Friday, April 14, 2017

PHANTOM OF ILLUMINATION

ช่วง 15 นาทีสุดท้ายของ PHANTOM OF ILLUMINATION ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง GOLDEN MOUNTAIN (2008, Wattanapume Laisuwanchsai, A+30) มากๆ ในแง่การนำเสนอพิธีกรรมทางศาสนา และความหลอนๆกึ่ง spiritual พอเราย้อนไปดูข้อมูลของ GOLDEN MOUNTAIN ในสูจิบัตรเทศกาลหนังสั้นปี2008 ก็รู้สึกว่ามันหนักมากที่หนังที่เราชอบสุดๆ 4 เรื่องมาอยู่ในหน้าเดียวกันโดยบังเอิญ ซึ่งได้แก่หนังของ Nichapoom Chaianun, Chulayarnnon Siriphol, Witchuta Watjanarat และ Wattanapume ตอนนี้เวลาผ่านมา 9 ปีแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าทั้ง 4 คนนี้สร้างผลงานที่ลืมไม่ลงจริงๆ

PHANTOM OF ILLUMINATION (2017, Wattanapume Laisuwanchai, documentary, A+30)

1.สิ่งแรกเลยที่ชอบก็คือความเป็นหนังทดลองของมัน 555 คือถึงแม้หนังเรื่องนี้จะฉายในเทศกาลหนังสารคดี แต่มันก็มีความเป็นหนังทดลองอยู่ในตัวของมันเองด้วย โดยเฉพาะฉากเปิดและฉากปิดของหนัง นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังดูเหมือนจะไม่ได้เน้นการให้ “ข้อมูลแบบหนังสารคดีทั่วไป แต่เน้น บรรยากาศ”, การจับจ้องมองวัตถุต่างๆอย่างนิ่งนาน และการจับจ้องมองกิจวัตรประจำวันของคน

คือโดยพื้นเพแล้วเราเป็นคนที่ชอบหนังทดลองน่ะ แต่เทศกาลหนังทดลองในกรุงเทพนี่จัดครั้งสุดท้ายในปี 2012 ได้มั้ง เพราะฉะนั้นช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเราก็เลยอยู่ในภาวะขาดแคลนหนังทดลอง นอกจากว่ามันจะไปแทรกตัวอยู่ตามเทศกาลหนังต่างๆ อย่างเช่นในเทศกาลหนังสั้นมาราธอน, World Film Festival of Bangkok หรือในงานเล็กๆอย่าง Rhizome at Reading Room 

เพราะฉะนั้นพอในเทศกาลหนังสารคดีมีการจัดฉายหนังสารคดีที่มีความเป็นหนังทดลอง หรือมีความ ไม่เน้นการเล่าเรื่องอยู่ด้วย อย่างเช่น PHANTOM OF ILLUMINATION, RAILWAY SLEEPERS, SELF AND OTHERS และ VOYAGE TO TERANGGANU เราก็เลยแฮปปี้มากๆ

ความเป็นหนังทดลองใน PHANTOM OF ILLUMINATION ก็ช่วยให้มันแตกต่างจากหนังไทยในกลุ่มเดียวกันด้วย ที่พูดถึงโรงหนังเก่าหรือคนที่เกี่ยวพันกับโรงหนังเก่า อย่างเช่น POISON 5: FILM RUNNER (2012, Eakarach Monwat, documentary), หนังของกิตติพัฒน์ กนกนาค, SOMWANG 2553 (2010, Norachai Kajchapanont), THE SCALA (2015, Aditya Assarat), PATTANI RAMA (Suporn Choosongdej) (จริงๆแล้วมีมากกว่านี้ แต่ต้องกลับไปค้นข้อมูลก่อน) เพราะหนังกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วจะค่อนข้างเป็นสารคดีแบบตรงไปตรงมา และไม่มีความเป็นหนังทดลองมากเท่านี้

2.ชอบที่ตัว subject มันทำในสิ่งที่ขัดใจเรา และนี่แหละคือเสน่ห์ของหนังสารคดี คือในช่วงครึ่งหลังของหนังเรื่องนี้ เราจะพยายามลุ้นให้ตัว subject ลุกขึ้นมา ปรับตัวเองให้ก้าวเดินในชีวิตต่อไปได้ หรือค้นหาทางออกที่ happy ending ในระดับหนึ่งได้ แต่ดูเหมือนว่า ตัว subject ไม่ได้ทำเช่นนั้น เขาก็ยังคงเป็นเขาอยู่เหมือนเดิม และไม่ได้ทำในสิ่งที่เราต้องการจะให้เขาทำหรือคาดหวังจะให้เขาทำ

เราว่าสิ่งนี้มันน่าสนใจมากสำหรับเรา และมันหาไม่ค่อยได้ในหนัง fiction เพราะในหนัง fiction นั้น ตัวละครมันจะทำในสิ่งที่ผู้สร้างหนังต้องการ พระเอกก็จะทำในสิ่งที่ผู้สร้างหนังต้องการให้พระเอกทำ ผู้ร้ายก็จะทำชั่วในแบบที่ผู้สร้างหนังต้องการให้ผู้ร้ายทำ

แต่พอมันเป็นหนังสารคดี หรือหนัง fiction ที่สร้างจากเรื่องจริง เราจะพบว่าคนจริงๆมันไม่ได้ทำในสิ่งที่เราต้องการหรือคาดหวัง เพราะเขาไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากจินตนาการของเรา เขาเป็นคนจริงๆ เพราะฉะนั้นเขาจะทำในสิ่งที่เขาเลือกที่จะทำ เขาจะไม่ทำในสิ่งที่เราคาดหวัง 

จุดนี้จะทำให้นึกถึงหนังสารคดีที่ชอบมากๆอีกสองเรื่อง ซึ่งก็คือ MODERN LIFE (2008, Raymond Depardon) ที่ subject คนนึงไม่ยอมพูดอะไรเลย แต่จ้องกล้องถ่ายหนังโดยไม่พูดอะไรเป็นเวลาราว 5 นาที และ ZEN & BONES (2016, Takayuki Nakamura) ที่ subject อยู่ดีๆก็ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้สร้างหนังในช่วงท้ายของชีวิต การที่ subjects เหล่านี้ไม่ยอมทำในสิ่งที่เราคาดหวัง หรือไม่ยอมทำในสิ่งที่ผู้สร้างหนังคาดหวัง เป็นอะไรที่ ชีวิตจริงดีมากๆ

3.เรามักจะอินกับหนังกลุ่มนี้ด้วยแหละ นั่นก็คือหนังเกี่ยวกับชีวิตคนที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพราะเราเองก็เป็นคนหนึ่งทีหวาดกลัวเทคโนโลยีและ ปรับตัวตามเทคโนโลยีไม่ทันคือนอกจากหนังเกี่ยวกับ โรงหนังเก่าที่เราระบุไว้ในข้อหนึ่งแล้ว หนังกลุ่มนี้ที่เราชอบสุดๆอีกเรื่องหนึ่งก็คือ READY IN 5 MINUTES (2016, Swam Yaund Ni, Myanmar) ที่พูดถึงอาชีพช่างภาพตามวัดในพม่า ซึ่งเป็นอาชีพที่คงใกล้จะสูญพันธุ์ในเร็วๆนี้ เพราะการมาถึงของกล้องถ่ายรูปมือถือ

พอดูหนังกลุ่มนี้แล้ว เรามักจะรู้สึกเศร้ามาก เพราะมันเป็นความทุกข์ยากของชีวิตมนุษย์ที่ไม่มีใครผิด เทคโนโลยีมันก็ต้องก้าวหน้าไปเรื่อยๆ มันไม่ผิด มนุษย์ที่ประกอบอาชีพต่างๆอย่างสุจริต ก็ไม่ผิด แต่ในวันนึงคุณอาจจะซวยขึ้นมาเท่านั้นเอง เมื่ออาชีพที่คุณทำไม่เป็นที่ต้องการของโลกทีเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆอีกต่อไป

เราเองก็กลัวว่าเราจะเป็นหนึ่งในคนที่ประสบภัยนี้ในอนาคต เพราะฉะนั้นเราก็เลยชอบหนังกลุ่มนี้มากๆ

4.อีกจุดที่ชอบมากใน PHANTOM OF ILLUMINATION ก็คือช่วงครึ่งหลังของหนังนี่แหละ เพราะช่วงครึ่งหลังของหนังเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า ชีวิตหลังจากการเป็น คนฉายหนังมันเป็นยังไงบ้าง และมันช่วยให้ตัว subject ไม่ถูก freeze ไว้กับการเป็นเพียงแค่คนฉายหนัง แต่แสดงให้เห็นว่าเขามีแง่มุมอื่นๆในชีวิตด้วย subject ของหนังไม่ได้ถูกลดความซับซ้อนของชีวิตลงเหลือเพียงแค่การเป็นคนฉายหนังเท่านั้น

คือถ้าหากเทียบกับ READY IN 5 MINUTES แล้ว มันจะเห็นได้ชัด คือเราชอบ READY IN 5 MINUTES อย่างสุดๆนะ แต่ subjects ของหนังสารคดีพม่าเรื่องนี้มีบทบาทเป็นเพียงแค่ ตากล้องเท่านั้น เราไม่ได้เห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์อื่นๆในตัวเขา และเราก็ไมได้รู้ด้วยว่า ตากล้องแต่ละคนในหนังเรื่องนี้ จะหาทางปรับตัวอย่างไรกันบ้างในอนาคต และพอเราไม่รู้ข้อมูลในเรื่องนี้ เราก็อาจจะปลอบใจตัวเองได้ว่า ตากล้องแต่ละคนก็คงจะต้องดิ้นรนหาอาชีพอื่นกันได้เองนั่นแหละ 

เพราะฉะนั้นช่วงครึ่งหลังขอPHANTOM OF ILLUMINATION ก็เลยเป็นสิ่งที่เราชอบมากๆ เพราะมันเล่าเรื่องไปไกลกว่าหนังสารคดีในกลุ่มเดียวกัน และมันไม่เปิดโอกาสให้เราได้ปลอบใจตัวเองเหมือนอย่างหนังสารคดีเรื่องอื่นๆ 

5.ดูแล้วรู้สึกว่ามันรวมองค์ประกอบของหนังอีก 4 เรื่องของวรรจธนภูมิมาไว้ด้วยกัน อย่างเช่น

5.1 ฉากพิธีกรรมทางศาสนา และการสร้างความหลอนๆกึ่ง spiritual ทำให้นึกถึง GOLDEN MOUNTAIN (2008)

5.2 การจับจ้องมองผิวหนังมนุษย์แบบ extreme close up ทำให้นึกถึง PASSING THROUGH THE NIGHT (2011)

5.3 ประเด็นเรื่องโรงหนังเก่า มาจาก LUCID REMINISCENCE (2015)

5.4 ประเด็นเรื่องชีวิตและความฝันของชนชั้นแรงงาน ทำให้นึกถึง DREAMSCAPE (2015)


หนังอีก 3 เรื่องทึ่นึกถึงตอนดู PHANTOM OF ILLUMINATION คือ เร่หนัง หนังเร่ (2008, Panu Saeng-xuto), PLEASE CHECK YOUR BELONGING BEFORE LEAVING (2015, Theerapat Wongpaisarnkit) และ โรงหนังชั้นสอง (2006, Norachai Kajchapanont) ที่สัมภาษณ์พนักงานบางคนในโรงหนังชั้นสอง หนังสารคดีเรื่อง "โรงหนังชั้นสอง" นี่เหมือนกระทบใจเราเป็นการส่วนตัวในระดับนึง เพราะมันทำให้นึกถึงคุณป้าขายตั๋วในโรงหนังแมคเคนนา ซึ่งเป็นโรงหนังที่เราดูเป็นประจำในปี 1986-1995 และคุณป้าขายตั๋วก็ดูเหมือนจะเป็นคนหน้าเดิมๆ (อารมณ์ประมาณคุณป้าขายขนมในโรงหนังสกาล่า) คือพอแมคเคนน่าปิดตัวลง เราก็จะสงสัยค้างคาใจมาจนถึงบัดนี้ว่า พนักงานวัยกลางคนในโรงหนังเหล่านี้จะไปทำอะไรต่อ เพราะพวกเขาไม่ใช่คนวัยหนุ่มสาวที่จะไปสมัครงานโรงมัลติเพลกซ์ได้ และหนังเรื่องโรงหนังชั้นสองก็สัมภาษณ์คุณป้าคนนึงที่ทำงานในโรงหนังเหมือนกัน เราไม่แน่ใจว่าคุณป้าคนนั้นวางแผนจะไปทำร้านขายของที่ต่างจังหวัดหรือเปล่าหลังโรงหนังปิดตัวลง คือมันเป็นหนังที่เราดูในปี 2006 น่ะ คุณป้าอาจจะพูดอย่างนั้นจริงๆ หรือเราอาจจะแต่งเรื่องส่วนนี้ขึ้นมาปลอบใจตัวเอง แล้วพอเวลาผ่านไป เราก็เริ่มแยกแยะไม่ออกว่ามันเป็นสิ่งที่เราได้ดูจากหนัง หรือเป็นสิ่งที่เราจินตนาการต่อเพื่อปลอบใจตัวเองหลังจากหนังจบลงแล้วก็ได้

สรุปว่าชอบ PHANTOM OF ILLUMINATION เพราะมันตามไปสำรวจชีวิตหลังโรงหนังล่มสลายนี่แหละ เราจะได้รู้จริงๆว่าชีวิตพนักงานโรงหนังเป็นอย่างไรหลังจากนั้น

ใครชอบหนังกลุ่มนี้ ก็อย่าลืมซื้อหนังสือ สวรรค์ 35มม. นะจ๊ะ

No comments: