Tuesday, March 15, 2016

INSURGENT (2015, Robert Schwentke, A)

INSURGENT (2015, Robert Schwentke, A)

1.เหมือนเราจะมีความสามารถพิเศษที่หลายคนไม่มี นั่นก็คือ “ความสามารถในการไม่ใช้เหตุผล” 555 คือหนังเรื่องนี้พอเราดูจบแล้ว แล้วเราเริ่มย้อนคิดกลับไปโดยเอาเหตุผลไปจับ เราจะรู้สึกว่าหนังมันล่มสลาย โลบังพังพินาศมากๆ เราก็เลยหยุดคิด เพราะยิ่งคิดแล้วยิ่งอารมณ์เสีย

แต่ขณะที่เราดูหนังเหมือนสมองเรามันปิดกั้นการใช้เหตุผลเวลาดูหนัง fiction อยู่แล้วโดยอัตโนมัติ ตอนดูหนังเรื่องนี้เราก็เลยเพลิดเพลินไปกับมัน 555

2.ชอบการ casting นักแสดงหญิงมากๆ คือพอ Naomi Watts โผล่มาปุ๊บ เราก็มีความสุขขึ้นมาทันที คือเรามีความสุขเวลาได้เห็นดาราอย่าง Maggie Q, Ashley Judd, Naomi Watts และ Kate Winslet มาปะทะกันน่ะ ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วดาราเหล่านี้ควรได้ปะทะกันในหนังที่ดีกว่านี้ก็ตาม

3.อีกเหตุผลนึงที่อาจจะทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้มากกว่าคนอื่นๆ ก็คือว่า เราไม่ใช่แฟนหนังแอคชั่นอยู่แล้วมั้ง เพราะฉะนั้นพอหนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นฉากแอคชั่น แต่ไปเน้นการผจญภัยทางจิตในช่วงครึ่งหลังของเรื่องแทน มันก็เลยเข้าทางเรามากๆ

เหมือนอย่างที่เราเคยเขียนไว้ตอนที่ดู DIVERGENT (2014) ว่า เราชอบช่วงกลางเรื่องมาก ที่เป็นการผจญภัยทางจิตของนางเอก แต่เราไม่ชอบฉากแอคชั่นที่เป็นไคลแมกซ์ช่วงท้ายเรื่อง เพราะฉะนั้นพอใน INSURGENT นี่ พอมันยกเอา “การผจญภัยทางจิต” มาเป็นไคลแมกซ์ มันก็เลยเข้าทางเรามากกว่า

4.แต่จริงๆแล้วการผจญภัยทางจิตในหนังเรื่องนี้มันก็เป็นอะไรที่กิ๊กก๊อกป๊อกช่าป๊อกมากๆเลยนะ คือทำไมการทดสอบคุณสมบัติ 5 ประการของนางเอกมันถึงได้ง่ายดายขนาดนั้นล่ะ

คือเราชอบไอเดียเรื่องการผจญภัยทางจิต และการดัดแปลง “ลักษณะนิสัย” หรือ “อารมณ์มนุษย์” มาเป็นเกม หรือเป็น “พื้นที่ทางภูมิศาสตร์” น่ะ มันก็เลยเป็นปัจจัยที่ทำให้เราชอบ DIVERGENT + INSURGENT มากในระดับ A แต่เราก็ยอมรับว่า ถึงหนังมันมีไอเดียที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราชอบ แต่หนังมันก็ execute ไอเดียนั้นออกมาได้ไม่สนุกเท่าที่ควร

5.จริงๆแล้วไอเดียที่เราชอบใน INSURGENT ทำให้นึกถึง Madeleine de Scudery และโรงเรียนสอนศาสนาพุทธวันอาทิตย์ที่เราเคยเรียนตอนเด็กๆด้วยนะ 555

คือสิ่งที่เราชอบใน INSURGENT ก็คือ

5.1 ไอเดียเรื่องการดัดแปลง “ลักษณะนิสัยของมนุษย์” และ “อารมณ์มนุษย์” มาเป็น “พื้นที่ทางภูมิศาสตร์” น่ะ อย่างเช่น ตอนนางเอกเข้าไปในดินแดนของ Amity นางเอกก็อยู่ในพื้นที่นั้นไม่ได้ เพราะเธอมีอารมณ์โกรธมากเกินไป และพอเธอเข้าไปอยู่ในดินแดนของ Candor เธอก็ต้องถูกบังคับให้พูดความจริง

ซึ่งจริงๆแล้วไอเดียแบบนี้ทำให้เรานึกถึง Madeleine de Scudery ที่เป็นนักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 17 คือเธอเอาแผนที่แคว้นอาร์เคเดียมาดัดแปลงใหม่เป็น Map of Tenderness แล้วตั้งชื่อสถานที่ต่างๆในแผนที่ตามชื่อสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความรัก แล้วก็เอา Map of Tenderness นี้มาดัดแปลงเป็นเกมที่ใช้เล่นกัน

คือเราชอบไอเดียอะไรแบบนี้มากๆ เราก็เลยเคยเอาชื่อ Madeleine de Scudery มาใช้เป็นนามแฝงของเราในเว็บบอร์ด Bioscope อยู่พักนึง เพื่อนๆยุคนั้นคงจำกันได้ดี

และพอมาดู INSURGENT เราก็เลยชอบไอเดียแบบนี้ในหนังเรื่องนี้มากๆ และอยากให้มีคนสร้างหนังแฟนตาซีที่เล่นกับไอเดียอะไรแบบนี้อีก แต่ผลักมันไปให้สุดกว่า INSURGENT โดยไม่ต้องเป็นหนังแฟนตาซีโลกอนาคตก็ได้ แต่เป็นหนังแฟนตาซีแบบ Alejandro Jodorowsky หรือหนังแฟนตาซีแบบ Terry Gilliam ก็ได้

5.2 เราชอบไอเดียที่เอาลักษณะนิสัยต่างๆของมนุษย์ มาดัดแปลงเป็นเกมทางจิตที่ให้นางเอกเข้าไปผจญภัยด้วย คือการผจญภัยทางจิตใน INSURGENT นี่มันก็ต่ำมากๆเลยนะ แต่เราชอบ “เกมทางจิต” แบบนี้มากน่ะ และอยากให้มีหนังที่เล่นกับอะไรแบบนี้อีก แต่พัฒนาไปให้ดีกว่า INSURGENT, THE CELL และ INCEPTION (2010, Christopher Nolan)

และจริงๆแล้ว INSURGENT มันทำให้เรานึกถึงโรงเรียนสอนศาสนาพุทธที่เราเคยเรียนตอนเด็กๆด้วย คือเกมทางจิตใน INSURGENT มันเหมือนกับการผ่านด่านต่างๆ ที่เราต้องมีคุณสมบัติดีงามอย่างนึงตรงตามที่ด่านนั้นต้องการ เราถึงจะผ่านด่านนั้นได้ อย่างเช่น ต้องมีความสามารถที่จะให้อภัย, ความกล้าหาญ, ความสามารถในการคิดวิเคราะห์, ความซื่อสัตย์ ถึงจะผ่านไปได้ในแต่ละด่าน

เราก็เลยนึกถึงโรงเรียนสอนศาสนาพุทธน่ะ เพราะเราจำได้ว่า โรงเรียนที่เราเคยเรียนในวันอาทิตย์ตอนเด็กๆนั้น เขาชอบเอาละครทีวีฮ่องกงมาดัดแปลงเป็นคำสอนทางพุทธศาสนา คือผู้สร้างละครทีวีฮ่องกงเขาไม่ได้สร้างละครตามหลักคำสอนทางศาสนาพุทธหรอก แต่ครูในโรงเรียนเขาเอาเนื้อเรื่องในละครมาโยงเข้ากับหลักคำสอนทางพุทธศาสนาได้ และมันก็เลยทำให้การเรียนพุทธศาสนากลายเป็นอะไรที่สนุกขึ้นมาก

อย่างเช่นตอนนั้นมันมีละครทีวีเรื่อง “เจ้าแม่กวนอิม” ที่เจ้าหย่าจือกับเยิ่นต๊ะหัวนำแสดง แล้วมันมีช่วงนึงที่เจ้าแม่กวนอิมต้องฝ่าด่าน 7 ด่าน ด่านแรกเป็นการข้ามผืนน้ำที่ต้องคอยระวังอสูรใต้น้ำ, ด่านที่สองเป็นเขาวงกตที่เจ้าแม่กวนอิมต้องใช้สติปัญญาในการหาทางออกจากเขาวงกต, ด่านที่สามเป็นการต้องใช้ความอดทนในการฟังเสียงดนตรีพิฆาตจากเหล่าอสูร อะไรทำนองนี้ ถ้าจำไม่ผิด

แล้วครูที่โรงเรียนก็เลยเอาด่าน 7 ด่านที่เจ้าแม่กวนอิมต้องฝ่าฟันไปมาใช้ในการสอนเรื่อง “โพชฌงค์ 7” เลย อย่างเช่นตอนฝ่าด่านที่ 1 ก็เป็น “สติ”, พอฝ่าด่านที่สองก็ต้องใช้ “ธัมมวิจัย” ถึงจะฝ่าไปได้ , พอฝ่าด่านที่ 3 ก็ต้องใช้วิริยะ แล้วก็เป็นปีติ, ปัสสัทธิ, สมาธิ อุเบกขา ไปเรื่อยๆจนครบ 7 ด่าน

ซึ่งเราว่าไอเดียแบบนี้จริงๆแล้วมันสนุกมากนะ คือปัจจุบันนี้เราอาจจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแล้วก็จริง แต่เราว่าไอเดียการดัดแปลงคำสอนทางศาสนา, ลักษณะนิสัยของมนุษย์, อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ มาเป็น “เกม” หรือ “ด่านที่นางเอกต้องเผชิญ” มันเป็นอะไรที่สนุกมากๆสำหรับเราเป็นการส่วนตัวน่ะ เราก็เลยชอบไอเดียนี้ใน INSURGENT ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะใช้ไอเดียแบบนี้ได้อย่างไม่สนุกเต็มที่ก็ตาม

6.แต่จุดสำคัญที่ทำให้เราไม่ค่อยชอบ DIVERGENT + INSURGENT ก็คือว่า ตัวละครนางเอกมันเป็นตัวละครที่ born to be แต่ไม่ใช่ตัวละครที่ choose to be น่ะ

คือตัวละครนางเอกของหนังชุดนี้มันเป็นตัวละครที่ “เกิดมาเป็น divergent” น่ะ มันไม่ใช่ตัวละครที่ “เลือกจะเป็น divergent”  และเรามักจะมีปัญหากับหนังประเภทนี้มากๆ คือในแง่นึงมันก็เป็นหนังที่ตัดสินว่าใครจะเป็นพระเอกหรือนางเอกจากชาติกำเนิดของตัวละครหรือเปล่า 555

คือมันเป็นอะไรที่ย้อนแย้งกันดี คือจริงๆแล้วหนังชุดนี้เหมือนต้องการจะสอนว่า อย่าตัดสินคนจากชาติกำเนิด ถึงเขาจะเกิดมาเป็น divergent เขาก็ไม่ควรถูกกำจัดเพียงเพราะเขาเกิดมาเป็น divergent

แต่ในอีกแง่นึง การที่นางเอกของหนังเรื่องนี้มีสถานะเป็น the one มาตั้งแต่กำเนิด เธอเป็นเพียงคนๆเดียวที่เกิดมาเป็น divergent สมบูรณ์แบบแบบนี้ มันก็เลยทำให้เราไม่อินกับนางเอกและไม่สามารถ identify กับนางเอกได้น่ะ


คือหนังมันจะเข้าทางเรามากขึ้นน่ะ ถ้าหากหนังเรื่องนี้มีตัวละครเป็น divergents ที่มีสถานะเท่ากันสัก 10 คน แล้วตัดสินว่าใครควรจะเป็นนางเอกของหนังเรื่องนี้ ด้วยการเลือกและการตัดสินใจของตัวละครแต่ละคนในสถานการณ์ต่างๆ ไม่ใช่ว่าอีนี่เกิดมาเป็นแบบนี้ปุ๊บ มึงก็ได้รับสถานะนางเอกของเรื่องโดยทันที อะไรแบบนี้

No comments: