Sunday, March 13, 2016

HALF-UNDER (2016, Paspawisa Jiwapattanakul, stage play, A+20)

HALF-UNDER (2016, Paspawisa Jiwapattanakul, stage play, A+20)
ฝัน-รู้ตัว (ภัสสร์ภวิศา จิวพัฒนกุล)

1.ชอบโครงสร้างการเล่าเรื่องและไอเดียของละครเรื่องนี้อย่างสุดๆ แต่อาจจะไม่ได้ชอบละครโดยรวมอย่างสุดๆ เพราะเราว่าอารมณ์มันยังติดๆขัดๆหรือยัง “เกลี่ยอารมณ์ได้ไม่เนียน” หรืออารมณ์ไม่พีคเท่าที่ควรน่ะ แต่เราว่าถ้าหากมีการปรับแก้นิดๆหน่อยๆเพื่อให้อารมณ์มัน smooth กว่านี้ และมีการทำให้ตัวละครเป็นมนุษย์มากกว่านี้ มากกว่าเป็นแค่ “ไอเดีย” เราอาจจะชอบมันอย่างสุดๆก็ได้

2.จริงๆแล้วรู้สึกว่าละครเวทีเรื่องนี้กับ WALL (2015, Sirimas Yodsuwan, A+20) เป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพราะเราว่า WALL นำเสนอตัวละครได้เป็นมนุษย์มากๆ เค้นอารมณ์ตัวละครออกมาได้ดีมากๆ แต่ไม่ได้มีไอเดียสร้างสรรค์แบบ HALF-UNDER ส่วน HALF-UNDER มีไอเดียสร้างสรรค์น่าสนใจมาก แต่เราว่าการนำเสนอฉากบางฉากแบบสั้นๆเร็วๆมันช่วยในการ “เล่าเรื่อง” ได้ก็จริง แต่มันทำให้ตัวละครมันดูเป็นตัวละครยังไงไม่รู้ ไม่ได้ดูเป็นมนุษย์มากเท่า WALL

3.แต่ชอบไอเดียบางอย่างของ HALF-UNDER อย่างสุดๆ ทั้ง

3.1 โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบหนังเรื่อง SMOKING/NO SMOKING (1993, Alain Resnais, 298min, A+30) ที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตมนุษย์ในบาง moment มันมีทางเลือกต่างๆมากมาย คือใน moment A เราอาจจะไม่มีทางเลือก แต่ใน moment B เราอาจจะมีทางเลือกสองทาง เป็น B1 กับ B2 แล้วพอเราเลือก B1 ไปแล้ว เราอาจจะเจอทางเลือก C1 C2 C3 รออยู่ข้างหน้า แต่ถ้าหากเราเลือก B2 แทนที่จะเลือก B1 เราอาจจะตายห่าไปเลย และต่อมาถ้าหากเราเลือก C3 ไปแล้ว เราอาจจะเจอ D1 D2 D3 D4 D5 D6 รออยู่ข้างหน้า อะไรแบบนี้

คือเราชอบโครงสร้างหนังแบบที่แสดง possibilities ต่างๆมากมายแบบนี้น่ะ ซึ่งจริงๆแล้วมีหนังหลายเรื่องที่เล่าเรื่องแบบนี้ แต่เราว่าเรื่องที่ดีที่สุดในแนวทางนี้ก็คือ SMOKING/NO SMOKING

แต่การที่ SMOKING/NO SMOKING มันดีสุดในสายตาของเรา เพราะมันยาว 5 ชั่วโมงไง มันก็เลยสามารถนำเสนอได้ทั้งไอเดียเจ๋งๆ และนำเสนอตัวละครได้อย่างค่อนข้างเป็นมนุษย์ในแต่ละความเป็นไปได้ของแต่ละสถานการณ์ในขณะเดียวกัน

แต่หนังหรือละครเวทีที่เอาโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบนี้มาใช้ แต่ไม่ได้ยาว 5 ชั่วโมงแบบนั้น มันก็เลยมักจะนำเสนอได้แต่ไอเดีย แต่ไม่สามารถนำเสนอความเป็นมนุษย์ของตัวละครไปพร้อมกันได้ในขณะเดียวกันน่ะ ซึ่งตัวอย่างของหนังประเภทนี้ก็คือเรื่อง “เสี้ยวหนึ่งของความเป็นไปได้ทั้งหมดในการให้ แต่จะรับหรือไม่รับ ก็แล้วแต่พิจารณา” (2014, Nattawoot Nimitchaikosol, 3min, A+30) ซึ่งยาวเพียงแค่ 3 นาที แต่นำเสนอความเป็นไปได้ประมาณ 30 รูปแบบของเหตุการณ์ที่ชายหนุ่มคนหนึ่งยื่นของให้หญิงสาวคนหนึ่ง

และเราว่าเสน่ห์ของ HALF-UNDER มันอยู่ที่อารมณ์แบบมนุษย์ที่โผล่แพล็มขึ้นมาท่ามกลางโครงสร้างการเล่าเรื่องที่น่าสนใจนี้น่ะ โดยเฉพาะในฉาก HOW DEEP IS YOUR LOVE คือเราว่าฉากนี้พีคมากๆสำหรับเรา ชอบสุดๆเลย มันดูแล้วสะเทือนใจสุดๆที่แสดงให้เห็นว่า ถ้าหากเรายอมรับความจริงตามความเป็นจริง รู้จักตัวเองดีจริงๆตั้งแต่ตอนนั้น เราอาจจะมีความสุขไปนานแล้วก็ได้ ไม่ต้องมาใช้ชีวิตอย่างทรมานทรกรรมอยู่ซะตั้งนาน

คือเราว่าฉาก HOW DEEP IS YOUR LOVE นี่มันนำโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ possibilities มาผสานกับอารมณ์ความเป็นมนุษย์ของตัวละครได้ดีสุดๆเลยนะ แต่น่าเสียดายที่ละครมันดันไม่จบที่ฉากนี้ แต่มีอีกสองฉากถัดมา ซึ่งเราว่าไม่จำเป็น คือถ้าหากตัดสองฉากต่อมาทิ้งไป และจบเปรี้ยงไปเลยที่ฉาก HOW DEEP IS YOUR LOVE มันอาจจะลงตัวทางอารมณ์มากกว่า

สรุปก็คือ สำหรับเราแล้ว เราชอบโครงสร้างการเล่าเรื่องใน HALF-UNDER อย่างสุดๆ แต่เราก็คิดว่า ถ้าหากบางสถานการณ์มันถูกยืดให้ยาวขึ้น ตัวละครมันอาจจะดูเป็นมนุษย์มากขึ้นน่ะ แต่พอบางสถานการณ์มันถูกเล่าแบบรวบรัดเร็วๆ เราก็เลยได้แต่ไอเดียของสถานการณ์นั้น แต่ไม่ได้อารมณ์ของสถานการณ์นั้น อารมณ์ของละครโดยรวมมันก็เลยไม่พีคเท่าที่ควร ยกเว้นในฉาก HOW DEEP IS YOUR LOVE ที่เราว่าเจ๋งสุดๆ พีคมากๆ

3.2 ชอบที่เอาโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบ possibilities มาโยงกับนางเอกที่แยกไม่ออกว่าอะไรคือความฝัน อะไรคือความจริง

ซึ่งจริงๆแล้วอาจจะมีหนังที่เคยนำเสนอตัวละครนางเอกแบบนี้มาแล้วนะ อย่างเช่น SHATTERED IMAGE (1998, Raoul Ruiz) คือมันอาจจะมีหนังบางเรื่องที่นางเอกคิดว่าเหตุการณ์บางอย่างเป็นความจริง ทั้งที่จริงๆแล้วเธอแค่ฝันไป

แต่สิ่งที่พีคมากในละครเวทีเรื่องนี้ก็คือว่า มันมีบางฉากที่นางเอกคิดว่าตัวเองอยู่ในความฝัน เธอก็เลยตะปบผู้ชายอย่างรุนแรง แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่ความฝัน มันเป็นความจริง 555 เราชอบไอเดียนี้มากๆ ที่นางเอกทำตัวร่านๆเพราะนึกว่าตัวเองยังอยู่ในความฝันอยู่

3.3 ชอบไอเดียที่เอา possibilities ต่างๆของชีวิต + การแยกไม่ออกระหว่างความฝัน+ความจริง มาโยงกับ “การไม่เข้าใจตัวเอง” และ “การทำตัวตามกระแสสังคม” น่ะ

ซึ่งเราว่าไอเดียนี้มันดีมากๆเลยนะ เพราะมันทำให้ผู้ชมหลายๆคนโยงเข้ากับชีวิตตัวเองได้ เพราะเราว่าผู้ชม 99% แยกออกว่าอะไรคือความฝัน อะไรคือความจริง และไม่ได้มีอาการทางจิตรุนแรงแบบนางเอก แต่ผู้ชมหลายๆคนอาจจะไม่ได้ “ใช้ชีวิตโดยเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่” น่ะ เพราะปัจจัยสำคัญสองประการ ซึ่งก็คือ

3.3.1 เขายังไม่เข้าใจตัวเองดีพอ ต้องลองผิดลองถูก ลองทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยๆ แล้วถึงจะเข้าใจตัวเองดีพอว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆ หรือถนัดจะทำอะไรจริงๆ

3.3.2 เขาชอบทำตามกระแสสังคมไปเรื่อยๆ ทั้งๆที่มันไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบจริงๆ หรือเขาชอบทำตามสิ่งที่คนใกล้ตัวทำ สิ่งที่คนรักทำ สิ่งที่เพื่อนๆทำ สิ่งที่สังคมคาดหวังให้เขาทำ ทั้งๆที่มันไม่ใช่สิ่งที่เขาชอบจริงๆ

คือเหมือนละครเวทีเรื่องนี้ จะโยงการใช้ชีวิตแบบสองประเภทข้างต้น เข้ากับการใช้ชีวิตแบบสะลึมสะลือ เหมือนจะเปรียบเทียบ “การใช้ชีวิตแบบไม่เป็นตัวของตัวเองจริงๆ “ เข้ากับภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นในเรื่องนี้น่ะ ซึ่งเราว่ามันเป็นไอเดียที่น่าสนใจมากๆ ถึงแม้ว่าการ execute ไอเดียนี้ออกมาเป็นชีวิตตัวละคร อาจจะยังไปได้ไม่สุดก็ตาม

4.ชอบการจิกกัดตัวละครที่พยายามทำตามกระแสสังคมในเรื่องนี้มากๆ เราดูแล้วนึกถึงอารมณ์จิกกัดในหนังของ Woody Allen บางเรื่องน่ะ คือมันไม่ได้ดูถูกคนที่ pretentious หรือ wannabe อย่างรุนแรง แต่มันมองคนพวกนี้ด้วยอารมณ์เหน็บแนมขำๆ

5.ชอบวิธีการ treat ตัวละคร “เอิร์ธ” มากๆ ที่ตอนแรกมันก็ดูเป็นพวก wannabe, pretentious แต่ในแง่นึงมันก็อาจจะเป็นแค่จุดยืนของบางคนที่ต้องการรักษากึ่งกลางระหว่างความแมสกับความสุดขั้วก็ได้ และมันก็ไม่ใช่ว่าคนพวกนี้จะ pretentious ตั้งแต่เกิดยันตาย เพราะคนเรามันพัฒนากันได้ เขาอาจจะเคย pretentious มาก่อน แต่เขาก็อาจจะกลายเป็นคนที่รักศิลปะจริงๆ เริ่มซึมซับและเข้าใจและซาบซึ้งกับสิ่งที่เขาทำอย่างจริงใจจริงๆในเวลาต่อมาก็ได้

จริงๆแล้วถ้าเป็นเมื่อ 20 ปีก่อน เราอาจจะเกลียดคนอย่าง “เอิร์ธ” มากๆก็ได้นะ แต่ปัจจุบันนี้เราค้นพบแล้วว่า การทำตัวแบบ “ทราย” มันอยู่รอดไม่ได้ในทางการเงินจริงๆน่ะ 555 เพราะฉะนั้นถ้าหากจะอยู่รอดให้ได้ในทางการเงิน มันก็ต้องหาหนทางประนีประนอมรสนิยมของตัวเองเข้ากับกระแสสังคม

คือพอเราเห็นตัวละคร “เอิร์ธ” กับ “ทราย” ในเรื่องนี้ แล้วเราก็อดคิดถึงการฉายหนังนอกกระแสในบ้านเราไม่ได้น่ะ คือ “ทราย” ในเรื่องนี้พยายามผลักดันศิลปินโนเนมที่ทำผลงานดีๆให้เป็นที่รู้จัก แต่ปรากฏว่ามันกลับทำให้แกลเลอรี่ของเธอร้างคนดู เราก็เลยนึกถึงงานฉายหนังนอกกระแสบางงานในกรุงเทพ ที่แทบไม่มีคนมาดูเลย ทั้งๆที่เป็นการฉายฟรี และหนังที่ฉายก็ดีสุดๆในสายตาของเรา เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่งานของผู้กำกับชื่อดังเท่านั้นเอง

พอเห็นทรายในละครเวทีเรื่องนี้ เราก็เลยอดคิดถึงตัวเองและเพื่อนนักฉายหนังนอกกระแสบางคนไม่ได้น่ะ และเราก็ต้องยอมรับความจริงแหละว่า การพยายามจะผลักดันศิลปินดีๆหรือผลงานดีๆให้เป็นที่รู้จักนั้น มันเป็นงานที่แทบไม่มีวันประสบความสำเร็จได้จริงๆในบ้านเรา

เพราะฉะนั้นถึงแม้ “เอิร์ธ” จะดูทำตัว pretentious แต่ในแง่นึง เขาก็เป็นคนที่สามารถ deal กับโลกและสังคมได้ และเราก็ต้องยอมรับเขาในแง่นี้


6.ภูวดล มุ่งจิตธรรมมั่น ที่แสดงเป็นเอิร์ธในเรื่องนี้น่ารักมากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก ดูแล้วน้ำลายฟูมปากอย่างรุนแรง จบ

No comments: