองคำในเทศกาลภาพยนตร์โลคาร์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือคริสติน วาชอน (Poison, Go Fish) และผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้คือทอม คาลิน ซึ่งเคยกำกับภาพยนตร์แนวฆาตกรรมเรื่อง Swoon
จริงๆแล้วดิฉันก็ไม่ได้ชอบ Office Killer ในระดับที่มากสุดขีดเหมือนหนังเรื่องอื่นๆในกลุ่มผู้หญิงใจโหด แต่ก็ชอบหนังเรื่องนี้มากพอประมาณเนื่องจากหนังเรื่องนี้นำเสนอฆาตกรโรคจิตหญิงในแบบที่ดิฉันถูกใจ
จุดที่ดิฉันชอบหรือคิดว่าน่าสนใจใน Office Killer รวมถึง
(1)บุคลิกของฆาตกรซึ่งดูเหมือนเป็นผู้หญิงเซื่องๆโง่ๆ ไร้น้ำยา ไม่มีพิษสงอะไร และไม่มีเสน่ห์ใดๆในทางเพศ ซึ่งจุดนี้ทำให้หนังเรื่องนี้ตรงข้ามกับหนังผู้หญิงกระหายเลือดประเภทที่พบบ่อยในทศวรรษ 1970 และทำให้นางเอกหนังเรื่องนี้แตกต่างจากตัวละครประเภท femme fatale ในหนังฟิล์มนัวร์
(2) การที่หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องส่วนใหญ่ผ่านทางมุมมองของฆาตกร ซึ่งส่งผลให้หนังเรื่องนี้แตกต่างจากหนังอีกหลายๆเรื่องที่มีฆาตกรโรคจิตหญิงเหมือนกัน เพราะหนังที่สร้างจากเรื่องแต่งหลายเรื่อง (ไม่รวมหนังที่สร้างจากเรื่องจริง) ที่มีฆาตกรโรคจิตเป็นผู้หญิง มักจะเฉลยตัวฆาตกรในช่วงท้ายเรื่อง หลังจากหลอกให้คนดูไขว้เขวมาโดยตลอดว่าฆาตกรตัวจริงอาจจะเป็นผู้ชาย กรณีนี้พบได้บ่อยมากในหนังสยองขวัญของดาริโอ อาร์เจนโต (ยกเว้น The Stendahl Syndrome ที่ไม่ค่อยปกปิดตัวฆาตกร) สิ่งที่ดิฉันชอบในหนังเรื่องนี้คือการที่หนังบอกคนดูตั้งแต่ต้นเรื่องว่าใครคือฆาตกร ซึ่งวิธีการแบบนี้มักจะพบในหนังที่มีฆาตกรโรคจิตเป็นผู้ชายอย่างเช่น Sombre (1998, ฟิลิปเป กรองดิเยอซ์), Henry: Portrait of a Serial Killer (1990, จอห์น แมคนอห์ตัน) และ American Psycho (2000, แมรี แฮร์รอน)
(3) การที่ผู้หญิงแร่ดๆบางคนรอดชีวิตในหนังเรื่องนี้ เพราะโดยปกติแล้วตัวละครผู้หญิงแร่ดๆมักจะตายก่อนตัวละครผู้หญิงเรียบร้อย ยกเว้นในกรณีหนังของคล็อด ชาโบรลที่ตัวละครผู้หญิงแร่ดๆเลวๆมักจะอายุยืนกว่าตัวละครผู้หญิงที่มีศีลธรรม
(4) ดิฉันชอบบุคลิกของตัวประกอบหญิงหลายคนในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะมอลลี ริงวอลด์ และดิฉันก็ชอบที่หนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงานด้วย ดิฉันชอบหนังหรือละครที่มีผู้หญิงมาดแรงๆตบตีกันในที่ทำงานแบบนี้ค่ะ และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดิฉันชอบละครโทรทัศน์ชุด Melrose Place (1992-1999) อย่างมากๆ เพราะ Melrose Place เต็มไปด้วยตัวละครหญิงที่มีอิทธิฤทธิ์สูงที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงทั้งในเรื่องตำแหน่งงานและในเรื่องการแย่งผัว
ภาพยนตร์เกี่ยวกับฆาตกรโรคจิตหญิงที่อาจจะพอนำมาดูควบคู่กับ Office Killer ได้ก็คือ The Witch Who Came from the Sea (1976, แมทท์ ซิมเบอร์) โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับมอลลี (มิลลี เพอร์กินส์ จาก The Shooting) บริกรหญิงที่ถูกหลอกหลอนจากการที่เธอเคยถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก และในที่สุดเธอก็กลายเป็นบ้าและกลายเป็นนักฆ่าหั่นอวัยวะผู้ชาย
http://images.amazon.com/images/P/B00068S3K0.01.LZZZZZZZ.jpg
ภาพยนตร์เรื่อง The Fourth Man (1984, พอล เวอร์โฮเวน) ก็นำเสนอตัวละครหญิงที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเคยฆ่าผู้ชายมาหลายคนเช่นกัน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องจากมุมมองของตัวละครเกย์เพศชาย (เจอโรน คราบเบ) ที่เคลือบแคลงสงสัยในตัวผู้หญิงคนนี้ (เรเน่ ซูเทนด์จิค)
สรุป
1.ในบรรดาหนัง 15 เรื่องที่ยกมานี้ ตัวละครที่ดิฉันคิดว่าโหดร้ายอำมหิตเลือดเย็นที่สุดก็คือนางเอก “เพลิงพ่าย” ค่ะ เพราะคนที่เธอฆ่ารวมถึงคนบริสุทธิ์ที่ไม่มีความผิดแต่อย่างใด ส่วนตัวละครที่โหดร้ายเป็นอันดับสองคือนางเอก The Bride Wore Black เพราะวิธีการฆ่าบางวิธีของเธอน่ากลัวมาก เหยื่อบางคนของเธอไม่ได้ถูกทำให้ตายในทันที แต่อาจจะทุกข์ทรมานนานหลายนาทีก่อนตาย และเหยื่อของเธอก็ดูเหมือนไม่ได้ทำความผิดจนถึงขั้นที่ควรจะพบกับจุดจบเช่นนั้นด้วย ส่วนอันดับ 3 ด้านความโหดดิฉันขอยกให้กับกีเชอ นางเอก Bremen Freedom ค่ะ เพราะเหยื่อหลายคนของเธอก็ไม่สมควรตายเช่นกัน จริงๆแล้วเหยื่อของผู้หญิงคนอื่นๆก็ไม่สมควรตายเหมือนกันค่ะ เพียงแต่ว่ากีเชอฆ่าคนตายไปเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าเธอโหดกว่าคนอื่นๆ
2.อย่างไรก็ดี หากมองตัวละครหญิงเหล่านี้ในด้านความน่าสงสาร ดิฉันก็รู้สึกว่านางเอก Monster ดูน่าสงสารมากที่สุดค่ะ ส่วนอันดับสองตกเป็นของกีเชอ จาก Bremen Freedom เพราะถึงแม้กีเชอตัวจริงอาจจะไม่น่าสงสาร แต่ฟาสบินเดอร์สามารถใช้เพลงประกอบ, การแสดง และองค์ประกอบต่างๆทางภาพยนตร์ในการทำให้ “ตัวละครกีเชอ” ในหนังของเขาดูน่าสงสารมากๆได้ ส่วนอันดับ 3 ดิฉันขอยกให้กับคู่แม่และลูกสาวใน “เมืองในหมอก” ค่ะ เพราะถึงแม้สิ่งที่พวกเธอทำจะชั่วร้ายเลวทราม แต่สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเธอเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเพราะว่าพวกเธอเคยตกเป็นเหยื่อของความชั่วร้ายเลวทรามมาก่อนเช่นกัน
3.ตัวละครผู้หญิงบางคนในกลุ่มนี้ “ดูเหมือนว่า” จะกระทำเรื่องเลวร้ายเพราะสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากแรงกดดันที่ได้รับจากสังคม, สิ่งแวดล้อม หรือคนรอบข้าง ซึ่งตัวละครในกลุ่มนี้ได้แก่นางเอกหนังเรื่อง Bremen Freedom, Monster, “Sister, My Sister” และ Office Killer และปัจจัยนี้ทำให้ตัวละครเหล่านี้ดูน่าเห็นใจในบางครั้ง
4.ตัวละครหญิงบางคนกระทำเรื่องเลวร้ายเพราะหลงเชื่อค่านิยมผิดๆในสังคมและมีความทะเยอทะยานมากเกินไป ซึ่งตัวละครในกลุ่มนี้คือนางเอก To Die For และ The Positively True Adventures of the Alleged Texas Cheerleader-Murdering Mom
5.สาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้ตัวละครหญิงบางคนทำเลวมาจาก “ชะตากรรมที่เลวร้าย” ของตัวละครหญิงคนนั้น ตัวละครในกลุ่มนี้รวมถึงนางเอก “เพลิงพ่าย” ที่หน้าเสียโฉมมาแต่กำเนิด, นางเอก Monster และนางเอก “เมืองในหมอก” ที่เคยตกเป็นเหยื่อผู้ชายเลวๆ รวมทั้งนางเอก The Bride Wore Black ที่ดวงซวยมากๆ
6.ตัวละครหญิงบางคนทำเลวโดยไม่สามารถหาเหตุผลใดๆมาเป็นข้อแก้ตัวได้ ซึ่งตัวละครที่เด่นชัดที่สุดในกลุ่มนี้ก็คือ “อีฟ” จาก Master of the Game ที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมอยู่แล้วในชีวิต
ส่วนหนังผู้ชายใจโหดที่ดิฉันชอบมากที่สุดในชีวิตก็คือ Sombre ค่ะ อ่านข้อมูลเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ได้ในหนังสือ “ฟิล์มไวรัส 2”
หนังกลุ่มคุณป้า (ใจสะท้าน)
นอกจากเชอร์ลีย์ วาเลนไทน์ จะเข้าข่ายผู้หญิงทิ้งผัวแล้ว เชอร์ลีย์ วาเลนไทน์ ยังเข้าข่ายตัวละครหญิงอีกกลุ่มนึงที่ดิฉันชอบมากๆค่ะ นั่นก็คือตัวละครหญิงสูงวัย ซึ่งรวมทั้งหญิงวัยกลางคนและหญิงวัยชรา ถ้าหากหนังเรื่องไหนนำเสนอนางเอกที่มีอายุมากๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ดิฉันจะชอบหนังเรื่องนั้นอย่างมากๆค่ะ
หนังกลุ่มหญิงสูงวัยใจสะท้านที่ดิฉันชอบมากๆ รวมถึงเรื่อง
1.No Place to Go (2000, ออสการ์ โรห์เลอร์)
หนังเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับจิเซลา เอลส์เนอร์ นักเขียนชื่อดังที่ฆ่าตัวตายในปี 1992 โดยเรื่องราวชีวิตของเอลส์เนอร์ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นตัวละครชื่อฮันนา แฟลนเดอร์สในภาพยนตร์เรื่องนี้ No Place to Go กำกับโดยออสการ์ โรห์เลอร์ ซึ่งเป็นลูกชายของเอลส์เนอร์เอง โดยก่อนหน้านี้โรห์เลอร์เคยได้รับรางวัลมาแล้วจากภาพยนตร์แนวดรามาเรื่อง Silvester Countdown ในปี 1997 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของโรห์เลอร์ในนครเบอร์ลิน ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ฮันนา แฟลนเดอร์ส (ฮันเนอลอเร เอลส์เนอร์) เป็นนักเขียนที่เคยโด่งดังมากในทศวรรษ 1960 และเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันตกด้วย เธอเชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างมากและรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงเมื่อกำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี 1989 โดยเธอเคยคิดว่าระบบการเมืองและสังคมของเยอรมันตะวันออกเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม แต่ตอนนี้เธอกลับพบว่าสิ่งที่เธอเคยเทิดทูนนั้นแท้ที่จริงแล้วคือฝันร้ายที่ชาวเยอรมันตะวันออกต้องการหลบหนี ในขณะที่ชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากเต็มใจเปิดรับระบบทุนนิยมและสินค้าใหม่ๆที่มีให้เลือกซื้ออย่างหลากหลายนั้น แฟลนเดอร์สกลับตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองมิวนิคไปที่นครเบอร์ลิน ต่อมาเธอขอพำนักอาศัยอยู่ในแฟลตของชายผู้หนึ่ง (ไมเคิล กวิสเดค) ที่เคยตีพิมพ์หนังสือให้เธอในเยอรมันตะวันออก แต่เขากลับไม่เต็มใจต้อนรับเธอเท่าใดนัก โดยเฉพาะในช่วงที่หนังสือของเธอไม่สามารถทำยอดขายได้ดีอีกต่อไป หลังจากแฟลนเดอร์สพบว่าเธอไม่ได้รับการต้อนรับในเบอร์ลิน เธอจึงขอไปพำนักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ผู้ร่ำรวยของเธอในนูเรมเบิร์ก แต่เธอกลับพบว่าแม่ของเธอ (เฮลกา โกห์ริง) มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับเธออย่างโจ่งแจ้ง ในขณะที่พ่อของเธอ (ชาร์ลส์ เรกนิเยร์) รู้สึกสงสารเธอแต่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือเธอได้ และลูกชายของเธอ (ลาร์ส รูดอล์ฟ) ก็มีท่าทีเหินห่างจากเธอเช่นกัน แฟลนเดอร์สทิ้งสามีและลูกชายของตัวเองไปตั้งแต่ลูกชายของเธอมีอายุ 3 ขวบ โดยเธอให้เหตุผลว่า "สามีและลูกของฉันรบกวนฉันในเวลาทำงาน" อย่างไรก็ดี รอน ฮอลโลเวย์ นักวิจารณ์รายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกคู่นี้ไม่ราบรื่น แต่โรห์เลอร์ก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของแม่ออกมาเป็นภาพยนตร์ด้วยความรัก, ด้วยความเข้าใจ และด้วยความรู้สึกให้อภัย แฟลนเดอร์สได้พบกับบรูโน (วาดิม โกลว์นา) อดีตสามีของเธอโดยบังเอิญ โดยบรูโนยังคงพร่ำรำพันถึงยุคสมัยเก่าๆที่เต็มไปด้วยการก่อการร้ายในเยอรมนี และเขากับแฟลนเดอร์สก็มีความสัมพันธ์ทางเพศกันอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นเขากลับกล่าววิพากษ์วิจารณ์เธออย่างโหดร้ายและดื่มสุราจนเมามาย แคโรลีน เอ็ม. บัค นักวิจารณ์รายหนึ่งกล่าวว่าฉากที่น่าสนใจที่สุดฉากหนึ่งในเรื่องนี้คือฉากที่หญิงชายวัยกลางคนคู่นี้พบกันท่ามกลางความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวสิ้นหวัง โดยฉากนี้แสดงให้เห็นทั้งความหวังที่บริสุทธิ์ที่สุดและความเกลียดชังตัวเองไปด้วยในขณะเดียวกัน นอกจากนี้ ฉากที่ทั้งคู่เปลือยกายอยู่บนเตียงยังถือเป็นฉากที่ให้อารมณ์รุนแรงที่สุดในวงการภาพยนตร์เยอรมันในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา The Untouchable (No Place to Go) ถ่ายทำเป็นฟิล์มขาวดำโดยฝีมือการถ่ายภาพของฮาเกน บอกดานสกี โดยบัคกล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการถ่ายภาพที่งดงามมากและสามารถแสดงให้เห็นถึงความใฝ่ฝันทางการเมือง, ความผิดพลาด และการล่มสลายของคนรุ่นพ่อแม่ของโรห์เลอร์ได้อย่างยอดเยี่ยม
2.Wittstock, Wttstock (1997, โวลเกอร์ โคเอปป์)
หนังสารคดีเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตผู้หญิง 3 คนในเยอรมันตะวันออก
3.I Sent a Letter to My Love (1981, โมเช มิซราฮี)
ซีโมน ซินยอเรต์รับบทเป็นผู้หญิงที่ส่งจดหมายรักไปหาพี่ชายตัวเอง (ฌอง โรชฟอร์ท จาก Birgit Haas Must Be Killed) ที่เป็นอัมพาต โดยมีเดลฟีน ซีริก (Last Year at Marienbad) รับบทเป็นสาวแก่ที่เป็นเพื่อนของพี่น้องคู่นี้ หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายของเบอร์นิซ รูเบนส์ โดยมีเจอราร์ด บราคเป็นคนเขียนบท
4.Live-In Maid (2004, โฮร์เก กากเกโร)
สาวสังคมคนหนึ่ง (นอร์มา อาเลนอานโดร จาก The Official Story) ล้มละลายไปพร้อมกับเศรษฐกิจอาร์เจนตินา แต่เธอยังคงต้องการจ้างแม่บ้านวัยกลางคน (นอร์มา อาร์เจนตินา) เอาไว้เพื่อรักษาหน้าของตัวเอง
การแสดงของดาราหญิงรุ่นคุณป้า 2 คนในหนังเรื่องนี้สุดยอดมาก โดยตัวสาวใช้ไม่ค่อยแสดงออกอะไรมากนัก แต่คนดูก็สัมผัสได้ถึงความเป็นห่วงเป็นใยผสมกับความลำบากใจที่เธอมีต่อเจ้านายได้เป็นอย่างดี ส่วนทางด้านนอร์มา อาเลอานโดรนั้นก็แสดงฉากกินข้าวฉากหนึ่งในเรื่องนี้ได้อย่างปิ้มว่าจะขาดใจ
5.Swann (1996, แอนนา เบนสัน ไกล์ส)
เบรนดา ฟริคเกอร์ (My Left Foot) แสดงได้อย่างยอดเยี่ยมสุดๆในบทของบรรณารักษ์สาวแก่ในชนบทรัฐออนตาริโอของแคนาดา เธอทำหน้าที่ดูแลรักษาของที่ระลึกของกวีหญิงคนหนึ่งที่ถูกสามีฆ่าตาย และเธอก็ได้พบกับนักเขียนหญิงชื่อดัง (มิแรนดา ริชาร์ดสัน) ที่ต้องการทำวิจัยเกี่ยวกับกวีคนนี้
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายของแคโรล ชีลด์ส และมีตอนจบที่ซาบซึ้งประทับใจมาก
6.Gloria (1980, จอห์น แคสซาเวทีส)
เด็กชายคนหนึ่งพบว่าครอบครัวของเขาถูกมาเฟียฆ่าตายหมดทั้งครอบครัว และทางเดียวที่เขาจะรอดชีวิตจากการถูกมาเฟียฆ่าปิดปากก็คือการขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านสาวแก่ (จีน่า โรว์แลนด์ส)
โรว์แลนด์สวมมาดนางสิงห์ปืนไวได้อย่างน่าเกรงขามมากในเรื่องนี้ แต่เธอก็ไม่ได้แสดงเป็นซูเปอร์วูแมนที่เหนือมนุษย์มนา เพราะถึงแม้ว่าเธอจะรับมือกับผู้ร้ายได้อย่างที่ผู้ชมไม่คาดฝัน ตัวละครที่เธอแสดงก็ยังคงมีความเป็นมนุษย์สูงมาก โดยจะเห็นได้ชัดจากริ้วรอยแห่งความวิตกกังวลบนใบหน้าของเธอ
หนังเรื่องนี้มีส่วนคล้าย Leon (1994, ลุค เบสซง) และมีอิทธิพลต่อ Chungking Express (1994, หว่อง คาร์-ไว) ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของหลินชิงเสียและเรื่องที่หลินชิงเสียไปลักพาตัวเด็กคนหนึ่ง
Monday, May 01, 2006
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment