Monday, August 15, 2016

COMING OF AGE (2016, Anuwat Amnajkasem, A+30)

COMING OF AGE นาน (2016, Anuwat Amnajkasem, A+30)
Spoilers alert
--
--
--
--
--
1.ดูไปรอบเดียวแล้วพบว่าตัวเองไม่เข้าใจอะไรเลย บางทีเราอาจจะเข้าใจหนังเรื่องนี้ผิดไปหมดก็ได้ 555

2.ตอนดูจบแล้วงงมากๆ ว่าหนังเรื่องนี้ต้องการจะสื่ออะไร โดยเฉพาะฉากจบที่เหมือนไม่บอกอะไรเราเลย เราก็เลยคุยกับอุ้ยว่าฉากจบของหนังเรื่องนี้ต้องการสื่ออะไร อุ้ยบอกว่า การที่หนังเรื่องนี้ใช้เพลง OOPS!...I DID IT AGAIN ของ Britney Spears ในตอนจบ แสดงว่าตัวละครเอกได้เยกับผู้ชาย เพราะเพลงร้องว่า Yeah yeah yeah yeah yeah

3.แล้วเราเห็นอะไรบ้างในหนังเรื่องนี้ เราเห็นเกย์สาวคนนึงทำกิจวัตรประจำวันที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญไปเรื่อยๆ อย่างเช่นการดูคลิปในอินเทอร์เน็ต ซึ่งรวมถึงคลิปคสช., การฟังเพลง GIMME! GIMME! GIMME! (A MAN AFTER MIDNIGHT) ของ Abba, การดูคลิป Angry Birds, การแต่งหน้า และการแชทกับผู้ชายใน JackD โดยพอเขาบอกว่าเขาเป็นรุก เธอก็กระหยิ่มยิ้มอย่างพึงพอใจ เธอขับรถออกไป เขาถามเธอว่าจะนัดเจอกันไหม (หลังจากหายจากแชทไประยะนึง) มีคนคนนึงขึ้นมาบนรถ เธอหันหลังมาปิดกล้องที่อยู่หลังรถ แล้วเพลงของบริทนีย์ก็ดังขึ้นมา พร้อมกับชื่อหนังว่า นานหรือ COMING OF AGE

4.สิ่งที่เราว่าน่าสนใจในหนังเรื่องนี้ก็มีเช่น การที่เราไม่รู้ว่าซีนต่างๆในหนังเรื่องนี้มันมีความหมายแฝงซ้อนกันอยู่หลายระดับหรือไม่ หรือมันแค่แสดงกิจวัตรประจำวันของเกย์สาวคนนึงเฉยๆ โดยอาจจะไม่ได้สื่อความหมายอะไรที่ลึกซึ้งมากนัก เพลงของ Abba ที่ใส่เข้ามาก็อาจจะแสดงถึงความ want ผู้ชายของตัวละครโดยตรง หรือฉาก Angry Birds ก็อาจจะเป็นแค่การล้อกับคำว่า นก 

คือการที่เราดูหนังเรื่องนี้โดยไม่รู้เรื่องย่อหรือ artist’s statement อะไรเลย มันก่อให้เกิดภาวะที่น่าสนใจดีสำหรับตัวเรา เพราะขณะที่เราดูหนังเรื่องนี้ในรอบแรก เราไม่รู้ว่าเราควรจะจูนตัวเองยังไงดีหรือใช้อะไรในตัวเราในการเข้าไปจับหนังเรื่องนี้ 

คือหนังสั้นส่วนใหญ่ที่ฉายในเทศกาลมาราธอน พอเราดูไปได้ 15-30 วินาทีแรก เราพอจะรู้ล่ะว่าเราควรจะเอาอะไรไปจับหนังเรื่องนั้น อย่างเช่น ถ้าหากมันเป็นหนังเล่าเรื่อง มันก็มักจะบอกในทันทีว่ามันอยู่ genre อะไร และเราก็จะเตรียมตัวปรับอารมณ์ให้เข้ากับ genre นั้น อย่างเช่น หนังเกย์โรแมนติกเรื่อง MEMORY OF LOVE (2016, Pratchaya Wongnanta), หนังเกย์ดราม่าเรื่อง BOY WITH A BASKET OF FRUIT (2016, นนทชัย วิญญูศุภรชัย), หนังกะเทยตลกเรื่อง ล่าสุดจ่ะ นกอีกแล้ว” (2016, ศตายุ ดีเลิศกุลชัย), หนังอีโรติกกึ่งเกย์อย่าง THE LAST NIGHT เหตุเกิดเพราะคืนนั้น (2016, ดลฤทธิ์ พงษ์ทอง) 

หนังเล่าเรื่องแบบนี้มันมักจะอยู่ใน genre อะไรบางอย่าง และพอเราดูหนังไประยะนึง เราก็จะรู้ว่ามันอยู่ genre อะไร และเราก็จะปรับโหมดอารมณ์ตัวเองให้เข้ากับ genre นั้นได้ในทันที ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยในตัวมันเอง ข้อดีก็คือว่า พอเราปรับโหมดอารมณ์ตัวเองให้เข้ากับ genre หนังได้ปุ๊บ เราก็จะ enjoy กับหนังได้มากพอสมควร แต่ข้อด้อยก็คือว่า หนังเรื่องนั้นมันก็จะขาดความท้าทาย, หรือไม่ได้ช่วยขยายพรมแดนใหม่ๆให้กับวงการหนังสั้นไทย หรือไม่ได้ทำให้เราสนุกไปกับความพยายามจูนตัวเองให้เข้ากับหนัง

คือหนังแต่ละเรื่องมันก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างนึงน่ะแหละ หนังส่วนใหญ่มันทำให้เราสนุกเพลิดเพลิน เพราะเราจูนตัวเองให้เข้ากับหนังได้ในทันที แต่มันมีหนังไม่กี่เรื่องที่ทำให้เราสนุกไปกับความพยายามที่จะจูนตัวเองให้เข้ากับหนัง เพราะเราไม่รู้ว่าหนังเรื่องนั้นมันจะบอกอะไร, มันต้องการให้เรา ตีความภาพและเสียงในหนังหรือไม่ หรือต้องการให้เราใช้ อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปสัมผัสภาพและเสียงในหนังเฉยๆ โดยไม่ต้องตีความสัญลักษณ์ หรือต้องการให้เราจินตนาการสิ่งต่างๆโดยใช้ภาพและเสียงในหนังเป็นตัวกระตุ้น ฯลฯ

เราก็เลยชอบ COMING OF AGE มากๆในแง่ที่ว่า มันเป็นหนังไม่กี่เรื่องที่เข้าข่ายที่สองนี้ นั่นก็คือเราไม่รู้ว่าเราควรจะจูนตัวเองยังไงให้เข้ากับหนัง, มันต้องการจะอยู่ใน genre อะไร, มันต้องการจะเล่าเรื่องอะไร, มันต้องการจะทำให้เรารู้สึกลุ้นระทึก, โรแมนติก หรือตลกขบขัน, อะไรคือจุดไคลแมกซ์ของหนัง, หนังซ่อนสัญลักษณ์ต่างๆที่ต้องการการตีความในหลายระดับไว้หรือไม่ 

ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆก็คือว่า ความสนุกของการดูหนังแบบที่อยู่ใน genre ชัดเจน มันเหมือนกับการได้ฟังเพลงเพราะๆในคลื่น FM ช่องที่รับสัญญาณได้ชัดแจ๋วน่ะ

แต่มันมีหนังไม่กี่เรื่องที่ให้ความสนุกในแบบที่สอง นั่นก็คือความสนุกของการพยายามจูนตัวเองให้เข้ากับหนัง มันคือความสนุกของความพยายามไล่ช่องสัญญาณตั้งแต่ 88FM ไปจนถึง 108 FM เพื่อหาช่องที่รับสัญญาณได้ชัดที่สุด แต่ถ้าหาไม่ได้ ก็อาจต้องเปลี่ยนไป AM เพื่อหาช่องที่ชัดที่สุด หรือไม่ก็ต้องหมุนเสาอากาศ, เปลี่ยนที่วางวิทยุใหม่ หรือคิดหาวิธีการใหม่ๆในการจูนคลื่นของตัวเองให้เข้ากับสัญญาณที่ส่งมา ซึ่ง COMING OF AGE เข้าข่ายนี้สำหรับเรา และเราก็มักจะรู้สึกแบบนี้เมื่อดูหนังของผู้กำกับบางคนเป็นครั้งแรก อย่างเช่นตอนที่เราดูหนังขอJames Benning, Philippe Garrel, Heinz Emigholz, Peter Lilienthal, Jonas Mekas, Bruce Baillie เป็นครั้งแรก เราก็พบว่าหนังของผู้กำกับเหล่านี้มันมาใน wavelength แบบที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และเราก็ต้องหาทางจูนตัวเองให้เข้ากับมัน แล้วพอเราจูนตัวเองให้เข้ากับมันได้แล้ว การดูหนังเรื่องอื่นๆของผู้กำกับเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

5.แล้ว COMING OF AGE ต้องการจะสื่ออะไร เราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ชื่อเรื่องว่า นานและ COMING OF AGE มันทำให้เราตีความว่า หนังเรื่องนี้อาจจะต้องการสื่อถึงการรอคอยของเกย์สาวคนนึงสำหรับประสบการณ์ทางเพศแบบเต็มที่ครั้งแรก คือจริงๆเราก็ไม่รู้หรอกนะว่ามันเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของตัวละครในเรื่องหรือเปล่า แต่ชื่อเรื่องว่า COMING OF AGE มันทำให้เราตีความไปในทางนั้นน่ะ

และพอเราตีความไปในแง่นี้ (ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อแต่อย่างใด) เราก็มองว่ามันน่าสนใจดี ที่หนังเรื่องนี้ไม่ได้แสดงถึงความกระวนกระวายใจ หรือความกระสันต์อย่างเต็มที่ของตัวละครที่จะออกไประเริงรสกามารมณ์อย่างหฤหรรษ์ เหมือนตัวละครมันทำกิจวัตรอะไรต่างๆไปเรื่อยๆตามปกติน่ะ มันดูเหมือนไม่ได้กระดี๊กระด๊ามากนักกับเรื่องนี้

และการที่หนังตัดจบเมื่อตัวละครได้เจอกับคนอีกคนนึง (ซึ่งน่าจะเป็นคู่นัด) มันก็แสดงให้เห็นว่า หนังเรื่องนี้เลือกที่จะโฟกัสไปยังจุดที่หนังเกย์ส่วนใหญ่ไม่ได้โฟกัส คือหนังเกย์ส่วนใหญ่คงโฟกัสไปยังเหตุการณ์หลังจากหนังเรื่องนี้จบลงไปแล้ว นั่นก็คือการเจอกันของเกย์สองคน, ความสุขทางเพศของสองคนนั้น, คำถามที่ว่าสองคนนั้นจะคบกันต่อหรือไม่, มันจะพัฒนากลายไปเป็นความรักหรือไม่, สองคนนั้นมีข้อดีข้อเสียอะไ, จะเข้ากันได้หรือไม่ แต่ละคนมีปัญหาอะไรบ้างในชีวิต etc.

แต่หนังเรื่องนี้เหมือนเลือกที่จะโฟกัสไปยังจุดอื่นแทน นั่นก็คือกิจวัตรที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญก่อนที่ตัวละครจะเจอหน้ากัน มันก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้พิเศษมากๆสำหรับเรา เพราะเรามักจะชอบหนังที่เลือกมองไปยังจุดที่หนังส่วนใหญ่มองข้ามไป

6.ในขณะที่เราเขียนไปข้างต้นว่าหนังเรื่องนี้ไม่มี genre ชัดเจน แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้มันเป็นแบบที่เราตีความข้างต้น หนังเรื่องนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าอยู่ใน genre แบบนึงเหมือนกันนะ นั่นก็คือหนังกลุ่มที่เหมือนจะให้ความสำคัญกับกิจวัตรประจำวันของตัวละคร โดยที่หนังอาจจะมีธีมหลักหรือประเด็นหลักซ่อนอยู่ก็จริง แต่หนังไม่ได้พยายามกระตุ้นการสร้างอารมณ์แบบใดแบบนึงที่ชัดเจน คือไม่ได้เน้นสร้างอารมณ์โรแมนติก, เศร้า, ตลก, ตื่นเต้นแบบหนัง genre ทั่วไปน่ะ หนังกลุ่มนี้มักจะปล่อยให้ผู้ชมดูกิจวัตรของตัวละครไปเรื่อยๆ โดยมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ในกิจวัตรประจำวันนั้น หรือมีฉากยิงธีมหรือฉากยิงประเด็นแทรกเข้ามาท่ามกลางฉากกิจวัตรประจำวันนั้น
เราชอบหนังกลุ่มนี้มากนะ ซึ่งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมีศัพท์เรียกหนังแบบนี้โดยเฉพาะหรือเปล่า หนังที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้ก็มีตั้งแต่หนังอย่างเช่น JEANNE DIELMAN, 23 QUAI DU COMMERCE, 1080 BRUXELLES (1975, Chantal Akerman) เรื่อยมาจนถึงหนังอย่าง DINNER (2005, Sivaroj Kongsakul), STUDENT (2005, เจมส์ พฤทธิวรสิน), SOLOS (2014, Teeranit Siangsanoh), ROBBER (2015, Piyawat Atthakorn), 9 พ.ย. (2016, Pavinee Boonmee), CRACKS OF EMPTINESS (2016, Preechamon Sumalee), รอฉันรอเธออยู่ แต่ไม่รู้เธออยู่หนใด (2016, Thamsatid Charoenrittichai, 34min)

แต่ถึงแม้หนังกลุ่มนี้จะเหมือนมี genre ของมัน แต่มันก็มักเป็นหนังที่ทำให้เราสนุกกับความพยายามจูนตัวเองให้เข้ากับหนังนะ เพราะตอนที่ดู เราจะไม่รู้หรอกว่ามันอยู่ใgenre อะไร เราจะดูฉากกิจวัตรประจำวันไปเรื่อยๆในตอนแรก และเราก็จะคาดหวังว่า เดี๋ยวมันจะเกิด conflict ขึ้นในหนัง เดี๋ยวเราก็จะรู้ว่า ปัญหาหลักที่ตัวละครเอกต้องเผชิญคืออะไร และหนังมันจะต้องการกระตุ้นอารมณ์อะไรเป็นหลัก แต่พอดูไปเรื่อยๆจนจบ เราก็มักจะพบว่าเราเดาหนังผิดในตอนแรก และฉากไคลแมกซ์แบบรุนแรงที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น มันมักจะไม่เกิดขึ้นในหนังกลุ่มนี้ หรือเกิดขึ้นในแบบที่ แผ่วเบากว่าที่เราคาดไว้เป็นอย่างมาก

7.ชอบการผูกโยง การรอคอยประสบการณ์ทางเพศ เข้ากับเสียงเพลงป็อปในหนังเรื่อง COMING OF AGE เพราะมันทำให้นึกถึงตัวเองเมื่อ 20-30 ปีก่อนมากๆ คือช่วงนั้นเราก็มักจะมี เพลงประจำอารมณ์ที่เรามองว่ามันสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของเราที่มีต่อเรื่องรักๆใคร่ๆในช่วงนั้นเหมือนกัน ของเราจะเป็นเพลง THE MAN I LOVE ของ Kate Bush ที่ใช้สะท้อนถึงความอยากพบกับชายในฝัน, และพอเราเจอผู้ชายที่เราชอบแล้ว เพลงที่สะท้อนอารมณ์ของเราก็จะเป็นเพลง IN WALKED LOVE ของ Louise, และพอเราอกหัก เพลงที่ใช้สะท้อนอารมณ์ของเราก็จะเป็น TOO GOOD ของ Banderas

8.หนังเรื่อง COMING OF AGE ถือเป็นหนังอีกเรื่องที่เราชอบมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป คือตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้จบปุ๊บ เราชอบหนังเรื่องนี้แค่ในระดับ A+15 เท่านั้น เพราะมันไม่ใช่หนังที่ก่อให้เกิดอารมณ์รุนแรงในขณะที่ได้ดู มันไม่มีฉากไคลแมกซ์ เราไม่ได้เห็นตัวละครได้กับผู้ชาย อารมณ์รุนแรงที่เราคาดหวังไว้ในตอนแรกว่า หนังจะมอบให้กับเรา มันไม่มีอยู่ในหนังเรื่องนี

แต่พอเวลาผ่านไประยะนึง เรากลับพบว่าหนังเรื่องนี้มันค้างคาอยู่ในใจเรานานกว่าที่คาดไว้ การฟังเพลงของตัวละคร การแต่งหน้าของตัวละคร, รอยยิ้มกระหยิ่มอย่างพึงพอใจของตัวละครเมื่อพบว่าผู้ชายที่คุยด้วยเป็น รุกมันฝังอยู่ในใจเรามากๆ และเราพบว่าหนังแบบนี้มันน่าสนใจดี มันไม่ได้ปลดปล่อยอารมณ์ของเราแบบถะถั่งท้นในขณะที่ดู แต่มันสร้างความประทับใจและความฝังใจเราด้วยวิธีการอื่นๆที่น่าสนใจกว่า

No comments: