Thursday, April 13, 2017

SIAM SQUARE (2017, Pairach Khumwan, A+30)

SIAM SQUARE (2017, Pairach Khumwan, A+30)

SPOILERS ALERT
--
--
--
--
--
1.สิ่งที่ทำให้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ คือสิ่งที่หนังอาจจะไม่ได้ตั้งใจสื่อ แต่เราดันคิดไปเอง 555 คือหนังเรื่องนี้ทำให้เราคิดถึงวาทกรรมเรื่อง “ผีทักษิณ” โดยที่หนังไม่ได้ตั้งใจน่ะ

คือตัวละคร “นิด” ในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่คนดี เธอเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ คือเธอมี “ความไม่ดี” ในระดับนึงน่ะ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าตัวนิดจริงๆก็คือ “ผีนิด” ซึ่งสร้างขึ้นจากวาทกรรมของผู้คน, ข่าวลือของผู้คน, ความเชื่อผิดๆของผู้คน และ “ผีนิด” ก็ทรงอานุภาพร้ายแรงมากๆ สามารถฆ่าคนได้ ทั้งๆที่จริงๆแล้วผีนิดไม่ใช่ตัวนิดจริงๆ ความเชื่อผิดๆของผู้คนและข่าวลือต่างๆนานาต่างหากที่เป็นสิ่งที่สร้าง “สิ่งที่เลวร้ายและทรงอานุภาพสูง” นี้ขึ้นมา

ความสัมพันธ์ระหว่าง นิด กับ ผีนิด ก็เลยทำให้เรานึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณ กับ “ผีทักษิณ” ที่คอยหลอกหลอนคนบางกลุ่มบางจำพวกอยู่ 555 ถึงแม้หนังจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

2.นอกจากประเด็นเรื่อง “อานุภาพของเสียงลือเสียงเล่าอ้าง” แล้ว เราก็ชอบความลังเลของนิดในช่วงท้ายเรื่องมากๆ ที่เหมือนเธอจะลังเลว่า “ในเมื่อคนอื่นๆมองว่าเราชั่วร้ายอย่างสุดๆ เพราะฉะนั้นเราก็ทำแบบที่คนอื่นๆเชื่อไปเลยดีมั้ย ไม่ต้องเป็นมันแล้ว คนดง คนดี ในเมื่อคนอื่นๆมองว่ากูชั่ว กูก็ชั่วจริงๆตามแบบที่มึงต้องการไปเลยดีมั้ยล่ะ”

คือจริงๆนิดไม่ได้คิดแบบที่เราเขียนข้างต้นเป๊ะๆนะ แต่สิ่งที่นิดคิดหรือลังเลในช่วงท้ายเรื่อง มันทำให้นึกถึงความรู้สึกอะไรแบบข้างต้นน่ะ

และเราว่ามันเป็นสิ่งที่จริงมากๆ และทำให้นึกถึงกรณีบางกรณีที่เราเคยได้ยินมา คือมีคนคนนึง (สมมุติว่าชื่อ “อีชะแลง”) ที่มักจะถูกเหยียดจากคนอื่นๆ แต่บางคนก็มองว่าจริงๆแล้วเนื้อแท้อีชะแลงเป็นคนดี แต่พอเพื่อนๆคบกับอีชะแลงมาได้นานเกือบสิบปี เพื่อนๆก็พบว่าอีชะแลงทำเลวอะไรบางอย่างที่ยากจะให้อภัยได้ และเป็นการทำเลวกับคนที่ไม่ได้เหยียดอะไรอีชะแลงเลยด้วย คือมันไม่ใช่การแก้แค้นคนที่เคยเหยียดอีชะแลงมาก่อนน่ะ เพราะเหยื่อบางคนของอีชะแลงไม่เคยเหยียดอีชะแลงเลย

สิ่งที่เราไม่แน่ใจก็คือว่า การที่เขาถูกคนอื่นๆเหยียดมาก่อนนั้น มันเป็นแรงผลักดันให้เขาทำเลวหรือเปล่า คือเขาอาจจะเป็นคนเลวโดยกมลสันดานอยู่แล้ว และเขาจะทำเลวไม่ว่าจะโดนคนอื่นๆเหยียดหรือไม่ก็ตาม หรือว่าจริงๆแล้วการที่เขาเคยถูกเหยียด เป็นแรงกระตุ้นส่วนหนึ่งให้เขาทำเลว เพราะเขาอาจจะคิดแบบข้างต้นก็ได้ว่า “ในเมื่อคนอื่นๆไม่ได้มองเราดีอยู่แล้ว แล้วเราจะพยายามทำดีไปทำไม”

นอกจากกรณีที่เราเคยได้ยินมา เราว่าก็คงมีคนอื่นๆอีกหลายคนเหมือนกัน ที่อาจจะได้รับ “แรงกระตุ้นให้ทำความเลว” เพราะคนอื่นๆไปตีตราพวกเขา หรือมองพวกเขาในทางลบไปก่อน

เพราะฉะนั้นความลังเลของนิดในช่วงท้ายเรื่อง ก็เลยเป็นอีกสิ่งที่โดนใจเราเป็นการส่วนตัวมากพอสมควร เพราะมันสอดคล้องกับความเชื่อของเราเองที่ว่า “อย่าด่วนตัดสินว่าเขาเป็นคนเลว เพราะเขาอาจจะไม่ใช่คนเลวจริงๆ แต่พอเราไปด่วนตัดสินเขาแล้ว มันอาจจะเป็นแรงผลักดันให้คนดีกลายเป็นคนเลวก็ได้”

ประเด็นคล้ายๆกันนี้สามารถพบได้ในหนังเรื่อง DREILEBEN: A MINUTE OF DARKNESS (2011, Christoph Hochhäusler, Germany, A+30) ด้วย

3.อีกสิ่งที่ชอบมากๆในหนังเรื่องนี้ ก็คือสิ่งที่เราเคยเขียนไปแล้ว ที่ว่า “จริงๆแล้วสิ่งที่เราชอบสุดๆในหนังเรื่องนี้ก็คือว่า เราไม่รู้ว่าใครเป็นพระเอกหรือนางเอกของเรื่องกันแน่ จนกว่าจะถึงองก์สุดท้ายของหนัง เราถึงเพิ่งแน่ใจว่า เมย์คือตัวที่เด่นที่สุดในเรื่อง บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าตัวละครหญิงที่เราชอบที่สุดในหนังคือ "นิด" และตัวละครชายที่เราอยากกินมากที่สุดในหนังคือ "หมูหวาน" เราก็เลยไม่ได้สำเหนียกเลยว่าจริงๆแล้วเมย์คือตัวเอกของหนัง จนกระทั่งช่วงท้ายของหนังนี่แหละ เราถึงเพิ่งรู้ว่า อ้อ จริงๆแล้วอีนี่คือตัวเด่นสุด

เราชอบอะไรแบบนี้มากนะ เราชอบหนังที่ treat ตัวประกอบในแบบที่ไม่ใช่ตัวประกอบน่ะ และเราว่า SIAM SQUARE เป็นหนังไทยไม่กี่เรื่องที่กล้าทำอะไรแบบนี้  คือถ้าหากมันผลักตรงจุดนี้ให้สุดๆไปเลย มันอาจจะกลายเป็นหนังแบบ Robert Altman ไปเลยก็ได้ คือหนังที่มีตัวละครหลายตัว และแต่ละตัวจะมีความสำคัญเกือบเท่าๆกัน หรือหนังอย่าง MEMORY LANE (2010, Mikhaël Hers, France) ที่พูดถึงกลุ่มเพื่อน และเกือบทุกตัวมีความสำคัญเท่ากันหมด

4.แต่มันก็เป็นเรื่องที่ได้อย่างเสียอย่างน่ะแหละ คือพอหลายตัวละครมันถูก treat ให้สำคัญในระดับใกล้เคียงกัน สิ่งที่ยากมากๆก็คือว่า เราจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้ชมรู้สึกผูกพันกับตัวละครบางตัว หรือเกิดอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรงกับตัวละครบางตัวได้ เพราะพอเวลาของหนังมันถูกเฉลี่ยให้กับตัวละครหลายตัว ช่วงเวลาที่ผู้ชมจะรู้สึกผูกพันกับตัวละครแต่ละตัวก็อาจจะลดลง

คือเราว่า SIAM SQUARE สร้างตัวละครได้เป็นมนุษย์มากแล้วแหละ ทุกตัวดูมีชีวิตมาก่อนหนังเริ่ม, มีชีวิตเป็นของตัวเอง, มีปัญหาของตัวเอง แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรงกับปัญหาของตัวละครบางตัวมากนักน่ะ อย่างเช่นการอยากฆ่าตัวตายของเฟิร์น และความเกลียดชังของจุ๊บเล็ก ทั้งๆที่มันน่าจะเป็นอะไรที่เรามีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรง

แต่เราก็ไม่ตำหนิ SIAM SQUARE ในจุดนี้นะ เราว่าสาเหตุที่เราไม่มีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรงเป็นเพราะว่า  จุดที่หนังมันให้ความสำคัญมากๆก็คือ “ประเด็นเรื่องข่าวลือ” และ “ความน่ากลัวแบบหนังผี” น่ะ เพราะฉะนั้นการที่หนังมันไม่สามารถสร้างอารมณ์รุนแรงจาก “ปัญหาชีวิตเด็กวัยรุ่น” ได้ ก็เลยเป็นสิ่งที่เข้าใจได้

คือถ้าหากหนังมันจะทำให้เรารู้สึกมีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรงกับเฟิร์นและจุ๊บเล็ก หนังมันก็ต้องยาวกว่านี้อีกสัก 30-60 นาที หรือไม่ก็ต้องลดทอน “ความสำคัญของประเด็น” และลดทอน “การสร้างความน่ากลัวแบบหนังผี” ลงน่ะ และเราว่าการที่หนังเลือกออกมาเป็นแบบที่เป็นอยู่นี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่า มันถูกสร้างออกมาเป็นหนังเมนสตรีม

แต่ที่เขียนจุดนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า ถึงแม้เราจะชอบ SIAM SQUARE อย่างสุดๆ เพราะประเด็นและองค์ประกอบต่างๆในหนัง แต่เราก็ไม่ได้ชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดขีดคลั่งแบบที่จะติดอันดับหนึ่งหนังยาวของไทยประจำปีนี้นะ เพราะมันไม่สามารถทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรงน่ะ

คือถ้าสรุปจุดนี้ง่ายๆก็คือว่า เราว่า SIAM SQUARE เป็น หนังประเด็น+หนังผี+หนังชีวิตวัยรุ่นน่ะ ซึ่งมันเป็นอะไรที่ยากมากๆที่จะนำ3 สิ่งนี้มารวมกันได้อย่างลงตัว และเราว่า SIAM SQUARE ก็ผสมมันออกมาได้ดีมากๆแล้ว เพียงแต่ว่าส่วนที่เป็น “หนังชีวิตวัยรุ่น” นั้น มันยังเหมือนขาดความ “จี๊ดใจ” อย่างรุนแรงสำหรับเราน่ะ คือมันเหมือนมีองค์ประกอบที่น่าจะจี๊ดใจได้แล้ว แต่ “ความยาวอันจำกัดของหนัง” และ “ความเป็นหนังผี+หนังประเด็น” ไปสกัดกั้นตรงจุดนี้เอาไว้ หนังมันก็เลยไม่ออกมาจี๊ดใจอย่างรุนแรง แต่แค่นี้เราก็พอใจกับมันมากแล้วล่ะ

5.ในส่วนของความน่ากลัวแบบหนังผีนั้น เราค่อนข้างพอใจกับมันนะ ฉาก “หมูหวานตัวปลอม” นี่คลาสสิคมาก และฉากที่นิวตั้นกับม่อนโดนผีหลอก และทั้งสองมองไม่เห็นกันและกัน นี่ก็น่ากลัวมาก เราว่าฉากนี้น่ากลัวเกือบเท่าๆกับ JU-ON ภาคแรกเลย

คือปกติแล้ว เราจะกลัวผีเวลาเราอยู่คนเดียวไง แต่ถ้าหากเราอยู่กับเพื่อนสนิท เราก็จะไม่กลัวผี แต่ถ้าหากผีมันสามารถทำให้เพื่อนสนิทที่อยู่ด้วยกันกับเรา หายไปไหนก็ไม่รู้ภายในชั่วพริบตาเนี่ย เราว่ามันน่ากลัวมากๆ

6.ชอบการแสดงของ “พลอย ศรนรินทร์” ในบทนิดมากๆ เราว่ามันมี mannerism แบบคนญี่ปุ่นนะ ไม่รู้เรานึกไปเองคนเดียวหรือเปล่า คือมันมีความนิ่งแบบคนญี่ปุ่นอยู่ในตัวนิดน่ะ แต่ภายใต้ความนิ่งสงบนั้น มันก็มีความรุนแรงบางอย่างอยู่ในส่วนลึกด้วย

7.การได้ดู SCHOOL TALES (2017, Pass Patthanakumjorn) กับ SIAM SQUARE ในปีนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าผู้สร้างหนังชาวไทยนี่ถนัดในการสร้าง “หนังผี” ที่น่าสนใจจริงๆนะ เหมือนกับที่ฮ่องกงถนัดการสร้างหนังแอคชั่นตำรวจน่ะ คือฮ่องกงผลิตหนังแอคชั่นตำรวจออกมาเยอะมากๆ และก็มีหลายเรื่องมากๆที่ออกมาดีงามสุดๆ ในขณะที่ไทยก็คล้ายๆกัน คือไทยผลิตหนังผีออกมาเยอะมาก ซึ่งก็คงเป็นเพราะว่ามันเป็น genre ที่ขายได้ในตลาดเมนสตรีม เพราะฉะนั้นผู้สร้างหนังหลายคนก็เลยต้องเลือกทำหนังผีเพื่อประนีประนอมกับตลาด แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็พยายามสอดแทรกประเด็นดีๆและใส่ฝีไม้ลายมือของตัวเองเข้าไปในหนังผีด้วยเท่าที่จะสามารถทำได้ คือเหมือนกับไทยสร้างหนังผีจนเกิดความชำนาญในระดับนึงน่ะ แต่ไทยอาจจะไม่เชี่ยวชาญในการสร้างหนังแนวอื่นๆมากเท่ากับหนังผี

คือนอกจาก SIAM SQUARE กับ SCHOOL TALES แล้ว เราว่าหนังผีไตรภาคของ Monthon Arayangkoon เรื่อง “ผีคนเป็น” (2006), บ้านผีสิง (2007) และรักฉันอย่าคิดถึงฉัน (2012) ก็เป็นอะไรที่ดีงามมากๆ นอกจากนี้ ไทยยังมีการใช้หนังผีเพื่อสื่อประเด็นแรงงานต่างด้าว อย่างบองสรันโอน (2015, Siwaporn Pongsuwan) และ THE RETURN (2014, Sakchai Deenan), หนังผีเพื่อสื่อประเด็น 6 ตุลา 2519 อย่าง COLIC เด็กเห็นผี (2006, Patchanon Thammajira) และมหาลัยสยองขวัญ ตอนลิฟท์แดง (2009, บรรจง สินธนมงคลกุล + สุทธิพร ทับทิม), หนังผีที่วางพล็อตเรื่องได้ดี อย่าง “ลองของ”, หนังผีที่มีไอเดียน่าสนใจอย่าง THE EYE’S DIARY (2014, Chookiat Sakveerakul) และมีการสร้างหนังผีที่ “งดงาม” สุดๆอย่าง อนธการ (2015, Anucha Boonyawatana) อีกด้วย ถ้าหากจะนับว่าอนธการเป็นหนังผี

ส่วนในวงการหนังสั้นนั้น หนังผีก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมากๆเหมือนกัน โดยเฉพาะหนังผีบ้านๆของ Weerasak Suyala และ Sompong Soda, หนังผีที่น่ากลัวจริงๆของ Jakkrapan Sriwichai และหนังผีการเมือง อย่าง THIS HOUSE HAVE GHOST (2011, Eakarach Monwat), YANEE, THE GIRL WHO IS TRYING TO OVERCOME HER FEAR (2015, Anuwat Amnajkasem), รำพัน (2016,  Somchai Tidsanawoot) และ PUSSY’S THRONE ( 2016, Sukrit Wongsrikaew)

เราก็เลยรู้สึกว่า SIAM SQUARE มันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำว่า หนังผีไทยนี่ประมาทไม่ได้จริงๆ คือมันก็มีหนังผีไทยแย่ๆน่ะแหละ แต่มันก็มีหนังผีไทยที่น่าสนใจสุดๆมากมายหลายเรื่องเช่นกัน

8.แล้วถ้าหากคนไทยจะสร้างหนังผีต่อไป เราอยากให้มันออกมาเป็นแบบไหน

โดยส่วนตัวเรานั้น เราอยากให้มันออกมาแบบเหวอสุดๆ ไปเลย แบบ KOKKURI (1997, Takahisa Zeze) หรือหนังของ Kiyoshi Kurosawa อย่าง KAIRO (2001) และ RETRIBUTION (2006) น่ะ

แต่การที่ไม่มีคนไทยสร้างหนังผีแบบ KOKKURI ออกมา เราก็เข้าใจได้นะ เพราะมันไม่ขายน่ะ มันไม่ทำเงินแน่นอน คือ KOKKURI เป็นหนังผีเกี่ยวกับสามสาวโรงเรียนมัธยมที่เราดูแทบไม่รู้เรื่องเลย แต่มันมีความพิศวงงงวยแบบหนังของ Alain Resnais อยู่ และเราก็ว่ามันสุดยอดมากๆ เพียงแต่ว่ามันคงไม่ทำเงิน และนักวิจารณ์บางคนก็เกลียดหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ คือการสร้างหนังแบบ KOKKURI ออกมานี่ คุณต้องไม่สนทั้งเงินและเสียงวิจารณ์จริงๆ คุณต้องสนแต่วิสัยทัศน์ของคุณเอง และ “ผู้ชมกลุ่มหนึ่ง” ที่ถูกโฉลกกับหนังของคุณเท่านั้น เราก็เลยเข้าใจได้ที่หนังผีไทยยังไม่มีอะไรแบบนี้ออกมา แต่เราก็แอบหวังว่าจะมีคนกล้าสร้างมันออกมาในอนาคต (ถ้าคุณไม่หวังเงิน 555)

9.แล้วถ้าหากเราเป็น “นิด” เราจะตัดสินใจอย่างไรในช่วงท้ายเรื่อง

คือถ้าไม่คำนึงถึง “ประเด็น” ของหนังแล้ว หรือถ้าหากมอง “นิด” เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกประเด็นของหนังครอบไว้ เราในฐานะนิดก็คงจะไม่กลับไปในอดีต แต่กูจะออกสื่อในโลกปัจจุบันเลยค่ะ กูจะประกาศให้โลกรู้ว่ากูเดินทางข้ามเวลามาได้ เพื่อที่ตัวเองจะได้เป็น celebrity และหากินกับความเป็น celebrity นั้น แต่กูใช้ “ความจริง” ในการสร้างความเป็น celebrity ให้ตัวเองค่ะ

และเราก็หวังว่า พอคนทั่วโลกรู้ความจริงว่าเราเดินทางข้ามเวลามาได้ และผีนิดไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากการตายของเรา แต่เป็นสิ่งที่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยข่าวลือและความกลัวกันไปเองของผู้คน ผีนิดก็จะค่อยๆเสื่อมพลังลงเองแหละ



No comments: