CHIHAYAFURU PART 1 (2016, Norihiro
Koizumi, Japan, A+30) + CHIHAYAFURU PART 2 (A+15)
เหมือนหนังสูตรสำเร็จเกี่ยวกับกีฬาของญี่ปุ่น
เพียงแต่เปลี่ยนมาเล่าเรื่องการแข่งไพ่ Karuta แทน ภาคแรกสนุกแบบสูตรสำเร็จของหนังแนวนี้
แต่ภาคสองไม่ค่อยสนุก เพราะมันหันมาเน้นเรื่องภายในจิตใจตัวละคร
ซึ่งก็ไม่ได้ให้ข้อคิดอะไรใหม่ๆ คู่แข่งของนางเอกก็น้อยเกินไป
คือนางเอกควรจะเจอคู่แข่งใหม่สัก 4 คนในภาคสอง
ที่แต่ละคนมีอิทธิฤทธิ์แตกต่างกีนไป แทนที่จะเจอคู่แข่งใหม่แค่คนเดียว
1.เป็นหนังที่ถ้าหากอ่าน “เนื้อเรื่อง” ในรูปของตัวอักษรแล้ว เราคงรู้สึกอี๋มากๆ แต่ต้องนับถือความสามารถของผู้กำกับหนังเรื่องนี้จริงๆที่สามารถทำ “เนื้อเรื่อง” ที่ไม่เข้าทางเราอย่างรุนแรงให้ออกมาเป็นหนังที่น่ารื่นรมย์ได้ ซึ่งเราก็ชี้เฉพาะเจาะจงลงไปไม่ได้แน่ชัดว่า เพราะเหตุใดเราถึงไม่รู้สึกอี๋กับหนังเรื่องนี้ แต่คิดว่าปัจจัยนึงที่ช่วยหนังเรื่องนี้ได้มากๆ คือการที่หนังเรื่องนี้ใส่อารมณ์ตลกเข้าไปในระดับพอเหมาะ และลดอารมณ์ซาบซึ้งในหลายๆฉากลงไปให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
คือหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องของร็อคเกอร์หนุ่มที่ตกอับ และพาแฟนสาวที่ตั้งครรภ์กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด เขาเจอกับพ่อแม่วัยชรา และพบว่าพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย นอกจากนี้ เขายังพยายามช่วยให้พ่อบรรลุความปรารถนาต่างๆก่อนตาย อย่างเช่น “การตามหาพิซซ่าอร่อยๆที่พ่อเคยกินเมื่อ 20 กว่าปีก่อน แต่พ่อจำไม่ได้ว่ากินจากร้านพิซซ่าร้านไหน” หรือ “พา Eikichi Yazawa ร็อคเกอร์หนุ่มที่พ่อชื่นชอบในทศวรรษ 1970 มาเยี่ยมพ่อที่นอนป่วย” หรือ “การที่พ่ออยากเห็นงานแต่งงานของลูกชายก่อนตาย”
คือเนื้อหาทำนองนี้ มันดัดแปลงออกมาเป็นหนังดราม่าซาบซึ้งเรียกน้ำตาแบบโฆษณาไทยประกันชีวิตได้ง่ายมากๆเลยนะ หรือดัดแปลงออกมาเป็นหนังไทยแบบหนัง GDH ได้ง่ายมากๆเลย แต่หนังเรื่องนี้กลับหลีกเลี่ยงหลุมพรางบ่อน้ำตานรกแตกที่คอยดักรออยู่ในทุกๆฉากได้อย่างดีงามมากๆ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าผู้กำกับเขาทำได้ยังไง แต่เขาก็ทำได้สำเร็จ เขาใส่อารมณ์ตลกเข้าไปในหลายๆฉาก และมันก็ช่วยลดความซาบซึ้งลงได้เป็นอย่างดี
มันเหมือนกับว่าเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ มันเอื้อให้เป็น “น้ำตาลปี๊บ” ที่หวานเอียนจนอ้วกแตกได้ง่ายมากๆเลยน่ะ แต่พอเราหยิบไอ้สิ่งที่เรานีกว่าเป็นน้ำตาลปี๊บมากิน เรากลับพบว่าจริงๆแล้วมันเป็นขนมเข่งรสเค็มที่อร่อยมากๆ
2.เราว่าผู้กำกับเขา balance อารมณ์ได้ดีมากๆด้วยแหละ คือหลายๆฉากมันซาบซึ้ง แต่มันก็ไม่ซาบซึ้งเกินไป และหลายๆฉากมันตลก แต่มันก็ไม่ได้ตลกจนถึงขั้นที่เป็นการดูถูกเหยียดหยามหนังซาบซึ้ง
ตัวอย่างของฉากเหล่านี้ก็มีเช่น
SPOILERS ALERT
2.1 ฉากแดกพิซซ่าจาก 3 ร้านพร้อมกัน คือฉากนี้เนื้อหาของมันจริงๆแล้วเหมือนจะซาบซึ้ง แต่ผู้กำกับดูเหมือนจะเน้นอารมณ์ตลกในฉากนี้ผ่านทางการแสดงของตัวละคร และมันก็ช่วยลดทอนความซาบซึ้งแบบเอียนๆลงได้
คือเราว่าฉากนี้ถ้าหากผู้กำกับเลือกวิธีการถ่ายอีกแบบนึง คนดูอาจจะร้องไห้ไปเลยก็ได้ คือฉากนี้อาจจะถ่ายโดยเน้นความสุขของตัวพ่อเมื่อเจอพิซซ่าที่ตามหามานาน พระเอกมองเห็นพ่อแดกพิซซ่าอย่างมีความสุข พระเอกก็มีความสุข คนส่งพิซซ่าจากทั้ง 3 ร้านก็ร้องไห้ออกมาที่ตัวเองมีส่วนในการช่วยสร้างความสุขให้แก่พ่อ-ลูกคู่นี้
แต่ในฉากนี้ ตัวพ่อกลับแดกพิซซ่าอย่างมูมมามจนน่าขัน อารมณ์ซาบซึ้งก็เลยกลายเป็นตลกเล็กน้อยแทน พระเอกก็ไม่ได้วี้ดว้ายกระตู้วู้ที่ตัวเองปฏิบัติภารกิจสำเร็จ ส่วนคนส่งพิซซ่าก็ร้องไห้ แต่หนังไม่ได้พยายามทำให้คนดูร้องไห้ตามคนส่งพิซซ่า หนังกลับทำให้เรามองดูความซาบซึ้งของตัวละครกลุ่มนี้ในลักษณะขบขันเล็กน้อยแทน เราก็เลยรู้สึกว่าอารมณ์ของฉากนี้มันออกมาพอเหมาะมาก คือถ้าผู้กำกับทำไม่ดี ฉากนี้ก็อาจจะออกมาหวานเลี่ยนเกินไป หรือไม่ก็อาจจะออกมาเป็นการเย้ยหยันตัวละครมากเกินไป
2.2 ฉากที่พ่อซึ่งมีอาการความจำเสื่อมคุยกับลูกชายริมชายทะเล และพูดถึงความหวังในอดีตที่ว่า พอลูกชายออกจากเกาะไปแล้ว ลูกชายจะประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง
จริงๆแล้วเนื้อหาในฉากนี้มันเอื้อให้บีบน้ำตาได้ง่ายมาก แต่ผู้กำกับยั้งมือได้ดีมาก เขาไม่เร้าอารมณ์มากเกินไป และตัดจบฉากนี้ในจังหวะที่พอเหมาะ
2.3 ฉากตอนจบที่พระเอกออกจากเกาะ และตะโกนว่าเขาจะพยายามมีชื่อเสียงโด่งดัง (ตามความหวังของพ่อเมื่อหลายปีก่อน) แต่แม่เขาตะโกนกลับมาในทำนองที่ว่า แค่ทำงานหาเงินพอเลี้ยงชีพได้ก็พอแล้ว (ถ้าจำไม่ผิด)
เราว่าฉากนี้มันสะท้อนความงดงามของหนังเรื่องนี้ได้ดีทีเดียว สิ่งที่พระเอกตะโกนออกไป เป็น “การทำตามขนบหนังครอบครัวแนวซาบซึ้ง” และเป็น cliché แบบที่พบได้บ่อยในหนังทำนองนี้ มันเป็นการแสดงความรักต่อพ่อหรือแม่ด้วยการพยายามทำในสิ่งที่พ่อหรือแม่ฝันไว้ให้เป็นจริง โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อหรือแม่ล่วงลับไปแล้ว
แต่สิ่งที่แม่ของเขาตะโกนกลับออกมา เป็นสิ่งที่ทำลายความ cliché แบบหนังกลุ่มนี้ และดึงฉากนี้กลับเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริง มันเหมือนกับจะบอกว่า “ชีวิตเราก็เท่านี้แหละ ลูกไม่ต้องทำตามความฝันของพ่อแม่ก็ได้ ไม่ต้องตั้งความหวังให้สูงมากเกินไปก็ได้ ชีวิตมนุษย์เรามันยากลำบากพออยู่แล้ว แค่ทำงานหาเงินพอเลี้ยงชีพได้ก็พอแล้ว”
3.ต่อเนื่องจากข้อ 2.3 เราว่าสิ่งที่เราชอบสุดๆในหนังเรื่องนี้ก็คืออารมณ์แบบข้อ 2.3 ที่เราพบได้ในอีกหลายๆส่วนในหนังเรื่องนี้นี่แหละ นั่นก็คือ การนำเสนอ “สิ่งที่ดูเหมือนจะนำไปสู่อารมณ์ซาบซึ้งแบบ cliché” แต่สิ่งนั้นถูกตบกลับด้วย “อารมณ์ตลก, ความเป็นจริงของชีวิต หรือความธรรมดาของชีวิต”
ตัวอย่างของอารมณ์แบบนี้ในส่วนอื่นๆของหนังก็มีเช่น
3.1 ฉากพ่อกำกับวงโยธวาทิตทางดาดฟ้าตึกสองตึก คือฉากนี้ในตอนแรกเหมือนจะนำไปสู่อารมณ์ประเภทที่ว่า “ครูผู้มีสปิริต ห่วงใยลูกศิษย์แม้ป่วยหนัก” หรือ “ลูกศิษย์ร่วมใจทำเพื่อคุณครูที่ใกล้ตาย” แต่ฉากนี้กลับจบลงด้วยการที่ลูกศิษย์คนนึงท้วงติงว่า การเล่นเครื่องดนตรีบนดาดฟ้าตึกแบบนี้จะทำให้สนิมขึ้นเครื่องดนตรี เพราะไอจากทะเล และการจบฉากแบบนี้มันเหมือนเป็นการนำเอา “ความเป็นจริงของชีวิต” มาเจือจางอารมณ์ซาบซึ้งแบบ cliché ได้เป็นอย่างดี
3.2 ฉากที่พระเอกปลอมตัวเป็น Eikichi Yazawa มาหลอกพ่อ คือจริงๆแล้วเนื้อหาของฉากนี้มันนำเสนอออกมาในแนวซาบซึ้งกินใจก็ได้ แต่ฉากนี้กลับทำออกมาในแบบตลกเล็กน้อย และสะท้อน “ความธรรมดาของชีวิต” ได้ดี คือในช่วงแรกๆของหนังนั้น เรานึกว่าพระเอกจะลงทุนดั้นด้นไปหา Eikichi Yazawa ตัวจริงเพื่อพามาเจอพ่อ แต่พอพระเอกเลือกใช้วิธีปลอมตัวแบบนี้ มันก็เหมือนเป็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบทุนต่ำได้ดีมากๆ
3.3 ฉากแต่งงาน ที่หนังเลือกเน้นอารมณ์ตลก แทนอารมณ์ซาบซึ้ง, การที่ฝนตกหนักในวันแต่งงาน ซึ่งเป็นวันที่ควรจะมีท้องฟ้าสดใส ก็เหมือนเป็นการเอา “ความเป็นจริงของชีวิต มาเจือจางอารมณ์ซาบซึ้ง”, การเอา “แม่ชี” มาทำหน้าที่แทนบาทหลวง ก็เหมือนเป็นการ “แก้ปัญหาแบบทุนต่ำ” และการใช้ไฟดวงใหญ่จากโรงพยาบาลในงานแต่งงาน ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบทุนต่ำเช่นกัน คืออะไรแบบนี้มันได้ทั้งอารมณ์ขันเล็กน้อย, การทำให้อารมณ์ซาบซึ้งเจือจางลง และสะท้อน “ความธรรมดาของชีวิตมนุษย์” ได้ดีมากๆด้วยในเวลาเดียวกัน
3.4 ฉากจบ ที่พระเอกกับเมียคุยกันเรื่องลูกในท้อง คือจริงแล้วๆมันง่ายมากที่หนังเรื่องนี้อาจเลือกนำเสนอฉากนี้ในแบบซาบซึ้ง เพื่อแสดงให้เห็นวัฏจักรชีวิตที่คนชราตายไป ความหวังของชีวิตฝากไว้กับเด็กๆรุ่นใหม่ แต่หนังกลับเลือกใช้วิธีไม่เร้าอารมณ์ซาบซึ้งในฉากนี้เลย ฉากพระเอกกับเมียคุยกันถูกนำเสนอแบบ “เรียบง่ายและธรรมดา” และเราว่ามันเป็นวิธีการที่ถูกต้องมาก
4.ชอบที่หนังไม่นำเสนอฉากตัวละครตายและฉากงานศพด้วย คืออยู่ดีๆหนังก็ตัดข้ามฉากการตายและฉากงานศพออกไปเลย เราว่ามันเป็น ellipsis ที่น่าประทับใจมาก และแสดงให้เห็นว่าผู้สร้างหนังเรื่องนี้มีวิจารณญาณในการเลือกฉากที่ดีมาก
5.ถึงแม้เราจะชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ แต่เราก็ไม่แน่ใจนะว่า Shuichi Okita เป็น auteur หรือเปล่า และอะไรเป็นลายเซ็นของเขา คือตอนนี้เราได้ดูหนังของเขาแค่ 3 เรื่อง คือเรื่องนี้, A STORY OF YONOSUKE (2013) และ THE CHEF OF SOUTH POLAR (2009) ซึ่งเราชอบมากๆทั้ง 3 เรื่อง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าอะไรคือ “จุดเด่น” ของผู้กำกับคนนี้ และการที่ A STORY OF YONOSUKE เป็นหนังที่สุดยอดมากๆนี่ มันเป็นเพราะผู้กำกับ หรือเป็นเพราะตัวนิยายดั้งเดิมมันดีอยู่แล้วกันแน่
No comments:
Post a Comment