Monday, August 08, 2016

ALONG THE SHORE, UNDER THE DYING SUN (2016, Natchanon Vana, 54min, A+30)

ALONG THE SHORE, UNDER THE DYING SUN (2016, Natchanon Vana, 54min, A+30)
สิ้นแสงสุรีย์

1.จริงๆแล้วไม่ค่อยกล้าเขียนถึงหนังเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อินกับหนังเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และเรามองว่ามันไม่ใช่ความผิดของหนังแต่อย่างใด เพราะความอินไม่อินมันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของผู้ชมแต่ละคนด้วย และเราก็ดีใจมากๆที่ผู้ชมคนอื่นๆอินหรือชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากกว่าเราเยอะ อย่างเช่นคุณ Korn Kanogkekarin เราชอบสิ่งที่คุณ Korn พูด/เขียนถึงหนังเรื่องนี้อย่างมากๆ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบตัวละครนางเอกกับสุวรรณี สุคนธา

2.ปัจจัยนึงที่ทำให้เราไม่อินกับหนังเรื่องนี้อย่างเต็มที่อาจจะเป็นเพราะห้องฉายหนังด้วย คือหนังประมาณ 60% ที่ฉายในงานมาราธอนมีปัญหาเรื่องฟังเสียงบทสนทนาของตัวละครไม่ออก ซึ่งปัญหานึงอาจจะเป็นเพราะการมิกซ์เสียงของหนังไม่เข้ากับระบบเสียงของห้องฉาย และหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในหนังที่ประสบปัญหานี้

คือเรามองว่าในหนังเรื่องนี้นั้น ตัวละครมันมี “อดีต” เยอะมากน่ะ และเราจะเข้าใจอดีตของตัวละครได้ก็จากบทสนทนาของตัวละคร แต่พอเราฟังไม่ออกว่าตัวละครคุยอะไรกันบ้างในหลายๆฉาก เราก็เลย lost ไปเลย ไม่รู้ว่าตัวละครมันมีอดีตมีความเป็นมาอะไรยังไง เราจับได้แค่ว่าตัวละครพระเอกคงป่วย และกลับมาประเทศไทย เจอกับภรรยาเก่า รำลึกความหลังกัน พระเอกไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากนัก เราพอจับได้คร่าวๆแค่นี้เท่านั้น

3.คือช่วงแรกๆของหนังนี่เราจูนไม่ติดเลยนะ ซึ่งปัญหานึงเป็นเพราะเรื่องเสียงบทสนทนาด้วยแหละ ช่วงแรกๆเราก็เลยได้แต่มองว่าภาพมันสวยงามมาก องค์ประกอบทุกอย่างมันดีงามมาก แต่เราไม่สามารถเอาอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปสัมผัสกับตัวละครได้

เราเพิ่งจูนอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้เข้ากับหนังได้ก็เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางเรื่องแล้ว เมื่อมีฉากพระเอกนอนหลับ แล้วเมียเก่า (ที่รับบทโดยคุณ Beatrix) มานั่งมอง คือฉากนี้มันไม่ต้องพึ่งบทสนทนาด้วยไง แล้วมันเป็นฉากที่ค่อนข้างนิ่งๆนานๆ เราก็เลยเริ่มจูนตัวเองให้เข้ากับหนังได้ในฉากนี้ และหลังจากนั้นเราก็ดูหนังเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกอิ่มเอมมากขึ้น

4.แต่เราก็ไม่ได้อินกับมันแบบสุดๆนะ ซึ่งเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตด้วยแหละ คือถึงแม้เราจะมีอายุใกล้เคียงกับตัวละครในเรื่อง แต่เราก็ไม่เคยมีคนรัก ไม่มีอดีตรัก และเรา “ไม่มีความผูกพันกับบ้าน” ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเก่า บ้านใหม่ เราไม่มีความผูกพันกับบ้านหลังไหนๆในชีวิตเราเองเลย ประสบการณ์ชีวิตที่เราอาจจะพอมีใกล้เคียงกับพระเอกก็คงเป็นเรื่องชีวิตที่ไม่ประสบความสำเร็จ และความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย หรือความรู้สึกที่ว่าตัวเองอาจจะใกล้ตายแล้วก็ได้ แล้วพยายามรำลึกถึงอดีตก่อนตาย แต่ถึงแม้เราจะมีจุดที่ใกล้เคียงกับพระเอกในจุดนี้ แต่เราก็พบว่าหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกอินกับจุดนี้นะ มันมีหนังเรื่องอื่นๆที่ทำให้เรารู้สึกอินกว่า อย่างเช่น WE ARE YOUR FRIENDS (2015, Max Joseph) และ SPA NIGHT (2016, Andrew Ahn) ที่ตัวละครพระเอกของหนังสองเรื่องนี้ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างรุนแรง และ “จมปลัก” ไปไหนไม่ได้ ได้แต่อาศัยอยู่ในเมืองเมืองเดียวไปตลอดชีวิต ซึ่งจุดนี้เราจะอินกับพระเอกในหนังสองเรื่องนี้มากๆ แต่ตัวละครพระเอกใน “สิ้นแสงสุรีย์” ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากนัก แต่เขาก็ไม่ได้จมปลักน่ะ เขาเหมือนเคยเดินทางท่องเที่ยวไปแล้วหลายประเทศ มันก็เลยเป็นสาเหตุนึงที่ทำให้ประสบการณ์ชีวิตของเรากับพระเอกใน “สิ้นแสงสุรีย์” มันห่างจากกันมากๆ

ส่วนเรื่องการทบทวนชีวิตของตัวเองเมื่อพบว่าตัวเองป่วยนั้น เราก็พบว่าหนังอย่าง LE FEU FOLLET (1963, Louis Malle) และ THE FAREWELL – BERTOLT BRECHT’S LAST SUMMER (2000, Jan Schütte) ก็ทำให้เราอินมากกว่านะ

5.แต่เราก็ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับ A+30 นะ เพราะเรามองว่าการที่เราไม่อินกับหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ มันไม่ใช่ความผิดของหนังน่ะ มันเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตของตัวเราเองมากกว่า และเราก็มองว่าทุกอย่างในหนังเรื่องนี้มันงดงามมากๆ มันละเอียดอ่อนนุ่มนวลมากๆ และหนังเรื่องนี้ก็คิดอดีตของตัวละครออกมาได้ดีมากๆ เรารู้สึกได้จริงๆว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้มันเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตมานานแล้วก่อนที่หนังจะเริ่ม

อย่างไรก็ดี จุดที่เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากที่สุดในหนังเรื่องนี้ กลับเป็นฉาก “สิ่งของ”  คือมันจะมีหลายๆช็อตในหนังเรื่องนี้ที่เป็นการจับภาพสิ่งของต่างๆในบ้าน และเราพบว่าช็อตเหล่านี้มันกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกเราได้อย่างรุนแรงมากกว่าฉากตัวละครคุยกันในหนังเรื่องนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร คือพอเรามองสิ่งของต่างๆในหนังเรื่องนี้ มันกระตุ้นให้เราจินตนาการถึงอดีตน่ะ ถึงชีวิตที่เคยดำเนินไปในบ้านหลังนี้ในอดีต

อีกช็อตที่เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมด้วยมากๆคือช็อตทะเล เราว่าซีนต่างๆที่ถ่ายที่ทะเลในหนังเรื่องนี้ทำออกมาได้ดีมากๆ

6.อีกจุดที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ก็คือว่า มันเป็นหนังไทยไม่กี่เรื่อง ที่นำเสนอตัวละครวัยกลางคนได้อย่างเป็นมนุษย์มากๆ และเป็น romantic being ในตัวมันเอง แทนที่จะมีสถานะเป็น “คุณพ่ออัลไซเมอร์”, “คุณพ่อโรคมะเร็งที่ลูกๆต้องดูแล” หรือ “คุณพ่อจอมบงการชีวิตลูกๆ” แบบที่มักพบในหนังเรื่องอื่นๆน่ะ

คือเราแทบนึกไม่ออกเลยนะว่า มันมีหนังไทยเรื่องไหนที่นำเสนอตัวละครวัยกลางคนได้แบบนี้ คือเราว่ามันคงมีเยอะแหละในทศวรรษ 1970-1980 เพราะยุคนั้นมีการสร้างหนังชีวิตเยอะ  แต่พอเข้าทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา หนังโรแมนติก/ดราม่าที่มีตัวละครเอกอยู่ในวัยกลางคนก็แทบไม่มีเลย แม้แต่ในวงการหนังสั้นไทยก็ด้วย เพราะนักสร้างหนังสั้นส่วนใหญ่ก็ทำหนังรักนักศึกษาเป็นหลัก ตัวละครวัยกลางคนมักจะมีสถานะเป็นแค่ “พ่อ” “แม่” เท่านั้น แต่ตัวละครพระเอก/นางเอกแบบนี้แทบไม่เจอในหนังไทยในยุค 20 ปีที่ผ่านมาเลย เราก็เลยชอบมากที่หนังเรื่องนี้มันฉีกออกมาจากหนังไทยโดยทั่วไปในยุคปัจจุบัน

7.ถ้าจะให้ฉายหนังเรื่องไหนควบกับหนังเรื่องนี้ เราก็คงเลือก THE THINGS OF LIFE (1969, Claude Sautet) เพราะทั้ง THE THINGS OF LIFE และ ALONG THE SHORE, UNDER THE DYING SUN นำเสนอชีวิตรักของชายวัยกลางคนเหมือนกัน และเน้นนำเสนอฉากแบบกิจวัตรประจำวัน หรือกิจกรรมที่ไม่มีอารมณ์ดราม่ารุนแรงเหมือนกัน เหมือนหนังสองเรื่องนี้นำเสนอกิจกรรมของชายวัยกลางคนที่ดูเหมือนเป็นกิจกรรมธรรมดาๆ แต่จริงๆแล้วมันมีความงดงามเศร้าสร้อยบางอย่างแฝงอยู่ในกิจกรรมธรรมดาๆนั้น


อย่างไรก็ดี เราชอบ THE THINGS OF LIFE มากกว่า ALONG THE SHORE, UNDER THE DYING SUN นะ คือเราเห็นด้วยกับนักวิจารณ์ที่เขียนถึง THE THINGS OF LIFE ว่า หนังฝรั่งเศสเรื่องนี้นั้นสามารถ “extract a whole lifetime of meaning from a simple gesture like lighting a cigarette” น่ะ และเราว่า ALONG THE SHORE, UNDER THE DYING SUN ยังไปไม่ถึงจุดนั้น หนังเรื่องนี้มันยังไม่ถึงขั้นเทพแบบหนังของ Claude Sautet มันยังไม่ถึงขั้นที่สามารถ “ถ่ายทอดความหมายของชีวิตทั้งชีวิตผ่านทาง gesture ธรรมดาอย่างเช่นการจุดบุหรี่สูบ” ได้ แต่ถ้าหากเทียบกับหนังไทยด้วยกันเองแล้ว เราว่า “สิ้นแสงสุรีย์” ทำได้ใกล้เคียงที่สุดแล้วล่ะ อีกนิดเดียว มันก็จะไปถึง “ขั้นเทพ” ได้แล้ว

No comments: