Wednesday, August 31, 2016

FERRIS WHEEL (2016, Phuttiphong Aroonpheng, A+30)

FERRIS WHEEL (2016, Phuttiphong Aroonpheng, A+30)

1.ชอบช่วงท้ายของหนังมากนะ คือช่วงแรกๆของหนังมันดีงามตามสไตล์หนังทำนองนี้อยู่แล้ว แต่ช่วงท้ายของหนังเราว่ามันสำคัญมากๆสำหรับเราในแง่การสร้าง “ความเป็นตัวของตัวเอง” ให้กับหนังเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้เราจดจำหนังเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปี

คือช่วงแรกๆของหนังมันทรงพลังมากอยู่แล้ว ในแง่การสะท้อนความลำบากยากแค้นแสนเข็ญของแรงงานพม่าที่ลอบเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ทั้งจากปัญหาในการข้ามพรมแดน, การขาดที่พึ่งพิง, การไม่เป็นที่ต้อนรับ, การถูกมองอย่างเหยียดหยาม, การถูกประณามทั้งที่ไม่ได้ทำผิด, การต้องหลบเจ้าหน้าที่ ฯลฯ หนังสามารถสะท้อนปัญหาหลายอย่างของแรงงานข้ามชาติได้ด้วยสถานการณ์ที่สั้น, กระชับ และทรงพลังมากๆ

คือถ้าหนังมันคงสไตล์ดราม่าแบบนี้ไปตลอด เราก็ชอบหนังสุดๆในระดับ A+30 อยู่ดีนะ แต่เราอาจจะจำมันไม่ได้ในอีกหลายปีข้างหน้า เพราะสาเหตุสำคัญก็คือว่า มันมีหนังสั้นไทยดีๆทำนองนี้ออกมาเยอะมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหนังในกลุ่มของคุณ Supamok Silarak ที่เกือบทุกเรื่องเล่าเรื่องได้ดีมาก, สะท้อนปัญหาของแรงงานต่างชาติได้ทรงพลังมากๆ คือหนังไทยหลายเรื่องที่จับประเด็นแรงงานต่างชาติมัน powerful, realistic, heartbreaking กันเกือบทุกเรื่องน่ะ เพราะผู้สร้างหนังมี skill ที่ดี, รู้ว่าไม่ควรฟูมฟายเกินไป และประเด็นที่หนังมันเล่ามันเอื้อต่อการทำเป็นหนังที่ทรงพลังอยู่แล้ว เพราะมันเป็นปัญหาสังคม/การเมืองที่ร้ายแรงและไม่ได้รับการแก้ไขสักที และมันมี “เหยื่อผู้น่าสงสาร” และ “ผู้ร้าย” (กฎหมาย/อำนาจรัฐ/คนไทยใจแคบ) ที่ชัดเจน (แบบ LES MISERABLES ของ Victor Hugo) และพอเรามีตัวละครเหยื่อและผู้ร้ายที่ชัดเจนแบบนี้แล้ว มันก็ง่ายขึ้นต่อการสร้างหนังที่ทรงพลังออกมา

2.คือช่วงแรกๆของ FERRIS WHEEL มันทำให้เรานึกถึงหนังในกลุ่มของคุณ Supamok Silarak + หนังไทยเรื่องอื่นๆที่พูดถึงแรงงานข้ามชาติ + หนังสะท้อนปัญหาสังคมที่ทรงพลังในแบบ dramatic/realistic อย่างเช่นหนังของ The Dardennes Brothers และ Ken Loach น่ะ หรือพูดง่ายๆก็คือว่า เราชอบช่วงแรกๆของ FERRIS WHEEL แบบสุดๆน่ะแหละ แต่มันอาจจะไม่ “โดดเด่น” ในความทรงจำของเรา เพราะเราจะจดจำมันรวมกับหนังไทยอีก 50 เรื่องที่ดีสุดๆ,พูดถึงประเด็นคล้ายๆกัน และออกมาในโทนเดียวกัน

เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบช่วงท้ายของ FERRIS WHEEL มากๆที่มัน shift tone ไปเป็นเหนือจริง เพราะเรามองว่ามันเป็น personal touch ของคุณ Phuttiphong, มันช่วยสร้างความแตกต่างให้กับหนังเรื่องนี้ และมันก็ทรงพลังสุดๆในตัวมันเองด้วย

3.คือจริงๆแล้วเราก็ไม่รู้ว่าช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้หมายความว่าอะไรนะ เราเป็นคนที่ไม่ถนัดในการตีความ และเราก็ตีความช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ไม่ออกเลยด้วย แต่ในแง่อารมณ์ความรู้สึกแล้ว เราว่ามันใช่มากน่ะ เรารู้สึกว่ามันทรงพลังมากๆทั้งๆที่เราไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอะไร และมันทำให้เรารู้สึก “เศร้าโหวงอยู่ข้างใน” อย่างรุนแรง คือมันไม่ใช่ความเศร้าแบบที่ทำให้เราร้องไห้อย่างรุนแรงนะ แต่มันเป็นความเศร้าแบบแปลกๆ เหมือนอยู่ดีๆก็มีโพรงแห่งความเศร้าและความว่างเปล่าอยู่ข้างในตัวเรา ขณะที่เราดูฉากท้ายๆของหนังเรื่องนี้

4.ที่เราบอกว่าช่วงท้ายของหนังเรื่องนี้ มันดูเหมือนเป็น personal touch ของคุณ Phuttiphong เพราะมันทำให้เรานึกถึง “ความเหวอ” ในหนังของคุณ Phuttiphong เรื่อง A STRANGER FROM THE SOUTH (2007) และ A SUSPENDED MOMENT (2010) น่ะ เพราะหนังสองเรื่องนี้ดูแล้วเหวอมาก เราตีความอะไรไม่ได้เลย  โดยในกรณีของ A SUSPENDED MOMENT นั้น เราว่ามันเหวอเกินไป มันลอยเกินไป เรายึดโยงอารมณ์ความรู้สึกอะไรกับมันได้ยากมาก ส่วน A STRANGER FROM THE SOUTH นั้น เราว่ามันคล้ายกับช่วงท้ายของ FERRIS WHEEL ในแง่ที่ว่า ตัวหนังมันน่าจะสะท้อนปัญหาสังคม/การเมือง แต่ไม่สะท้อนแบบตรงไปตรงมา แต่สะท้อนออกมาในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งดูจบแล้วก็ตีความไม่ออก ไม่รู้อะไรเป็นสัญลักษณ์ของอะไร รู้แต่ว่ามันทรงพลังมากๆ

โดยส่วนตัวแล้ว เราว่า FERRIS WHEEL เป็นการผสมความ realistic กับความเหวอได้อย่างลงตัวมากๆนะ เพราะถ้าหากมัน realistic อย่างเดียว มันก็จะ “ไม่โดดเด่น” แต่ถ้ามันเหวอทั้งเรื่องแบบ A STRANGER FROM THE SOUTH หรือเหวอจนหลุดลอยไปเลยแบบ A SUSPENDED MOMENT มันก็จะสะท้อนปัญหาสังคมไม่ได้มากนัก

5.ถึงแม้เราไม่รู้ว่าช่วงท้ายของ FERRIS WHEEL สือถึงอะไร แต่โดยส่วนตัวแล้ว นอกจากช่วงท้ายของหนังมันทำให้เรารู้สึกเศร้าโหวงข้างในอย่างรุนแรงแล้ว มันยังทำให้เรานึกถึงหนังไทยอีกหลายๆเรื่องด้วย

คือช่วงท้ายของ FERRIS WHEEL มันฉายให้เห็นหน้าคนหลายคน ที่น่าจะอยู่ในสภาพเดียวกับนางเอก คือเป็นแรงงานพม่าที่ลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และต้องใช้ชีวิตอยู่ในไทยอย่างยากลำบากต่อไป แต่หนังไม่ได้เล่าชีวิตของคนเหล่านี้ เราได้เห็นใบหน้าของคนราวสิบคน แต่เราไม่รู้เรื่องราวของเขา เราต้องจินตนาการชีวิตของพวกเขาเอง

คือการได้เห็นใบหน้าของคนเหล่านี้ มันทำให้เราจินตนาการว่า ชีวิตของพวกเขาอาจจะเหมือนกับชีวิตของตัวละครในหนังไทยหลายๆเรื่องที่เราเคยดูมาก็ได้น่ะ พวกเขาอาจจะ

5.1 ถูกข่มขืนแบบในหนังเรื่อง OVERSEAS (2012, Anocha Suwichakornpong + Wichanon Somumjarn)

5.2 มีปัญหาเวลาเข้าโรงพยาบาลแบบในหนังเรื่อง ADMIT (2007, Natthapon Timmuang)

5.3 เจอปัญหามากมายแบบในหนังเรื่อง COLORS OF OUR HEARTS (2009, Supamok Silarak)

5.4 เจอนายจ้างที่ดูเหมือนใจบุญ แต่จริงๆแล้วใจโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนา แบบในหนังเรื่อง AIM (2016, Aroonakorn Pick)

5.5 ถูกคนไทยหลอก แบบในหนังเรื่อง หม่า เอ๊ (2015, Natthapat Kraitrujpol)

 5.6 ถูกคนไทยรังเกียจ แบบในหนังเรื่อง OKAY? (2015, Jidapa Ratanasopinswat)

5.7 ทำงานหนักมาก แบบในหนังเรื่อง มะยอลิเจี๊ยะ/ความหวัง (2010, Kulpreeya Kokmanee)

5.8 ขาดอากาศหายใจ ตายในรถตู้คอนเทนเนอร์ แบบที่เราเคยได้ยินในข่าว ซึ่งเป็นประเด็นที่คุณ Teerawat Mulvilai เคยนำมาดัดแปลงเป็นละครเวที

หรือถ้าหากพวกเขาโชคดีจริงๆ พวกเขาอาจจะพอหาความสุขได้บ้างเล็กน้อยในประเทศไทยก็ได้ อย่างเช่นในหนังเรื่อง BLISSFULLY YOURS (2002, Apichatpong Weerasethakul), GOLDEN SAND HOUSE (2005, Chulayarnnon Siriphol), NEIGHBORLY LABOR (2012, Vorakorn Ruetaivanichkul), MYANMAR IN LOVE IN BANGKOK (2014, Nichaya Boonsiripan), BRIDGE OF VOICES (2014, Phil America, video installation) ,เปียว (SMILE) (2016, Natthanon Tapanya) และนางส่วย (อรรคพล สาตุ้ม)

6.ที่เราลิสท์รายชื่อหนังเหล่านี้มาหลายเรื่องในข้อข้างต้น นอกจากจะบอกว่า ช่วงท้ายของ FERRIS WHEEL มันทำให้เราจินตนาการชีวิตของคนต่างๆตามหนังข้างต้นแล้ว เรายังต้องการจะแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า มันมีหนังไทยดีๆมากมายหลายเรื่องที่พูดถึงแรงงานข้ามชาติ เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้ที่สร้างหนังเกียวกับประเด็นนี้ที่จะ

6.1 เล่าเรื่องที่ไม่ซ้ำกับหนังเรื่องอื่นๆ

6.2 สร้างความโดดเด่นให้กับหนังของตนเอง เพราะมันมีหนังที่ “ดีสุดๆ” มากมายหลายเรื่องแล้วที่พูดถึงคนกลุ่มนี้

และเราว่า FERRIS WHEEL ทำได้ดีมากในการสร้างความโดดเด่นให้กับหนังของตนเอง เราก็เลยชอบหนังเรื่องนี้มากๆจ้ะ


No comments: