Tuesday, March 15, 2016

SOLITUDE IS BLISS (2016, Kritsamas Ualapun, A+10)

SOLITUDE IS BLISS (2016, Kritsamas Ualapun, A+10)

ดูหนังเรื่องนี้ได้ที่นี่

1.ชอบ visual และความพยายามด้าน visual ของหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ ที่เราใช้คำว่า “ความพยายาม” เพราะเรารู้สึกว่าจริงๆแล้ว visual ของหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบไร้ที่ตินะ แต่ถ้าหากพูดถึงองค์ประกอบต่างๆของหนังเรื่องนี้แล้ว เราก็ชอบงานด้าน visual มากที่สุดน่ะ เรารู้สึกว่า visual ของหนังเรื่องนี้มันน่าสนใจมาก แต่เราก็รู้สึกในขณะเดียวกันว่ามันยังพัฒนาต่อไปได้อีกน่ะ เราก็เลยใช้คำว่า “ความพยายาม” ด้วย

คือเราว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้มีแววด้าน visual นะ มันเป็นจุดแข็งของเขาน่ะ และมันเป็นจุดที่ทำให้เขาแตกต่างจากผู้กำกับหนังสั้นคนอื่นๆของไทยอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นถ้าหากเขาไม่หยุดเพียงแค่นี้ แต่หาทางพัฒนาจุดแข็งของตัวเองต่อไปได้เรื่อยๆ เราว่าเขาต้องสร้างงานที่น่าสนใจออกมาได้อีกแน่ๆในอนาคต และอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นงานด้านภาพยนตร์ก็ได้ เพราะงาน visual ที่แข็งแรงแบบนี้มันสามารถใช้ได้กับงานมิวสิควิดีโอ, โฆษณาด้วย

คือเราชอบทั้งการบิดภาพ, ภาพกราฟฟิก, ภาพแสงสี และการเล่นสีของภาพในหนังเรื่องนี้มากๆ และชอบการหมุนกล้องอย่างรุนแรงในนาทีที่ 8-9 ด้วย

2.นอกจากภาพ visual ที่ประดิดประดอยออกมาได้ดีมากแล้ว เราว่าหนังเรื่องนี้ก็ถ่ายภาพธรรมชาติในบางฉากออกมาได้ดีมากนะ ภาพกิ่งไม้ใบไม้ไหวที่เหมือนมองออกไปจากหน้าต่างบ้าน และภาพชายหาด+ท้องทะเลในตอนจบนี่เราว่าก็ถ่ายออกมาได้ดีมากเหมือนกัน

จริงๆแล้วเราชอบตอนจบอย่างสุดๆด้วย เราว่าฉากนั้นมันไม่บอกว่าผู้ชมควรรู้สึกอย่างไรกับมันน่ะ มันไม่เข้ามากำกับอารมณ์ของคนดู และปล่อยให้คนดูรู้สึกยังไงก็ได้กับใบหน้านางเอกและภาพชายทะเลในตอนจบ ซึ่งการไม่เข้ามา manipulate อารมณ์คนดูมากเกินไป และปล่อยให้ผู้ชมคิด+รู้สึกได้อย่างอิสระแบบนี้ มันมักจะเป็นสิ่งที่เข้าทางเรา

3.อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวแล้ว เราก็ไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆในระดับ A+30 นะ ซึ่งนั่นมันเป็นเพราะรสนิยมส่วนตัวของเราเองด้วยแหละ คือถึงแม้ว่า visual ของหนังเรื่องนี้จะสวยงามมากๆ แต่มันเหมือนถูกถ่วงด้วยเนื้อเรื่องของหนังน่ะ พลังของ visual มันเลยไปไม่สุด เพราะเนื้อเรื่องไปถ่วงมันเอาไว้

แต่อันนี้ไม่ได้จะบอกว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้ทำอะไรผิด หรือผู้สร้างหนังเรื่องนี้ควรปรับปรุงแก้ไขอะไรยังไงนะ เราแค่จะบอกว่า สาเหตุที่เราไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ เพราะรสนิยมส่วนตัวของเราชอบอะไรแบบอื่นๆมากกว่า และหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้ทำผิดอะไร เพียงแต่ว่ามันไม่เข้ากับรสนิยมส่วนตัวของเราเท่านั้นเอง
คือพอเห็น visual ที่งดงามมากๆในหนังเรื่องนี้แล้ว เราก็นึกถึงหนังสั้นไทยบางเรื่องที่มี visual ที่น่าสนใจมากๆในแบบเดียวกันน่ะ อย่างเช่น GAZE AND HEAR (2010, Nontawat Numbenchapol), FIREFLIES (2005, Chawit Waewsawangwong), WHY DO YOU JUMP? (2011, Korn Kanogkekarin)  และ HUU (2015, Theerapat Wongpaisarnkit) และเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราถึงชอบ visual ในหนัง 4 เรื่องนี้มากกว่า SOLITUDE IS BLISS และคำตอบก็คือว่า visual ในหนัง 4 เรื่องนี้มันไม่ถูกถ่วงด้วยเนื้อเรื่องน่ะ มันเหมือนเป็น visual ที่เรา enjoy กับความงามของมันได้โดยตรง เราเพลิดเพลินกับความงามของมันได้เลย แต่ visual ใน SOLITUDE IS BLISS มันเหมือนถูกครอบงำด้วยคำอธิบายที่ว่า “นี่คือภาพขณะเมายาเสพติดนะ” และพอมันถูกครอบงำหรือถูกอธิบายด้วยอะไรแบบนี้แล้ว พลังของมันก็เลยเหมือนถูกลดทอนลงไป

ดู WHY DO YOU JUMP? ได้ที่นี่นะ

ดู HUU ได้ที่นี่

4.และถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีงานด้าน visual ที่สวยงามมาก และถ่ายภาพธรรมชาติได้ดีมาก แต่เรามีปัญหากับการถ่ายภาพนักแสดงในหลายๆ moment ในหนังเรื่องนี้น่ะ เรารู้สึกเหมือนกับว่าพอเป็นการถ่ายฉากนักแสดงแล้ว มันไม่ทรงพลังเท่าที่ควร ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร

เราว่านักแสดงก็เล่นโอเคนะ การเล่นกับสีในฉากของนักแสดงก็ดี เราชอบการเล่นสีแบบนั้น เราก็เลยสันนิษฐานว่า หรือว่า “กล้องมันถ่ายใกล้เกินไป” 555 คือถ้าหากกล้องมันถ่ายนักแสดงในระยะไกลออกมาหน่อย มันอาจจะเข้าทางเราก็ได้ คือถ้าหากกล้องถ่ายในระยะห่างเท่ากับที่ถ่ายนางเอกตอนรื้อโคมไฟประดับ มันจะออกมาดูโอเค ดีมากๆ แต่ใน moment อื่นๆที่กล้องเข้าไปชิดนักแสดงมากๆ เราว่ามันดูไม่ทรงพลังยังไงไม่รู้

คือเราเดาว่าในฉากพวกนี้ นักแสดงมันเล่นแบบ expressive มากๆอยู่แล้ว และสีสันของฉากมันก็ expressive มากๆอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าหาก “การเคลื่อนกล้อง” และ “ระยะห่างระหว่างกล้องกับนักแสดง” มัน expressive มากๆด้วยอีก มันก็เลยอาจจะทำให้อารมณ์มันล้นเกินเกินไปก็ได้ และมันเหมือนกับเป็นความพยายามที่จะ manipulate อารมณ์คนดูมากเกินไป

คือเราก็เดานะว่า การถ่ายแบบใกล้ชิดแบบนั้น และการตัดต่อแบบนั้น มันเป็นความพยายามที่จะสื่ออารมณ์ที่ไม่คงที่ ไม่เสถียรของคนที่ติดยา มันเหมือนเป็นความพยายามที่จะถ่ายฉากนั้นออกมาแบบ subjective จากมุมมอง/อารมณ์ของนางเอกอย่างเต็มที่ แต่ทำไมมันถึงออกมาแล้วดูไม่ค่อย work สำหรับเราก็ไม่รู้ เราก็เลยเดาว่า ถ้าหากฉากนั้นมีการ balance ระหว่างการถ่ายแบบ subjective/objective  มันอาจจะออกมา work กว่าก็ได้ คือนางเอกเล่น expressive, สีของฉากออกมา expressive แต่กล้องทำตัว objective ถ่ายระยะไกลหน่อย ไม่ต้องเคลื่อนกล้องมากนัก อะไรแบบนี้

แต่อันนี้เป็นแค่ทฤษฎีนะ ถ้าทำจริงๆมันอาจจะแย่กว่าเดิมก็ได้ 555 มันไม่มีกฎตายตัวหรอก เพราะบางฉากที่ดู subjective มากๆ อย่างเช่นการหมุนกล้องอย่างรวดเร็วในนาทีที่ 8-9 มันก็ออกมา work มากเช่นกัน

และเราว่ามันอาจจะขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้กำกับแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันด้วยแหละ คือผู้กำกับบางคนอย่าง Alwa Ritsila เขาก็สามารถถ่ายฉากฆาตกรรมที่นักแสดงเล่นแบบ expressive มากๆ และกล้องก็เคลื่อนไหวอย่าง expressive มากๆได้ออกมาทรงพลังสุดๆนะ ถ้าใครยังไม่เคยดูหนังของเขา ก็อาจจะดูได้จากลิงค์นี้

THE WITCH (2009, Alwa Ritsila + Phattamon Chitarachinda)

ที่เราใส่ลิงค์ THE WITCH เข้ามา เพราะพอเราดูฉากฆาตกรรม+การเคลื่อนกล้องใน SOLITUDE IS BLISS แล้วเราก็นึกถึงหนังอย่าง THE WITCH ขึ้นมาน่ะ แต่เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม THE WITCH ถึงสามารถใช้กล้องแบบนั้น แล้วออกมา work มากๆสำหรับเรา แต่พอ SOLITUDE IS BLISS มีฉาก feel bad เหมือนกัน เคลื่อนกล้องประชิดเหมือนกัน แต่อารมณ์มันออกมาไม่ work เท่าไหร่ในฉากฆาตกรรม หรือจริงๆแล้วอาจจะเป็นเพียงเพราะว่า ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ไม่มี “พลังด้านมืด” ในตัวเองที่มากพอ 555

5.ชอบความตั้งใจคัดเลือกดนตรีประกอบใน SOLITUDE IS BLISS ด้วย จริงๆแล้วโดยส่วนตัวเราเกลียดเพลง heavy metal แบบในหนังเรื่องนี้มากๆเลยนะ แต่เราชอบความตั้งใจคัดเลือกเพลงประกอบในหนังเรื่องนี้ และความพยายามตั้งใจตัดต่อภาพให้เข้ากับเสียงเพลงในหนังเรื่องนี้

No comments: