Monday, August 01, 2016

THE ISLAND FUNERAL (2015, Pimpaka Towira, A+30)

THE ISLAND FUNERAL (2015, Pimpaka Towira, A+30)
มหาสมุทรและสุสาน

1.ช่วงแรกของหนังเราชอบตรงที่มันมีบรรยากาศของหนังสยองขวัญ คือดูแล้วนึกว่าดูหนังอย่าง JEEPERS CREEPERS (2001, Victor Salva) และ WOLF CREEK (2005, Greg McLean) อยู่ เพราะมันสร้างบรรยากาศของความไม่น่าไว้วางใจ หรือความ creepy ได้ดีมากๆ

2.จริงๆแล้วตอนแรกจะรำคาญตัวละคร “ต้อย” มากๆ ตรงที่มันดูเป็นคนที่หวาดระแวงเกินเหตุ แต่คิดไปคิดมาแล้ว สาเหตุหนึ่งที่เรารู้สึกรำคาญตัวละครต้อย เป็นเพราะเรารู้ว่าเรากำลังดูหนังแนวอะไรอยู่ นั่นก็คือ “หนังสะท้อนสังคมที่มีแนวคิดเข้าทางกับเรา” และพอเรารู้ตัวว่าเรากำลังดูหนังแนวอะไรอยู่ เราก็เลยเดาได้ล่วงหน้าเลยว่า เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวละครต้อยหวาดระแวง มันจะไม่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้อย่างแน่ๆ

แต่ถ้าหากหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นหนังสะท้อนปัญหาชายแดนใต้ แต่เป็นหนังสยองขวัญที่เนื้อเรื่องเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆของไทย แบบหนังอย่าง “โปรดระวังเขตอันตรายข้างหน้า โปรดระวังเขตอันตรายข้างหน้า โปรดระวังเขตอันตรายข้างหน้า” (2016, ชาคร ไชยปรีชา, อภิญญา สกุลเจริญสุข, A+30) ตัวละครแบบต้อยที่เป็น “คนน่ารำคาญ” ใน THE ISLAND FUNERAL ก็อาจจะกลายเป็นตัวละครที่ “มีเหตุมีผล” ไปเลยก็ได้

น่าสนใจดีที่ทั้งใน THE ISLAND FUNERAL และ โปรดระวังเขตอันตรายข้างหน้า” มีตัวละครหญิงที่ตัดสินใจลงจากรถตอนกลางคืนเหมือนกัน แต่หนังทั้งสองเรื่องนี้นำเสนอฉากนี้ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างจากกันเป็นอย่างมาก

พอดูหนังสองเรื่องนี้แล้ว ก็เลยทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า อะไรคือจุดที่เหมาะสม หรือสมดุล อะไรคือการทำตัวเป็นคนที่ “ไม่หวาดระแวงจนเกินไป” แต่ก็ต้อง “ไม่ประมาทจนเกินไป”  ด้วยเช่นกัน  อะไรคือ “ความกลัวอย่างมีเหตุมีผล” อะไรคือการทำตัวเป็น “คนที่ไม่กลัวอะไรไร้สาระ แต่ก็ไม่กล้าจนบ้าบิ่น”

มันเหมือนกับว่า ถ้าหากเราเป็นตัวละครในหนังสะท้อนสังคม เราควรจะทำตัวแบบนึง แต่ถ้าหากเราเป็นตัวละครในหนังสยองขวัญ เราควรจะทำตัวอีกแบบนึง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในหนัง genre ใดๆ เราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ทั้งในหนังสะท้อนสังคม, หนัง surreal, หนังแฟนตาซี และหนังสยองขวัญ แล้วเราควรจะทำตัวแบบใดกันแน่เมื่อเจอสถานการณ์ต่างๆ

แต่เราก็มีคำตอบให้ตัวเองนะ คือถ้าหากเราเป็นไลลาในฉากนั้น เราคงจะไม่ลงจากรถ แต่เราก็คงไม่พร่ำบ่นไปตลอดทางแบบต้อยเหมือนกัน มีสิทธิเราถอนตัวกลับจากการเดินทางตั้งแต่แรก เราคงไม่กล้าตามพี่สุรินทร์ไปแน่ๆ เพราะเรากลัวเจอแบบหนังเรื่อง WOLF CREEK 555

3.จริงๆแล้วหนังเรื่องนี้มีประเด็นอะไรหลายๆอย่างที่ดีมากๆๆๆๆๆ โดยเฉพาะฉากกรือเซะ แต่เพื่อนๆหลายคนได้เขียนถึงประเด็นต่างๆในหนังเรื่องนี้ไปแล้ว เราก็เลยไม่ขอเขียนซ้ำแล้วกัน

ชอบสิ่งที่ filmsick เขียนถึงหนังเรื่องนี้มากๆ พออ่านสิ่งที่ filmsick เขียนแล้วทำให้รู้ว่า มันมีอะไรหลายอย่างซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนี้ที่เรามองข้ามไป

4.ชอบประเด็นบางอย่างในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องดินแดนยูโทเปียที่ผู้คนแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เพราะประเด็นนี้มันมีทั้งความ local และ universal อยู่ในตัวมันเอง มันใช้ได้กับทั้งเรื่องชายแดนใต้, ประเทศไทยทั้งประเทศ หรือแม้แต่โลกทั้งโลกด้วย

ประเด็นนี้ทำให้นึกถึง quote ของ Jean-Luc Godard จากหนังเรื่อง JE VOUS SALUE, SARAJEVO (1993) ด้วยนะ เพราะใน quote นั้น Godard พูดถึงเมืองสามเมืองในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ซึ่งเราเข้าใจว่ามันเป็นเมืองสามเมืองที่คนต่างศาสนาเคยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แต่พอยูโกสลาเวียล่มสลาย เมืองสามเมืองนี้ก็กลายเป็นเมืองที่นองเลือด คนฆ่ากันตายอย่างรุนแรง

“In a sense, fear is the daughter of God, redeemed on Good Friday. She is not beautiful, mocked, cursed or disowned by all. But don’t be mistaken, she watches over all mortal agony, she intercedes for mankind; for there is a rule and an exception. Culture is the rule, and art is the exception. Everybody speaks the rule; cigarette, computer, t-shirt, television, tourism, war. Nobody speaks the exception. It isn’t spoken, it is written; Flaubert, Dostoyevsky. It is composed; Gershwin, Mozart. It is painted; Cézanne, Vermeer. It is filmed; Antonioni, Vigo. Or it is lived, then it is the art of living; Srebrenica, Mostar, Sarajevo. The rule is to want the death of the exception. So the rule for cultural Europe is to organize the death of the art of living, which still flourishes.
When it’s time to close the book, I have no regrets. I’ve seen so many people live so badly, and so many die so well.”
-JLG / Je Vous Salue, Sarajevo

เกาะของป้าไซหนับใน THE ISLAND FUNERAL ก็เลยทำให้เรานึกถึง “the art of living” ใน quote ของ Godard โดยไมได้ตั้งใจ

5.เราเองก็เป็นคนนึงที่รู้สึกก้ำกึ่งกับการที่หนังเรื่องนี้ชูประเด็นเรื่องเกาะยูโทเปียอย่างชัดเจนเกินไป คือตอนแรกที่ดูเรารู้สึกว่ามันชูประเด็นชัดเจนเกินไป และมันทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็น “หนังประเด็น” แทนที่จะเป็นหนังเฮี้ยนๆแบบที่เราคาดหวังว่าจะเจอจากคุณพิมพกาก่อนเข้าไปดู

คือโดยรสนิยมส่วนตัวของเราแล้ว เราอาจจะชอบ “หนังประเด็น” และ “หนังการเมือง” น้อยกว่าหนังเฮี้ยนๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่รู้ message อะไรอีกต่อไปน่ะ 555 และก่อนที่เราจะเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ เราก็แอบคาดหวังว่า มันจะเฮี้ยนๆแบบหนังอย่าง แม่นาค (1997, Pimpaka Towira) ที่พิศวงพิสดารมากๆ ดูแล้วไม่รู้ชีวิตอะไรอีกต่อไป ไม่รู้ว่าหนังต้องการจะสื่ออะไร รู้แต่ว่ามันทรงพลังมากๆ สำหรับเรา

และตอนที่ดู THE ISLAND FUNERAL ตอนแรก เราก็รู้สึกว่าในขณะที่ช่วงครึ่งแรกของหนังมันสามารถดัดแปลงเป็นหนังสยองขวัญได้ เราก็รู้สึกว่าช่วงครึ่งหลังของหนังมันสามารถพัฒนาไปเป็นหนังเฮี้ยนๆแบบแม่นาค + หนังของ Raya Martin อย่าง HOW TO DISAPPEAR COMPLETELY (2013) ได้ คือตอนที่เรานั่งดู THE ISLAND FUNERAL อยู่ เราอยากให้มีฉากคุณป้าไซหนับเหาะขึ้นมาจากเกาะ แล้วใช้สายฟ้าฟาดจากมือลงมาเลย อะไรทำนองนี้ 555

คือช่วงแรกที่ดูจบ เรารู้สึกว่าพอหนังมันชัดเจน อธิบายได้ง่าย เข้าใจได้ง่ายเกินคาด หนังมันก็เลยอาจจะไม่เข้าทางเราอย่างเต็มที่น่ะ

แต่หลังจากเวลาผ่านไประยะนึง เราก็พบว่าประเด็นเรื่อง “การสร้างพื้นที่สำหรับให้คนที่มีความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ” นั้น มันเป็นประเด็นที่ให้แรงบันดาลใจมากๆเหมือนกันนะ เราก็เลยไม่รู้สึกว่า การที่ THE ISLAND FUNERAL มันชูประเด็นชัดเจนเกินไป มันเป็นข้อด้อยของหนัง

มันเหมือนกับว่า หนังแต่ละเรื่อง มันต้องเลือกน่ะแหละว่าจะเอาอะไร จะเลือกว่าจะชูประเด็นเพื่อให้แรงบันดาลใจแก่ผู้ชม, สะท้อนสังคมอย่างชัดเจน หรือจะเลือกว่าเป็นหนังที่เน้นพลังทาง cinematic สร้างความพิศวงงงวยแก่ผู้ชมเป็นหลัก และเราว่าการที่ THE ISLAND FUNERAL เลือกแบบแรก มันก็ไม่ผิด โดยเฉพาะเมื่อไทยขาดแคลนหนังที่พูดถึงประเด็นนี้อยู่แล้ว

และจริงๆแล้ว หนังแบบที่สอง มันก็มีอยู่เหมือนกันนะ อย่างเช่นหนังเรื่อง วัฏจักรวาล (2016, Patawee Emtanom) ที่อาจจะไม่ได้พูดถึงชายแดนใต้ แต่ก็นำเสนอภาคใต้+ปัญหาการเมืองไทยได้อย่างพิศวงงงวยมากๆ และแน่นอนว่าหนังอย่างวัฏจักรวาล มันสามารถเน้นความพิศวงงงวยได้โดยไม่ต้องแคร์ผู้ชมส่วนใหญ่อยู่แล้ว เพราะมันไม่ได้กะลงโรงฉายเพื่อเก็บเงินจากคนดู เพราะฉะนั้นหนังอย่างวัฏจักรวาลก็เลยไปสุดทางของความเฮี้ยน หรือความพิศวงงงงวยได้โดยไม่ต้องประนีประนอมอะไร

สรุปว่าเราชอบทั้ง THE ISLAND FUNERAL และวัฏจักรวาลอย่างสุดๆนะ เราว่ามันต้องมีการสร้างหนังทั้งสองแบบน่ะแหละ ทั้ง

5.1 หนังที่สะท้อนปัญหาสังคมไทยอย่างชัดเจน แบบ THE ISLAND FUNERAL, THE LAST MISSION (2016, เชวง ไชยวรรณ) และหนังหลายๆเรื่องที่สร้างโดยชาวเขาในกลุ่มของคุณ Supamok Silarak

5.2 หนังที่อาจจะสะท้อนปัญหาสังคมไทยในแบบ surreal มากๆ แบบวัฏจักรวาล, เมืองในหมอก (2015, Wachara Kanha), หนังของ Apichatpong  Weerasethakul, หนังของ Arnont Nongyao และหนังของ Eakalak Maleetipawan  ที่เน้นสร้างพลังทาง cinematic เป็นหลัก โดยที่ผู้ชมอาจจะไม่เข้าใจประเด็นทั้งหมดที่หนังต้องการจะสื่อ

6.อีกสิ่งหนึ่งที่ THE ISLAND FUNERAL อาจจะไม่เข้าทางเราแบบ 100% เต็ม ก็คือว่า พอมันเป็นหนัง “ชูประเด็น” ตัวละครหลายๆตัวในหนังเรื่องนี้มันเลยดูลอยๆเกินไปสำหรับเราน่ะ มันเหมือนตัวละครหลายๆตัวกลายเป็น “ภาพแทน” กลุ่มคนบางกลุ่ม แทนที่จะเป็นมนุษย์ individual จริงๆ

คือถ้าหากหนังเรื่องนี้นำเสนอความเป็นเกย์ของตัวละครแบบชัดๆไปเลย หรือเล่าเรื่องของสุรินทร์มากกว่านี้ มันก็อาจจะเข้าทางเรามากกว่านี้ก็ได้นะ เพราะมันจะทำให้ตัวละครในหนังดูเป็นมนุษย์มากขึ้น และเราอาจจะชอบหนังแบบนี้มากกว่า

แต่พอหนังเลือกตัดทอนรายละเอียดของตัวละครแต่ละตัวออกไป และหันมาชูประเด็นให้เห็นชัดๆ มันก็ไม่ผิดนะ มันก็เหมือนที่เราเขียนไว้ในข้างต้นนั่นแหละ ว่าหนังแต่ละเรื่องบางทีมันก็ต้องเลือกว่าจะให้ความสำคัญกับอะไร

7.สรุปว่า ตอนแรกที่ดู THE ISLAND FUNERAL จบ เรารู้สึกว่า

7.1 ถ้าหากหนังมันนำเสนอตัวละครแต่ละตัวในฐานะ individual มากกว่านี้ เป็นมนุษย์ที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ หนังมันอาจจะเข้าทางเรามากกว่านี้

7.2 หรือไม่งั้นหนังก็ไม่ต้องนำเสนอตัวละครในฐานะมนุษย์ individual ก็ได้ แต่ทำตัวเป็นหนังเฮี้ยนๆแบบ AUTOHYSTORIA (2007) หรือ HOW TO DISAPPEAR COMPLETELY (2013) ของ Raya Martin ไปเลยก็ได้ คือเป็นหนังที่ดูแล้วแทบไม่ต้องเข้าใจอะไรอีกต่อไป หรือเป็นหนังที่แต่ละฉากดูเหมือนจะมีความหมายมากมายให้ตีความหรือถกเถียงกันได้ไม่สิ้นสุด


แต่พอเวลาผ่านไประยะนึง เราก็พบว่า การที่ THE ISLAND FUNERAL มันไม่ได้เลือกทำตัวแบบหนังสองแบบข้างต้น มันก็ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังที่โดดเด่นและ “เป็นตัวของตัวเอง” ในแบบนึงเหมือนกัน และประเด็นบางประเด็นที่หนังเรื่องนี้นำเสนอ มันก็ดีมากๆ และให้แรงบันดาลใจแก่เรามากๆ เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ และคิดว่ามันดีในแบบของมันเอง โดยเฉพาะประเด็นของหนังที่คงฝังใจเราไปอีกนาน

No comments: