KHUN PHAN (2016, Kongkiat Komesiri, A+25)
ถ้าหากตัดประเด็นเรื่องทัศนคติทางการเมืองที่อาจจะมีปัญหาออกไป
เราก็ว่าหนังเรื่องนี้สนุกดี
เราว่าก้องเกียรติสามารถเอาเรื่องไสยาศาสตร์มาทำให้เป็นหนังที่สนุกได้
ในขณะที่คนอื่นๆอาจจะทำออกมาแล้วเละตุ๊มเป๊ะ เพราะตอน “ลองของ” (2005) มันก็เป็นการเอาไสยาศาสตร์มาทำให้เป็นหนังสนุกมากๆ
และในขุนพันธ์ มันก็เป็นการเอาไสยาศาสตร์มาผสมกับหนังคาวบอย
แล้วได้ผลออกมาเป็นหนังที่สนุกมากๆในแบบที่ไม่ซ้ำกับหนังชาติอื่นๆ
พอเราได้อ่านสิ่งที่ชาญชนะ หอมทรัพย์เขียน เราถึงได้รู้ว่ามันเคยมีการสร้างหนังบู๊ไทยปนไสยาศาสตร์มาแล้วหลายเรื่องในอดีต
แต่เราไม่เคยได้ดูหนังดีๆในกลุ่มนี้ คือมันคงมีหนังดีๆในกลุ่มนี้อยู่น่ะแหละ
แต่เราเพิ่งมาตามดูหนังไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา
เราเลยแทบไม่เคยดูหนังดีๆเก่าๆในกลุ่มนี้เลย
คือเราเคยดูแต่หนังอย่าง “5 แถว” (2008, นะติ พันธุ์มณี) และ
“หนูกันภัย ศึกมหายันต์ ยิงกันสนั่นจอ” (2010, Nutpeera Chomsri) ซึ่งเป็นหนังบู๊ไสยาศาสตร์ที่โสมมมากๆน่ะ คือดูแล้วรับไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นพอมาเจอหนังอย่างขุนพันธ์ เราก็เลยปลาบปลื้มมากๆในแง่ที่ว่า
หนังบู๊ไสยาศาสตร์ดีๆ มันก็สร้างกันได้นะ มันไม่จำเป็นต้องออกมาโสมมแบบ 5 แถวแต่อย่างใด
LIGHTS OUT (2016, David F. Sandberg, A+30)
เราอยู่ในฝ่ายที่ดูหนังเรื่องนี้แล้วอินมากๆ ลุ้นระทึก
สนุกไปกับมันมากๆ
คือปกติเราจะมีปัญหากับหนังผีบางเรื่องในแง่ที่ว่า ผีในหนังบางเรื่องมันมีอิทธิฤทธิ์มากเกินไปน่ะ
ผีในหนังบางเรื่องจริงๆแล้วมันสามารถฆ่าเราได้ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นเราก็เลยไม่ลุ้นไปกับหนัง
เพราะรู้สึกว่าถ้าผีในหนังเรื่องนั้นมันมีอิทธิฤทธิ์มากขนาดนั้น
เราก็ไม่รู้จะสู้กับมันไปทำไม ยังไงก็แพ้อยู่ดี
เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบหนังบางเรื่องที่มันสร้าง “กติกาการเล่นเกม”
ขึ้นมา เพื่อบอกคนดูให้รู้ว่า มันมีทางเอาชนะผีในหนังเรื่องนี้ได้นะ ผี/สัตว์ประหลาด/อสูรในหนังเรื่องนี้มันมีจุดอ่อนอย่างนี้ๆ
เพราะฉะนั้นถ้าหากคุณเล่นเกมดีๆ คุณอาจจะเอาตัวรอดได้
ซึ่งหนังในกลุ่มนี้ก็รวมถึงหนังชุด A NIGHTMARE ON ELM STREET, THE RING, HUSK
(2011, Brett Simmons)
เราก็เลยชอบ LIGHTS OUT ที่มันเหมือนสร้างกติกาในการเล่นเกมขึ้นมาเหมือนกัน
และมันดูจริงจังกับเกมมากพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังอย่าง DARKNESS
FALLS (2003, Jonathan Liebesman) ที่เหมือนผีในหนังจะต้องพึ่งพิงความมืดเหมือนกัน
แต่ DARKNESS FALLS ทำออกมาแล้วน่าเบื่อสำหรับเรา
แต่หนังผีที่ไม่ได้มีกติกาในการเล่นเกม เราก็ชอบเหมือนกันนะ
ถ้าหากมันมีข้อดีอื่นๆที่สามารถสร้างความพึงใจให้แก่เราได้ โดยเฉพาะหนังอย่าง BOOGEYMAN (2005, Stephen Kay) และ FEAR OF THE DARK (2003, K.C. Bascombe) ที่มันทำให้เราเข้าใจความกลัวของตัวละครที่มีต่อความมืดได้ดีจริงๆ
BARRIO (1998, Fernando León de Aranoa, Spain, A+30)
หนังเกี่ยวกับชีวิตเด็กเหลือขอ 3 คน ซึ่งเด็กๆในหนังก็เป็นสีเทาดี
คือไม่ได้ชั่วร้ายแบบผิดมนุษย์มนา แต่เป็นเด็กๆที่สภาพแวดล้อม, ปัญหาชีวิต,
ปัญหาครอบครัว อาจจะผลักดันให้พวกเขาดำเนินชีวิตผิดพลาดได้
ซึ่งเด็กๆแต่ละคนก็มีระดับของหิริโอตตัปปะแตกต่างกันไป
เราชอบการเปรียบเทียบชีวิตของเด็กคนที่มีหิริโอตตัปปะน้อยสุด
กับนักไต่ลวดมากๆ คือเด็กคนนี้เป็นเด็กที่เกเรที่สุด และเขาชอบฝันอยากเป็นนักไต่ลวด
และมันทำให้นึกถึงชีวิตของเรา คือเราไม่ได้เป็นเด็กที่เกเรนะ
แต่เราว่าชีวิตของคนบางคนมันเหมือนเป็นการไต่ลวดระหว่างอาคารตึกสูงโดยที่เราไม่รู้ตัวน่ะ
คือเราอาจจะนึกว่าเราใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยมากๆ ชีวิตเป็นสุขดี มีเสถียรภาพ
แต่เราไม่รู้หรอกว่า ในบางวินาที ถ้าหากเราตัดสินใจผิดพลาด
ถ้าหากเราตัดสินใจเพราะถูกโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะเข้าครอบงำแม้แต่เพียงแค่วูบเดียว
มันอาจจะทำให้ชีวิตเราพังพินาศได้ในทันที
เหมือนกับการเดินไต่ลวดที่ถ้าหากเราไม่รักษาสมดุลแม้เพียงวินาทีเดียว
เราก็อาจร่วงตกลงมาตายได้ในทันที
เราก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สร้าง metaphor ที่เข้าท่ามากๆสำหรับเรา
และมันทำให้นึกถึงชีวิตเราเองอย่างมากๆ
หนังมีการสร้าง moment ที่งดงามมากๆในช่วงท้ายด้วย
ที่เป็นการแสดงให้เห็นภาพชาวยิปซีร้องเพลงเพื่อขอเศษตังค์จากผู้คนในแฟลต แล้วผู้คนในแฟลตก็โยนเศษตังค์ลงมา
คือฉากนี้เคยปรากฏในช่วงต้นของเรื่องแล้ว แล้วตัวละครเด็กคนนึงก็บอกว่าสิ่งนี้มันงดงามมากๆ
ซึ่งเราก็งงว่ามันงดงามตรงไหน แต่พอฉากนี้มาปรากฏอีกทีในช่วงท้าย
แล้วตัวละครบอกว่าการได้เห็นเงินโปรยลงมาจากเบื้องบน มันเป็นสิ่งที่งดงามมากๆ การ replay
ฉากนี้ในช่วงท้ายของเรื่องมันก็สร้างอารมณ์สะเทือนใจได้อย่างรุนแรงเหมือนกัน
No comments:
Post a Comment