Sunday, April 23, 2017

GAHOLMAHORATUEG (2014, Prapt, novel, A+30)

กาหลมหรทึก (2014, ปราปต์, นิยาย, A+30)
♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥
♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥
♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥

1.สนุกมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ลุ้นระทึก ตื่นเต้นดีจริงๆ (คล้ายๆกับการดูหนัง thriller/murder mystery) นี่เมื่อคืนเรากะจะเข้านอนตอนเที่ยงคืน แต่พอดีอ่านมาถึง 3 ใน 4 ของเล่มแล้ว และมันกำลังลุ้นมากๆ เราก็เลยต้องอ่านต่อให้จบไปเลย ก็เลยเข้านอนตอน 01.30 น.แทน 

แต่เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญนิยายแนวนี้นะ หรือจริงๆแล้วเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมอะไรด้วย ก็เลยไม่สามารถเปรียบเทียบอะไรได้ แต่เราว่ามัน สนุกกว่าการอ่านนิยายของอกาธา คริสตี้ กับนิยายชุด Sherlock Holmes น่ะ ไม่ใช่ว่ามัน ดีกว่านะ แต่เหมือนนิยายเรื่องนี้มี การเร้าอารมณ์ลุ้นในแบบที่คล้ายๆกับหนัง thriller ยุคปัจจุบันน่ะ และการเร้าอารมณ์ลุ้นนี้มันก็เลยทำให้เราสนุกกับมันในแบบที่อยากอ่านต่อไปเรื่อยๆให้จบไปเลย ในขณะที่นิยายของอกาธา คริสตี้กับ Sherlock Holmes มันจะมี pacing อีกแบบนึง ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจในส่วนนี้เหมือนกัน เพราะเราก็ไม่ได้อ่านนิยายของสองคนนี้มานานราว 20 ปีแล้ว แต่เหมือน pacing ของอกาธา คริสตี้มันจะไม่ลุ้นระทึกมากเท่านี้ มันจะ สุขุมกว่า ถ้าหากเราจำไม่ผิด

2.เราว่าการสร้างความลุ้นระทึกในนิยายเรื่องนี้มันทำให้นึกถึง การตัดต่อหรือ การตัดสลับฉากในหนังยุคปัจจุบันนะ คือเราว่าผู้นำนิยายเรื่องนี้ไปดัดแปลงสร้างเป็นหนังหรือละครทีวีจะดัดแปลงได้ง่ายในส่วนนึง เพราะนิยายมันมีการตัดต่อฉากแบบหนังไว้ให้แล้วในหลายๆจุด 

คือการตัดสลับฉากในนิยายเรื่องนี้ในหลายครั้งมันช่วยสร้างความลุ้นระทึกได้ดีมากน่ะ คือการตัดฉากแต่ละครั้งบางทีมันเป็นการตัดสลับระหว่างเหตุการณ์ของตัวละครในต่างสถานที่กัน หรือเป็นการตัดต่อจากช่วงเวลานึงไปยังอีกช่วงนึงของวัน แต่มันมักจะตัดต่อในจังหวะที่สร้างความลุ้นมากๆ คือพอเนื้อเรื่องในฉากกำลังดำเนินไปถึงจุดที่ตึงเครียดนิยายก็จะหันไปเล่าเรื่องของตัวละครอีกกลุ่มในอีกต่างสถานที่แทน ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือว่า พอตัวละคร A เผชิญกับปัญหา B ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดนึง นิยายก็จะตัดไปเล่าเรื่องของตัวละคร C ในอีกสถานที่นึง เราคนอ่านก็เลยเหมือนถูกกระตุ้นให้ต้องรีบอ่านเรื่องขอB ต่อไปเรื่อยๆให้จบฉากนั้นโดยเร็ว เพื่อที่จะได้รู้ว่าชะตากรรมของ A เป็นอย่างไร เมื่อนิยายกลับมาเล่าเรื่องของ A อีกครั้งในฉากต่อๆมา

เราว่าการตัดต่อฉากแบบนี้เป็นอะไรที่นิยายเรื่องนี้ทำได้ดีสุดๆ คือคนเขียนต้องรู้วิธี build สถานการณ์ในแต่ละฉากให้ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ และต้องรู้ว่าต้องตัดจบฉากนั้นตรงไหน ถึงจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกลุ้นมากๆ และอยากอ่านต่อไปจนหยุดไม่ได้ และผู้เขียนต้องรู้วิธีแยกสถานการณ์ของแต่ละตัวละครให้ดำเนินเคียงคู่กันไปด้วย คือมันต้องมีสถานการณ์ตึงเครียด 2-3 สถานการณ์ดำเนินเคียงคู่กันไป ผู้เขียนถึงสามารถตัดสลับฉากระหว่างสถานการณ์เหล่านี้ได้ และต้องรู้วิธีสร้าง ความคล้องจองระหว่างอารมณ์ตึงเครียดของแต่ละสถานการณ์ parallel เหล่านี้ด้วย อารมณ์ที่เกิดขึ้นเวลาตัดสลับฉากต่างๆมันจะได้สอดประสานกันได้อย่างงดงาม 

การตัดต่อระหว่างสถานการณ์ตึงเครียดแบบนี้ทำให้นึกถึงโครงสร้างของละครทีวีซีรีส์ของฝรั่งด้วยนะ คือในละครทีวีซีรีส์ของฝรั่งประเภทสืบสวนสอบสวนนั้น ในแต่ละตอนตัวละครที่มักจะเป็นตำรวจมักจะเผชิญกับคดีสองคดีในเวลาเดียวกัน และละครตอนนั้นก็จะตัดสลับไปมาระหว่างการสืบสวนสองคดีนั้น แต่มันแตกต่างกันตรงที่ว่าเวลาดูละครซีรีส์มันจะไม่ลุ้นมากเท่ากับตอนอ่านนิยายเรื่องนี้น่ะ เพราะละครซีรีส์ประเภทสืบสองคดีให้จบในหนึ่งชั่วโมงมันไม่มีเวลาสร้างสถานการณ์ลุ้นระทึกต่อเนื่องได้อย่างสุดขีดแบบในนิยายเรื่องนี้ คือมันต้องเสียเวลาปูพื้น, สร้างผู้ต้องสงสัยหลายๆคน, เหยาะเบาะแส, ใส่ชีวิตส่วนตัวของตำรวจเข้ามานิดนึง และค่อยทวีความตึงเครียดของสถานการณ์ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเวลาหนึ่งชั่วโมงในซีรีส์แต่ละตอนมันไม่เอื้อให้ทำอะไรได้มากนัก เหมือนสร้างความตึงเครียดไปได้ 10 หน่วย ละครก็ต้องรีบคลี่คลายสถานการณ์ให้จบภายในหนึ่งชั่วโมงแล้ว แต่พอเป็นนิยายมันก็เลยมีโอกาสทำอะไรได้มากกว่าเยอะ มันสะสมปม, เบาะแส, เงื่อนงำ, ผู้ต้องสงสัย, เหยื่อฆาตกรรมไปได้เรื่อยๆ เหมือนมันทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดไปได้ 169 หน่วยแล้วถึงค่อยคลี่คลาย แทนที่จะตึงเครียดแค่ 10 หน่วยแล้วก็ต้องรีบคลี่คลายแบบในทีวีซีรีส์

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
3.นิยายเรื่องนี้มันตอบสนอง fantasy ของเราอย่างมากๆ คือเราคิดมานานหลายปีแล้วว่

3.1 อยากให้มีคนแต่งนิยายแบบ Dan Brown, หรือแบบนิยายเรื่อง FLICKER (1991, Theodore Roszak) หรืออย่างละครทีวีเรื่อง THE AVIGNON PROPHECY (2007, David Delrieux) ที่เน้นการสืบปริศนาฆาตกรรมที่เกี่ยวพันกับอะไรโบราณๆ เพียงแต่เปลี่ยนฉากหลังมาเป็นไทย โดยเฉพาะวัดวาอาราม โบราณวัตถุของไทย

3.2 อยากให้มีความจิ้นวายในนิยายที่ไม่ใช่แนวโรแมนติก/อีโรติก ซึ่งตัวละครตำรวจหนุ่มสองคน กบี่กับแชนในเรื่องนี้ ทำหน้าที่นี้ได้ดีมากๆ 

3.3 ตัวละครฆาตกรในเรื่องนี้ ก็เป็นตัวละครที่เข้าทางเรามากในระดับนึง

4.ชอบการใช้กลบท, โคลงกลอน และลักษณะบางอย่างของภาษาไทยในนิยายเรื่องนี้มากๆ คือมันเป็นการใช้กลบทและโคลงกลอน ไม่ใช่เพื่อการเชิดชูความเป็นไทยโดยตรง แต่เพื่อนำมันมาใช้ตีความปริศนาฆาตกรรมน่ะ และเราว่ามันเป็นอะไรที่เข้าท่าสำหรับเรามากๆ คือโคลงกลอนโดยทั่วๆไปมันเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กับการตีความอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงแค่การตีความว่า กวีต้องการจะสื่อถึงอะไร เพราะฉะนั้นพอนิยายเรื่องนี้นำโคลงกลอนมารวมเข้ากับปริศนาฆาตกรรม มันก็เลยเป็นการตีความที่สนุกมาก 

เราเองก็เป็นคนที่ชื่นชม กลบทมากๆด้วย เราว่ามันเป็นอะไรที่แต่งยากสุดๆ และเป็นการผสมผสานระหว่าง ความสามารถทางภาษากับ การเล่นเกมเข้าด้วยกัน ในแง่นึง เราว่าความพยายามจะอ่านกลบทแบบซ่อนรูปคำประพันธ์ หรือ กลแบบนั้น มันคล้ายกับการทำแบบทดสอบไอคิวเลย คือกูไม่รู้จะเชื่อมโยงมันยังไง หรืออ่านมันยังไง เวลาเราเจอกับ กลแบบแล้วเราหาวิธีเชื่อมโยงคำในกลแบบเข้าด้วยกันไม่ได้ มันคล้ายๆกับความรู้สึกตอนทำแบบทดสอบไอคิวจนถึงหน้าที่เราเริ่มตอบไม่ได้อีกต่อไป 555

ในแง่นึง เรารู้สึกว่าเราอยากให้นิยายเรื่องนี้กลายเป็น หนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กม.3 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กหลายๆคนรู้สึกอยากเรียนภาษาไทยมากขึ้นเมื่อถึงเวลาต้องเลือกวิชาเรียนเองในชั้นมัธยมปลาย 555

สรุปว่า การใช้ กลบทในนิยายเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราชอบมากที่สุดในนิยายเรื่องนี้จ้ะและถือเป็นสิ่งที่เราไม่เคยพบเคยเจอมาก่อนเลยด้วย

5.เรายอมรับว่า เราเดาฆาตกรไม่ถูกนะ อ่านแล้วนึกถึง THE MURDER OF ROGER ACKROYD (1926, Agatha Christie) ที่ทำให้เราอ้าปากค้างตอนเฉลยตัวฆาตกรเหมือนกัน

6.เราว่านิยายเรื่องนี้ ไม่ตายตอนจบด้วย คือนิยายแนวปริศนาฆาตกรรมส่วนใหญ่ พอเฉลยตัวฆาตกรแล้ว เนื้อเรื่องคลี่คลายแล้ว มันจะไม่เหลืออะไรค้างคาใจอีกต่อไปน่ะ มันเหมือนน้ำอัดลมที่ถูกเขย่าอย่างแรง แล้วพอเปิดขวด มันก็มีฟองฟู่ๆออกมาเยอะมาก ก่อนจะหายไปจนหมด ความรู้สึกเวลาที่เราดูหนังแนวปริศนาฆาตกรรมหรืออ่านนิยายแนวปริศนาฆาตกรรมบางเรื่อง โดยเฉพาะนิยายของ Mary Higgins Clark มันจะออกมาแบบนั้น ความสนุกของมันเหมือนฟองฟู่ๆของน้ำอัดลมที่จะสลายไปเมื่อเนื้อเรื่องจบลง

แต่ช่วงลงเอยของนิยายเรื่องนี้ ทิ้ง ความค้างคาใจ ไม่ happy ending” ไว้ได้ดีมากน่ะ คือถ้านิยายของ Mary Higgins Clark และ Dan Brown เป็นน้ำอัดลม นิยายเรื่องนี้ก็เป็น น้ำกรดน่ะ มันกัดเซาะและทิ้งร่องรอยบาดแผลไว้มากกว่านิยายปริศนาฆาตกรรมหลายเรื่อง

7.ดีใจที่นิยายเรื่องนี้จะได้รับการนำมาสร้างเป็นละครทีวีในเร็วๆนี้ แต่ในฐานะที่เราเป็น cinephile นั้น เราขอจินตนาการต่อไปเองเล่นๆว่า 

ถ้าหากนิยายเรื่องนี้จะนำมาสร้างเป็นหนัง มันสามารถดัดแปลงออกมาได้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น

7.1 การดัดแปลงอย่างตรงไปตรงมา โดยสร้างเป็นหนังแบบ thriller หรือ murder mystery ที่เน้นการสร้างความลุ้นระทึก และให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า ใครคือฆาตกรโดยหนังที่เป็น reference ใกล้เคียงก็มีเช่น

7.1.1 THE BIG SLEEP (1946, Howard Hawks)

7.1.2 หนังที่สร้างจากนิยายของ Fred Vargas โดยเฉพาะเรื่อง THE CHALK CIRCLE MAN (2007, Josée Dayan) ที่นำแสดงโดย Charlotte Rampling และมีเนื้อหาเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมในกรุงปารีส เมื่อมีคนทยอยวาดวงกลมสีน้ำเงินตามจุดต่างๆในกรุงปารีส โดยตรงกลางวงกลมจะมีวัตถุบางอย่างวางอยู่ และในเวลาต่อมา ก็มีศพวางอยู่ตรงกลางวงกลมลึกลับเหล่านั้น

7.1.3 หนังของ Brian de Palma อย่างเช่น THE BLACK DAHLIA (2006)

7.2 การดัดแปลงนิยายให้ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยไม่เน้นอีกต่อไปว่า ใครเป็นฆาตกรแต่หนังจะบอกตั้งแต่ต้นเลยว่า ใครเป็นฆาตกรและหันมาเน้นความรู้สึกขัดแย้งกันเองภายในใจของฆาตกร ว่าจะแก้แค้นดีหรือไม่ หรือว่าจะให้ความสำคัญกับความรักมากกว่าการแก้แค้นดี และหันมาเน้นปมทางจิตต่างๆในใจฆาตกรแทน

หนังที่เป็น reference ก็มีเช่น

7.2.1 BADLAPUR (2015, Sriram Raghavan, India)

7.2.2 หนังของ Claude Chabrol โดยเฉพาะเรื่อง LE BOUCHER (1970, Claude Chabrol) ที่สำรวจรักแท้ของฆาตกรโรคจิต

7.3 การดัดแปลงนิยายมาสร้างเป็นหนังโดยแทบไม่เหลือเค้าเดิมเลย โดยใช้นิยายเรื่องนี้เป็นแค่แรงบันดาลใจตั้งต้นเท่านั้น คือพอเราอ่านนิยายเรื่องนี้จบลง เราก็นึกถึงหนังของ Peter Greenaway ที่ชอบทำหนังเกี่ยวกับ แผนที่และ บทประพันธ์โบราณน่ะ โดยเฉพาะเรื่อง PROSPERO’S BOOKS (1991) 

คือในจินตนาการของเราเองนั้น ถ้าเราเอา กาหลมหรทึกมาสร้างเป็นหนัง เราก็คงทำแบบ Peter Greenaway น่ะแหละ 555 คือหนังของเราจะยาว 3 ชั่วโมง และแบ่งออกเป็น 92 ช่วง (Peter Greenaway ผูกพันกับตัวเลข 92) โดยแต่ละช่วงจะเริ่มต้นด้วยกลบทและโคลงกลอนไม่ซ้ำกัน 555 คือหนังจะเปิดฉากแต่ละช่วงโดยโคลง, กลอน หรือกลบทหนึ่งบท และค่อยเล่าเรื่อง โดยบางช่วงจะเป็น narrative ต่อกันไป และคั่นด้วยกลบทหรือโคลงฉันท์กาพย์กลอนอะไรสักอย่าง แต่บางช่วงอาจจะขึ้นต้นด้วยกลบท แล้วตามมาด้วยฉากนักศึกษาอักษรศาสตร์สองคนวิเคราะห์กลบทนั้น หรือบางช่วงอาจจะขึ้นต้นด้วยกลแบบ และตามมาด้วยตัวละครที่พยายามอ่านกลแบบนั้นด้วยวิธีต่างๆกันไป หรือบางช่วงจะขึ้นต้นด้วยกลบท และมีครูสอนภาษาไทยมาพูดอะไรสักอย่างในช่วงนั้น และบางช่วงอาจจะเป็นการสัมภาษณ์ลูกหลานของนักโทษที่เกาะตะรุเตา คือประเด็นที่ว่าใครคือฆาตกรไม่มีความสำคัญอีกต่อไป เพราะหนังเรื่องนี้จะเน้นการเล่นสนุกกับองค์ประกอบบางอย่างในตัวนิยายต้นฉบับ และเน้นกระตุ้นให้ผู้ชมได้รู้จักและทึ่งกับกลบทและโคลงฉันท์กาพย์กลอนต่างๆในวรรณคดีไทยแทน คือกว่าผู้ชมจะดูชมหนังจบ ผู้ชมก็ได้เจอร้อยกรองไทยไปแล้วอย่างน้อย 92 บท

หนังในจินตนาการเรื่องนี้ของเราอาจจะคล้ายๆกับ ARABIAN NIGHTS (2015, Miguel Gomes) ด้วยแหละ คือมันเป็นการนำเอาบทประพันธ์ อาหรับราตรีมาใช้เป็นแรงบันดาลใจเท่านั้น และก่อให้เกิดหนังที่มีความ free form มากๆ และแทบไม่เกี่ยวกับบทประพันธ์เดิมเลย

สรุปว่าที่เขียนมานี้บางส่วนอาจจะไม่ได้เกี่ยวตัวนิยายโดยตรง แต่เราไม่ใช่นักอ่านนิยายน่ะ เราเป็น cinephile เพราะฉะนั้นพอเราอ่านนิยายเรื่องนี้จบลง เราก็เลยอยากบันทึกไว้ว่ามันทำให้เราเกิดจินตนาการอะไรต่อไปบ้าง โดยเฉพาะมันทำให้เรานึกถึงหนังเรื่องไหนบ้าง

สรุปว่าชอบนิยายเรื่องนี้มากๆ และขอปวารณาตัวเป็นสาวกอีกคนของคุณปราปต์จ้ะ


No comments: